Sweatshops : ปีศาจร้ายจำเป็น?

Rashida Begum เป็นคนงานในโรงงานผลิตเสื้อโปโลที่บังกลาเทศ ต้องทำงานวันละ 18 ชั่วโมง แรงงานผู้หญิงในโรงงานนี้ได้ค่าแรงประมาณ 6-12 เซ็นต์ต่อชั่วโมง ประตูโรงงานจะถูกปิดตายระหว่างชั่วโมงการทำงาน เพื่อกันไม่ให้คนงานออกข้างนอกหรือหยุดพัก เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2543 เกิดไฟไหม้โรงงานแห่งนี้ เพื่อนคนงานของ Begum เสียชีวิตทั้งสิ้น 52 คน ในจำนวนนั้นเป็นแรงงานเด็ก 10 คน เกือบทั้งหมดนอนตายอยู่บริเวณบันไดชั้นล่าง ขณะพยายามพังประตูโรงงานที่ถูกปิดล็อก เพื่อหนีเอาตัวรอด”

 (ที่มา : Bowles, Samuel et al. 2005. Understanding Capitalism. Oxford University Press)

 

ปรากฏการณ์สามัญประการหนึ่งภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ คือ การที่ผู้คนในประเทศยากจนต้องยอมขายแรงงานราคาถูกให้บรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations-MNCs) เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการหาเลี้ยงชีพที่ดีกว่า

ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ยากไร้ ไร้ทั้งทรัพยากร ไร้ทั้งทางเลือก ก็คือ ยอมถูกขูดรีดกดขี่เอาเปรียบ ดีกว่าตกงานไม่มีอะไรกิน แม้ระบบทุนนิยมจะถูกสรรเสริญว่าเป็นระบบที่ให้คนมีสิทธิ “เลือก” ตามเจตจำนงเสรี แต่การเลือกระหว่างความทุกข์ทนข้นแค้น 2 ทาง จะพูดได้เต็มปากหรือว่านั่นคือการเลือก ?

ในหลายกรณี คนเล็กคนน้อยเหล่านั้นได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเสียอีก มิพักต้องพูดถึงระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wages) ซึ่งเป็นระดับค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิในตัวเอง

ไม่เฉพาะค่าจ้างอันต่ำต้อยเท่านั้น หากผู้คนเหล่านั้นยังต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของโรงงานที่เลวร้าย ไร้ซึ่งความปลอดภัย อันตรายต่อสุขภาพ มีการใช้แรงงานเด็ก โดนขูดรีดใช้แรงงานอย่างหนักหน่วง ทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน โดนกดขี่เกินมาตรฐานการจ้างงานอย่างอารยะ ไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุด ไม่มีสิทธิ์รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน

สภาพแวดล้อมอันเลวร้าย ดุจ “โรงงานนรก” เยี่ยงนี้ เรียกกันว่า “sweatshops”

 

sweatshops แพร่ขยายยังประเทศยากจนหลายแห่ง พร้อมกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ เมื่อทุนสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้อย่างเสรี ท้องฟ้าแห่งการลงทุนข้ามชาติเปิดกว้าง ผู้บริหาร MNCs ในฐานะสัตว์เศรษฐกิจย่อมแสวงหาโอกาสในการทำกำไรสูงสุด การย้ายโรงงานผลิตไปยังประเทศยากจน ซึ่งค่าแรงต่ำ อัตราการว่างงานสูง และไม่มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างจริงจัง จึงเป็นยุทธศาสตร์ของ MNCs จำนวนมาก

MNCs หลายบริษัทเลือกแปรสภาพโรงงานเป็น sweatshops โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ด้วยเป็นวิถีทางมักง่ายในการทำกำไรสูงสุด รัฐบาลประเทศยากจน ที่ฝากชะตาชีวิตของเศรษฐกิจไว้กับทุนต่างชาติ ต่างก็พยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศด้วยวิถีทางมักง่ายเช่นเดียวกัน โดยการกดค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ แข่งกันลดค่าจ้าง ไม่ใส่ใจสวัสดิการของแรงงาน แข่งกันลดภาษี เพื่อพยายามขายของถูก หามาตรการลดต้นทุนการผลิตให้ MNCs ด้วยหวังจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุน

เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่ทุนเคลื่อนย้ายได้โดยเสรี อำนาจต่อรองของ MNCs จึงสูงขึ้น ขณะที่อำนาจต่อรองของแรงงานลดต่ำลง

ในทางหนึ่ง MNCs สามารถผลิต “คำขู่” ที่น่าเชื่อถือ (credible threat) ยามที่ไม่ได้รับการเอาอกเอาใจจากรัฐบาล หรือยามที่ฝ่ายตนเสียประโยชน์ เนื่องจากสามารถ “ขู่” (และทำได้จริงด้วย) ว่าจะเคลื่อนย้ายทุนไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ให้ผลประโยชน์มากกว่า วุ่นวายน้อยกว่า ได้โดยง่าย เพราะแทบทุกประเทศล้วนเต็มใจเปิดประตูต้อนรับทุนต่างชาติอย่างแข็งขัน

