การอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ชีวิตจากหนังสือ – สฤณี ปกป้อง และนิ้วกลม

สนทนาเรื่อง “การอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ชีวิตจากหนังสือ”

รำลึก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พ่วงเปิดตัวหนังสือ วิชาสุดท้าย(ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน) เล่ม 2

โดย สฤณี อาชวานันทกุล และ ปกป้อง จันวิทย์

ชวนคุยโดย นิ้วกลม

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2552 ณ พีเพิลสเปซ แกลเลอรี่

——————————————————————————————————–

 

นิ้วกลม – คุณยุ้ยแปลสุนทรพจน์ของคนดังหลายวงการที่กล่าวในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกา รวมเล่มออกมาเป็นหนังสือ “วิชาสุดท้าย (ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)” ได้ 2 เล่มแล้ว ทำไมถึงสนใจแปลสุนทรพจน์เหล่านี้

สฤณี – ชอบอ่านสุนทรพจน์วันรับปริญญามานานแล้ว  สุนทรพจน์แนวนี้มีความคลาสสิกตรงที่พูดให้เด็กที่กำลังจะเรียนจบปริญญาตรีฟัง  คนพูดจึงต้องพยายามดึงดูดความสนใจของเด็ก และทำให้เขาเข้าใจให้ได้  บางคนก็ใช้นิทาน บางคนก็เล่าประสบการณ์ตัวเอง  ซึ่งถ้าเด็กปีสี่เข้าใจได้ คนทั่วไปก็น่าเข้าใจได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างสุนทรพจน์ที่ชอบมากเป็นพิเศษในหนังสือวิชาสุดท้ายเล่ม 2 คือสุนทรพจน์ของบาร์บารา คิงซอลเวอร์  (Barbara Kingsolver) เรื่อง “วิธีอยู่อย่างมีความหวัง” เขาเป็นนักเขียนที่พยายามเขียนเรื่องยากๆ อย่างเช่น สภาพของประเทศแถบแอฟริกาที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งต้องทำความเข้าใจคนที่นั่นซึ่งมีหลายเผ่า หลายความคิด หลายศาสนา รวมทั้งฝรั่งผิวขาว เพราะฉะนั้นการเขียนหนังสือเล่มหนึ่งจะใช้เวลานานมาก  ต้องทำงานวิจัยเยอะมาก โดยพื้นฐาน คิงซอลเวอร์เรียนจบธรรมชาติวิทยาหรือว่านิเวศน์วิทยา จึงสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในหนังสือทุกเล่มก็จะพรรณนาป่าไม้ ภูเขา พืชพันธุ์ ของท้องถิ่น ได้อย่างเห็นภาพและละเอียดละออ  ตอนนี้โดยส่วนตัว เราสนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ทุนนิยมที่รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยมีหน้าตาอย่างไร พอมาอ่านสุนทรพจน์ที่คิงซอลเวอร์ไปพูดที่มหาวิทยาลัยดุ๊ค เมื่อปีที่แล้ว เลยรู้สึกว่าชอบมากเลย พูดได้ดีมากๆ ตอนจบเป็นบทกวี ก็ได้ลองแปลเป็นภาษาไทยด้วย

นิ้วกลม – อาจารย์ปกป้องละครับ ได้อ่านไหมครับ

ปกป้อง – ไม่ได้อ่านครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะครับ ถ้าเราอ่านหนังสือชุดวิชาสุดท้ายจะเห็นอะไรบางอย่าง สุนทรพจน์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะพูดในวันรับปริญญาของนักศึกษา งานรับปริญญาในเมืองไทยจะดูขรึมขลังจากแบบแผนพิธีการพิธีกรรมต่างๆ หลายคนหน้าตาเปลี่ยนไปเลยนะครับ  ผมเจอลูกศิษย์หลายคน จำไม่ได้เลย สมัยก่อนหน้ามันไม่ได้ขาวขนาดนี้ (หัวเราะ) แต่ว่างานรับปริญญาที่อเมริกากลับมีความขลังอีกแบบหนึ่ง  เป็นความขลังที่มาจากคนธรรมดา เขาจะเชิญคนที่ได้คะแนนดีที่สุดหรือหัวหน้าชั้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าเพื่อนๆ เป็นการให้คุณค่ากับนักศึกษา  แต่ละคนก็ต้องไปเตรียมบทพูดกันมา ซึ่งก็มีความเฉียบคมน่าดู นอกจากนั้น ยังเชิญศิษย์เก่าหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มากล่าวสุนทรพจน์ด้วย อย่างในหนังสือวิชาสุดท้ายก็มีตั้งแต่นักเขียน นักวาดการ์ตูน นักแสดง ผู้ประกอบการ ไม่ใช่มีแต่นักการเมือง นี่เป็นการให้เกียรติบุคคลเหล่านี้ และให้รุ่นพี่รุ่นพ่อมาเล่าประสบการณ์ชีวิตสอนน้องสอนลูกที่กำลังจะจบออกไป  มันชี้ให้เห็นว่า เกียรติไม่ได้มาตามตำแหน่ง หน้าที่ หรือฐานะทางสังคม  แต่อยู่ในคนธรรมดาที่ประกอบสัมมาชีพต่างๆ นี่แหละ คนที่ประสบความสำเร็จในวิถีของตนเอง นี่เป็นความน่าสนใจในเชิงวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยในเมืองนอก วันนี้เราคุยกันถึงหนังสือวิชาสุดท้าย เล่ม 2  บางคนคงคิดว่า เฮ้ย นี่มึงหลอกกันนี่หว่า เล่มก่อนมาบอกว่าวิชาสุดท้าย แล้วเล่มใหม่มาได้ไงอีก (หัวเราะ) เล่มนี้สุดท้ายกว่าอีกหรือ จริงๆ แล้วชื่อหนังสือวิชาสุดท้ายมันดีมากนะครับ มันก็น่าคิดต่อว่า เมื่อไหร่มันจะจบวิชาสุดท้าย คนเรามันเรียนกันจบได้ไหม มันมีไหมวิชาสุดท้าย เดี๋ยวคุณภิญโญบอกว่ารวมเล่มๆ สฤณีก็หายไปอีก 48 ชั่วโมง แล้วแกก็ส่งต้นฉบับเล่ม 3 มาอีก  มันไปไม่ถึงวิชาสุดท้ายจริงๆ หรอก

นิ้วกลม – อาจารย์คิดว่าสิ่งที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยยังไม่พอ

ปกป้อง – ครับ มันมีคำว่า “วิชาสุดท้าย” และมีสร้อยต่อด้วยว่า “ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน” มันน่าคิดว่า แล้วมหาวิทยาลัยมันสอนอะไรกัน โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเมืองไทย สอนอะไร ทำไมพอเราอ่านหนังสือวิชาสุดท้ายของสฤณี เรื่องนี้ก็โดน เรื่องนั้นก็โดน แต่ทำไมพอเราฟังอาจารย์สอนในห้อง มันช่างน่าเบื่อและไร้ประโยชน์กับชีวิตขนาดนี้  หรือทำไมเรื่องดีๆ ชวนคิดที่อยู่ในสุนทรพจน์เหล่านี้ เราไม่ค่อยหรือไม่เคยได้ฟังในรั้วมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมัวสอนอะไรกันอยู่  เท่าที่เราอ่านวิชาสุดท้าย 2 เล่ม จะเห็นว่า มันไม่มีวิชาสุดท้ายที่เป็นหนึ่งเดียวนะ ไม่มีสูตรสำเร็จว่าถ้าต้องการความสำเร็จในชีวิต จะต้องทำอย่างนี้ หนึ่ง…สอง…สาม…สี่ แต่นิยามของความสำเร็จมีหลากหลาย เส้นทางสู่ความสำเร็จมีหลากหลาย  วิชาสุดท้ายก็มีหลากหลาย และไม่แน่ใจว่าจะสอนกันได้หรือเปล่าด้วย

