บทสัมภาษณ์ โพสต์ทูเดย์

ถ้าย้อนไป 10 ปี ใครจะรู้ว่า อดีตพิธีกรรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลกคนนี้จะก้าวขึ้นเป็น ด๊อกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์ในอนาคตอันใกล้

ด้วยวัยเพียง 27 ปี เขาจัดเป็นคลื่นลูกใหม่ในแวดวงวิชาการที่ต้องจับตามอง   ปัจจุบันเขาสอนอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สื่อสารกับสังคมอย่างแข็งขัน มีงานเขียนผ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิพากษ์นโยบายรัฐบาลด้วยลีลา สำนวนแสบ ๆ  คัน ๆ

จากเด็กเรียนเก่ง คว้ารางวัลนับไม่ถ้วน  ครุ่นคิดถึงปัญหาการเมือง และสังคม ถึงขั้นมีความฝันวัยเด็กอยากเป็นนายกฯ เพื่อกวาดล้างการเมืองไทยให้ใสสะอาด ล้างน้ำเน่าออกจากสภา ก่อนจะเข้าถึงสัจธรรมว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ และผลประโยชน์

เขาจึงเบนเป้ามุ่งมั่นเป็นนักวิชาการ จนคว้าทุนฟุลไบรท์ ไปทำปริญญาโท ต่อด้วยเอก ที่สหรัฐอเมริกา

เป็นคนธรรมดา ในครอบครัวธรรมดา ไม่ได้รวย ไม่มีชาติตระกูล  แถมยังมี ‘หนี้’ ไม่ต่างจากเรา ๆ  ท่านๆ   เขานิยามตัวเองว่า เป็นพวก ‘มนุษย์นิยม’ ไม่บูชาระบบอาวุโส แต่มีโรคร้ายแรงประจำตัว  คือ โรคภูมิแพ้ฝ่ายขวา คราใดที่กระแสฝ่ายขวาจัดคลั่งชาติแรงเมื่อไร เขาจะมีอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ จับปากกาไม่ถนัด  จนภายหลัง ต้องหันมาฝึกกายและใจด้วยมวยจีน

………….

 

จิ๋วแจ๋วเจาะโลก

ปกป้อง จันวิทย์ เล่าเรื่องราวของตัวเองว่า สนใจข่าวสารบ้านเมือง  ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ มาตั้งแต่สมัยประถมฯ  เพราะรู้สึกสนุกกับการเมืองที่มีการหักเหลี่ยมเฉือนคม เหมือนนิยายจีน

“ตอนเช้า ๆ คุณพ่อขับรถไปส่งที่โรงเรียน ก็วิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วยกัน ฟังรายการโลกยามเช้าของ อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล มาตั้งแต่เด็ก

ผมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านบ่อยๆ ก็จำชื่อนักการเมืองได้ รู้ประวัติว่า ใครอยู่พรรคไหน ย้ายไปไหน เคยทำอะไร ช่วงทำรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลกเมื่อปี 2532 -2536  มีโอกาสสัมภาษณ์นักการเมืองที่โลดแล่นตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็สนุกแบบเด็กๆ เป็นพื้นฐานให้ผมสนใจการเมือง

…ผมชอบเล่าข่าวให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็รู้ว่า ผมเป็นคนชอบการเมือง ชอบเล่า เขาเลยซวยต้องมาฟังผม  ยิ่งตอนนั้น ผมเป็นพิธีกรรายการทีวี  เวลาที่โรงเรียนมีกิจกรรมเข้าแถวก่อนเคารพธงชาติ อาจารย์ก็มักจะให้ไปเล่าเรื่องหน้าแถว ผมก็เล่าข่าวบ้าง เรื่องน่าสนใจอื่นๆ บ้าง  บางครั้งจัดรายการวิทยุเสียงตามสายในโรงเรียน ผมก็เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาคุยไปเรื่อย ทั้งเรื่องการเมืองรัสเซีย การเมืองไทย เกร็ดประวัติศาสตร์ สารพัดเรื่อง  จนเพื่อนบางคนนินทาว่า  ไอ้นี่ทำตัวแก่แดด ”

