หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร เปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับนาย Rick Perry หัวหน้าคณะผู้บริหารสโมสรลิเวอร์พูล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 ดูประหนึ่งว่าสโมสรลิเวอร์พูลกำลังจะเปลี่ยนสัญชาติเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ
ปัจจุบัน นาย David Moores เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของสโมสรลิเวอร์พูล โดยถือหุ้น 51% ของหุ้นทั้งหมด และในทางปฏิบัติมีอำนาจในการบริหารค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งนี้ บริษัทสื่อสาร Granada และนาย Steve Morgan เศรษฐีพื้นถิ่นแห่งเมืองลิเวอร์พูล เป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองและสาม โดยมีส่วนแบ่ง 9.9% และ 5% ตามลำดับ
สื่อมวลชนรายงานว่า นายกรัฐมนตรีไทยยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล 30% รวมมูลค่า 65 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท ซึ่งหุ้นส่วนนี้เป็นหุ้นออกใหม่เพื่อระดมทุนเพิ่มเติมจำนวน 15,000 หุ้น ปัจจุบันสโมสรลิเวอร์พูลมีจำนวนหุ้น 35,000 หุ้น เมื่อรวมหุ้นออกใหม่ดังกล่าว นาย Moores ย่อมลดฐานะจากผู้ถือหุ้นข้างมากมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเหลือหุ้นเพียงไม่ถึง 40% ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2547 นาย Steve Morgan ผู้ถือหุ้นอันดับสาม นักธุรกิจก่อสร้างและโรงแรมท้องถิ่น แฟนหงส์แดงพันธุ์แท้ ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นสโมสรมูลค่า 50 ล้านปอนด์ แต่ข้อเสนอของนาย Morgan ได้ถูกคณะกรรมการบริหารปฏิเสธ เนื่องจาก นาย Morgan มีความสัมพันธ์ไม่ลงรอยกับนาย Moores เพราะได้วิพากษ์วิจารณ์การบริหารสโมสรในยุค Moores อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนทิศทางและปฏิรูปการบริหารจัดการสโมสรอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากที่ข้อเสนอของนาย Morgan ถูกปฏิเสธ ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไทยในเดือนพฤษภาคม 2547 ดูจะเป็นที่พึงปรารถนาของผู้บริหารสโมสรลิเวอร์พูลในปัจจุบัน นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากนายกรัฐมนตรีไทยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นลำดับสอง คณะผู้บริหารชุดเดิมจะยังคงรักษาอำนาจในการบริหารควบคุมสโมสรไว้ได้เช่นเดิม แม้จะมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าไปเป็นกรรมการบริหาร แต่การเปลี่ยนแปลงคงไม่เป็นไปในทางขุดรากถอนโคน ดังเช่นกรณีนาย Morgan เข้าถือหุ้นใหญ่
นอกจากนั้น ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสโมสรลิเวอร์พูลของฝ่ายไทยมีไม่มากนัก อีกทั้งนายทักษิณให้คุณค่าต่อการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลเสมือนเป็นการลงทุนทางธุรกิจ มิได้มีความผูกผันใดๆ กับสโมสร ซึ่งแตกต่างจากนาย Morgan ที่รู้ตื้นลึกหนาบางแทบทุกซอกทุกมุมของแอนฟิลด์ และเป็น The Kop ทั้งตัวและหัวใจ หากนาย Morgan ขึ้นกุมอำนาจในสโมสร ผู้บริหารกลุ่มเก่าย่อมทำงานด้วยความยากลำบาก และไม่ง่ายที่จะธำรงรักษาอำนาจเดิมของตนไว้
ภายหลังนายทักษิณยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลอย่างเป็นทางการ ประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยประสานเสียงสนับสนุน นอกจากเสียงสนับสนุนจำนวนมากในเวปบอร์ดแล้ว ผลสำรวจของสวนดุสิตโพลที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,280 คน ระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2547 พบว่า โดยภาพรวม ผู้ตอบ 50.95% เห็นด้วยกับการซื้อหุ้น 31.92% ไม่แน่ใจ และ 17.13% ไม่เห็นด้วย
ในขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งส่งเสียงสนับสนุน กลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศอังกฤษอย่าง Amnesty ตั้งคำถามด้านความชอบธรรมในการทำธุรกิจกับประเทศไทยที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐบาลทักษิณทำสงครามปราบปรามยาเสพติดเมื่อปีที่ผ่านมา
หากถามเหล่าแฟนหงส์แดงที่ประเทศอังกฤษ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรับเงินอัดฉีดจากฝ่ายนายกรัฐมนตรีไทย Steven Kelly บรรณาธิการนิตยสาร Liverpool fanzine Through the Wind and the Rain ถึงกับเอ่ยปากว่า “เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับนายทักษิณตั้งแต่วันแรกที่ได้เจอ ถ้าเรามีมนุษยธรรมอยู่บ้าง เราควรจะปฏิเสธข้อเสนอในทันที นายทักษิณไม่ใช่คนแบบที่คุณควรจะไปทำธุรกิจด้วย เรื่องนี้ต้องมีข้อโต้แย้งตามมาแน่นอน ถ้าคนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ‘หากทำให้สโมสรดีขึ้นได้ ก็ไม่เห็นต้องใส่ใจเรื่องอื่น’ ก็นับเป็นความตกต่ำทางจริยธรรม” (Soccernet, 11 พฤษภาคม 2547)
คล้อยหลังข้อเสนอของนายทักษิณไม่กี่วัน นาย Morgan ยื่นข้อเสนอใหม่เข้าต่อสู้ในสงครามแย่งชิงอำนาจครั้งนี้ โดยยื่นข้อเสนอสูงถึง 73 ล้านปอนด์ ทั้งนี้ นาย Morgan เสนอซื้อหุ้นเพิ่มทุน 61 ล้านปอนด์ และเสนอซื้อหุ้นอีกส่วนหนึ่งเพื่อกระจายให้แฟนบอลรายย่อยซื้อในภายหลังอีก 12 ล้านปอนด์ เหล่าแฟนหงส์แดงพันธุ์แท้ในถิ่นเมอร์ซี่ไซด์ต่างประสานเสียงสนับสนุนข้อเสนอของนาย Morgan เหนือนายกรัฐมนตรีไทย ผู้เคยชูเสื้อปีศาจแดงหมายเลข 52 เคียงข้าง Sir Alex Ferguson มาแล้ว
สถานการณ์คลับคล้ายจะพลิกผันเนื่องจาก นายทักษิณประกาศไม่ลงสนามสู้ในสงครามราคา แต่แล้ว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 คณะกรรมการบริหารสโมสรลิเวอร์พูลมีมติไม่รับข้อเสนอของนาย Morgan มตินี้ตีความเป็นอื่นใดมิได้นอกจากนาย Morgan โดนพิษการเมืองในสโมสรเล่นงาน การตัดสินใจเอียงข้างไปทางนักธุรกิจหมาหลงของคณะกรรมการบริหารสโมสรเป็นการส่งสัญญาณว่า ‘แนวรบแห่งลุ่มแม่น้ำเมอร์ซี่ไซด์ สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง’ จักไม่มีการปฏิวัติขุดรากถอนโคนเกิดขึ้นที่แอนฟิลด์ในเร็ววันนี้
กระแสข่าวการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลของนายทักษิณในช่วงต้น เป็นไปในทางว่า นายทักษิณ จะใช้เงินส่วนตัวและพรรคพวก เข้าซื้อหุ้น แต่อีกไม่กี่วันต่อมา ท่วงทำนองของนายทักษิณ และพลพรรคแวดล้อม แตกต่างไปจากเดิม มีการโยนก้อนหินถามทางที่จะใช้เงินของรัฐเข้าซื้อหุ้น ด้วยการชวนเชื่อว่า อยากให้สโมสรลิเวอร์พูลเป็นของคนไทยทุกคน
นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า “นายกรัฐมนตรีต้องการให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของสโมสร … การเจรจาซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลทำในฐานะรัฐบาลไทย ไม่ใช่ในฐานะทักษิณ” (BBC, 12 พฤษภาคม 2547)
ด้านกระทรวงการคลังก็ออกมารับลูกในการสร้างฝันของนายกรัฐมนตรีให้เป็นจริง นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังออกมาสนับสนุนความคิดของนายกรัฐมนตรี โดยบอกด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังระดมเงินทุนในส่วนภาครัฐเพื่อซื้อหุ้นก็พร้อมที่จะดำเนินการ เช่นเดียวกับนายสมใจนึก เฮงตระกูล ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกมาให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันว่า พร้อมดำเนินการหากนายกสั่งการให้นำเงินจากสำนักงานสลากไปซื้อหุ้น
