ตอนนี้เป็นช่วงเวลาเปิดเทอมใหม่ ผมสอนวิชาสังคมกับเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิชาพื้้นฐานสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชานี้เป็นวิชาแห่งการอ่าน การคิด และการเขียน สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบคิด ไม่ชอบเขียน ผมมีงานเขียน 2 ชิ้น ที่อยากชวนให้อ่านกันครับ ชิ้นแรกคือ “เขียนทำไม? เขียนอย่างไร?” ซึ่งเรียบเรียงมาจากบทอภิปรายของอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย อีกชิ้นหนึ่งคือ “ทำไมต้องอ่านอะไรยาวๆ” ของนิ้วกลม
…………………..
“เขียนทำไม? เขียนอย่างไร?” – สุวินัย ภรณวลัย
เอกภาพขององค์สาม
ผมเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกอายุ 23 ปี ถึงวันนี้ก็เกือบ 30 ปีแล้ว โดยปกติแล้ว สิ่งใดที่เรารัก เราจะอยู่กับมัน และสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างออกมา ผมรักการเขียน เพราะผมรักการคิด และรักการอ่าน ถ้าถามว่าเขียนทำไม ผมก็ต้องตอบว่าเราอ่านหนังสือทำไม และเราต้องคิดทำไม
จากประสบการณ์กว่าครึ่งศตวรรษของชีวิต ผมบอกได้เลยว่า การคิด การอ่าน และการเขียน ทำให้ ‘เราเป็นใคร’ คำว่า ‘เราเป็นใคร’ นี้ในเชิงปรัชญาเป็นคำถามเชิงรากเหง้า เหมือนกับคำถามว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ ซึ่งสร้างคำถามตามมาอีกมากมาย เพราะฉะนั้น การตอบคำถามว่าเราเป็นใคร เราเป็นอะไร เราเป็นอย่างไร ต้องย้อนไปมองความสัมพันธ์ระหว่างการคิด การอ่าน และการเขียน หรือเอกภาพขององค์สาม (trinity)
ถ้าพูดกันแบบสรุปย่อก็คือ เขียนทำไม..การเขียนทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น คิดทำไม…การคิดก็เพื่อให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น อ่านหนังสือทำไม…ก็เพื่อทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น คำตอบของคำถามเหล่านี้จะขมวดนิยามว่าตัวเราเป็นใคร เรามีในภาพอุดมคติของชีวิตอย่างไร การคิด การอ่าน และการเขียน ช่วยให้เราตอบปัญหานี้ได้
การเขียนทำให้การอ่านของเราสมบูรณ์ และทำให้การคิดของเราสมบูรณ์ หลายคนอ่านหนังสือแล้วไม่ชอบเขียนเพราะรู้สึกว่าเวลาหรือพลังงานที่ใช้เขียนเพื่อสรุปสิ่งที่อ่านกลับนานกว่าเวลาที่ใช้อ่านเสียอีก แต่ผมจะบอกว่า การอ่านของคุณจะไม่สมบูรณ์เลยถ้าคุณไม่เขียนออกมา การเขียนทำให้คุณสามารถ master สิ่งที่อ่านได้
นี่เป็นเคล็ดลับของคนที่เดินอยู่บนวิถีแห่งอักษรา ถ้าอยากเป็นเทพอักษรา ต้องรู้เลยว่าสัจธรรมข้อที่หนึ่งคือ การเขียนทำให้การอ่านสมบูรณ์ การเขียนทำให้ความคิดสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถมองการเขียน การอ่าน และการคิด อย่างแยกส่วนออกจากกันได้ แต่ต้องมองอย่างบูรณาการ หรืออย่างเป็นองค์รวม
