ชื่อหนังสือ: 15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540: ประเทศไทยอยู่ตรงไหน
ผู้สัมภาษณ์: บุญลาภ ภูสุวรรณ ปกป้อง จันวิทย์ และภาวิน ศิริประภานุกูล
ชวนอ่านปกหน้า:
อดีต ปัจจุบัน อนาคต เศรษฐกิจไทย ผ่านมุมมองของ 12 ตัวละครหลักในวิกฤตต้มยำกุ้ง
ชวนอ่านปกหลัง:
“ผมก็ต้องขออภัยที่บางคนต้องเจ็บปวด แต่ผมคิดว่าเป็นความเจ็บปวดซึ่งในที่สุดทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วทำให้เราประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา”
ทนง พิทยะ
“เกิดมาไม่เคยเจออย่างนี้ เรียนหนังสือมาก็ไม่มีใครสอนว่าเวลาระบบล้มทั้งระบบต้องแก้อย่างไร ทุกคน ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงคนเดินเท้า ก็เจอครั้งแรกในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น”
บัณฑูร ล่ำซำ
“ผมไม่คิดว่าได้ทำอะไรผิดพลาด … ที่ผมรับไม่ได้คือหาว่าผมทำงานด้วยการขายชาติ”
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์
“เราใช้ข้อมูลเท่าที่มี และตัดสินใจทำนโยบายให้ดีที่สุด … ธนาคารกลางต้องมีความกล้า ถ้าบอกว่าข้อมูลไม่มี ขอชะลอไว้ก่อน ในที่สุดอาจกลายเป็นข้ออ้างของการไม่ทำนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมก็ได้ ซึ่งเสียหายต่อประเทศ”
ธาริษา วัฒนเกส
“เมื่อเป็นเอ็มดีที่ บสก. ก็มีคำพูดว่าผมทำไม่ได้หรอก ‘ไอ้ยง’ มันใจดี แก้หนี้ต้องโหด … เราไม่ทำแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อสังคม”
บรรยง วิเศษมงคลชัย
“ถามว่าถ้ารู้ว่าตอนนี้โดนฟ้องจะยังทำไหม ผมก็จะตัดสินใจอย่างไม่ต้องคิดเลยว่า ‘ต้องทำ’ เพราะตอนนั้นประเทศกำลังจะล้มละลาย แม้ต้องติดตะรางหรือตายแต่บ้านเมืองพ้นภัย มันก็คุ้ม”
อมเรศ ศิลาอ่อน
“ด้วยความยากลำบาก ไม่เคยคิดว่าต้องยืนขายแซนด์วิชข้างถนน และไม่คิดว่าหลังจากนั้น 15 ปี จะกลับขึ้นมาใหม่ ตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอะไรเลี้ยงลูกน้อง”
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ
“ช่วงฟองสบู่เป็นช่วงที่สนุกสนานร่าเริงกันทุกคน รวมทั้งนักวิชาการ … นักวิชาการควรสำเหนียกอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าราไม่สามารถบอกได้ว่าขณะนี้เป็นฟองสบู่หรือไม่ ก็อย่าพยากรณ์ว่าจะไม่มีวิกฤต”
อัมมาร สยามวาลา
“บังเอิญเราโชคดี ประเทศไทยอยู่ในจุดที่แข็งแรงที่สุดในการรับมือกับวิกฤตโลก … แต่ความโชคดีนี้กลับทำให้เราปรับตัวน้อยมาก เพราะเรามีศักยภาพที่จะแข็งแรงได้โดยไม่ต้องปรับตัว นั่นคือสิ่งที่น่าเสียดาย”
บรรยง พงษ์พานิช
“ประเทศไทยติดอยู่ในสามกับดัก คือกับดักประชานิยม กับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกับดักคอร์รัปชั่น … การปฏิรูปเป็นโจทย์สำคัญ ต้องปฏิรูปในทุกเรื่อง”
วิรไท สันติประภพ
“ทุกวันนี้เรากำลังกินบุญเก่า ไม่สร้างบุญใหม่ และไม่สร้างอะไรเพื่ออนาคต สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดคือการลงทุน บ้านเราชัดเจนมากว่าการลงทุนไม่ฟื้นกลับมาในสารพัดมิติ”
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
“ช่วงนี้เราเสวยสุขกันแปลกๆ รู้สึกว่ามันเหนือจริงอยู่มาก เพราะทั้งโลกเละหมด แต่ประเทศไทยยังหลั่นล้าอยู่”
ธนา เธียรอัจฉริยะ
สำนักพิมพ์: สำนักข่าวไทยพับลิก้า
พิมพ์ครั้งแรก: มีนาคม 2556
หน้า: 328 หน้า
ราคา: 250 บาท