ทว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ปกป้องสนใจการเมืองในมิติที่ลึก พ้นไปจากการเมืองแบบผิว ๆ คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535  ขณะนั้นกำลังจะขึ้นชั้น ม.3  เจ้าตัวบอกว่า ช็อคมาก เพราะคิดไม่ถึงว่า จะได้เห็นเหตุการณ์ที่คนไทยต้องมาฆ่ากันเองอีก

“ผมรู้สึกเศร้า เสียใจ หดหู่  ตั้งคำถามกับตัวเองหลายเรื่อง ตอนนั้นผมคิดว่า เหตุการณ์ไทยฆ่าไทยไม่ควรเกิดขึ้นกับสังคมไทยอีก สังคมไทยควรโตพอที่จะเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ได้แล้ว”

‘สำนึกสาธารณะ’ ของ ด.ช.ปกป้อง ขณะนั้นแรงกล้า เขาคิดอยากมีส่วนร่วมขจัดเงื่อนไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก  จึงเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในชีวิต  ปลุกเร้าให้คนหันมาสนใจการเมือง

ขณะเดียวกัน เด็กหนุ่มคนนี้ก็ตะลุยอ่านหนังสือเป็นว่าเล่น  เรียกได้ว่า เป็นช่วงที่อ่านมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตเขา จากที่ต้องการแสวงหาความรู้  เลยเถิดถึงขั้นที่ อยากเป็นนักการเมืองเพื่อสู้รบกับพวกที่โกงบ้านกินเมืองให้รู้แล้วรู้รอดไป

“จากเดิมที่อ่านแต่ข่าว  บทวิเคราะห์การเมือง หนังสือประวัติศาสตร์การเมือง ก็หันมาอ่านคอลัมน์ที่เขียนโดยนักวิชาการเพิ่มเติม ทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ และกรอบความคิดที่มองการเมืองลึกซึ้งขึ้น”

และที่ปึ๊งคือ หนังสือของ  อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กูรูด้านเศรษฐศาสตร์ จากสำนักท่าพระจันทร์ ที่ช่วยให้เขาเปิดโลกทัศน์ใหม่

“อ.รังสรรค์ เอาเศรษฐศาสตร์มาอธิบายการเมือง เป็นเรื่องแปลกใหม่   อาจารย์วิเคราะห์การเมืองแบบที่มันเป็นอยู่จริงโดยมองผ่านแว่นตาเศรษฐศาสตร์ พยายามเข้าใจกลไกการทำงานของตลาดการเมือง เช่น ทำไมนักการเมืองถึงโกง ทำไมคนไม่ไปเลือกตั้ง ผมเลยเริ่มหันมาสนใจเครื่องมือเศรษฐศาสตร์ เพราะวิธีคิดมันถูกจริตกับผม

…เศรษฐศาสตร์ไม่ได้มีศักยภาพในการอธิบายเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นชุดเครื่องมือที่สามารถนำไปอธิบายการเมือง สังคม วัฒนธรรมได้  โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์การเมืองให้ความสำคัญเรื่องกติกา ระบบ หรือสถาบัน ตอนนั้น ผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิด หันมาสนใจเรื่องระบบหรือสถาบันมากกว่าตัวคน” เขาย้อนพูดด้วยแววตาเปล่งประกาย

ปกป้อง เริ่มมอง เศรษฐศาสตร์ ด้วยแว่นตาใหม่ และรู้สึกสนุกตื่นเต้นกับเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่ง กอปรกับขณะนั้น   มีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่มีบทบาทในทางการเมืองมากไม่ว่าจะเป็น   นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง  เขาจึงคิดว่า ถ้าจะเล่นการเมือง  ก็ต้องเป็นนักการเมืองแบบนักเศรษฐศาสตร์

ช่วงนั้นเขาอยู่ ม.4  ยังเป็นที่สนใจของสื่อ ปกป้องให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตตัวเองว่า อยากเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง ทำให้  อ.วรากรณ์ สามโกเศศ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในขณะนั้น เขียนจดหมาย เล่าถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ พร้อมกับเชิญให้มาคุยที่คณะ  เล่นเอาเจ้าตัวดีใจ เพราะไม่เคยรู้จักกันมา  ยิ่งกระตุ้นให้เขาอยากเข้าคณะนี้มากขึ้น ในที่สุด ฝันก็เป็นจริง ปกป้อง สอบเทียบจากม.4  และเอ็นท์ติดที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

