เราคนไทยใช้ชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจแบบไหน?
- จากรายงานการประเมินความยากจน ปี 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2551) พบว่า คนไทยประมาณ 5.4 ล้านคน จาก 63.9 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะยากจน คิดเป็นร้อยละ 8.48 คนจนในที่นี้หมายถึงผู้มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ซึ่งเป็นระดับรายจ่ายซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มูลค่า 1,443 บาท ต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้ คนจนร้อยละ 88.27 อยู่ในเขตชนบท
- จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนด้านรายจ่ายสูงที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 65.16) ศรีสะเกษ (ร้อยละ 28.65) บุรีรัมย์ (ร้อยละ 23.84) น่าน (ร้อยละ 20.21) นราธิวาส (ร้อยละ 20.02) สระแก้ว (ร้อยละ 19.85) ปัตตานี (ร้อยละ 19.72) สุรินทร์ (ร้อยละ 19.58) สุโขทัย (ร้อยละ 19.27) และนครพนม (ร้อยละ 17.87)
- ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (GiniCoefficient) ของไทยอยู่ที่ 0.497 (ยิ่งเข้าใกล้ 1 ยิ่งแสดงถึงความไม่เท่าเทียมของรายได้) ในช่วง 20 ปีหลัง ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคสูงสุดในปี 2535 ที่ระดับ 0.536
- หากแบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 54.93 (รายได้เฉลี่ยของกลุ่มนี้ 15,248 บาทต่อคนต่อเดือน) ส่วนกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 4.41 (รายได้เฉลี่ยของกลุ่มนี้ 1,224 บาทต่อคนต่อเดือน) ต่างกันประมาณ 12.47 เท่า
- หากแบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงที่สุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายจ่ายร้อยละ 46.93 (รายจ่ายเฉลี่ยของกลุ่มนี้ 9,014 บาทต่อคนต่อเดือน) ส่วนกลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายต่ำที่สุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 6.64 (รายจ่ายเฉลี่ยของกลุ่มนี้ 1,275 บาทต่อคนต่อเดือน) ต่างกันประมาณ 7.07 เท่า
- ครัวเรือนยากจนร้อยละ 54.4 มีหนี้สิน โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 40,169 บาทต่อครัวเรือน สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ 4.3 เท่า ครัวเรือนยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนหนี้สินสูงถึง 63.84 ของหนี้สินครัวเรือนยากจนทั้งหมด หนี้สินของครัวเรือนยากจนร้อยละ 47.9 ใช้ในการทำการเกษตร รองลงมาคือใช้จ่ายอุปโภคบริโภคในครัวเรือนร้อยละ 38.9 ส่วนครัวเรือนไม่ยากจนมีหนี้สินเฉลี่ย 197,417 บาทต่อครัวเรือน
- ครัวเรือนยากจนร้อยละ 73.8 ไม่มีบ้านและที่ดินเป็นของตนเอง ร้อยละ 84.9 ไม่มีทรัพย์สินสำหรับใช้ประกอบอาชีพ และร้อยละ 84.6 ไม่มียานพาหนะ คนจนในกรุงเทพมหานครถือครองทรัพย์สินน้อยกว่าคนไม่จนในกรุงเทพมหานคาร 83.6 เท่า
- จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2552 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,903 บาท เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 72 ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างเงินเดือนร้อยละ 40.3 จากการทำธุรกิจร้อยละ 20.3 และจากการทำการเกษตรร้อยละ 11.4 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 16,205 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 34.2 ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ 20.1 ค่าเดินทางและยานพาหนะร้อยละ 17.7 และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย สลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย ร้อยละ 12.1
- ครัวเรือนทั่วประเทศมีหนี้สินร้อยละ 60.9 มีหนี้สินเฉลี่ย 134,699 บาทต่อครัวเรือน หนี้สินต่อรายได้ 6.4 เท่า หนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.7 เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน เช่น ซื้อบ้านและที่ดิน (ร้อยละ 34.3) ใช้ในการอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 30.8) หนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ ร้อยละ 82.4 ของครัวเรือนทั้งหมดมีเฉพาะหนี้สินในระบบ ร้อยละ 9.7 มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และร้อยละ 7.9 มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว
- จากเอกสารของคณะทำงานศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน 4 ชุด ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 100 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ งานวิจัยของมูลนิธิสถาบันที่ดิน ชี้ว่า ในจำนวนที่ดินซึ่งมีการครอบครองโดยประชาชนทั่วประเทศประมาณ 120 ล้านไร่ ที่ดินมากกว่าร้อยละ 90 กระจุกตัวอยู่ในมือคนเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 ล้านคน และมีที่ดินถูกทิ้งร้างหรือทำประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพมากถึงร้อยละ 40 หรือ 48 ล้านไร่ (หากนำที่ดินเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์เพิ่มเพิ่มขึ้นในทางการเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากถึง 127,384 ล้านบาท) ในขณะที่ครัวเรือนที่ทำการเกษตรร้อยละ 18.42 ไม่มีที่ดินทำกิน และร้อยละ 42.36 มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่ ในปี 2549
- ตัวเลขการขึ้นทะเบียนคนจนทั่วประเทศเมื่อปี 2547 พบว่า มีคนจนและเกษตรกรรายย่อยยื่นขอความช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกิน 4,800,000 ราย ซึ่งผ่านการคัดกรองภายใต้เกณฑ์รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี และยืนยันต้องการความช่วยเหลือ จำนวน 2,217,546 ราย จำแนกเป็นผู้ไม่มีที่ดินทำกินจำนวน 889,022 ราย ผู้มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอจำนวน 517,263 ราย และผู้มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิจำนวน 811,279 ราย
- จากงานวิจัยเรื่องนโยบายและมาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ ของดวงมณี เลาวกุลและเอื้อมพร พิชัยสนิธ ปี 2551 พบว่า ผู้ถือครองที่ดินประเภทบุคคลธรรมดาในกรุงเทพมหานครที่ถือครองที่ดินเนื้อที่มากที่สุด 50 อันดับแรก เป็นเจ้าของที่ดินรวม 41,509.67 ไร่ โดยผู้มีที่ดินสูงสุด 5 อันดับแรกมีที่ดิน 2,036 ไร่ 1,804 ไร่ 1,769 ไร่ 1,675 ไร่ และ 1,637 ไร่ ตามลำดับ ส่วนผู้ที่มีที่ดินน้อยที่สุด 50 ลำดับสุดท้าย เป็นเจ้าของที่ดินรวม 0.32 ไร่ สัดส่วนการถือครองที่ดินมากที่สุด 50 อันดับแรกต่อ 50 อันดับสุดท้าย คิดเป็น 129,717.72 เท่า
- จากบทความเรื่องความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงในสังคมไทย ของผาสุก พงษ์ไพจิตร ปี 2552 ชี้ว่า ข้อมูลการถือครองที่ดินนำร่องใน 8 จังหวัด พบว่า ผู้ถือครองพื้นที่รวมมากที่สุด 50 อันดับแรก (ทั้งปัจเจกบุคคลและนิติบุคคล) มีที่ดินรวมกันโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ของทั้งหมด ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดปทุมธานีมีที่ดินรวมกัน 28,000 ไร่ สมุทรปราการ 17,000 ไร่ และนครนายก 34,000 ไร่ เป็นต้น
- จากข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2553 พบว่า บัญชีเงินฝากธนาคารที่มีเงินมากกว่า 1 ล้านบาท มีจำนวน 931,334 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่เป็นเจ้าของเงินฝากรวมทั้งสิ้น 5.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.23 ของปริมาณเงินฝากรวมทั้งประเทศ ส่วนบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาท มีจำนวน 70,604 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่เป็นเจ้าของเงินฝากรวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.28 ของปริมาณเงินฝากรวมทั้งประเทศ
- จากบทความวิชาการเรื่องการผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ ของเดือนเด่น นิคมบริรักษ์และสุณีพร ทวรรณกุล ปี 2552 ชี้ว่า จากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2551 หากแบ่งบริษัทออกเป็น 5 กลุ่มตามขนาดรายได้ กลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 86.28 ของทั้งตลาด ขณะที่กลุ่มบริษัทที่มีรายได้ต่ำสุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายได้เพียงร้อยละ 0.53 เท่านั้น นอกจากนั้น อัตราการขยายตัวของรายได้ของกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุดเติบโตร้อยละ 20.4 ต่อปี ส่วนกลุ่มบริษัทที่มีรายได้ต่ำสุดเติบโตเพียงร้อยละ 11 ต่อปี
- และจากข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกระทรวงพาณิชย์ในปี 2550 หากแบ่งบริษัทออกเป็น 10 กลุ่มตามขนาดรายได้ กลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุดเป็นเจ้าของส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 89.07 ของทั้งหมด ขณะที่กลุ่มบริษัทที่มีรายได้ต่ำสุดมีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นร้อยละ 0.007 สัดส่วนรายได้แตกต่างกันถึง 12,734 เท่า ส่วนอัตราการขยายตัวของรายได้ของกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุดเติบโตร้อยละ 5.27 ต่อปี และกลุ่มบริษัทที่มีรายได้ต่ำสุดเติบโตติดลบ คือร้อยละ -15.83 ต่อปี