นิ้วกลม – แล้วพอจะสรุปหลักอะไรบางอย่างได้ไหม

ปกป้อง – ความสำเร็จไม่ได้วัดกันที่สังคมให้ค่าว่าคุณต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เช่น ต้องเรียนหนังสือเก่ง ต้องได้เงินเดือนสูงๆ แต่คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก นิยามของความสำเร็จจึงหลากหลายขึ้นกับแต่ละคน คนที่ประสบความสำเร็จมีโลกที่สวยงามของตัวเอง คุณต้องค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วก็รู้จักตัวเองก่อน  รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากเป็นอะไร นอกจากนั้น คุณก็ต้องรู้จักโลกระดับหนึ่ง โลกคือเรื่องที่มันพ้นไปจากตัวเราเอง ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง ต้องเรียนรู้โลก เปิดใจกว้างเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในโลก เรียนรู้อะไรที่เราไม่เคยรู้  รู้จักตัวเอง รู้จักโลก แล้วก็มีโลกในอุดมคติของตน มีเป้าหมายในชีวิต พยายามไปให้ถึง แล้วอย่ามัวแต่คิด แต่ต้องลงมือทำจริง ใส่ใจในกระบวนการ  กระบวนการที่ดีจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี ระหว่างทางไปสู่เป้าหมายควรสนุกและเบิกบานกับงานที่ทำ มีอารมณ์ขัน เปิดใจกว้าง ห้องเรียนในมหาวิทยาลัยยั่วให้นักเรียนคิดเรื่องพวกนี้หรือเปล่า

นิ้วกลม – สิ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนแต่ควรจะสอนมีอะไรบ้างครับ

สฤณี –  มีคำคมท้ายหนังสือเล่มนี้อยู่อันหนึ่งที่ชอบมากเลย คือคำคมของโสคราติสที่ว่า “ข้าสอนอะไรใครไม่ได้เลย ข้าเพียงแต่ทำให้เขาคิด” เลยนึกย้อนกลับไปถึงตอนที่ตัวเองยังเรียนหนังสืออยู่ อาจารย์ที่ทำให้เราประทับใจที่สุดไม่ใช่คนที่เราจำได้ว่าเขาสอนอะไร แต่เป็นคนที่กระตุ้นให้เราได้คิด อย่างเช่นอาจารย์คนหนึ่งสมัยเรียน ม.5 ชอบแนะนำหนังสือดีๆ เกี่ยวกับสงครามให้อ่านเยอะมาก เขาเคยเป็นจีไอออกรบในสงครามเวียดนาม เหมือนจะมีความหลังกับสงคราม เวลาสอนภาษาอังกฤษก็จะให้อ่านแต่หนังสือสงครามตลอดเวลา  ตอนแรกเราก็รู้สึกว่าทำไมต้องอ่านหนังสือสงครามตั้ง 15 เล่ม เราเองก็ไม่ชอบสงคราม แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่  คือหนังสือสงครามหลายเล่มไม่ได้พูดถึงแต่เรื่องสงคราม มันแค่ใช้สงครามเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นธีม ทำให้เราได้แง่คิดใหม่เกี่ยวกับสงคราม  คือสงครามเองมันก็ให้แง่คิดแง่อะไรเราได้

นิ้วกลม – เหมือนการสอนที่ดีคือการสอนให้คิดมากกว่าการสอนแค่วิชาความรู้

สฤณี – ใช่  เหมือนครูในหนังเรื่อง Dead Poets Society  ถามว่าคุณครูในหนังเรื่องนี้เขาสอนอะไร  วันๆ ก็แค่เอาบทกวีให้นักเรียนอ่าน บางทีก็ให้ทำท่าแปลกๆ  แต่ว่านักเรียนกลับได้อะไรติดไปเยอะมาก

นิ้วกลม – มาที่อาจารย์ปกป้องบ้าง มีวิชาอะไรที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนบ้าง

ปกป้อง – เยอะเลยครับ ถ้าเราดูว่ามหาวิทยาลัยสอนอะไรบ้าง  อาจารย์ส่วนใหญ่จะพยายามสอนวิธีตอบคำถามให้เทคนิค ให้เครื่องมือ  คุณถูกฝึกให้รู้ว่าจะตอบคำถามอย่างไรจึงจะได้คะแนน แต่ว่ามีอาจารย์น้อยคนที่สอนวิธีตั้งคำถามหรือสอนให้ท้าทายสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่เป็นอยู่ ยั่วให้คิด ยั่วให้แย้ง  มหาวิทยาลัยเมืองไทยก็เป็นผลผลิตของสังคมไทย  สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม เวลาอาจารย์สอน  อาจารย์จำนวนมากก็ถือปากกาอาญาสิทธิ์ในการให้เกรด  ถือว่าตนคือผู้มีอำนาจ คิดว่าสิ่งที่ตัวเองสอนคือความจริงความดีความงามอันเที่ยงแท้เพียงหนึ่งเดียว  ยากที่จะหาผู้ใดมาท้าทายมัน  เมื่อเป็นแบบนี้ การเรียนการสอนก็หมดสนุก เพราะว่านักเรียนไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่ท้าทายแต่สยบยอมในอำนาจของอาจารย์ เพราะฉะนั้น อาจารย์ที่ดีที่ผมเคยเรียนด้วยแล้วชอบ คืออาจารย์ที่สนใจกระบวนการเรียนการสอน ให้นักศึกษาได้ตั้งคำถาม ได้คิด ได้วิพากษ์ เหมือนที่คุณยุ้ยบอกว่าอาจารย์ที่ดีนั้น บางทีเราจำไม่ได้หรอกว่าเขาสอนอะไร  แต่เราจำความประทับใจ ณ ขณะที่เราเรียนกับเขาได้ว่า ณ ตอนนั้นดวงตาของเรามันเบิกโพลงขนาดไหน  ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ นะ เวลาได้เรียนกับอาจารย์ดีๆ

นิ้วกลม – อาจารย์มีวิธียั่วลูกศิษย์อย่างไร

ปกป้อง – ผมคิดว่าอาจารย์เป็นเหมือนไกด์นำเที่ยวกับเหมือนโค้ช ในหน้าที่ไกด์ อาจารย์ทำได้แค่พาเที่ยวโลกวิชาการในเรื่องต่างๆ เราช่วยแค่บอกภูมิทัศน์เบื้องต้น และให้ความรู้เบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งมีประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งเที่ยวครั้งแรก   แต่ถ้าเรามัวแต่ฟังไกด์อย่างเดียว เราไม่มีทางมีความรู้ลึกซึ้งไปกว่าสิ่งที่ไกด์พูด  ความรู้ก็ถูกผูกขาดโดยไกด์แค่นั้น แต่ถ้าคุณอ่านหนังสือให้มาก คุยกับคนอื่นเยอะๆ  คุณก็จะรู้ว่าไกด์ก็ผิดได้ ไม่ได้ถูกเสมอ หน้าที่ไกด์คือพาเที่ยวให้สนุก เล่าเรื่องให้สนุก ให้นักเรียนอยากรู้ต่อ อยากค้นต่อ อยากถามต่อ คำถามดีๆ ของนักเรียนก็ทำให้ไกด์ฉลาดขึ้นด้วยเหมือนกัน  ในหน้าที่โค้ช โค้ชที่เก่งคือคนที่รู้ว่านักเตะแต่ละคนของเขาเก่งตรงไหน มีจุดอ่อนตรงไหน เราจะทำให้นักเตะที่มีความสามารถแตกต่างกัน มีพรสวรรค์แตกต่างกัน ประสบความสำเร็จบนวิถีทางของเขาเองได้อย่างไร  นักเรียนมีหลายประเภทนะครับ บางคนไม่อ่านหนังสือเรียนเลย ทำแต่กิจกรรมนอกห้อง วิธีคุยกับนักเรียนแบบนี้ก็แบบหนึ่ง บางคนอ่านแต่หนังสือเรียน ไม่สนใจกิจกรรมรอบตัวเลย ก็ต้องการการพูดคุยอีกแบบหนึ่ง

นิ้วกลม – ตรงนี้น่าสนใจ สมมติ ผมมีน้องสาวที่ไม่ชอบเรียนรู้  ไม่ใช่ไม่ชอบอ่านหนังสือนะครับ แต่ไม่ชอบเรียนรู้  จะมีวิธียั่วให้เขาอยากเรียนรู้อย่างไรได้บ้าง

ปกป้อง – ก็ต้องหาวิธีล่อหลอก แต่ถึงที่สุดเรื่องพวกนี้มันก็เป็นกรรมส่วนตัวครับ (หัวเราะ)  เราคงต้องไปคุยกับเขาว่าสนใจอะไร ทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจทั้งนั้น แต่บ่อยครั้งที่ชีวิตการเรียนไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจในชีวิต นี่โยงไปถึงเรื่องระบบการศึกษา  เพราะในบ้านเรา หลายคนมาเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐศาสตร์มันเรียนอะไร มันมาเรียนด้วยสายลมพัดพามา ใครเรียนหนังสือในสาขาที่ตัวเองไม่ได้ชอบก็จะรู้ว่ามันทรมานแค่ไหน ข้อแนะนำเบื้องต้นของผมก็คือว่า เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราชอบอะไร  ผมเชื่อว่าถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบมันจะมีความสุข  ถ้าเกิดเราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราชอบที่เรารักมันก็จะมีความสุข แล้วก็พัฒนาเติบโตต่อไปบนเส้นทางสายที่ตัวเองเลือกเดิน

