ปรากฏการณ์ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ด้านหนึ่งนำมาซึ่งความมหัศจรรย์ใจและความน่าตื่นเต้นที่นักเศรษฐศาสตร์สามารถนำระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่มีแบบแผนชัดเจน มีความเป็นสากล สามารถทดสอบข้อมูลจากประจักษ์พยานข้อเท็จจริง สร้างทฤษฎี และทำนายผลในอนาคตได้ มาใช้อธิบายพฤติกรรมของคน บริษัท หรือสังคม ที่มีชีวิต มีวัฒนธรรม มีค่านิยม เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง และมีความสลับซับซ้อน อย่างเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ
แต่หากเรามองอีกด้านหนึ่ง ระดับความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สูงขึ้นมิใช่ได้มาโดยมิต้องเสียต้นทุน หากต้องแลกมาด้วยการละเลยปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจ เช่น ปัจจัยทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม หรือสถาบัน ซึ่งยากจะวัดค่าได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (แท้ที่จริงแล้ว ตัวแปรทางเศรษฐกิจก็ใช่จะวัดค่าได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าพอใจนัก) โดยทั่วไป นักเศรษฐศาสตร์มักกำหนดข้อสมมติให้ตัวแปรเหล่านี้ถูกกำหนดมาอยู่แล้ว และไม่เปลี่ยนแปลง ตัวแปรทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่ถูกให้น้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญในการวิเคราะห์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ
ตัวแปรหรือปัจจัยทางการเมือง สังคม หรือสถาบัน ดูจะกลายเป็นสิ่งแปลกแยก และไร้ที่ทางมากขึ้นในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐาน แม้ว่าเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นสิ่งที่มิอาจแยกขาดจากกันก็ตาม