 

ภาคนักศึกษา

หนุ่มน้อยเริ่มโลดแล่นสู่โลกวิชาการตามที่ฝัน  เขาตื่นตาตื่นใจกับโลกใบใหม่ เสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาที่หาค่าไม่ได้

“ผมพยายามเลือกเรียนวิชาของอาจารย์ที่มีวิธีคิดน่าสนใจ  อยากเรียนกับนักคิดชั้นนำที่ติดตามอ่านผลงานมา เช่น อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อ.เกษียร เตชะพีระ  ผมสนุกกับการเรียนมาก  เพราะที่นี่สอนให้คิด  เพิ่มความรู้  จนผมเริ่มสามารถผลิตชุดความคิดของตัวเองได้”

ความรู้ และทฤษฎีที่สั่งสมเพิ่มขึ้น ทำให้ปกป้องและเพื่อน ออกวารสารเล่มแรกชื่อ “เช้าใหม่” ที่คิดเอง ขายเอง    งานแรกก็วิจารณ์การรับน้องจนถูกด่าเปิงว่าไม่เคารพรุ่นพี่ ฯลฯ

และนั่นก็ทำให้เขา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำหนังสือและงานบรรณาธิการ อีกแขนง ต่อยอดถึงปัจจุบันที่เพราะนอกจากเป็นอาจารย์ แล้วเขายังเป็นนักวิชาการภาคสื่อ มีงานเขียนมากมายหลายชิ้น และเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ปกป้อง ล้มเลิกความคิดที่จะเป็นนักการเมือง คือ ช่วงก่อนจบปริญญาตรี  อ.วรากรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ  สมัยรัฐบาลชวน   ได้ชักชวนให้ไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาลเพราะรู้ว่า ชอบการเมือง  แต่เมื่อได้สัมผัส  มันไม่เหมือนที่คิดไว้  เขาจึงตัดสินใจเบนเข็มมาเป็นนักวิชาการแทน เพราะคิดว่า น่าจะช่วยประเทศได้มากกว่า

หลังเรียนจบ  เขาไปสมัครและได้สอนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ 1 เทอม จากนั้นก็ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์อีก 2 ปี  ก่อนจะได้ทุนฟุลไบรท์ไปทำปริญญาโทและเอกที่ University of Massachusetts (Umass) แห่ง Amherst ซึ่งเป็นคณะเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้าย หรือ  เศรษฐศาสตร์กระแสรอง หนึ่งในไม่กี่แห่งของสหรัฐ  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่น การเปิดเสรีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยใช้ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา โดยเจ้าตัวให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับมาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

 

ภาคอาจารย์

ว่ากันว่าการสอนที่ธรรมศาสตร์ของปกป้อง แหวกแนวไม่เหมือนใคร  เขากับ ภาวิน ศิริประภานุกูล เพื่อนอาจารย์ร่วมคณะ ซึ่งสมาทานเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อยู่คนละขั้วความคิดกับปกป้อง และเขียนคอลัมน์ “มองซ้ายมองขวา” ที่ประชาชาติธุรกิจด้วยกัน  จะนั่งโต้แย้งในชั้นให้นักศึกษาฟัง

“เราสองคนจะนำวิวาทะในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์มาถกเถียงกัน ผ่านมุมมองของเราที่แตกต่างกัน เช่น รัฐบาลควรมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ คนมีเหตุมีผลจริงเหรอ ดุลยภาพมีจริงหรือไม่ โดยให้นักศึกษามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ วิชานี้เป็นวิชาที่ผมภูมิใจมาก เพราะเราคิดค้นวิชานี้ขึ้นมาเอง ผมอยากฝึกให้นักศึกษาเห็นว่า ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นบ่อเกิดของปัญญา  ตอนท้ายเทอมนักศึกษากล้าคิด กล้าพูด กล้าเถียงกันมาก ต่างจากตอนต้นเทอมที่ฟังเราพูดอย่างเดียว”