นิ้วกลม – ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า ถ้าเราได้ทำอะไรที่เราชอบ เราจะมีความสุขและทำมันได้ดี แต่ปัญหาคือ หลายคนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบว่ะ ทีนี้ ถ้าเราจำต้องเรียนต่อไป เรามีโอกาสเรียนรู้จากสิ่งอื่นได้อีกหรือเปล่า คือเรามีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ยังไงบ้าง

สฤณี – นักเขียนอย่างคุณ ‘รงค์  วงษ์สวรรค์  ก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่า คนเราเรียนรู้ทั้งชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่  จริงๆ แล้ว คนสมัยนี้เรียนรู้นอกโรงเรียนมากกว่าในโรงเรียนด้วยซ้ำ คือเห็นด้วยกับอาจารย์ปกป้องในประเด็นที่ว่า มันต้องอยู่ที่ตัวเองด้วยค่ะ  สมมติว่า เราเรียนที่คณะนี้ แล้วไม่ชอบเลย ไม่ชอบอาจารย์สักคน แล้วจะให้นั่งเฉยๆ รอให้บังเอิญโชคดีได้เจออาจารย์ดีๆ มาสร้างแรงบันดาลใจหรือไง  มันก็ไม่ใช่  เราก็ต้องขวนขวายเองด้วย  โอกาสในการเรียนรู้สมัยนี้มีเยอะมาก  ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต ซึ่งย่อโลกเข้ามาในจอ

โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ปัญหาหนึ่งคือระบบการศึกษา อย่างที่ปกป้องพูดคือมันมีวัฒนธรรมของอำนาจอยู่  ระหว่างครูกับลูกศิษย์ ครูคิดว่าตัวเองมีอำนาจ ต้องผูกขาดความรู้ แต่ปัญหาคือความรู้มันไม่อยู่กับที่  ความรู้แต่ละยุคเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  ความรู้ที่ใช้ได้ในสมัยรุ่นปู่เราอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าไม่ได้สัมพันธ์กับชีวิตเราอีกต่อไป ประเด็นหนึ่งที่คิงซอลเวอร์พูดไว้ซึ่งชอบมากคือ ปัญญาของมนุษย์แต่ละรุ่นก็เป็นของใหม่เสมอ อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ  เพราะว่าคนทุกรุ่นจะเจอปัญหาของตัวเองที่คนรุ่นเก่าๆ ไม่เข้าใจ และวิ่งตามไม่ทัน  ถ้าครูเอาแต่ผูกขาคความรู้ แล้วเอาความรู้ของรุ่นตัวเองมาบอกเด็กว่าต้องคิดอย่างนี้  พอเด็กออกไปเจอโลกที่ความรู้มันใช้ไม่ได้แล้ว  ก็ไปต่อไม่ได้  คิดว่าครูที่ดีก็คล้ายกับที่ปกป้องพูดคือเป็นไกด์ เหมือนกับสอนให้อ่านเข็มทิศเป็น ถ้าหลงป่าต้องดูดาวหาทิศอย่างไร แล้วถ้าสอนแบบนี้ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน ก็เอาตัวรอดได้เมื่อมีเข็มทิศอยู่ด้วย

นี่ควรจะเป็นเป้าหมายของการศึกษา  แต่ทีนี้ถ้าเกิดโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้น  การอ่านเข็มทิศหรือการสร้างระบบคิดก็ยังมีช่องทางอื่นเหมือนกัน เช่น จากประสบการณ์ตรง ถ้าใครได้อ่านหนังสือ เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์  วงษ์สวรรค์  ซึ่งคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ สัมภาษณ์คุณ ‘รงค์ จะพบว่า คุณ ’รงค์ ได้แสดงให้เห็นด้วยประสบการณ์ชีวิตของตัวเองว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีฐานทางวิชาการจากมหาวิทยาลัย  ก็สามารถประสบความสำเร็จได้  เราจะเห็นว่าคุณ ‘รงค์ เป็นคนที่ค้นคว้าทุกเรื่องตลอดเวลา  คุยกับใครก็สังเกต และพยายามทำความเข้าใจว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร กระทั่งเรื่องต้นไม้ ดอกไม้ แกก็รู้หมด  นี่ไม่ใช่แค่ประสบการณ์เฉยๆ  ต้องเรียกว่าความรักในการเรียนรู้ คือเจออะไรก็อยากจะรู้เบื้องหลังไปหมด ต้องค้นหาความรู้ต่อ ทำให้แกรู้เยอะมาก  คิดว่าชาตินี้เราคงเป็นแบบนั้นไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะเรียนจบปริญญาโทมาก็ตาม  มหาวิทยาลัยเป็นแค่ช่วงเดียวของชีวิตคน ไม่ใช่ว่าถ้าคุณไม่ได้ตั้งในเรียนในมหาวิทยาลัยหรือเรียนคณะที่ไม่ชอบจะแปลว่า ตายแล้ว ไม่มีทางกลับไปเป็นอย่างที่เราอยากจะเป็นได้อีก มันไม่ใช่ ในหนังสือวิชาสุดท้าย คนที่ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์หลายคนไม่ได้จบมหาวิทยาลัยเลย  แต่ได้รับเชิญให้มาพูดให้บัณฑิตใหม่ของมหาวิทยาลัยดังๆ ฟัง นั่นแปลว่า คนเชิญต้องคิดว่าคนเหล่านี้มีประสบการณ์หรือมีชีวิตที่มีคุณค่าพอที่จะสอนให้เด็กมหาวิทยาลัยเข้าใจ และตอกย้ำให้เด็กมหาวิทยาลัยสำเหนียกว่าพวกคุณก็ยังไม่ได้รู้อะไรมาก

นิ้วกลม – ยังมีอะไรให้เรียนอีกมากมาย

สฤณี – ใช่ แต่ตอนจบปีสี่ก็รู้สึกว่า เรารู้ทุกอย่าง จนมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ถึงจะรู้ว่าที่เราเคยคิดน่ะ มันไม่ใช่

นิ้วกลม – เชิญอาจารย์ปกป้องเสริมหน่อยครับ ก่อนที่เราจะคุยกันต่อว่า ทำไมเราต้องอ่านหนังสือ

ปกป้อง – ถ้าผมเจอลูกศิษย์ที่มาเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วไม่ชอบ ผมจะบอกว่า ไม่จำเป็นต้องทน แล้วก็ควรจะไปสอบใหม่เข้าคณะที่ชอบ  ซึ่งมันก็ต้องลอง  อันนี้ก็มาสู่คำถามที่สองก็คือว่า ก่อนที่เราจะรู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร  เราเปิดใจมากพอหรือยัง  บางคนรีบปฏิเสธสิ่งใหม่ที่เจอเร็วก่อนที่จะไปคลุกคลีกับมัน  ผมคิดว่าก่อนที่เราจะตัดสิน เราควรจะเปิดใจกว้างระดับหนึ่ง  ไปเรียนรู้โลกของมัน แล้วเราก็จะประเมินได้ว่าโลกนั้นเป็นโลกที่เหมาะกับเราหรือเปล่า  ใครเผอิญเจอโลกที่เหมาะกับตัวเองได้เร็ว ก็ยิ่งดี ถือว่าเป็นโชคของเขา เรื่องพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถอย่างเดียว มันอยู่ที่จังหวะและโชคชะตาด้วย

ก่อนที่ผมจะมาพูดวันนี้ มีโจทย์อันหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจแล้วก็อยากตอบ เรามานั่งกันอยู่ที่แกลลอรีแห่งนี้ในวันนี้ นอกจากจะมาคุยถึงหนังสือวิชาสุดท้ายของสฤณีแล้ว เหตุสำคัญคือมาร่วมงานรำลึก ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนที่พวกเราเคารพรัก ผมเลยลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราจินตนาการว่าคุณ ’รงค์ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับปริญญา คุณ ’รงค์ จะพูดอะไร ให้คุณยุ้ยไปถอดเทปเป็นหนังสือวิชาสุดท้ายเล่ม 3 ได้ คำตอบในใจผมคือ

