ป๋วยทอล์ค: อ่านใหม่ “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย”

Puey talk ครั้งที่ 2 “โจทย์ใหม่? ทัศนะว่าด้วยการศึกษา”

อ่านใหม่ “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย”

โดย ปกป้อง จันวิทย์

จัดโดย คณะกรรมการโครงการเตรียมงานรำลึก 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

…………………………………………………………………………….

 

1. ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย

เรื่องที่เสนอในการบรรยายนี้ อาจจะเรียกเป็นหัวข้อว่า “ประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย” ก็ได้ หรือ “ศีลธรรมในการบริหารมหาวิทยาลัย” ก็ได้ และคงจะได้ความเหมือนกัน คือจะบริหารมหาวิทยาลัยได้อย่างไร ให้เข้าหลักเสรีภาพและให้ชอบด้วยศีลและธรรม

ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานการศึกษาชั้นอุดม คือสูงสุด ความมุ่งหมายสำคัญคือการสั่งสอนอบรมให้ศิษย์สามารถในวิชาการเพื่อประกอบสัมมาอาชีวะประการหนึ่ง แต่ความมุ่งหมายอีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การอบรมให้ศิษย์เป็นปัญญาชน รู้จักใช้เหตุผล วิจารณญาณ สอดส่องดูแลสภาวะของสังคม และใช้ความสามารถ สติปัญญา ปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้น สังคมมีข้อบกพร่องอย่างไรก็รู้จักใช้ความคิดเป็นอิสระในการแก้ไขให้ดีขึ้น

2. โลกของนักศึกษา

นิสิตนักศึกษาอยู่ในวัยหนุ่มสาว มีพลังทางกายแข็งแกร่ง ฉกรรจ์ มีพลังทางจิตกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว … พลังทางจิตของนักศึกษาและนิสิตนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือนิสิตนักศึกษาอยู่ในลักษณะกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ที่เรียกว่าเด็ดเดี่ยวนั้นเป็นทั้งคุณและโทษ คือถ้ามีอุดมคติก็มุ่งแต่อุดมคติ ซึ่งนับว่าเป็นคุณ แต่เนื่องด้วยเป็นหนุ่มและสาว ไม่เจนจัดในวิถีแห่งชีวิต ความเด็ดเดี่ยวนั้นอาจจะเป็นโทษได้ เพราะเกิดแปรเป็นความฉุนเฉียวได้ง่ายเมื่อมีสิ่งไม่สบอารมณ์ เกิดมีความดื้อ ความทะนง ความไม่ปรานีปราศรัย ปราศจากความละมุนละไมเมื่อประสบอุปสรรคขัดขวางทางดำเนินไปสู่อุดมคติของตนและหมู่คณะ …

3. โลกของผู้ใหญ่

ในทัศนะของคนวัยหนุ่มสาวขนาดนิสิตนักศึกษา โลกของผู้ใหญ่นั้นเต็มไปด้วยความบกพร่อง ผู้ใหญ่ไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่จริง เมื่อเด็กๆ เขาหลงรักผู้ใหญ่ และนับถืออย่างงมงายตามวิสัยทารก เมื่อลืมตาเห็นข้อบกพร่องขึ้น ความรักกลายเป็นความขมขื่นและละอายบัดสี ความนับถือเชื่อถือกลับกลายเป็นความดูหมิ่นเหยียดหยาม (คลิป 1) รสนิยมของเขากับของผู้ใหญ่ขัดกัน และความขัดกันนี้เมื่อเกิดมีบ่อยๆ ขึ้นย่อมก่อให้เกิดความแค้นเคืองซึ่งกันและกัน ผลสุดท้ายความรักเดิมผสมกับความแค้นใหม่ก่อให้เกิดความรู้สึกรุนแรง ซึ่งถ้าถูกกั้นสกัดไว้ก็ยิ่งเกิดพลังทางจิตกล้าแข็งเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น …