การคิด การอ่าน และการเขียน เป็นคุณสมบัติที่มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น สัตว์อื่นไม่มี เพราะฉะนั้น การพัฒนาความเป็นมนุษย์ต้องพัฒนาการอ่าน การคิด และการเขียน สังคมของเรามีปัญหาเพราะอะไร เพราะว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ถามว่าในสัปดาห์หนึ่งคุณอ่านหนังสือกี่เล่ม ถ้าตอบไม่ได้ แสดงว่าพัฒนาการด้านความเป็นมนุษย์ของคุณจะช้าแล้ว
การเขียนจะดีได้ก็ต่อเมื่อการเขียนนั้นมีเนื้อหาเพียง 10% ของสิ่งที่อ่าน ถ้าใครเขียนมากกว่า 10% ของการอ่าน คุณภาพของการเขียนจะลดถอยลง เราต้องอ่านหนังสือให้มากเพื่อคั้นออกมาจนเหลือแค่ผลึกความคิด หรือผลึกของการอ่าน ไม่ควรเกิน 10% งานเขียนจึงมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ผลงานเขียนที่ปรากฏในบรรณพิภพเป็นเพียงปลายน้ำแข็ง (iceberg) ของปริมาณการอ่านเท่านั้น
แรงบันดาลใจ
ปกติแล้ว เมื่อคนเราเกิดมา ก็จะมีชีวิตทางกายภาพในทันที แต่ชีวิตที่มีจิตสำนึก (conscious life) คือเริ่มคิดเป็น เริ่มถามไถ่ตัวเองกับโลกใบนี้ มักจะเริ่มต้นขึ้นตอนอายุประมาณ 12 ขวบ หรือประมาณ ป.5-ป.6 การอ่านหนังสือก่อนหน้านี้ก็อ่านได้ แต่ conscious ยังไม่เกิด ถ้าจะเข้าใจตัวตนของใคร ก็ต้องถามว่าหนังสือที่เขาเริ่มอ่านตั้งแต่อายุ 13 ปี ไล่ขึ้นมาถึงปัจจุบันมีอะไรบ้าง อายุเฉลี่ยของคนไทย ผู้ชายประมาณ 65 ปี ผู้หญิงประมาณ 70 ปี ก็ตีว่าจากอายุ 13 ถึง 65 ปี ในช่วง 50 ปีนี้ คุณอ่านอะไร อ่านมากขนาดไหน
ตัวผมเองเริ่มต้นจากการอ่าน พล นิกร กิมหงวน ต้องเข้าใจว่ายุคนั้นไม่มีวีดีโอ ทีวีก็ยังขาวดำ ความสุขอย่างเดียวที่มีคือการอ่านหนังสือ ผมรักการอ่านหนังสือก็เพราะ พล นิกร กิมหงวน แต่ว่าช่วงที่ผมอ่านหนังสือมากจริงๆ คือช่วงที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ประมาณปีที่สอง พอได้เรียนรู้อีกภาษาหนึ่ง เราก็คะนอง สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตบรรเจิด คือการได้เข้าไปในร้านหนังสือแล้วเห็นหนังสือเต็มไปหมด บรรยากาศเหมือนหนังเรื่อง Beauty and the Beast ที่นางเอกไปเห็นห้องหนังสือ ร้านหนังสือที่ญี่ปุ่นน่าดึงดูดมาก หนังสือเล่มแรกที่อ่านในตอนนั้นคือหนังสือที่สอนว่าควรอ่านหนังสืออย่างไร
ผมเริ่มมี conscious เรื่องตัวตนในเชิงประวัติศาสตร์ของตัวเองตั้งแต่อายุประมาณ 19-20 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมอายุ 19 ปี คิดอยากเป็นนักปฏิวัติ และถ้ามีช่องทาง ก็อยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เมื่อเรารู้ว่าเราต้องการเป็นแบบนี้ เราก็ต้องรับผิดชอบต่อวิถีที่เราเลือก ทำให้เราต้องอ่านหนังสือ