ข้อหนึ่ง ให้ทิ้งไวยากรณ์ของชีวิต คุณ ’รงค์ พูดหลายครั้งว่าภาษาของแกไม่มีไวยากรณ์  ไวยากรณ์เป็นเหมือนกฎหมายของภาษา ไวยากรณ์คอยบอกเราว่า อะไรที่เราทำได้ อะไรที่เราทำไม่ได้ อะไรที่เราเขียนได้ เขียนไม่ได้  แต่คุณ ‘รงค์ บอกว่างานเขียนเป็นงานที่ต้องเขียนจากความรู้สึก จากอารมณ์  แล้วไวยากรณ์มันไม่มีอารมณ์อยู่ในนั้น  มันไม่สามารถจะสะท้อนอารมณ์ของนักเขียนที่มันเปลี่ยนแปลงพริ้วไหวตลอดเวลาได้  คุณ ‘รงค์ เคยบอกว่า ไม่ชอบเรียนภาษาไทยมากตอนเด็กๆ  เป็นคนที่ไม่ชอบภาษาไทย แต่ว่าที่เขียนงานได้แบบนี้ก็เพราะทิ้งไวยากรณ์  แกบอกว่ากฎหมายมันเหมือนเป็นเครื่องประหารทำลายชีวิตมากกว่าจะให้ความหลากหลาย ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นข้อแนะนำอันแรกที่จะบอกเด็กที่เรียนจบให้ทิ้งไวยากรณ์ของชีวิต

ข้อสอง โยงมาจากข้อแรก ผลงานของคุณ ’รงค์ ช่วยสอนเราว่า เมื่อทิ้งไวยากรณ์ของชีวิตแล้ว อย่ากลัวที่จะสร้าง ‘ทาง’ ของตัวเอง แม้ไม่มีใครเคยเดินนำหรือไม่มีใครเคยถางทางหรือนิยามไว้ก่อน งานเขียนของคุณ ’รงค์ เป็นทางที่ไม่มีใครเคยเดินนำมาก่อน  สมัยผมเรียนหนังสือ ก็เคยทำหนังสือทำมือเล็กๆ กับกลุ่มเพื่อน  เราเคยไปสัมภาษณ์คุณทองแถม นาถจำนง ซึ่งตอนนั้นประจำอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ คุณทองแถมเคยพูดประโยคหนึ่ง ซึ่งผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ ว่า ถ้าไม่มีคนเดิน มันก็ไม่มีทาง เพราะฉะนั้น ตอนที่เราเดินเส้นทางใหม่ ในช่วงที่ยังไม่เกิด ‘ทาง’ เราอาจจะรู้สึกเปลี่ยวเหงาหรือรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง  แต่ถ้าเราเห็นตัวอย่างชีวิตของคุณ ’รงค์ เราจะได้กำลังใจ เพราะคุณ ‘รงค์ สอนเราด้วยการกระทำว่า อย่ากลัวที่จะเดินไปในทางที่ยังไม่มีใครบุกเบิก  แล้วเราอย่าไปใช้ชีวิตอยู่ภายใต้คำนิยามของคนอื่นที่นิยามเรา หรือกระทั่ง เราพยายามสร้างคำนิยามมาขังตัวเราเองไว้ หากเราติดอยู่กับกรอบนิยามที่คนนั้นคนนี้กั้นคอกเอาไว้ให้เรา หรือเรากั้นคอกชีวิตตัวเองไว้ ชีวิตก็เหมือนถูกจองจำ เราต้องทะลุไอ้คอกพวกนี้ แล้วสร้างทางของตัวเองขึ้นมา

ข้อสาม ถ้าเราเลือกเส้นทางของตัวเองแล้ว ต้องมีความเป็นมืออาชีพ นั่นคือ รักในสิ่งที่ทำ จริงจังในสิ่งที่รัก และระหว่างที่จริงจังก็มีรอยยิ้มที่เล่นสนุกระหว่างทางได้  คุณ ’รงค์ แสดงให้เห็นว่า มืออาชีพที่เลือกเป็นนักเขียนอาชีพเขาทำงานอย่างไร มีวินัยในการทำงาน ต้นฉบับเนี้ยบ ละเมียดละไม ส่งตรงเวลา  มืออาชีพต้องไม่มั่วและไม่ชุ่ย มืออาชีพหายากในประเทศนี้ เพราะมีแต่คนมั่วกับคนชุ่ยเต็มไปหมด คุณ ‘รงค์ พูดเสมอว่า ผู้อ่านต้องได้รับการบำเรอสูงสุดในตัวหนังสือที่ ‘รงค์ สร้างขึ้นมา กระนั้น เราสามารถอยู่กับสิ่งที่เราจริงจังด้วยรอยยิ้มได้  เราจะเห็นคุณ ’รงค์ ทำงานด้วยความเพลิดเพลินและมีอารมณ์ขัน

ข้อสี่ ให้รักษาความเป็นหนุ่มไว้เสมอ นามปากกาของคุณ ‘รงค์ วงเล็บคำว่า ‘หนุ่ม’ ไว้ข้างท้ายอย่างยาวนาน  เคยอ่านเจอ แกบอกว่าได้หยุดตัวเองไว้ที่อายุยี่สิบแปด เพราะชอบตัวเองในวัยนั้นมากที่สุด เพราะเป็นวัยที่กระปรี้กระเปร่า หัวแล่น ทำงานได้คึกคัก  หลายครั้งหลายหนที่ได้ฟังคุณ ’รงค์ พูดหรือให้สัมภาษณ์ จะเห็นว่า แกบูชาความหนุ่ม แล้วก็คนหนุ่มด้วย เพราะว่าเป็นวัยที่มีจินตนาการ ไม่แปดเปื้อนมาก คือไม่ค่อยมีมลภาวะ เป็นผ้าขาวในความหมายที่กล้าคิด ไม่สยบยอมต่อโลกแบบที่มันเป็นอยู่มากจนเกินไป แล้วก็มีจิตใจที่อยากเปลี่ยนแปลง คุณ ‘รงค์ เมตตาคนหนุ่ม เมตตานักเขียนหนุ่ม แต่ไม่ใช่ในแบบที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่า สูงส่งกว่า  แต่เมตตาแบบเท่ากัน แบบให้เกียรติกัน  ผมเคยตามเหล่าสมาชิกบ้านสีฟ้าไปเยี่ยมสวนทูนอินครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าโชคดีมาก เป็นทริปที่จดจำจนถึงทุกวันนี้  ได้เจอตัวจริงและประทับใจในความเมตตาของแก  คุณ ’รงค์เป็นคนพูดจามีพลังและเฉียบคมมาก เป็นนักเล่าเรื่องตัวยง พออยู่เบื้องหน้าแกแล้ว เหมือนเราตัวเล็กนิดเดียว เพราะมีประสบการณ์ชีวิตมากมายเหลือเกิน ผมเคยอ่านเจอว่าทำไมแกถึงเลิกวงเล็บ ‘หนุ่ม’ ต่อท้ายชื่อ นั่นเพราะเริ่มมีคนคิดว่าไอ้ที่วงเล็บหนุ่มเป็นลูกชายของแกเขียน (หัวเราะ) เลยเอาออกไปตอนอายุหกสิบ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าแกละทิ้งความหนุ่ม

ข้อห้า ถ้าเกิดเราเคยไปสวนทูนอินก็จะเห็นประโยคหนึ่งติดอยู่ นั่นคือ Turn on, Tune in, Drop out  นี่เป็นปรัชญายุคบุปผาชน  Turn on ก็คือแสวงหาทัศนะแปลกใหม่ของชีวิต ถ้าในยุคฮิปปี้อาจจะด้วยยาเสพติด แต่ตอนนี้ไม่ต้องทำแบบนั้นก็ได้ เพราะมีที่ทางให้แสวงหาทัศนะใหม่ๆ ได้ จากการดูหนัง การเขียน การอ่าน หรือการอ่านหนังสือวิชาสุดท้ายของสฤณี (หัวเราะ) หรือการอ่านหนังสือระยะทางอันห่างใกล้ หรือลอนดอนไดอารี่ ของนิ้วกลม (หัวเราะ) Tune in คือ การคืนตัวเองไปอยู่ในกระแสธรรมชาติ พยายามเรียนรู้โลก เรียนรู้คน แบบเปิดใจ รักคนอื่นแบบที่ไม่มีเงื่อนไข ให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโลก มองคนไม่ได้เห็นเป็นชาติไหนเพศไหน แต่ว่ามองคนเป็นเพื่อนร่วมโลก Drop out ก็คือ การละทิ้งโลก แล้วดำเนินชีวิตตามใจปรารถนาแบบเป็นไทแก่ตน ผมว่านี่เป็นปรัชญาที่คุณ ’รงค์ ใช้ในการเขียนหนังสือ และการใช้ชีวิตด้วย