โลกของผู้ใหญ่บกพร่องอย่างไรบ้าง … ในสังคมก็เต็มไปด้วยข่าวอันสกปรกโสมม รัฐมนตรีนี้ทุจริต อธิบดีนั้นกอบโกย แรกๆ อ่านหนังสือพิมพ์และฟังข่าวลือก็ตื่นเต้นสนุกดี แต่ต่อๆ มามีบ่อยๆ เข้า คลายตื่นเต้นกลับเป็นสังเวชและมองอนาคตไปในด้านมืดมน เกิดความระแวงในโลกของผู้ใหญ่ …

จากทัศนะอันเด็ดเดี่ยวของคนหนุ่มสาว โลกของผู้ใหญ่เป็นโลกที่ผิดหวัง หาอะไรเป็นสรณะได้ยากทั้งในทางโลกและทางธรรม อนาคตล่อแหลมต่ออันตราย น่าหวาดระแวง ความสัจความจริงไม่มีในโลก คำพูดไม่มีค่ามีแต่ความกลับกลอก ความศรัทธาในผู้ใหญ่เสื่อมสลายสิ้นเชิง ภายนอกอาจจะทำความเคารพต่อผู้ใหญ่ตามธรรมเนียม แต่ภายในเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

4. ครูบาอาจารย์

ภายในมหาวิทยาลัยเล่า ครูบาอาจารย์จะเป็นที่พึ่งได้บ้างหรือ ก็หาไม่ ด้วยจำนวนมหึมาของนักศึกษา อาจารย์แต่ละคนเคยสังเกตและรู้จักคุ้นเคยกับนิสิตนักศึกษาแต่ละคนบ้างไหม บุคลิกลักษณะนิสัยของนิสิตนักศึกษาแต่ละคนถูกกลืนไปในฝูง เยี่ยงฝูงโคกระบือ มิหนำซ้ำอาจารย์บางคนยังสอนไม่ได้เรื่อง สอบไล่ไม่ได้ความ ประพฤติตนให้เป็นที่เลื่องลือซุบซิบกันน่าเหยียดหยาม ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยออกข้อบังคับนานาประการ ห้ามโน่นห้ามนี่  ต้องทำอย่างนั้น สอบไล่ก็เข้มงวด ที่สอบตกโดยอยุติธรรมก็มี  ในทัศนะของนักศึกษาจะผิดหรือจะถูกก็ตาม โลกของมหาวิทยาลัยก็ไม่วิเศษเหมือนที่เคยคิดหวังไว้แต่ก่อน …

ในประเทศไทยเรา ระหว่างที่นิสิตนักศึกษายังถูกสกัดกั้นด้วยคำสั่งคณะปฏิวัติและกฎอัยการศึก จะทำอะไรก็ยากลำบาก … นิสิตนักศึกษาหนุ่มสาวย่อมตื่นตัวเป็นธรรมดา (คลิป 2) ยิ่งทราบว่าที่ในประเทศอื่นทั่วโลก เพื่อนรุ่นๆ เดียวกัน เขาสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญบ้าง ไม่ตามรัฐธรรมนูญบ้าง บางแห่งถึงกับช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวิถีการเมืองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ได้สำเร็จ นิสิตนักศึกษาของเราก็ย่อมเกิดความไหวตัวขึ้นเป็นธรรมดา

