หันหลังกลับสู่จุดสมดุล

ปกป้อง จันวิทย์ คนเดียวกับพิธีกรรายการ ‘จิ๋วแจ๋วเจาะโลก’ เมื่อช่วงปี 2532 – 2537  เป็นนักเรียนป.6 ก็เริ่มทำงานมาตลอด จากรายการข่าวเด็กสู่รายการธุรกิจ เศรษฐกิจ แน่นอนล่ะ เขาฝันจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่เป็นนักเรียน อยากเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนกระทั่งไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกที่ University of Massachusetts แห่ง Amherst แล้วกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ในที่สุด ระหว่างนี้ก็ยังทำงานวิจัย เขียนหนังสือ เขียนบทความวิชาการเผยแพร่ และนำเสนอข้อเขียนผ่านทางหนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นระยะๆ ล่าสุดรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.onopen.com ชีวิตที่ผ่านมาเดินหน้าลุยดะ ชีวิตช่วงนี้ดูจะถึงเวลา ‘กลับหลังหัน’ สู่ความรื่นรมย์ เขาทำอะไร คิดอย่างไร และจัดการชีวิตอย่างไร คอลัมน์ ‘สมดุล’ มีให้อ่าน

 

ทำงานอย่างเป็นสุข

อาชีพอาจารย์ประจำโดยทั่วไปก็เป็นงานวิชาการที่อยู่ภายใต้สังกัดสถาบัน แต่การจัดโครงสร้างหลักสูตรของคณะที่อาจารย์ปกป้องทำอยู่นั้นก็ค่อนข้างมีอิสระสูงในการเลือกวิชาที่จะสอน มีเสรีภาพมากพอในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษา เขาจึงรู้สึกว่านี่เป็นการทำงานที่มีความสุขระดับหนึ่ง เพราะได้ทำงานที่ตัวเองรัก และยังได้จัดการมันได้อย่างอิสระ

ในส่วนของการเตรียมการสอนนั้นอาจจะยาก แต่นั่นก็มาพร้อมกับความสนุกด้วย เพราะเขาได้วางแผนการสอนว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษารู้สึกสนุกและมีชีวิตชีวาไปกับเรื่องที่เขาเองก็รู้สึกสนุกที่จะได้สอน เขาจะวางตัวเองเป็นไกด์พานักศึกษาทัวร์ไปในโลกวิชาการเศรษฐศาสตร์ พาไปดูทั้งในส่วนของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไป และเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาได้เรียนรู้จากการเดินทางท่องโลกเศรษฐศาสตร์มาก่อน ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ได้ร่ำเรียนมา และการสร้างความเชื่อมโยงวิชาเศรษฐศาสตร์เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ผมไม่ชอบใช้หนังสือ 1 เล่มในการสอนหนังสือ 1 คอร์ส แต่คิดว่าเราควรจะผสมผสาน สังเคราะห์หนังสือหลายๆ เล่ม ประสบการณ์ส่วนตัว งานวิจัยที่เคยทำ วิทยานิพนธ์ที่เคยเขียน มาผสมผสานกันแล้วออกแบบมัน ในแบบที่เราสนุกไปกับการสอนได้ คือคนที่จะสอนหนังสือได้มันต้องสนุก ต้องรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่สอน อ่านหนังสืออะไรแล้วเราดวงตาเบิกโพลงนี่เราก็อยากจะเอาไปสอนให้นักศึกษารู้สึกมีดวงตาเบิกโพลงบ้าง แล้วเราก็จะมีความสุข”

 

มองให้รอบ คิดให้ทะลุ

งานวิชาการนั้นเน้นให้คนทำงานด้านนี้ต้อง ‘คิด’ อยู่เสมอ การคิดอะไรไม่แตกเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง สำหรับอาจารย์ปกป้องมีช่องทางที่ช่วยในการคิดเรื่องต่างๆ ให้ทะลุได้ อย่างแรกก็คือ ทำใจให้ปลอดโปร่ง และพูดคุยกับคนอื่นเยอะๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งคนในแวดวงอาจารย์ด้วยกัน และคนนอกอาชีพเดียวกัน ไปจนถึงเพื่อนๆ กลุ่มต่างๆ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างนี้เป็นทั้งความสนุก และยังช่วยในการทำงานด้านการคิดของเขาไม่น้อยเลย และนอกจากจะช่วยให้คิดอะไรใหม่ๆ ออกแล้ว ยังช่วยขัดเกลาความคิดของตัวเองด้วยในบางที เพราะในมุมมองของตัวเองบางเรื่องก็ยังมีข้อจำกัดบางด้านที่ตัวเราเองไม่เห็นเหมือนกัน พอได้คุยกับคนที่มีความคิดเห็นต่างกันก็ทำให้พบอีกด้านของความคิดตัวเองได้ นำไปสู่สมดุลทางการคิด