เจ้าตัวเล่าว่า เป็นคนมีพลัง อยู่นิ่งไม่ได้ ชอบทำโน่นทำนี่  ซึ่งปกติแล้ว เมื่อแก่ตัวลง พลังคนเราจะหายไปเรื่อย ๆ แต่การเป็นอาจารย์ ได้เจอนักศึกษารุ่นใหม่ๆ ตลอด เป็นตัวช่วยให้คงความเป็นหนุ่มไว้ได้  เพราะได้เจอมุมมองใหม่ ๆ เจอคำถามแปลก ๆ  จนต้องปรับตัวเองอยู่ตลอด

เป้าหมายของปกป้อง  คือ การเป็นอาจารย์ที่ดี  ซึ่งนิยามและคุณสมบัติของเขาโหดพอดู

“อาจารย์ที่ดีต้องติดตามองค์ความรู้ใหม่ ๆ  ผลิตงานวิชาการที่เพิ่มพูนภูมิปัญญาในสาขาที่ถนัด  เข้าใจโครงสร้างและปัญหาของสังคม มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรับใช้สังคม  ตรวจสอบความไม่ถูกต้องของนโยบายรัฐ ให้ความรู้กับสังคม ไม่ใช่สอนแต่ในห้องเรียน  ต้องมีความเป็นครู สอนดี รู้เรื่อง และสนุก  ทุ่มเทหัวใจให้งานสอน มีเวลาให้นักศึกษา  มีส่วนในปฏิรูปคณะและมหาวิทยาลัยของตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก  ซึ่งการเป็นอาจารย์ที่ดีมันยากเหลือเกิน ความฝันของผมคือการเป็นอาจารย์ที่ดีให้ได้ ไปให้ใกล้เคียงกับอุดมคติที่เราวาดไว้”

ปกป้อง เล่าแกมหัวเราะว่า ตั้งใจทำปริญญาเอกให้จบก่อนบอลโลก 2006   เพราะชอบดูฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ  มิฉะนั้นจะยุ่ง

“ผมชอบดูฟุตบอล แต่ละสัปดาห์จะมีสิ่งเสพติดอยู่อย่าง คือ ต้องดูแมนยูเตะ ดูแล้วก็อยากเป็นผู้จัดการทีม เลยชอบเล่นเกม CM”

เขาเปรียบการเป็นอาจารย์เหมือนกับผู้จัดการทีมฟุตบอล ซึ่งโค้ชที่ดีต้องทำให้ลูกทีมมีความหวังเดียวกัน คือ ได้แชมป์ ต้องทำงานหนัก ต้องดึงความสามารถของลูกทีมแต่ละคนออกมาให้ได้  คนที่เป็นอาจารย์ก็เช่นกัน   จะต้องมองเห็นจุดเด่นในตัวนักศึกษาให้ได้ว่า   คนไหนมีจุดแข็งอะไร ต้องให้กำลังใจ มีจุดอ่อนอะไร ให้ต้องปรับปรุงตัว โดยยึดจุดหมายปลายทางคือ สร้างจิตสำนึกสาธารณะให้นักศึกษาอยากช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น

และนี่คือสิ่งที่เขาพยายามปลุกเร้ากับนักศึกษาทุกรุ่น

 

วินัย –มุ่งมั่น’กุญแจความสำเร็จ

ประสบความสำเร็จหรือไม่ด้วยวัยแค่ 27 ปี    ปกป้อง ตอบว่า  ก็ระดับหนึ่ง เพราะเรามีโอกาสมาก แต่หากจะรักษาโอกาสไว้ได้ ต้องหมั่นเรียนรู้ มีวินัยในตนเอง และทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

“ผมเติบโตขึ้นจากชีวิตที่ธรรมดามาก  มาถึงทุกวันนี้ได้ก็เพราะตัวเรา  เพราะการมีวินัย ที่ถูกสอนตั้งแต่เด็ก เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมาตั้งแต่ประถมปลาย  แม้จะมีเวลาน้อยกว่าเพื่อน แต่ไม่เคยทำงานไม่เสร็จ ผมภูมิใจเพราะสร้างตัวเองขึ้นมาเองจากศูนย์