ดูๆ ก็น่าประหลาดอัศจรรย์ที่พวกเราครูบาอาจารย์ พยายามอบรมสั่งสอนศิษย์ให้นิยมเสรีประชาธิปไตย และให้รังเกียจลัทธิเผด็จการของคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่พอศิษย์เราจะปฏิบัติตามหลักเสรีประชาธิปไตย เราก็ห้ามไว้ ช้าก่อน ครูบาอาจารย์สั่งสอนศิษย์ให้รู้จักคิดอ่านใช้เหตุผลด้วยตนเอง ครั้นศิษย์ใช้ความคิดเป็นอิสระขึ้น เรากลับไปเกรงว่าศิษย์จะคิดล้างเรา ครูบาอาจารย์สั่งสอนให้ศิษย์วิจัย พิจารณาภาวะสังคม เพื่อใช้วิชาและสติปัญญาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ครั้นศิษย์เล็งเห็นชัดว่าสังคมมีความบกพร่อง และประสงค์จะประท้วงความบกพร่องของผู้ใหญ่ในสังคม เรากลับเกิดความเกรงกลัว เรียกตำรวจปราบจลาจลมาควบคุมเหตุการณ์ มีอาวุธเครื่องมือพร้อมสรรพ เพื่อระงับการประท้วง

ดูประหนึ่งว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะสร้างศิลปวัตถุอันวิจิตรตระการตา แต่พอก่อๆ ขึ้นจะเป็นรูปเป็นร่าง เรากลับทำลายให้พังพินาศไป

5. ศักดิ์ศรีของมหาวิทยาลัย

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้ จะควรแก้สถานการณ์อย่างไรให้กลับคืนดีขึ้น ให้เกิดความชอบธรรมขึ้นในมหาวิทยาลัย

ประการที่หนึ่ง ผู้ใหญ่จะต้องพยายามสร้างความเชื่อถือแก่นิสิตนักศึกษา … ครูบาอาจารย์ต้องประพฤติตนชนิดที่จะเป็นตัวอย่างให้แก่…ศิษย์ของตน ผู้มีตำแหน่งสูงเด่นเป็นใหญ่ในแผ่นดินควรจะรักษาศีลสัตย์ให้ปรากฏแก่คนทั่วไปว่า ธรรมจริยานั้นเป็นจริยาวัตรที่เราปฏิบัติเป็นปกติ มิใช่ว่าอธรรมจริยาเป็นเรื่องธรรมดา และให้เห็นว่าศักดิ์ศรีที่แท้จริงคือความดี ความประพฤติชอบ ส่วนลาภ ยศ สมบัติ และอำนาจ เป็นเพียงเครื่องประกอบภายนอก ไม่มีคุณค่าถาวรยืนนาน

6. สายสัมพันธ์ศิษย์-อาจารย์

ประการที่สอง สายสัมพันธ์ระหว่าง…ครูอาจารย์กับศิษย์ควรจะกระชับให้สนิทแน่นแฟ้น เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกัน เพื่อให้นิสิตนักศึกษาตระหนักว่า เดี๋ยวนี้ตนมิใช่เป็นเด็กแล้ว … ผู้ใหญ่เคารพในความคิดของเขาพอที่จะนำเอามาถกอภิปรายกัน … ข้อสำคัญอยู่ที่นักศึกษาได้เห็นและแน่ใจว่าอาจารย์ฟังความเห็นของตน และรับนับถือว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปฏิเสธเสียแต่ในเบื้องต้นว่าไร้สาระหรือไร้เดียงสา

7. ประชาธิปไตยในรั้วมหาวิทยาลัย

ประการที่สาม อาจารย์จะต้องส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามระบบประชาธิปไตยภายในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง … ระบบประชาธิปไตยภายในมหาวิทยาลัย หมายความว่า นิสิตนักศึกษามีโอกาสได้แสดงความเห็นโดยเสรีเกี่ยวกับหลักสูตร หรือการสอนการวิจัยในมหาวิทยาลัย และเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพหรือบริการนักศึกษา นักศึกษาควรได้มีสิทธิออกความเห็นอภิปรายพร้อมด้วยเหตุผล เมื่อมีข้อบังคับออกมา นักศึกษาควรได้รับการชี้แจงให้เข้าใจถ่องแท้ และมีโอกาสออกความเห็นได้โดยไม่ถูกลงโทษหรือหวาดเกรงการลงโทษ มีการเลือกตั้งโดยนักศึกษาเอง ให้นักศึกษาเป็นผู้แทน เป็นกรรมการสโมสร และกรรมการสวัสดิการนักศึกษา เหล่านี้เป็นต้น