- บทความวิชาการเรื่องทุนสัมปทานกับธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจ ของสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ปี 2549 อ้างงานศึกษาของประมวล บุญกาญจน์วนิชา และยุพนา วิวัฒนากันตังเรื่อง Big Business Owners and Politics: Investigating the Economic Incentives for Holding Public Office ปี2549 ซึ่งพบว่า บรรดาตระกูลเจ้าสัวที่มีทรัพย์สินรวมมากที่สุด 100 อันดับแรก มี 13 ตระกูลที่มีสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2543 ในจำนวนนี้มี 10 ตระกูลทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ และมีสัดส่วนรายได้จากสัมปทานสูงถึงร้อยละ 22.9 เทียบกับตระกูลเจ้าสัวที่ไม่ลงเลือกตั้งซึ่งมีรายได้จากสัมปทานเพียงร้อยละ 2.5
- และหุ้นของบริษัทของตระกูลเจ้าสัวที่มีสมาชิกในตระกูลเป็นรัฐมนตรีหรือ “กลุ่มธนกิจการเมือง” มีผลตอบแทนเฉลี่ย 24 เดือน (มกราคม 2544-ธันวาคม 2546) และ 36 เดือน (มกราคม 2544-ธันวาคม 2547) สูงกว่าบริษัทในกลุ่ม “เจ้าสัวนอกรัฐบาล” ถึงร้อยละ 57.3 และร้อยละ 208.1 ตามลำดับ
- บทความวิชาการเรื่องมาตรการการคลังเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม: การวิเคราะห์ภาระภาษีและการขยายฐานภาษี ของสมชัย จิตสุชนและคณะ ปี 2552 พบว่า ผู้เสียภาษีเงินได้ในปี 2551 มีประมาณ 8-9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 24.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลมีการจัดเก็บได้ต่ำมากคิดเป็นร้อยละ 2 และ 4 ของ GDP ตามลำดับ ขณะที่อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของรายได้พึงประเมินเท่านั้น
- จากข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แรงงานนอกระบบทั่วประเทศมีประมาณ 24.3 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 38.4 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 63 ของผู้มีงานทำ ในจำนวนนี้มีการศึกษาระดับต่ำกว่าประถมศึกษาร้อยละ 43.16 มีการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 24.83 ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบร้อยละ 41.54 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ ประมาณ 14.4 ล้านคน ภาคการขายส่งและขายปลีก 3.9 ล้านคน ภาคโรงแรมและภัตตาคาร 1.9 ล้านคน และภาคการผลิต 1.3 ล้านคน ทำงานพนักงานบริการ พนักงานร้านค้า และตลาด ประมาณ 4.8 ล้านคน แรงงานเหล่านี้ขาดหลักประกันในการคุ้มครองสวัสดิการในฐานะแรงงาน
- จากบทความเรื่องงานที่มีคุณค่าของวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ปี 2551 พบว่า ในปี 2550 ลูกจ้างเอกชนประมาณ 3 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมด ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 80 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา นอกจากนั้น อัคราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถูกปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับอัตราในปี 2538
- จากบทความวิชาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการจัดสรรทุนในระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ของสฤณี อาชวานันทกุล และกิตติชัย แซ่ลี้ ปี 2550 พบว่า บริษัทในกลุ่ม ปตท. (หมายถึง ปตท. และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 25) จำนวน 8 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าตลาดรวมกันร้อยละ 30 ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด และมีมูลค่าซื้อขายรวมกันร้อยละ 24 ของมูลค่าซื้อขายทั้งตลาด หากใช้ปี 2545 เป็นปีฐาน หุ้นกลุ่ม ปตท.มีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1,036 จากต้นปี 2545 เติบโตสูงกว่าราคาหุ้นนอกกลุ่ม ปตท. 3 เท่า และสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์รวม 2.47 เท่า
เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเศรษฐกิจแบบไหน? เรายอมรับเศรษฐกิจดังที่แสดงข้อมูลข้างต้นได้หรือไม่? หากไม่ – เราจะเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความหมายต่อชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะสามัญชนคนธรรมดาได้อย่างไร?
หากสังคมเศรษฐกิจไทยไม่ช่วยกันตอบโจทย์โหดหินนี้อย่างจริงจัง วิกฤตในช่วงครึ่งทศวรรษหลังที่ผ่านมาคงเป็นเพียงบทโหมโรงของวิกฤตอันหนักหนาสาหัสกว่า ซึ่งกำลังจะมาเยือนในไม่ช้า
ตีพิมพ์: นิตยสาร ค คน ฉบับเดือนตุลาคม 2553