– 1 –
“คนพวกนี้ (กลุ่มผู้เขียนหนังสือ รู้ทันทักษิณ – ผู้อ้าง) มันโง่ ฉลาดไม่ทันผมหรอก ต้องเรียนอีกเยอะถึงฉลาดเท่าผม”
(ทักษิณ ชินวัตร: กรุงเทพธุรกิจ, 8 กันยายน 2547)
ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีสัญญาณหลายอย่างที่ชี้ชัดว่า อาณาจักรทักษิณกำลังเดินเครื่องทำลายตัวเอง
ปัจจัยที่น่ากลัวที่สุดที่คุกคามการอยู่รอดของอาณาจักรใดก็ตาม คือการทำลายตัวเองจากภายใน (self-destruction) หาใช่ภัยคุกคามจากภายนอก แต่อย่างใดไม่
อาณาจักรทักษิณกำลังเดินเครื่องทำลายตัวเอง โดยมีคุณทักษิณรับบทเป็นผู้ทำลายล้างด้วยตัวเอง ทั้งที่อีกภาคหนึ่งเป็นผู้สร้างอาณาจักรนี้ขึ้นมาด้วยสองมือ กระบวนการก่อร่างสร้างอาณาจักรทักษิณด้วยวิถีทางแบบทักษิณ และควบคุมบริหารจัดการมันด้วยระบบคุณค่าและมาตรฐานทางจริยธรรมแบบทักษิณ เป็นเชื้อเพลิงในการทำลายล้างที่ทรงประสิทธิภาพยิ่ง
ในขณะเดียวกับที่คุณทักษิณพยายามสร้างอาณาจักรทักษิณให้เข้มแข็งขึ้น คุณทักษิณก็กลับทำลายมันให้อ่อนแอลงด้วยพร้อมกัน เพราะคุณทักษิณเลือกใช้วิถีทางที่ส่งผลทำร้ายตัวเองในอนาคตข้างหน้า ภายใต้กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของอาณาจักรตน เช่น เลือกที่จะใช้ระบบผู้นำเข้มแข็ง เลือกที่จะปิดปากหรือคุกคามผู้เห็นต่าง เลือกที่จะหรี่ตากับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนภายในรัฐบาล เลือกที่จะใช้ “ความหวัง” เป็นหนทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และเลือกที่จะปกครองด้วย “ความกลัว” เป็นต้น
ที่สำคัญ อาณาจักรทักษิณหาได้มีความเข้มแข็งที่รากฐานไม่ หากเป็นอาณาจักรที่มีคุณทักษิณเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ไม่มีผู้ใดตอบได้ว่า หากสิ้นคุณทักษิณ อาณาจักรทักษิณจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนถาวรอย่างไร หรืออาณาจักรนี้จักล่มสลายไปพร้อมกับการสูญสิ้นอำนาจของคุณทักษิณ
เช่นนี้แล้ว คุณลักษณะที่หลายคนเห็นว่าเป็นสิ่งเด่นที่สุดในอาณาจักรทักษิณ อย่าง “ตัวตน” ของคุณทักษิณ กลับกลายเป็นสิ่งอ่อนแอที่สุดในตัวของมันเอง
พฤติกรรมไร้วุฒิภาวะของคุณทักษิณผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา รวมถึงการใช้กลไกอำนาจรัฐและอำนาจทุนคุกคามรังแกฝ่ายตรงกันข้าม ที่พูดจาไม่เข้าหู ทำตัวไม่เข้าตา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลต่อกระแสขาลงของรัฐบาลที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกส่วนลึกแล้ว ยังเปลือยให้เห็นตัวตนที่อ่อนแอและไม่ถึงพร้อมของคุณทักษิณ
อาการเมาหมัดจากกระแสขาลงและกลุ่มคนรู้ทัน ยังแสดงให้เห็นจากสินค้าการเมืองใหม่ๆ ที่ทีมงานเร่งผลิตออกมาขายแข่งกับกระแสขาลง ดังเช่นการประกาศจัดงาน “รวมพลคนด่ารัฐบาล” กลางท้องสนามหลวง หรือการลงทุนไปนอนค้างแรมที่สนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังก่อสร้าง
การประกาศยกเลิกมาตรการที่ 3 ซึ่งมุ่งหวังขจัดข้าราชการด้อยประสิทธิภาพ 5% ล่างออกจากระบบ ตรงกันข้าม กลับประกาศแจกเงินโบนัสให้ข้าราชการระดับล่าง รวมถึงการประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลจนกว่าจะพ้นฤดูเลือกตั้ง สะท้อนพฤติกรรมเรียกคะแนนเสียงคืนโดยใช้ผลตอบแทนทางวัตถุเข้าล่อ อย่างเด่นชัด
นโยบายการตลาดทางการเมืองเหล่านี้แสดงอาการ “หมดมุข” ของรัฐบาลอย่างยิ่ง ไม่แปลกใจที่คอการเมืองส่วนใหญ่ล้วนส่ายหัวอย่างเอือมระอา มากกว่าร้อง “ฮ้อ” ดังช่วง 1-2 ปีแรกของรัฐบาล