ในทัศนะของผู้เขียน การใช้เงินของรัฐเข้าซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลต่างประเทศ เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ ทำใจไม่ได้ และยอมรับไม่ได้
เงินจำนวนมหาศาลถึง 4,600 ล้านบาท ย่อมมีความสำคัญอย่างสูงต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ให้ต้องทุ่มทรัพยากรแก้ไข ประเทศที่เต็มไปด้วยคนจน ที่ไม่มีแม้แต่สินค้าจำเป็นในการยังชีพอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีสิทธิแม้แต่คิดที่จะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าอภิมหาฟุ่มเฟือย
ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่นายกรัฐมนตรีใช้เงินในงบประมาณหรือเงินนอกประมาณเข้าซื้อหุ้น เพราะไม่ว่าจะใช้เงินของรัฐส่วนใด ย่อมสูญเสียโอกาสในการใช้เงินก้อนนั้นในการทำกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์และจำเป็นมากกว่า ต้นทุนของการซื้อทีมฟุตบอลจึงมิใช่แค่รายจ่ายที่ใช้ซื้อหุ้น หากต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสเหล่านี้ด้วย
นายกรัฐมนตรีอ้างว่า การเข้าถือหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลจะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ผู้เขียนมองไม่เห็นความเป็นเหตุและผล และความเชื่อมโยงแม้แต่น้อยว่า การมีสโมสรฟุตบอลสัญชาติไทยอยู่ที่ต่างประเทศจะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทยได้อย่างไร
การลงทุนครั้งนี้ใช้จำนวนเงินสูงยิ่ง ขณะที่ไม่มีหลักประกันเลยว่า คุณภาพวงการฟุตบอลไทยจะสูงขึ้นจริง ความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศกับการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยเลือนรางแทบมองไม่เห็น
จะมีที่พอเอามาชวนเชื่อได้ก็คือ การตั้งโรงเรียนสอนฟุตบอล ซึ่งก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาวงการฟุตบอลเท่านั้น และการชักจูงให้สโมสรลิเวอร์พูลมาตั้งโรงเรียนที่เมืองไทยก็ไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นเจ้าของเสียเอง นอกจากนั้น ไม่มีความชัดเจนว่า โรงเรียนดังกล่าวจะเอาจริงจังในการผลิตนักฟุตบอลอาชีพเพียงใด หลักสูตรเป็นเช่นใด โรงเรียนที่จะตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกนักฟุตบอลอาชีพหรือโรงเรียนหาเงิน
หากต้องการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย นายกรัฐมนตรีควรนำเงิน 4,600 ล้านบาท มาสร้างสรรค์กิจกรรมภายในประเทศที่ส่งผลเชื่อมโยงต่อการพัฒนาคุณภาพวงการฟุตบอลไทยอย่างชัดเจน เช่น ลงทุนก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพ พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์การกีฬา พัฒนาคุณภาพของวิทยาลัยพลศึกษาและหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว ออกแบบโครงสร้างสิ่งจูงใจให้นักกีฬาอาชีพมีที่ยืนในสังคม และสร้างสนามฟุตบอลให้ทั่วถึงเพื่อให้เด็กมีที่ทางสำหรับพัฒนาตัวเอง เป็นต้น
นอกจากนั้น หากนายกรัฐมนตรีต้องการปฏิรูปวงการฟุตบอลไทย ต้องปฏิรูปสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นลำดับแรก การปฏิรูปดังกล่าวไม่ต้องใช้เงิน ใช้เพียงความกล้าหาญ
คำถามสำคัญถึงแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ซื้อหุ้นก็ไม่มีความชัดเจน แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยให้สัมภาษณ์ว่า รอให้ตกลงซื้อขายกันก่อน แล้วจึงค่อยคิดว่าจะใช้เงินส่วนใด