อนึ่ง ระบบประชาธิปไตยนี้มิใช่จะพึงมีในหมู่นักศึกษาเท่านั้น การปฏิบัติในหมู่คณาจารย์เอง ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้น้อย ผู้ใหญ่ หากมีวิธีให้เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่หมู่นักศึกษา ก็จะป้องกันความยุ่งยากในการปกครองทั้งอาจารย์และศิษย์ และเป็นการส่งเสริมให้วิชาการก้าวหน้าได้โดยดี

8. เสรีภาพทางวิชาการ

… บรรยากาศวิชาการภายในมหาวิทยาลัยนั้นขึ้นอยู่กับเสรีภาพ  วิชาในโลกนี้ไม่มีขอบเขตจำกัด ทฤษฎีที่เราเห็นเมื่อวานนี้ว่าผิด พรุ่งนี้อาจจะกลายเป็นทฤษฎีที่ใครๆ ยึดถือทั่วไปก็เป็นได้ อาจารย์และศิษย์แต่ละคนควรจะได้โอกาสคิด พูด เขียน และอ่าน เรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นเรื่องแผลงๆ ที่ใครๆ ดูหมิ่นและไม่ต้องคำนึงว่าจะทำให้ใครขัดใจหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นภายในมหาวิทยาลัยหรือภายนอกในชุมชน ยกเว้นแต่เมื่อเห็นประจักษ์ว่าการกระทำนั้นๆ เป็นการประทุษร้ายผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม (ผมใช้คำว่า “เห็นประจักษ์” เพราะไม่ได้หมายความว่าพอมีใครคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน จะเป็นอธิการบดีก็ดี คณบดีก็ดี อาจารย์ด้วยกันก็ดี หรือบุคคลในรัฐบาลก็ดี อ้างว่าเกิดการประทุษร้ายแล้ว ก็เป็นอันต้องห้าม) … เสรีภาพทางวิชาการเป็นหลักการสำคัญของมหาวิทยาลัย …

9. การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติ

ประการที่สี่ หากเผอิญมีข้อขัดแย้งกันภายในมหาวิทยาลัยก็ดี หรือมีเรื่องที่นักศึกษาพร้อมใจกันประท้วงในกิจการนอกมหาวิทยาลัยก็ดี คณาจารย์และฝ่ายบริหารบ้านเมืองมีหน้าที่ที่จะดูแลสอดส่องให้การประท้วงนั้นเป็นไปโดยมีระเบียบ ไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรง แทนที่จะใช้วิธีห้ามเสียตะพึดตะพือไป

นักศึกษามีเครื่องมือที่เหนือกว่าอาจารย์อยู่สองอย่างคือ (ก) พลังทางกายของคนรุ่นหนุ่มฉกรรจ์ และ (ข) จำนวนอันมากของนักศึกษา การปลูกฝังระบบประชาธิปไตยให้จับใจนักศึกษา จะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสประชุมพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ประท้วง และได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นตลอดจนการลงมติว่าจะประท้วงหรือไม่ และถ้าจะประท้วงควรประท้วงด้วยวิธีการใด อาจารย์อาจจะช่วยแนะให้ประท้วง (ถ้าจำเป็นจะประท้วง) ด้วยสันติวิธีแทนใช้วิธีรุนแรง ด้วยวิธีอันหนักแน่นแต่ไม่ใช่วิธีขู่กรรโชก และในการนี้อาจารย์จำเป็นจะต้องมีจิตใจมั่นคงและสงบ ปราศจากอคติทั้งในด้านโทสะและในด้านความขลาดกลัว สามารถชักนำศิษย์ให้กระทำการใดๆ ด้วยวิธีอันเหมาะและวิธีที่ถูกต้อง (คลิป 3)

