ลองเอาหมึกดำระบายเป็นเส้นผม แล้วลองใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อปมาลบแก้มออกให้ดูเพรียวกว่านี้ คุณก็จะนึกออกว่าเขาคือ ปกป้อง จันวิทย์ เด็กน้อยคนนั้น คนที่เป็นพิธีกรรายการเด็กเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนี้เขาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีผลงานบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองไทย ที่เฉียบคมและน่าติดตามอ่านมากที่สุด
“ผมฝันอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่เด็ก ในบทบาทของอาจารย์ ผมน่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หลายเรื่อง ด้วยการแสดงความคิดเห็น และให้ความรู้แก่ผู้อื่น โดยไม่มีผลประโยชน์ และไม่สังกัดกลุ่มผลประโยชน์ ต่างไปจากนักการเมืองหรือนักธุรกิจ” ปกป้องกล่าว โดยโยงไปถึงบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายๆ เรื่องก่อนหน้านี้
ปกป้องเป็นผลผลิตของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โดยแท้ อย่างที่ทราบกันดี ว่าที่นี่คือป้อมปราการของสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในเมืองไทย แต่สิ่งแวดล้อมทางวิชาการนอกห้องเรียนที่ธรรมศาสตร์ เป็นชุมชนทางวิชาการที่ยอดเยี่ยมมาก ช่วยฝึกให้เขาและเพื่อนร่วมชั้นเริ่มต้นคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์
ปัญหาการเมืองไทยในช่วงหลังพฤษภาทมิฬ เป็นแรงบันดาลใจให้เขามุอ่านหนังสือมากมายเพื่อหาคำตอบ จนรู้สึกว่าวิชาเศรษฐศาสตร์น่าจะเป็นกรอบหรือแว่นตาที่เหมาะ นอกจากจะใช้อธิบายเศรษฐกิจแล้ว ยังใช้อธิบายการเมืองและสังคมได้ อีกทั้งมันยังเป็นวิชาที่มีหลักมีฐาน มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ จึงตัดสินใจเอนทรานซ์เข้าเรียนที่คณะนี้
“เศรษฐศาสตร์ถือเป็นแขนงหนึ่งของสังคมศาสตร์ ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์แข็งแกร่งที่สุด นับวันมันพัฒนาไปสู่วิชาที่เป็นเทคนิคสูง ทั้งที่แต่เดิมมันเป็นวิชาปรัชญา คนอื่นๆ จึงถูกกันออกไปจากการมีส่วนร่วมในวิชานี้ สังคมจึงตรวจสอบนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ วิกฤตของประเทศเราเมื่อปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเราปล่อยให้นักเทคนิคมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยผู้คนในสังคมติดตามตรวจสอบไม่ได้เลย” ปกป้องกล่าว
ในทุกวันนี้เรามีคำถามใหม่ๆ ที่ซับซ้อนเกินกว่าวิธีการทางเทคนิคจะตอบได้ เช่น ระบบทุนนิยมจะพัฒนาต่อไปในทางใด วิธีที่จะสร้างความเท่าเทียมในระบบเศรษฐกิจต้องทำอย่างไร ปกป้องจึงเห็นว่าเราควรจะต้องหันไปสนใจมิติอื่นๆ อันได้แก่ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อที่จะทำความเข้าใจเศรษฐกิจ รวมไปถึงการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์สำนักอื่นๆ
ปกป้องชอบที่จะติดตามดูว่าขอบเขตของวิชานี้ มันกว้างใหญ่อย่างไร และล้ำลึกเพียงใด เหมือนกับการเป็นนกที่บินบนฟ้าแล้วมองลงมายังแม่น้ำ และเหมือนกับการเป็นปลาที่ว่ายดำดิ่งลงไปในแม่น้ำแห่งนั้น
“โดยส่วนตัว ผมไม่ใช่นักประดิษฐ์ แต่ผมสนใจเรียนรู้สิ่งที่คนอื่นคิด แล้วนำมาจัดระบบความคิด เพื่อที่จะพยายามวิเคราะห์มัน ดูๆ ไปก็เหมือนเป็นนักประวัติศาสตร์ทางความรู้ สุดท้ายแล้ว ผมอยากจะให้ในตัวผมมีองค์ความรู้เศรษฐศาสตร์ชุดหนึ่ง ซึ่งสังเคราะห์มาจากสำนักต่างๆ มันควรจะเป็นอย่างไร มันควรจะใช้ตอบคำถามอะไร มีข้อสมมติอย่างไร มองโลกแบบไหน”
ในอนาคต เขาคิดจะเขียนหนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์สักเล่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้และความคิด ช่วงชิงคำนิยามใหม่ของคำว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์”
“ผมอยากนิยามเศรษฐศาสตร์ในแบบของผม โดยเฉพาะเพื่อสังคมไทย ถ้าคุณได้ไปลองอ่านหนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น คุณจะเห็นเขานิยามคำว่าเศรษฐศาสตร์ ว่าคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากร ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดภายใต้ความจำกัด ซึ่งผมว่านี่ยังคับแคบ ไม่รอบด้านเพียงพอ โลกเศรษฐศาสตร์กว้างใหญ่กว่านี้มาก”
นั่นคือความตั้งใจของผู้ชายคนนี้ !
ตีพิมพ์: นิตยสาร GM ปักษ์หลัง ตุลาคม 2547