…ปัจจัยที่สำคัญ คือ ผมเป็นคนรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไร และมีความมุ่งมั่นตั้งเด็ก ผมรู้ตั้งแต่มัธยมต้นว่า อยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร เมื่อผมอยากเป็นอาจารย์ ผมก็ต้องทำเกรดให้ดี ต้องขยัน อ่านหนังสือให้มาก ถ้าผมอยากมีหนังสือเล่มของตัวเอง ก็ต้องหมั่นเขียน ต้องสม่ำเสมอ ถ้าเอาแต่คิดแต่อยาก แต่ไม่ลงมือ ก็มีไม่ได้

…แต่ถ้าวัดความสำเร็จแบบทักษิณ ผมคงไม่ประสบความสำเร็จ แต่คงโง่และดักดาน  เพราะเงินเดือนผมแค่ 10,000 บาท  น้องผมจบปริญญาตรี เงินเดือนมากกว่าผม 2 เท่ากว่าแล้ว”    เจ้าตัวพูดติดตลก

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า  “ผมเป็นคนที่ไฟแรงเร็ว ตั้งแต่มัธยมต้น แต่มันก็ยังไม่มอด ยังคุโชนอยู่ ผมยังอยากปฏิรูปให้คณะนี้ดีขึ้น อยากทำอะไรให้ธรรมศาสตร์เป็นเวทีทางปัญญาที่ดีขึ้นกว่านี้  โดยเฉพาะความอยากทำอะไรให้สังคมดีขึ้นยังไม่เคยจางหายไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบด้วยวิธีคิดที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น”

และวันนี้ ‘ปกป้อง’ ผู้เป็นจิ๋วแจ๋ว ได้มุมานะจนเป็น ‘อาจารย์ปกป้อง’ ที่คอยป้องปัด เตือนภัยให้ประเทศไทยผืนนี้

 

ล้อมกรอบ

สุขและทุกข์ของ ‘ปกป้อง’

“ผมไม่สนว่า สังคมจะคิดอย่างไรกับผม ผมเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดมีบุคลิกของผม มีมาตรฐานจริยธรรมของผม ไม่มีใครบังคับผมได้ ไม่ว่าครอบครัว หรือคณบดี  ถ้าบังคับในสิ่งที่ผมไม่อยากทำ  ผมก็ไม่ทำ  ผมอยากเขียน ผมก็เขียน แม้หนังสือผมจะขายไม่ค่อยได้ แต่มันก็มีคนอ่าน มีอีเมลล์มาให้กำลังใจ เราก็มีความสุข  ผมมามหาวิทยาลัยทุกวัน ก็ไม่ได้ถูกบังคับให้มา เพราะผมลาเรียน ไม่ต้องมาทำงานก็ได้  เหมือนส่วนใหญ่ที่คนลาเรียนต่อ ก็ไม่เห็นใครจะมาทำงาน  มันเป็นความสุข เพราะผมสนุก มาคุยกับอาจารย์และนักศึกษา แลกเปลี่ยนความคิด อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เราก็มีความสุข   ฉะนั้นผมอยู่กับความสุขมาตลอด ทำในสิ่งที่อยากทำ อยู่ในที่ที่ผมเลือก

นั่นเป็นความสุขของปกป้อง กับ สิ่งง่าย ๆ ที่ไม่ต้องอะไรมาก  แต่เขาก็มีความทุกข์ที่ชอบเก็บปัญหาสังคมมาเป็นความทุกข์ส่วนตัว จนหลายครั้งเกิดความเครียด

“ไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายผมก็เป็นทุกข์ เข้าใจเลยคำว่า ใจหาย คือ อะไร ภาคใต้มีปัญหาความรุนแรง ผมก็เป็นทุกข์ เคยเครียดมาก จนเขียนหนังสือไม่ได้ ส่วนหนึ่งคงเพราะผมก็ยังเป็นเด็ก ยังจัดการกับอารมณ์บางเรื่องไม่ค่อยได้  ผมเป็นนักวิชาการที่เจ้าอารมณ์อยู่ไม่น้อย” พูดไปฮาไป