“การมองโลกผ่านแว่นตาแบบหนึ่งมันก็ทำให้เรามองโลกชัดขึ้นในบางมุม แต่ก็ทำให้โลกเราเบลอในบางมุม เช่น นักเศรษฐศาสตร์ก็อาจโฟกัสไปที่การจัดสรรทรัพยากร แต่จะมีข้อด้อยในเรื่องของการคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ปัจจัยเชิงอำนาจ ปัจจัยเชิงวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างนักแต่ละนักด้วยกัน ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของแว่นที่เราสวมใส่ ไม่ยึดถือว่าแว่นตาของเราแว่นเดียวที่ดีที่สุดในการมองโลก

“บางทีเราคุยกันในกลุ่มนักวิชาการ เราก็มองโลกแบบหนึ่ง การคุยกับคนที่ทำอาชีพอื่นก็ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของโลกแห่งความฝันตามทฤษฎี โลกในอุดมคติที่นักวิชาการชอบมอง ให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงมากขึ้น นักวิชาการสอนทฤษฎีเศรษฐกิจการเงินก็แม่นเรื่องทฤษฎี แต่เราไม่รู้ว่าในโลกความเป็นจริงเขาค้าเงินกันยังไง ทำงานกันยังไง ก็ได้เห็นโลกแห่งความจริง แล้วมาผสมผสานกัน”

“ผมเชิญเพื่อนที่อยู่ในแวดวงการเงินมาพูดให้นักศึกษาฟัง ก็ทำให้พอเห็นภาพว่า โลกแห่งความเป็นจริง ทฤษฎีนั้นใช้ไม่ได้ทั้งหมด บางทฤษฎี ผลอาจไม่เป็นไปตามคำทำนาย เพราะผิดตั้งแต่ข้อสมมติตอนแรกแล้ว ก็จะทำให้ลดความยึดมั่นถือมั่น ไม่มองทฤษฎีเสมือนเป็นความจริงแท้”

การมีเครือข่าย หรือชุมชนทางปัญญาเช่นนี้ช่วยกระตุ้นความคิดของเขาด้วยดีตลอดมา แม้ในส่วนของงานบรรณาธิการออนไลน์เว็บไซต์ www.onopen.com ซึ่งเป็นงานอดิเรก(ที่จริงจัง)ที่เขาได้ติดต่อพูดคุยกับนักเขียนที่มีอาชีพหลากหลาย ทั้งนักกิจกรรม ศิลปิน ดีเจ นักวิจารณ์หนัง นักวิจารณ์เพลง นักข่าว เป็นชุมชนทางปัญญาอีกแห่งที่เอื้อให้เขาได้เห็นโลกหลากหลายมุมมองยิ่งขึ้นไปอีก ไม่สุดโต่งกับความคิดใดความคิดเดียว และยังสามารถนำสิ่งดีๆ ไปใช้ประโยชน์ในการสอนนักศึกษาในห้องเรียนได้อีกด้วย

 

ทบทวนตัวเอง

หากมองย้อนกลับไปในวันที่ผ่านมา ปกป้องเป็นคนทำงานจริงจัง เคร่งเครียดและหักโหมจนถึงขั้น ‘บ้าคลั่ง’ ในบางครั้ง การทำงานของเขาพยายามรักษาระดับมาตรฐานของตัวเอง แบกความคาดหวังของคนอื่นที่มีต่อตัวเขา และแบกทั้งความคาดหวังที่เขามีต่อตัวเอง เจอใครก็จะคุยจะเถียงกับเขาเพื่อสรุปลงตรงที่เขาชนะ ความเคร่งเครียดนี้ทำให้เขาเกิดปัญหาสุขภาพนั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้เขาคิดว่าชีวิตควรจะได้รับการจัดสมดุล จากที่เคยเถียงกับคนนั้นคนนี้ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะหันหลังกลับหรือเลี่ยงการถกเถียง หยุดพักเพื่อให้ชีวิตได้รับความรื่นรมย์บ้าง อ่านหนังสือที่นอกเหนือจากตำราวิชาการบ้าง เช่น หนังสือแนวสุขภาพ แนวธรรมะ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้งานแย่ลงไปด้วย