ผมเป็นคนไม่ประนีประนอมในการใช้ชีวิต จะเรียกว่าเป็นคำสาปหรือเป็นคำพรที่มีต่อชีวิตก็ไม่ทราบ เราคิดคล้ายกับมูซาชิ คือถ้าไม่เป็นจอมดาบอันดับหนึ่งในแผ่นดิน ก็ขอตายอย่างหมาข้างถนน พอเราสำนึกว่าขอเหยียบรอยเท้าของตนไว้ในประวัติศาสตร์ ไม่ยอมเป็นแค่กลไกให้แก่ระบบทุนนิยม ไม่อยากเป็นขี้ข้าให้นายทุน ไม่อยากถูกผู้มีอำนาจกระทำต่อเราเยี่ยงคนไร้ค่า อย่างน้อยเราขอประกาศว่าเรามีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้ ซึ่งการเขียนหนังสือเป็นการประกาศตัวตนบนโลกใบนี้อย่างดีที่สุด เพราะหนังสือทำให้ความคิดของเราได้รับการบันทึกและสืบทอด
ถ้าเรามีเป้าหมาย มีปณิธานชีวิต การอ่านหนังสือก็จะเต็มไปด้วย passion หากคุณไม่มี passion ในการอ่าน คุณก็จะไม่มี passion ในการเขียน และจะไม่มี passion ในการคิด ถ้าถามว่าสุวินัยคืออะไร สุวินัยก็มีแค่สามสิ่งนี้ … อ่าน คิด และ เขียน ในชีวิตนี้ ผมมีความสามารถแค่คิด แค่อ่าน แค่เขียน อย่างอื่นไม่มี เราอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตน ได้แค่คิด แค่อ่าน แค่เขียน
ต่อมา พอเราพ่ายแพ้ในการปฏิวัติ ก็รู้สึกเหมือนกับโลกพังทลายลง แต่ปัญหาคือ เรายังมีลมหายใจอยู่ ถึงหมดหวังแต่ไม่สิ้นหวัง เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องคว้านท้อง เพราะไม่เคยทำผิดมโนธรรม ผมกลายเป็น ‘โรนิน’ คือเป็นซามูไรไร้สังกัด ไม่มีใครเป็นนายของผม สมัยก่อนเรามีพรรคคอมมิวนิสต์ หรือขบวนการปฏิวัติเป็นนายเรา แต่ตอนนี้ เราไม่ติดค้างใคร ต้องกลับไปหาความเป็นคนของเรา หรือเข้าสู่โลกทางจิตใจหรือโลกด้านใน
ผมไม่สนใจอำนาจ แต่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักคิด อยากมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนอื่น สมัยที่เราเรียนอยู่และอยากเป็นนักปฏิวัติ ก็นั่งคิดถึงขนาดว่าถ้าปฏิวัติสำเร็จ จะวางแผนประเทศ ถ้าประเทศเป็นสังคมนิยมจะมีการ design ประเทศอย่างไร เราเลยได้บทเรียนว่าถ้าอยากเป็นนักคิดต้องเริ่มตั้งแต่วัยประมาณ 20 ปี ถึงก่อน 30 ปี เหมือนอยากจะเป็นนักเทนนิสมืออาชีพก็ต้องเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 10 กว่าปี หากเลยจากนี้แล้วถือว่ายากแล้ว อาจจะเป็นนักเขียนได้ แต่จะไม่ใช่นักคิดในความหมายที่เป็นบัณฑิตทางสังคม
Pure Motive, Pure Action
เคล็ดลับในการอ่าน การคิด การเขียน ของผมคือ ต้องเป็น Pure motive, Pure action นั่นคือ ต้องเป็นการกระทำด้วยใจบริสุทธิ์ การอ่านของคุณต้องอ่านด้วยใจบริสุทธิ์ ถ้าอ่านเพราะใกล้สอบ คุณไม่มีทางเป็นนักอ่านที่ดีได้ ถ้าเขียนเพื่อจุนเจือเลี้ยงชีพ ไม่ได้เขียนเพราะอุดมคติ คุณไม่มีทางเป็นนักเขียนที่ดีได้
