ค่านิยม 12 ประการ ของคนธรรมศาสตร์

“ดูๆ ก็น่าประหลาดอัศจรรย์ที่พวกเราครูบาอาจารย์ พยายามอบรมสั่งสอนศิษย์ให้นิยมเสรีประชาธิปไตย และให้รังเกียจลัทธิเผด็จการของคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่พอศิษย์เราจะปฏิบัติตามหลักเสรีประชาธิปไตย เราก็ห้ามไว้ ช้าก่อน

ครูบาอาจารย์สั่งสอนศิษย์ให้รู้จักคิดอ่านใช้เหตุผลด้วยตนเอง ครั้นศิษย์ใช้ความคิดอิสระขึ้น เรากลับไปเกรงว่าศิษย์จะคิดล้างเรา

ครูบาอาจารย์สั่งสอนให้ศิษย์วิจัยพิจารณาภาวะสังคมเพื่อใช้วิชาและสติปัญญาปรับปรุงให้ดีขึ้น ครั้นศิษย์เล็งเห็นชัดว่าสังคมมีความบกพร่อง และประสงค์จะประท้วงความบกพร่องของผู้ใหญ่ในสังคม เรากลับเกิดความเกรงกลัว เรียกตำรวจปราบจลาจลมาควบคุมเหตุการณ์ มีอาวุธเครื่องมือพร้อมสรรพเพื่อระงับการประท้วง

ดูประหนึ่งว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะสร้างศิลปวัตถุอันวิจิตรตระการตา แต่พอก่อๆ ขึ้นจะเป็นรูปเป็นร่าง เรากลับทำลายให้พังพินาศไป”

(ป๋วย อึ๊งภากรณ์ – ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย, 2511)

ก่อนที่มหาวิทยาลัยเราจะกลายเป็น ‘อธรรมศาสตร์’ ที่ยึดถือหลักอธรรมสัตย์ อธรรมรัฐ อธรรมชาติ และอยุติธรรม อย่าเพิ่งรีบปลงอนิจจัง เรามาช่วยกันรณรงค์ค่านิยม 12 ประการ ของคนธรรมศาสตร์ กันดีกว่าครับ

1. ยึดมั่นประชาธิปไตย ไม่รับใช้เผด็จการ
2. เห็นคนเท่ากัน เห็นหัวเพื่อนร่วมสังคม
3. มีความกล้าหาญทางจริยธรรม
4. ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งของตัวเองและคนอื่น รวมถึงคนที่เราไม่เห็นด้วย
5. ไม่คลั่งชาติ มองเห็นโลกกว้าง
6. ร่วมสร้างความยุติธรรมในสังคม
7. เชื่อมั่นในหลักสันติประชาธรรม – ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือธรรม
8. เดินบนวิถีเสรีชน เป็นตัวของตัวเอง คิดเองเป็น
9. ไม่เชื่อง ชอบตั้งคำถาม หมั่นวิพากษ์และตรวจสอบ โดยเฉพาะต่อผู้มีอำนาจ
10. เคารพความหลากหลาย มีขันติต่อความแตกต่าง
11. ยึดหลักเหตุผล ซื่อตรงต่อหลักวิชา
12. มีจิตสาธารณะ คิดพ้นไปจากตัวเอง

ไม่ต้องแต่งกลอน แต่งเพลงอะไร ไม่ต้องเชื่อตามนี้ก็ยังได้ ไม่ต้องครบ 12 ข้อก็ได้ หรือใครจะเพิ่มเป็น 50 ข้อ 100 ข้อก็ได้ ทุกคนคิดเองเป็นและเลือกวิถีของตัวเองได้ ขอให้แต่ละคนได้มีพื้นที่ได้นิยามค่านิยมที่ตัวเองอยากยึดถือ เถียงกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ ต่อสู้ทางปัญญาความคิดกันได้

ฐานที่มั่นท้ายๆ ที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้ในสังคมเผด็จการคือ มหาวิทยาลัยในฐานะป้อมปราการทางปัญญาของสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่นี้ได้ ต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ไร้สามารถหรือนิ่งเฉยในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์และนักศึกษา สมควรพิจารณาตัวเองลาออกจากตำแหน่งนะครับ ยิ่งหากทำตัวเป็นส่วนหนึ่งหรือสนับสนุนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในกระบวนการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการด้วยแล้ว ยิ่งไม่สมควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป.

Print Friendly