วิธีคิดเช่นนี้สะท้อนวิธีทำงานของนายกรัฐมนตรีที่ชอบ “ลงมือไปก่อน แล้วคิดทีหลัง” ที่ผ่านมา เราเห็นความคิดบรรเจิดของนายกรัฐมนตรีถูกนำไปปฏิบัติโดยไม่ครุ่นคิดอย่างถี่ถ้วน ทั้งเรื่องนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นโยบายเจรจาการค้าเสรีสองฝ่าย (FTA) ฯลฯ การเสนอนโยบายอย่างชุ่ยและมักง่ายสร้างปัญหาให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ควรจะเป็น
การเสนอนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่ภาระตกอยู่กับประชาชน ย่อมต้องถามความคิดเห็นจากประชาสังคม ที่ผ่านมา กระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลชุดนี้เริ่มต้นจากมันสมองของนายกรัฐมนตรี และเหล่าที่ปรึกษาข้างกายบางคนเป็นสำคัญ โดยไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างทางอย่างเพียงพอ คนรอบข้าง รัฐสภา และกลไกราชการพร้อมจะสนองตอบมากกว่าให้สตินายกรัฐมนตรี เมื่อมันสมองนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญเช่นนี้ หากโชคร้ายได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช้สมองอย่างเต็มที่ในการคิดไตร่ตรองให้ครบถ้วนรอบด้านย่อมเกิดผลเสียต่อประชาสังคมไทย ยิ่งหากนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยแล้ว ยิ่งบิดเบือนกระบวนการคิดและตัดสินใจ
หากนายกรัฐมนตรีใช้เงินส่วนตัวส่วนหนึ่งและเงินของรัฐส่วนหนึ่ง ย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน เพราะการใช้เงินรัฐเข้าลงทุนส่วนหนึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาคเอกชน ลดโอกาสด้านความเสี่ยงของการลงทุน ผลิตสัญญาณด้านบวก และสร้างโอกาสให้โครงการลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ควรจะเป็น แม้ถ้าบริหารดี รัฐอาจได้ประโยชน์ แต่ภาคเอกชนผู้โชคดีรายนั้นก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน การใช้เงินรัฐเข้าลงทุนบางส่วนถือว่ามีผลรินไหลด้านบวก ส่งประโยชน์สู่ภาคเอกชน โดยฝ่ายเอกชนรับภาระน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ภาระส่วนหนึ่งตกเป็นของรัฐ
การกระทำเช่นว่า ไม่ต่างอะไรจากการตั้งกองทุนวายุภักษ์ แล้วใช้เงินกองทุนเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยามหุ้นตก เพื่อพยุงราคาหุ้นและส่งสัญญาณด้านบวกไปยังตลาดหุ้น ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการช่วยอุ้มของรัฐคือเหล่าเศรษฐีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนั้น การทำธุรกิจบริหารสโมสรฟุตบอลมิใช่ธุรกิจที่ปราศจากความเสี่ยง โอกาสขาดทุนจากความผิดพลาดในการบริหารมีสูงยิ่ง ปรากฏการณ์ล้มละลายของสโมสรฟุตบอลจำนวนมากในช่วงครึ่งทศวรรษหลังมานี้ เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดี หากรัฐร่วมลงทุนแล้วขาดทุน ใครจะรับผิดชอบ กฎหมายไทยไม่มีศักยภาพ ทั้งตามตัวบทกฎหมายและทางปฏิบัติ ในการลงโทษผู้กำหนดนโยบายที่ตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดความเสียหายแก่สังคมส่วนรวม
นายกรัฐมนตรียังให้เหตุผลอีกประการหนึ่งด้วยว่า การซื้อสโมสรลิเวอร์พูลทำให้ประเทศไทยมียี่ห้อสินค้าระดับโลกอยู่ในมือ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาประเทศไทย รวมทั้งขายสินค้าไทยได้
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “การนำทีมลิเวอร์พูลมาเชื่อมต่อกับสินค้าโอท็อปจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยมากขึ้น เช่น กล้วยตาก ปกติติดตราสินค้าโอท็อปเดิมราคา 30 บาท ถ้าเปลี่ยนมาติดตราลิเวอร์พูลก็จะเพิ่มเป็น 100 บาททันที” (มติชนรายวัน, 13 พฤษภาคม 2457)