คุณต้องเขียนเพื่อเขียน หรืออ่านเพื่ออ่าน หรือเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่แท้ แล้วสิ่งที่ดูเหมือนอ้อมเหล่านี้จะให้ผลโดยตรง คือคุณจะสามารถสร้างผลสะเทือนต่อคนอ่านได้อย่างยาวนาน ถ้าหากว่าไม่มี pure action แล้ว ถ้ามีผลสะเทือนก็แค่ชั่วคราวหรือผิวเผิน การอ่าน การคิด การเขียนของคุณต้องไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อเป้าหมายที่ดีกว่า ถ้าคุณเรียนเพื่อหวังจะได้งานดี เงินเดือนสูง มันจะลดทอนพลังของคุณ
พลังมีความสำคัญ คุณต้องทำให้ตัวเองให้เป็นคนที่มีพลังงานสูงก่อน จึงจะสามารถแปรเปลี่ยนพลังงานสูงเหล่านี้เป็น pure action ใช้ทำอะไรดีๆ ได้ ถ้าถามว่าทำอย่างไรให้มีพลังงานสูง คำตอบก็คือต้องมี pure motive คือมีแรงจูงใจที่บริสุทธิ์ก่อน เป็นแรงจูงใจที่อยู่นอกเหนือผลประโยชน์ส่วนตัว (self-interests)
การเขียนหนังสือเป็นการพิสูจน์หรือการยืนยัน pure power ของเรา ถ้าเรามี pure power เราก็จะเป็น pure being เพราะฉะนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่จะเป็น pure being ได้อย่างไร เริ่มต้นต้องเริ่มถามตัวเองก่อนว่าชีวิตของเราให้ความสำคัญกับอะไร หากเป็นเงิน หรืออำนาจ ก็ไม่ต้องพูดเรื่อง pure being pure thought pure life แล้ว ชีวิตของเรา เราเลือกนิยามได้ เราต้องเป็นคนเลือกเอง ต้องกล้าที่จะยอมรับหรือปฏิเสธ ในแง่นี้ การเขียนเป็นการเผยตัวตน พิสูจน์ตัวตนของการอ่าน ของความเป็นมนุษย์ของตัวเรา
ปรุงรสอย่างสงบงัน
ถ้าถามว่าแล้วจะเขียนอย่างไร การเปรียบเทียบที่ง่ายที่สุดคือ การเขียนหนังสือคือการปรุงอาหารชั้นดี เราต้องเลือกวัตถุดิบ ต้องทุ่มเทเอาใจใส่ ผมจะคิดเมนูก่อนว่าจะทำอะไรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ให้มีรสชาติเปลี่ยนไปบ้างในงานเขียนแต่ละชิ้น วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารต้องหลากหลาย เวลากินอาหาร เราไม่ได้กินแค่รส แต่จะเสพด้วยตาด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องคำนึงถึงโครงสร้างขององค์ประกอบที่เราใช้
หนังสือแต่ละเล่มประกอบด้วยวาทกรรมหลากหลายมาก วาทกรรมที่ได้รับการยอมรับต้องมีความเร้าใจ มีจังหวะจะโคน การเขียนหนังสือเป็นศิลปะ ไม่ใช่แค่ศาสตร์ เราใช้ศาสตร์ในแง่ที่เป็นวัตถุดิบ แต่ตอนเขียนและนำเสนอออกมาต้องเป็นศิลปะ ไม่เช่นนั้น งานเขียนก็จะไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อการเขียนเป็นการสร้างสรรค์ หรือเป็นสิ่งที่เรารังสรรค์ขึ้นมา การเขียนก็คือ การให้ความหมายกับสรรพสิ่ง การเขียนคือการที่เราสื่อสารความหมายของเราให้กับจักรวาล การเขียนที่สร้างความสั่นสะเทือนจะไม่หายไปไหน ไม่เหมือนกับเห็นคนแต่งตัวสวย ไม่นานก็เลือนหายเป็นความทรงจำ
ผมค้นพบว่าการสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากความเงียบสงัด คนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่สงบงันจะเขียนงานที่ดีไม่ได้ ต่อให้คุณยุ่งแค่ไหน ข้างในต้องสงบเสียก่อน จึงจะเขียนงานออกมาได้