ข้อหก ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณ ’รงค์ ครั้งหนึ่ง มีคนถามว่าสนใจการเมืองไหม แกตอบว่า ไม่ค่อยสนใจการเมืองมากนัก แต่สนใจ ‘ความจน’ กับ ‘ความหิว’ แกบอกว่าความจนกับความหิวเป็นสงครามอันยืดเยื้อของคนในทุกสังคม ถ้าเราเอาชนะสงครามความจนกับความหิวไม่ได้ ศิลปะก็ไม่มีทางเจริญรุ่งเรือง ใครอ่านงานของคุณ ’รงค์ จะเห็นชีวิตของคนเล็กคนน้อยอย่างกะหรี่ คนโซ ขอทาน คนเก็บขยะ คนเหล่านี้ไม่ค่อยมีพื้นที่ในงานเขียนกระแสหลักทั่วไป แต่งานของคุณ ’รงค์ พยายามสะท้อนภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ แล้วแกไม่ได้สะท้อนจากการนั่งบนหอคอยงาช้างแล้วเขียนเรื่อง แต่นำพาตัวเองไปสัมผัสจริง แกเคยเขียนบอกว่า อย่ามัวแต่คิดจนลืมโลกที่อยู่รอบตัว ตอนแกเขียนเรื่องชีวิตของกะหรี่ก็ไปใช้ชีวิตอยู่ในซ่องพักใหญ่ ต้องจุดไฟเขียนหนังสือ ต้องเอาตัวเข้าแลก แกเคยพูดประโยคหนึ่งทำนองว่า เราควรจะเป็นมิตรกับความชั่วเพื่อที่เราจะได้เข้าใจความดี

ข้อสุดท้าย หลายคนที่มาร่วมงานวันนี้คงรักการอ่านรักการเขียนอยู่แล้ว คุณ ’รงค์ คงจะบอกพวกเราว่า ให้อ่านๆๆๆๆๆ แล้วก็เขียนๆๆๆๆๆ คุณ ’รงค์ เคยบอกว่า การอ่านเหมือนกับการคิดด้วยความคิดของคนอื่น แต่การเขียนคือการคิดด้วยความคิดของเราเอง เมื่อสักครู่นิ้วกลมเริ่มเปิดประเด็นต่อว่าเราอ่านหนังสือทำไม คำตอบเบื้องต้นคือ เพราะเราอยากรู้ นี่เป็นจุดเริ่มต้น องค์ความรู้ต่างๆ ในโลกเริ่มต้นมาจากความอยากรู้ มันมาจากการที่แต่ละคนมีคำถามในหัวแล้วอยากหาคำตอบของคำถามนั้น ซึ่งการอ่านมันช่วยหาคำตอบบางด้านให้กับเรา

สฤณี – เมื่อสักครู่ปกป้องพูดถึงเรื่องความเป็นหนุ่มของ คุณ ’รงค์ และการให้เกียรติคนหนุ่มคนสาว คิดว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เหตุผลหนึ่งที่เรารู้สึกชอบสุนทรพจน์ทั้งหมดที่แปล เพราะคิดว่าผู้ใหญ่เหล่านี้เคารพและให้เกียรติคนหนุ่มสาว การที่จะเคารพและให้เกียรติคนหนุ่มสาวได้หมายความว่าคนนั้นต้องมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว  อันนี้โยงกับเรื่องอำนาจที่เราพูดกันไปก่อนหน้านี้ ถ้าคิดว่า เราอายุห้าสิบหกสิบรู้เรื่องทุกอย่าง ไอ้เด็กพวกนี้โง่ ไม่รู้เรื่อง วิธีคิดและวิธีการถ่ายทอดก็จะออกมาในลักษณะเทศนาอยู่ตลอดเวลา แล้วก็พยายามจะยัดกระป๋องลงไปในหัวเด็ก แต่ว่าคนที่กล่าวสุนทรพจน์ทั้งหมด รวมทั้งตัว คุณ ’รงค์ มีความเป็นเด็กอยู่ในตัว และมองเห็นคุณค่าของมัน ความเป็นเด็กมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น การกล้าคิด กล้าทำ กล้าตั้งคำถาม กับสิ่งที่หลายคนอาจจะคิดว่ามันแก้ไม่ได้

งานเขียนของคุณ ’รงค์ เปิดช่องให้เราใส่ความหมายของเราเข้าไป อย่างเรื่องโสเภณี ก็เป็นครั้งแรกที่ตัวเองอ่านแล้วรู้สึกว่า โห มีนักเขียนไทยที่เข้าใจหัวอกของโสเภณีด้วย เพราะก่อนหน้านี้มีแต่คนประณามหยามเหยียด ไม่ก็พูดในเชิงสงสารว่าเพราะไร้ทางไป แต่ว่าไม่ได้เข้าใจว่าสภาพจริงๆ เป็นอย่างไร ในหนังสือ เสียงพูดสุดท้าย เราชอบมากที่คุณ ’รงค์ บอกว่าอยากให้โสเภณีถูกกฎหมายสักที มันคือความหวังดี ความปรารถนาดี และความเข้าใจ เฟมินิสต์เมืองไทยอาจจะเข้าใจแกผิด แต่ทั้งหมดคือการที่แกให้เกียรติ ไม่ใช่แค่ให้เกียรติหนุ่มสาว แต่ว่าให้เกียรติคนทุกคน ไม่ว่าแกจะจับประเด็นอะไร ก็จะเข้าไปขลุกกับมันจนเข้าใจจริงๆ แล้วถ่ายทอดออกมาอย่างที่มันเป็นอย่างนั้น อ่านเรื่อง ผู้ดีน้ำครำ ก็จะเห็นว่า แกก็ไปขลุกอยู่กับไฮโซทั้งหลาย เพื่อให้รู้ว่าเขาสั่งอะไรกิน กินอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้เรื่องที่เขียนดูมีชีวิต

ประเด็นต่อมา เรื่องการอ่านการเขียน ปกป้องตอบไปแล้วว่าการอ่านทำให้เรารู้ คิดต่อไปอีกสักนิดจะเห็นว่า ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ โอกาสที่เราจะได้มองโลกจากมุมมองของคนอื่นมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ อย่างเช่น ถ้าคุณ ’รงค์ ไม่เขียนหนังสือเกี่ยวกับโสเภณีออกมา มันจะมีกี่คนที่เข้าใจจริงๆว่าโสเภณีเป็นอย่างไร โอเค สมัยนี้คุณอาจจะดูจากรายการหลุมดำได้ แต่ว่าหนังสือมันอยู่ไปชั่วนิรันดร์ นี่เป็นความแตกต่างของหนังสือกับสื่ออื่น หรือในแง่ของต้นทุน ต้นทุนที่ใช้ในการเขียนหนังสือคืออะไร คือแรงที่เราลงไป แต่ว่ามันไม่ได้เรียกร้องทักษะมากมายในเรื่องอื่น สมมติเราจะทำหนังเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องใหญ่มาก กว่าจะจ้างคน กว่าจะหาอุปกรณ์ กว่าจะเรียนรู้วิธีทำหนัง แต่ว่าเรื่องหนังสือ ใครที่อ่านออกก็เขียนได้ เราคิดว่าความหลากหลายขององค์ความรู้ในโลกนี้อยู่ในหนังสืออยู่แล้ว ดังนั้น เราควรอ่านหนังสือถ้าอยากจะเข้าใจความหลากหลายของคน

มีประเด็นหนึ่งที่ยากมากที่เราจะถอนออกมา นั่นคือ เรื่องอคติ หรือความเชื่อผิดๆ ก่อนที่ตัวเองจะไปเรียนเมืองนอกก็กลัวคนผิวดำ คิดว่าพวกนี้เป็นคนร้ายหมดเลย เพราะว่าหนังที่เราดู หนังสือที่เราอ่าน ก็ตอกย้ำภาพแบบนี้ แต่พอไปเรียน ก็ได้เห็นความเป็นอยู่จริงๆของเขา และก็ได้รู้จักกับเพื่อนคนดำที่บ้านเขาฐานะดี (หัวเราะ) พอไปเรียนภาษาอังกฤษก็เจออาจารย์อีกคนที่ดีมาก คนนี้ให้อ่านแต่หนังสือเกี่ยวกับคนดำ ก็คิดว่าได้อานิสงส์มากเลยเพราะหนังสือดีๆ ทำให้เราทลายกำแพงอคติ ถ้าเราไม่ได้อ่านหนังสือที่หลากหลายมากพอระดับหนึ่ง เราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่สามารถคิดเปรียบเทียบได้