คอนิยายกำลังภายใน คงเคยผ่านตาประโยคทำนองว่า อำนาจคือเป้าหมายสูงสุดของคนอ่อนแอ การพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะตีแผ่ธรรมชาติแห่งความอ่อนแอของมนุษย์
บ่อยครั้งที่การสู้รบในสมรภูมิสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของแม่ทัพ และบ่อยครั้งที่เราพบว่า คนที่อ่อนแอที่สุดกลับกลายเป็นคนที่โอหังลำพองที่สุด
– 2 –
“การสู้กับเผด็จการ เราต้องใช้สมอง ใช้สติปัญญา แต่ที่ผ่านมารู้สึกผิดหวังที่นายกรัฐมนตรีออกมาเล่นอย่างนี้ เพราะผมนึกว่าจะสู้กันด้วยมันสมอง สู้กับคนเก่ง สุขุม รอบคอบ แต่ไม่ใช่เลย มันง่ายไป ไม่สนุก”
(เอกยุทธ อัญชัญบุตร: ประชาชาติธุรกิจ, 13 กันยายน 2547)
บทสัมภาษณ์ของคุณเอกยุทธ ข้างต้นเกิดขึ้นภายหลังจากคำขู่กระทืบซ้ำของนายกรัฐมนตรี และการถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบทรัพย์สินย้อนหลัง
อ่านบทสัมภาษณ์ข้างต้นแล้ว ก็ให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย ที่กล่าวกับผมริมระเบียงสำนักเศรษฐศาสตร์ ท่าพระจันทร์ว่า ในโลกของบู๊เฮี้ยบ หากศัตรูหมดความเคารพนับถือในตัวเราเมื่อใด ก็เหมือนว่าเราพ่ายแพ้สิ้นเชิง ไม่เหลืออะไรแล้ว เหตุเพราะคนที่รู้จักตัวตนของเราดีที่สุด หาใช่มิตรแท้ หากคือศัตรูร่วมสนามรบ
ใครชอบดูหนังจีน คงเคยเห็นฉากที่ศัตรู ซึ่งต่อสู้ห้ำหั่นกันบ่อยครั้ง รู้มือ รู้ใจ รู้ท่วงทำนอง จนนับถือน้ำใจกันอย่างยิ่ง ร่วมร่ำสุรากันดุจมิตรแท้ ก่อนคว่ำจอกตัดสัมพันธ์ ประกาศสู้สุดชีวิตหากเจอกันครั้งหน้าในสมรภูมิรบ
สังเวียนการต่อสู้ของลูกผู้ชายแท้ ย่อมเป็นเช่นนั้น ศัตรูร้ายอาจมอบเคารพนับถือแก่เรามากกว่าเพื่อนรักเสียอีก
ลูกผู้ชาย ที่แม้ศัตรูยังหมดศรัทธา ย่อมต้องหวนทบทวนนิยามแห่งชีวิตของตนโดยพลัน ว่ายังเหลืออื่นใดให้ภาคภูมิ
แม้อาจรบชนะศึก แต่มิถือว่าชนะสงคราม
– 3 –
ไม่รู้ทำไม แต่ผมนึกถึงภาพผู้เฒ่าการเมืองสามคน ซึ่งห้ำหั่นกันมายาวนาน บางช่วงเป็นมิตรรัก บางช่วงเป็นศัตรูร้าย สู้รบเชือดเฉือนกันในสนามการเมืองกว่าสามทศวรรษ โกรธแค้นกันก็บ่อย เสียน้ำตาให้กันก็เคยมี กอดกันกลมเกลียวก็มากครั้ง
แม้ในสนามรบ ทั้งสามกรีฑาทัพใส่กันไม่ยั้ง แต่ยามสงบก็ร่วมวงร่ำไวน์กัน ผมเชื่อว่าในใจส่วนลึกของผู้เฒ่าทั้งสามต่างเคารพนับถือกันและกันอย่างยิ่ง เหนืออื่นใด คงให้คุณค่าคุณธรรมน้ำมิตรสูงส่งกว่าเจ้าสำนักใหญ่อย่างแน่แท้
คุณภิญโญเคยคุยกับผมว่า หากวิกฤตศรัทธาในตัวท่านผู้นำยังไม่หยุด หลังการเลือกตั้งคราวหน้า อาจเป็นยุค “ผู้เฒ่าเอาคืน” คุณธรรมน้ำมิตรแบบนักเลงโบราณอาจส่งผลต่อสมการการเมืองไทยในอนาคตอย่างสำคัญ
ไม่กี่วันหลังการสนทนา ผมเห็นข่าวซุบซิบการเมืองในหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งเกี่ยวกับการต่อสายเพื่อจัดตั้งรัฐบาลสามพรรคหลังการเลือกตั้ง นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์ มหาชน และชาติไทย ส่วนอีกเล่ม มีข่าวลือการต่อสายตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ มหาชน และกลุ่มวังน้ำเย็น
ภาพการเมืองเก่า ตัวละครเก่า คงผุดขึ้นในหัวของใครหลายคน พร้อมกับอาการเหนื่อยระอา
บางคนอาจผลิตวาทกรรมว่า ดอกบัวย่อมงอกขึ้นมาจากโคลนตม
เรื่องน่าเศร้าสำหรับคนไทยก็คือ เราไม่มีหลักประกันใดเลยว่า ไอ้ดอกที่มันงอกขึ้นมา จะเป็นดอกบัวจริงๆ
แต่เรื่องน่าเศร้ากว่าก็คือ เราคลุกอยู่ในโคลนตมกันนานพอแล้ว และดูเหมือนว่า เรายังจะต้องวนเวียนอยู่ในโคลนตมต่ออีกนาน
ตีพิมพ์: นิตยสาร OPEN ฉบับเดือนตุลาคม 2547