เคล็ดลับสู่ความสงบทำได้ไม่ยาก กล่าวคือ ทำชีวิตให้เรียบง่าย คุณต้องตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิต ถึงจะทำให้กระบวนการคิดและการอ่านดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หากชีวิตไม่เรียบง่ายและไม่สงบแล้ว งานสร้างสรรค์ย่อมไม่เกิด
งานเขียนของผมเกิดขึ้นมาจากความสงบ เมื่อจิตข้างในสงบแล้ว แล้วเราก็สามารถสร้างสรรค์หรือเผยอะไรบางอย่างจากส่วนลึกของเราออกมาได้ ในแง่นี้ ผมไม่ประนีประนอม ผมไม่ยอมเขียนเพื่อการรับจ้างหรือการรับใช้เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นตัวเงิน จริงๆแล้ว นักเขียนเป็นอาชีพที่โหดร้าย ผลตอบแทนต่ำมาก พอผมถึงขั้นหนึ่ง ก็รู้สึกว่า กูไม่เอามึง ผลตอบแทนไม่สนใจแล้ว เขียนให้ฟรีก็ได้ ชีวิตนี้ยกให้ก็ได้ ตายยังไม่กลัวเลย จะไปกลัวอะไรกับความยากจน ก็รอดมาได้
ผมเขียนหนังสือแบบศิลปิน คือไม่สนใจผลตอบแทน ไม่สนใจแม้กระทั่งผลตอบรับจากสังคม เราเขียนเพราะเราอยากเขียน พอผมรู้สึกว่ากูไม่เอากับมึงแล้ว ผมก็เป็นอิสระ พ้นจากแรงกดดันของกระแส ผมเลยสามารถเขียนได้ แล้วมันนิ่ง คือเราเขียนสิ่งที่อยากเขียนออกมา โดยที่ไม่ถูกแรงกดดันจากอะไรทั้งสิ้น
จิตใจสูงส่ง
การเขียนที่เขียนออกมาจากความสงบงันนี้ ต้องไม่พิมพ์ ต้องเขียนด้วยปากกา ผมเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ เรารู้สึกว่าเป็น artist ถ้าคุณใช้พิมพ์ ไม่ว่าจะเร็วแค่ไหน ก็อยู่อย่างนั้น ไม่ต่างจากการตัดปะ แล้วก็หายไป ถ้างานอยู่ในไฟล์คอมพิวเตอร์ เราจะไม่รู้สึกว่าเป็นนักเขียน ถ้าอยากเป็นนักเขียน ให้จับปากกา จะได้สมาธิ ต้องใช้น้ำอดน้ำทน ผมพบว่า ในการพิมพ์ ช่องว่างระหว่างความคิดกับมือที่พิมพ์จะไม่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
ผมเคยมีปากกาทองด้ามหนึ่ง ซึ่งชอบมาก เคยใช้เขียนมูซาชิ และมังกรจักรวาล แต่ต่อมาถูกขโมยไปแล้วในธรรมศาสตร์นี่ละ พอปากกาด้ามนั้นหายไป ผมก็ไม่คิดจะหาปากกาด้ามอื่น ตอนนี้ ผมใช้ปากกาแบบเดียวกับที่สถาปนิกใช้ เขียนได้ประมาณ 30 หน้าก็ทิ้งไป ตอนนี้ใช้ไปนับร้อยแท่งแล้ว
ก่อนจะเขียนหนังสือ ผมต้องนอนกลางวันก่อน เพื่อให้สมองแจ่มใส การนอนกลางวันทำให้หนึ่งวันของเราเท่ากับสองสามวันของคนอื่น เพราะทำให้เราสด ถ้าไม่สด ผมเขียนงานออกมาไม่ได้ พอตื่น ก็จิบน้ำชา ทีนี้พอมาจับปากกาจะเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าครึ่งหนึ่งของสิ่งที่จะเขียนอยู่ในสมองเราแล้ว โดยเฉพาะหัวข้อและเค้าโครง
นอกจากนั้น ควรทำงานในที่ประจำ นั่งเขียนที่โต๊ะตัวเดิม ไม่ควรเปลี่ยน เพราะจะมีสนามพลัง (energy field) อยู่ การใช้ที่ซ้ำๆ ในการเขียนหนังสือเหมือนกับมี login พอคุณใส่ password ปั๊บ เข้ามาแล้วจะมีอะไรบางอย่างนำปากกาเราไป เหมือน auto-writing แต่การทำแบบนี้ต้องครบวงจร คือต้องใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและสร้างสรรค์