นิ้วกลม – จากที่ได้ฟังจากคุณยุ้ย และ อ.ปกป้อง ทำให้ผมรู้สึกว่า การอ่านทำให้เราเข้าใจคนมากขึ้น เห็นชีวิตคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ปกป้อง – การอ่านเป็นทางลัด เพราะกว่านักเขียนดีๆ แต่ละคนจะเขียนหนังสือ เขาเอาชีวิตทั้งชีวิตไปจมจ่อมอยู่กับมัน เขาสกัดความคิดมาแล้วระดับหนึ่งแล้วจึงเขียนให้เราอ่าน การอ่านจึงเป็นทางลัดในการเข้าใจโลก

นิ้วกลม – หลายคนอ่านหนังสือมาพอสมควร แต่มักจะลืมเนื้อหา บางครั้งลืมกระทั่งความรู้สึกว่าเคยอ่านเล่มนี้มาแล้ว อยากรู้ว่ามีวิธีไหม การอ่านที่ดีเป็นอย่างไร

สฤณี – วิธีอ่านหนังสือได้ฝึกฝนมากจากตอนเรียนหนังสือ เพราะอาจารย์ให้อ่านเยอะมาก แล้วเราอ่านไม่ทันสักที เลยต้องหาเคล็ดลับ ตอนแรกๆ อาจารย์ให้ไปอ่านร้อยหน้า เราก็อ่านทั้งร้อยหน้า ไม่หลับไม่นอน ตอนหลังก็มารู้ว่าจริงๆ แล้ว เราต้องมาเปิดดูก่อนว่าร้อยหน้ามันมีเนื้อหาอะไรบ้าง แล้วก็พยายามอ่านจับประเด็นใหญ่ๆ  เริ่มอ่านบทนำก่อน อ่านบทสุดท้าย แล้วดูว่าใจความสำคัญเป็นอย่างไร แต่อันนี้ใช้กับวรรณกรรมไม่ได้นะ เพราะวรรณกรรมเป็นงานที่ต้องการความละเมียดก็คนละแบบกัน เรามักใช้วิธีง่ายๆ คือ dog ear หรือพับมุมหน้าที่ชอบไว้ แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ต่อ ชอบมากก็พับใหญ่ ชอบรองลงมาก็พับเล็กลง

ตอนเรียนหนังสือมีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้มากเลยก็คือ อ่านแบบเร็วๆ ก่อน เป็นการสกรีน ดูว่าหนังสือมีทิศทางอย่างไร แล้วค่อยอ่านละเอียดอีกรอบหนึ่ง ตอนอ่านละเอียดก็จะจดโน้ตสรุปใจความหนังสือไว้ การเขียนเป็นการทบทวนความคิดและความเข้าใจของเราต่อสิ่งที่อ่าน แล้วตอนเตรียมสอบก็เอาที่เราสรุปไว้มาอ่านทวน ทุกวันนี้ก็ทำอยู่แต่ทำในคอมพิวเตอร์ อันนี้อาจจะตอบคำถามที่บางคนสงสัยว่าทำไมเขียนอะไรได้เยอะแยะ จริงๆ แล้ว ทุกอย่างที่เขียน เป็นเรื่องใกล้เคียงกัน มาจากความสนใจหลักของเรา อย่างเช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ทุกอย่างที่อ่านเราก็คิดได้ทันทีว่าเรื่องนี้เราอยากจะเขียนถึงในคอลัมน์นี้ ก็เปิดไฟล์ใหม่แล้วก็เขียนโน้ตสั้นๆ ลงไป บางทีอ่านแล้วรู้สึกว่าอันนี้ดีมากเลย อยากจะเอาไปใช้ ก็ลอกท่อนนี้ไปไว้ที่คอมพิวเตอร์แล้วอ้างอิงว่ามันมาจากเล่มนี้ หนังสือที่อ่านก็เอาไปเขียนในคอลัมน์แนะนำหนังสือได้ด้วย เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านบางทีอาจจะเอาไปใช้ได้ห้าคอลัมน์

ปกป้อง – ผมว่าอ่านเยอะกับอ่านเป็นไม่เหมือนกันนะครับ บางคนอ่านเยอะไปหมดแต่ว่าสรุปอะไรไม่ได้ เรื่องอ่านเป็นไม่รู้จะสอนกันอย่างไร วิธีเดียวที่ผมนึกออกก็คือต้องอ่านเยอะๆ ไปเรื่อยๆ มันจะช่วยฝึกฝนความสามารถในการอ่านไปเอง

สฤณี – ใช่ ต้องอ่านเยอะๆ ถ้าอยู่ในโรงเรียน แล้วอาจารย์สั่งให้ไปอ่านนี่มาสรุปหน้าห้อง ก็จะเป็นการบังคับให้เราต้องทำความเข้าใจ แต่ถ้าเกิดอยู่นอกโรงเรียน เราก็ต้องฝึกตัวเอง คือต้องตั้งคำถามกับตัวเอง อย่างอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ จบบทหนึ่ง อย่างน้อยเราก็ต้องรู้แล้วว่า หนังสือเล่มนี้บอกอะไรแก่เรา หัวใจของบทนี้คืออะไร

นิ้วกลม – เวลาอ่านเยอะๆ มันไม่ตีกันเหรอครับ

สฤณี – ไม่ได้จำได้หมดหรอกค่ะ ความจำของคนเราไม่ได้ทำงานเหมือนสมองกลที่ยัดเข้าไปในหัวได้ทุกอย่าง แต่มันอยู่เหมือนเมฆหมอก ถ้าเราอยากจะดึงเรื่องใดมาใช้ ก็จะพยายามระลึกให้ได้มากกว่า ถ้าไม่ลงมือเขียนก็จะคิดไม่ค่อยออก

นิ้วกลม – อ.ปกป้องบอกว่าให้อ่านเยอะๆ คืออ่านหลายๆ ประเภท หรือว่าอ่านเล่มเดิมหลายๆ ครั้ง

ปกป้อง – ผมคิดว่าอย่าไปขลุกอยู่กับหนังสือเล่มเดียวมากเกินไป หากเราจะฝึกทักษะให้อ่านเป็น ให้อ่านแล้วรู้ว่าแก่นหรือหัวใจของเรื่องคืออะไร มันพร่ำสอนกันไม่ได้ เป็นเรื่องของการฝึกฝนด้วยตัวเอง วิธีฝึกก็คือคนๆ นั้นต้องอ่านหนังสือหลายๆ เล่ม หลายๆ ประเภท พออ่านเยอะเข้าก็จะเริ่มมองเห็นวิธีการสรุปประเด็น ไม่ควรใช้เวลากับการอ่านเล่มหนึ่งนาน โลกนี้มีความรู้มากมายมหาศาล ควรเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ การอ่านแบบละเอียดยิบท่องได้ทั้งเล่มไม่มีประโยชน์ เราอ่านเอาเรื่อง ให้รู้ว่าแก่นของเล่มนี้เล่มนั้นคืออะไร อีกหน่อยเราต้องการใช้ประโยชน์ก็กลับไปเปิดลิ้นชักในหัวว่าต้องอ่านเล่มไหน แล้วค่อยหยิบหนังสือเล่มนั้นกลับมาดูรายละเอียด

คุณยุ้ยแนะนำว่า ในการเรียนหนังสือ อ่านแล้วให้เขียนประเด็นด้วย ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ตอนเรียนก็ใช้วิธีนี้ การอ่านคือการอ่านความคิดของคนอื่นก็จริง แต่ขั้นต่อไป เราต้องเขียนให้เป็นความคิดของเราได้ด้วย เวลาผมอ่านหนังสือสอบสมัยก่อน ผมก็อ่านตะลุยไป อ่านเสร็จ ผมก็มาเขียนเป็นภาษาผมเอง จัดรูปแบบให้เป็นโครงสร้างที่ถนัดและคุ้นเคย เพราะแต่ละคนมีโครงสร้างตรรกะไม่เหมือนกัน ต่อมาผมก็อ่านทบทวนแต่ตรงที่ผมเขียน อีกวิธีหนึ่งในการเรียนให้ดีคือ อ่านแล้วสอนหรือติวเพื่อนต่อ การสอนทำให้เรารู้มากขึ้นในเรื่องที่เราอ่าน เพราะต้องจัดระบบและเรียบเรียงความคิด เราต้องรู้ทะลุปรุโปร่งระดับหนึ่งไม่เช่นนั้นก็สอนคนอื่นไม่ได้ ตอบคำถามคนอื่นไม่ได้