10. ผู้มีอำนาจในรัฐบาล

ในด้านผู้บริหารบ้านเมืองก็ควรจะเรียนรู้ว่า การประท้วงโดยสันตินั้นแตกต่างกับการประท้วงแบบรุนแรง และควรจะใช้ความพยายามจนถึงที่สุดที่จะรักษาความสงบในการประท้วง เช่น ตำรวจที่คอยดูแลให้การจราจรเป็นไปอย่างมีระเบียบ ในโอกาสที่มีงานมงคลสมรสหรืองานแห่แหนกลางเมืองฉันใด เมื่อมีการเดินขบวนอย่างสันติของนักศึกษา ตำรวจก็พึงรักษาปกป้องให้กระทำได้โดยดีฉันนั้น มิใช่ว่าถ้ามีข่าวจะเดินขบวนประท้วง ก็ด่วนเอารถและอาวุธสำหรับปราบจลาจลออกมาขู่และกั้นทางเสียแล้ว เป็นเหตุยุให้เกิดปะทะกันได้ง่าย เป็นเหตุให้การเดินขบวนโดยสันตินั้นกระทำได้โดยยาก และแปรสภาพจากสันติเป็นรุนแรงไปโดยเปล่าประโยชน์

… วิชาการจะเจริญได้ เป็นประโยชน์แก่ประเทศและรัฐบาลเอง ก็โดยมีเสรีภาพพอสมควร รัฐบาลย่อมพึงเคารพในความรอบรู้และความรู้จักรับผิดชอบของคณาจารย์ซึ่งเป็นปัญญาชน ว่าสามารถปกครองตนเองได้ตามหลักประชาธิปไตย (ถ้าแม้จะถือว่ามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ที่มีความรู้ระดับสูงไม่สามารถปกครองตนเองได้แล้ว รัฐบาลก็ควรจะเลิกล้มความคิดและนโยบายที่จะร่างรัฐธรรมนูญ และเทิดทูนหลักประชาธิปไตยสำหรับประชาชนทั่วประเทศได้) ฉะนั้น รัฐบาลจึงสมควรสนับสนุนหลักประชาธิปไตยในการบริหารมหาวิทยาลัยและควรสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีอิสระเสรีภาพในการบริหารงานมหาวิทยาลัย ภายในขอบเขตอันกว้างขวางพอสมควร …

11. ความชอบธรรม = ประชาธิปไตย

สรุปความว่าการที่จะบริหารมหาวิทยาลัย และปกครองนักศึกษาได้ด้วยความชอบธรรมนั้น อาจารย์จะต้องทรงไว้ด้วยขันติธรรม วิริยธรรม มีฉันทะและเมตตากรุณาแก่ศิษย์ ปราศจากภยาคติ ความหวาดกลัว หรือโทษาคติ ความโกรธฉุนเฉียว ส่งเสริมให้ศิษย์ปฏิบัติตามทำนองคลองธรรมแห่งระบบประชาธิปไตย โดยใช้เหตุผลและความคิด … ในมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกับในโลกภายนอก ความชอบธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก และเมื่อเกิดความชอบธรรมขึ้น การป้องกันเหตุร้ายจะกระทำได้โดยง่าย ซึ่งเป็นสิ่งอันพึงปรารถนายิ่งกว่าการปราบปราม หรือการยอมจำนนผ่อนตามโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ

… สังคมใดสังคมหนึ่งจะมีความเจริญก้าวหน้าได้ ก็โดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงให้สมกับกาละและเทศะ และความเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะพอเหมาะพอดี ไม่รวดเร็วจนน่าเวียนศีรษะ ก่อให้เกิดความหย่อนเสถียรภาพขึ้น หรือไม่แน่นิ่งอยู่จนเป็นวิสัญญีภาพ อันจะเป็นช่องทางให้เกิดเชื้อระเบิดขึ้นได้ หรือมิฉะนั้นก็ตกอยู่ในสภาพเน่าเปื่อยอยู่ตลอดไป