การเขียนหนังสือต้องเขียนด้วยจิตใจสูงส่ง (higher mind) หากเขียนด้วยจิตใจสามัญจะติดขัด เพราะจิตใจสามัญจะฟุ้งซ่าน จิตใจสูงส่งคือความคิดสูงส่ง คุณต้องมีความคิดสูงส่งอยู่ในตัวเองก่อนจึงจะเขียนงานที่ดีออกมาได้ และถ้าจะให้เหนือกว่าขั้นนี้ คุณต้องมีจิตใจกระจ่าง จิตใจกระจ่างเป็นเรื่องของความสว่างโล่งทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นผลผลิตของการฝึกฝน
ถ้าถามว่าจะมีจิตใจสูงส่งได้อย่างไร ก็ต้องเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือที่มีความคิดสูงส่งเสียก่อน อ่านให้มากจนกระทั่งหนังสือเหล่านี้ซึมซับเข้าไปจนถึงไขกระดูก เข้าไปเป็นเลือดเนื้อ หล่อหลอมกระบวนทัศน์ของเรา ถ้าอ่านหนังสือไร้สาระมากๆ ความไร้สาระก็ครอบงำคุณ เหมือนกับคุณดูทีวีน้ำเน่า
วิถีแห่งอักษรา
ถ้าคนเราไม่ใช้ชีวิตอย่างซึมเซาหรือขาดความกระตือรือร้นแล้ว มันจะนำไปสู่วิถีหนังสือ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณชอบเรื่องอาหาร ชอบกินขนม อย่าเสพแค่ขนม แต่ต้องถามว่าขนมนี้มีที่มาอย่างไร ต้องไปอ่านประวัติศาสตร์อาหาร ประวัติศาสตร์ขนม ช่วงหนึ่งของชีวิต ผมตกอับต้องไปล้างจานส่งเสียพ่อแม่อยู่หนึ่งปีครึ่งในร้านอาหารสากล เราก็บ้าไปเปิดตำราประวัติศาสตร์อาหาร มันนำเราไปสู่ด้านลึกได้ การสนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดอย่างจริงจังล้วนนำเราไปสู่องค์ความรู้
การอ่านที่มีความจำเป็นต่อวิวัฒนาการของตัวเรามีอยู่ 4 หมวด หนึ่ง เรื่องตัวตน (self) สอง เรื่องธรรมชาติ (nature) สาม เรื่องสังคม (society) และสี่ เรื่องวัฒนธรรม (culture) ในแต่ละปี เราควรอ่านหนังสือให้ครบทั้งสี่หมวดนี้ แล้วทำบันทึกสะสมไปเรื่อยๆ องค์ความรู้เหล่านี้จะนำคุณไปสู่ความสามารถในการเขียนที่หลากหลาย การอ่านที่หลากหลาย และการคิดที่หลากหลายด้วย
สิ่งที่สังคมไทยขาดมากคือการคิดที่หลากหลาย ถ้าหากสังคมไม่พัฒนาไปในทางพหุนิยมแล้ว สังคมนี้ล้มเหลวแน่นอนในทุกด้าน เพราะคนเราคิดด้านเดียวเกินไป ไม่สามารถเข้าใจวิธีคิดที่แตกต่างของคนอื่นได้ สังคมถึงแตกแยกอย่างรุนแรงขนาดนี้
เพราะฉะนั้นเราสามารถช่วยสังคมนี้ได้โดยไม่ต้องมาเคลื่อนไหวปฏิวัติให้เหนื่อยยากดเหมือนสมัยคนรุ่นผม แต่เริ่มต้นด้วยการอ่านที่หลากหลาย การคิดที่หลากหลาย และการเขียนที่หลากหลาย ก็ถือว่าคุณช่วยสังคมอย่างใหญ่หลวงแล้ว
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทอภิปรายของสุวินัย ภรณวลัย จากการเสวนาหัวข้อ ‘เขียนทำไม? เขียนอย่างไร?’ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550
…………………..