ในอีกทางหนึ่ง เศรษฐกิจโลกที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก ทำให้คนงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ไม่เพียงต้องแข่งขันแย่งงานกันเองในตลาดแรงงานภายในประเทศ หากยังต้องแย่งงานกับกำลังแรงงานสำรองราคาถูกในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่นนี้แล้ว “คำขู่” ของแรงงานในทางที่เพิ่มผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เช่น ขอขึ้นค่าจ้างแรงงาน หรือขอตั้งสหภาพเรียกร้องสวัสดิการเพิ่มขึ้น จึงหมดความหมาย เพราะนายจ้าง (MNCs) สามารถไล่ออกหรือปลดคนงานที่มีพฤติกรรมในทางขัดต่อผลประโยชน์ของนายจ้างได้ไม่ยาก เพราะมีกำลังแรงงานสำรองจ่อคิวรอทำงานอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแรงงานในประเทศยากจนประเทศอื่นด้วย

การเกิดขึ้นใหม่ การดำรงอยู่ และการขยายตัวของ sweatshops จึงเป็นผลพวงของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ด้านหนึ่ง sweatshops สะท้อนอำนาจต่อรองที่เพิ่มมากขึ้นของ MNCs ภายใต้กติกาการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศโดยเสรี ด้านหนึ่ง sweatshops สะท้อนให้เห็นภาวะความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลก (global inequality) และอีกด้านหนึ่ง sweatshops เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลชาติ ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับสมาชิกในประเทศ การรักษากฎหมายและผลประโยชน์ชาติ

 

sweatshops กลายเป็นวาระของสังคมเศรษฐกิจโลก เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาตีแผ่สภาพการทำงานเยี่ยงทาสในโรงงานผลิตรองเท้ากีฬาชื่อดังมากยี่ห้อหนึ่ง ในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงต้นทศวรรษ 1990s

คนงานที่นั่นต้องทำรองเท้าวันละ 14 คู่ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ได้ค่าจ้างเพียง 14 เซ็นต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดแล้วต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อพอยังชีพตามกฎหมายอินโดนีเซียเสียอีก แม้ค่าจ้างขั้นต่ำของอินโดนีเซียจะต่ำเตี้ยติดดิน MNCs ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างผู้ผลิตรองเท้ากีฬายักษ์ใหญ่รายนั้น ยังอุตส่าห์ทำเรื่องเสนอขอจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำจากรัฐบาลอีก ด้วยเหตุผลว่า การจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายจะสร้างความยากลำบากให้แก่บริษัทตนมากเกินไป!

แน่นอนว่า sweatshops โดยตัวของมันเอง เป็นสิ่งเลวร้าย เพราะละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง แต่นักเศรษฐศาสตร์และผู้คนจำนวนหนึ่ง กลับมีความเห็นทำนองว่า sweatshops เป็นปีศาจร้ายที่จำเป็นในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยากจน เพราะอย่างน้อย sweatshops ก็ทำให้ชีวิตคนจนดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีงานทำ ดังตัวอย่างคำพูดต่อไปนี้ (ที่มา : Pollin, Robert. 2003. Contours of Descent. Verso)

(1) “(ปัญหา) ไม่ได้อยู่ที่มี sweatshops มากเกินไป แต่อยู่ที่มันมีน้อยเกินไปต่างหาก” (Jeffrey Sachs)

(2) “ผลของ sweatshops คือ การยกระดับคนนับร้อยล้านคนออกจากความยากจนอย่างร้ายกาจไปสู่อะไรบางอย่างที่ แม้จะยังแย่อยู่ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก” และ “การเติบโตของการจ้างงานใน sweatshops เป็นข่าวดีสำหรับคนยากไร้ในโลก” (Paul Krugman)

(3) “…14 ปีที่แล้ว เราย้ายมาที่เอเชีย และเริ่มเป็นนักข่าวที่นั่น เมื่อแรกเราก็เกลียดชัง sweatshops เหมือนฝรั่งทั่วไป ต่อมาเราก็เริ่มคิดสอดคล้องกับความเห็นซึ่งคนเอเชียจำนวนมากสนับสนุน นั่นคือ การต่อต้าน sweatshops นั้นสุ่มเสี่ยงที่จะทำร้ายผู้คนที่ sweatshops พยายามจะช่วย sweatshops เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ซึ่งกำลังเริ่มต้นสร้างเอเชียใหม่ขึ้นมา

นี่ไม่ใช่การสรรเสริญ sweatshops ผู้จัดการบางคนโหดร้าย บ้างก็ทำให้คนงานติดอยู่ในกับดักไฟ บ้างก็ใช้แรงงานเด็ก ใช้สารเคมีอันตราย บ้างก็ไม่ยอมให้คนงานได้พักเข้าห้องน้ำ บ้างก็ลวนลามทางเพศ บ้างก็บังคับให้แรงงานต้องทำงาน 2 กะไม่ได้หยุด หรือไล่คนงานที่พยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานออก

แม้การจุดประเด็นต่อต้าน sweatshops เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำงานเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ดังที่เกิดขึ้นในยุโรป ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

แต่…วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยชาวเอเชียที่ยากจนที่สุด คือ การซื้อสินค้า sweatshops มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง” (Nicholas Kristof and Sheryl Wudunn)

 

หาก sweatshops นับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศยากจน ผมก็อดทอดถอนใจมิได้ว่า โลกมันโหดร้ายถึงเพียงนี้แล้วหรือ ?

 

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2549

Print Friendly