ตามความเห็นของผม ระบบที่จะอำนวยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างพอเหมาะพอดีในสังคมนั้น ได้แก่ระบบประชาธิปไตย … ขอให้สมาชิกในสังคมนั้นมีเสรีภาพในการคิด ในการแสดงความคิด ในการรวบรวมกันเป็นกลุ่มเป็นสมาคม และให้ได้ใช้เสรีภาพนั้นโดยวิธีสันติและชอบธรรม …

… ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายยึดมั่นอยู่ในหลักประชาธิปไตย เพื่อนำมหาวิทยาลัยของท่านไปสู่ทางเจริญอยู่เสมอ … ควรจะคิดถึงประโยชน์ที่พึงจะอำนวยให้แก่สังคมภายนอก ทั้งที่ใกล้ชิดและที่ห่างไกลออกมาอยู่เสมอ อย่าให้เป็นจริงตามคำกล่าวหาตลกๆ ที่ว่า “ผู้ที่มีความสามารถนั้นเป็นผู้ทำ ผู้ที่ไร้ความสามารถนั้นเป็นผู้สอน” เป็นอันขาด

12. อ่านใหม่ “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย”

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ถ้อยความที่ผมพูดมาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขณะนี้นั้น ไม่ได้เป็นคำกล่าวของผมเลยสักคำเดียวครับ แต่เป็นการทำตามชื่อหัวข้อของผมที่ว่า “อ่านใหม่ ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย” อย่างตรงไปตรงมาที่สุด คือ ผมตัดตอนเรียบเรียงบทปาฐกถาของอาจารย์ป๋วยเรื่อง “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย” มา “อ่านออกเสียงใหม่” ให้ท่านฟังคำต่อคำ โดยไม่มีการแต่งเติมคำพูดหรือใส่ความคิดส่วนตัวของผมเองลงไปแม้แต่นิดเดียว

อาจารย์ป๋วยแสดงปาฐกถาเรื่อง “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย” ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี2511 ครับ โปรดฟังอีกครั้งนะครับ … 2511 ครับ  เนื้อความบางย่อหน้าผมดึงมาเติมจากบทความเรื่อง “การบริหารมหาวิทยาลัย” ที่อาจารย์ป๋วยเขียนไว้เมื่อปี2510  จากข้อเขียนเรื่อง “บทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย” เมื่อปี2513  และจากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2516

เกือบ 50 ปี ผ่านไป มองประเทศไทยในเวลานั้นกับเวลานี้ พิจารณามหาวิทยาลัยไทยในเวลานั้นกับเวลานี้ เราแทบไม่ก้าวเดินหน้าไปไหนเลยครับ ในหลายด้าน ในหลายมหาวิทยาลัย กลับถดถอยหลังลงเสียด้วยซ้ำ  เนื้อความในปาฐกถาเก่าแก่แต่ทันสมัยของอาจารย์ป๋วยยังสวมเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยได้อย่างพอเหมาะพอดี แต่เป็นทางตรงกันข้ามกับอุดมคติของอาจารย์ป๋วยไปเสียเกือบทั้งหมด ชวนให้รู้สึกทั้งอัศจรรย์ใจและขมขื่นใจไปพร้อมกัน

ในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของอาจารย์ป๋วย การรำลึกถึงท่านอย่างดีที่สุดคือ การศึกษาความคิดและผลงานของอาจารย์ป๋วย ไม่ใช่กราบไหว้ท่านเหมือนรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่เคยทราบว่าท่านคิดอะไร เขียนอะไร ยึดมั่นในอุดมการณ์แบบไหน ไม่ใช่อ้างตัวเป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย รักอาจารย์ป๋วย แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์และมีวัตรปฏิบัติแตกต่างจากท่านไปคนละเรื่องละราว