โยงกลับมาที่ประเด็นแรกที่เราคุยกันว่า มหาวิทยาลัยไทยสอนอะไร มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้สอนให้นักศึกษาอ่านเป็น วิเคราะห์เป็น สังเคราะห์เป็น เพราะว่านักเรียนที่อ่านเป็นในมหาวิทยาลัยไทย บางทีไม่ได้คะแนน ไม่ได้รางวัล เพราะอาจารย์ออกข้อสอบไม่ได้ถามแก่น ถามแต่รายละเอียดที่เป็นเปลือก ถามแต่ประเด็นเทคนิคปลีกย่อย เรียนประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ตั้งคำถาม why ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ตั้งคำถามแต่ when เกิดเมื่อไหร่ วันอะไร เดือนอะไร แรมกี่ค่ำ (หัวเราะ)  ที่เราคุยกันมาทั้งหมดมันแทบจะโยนทิ้งขยะ เพราะฉะนั้น การเรียนในบ้านเมืองเราถึงเป็นการเรียนที่ทรมาน มันไม่ใช่การเรียนไปถึงแก่นสาร เรียนการวิจารณ์วรรณกรรมเพื่อที่จะรู้ว่าคนเขียนต้องการสื่ออะไร ดันมาถามว่าก่อนที่คนนี้จะออกจากบ้านมันแขวนกุญแจไว้ที่ไหน (หัวเราะ) หรือไม่จริง เราจะเห็นเลยว่าระบบการศึกษาของเมืองไทยมันไม่ค่อยสร้างคนได้เท่าไหร่ นักเรียนดีๆ ไม่ได้เป็นผลผลิตของระบบการศึกษา แต่เป็นเพราะความเป็นคนรักดีเอง

สฤณี –การอ่านมีหลายแบบ การอ่านเอาเรื่องก็แบบหนึ่ง ต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่การอ่านวรรณกรรมก็จะมีชั้นของความเข้าใจที่มากไปกว่าเนื้อเรื่อง เหตุผลหนึ่งที่รู้สึกว่าวรรณกรรมมีพลังมากเลย มีคำพูดหนึ่งที่เราชอบของ นีล ไกแมน (Neil Gaiman) นักเขียนนิยายภาพเรื่อง The Sandman ที่ว่า “วรรณกรรมที่ดี คือคำโกหกที่พูดความจริง” วรรณกรรมแตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่นตรงที่สารบางอย่างที่วรรณกรรมนำเสนอเป็นแก่นสารของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัย มันจะมีสิ่งที่ยังคงเป็นจริงอยู่ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่างานของคุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์จะไม่มีวันตาย

นิ้วกลม – มีบ้างไหมที่เราอ่านแล้วเราไม่เห็นด้วยหรือว่าโต้เถียงกับหนังสือที่เราอ่าน แล้วเราจะทำอย่างไรกับมัน

สฤณี – ก็ไปหาอ่านเล่มอื่นที่อาจจะพูดไม่เหมือนกัน

ปกป้อง – การอ่านไม่ได้แปลว่าเราต้องอ่านสิ่งที่เราเห็นด้วยเท่านั้น เราอ่านทั้งสิ่งที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การอ่านสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยบางครั้งก็ช่วยให้เราเห็นมุมมองที่เราไม่เคยคิด บางครั้งก็ช่วยฝึกความสามารถในการถกเถียงของเรา

สฤณี – ก็มีหนังสือหลายเล่มที่เปลี่ยนความคิดเราไปเลย บางครั้งเคยเชื่ออย่างหนึ่ง แต่ความคิดก็เปลี่ยนไปเมื่ออ่านหนังสือเล่มใหม่ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ

นิ้วกลม – แปลว่าเราก็เลือกอ่านเล่มที่เราตั้งข้อสงสัยเหมือนกัน หนังสือที่เถียงกับเรา ก็หยิบมาอ่านเหมือนกัน

สฤณี – กลับมาเรื่องอคติกับความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถอนออกไปจากตัวเรายากที่สุด ถ้าเราจะมีเป้าหมายในการอ่าน เราควรจะอ่านสิ่งที่เราไม่เชื่อหรือสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยมากกว่าสิ่งที่เราเห็นด้วย เพราะว่าการอ่านสิ่งที่เราเห็นด้วย มันก็แค่อ่านเพื่อให้เราสบายใจ แต่ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญหาหนึ่งในสังคมทุกวันนี้เกิดจากการที่ทุกคนเลือกอ่านแต่สิ่งที่ตัวเองเห็นด้วย โดยที่ไม่พยายามอ่านสิ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม มันก็ไม่มีอะไรในโลกนี้หรอกที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวมันเอง ความจริงมีความหลากหลายและซับซ้อนต่างมุมมองกันไป พัฒนาการทางความคิดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหนังสือหลายๆ แบบ ในหนังสือวิชาสุดท้าย เราจะเห็นว่า คนพูดแทบไม่ได้เน้นไปที่ความสำเร็จของเขาเลย แต่กลับเน้นเรื่องความล้มเหลวที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ความสำเร็จกับความเห็นด้วยคล้ายกันคือ มันสอนอะไรเราไม่ได้มาก ไม่ได้ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้

นิ้วกลม – ทำไมงานวรรณกรรมในบ้านเรามักจะขายไม่ค่อยดี ขณะที่หนังสือแนวจิตวิทยาหรือฮาวทูกลับขายดี เป็นไปได้ไหมว่าเพราะงานวรรณกรรมอ่านแล้วต้องคิดเยอะ ส่วนงานประเภทหลังเหมือนเขาย่อยมาให้แล้ว พูดอะไรที่เข้าใจง่าย

ปกป้อง – มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองการอ่านอย่างไร การอ่านเป็นกระบวนการหรือเป็นผลลัพธ์ เราต้องการสูตรสำเร็จหรือเปล่า หนังสือแนวฮาวทูอาจจะเหมาะกับสังคมนี้ที่ชอบอะไรง่ายๆ ฉาบฉวย มีสูตรสำเร็จ มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัวแน่นอน แต่การอ่านหนังสือในแนวลึกเป็นกระบวนการในการเรียนรู้ เป็นกระบวนการตอบโต้ระหว่างเรากับหนังสือที่เราอ่าน ระหว่างเรากับความคิดของเรา ในแง่นี้มันไม่มีสูตรสำเร็จที่เป็นคำตอบตายตัวเพียงหนึ่งเดียว อย่างตอนนี้เราเห็นหนังสือแนวฮาวทูจิตวิญญาณบนชั้นหนังสือด้วยซ้ำไป น่าคิดว่ามันสะท้อนอะไรในสังคมปัจจุบัน

สฤณี – หนังสือแนวฮาวทูคือคู่มือ เหมือนเราไปซื้อตู้เย็นมา เราต้องการรู้ว่าทำงานอย่างไร มีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง ดังนั้นสถานะของมันจึงแตกต่างจากหนังสืออย่างวรรณกรรม อย่างเช่นคุณอ่านงานของคุณ ’รงค์ แล้วไปถามคนอ่านว่า ได้อะไรจากมัน บางทีก็ตอบไม่ถูก มันเป็นคุณค่าทางนามธรรม เราก็รู้ว่ามันเป็นคุณค่า เพียงแต่ไม่สามารถแปลงเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เช่น มันไม่ได้ทำให้ได้ขึ้นเงินเดือนหรือหางานใหม่ได้ ทีนี้ ในสังคมที่คนรีบเร่ง มีการแข่งขันสูงมาก คนก็ต้องการที่จะหาตัวช่วยเพื่อทำให้เขาไปสู่จุดหมายมากขึ้นเป็นธรรมดา

ปกป้อง – ถึงที่สุดก็กลับมาเรื่องปรัชญาการศึกษากันอีก สำหรับสังคมที่มองการศึกษาเป็นแค่เครื่องมือหรือบันไดไต่ไปสู่ตำแหน่งการงานดีๆ เงินเดือนสูงๆ แต่ไม่ได้มองการศึกษาในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือและจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง หนังสือฮาวทูช่วยตอบโจทย์ให้สังคมแบบนี้ได้ เพราะมันพุ่งสู่เป้าหมายสุดท้าย แต่ที่พูดมาทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่ามันไม่มีค่าอะไร เพราะว่าคนมีหลายแบบ ระดับการอ่านมีหลายระดับ คนส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นชีวิตการอ่านจากหนังสือง่ายๆ สำหรับบางคน ก่อนที่เขาจะมาอ่านวิชาสุดท้าย เขาก็เริ่มอ่านจากวิชาแรก วิชาที่บอกว่าอยากรวยต้องทำอย่างไร ความสำเร็จคืออะไร เมื่อเขาอ่านแบบนั้น อยู่บนเส้นทางแบบนั้น สักวันเขาก็ตั้งคำถามได้เองว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่แท้ ไม่ใช่สิ่งที่เขาปรารถนา แล้วความสุขจริงๆ ในชีวิตคืออะไร เมื่อนั้นเขาก็ย้อนกลับมาอ่านวิชาสุดท้ายเล่มหนึ่ง ต่อด้วยเล่มสอง โฆษณาแฝงกันเข้าไป (หัวเราะ)