“เราเป็นคนหนุ่ม ยังมีความเป็น angry young man เห็นระบบในที่ทำงานที่เราคิดว่าไม่ค่อยมีเหตุมีผล ผมก็สู้แหลก เถียงแหลก ก็โดนก้อนอิฐมาบ้าง ก็เจ็บเนื้อเจ็บตัว ก็ปรับตัวกันไป พอได้เจอวิกฤตแต่ละครั้ง โดนก้อนอิฐปาหนักๆ หน่อยเราก็เจ็บตัว ก็อาจจะมีบาดแผลบ้าง แต่พอได้ฟื้นตัวมันก็แข็งแกร่งขึ้น หลังๆ มาก็เริ่มรู้จักจังหวะจะโคนมากขึ้น เริ่มรู้ว่าเราจะไปคาดหวังอะไรขนาดนั้นไม่ได้ คาดหวังมากไปก็เป็นทุกข์ คณะนี้ก็ไม่ใช่ของผมคนเดียว ประเทศนี้ก็ไม่ใช่ของผมคนเดียว เราก็พยายามทำเต็มที่ตามอัตภาพ”

เรื่องของประเทศนี่ก็เช่นกัน ตอนเด็กๆ เขาถึงขั้นคิดว่าอยากจะเปลี่ยนประเทศ พอเรียนมัธยมก็คิดอยากเป็นนักการเมือง เพื่อจะเข้าไปเปลี่ยนการเมืองไทย  เขาจะเป็นเดือดเป็นร้อนเสมอๆ เวลาที่ได้ยินข่าวว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหา ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองเขม็งเกลียว ยิ่งมีความขัดแย้งกันสูง เขายิ่งเครียด  แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ได้เรียนรู้ว่าควรจะผ่อนความคิดเหล่านี้ลง เพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เครียดเกินไป ไม่คิดคาดหวังให้สังคมต้องเป็นไปในแบบที่เขาต้องการ หรือโลกต้องหมุนอย่างที่เขาวาดหวังไว้ แต่การผ่อนคลายตัวเองลงในเรื่องบ้านเมืองนี้ก็ไม่ได้เป็นการเลิกคิดอย่างปลิดทิ้ง อาจารย์ปกป้องยังทำงานในส่วนที่ตัวเองพอจะทำได้ต่อไป นั่นคือ ทำงานวิจัย สอนหนังสือ เขียนบทความส่งไปตามหนังสือพิมพ์ ออกบรรยายประเด็นต่างๆ และทำสื่อเอง

“ผมก็ใช้พื้นที่แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บ onopen.com ในการแสดงสุ้มเสียงของพวกเรา หรือของกลุ่มเราออกไป เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ สอนหนังสือในห้อง ไปบรรยายที่นั่นที่นี่ ก็เป็นการสู้ทางการเมืองในระดับที่เราทำได้ เราก็ทำหน้าที่ในแบบนั้น มีความสุข แล้วก็สนุกที่ได้ทำแบบนั้น ทีนี้พอได้ทำเต็มที่แล้วผลสรุปเป็นยังไงมันก็อยู่นอกเหนือน้ำมือคนนะ แล้วแต่ฟ้าลิขิต แล้วแต่พระสยามเทวาธิราช

“พักหลังๆ ไอ้ความดึงดันต่างๆ ก็ลดๆ ลงไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถปล่อยวางได้ทั้งหมด ก็คิดว่าเราก็พยายามเต็มที่ ถ้าเบื่อ เราก็หยุด ถ้ามันเหนื่อยเกินไปก็พัก”

ตอนนี้เขาเริ่มถามตัวเองว่า ‘ทำไมไม่หยุดอยู่เฉยๆ ซะบ้างล่ะ’

แต่คำตอบอย่างไม่เป็นทางการของเขาก็คือ “ตอบยาก”

 

ตีพิมพ์: นิตยสาร ต้าเจียห่าว ฉบับที่ 44 เดือนพฤศจิกายน 2549

Print Friendly