“ทำไมต้องอ่านอะไรยาวๆ” – นิ้วกลม
การไม่ยอมทนอ่านอะไรยาวๆ เพื่อพบสิ่งดีๆ ที่ซ่อนไว้ ก็คล้ายการไม่ยอมใช้เวลาเรียนรู้กับบางสิ่งเพื่อได้รับบทเรียนจากสิ่งนั้น คล้ายกันกับการไม่ยอมรับความน่าเบื่อของความสัมพันธ์เพื่อแลกกับวันที่ดีของคนสองคน
การใช้เวลาเป็นเรื่องสำคัญ การอ่านข้อเขียนยาวๆ หรือหนังสือเล่มหนาคือการฝึกการใช้เวลากับบางสิ่ง สิ่งที่การสรุปย่อไม่สามารถมอบให้เราได้คือการใช้เวลานี่เอง
เปรียบกับการเดินขึ้นยอดเขา เดินเองกับมีเฮลิคอปเตอร์ไปส่งก็ถึงเหมือนกัน แต่ความรู้สึกต่างกัน สิ่งที่หายไปคือรายละเอียดระหว่างทางที่อาจจุดประกายบางอย่าง สร้างความรู้สึกบางแบบให้เกิดขึ้นกับเรา
รายละเอียดเหล่านี้ การย่อความตัดทิ้งไปหมด บางคนอาจจะ “ปิ๊ง” บางอย่างจากการอ่านนอกไปจากแก่นของเรื่อง เราอาจจะอินกันคนละบรรทัด สปาร์กกันคนละประโยค
ทั้งหมดนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับนิสัยละเอียดอ่อน ค่อยๆ ละเลียด รู้จักรอ ทบทวนและทำความเข้าใจกับตัวเอง ซึ่งสูญเสียไปเมื่อเราติดนิสัยชอบอ่านอะไรแบบ “ย่อความ” หรือ “สรุปสั้นๆ มาให้หน่อยสิ”
เราจะกลายเป็นคนใจร้อน ชอบอะไรง่ายๆ แบบมีคนย่อยมาให้ จนเสียความสามารถในการใช้เวลาเพื่อย่อยความคิดด้วยตัวเอง เราจะกลายเป็นคนชอบอะไรสำเร็จรูป แต่ชีวิตไม่ง่ายแบบสำเร็จรูปแบบนั้นนี่นา เมื่อถึงเวลาต้องเผชิญปัญหาที่ต้องฝ่าฟันข้ามผ่านไปเราจะรู้สึกทุกข์ทรมาน เพราะเสพติดความง่ายที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้มาโดยตลอด
“ยาวไปไม่อ่าน” ก็เหมือน “สูงไปไม่ปีน” ก็เหมือน “ยากไปไม่คบ” ปฏิเสธจุดหมายเพราะเห็นว่าระหว่างทางช่างยาวไกลและยากเย็น หรือไม่ก็เลือกแต่ส่วนง่าย และไม่ทนกับส่วนยาก
นี่ไม่ใช่ข้อเขียนที่ยืดยาวอะไร แต่ถ้าจะสรุปความโดยสั้นกระชับก็อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะแต่ละย่อหน้ามีประเด็นแตกกระสานซ่านเซ็นไปหมด
การอ่านอะไรยาวๆ คือการเดินทางด้วยตัวเอง ค้นพบบางสิ่งระหว่างทางเอง ถอดแก่นความคิดด้วยตัวเอง
เราไม่ได้อ่านเพื่อให้รู้ว่าผู้เขียนคิดอย่างไร แต่เราอ่านเพื่อให้รู้ว่าเราเองคิดอย่างไรต่างหาก
ฉะนั้น จึงไม่มีใคร “อ่าน” แทนกันได้ การ “สรุป” ย่อมไม่ใช่การ “อ่าน” เพราะการอ่านคือการใช้เวลา เดินผ่านดงตัวอักษรที่วางเรียงรายเป็นทางยาวไปสู่บรรทัดสุดท้าย มันต่างจากการขึ้นเขาอยู่สักหน่อย เพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่บนยอดเขา หาก “ความหมาย” นั้นมีอยู่ในทุกบรรทัด ความหมายที่ว่านี้อาจไร้ความหมายสำหรับเรา แต่มีความหมายสำหรับบางคน หรืออาจจะไร้ความหมายสำหรับบางคน แต่มีความหมายสำหรับเรา
อ่านด้วยตัวเองเถิด เพราะสิ่งที่ได้จากการอ่านมิใช่ “เนื้อความ” เท่านั้น
…………………..