“อย่างเรื่องภาคใต้ ตอนที่มีกระแสคลั่งชาติแรง ๆ  เมื่อปลายปีที่แล้ว  ผมก็เครียด เขียนงานไม่ได้ ผมรับไม่ได้กับเหตุการณ์ไทยฆ่าไทย  ผมผิดหวังกับสังคมไทยที่ขาดสติ ไร้วุฒิภาวะ ไม่เคยเรียนรู้จากอดีต ผมผิดหวังกับความเห็นของประชาชนจำนวนมากตามโทรทัศน์หรือเวปบอร์ด จนผมต้องเขียนคอลัมน์มองซ้ายมองขวาตอนอวสาน  ผมเป็นโรคภูมิแพ้กับฝ่ายขวาจัด  ถ้าเมื่อไรที่กระแสขวาจัดมาแรงในสังคม ผมจะมีอาการ เป็นอาการแบบเดียวกับที่เห็นคุณสมัครกับคุณดุสิตออกทีวี”

ทว่า  ปกป้อง ไม่ท้อ เพราะเมื่อคิดจะเป็นนักรบแล้ว ก็ต้องรับกับชะตากรรมที่คร่ำครวญไม่ได้

“ผมไม่รู้สึกท้อ แต่ก็มีเหนื่อยบ้าง ชะตากรรมของนักรบก็มักถูกมองว่าเป็นพวกแปลกแยก งี่เง่า ไม่รู้รักษาตัวรอด แน่นอนว่า การออกรบก็ต้องมีพักเป็นระยะๆ  คุณไม่สามารถรบตลอดเวลาได้  ไม่งั้น คุณก็จะใช้แต่ท่วงทำนองเพลงดาบเดิมๆ ดาบคุณก็บิ่น มันก็ต้องมีเวลาหยุด เรียนรู้เพลงดาบใหม่ๆ ฝึกจิตฝึกสมาธิให้เข้มแข็ง ตีดาบใหม่ ต้องพัฒนาตัวเอง มิเช่นนั้น ความพ่ายแพ้ก็มาเยือน

…ผมก็คิดว่า นักรบมันต้องมีจังหวะของมัน ประเทศนี้ก็มีนักรบหลายคน ผมก็ไม่ใช่เทวดา  ดังนั้น ไม่ต้องมาฝากความหวังกับผม  เพราะผมเป็นคนธรรมดา  ผมไม่ได้ทำหน้าที่นี้เพื่อสังคม แต่เพื่อตัวเอง  ถ้าผมไม่ทำ ก็จะรู้สึกผิดกับตัวเอง ตอบตัวเองไม่ได้ ผมไม่รู้จะมาเป็นนักวิชาการทำไมถ้าไม่ต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง  ที่ผ่านมา มันทำให้ผมตอบตัวเองได้ และสังคมก็ได้ประโยชน์จากการกระทำของผม มันก็โอเค”

ความเครียดจากงานและการสู้รบนี่เอง  ทำให้ ปกป้อง ต้องมาฝึกจิตและกายในแบบตำรามวยจีน กับ อ.สุวินัย ภรณวลัย  อ.เศรษฐศาสตร์  ซึ่งมีห้องทำงานถัดไปอีกซอย  เขาว่า  การฝึกฝนแบบปรัชญาตะวันออก ช่วยทำให้เรามองเห็นความจริงแท้ของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และช่วยให้เราพัฒนาตัวเองไปอีกขั้น จากเดิมที่สนใจแต่สมอง ก็มาให้ความสำคัญกับจิตใจมากขึ้น

“ฝึกทุกสัปดาห์ เพราะเราเหนื่อยกับการทำงาน ต้องใช้ความคิดมาก การมีเวลาที่สงบ มีสมาธิ ได้อยู่กับตัวเอง ช่วยได้มาก ก็มีอาจารย์ที่คณะมาร่วมฝึกกันหลายคนด้วย อ.สุวินัย กรุณาเปิดคอร์สพิเศษให้ แต่บางครั้ง กว่าจะสอนแต่ละท่าได้  บรรดาอาจารย์ก็จะถามละเอียด จนคนนอกที่เคยมาเรียนแซวว่า  สอนพวกอาจารย์นี่สอนยาก ต้องมีเหตุผลตลอด”

 

 

Print Friendly