การศึกษามรดกทางความคิดของอาจารย์ป๋วย ไม่ใช่ศึกษาเพื่อเชื่ออาจารย์ป๋วยอย่างเชื่อง นั่นก็ไม่ใช่วิถีป๋วย แต่เป็นการศึกษาความคิดของท่านเพื่อคิดวิเคราะห์ คิดต่อยอด คิดวิพากษ์วิจารณ์ และคิดไปให้ไกลขึ้น ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลกร่วมสมัย

หากอ่านความคิดของอาจารย์ป๋วยเรื่องการศึกษาแล้ว เราจะเห็นว่า ท่านเชื่อว่า

“มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีอยู่ในตนเอง … การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความสำคัญของนักเรียน และจบลงด้วยความสำคัญของนักเรียน … ถ้าจะให้ถึงอุดมคติ ทุกคนควรได้รับการศึกษาตามแต่ความถนัดของตนจน ‘สุดความสามารถ’ ของแต่ละคน”

(ป๋วย อึ๊งภากรณ์, การศึกษา, 2508)

ในเรื่องนี้ ผมเชื่อมั่นเช่นเดียวกับอาจารย์ป๋วยว่า การศึกษาควรมีจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างพลังความสามารถของนักเรียนให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนเลือก ระบบการศึกษาที่ดีต้องมีลักษณะhigh floor, no ceiling (พื้นสูง ไร้เพดาน) หมายถึง คุณภาพขั้นต่ำของนักเรียนต้องสูง แต่ไม่มีเพดานข้อจำกัดใดๆ ที่กั้นขวางไม่ให้นักเรียนบรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งตน

และหากอ่านความคิดของอาจารย์ป๋วยเรื่องมหาวิทยาลัยแล้ว เราจะเห็นว่า มหาวิทยาลัยในอุดมคติของท่าน คือมหาวิทยาลัยที่มีความชอบธรรม ท่านไม่ใช้คำว่า righteousness แต่ใช้คำว่า decency และความชอบธรรมหรือศีลธรรมในมหาวิทยาลัยของอาจารย์ป๋วย เป็นเรื่องเดียวกับ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และ(สันติ)ประชาธรรม ซึ่งท่านนิยามว่า “ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม และธรรมเกิดจากประชาชน … อำนาจสูงสุดมาจากธรรมของประชาชน … ทั้งหมู่” (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ, 2515) มิใช่จากเผด็จการผู้ทรงธรรมแต่อย่างใด

13. คืนความชอบธรรม คืนประชาธิปไตย คืนเสรีภาพ คืนประชาธรรม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

มองสังคมไทยและมหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้แล้ว ผมคิดถึงอาจารย์ป๋วยเหลือเกินครับ แต่อาจารย์ป๋วยท่านตายไปนานแล้วครับ พวกเราต่างหากที่ยังอยู่ เราอาจแสวงหาแรงบันดาลใจจากอาจารย์ป๋วย แต่พวกเราต้องเป็นคนลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยแรงของเราเอง

ดังนั้น พันธกิจสำคัญประการหนึ่งในวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงควรเป็นการดึงมหาวิทยาลัยออกจากมือของผู้มีอำนาจ จากระบอบเผด็จการทหารในระดับชาติ จากระบอบเผด็จการคณาธิปไตยในระดับมหาวิทยาลัย ให้กลับคืนสู่มือของนิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์ และสังคมไทยอีกคำรบหนึ่ง

จะฟื้นคืน “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย” ได้ ต้องใช้ประชาธิปไตย เสรีภาพ และประชาธรรมเท่านั้น ไม่มีทางอื่น

ขอบคุณครับ

หมายเหตุ: ชมเทปบันทึกภาพงาน Puey Talk ครั้งที่ 2 ได้ที่ http://www.thailivestream.com/pueytalks (talk ของผม อยู่ในช่วงนาทีที่ 56 ถึงชั่วโมงที่ 1 นาทีที่ 18)

เอกสารประกอบ

Download (PDF, 12.87MB)

 

Print Friendly