ผู้เขียนเกรงว่า การตั้งใจประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านสโมสรลิเวอร์พูลที่กำลังจะเป็นลูกครึ่งไทยด้วยวิธีคิดเยี่ยงนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์ความเขลาเบาปัญญาให้เป็นที่น่าละอายในสังคมโลกเสียมากกว่า คงไม่มีประเทศใดในโลกที่ต้องการโฆษณาประเทศด้วยการซื้อสโมสรฟุตบอลดังของประเทศอื่น สังคมโลกที่มีวุฒิภาวะเติบโตกว่าสังคมไทยโดยเฉลี่ย คงรู้สึกชวนหัวร่อและสมเพช มากกว่ายกย่องยินดี
ในอดีต เหตุที่ไม่มีใครคิดวิธีประชาสัมพันธ์อ้อมโลกเช่นนี้ได้ มิใช่เพราะนายกรัฐมนตรีไทยเก่งกว่าคนอื่น แต่เพราะไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนไร้สาระพอที่จะคิดเรื่องพรรค์นี้ได้ต่างหาก
ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่พยายามประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในสิ่งที่มีคุณค่ากว่าการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล ดังตัวอย่างเช่น การพยายามทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพหลักนิติธรรม ฯลฯ หรือสังคมเช่นว่าเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้อาณาจักรทักษิณ ?
การตัดสินใจซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลสะท้อนกลไกการทำงานของอาณาจักรทักษิณได้เป็นอย่างดี ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถแยกบทบาทของนายทักษิณในฐานะผู้นำประเทศ ออกจากนายทักษิณในฐานะนักธุรกิจเถ้าแก่ได้ สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีสร้างประโยชน์ทางธุรกิจให้นายทักษิณในฐานะนักธุรกิจ ความคลุมเครือของบทบาทและผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นลักษณะเฉพาะของอาณาจักรทักษิณ มิใช่เฉพาะท่านผู้นำ หากบทบาทของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่แยกไม่ออกว่าตนเองเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลไทย หรือนายหน้าเจรจาธุรกิจของนายทักษิณ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
หากนายทักษิณมิได้สวมหัวโขนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ผลการเจรจาซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลจะสำเร็จเช่นนี้หรือไม่ ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่นายทักษิณได้รับจะมากเพียงนี้หรือไม่ เป็นคำถามที่น่าขบคิด
เสียงสนับสนุนของสังคมไทยต่อการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยด้วยการซื้อสโมสรลิเวอร์พูล เป็นอีกประจักษ์พยานที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยคือสังคมฉาบฉวย ไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง สนใจเปลือกนอกที่ดูเท่ โฉบเฉี่ยว แต่ข้างในหาสาระมิได้ ภูมิใจและให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร นับถือความสำเร็จแบบแดกด่วน
เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ตอกย้ำว่า เหตุใดนายทักษิณจึงมีอำนาจมากอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพราะนายทักษิณก็คือภาพสะท้อนของสังคมไทย มาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมไทยโดยเฉลี่ย ก็ประมาณนายทักษิณ นั่นคือ ไม่สูงมาก
ในอนาคต หากสโมสรลิเวอร์พูลแปลงสัญชาติเป็นลูกครึ่งไทยได้สำเร็จ ประโยคคลาสสิกที่ผู้เขียนมั่นใจว่าจะได้ยินบ่อยครั้ง ในสังคมเอียงขวาแบบไทยๆ ก็คือ ใครไม่เชียร์ลิเวอร์พูล คนนั้นไม่รักชาติ
ปรากฏการณ์แปลงสัญชาติลิเวอร์พูล ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะท้อนใจว่า แม้สโมสรลิเวอร์พูลอาจไม่ต้องเดินเดียวดายอีกแล้ว แต่ทำไมสังคมไทยจึงดูวังเวงและเดียวดายเหลือเกิน
ตีพิมพ์: นิตยสาร OPEN ฉบับเดือนมิถุนายน 2547