สฤณี – การอ่านหนังสือเป็นการเปิดโลก ถ้าเราเชื่อมั่นว่าการเปิดโลกนั้นมีประโยชน์กับเรา ก็ไม่ต้องคิดมาก ยกตัวอย่างตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือประเภทมิติพิศวงมาก แม่ก็เลยถามว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือ ก็เปล่า เพราะตอนเด็กๆ อยากเป็นนักบินอวกาศ บางทีการอ่านก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราอ่านเพราะความอยากรู้ ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงาน มันเป็นความรู้สึกดีที่ได้รู้เรื่องเหล่านั้นจากการอ่าน

หลายคนพูดถึงความเกี่ยวโยงระหว่างการอ่านกับโลกจริง มีประโยคหนึ่งของ เฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) บอกว่า สำหรับเขานั้น หนังสือเป็นเหมือนกับการจุดประกาย อะไรที่เริ่มด้วยการอ่าน จะต้องจบลงด้วยการกระทำ หมายความว่า หนังสืออะไรก็แล้วแต่ที่นำเสนอหรือจุดประกายให้เรา ถ้ามันจะสมบูรณ์ ต้องจบลงด้วยการกระทำ ในแง่นี้ หนังสือจึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง รวมทั้งหนังสือฮาวทู ที่คนเห็นว่าช่วยพวกเขาได้ในโลกจริง ฉะนั้น ปัญหาของฮาวทูไม่ได้อยู่ที่มันเป็นคู่มือ แต่โลกจริงมันไม่ได้เหมือนอย่างในหนังสือ ที่หากเราทำแบบ หนึ่ง…สอง…สาม…สี่ แล้วจะถึงจุดหมายเสมอ การอยู่ในโลกจริงต้องการเข็มทิศดีๆ อันหนึ่งที่อาจารย์ให้เรามา

ปกป้อง – เมื่อปีที่แล้ว เราเคยตั้งวงคุยกันเรื่องการเขียนการอ่านที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีคุณสฤณี มีอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เป็นวิทยากร อาจารย์สุวินัยเคยบอกว่า การอ่าน การเขียน และการคิด ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นองค์รวมเดียวกัน เรียกว่าเป็นเอกภาพขององค์สาม ถ้าเราได้อ่าน แล้วเราคิด แล้วเราเขียน มันจะเป็นเนื้อเดียวกัน มีประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากบอกว่า การอ่าน การเขียน และการคิด ต้องเป็นแบบ pure motive, pure action คือมันมาจากแรงจูงใจที่บริสุทธิ์ และการกระทำที่บริสุทธิ์ นั่นคือ อย่าไปคิดว่าเราจะได้เงินเท่าไหร่ เพื่ออะไร มันมีค่าโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว

นิ้วกลม –  ผมเองก็คิดว่าตัวหนังสือฮาวทูไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาอาจจะอยู่ที่คนอ่านหนังสือฮาวทู เพราะผมรู้สึกว่าคนจะเสพติดฮาวทูมากเกินไป มุ่งแต่จะพัฒนาตัวเองอย่างเดียว ผมคิดว่าการอ่านหนังสือที่หลากหลายเท่ากับการได้เรียนรู้โลกใบอื่น ได้เรียนรู้โลกของคนอื่นมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่มีความสุข และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

ปกป้อง – โลกมันมีหลากหลาย ไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่ละคนก็สามารถสร้างโลกที่เหมาะกับตัวเองได้และขณะเดียวกันก็เรียนรู้โลกของคนอื่นได้ แต่บางครั้งหรือบ่อยครั้งในกระบวนการการศึกษาบ้านเรา มักจะทำให้คนเชื่อว่าโลกมันมีหนึ่งเดียว โลกที่ดีที่สุดต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น ห้ามท้าทาย ห้ามเถียง แต่ถ้าเราเริ่มต้นการเดินทางแสวงหาความรู้หรือแสวงหาทางจิตวิญญาณจากจุดยืนที่ว่าโลกนั้นมีหลากหลาย มันก็จะช่วยทำให้เราอยู่ร่วมกับคนอื่น อยู่ร่วมกับหนังสือเล่มอื่น ทั้งที่เราชอบและไม่ชอบได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และเราก็จะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้โลกอื่นๆ ที่ไม่ใช่โลกของเรา

นิ้วกลม – ขอพูดถึงเรื่องการเขียนบ้าง จากการที่ได้ฟังอาจารย์สุวินัยพูด อาจารย์บอกว่า การเขียนทำให้การอ่านของเราสมบูรณ์ ทำไมการอ่านถึงสร้างนักเขียน และถ้าไม่อ่านจะเป็นนักเขียนได้ไหม

สฤณี – พออ่านไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะรู้สึกว่าต้องหาทางระบาย มีประโยคหนึ่งที่เคยอ่านเจอแล้วชอบมาก เขาบอกว่า “เมื่อใดที่เราเริ่มรักตัวเอง เราจะรักการอ่าน แต่ถ้าเมื่อใดที่เราเริ่มรักคนอื่น เราจะรักการเขียน” มันก็จริงในระดับหนึ่ง สำหรับตัวเอง ก็ไม่ได้คิดจะเป็นนักเขียนเลยในชีวิตนี้ มันเป็นเรื่องบังเอิญมากๆ เมื่อเราอ่านเยอะจนถึงจุดที่เราคิดว่าเราอยากจะเขียน เราก็ลองเขียน เขียนไปเรื่อยๆ ก็จะมีความต่อเนื่องระดับหนึ่ง  ในประเทศนี้มีนักเขียนเก่งๆ หลายคนที่เรียนหนังสือมาน้อย แต่ก็อ่านหนังสือเยอะ และเขียนหนังสือเก่งมาก คิดว่ามันค่อยๆ ซึมซับโดยที่เราไม่รู้ตัว บางทีก็มีคนมาถามเรื่องการเขียน แต่เราก็ไม่สามารถอธิบายได้หรอกว่ามันต้องเริ่มต้นอย่างไร

ปกป้อง – ผมคิดว่ามันเป็นธรรมชาติ เมื่อเราอ่านไปเยอะๆ เราก็อยากจะถ่ายทอด อยากจะเล่า ผมเองก็เหมือนกัน หนังสือเล่มแรกที่ได้ทำคือ หนังสือทำมือชื่อ ‘เช้าใหม่’ ทำกับกลุ่มเพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เราก็เริ่มเขียนคอลัมน์ที่เราอยากพูด อยากสื่อสาร รู้สึกว่ามันมีแรงขับให้อยากเขียน นิ้วกลมถามด้วยว่า ถ้าไม่อ่านจะเขียนได้ไหม ก็ตอบว่า ได้ อันที่จริงแล้ว การอ่านการเขียนไม่ใช่ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ มันมีประโยชน์ในตัวของมันก็จริง แต่ความสามารถในการเขียนไม่ควรจะผูกขาดอยู่กับนักเขียน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนอาชีพหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะอ่านมามากขนาดไหน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเขียน จะเขียนออกมาเป็นอย่างไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง ทุกครั้งที่คุณ ’รงค์ พูดถึงนักเขียน แกไม่ได้มองว่าอาชีพนักเขียนเป็นเทวดา คุณ ’รงค์ เรียกนักเขียนว่าเป็น art labour หรือกรรมกรศิลปะ เพราะการเขียนต้องลงแรง ต้องทำงานหนัก เหนื่อยเหมือนคนไถนา ดำนา

เคยมีคนถามคุณ ’รงค์ ว่าการทำงานเขียนนั้นเป็นงานที่โดดเดี่ยวไหม แกตอบว่า จะโดดเดี่ยวได้ไงวะ มีตัวละครอยู่เต็มหน้ากระดาษ แค่พูดกับตัวละครก็สนุกตายห่าแล้ว ถามทำไม? กินเหล้ากันดีกว่าหรือจะกลืนควัน (หัวเราะ) สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในตัวคุณ ’รงค์ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกครั้งที่ทำงานเขียน แกไม่ได้คิดว่ามันคือความดีงามที่สมบูรณ์ที่ต้องผูกขาดไว้กับตัว แกเข้าใจข้อจำกัดของความเป็นนักเขียน เคยมีคนถามคุณ ’รงค์ ว่า เห็นเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร แกตอบว่า “ผมมี 2 ตานะครับ มองเห็นได้ไม่หมดหรอก”

สฤณี – คิดคล้ายๆ ปกป้องว่า ไม่จำเป็นต้องอ่านก็เขียนได้ แต่การอ่านเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับการเขียนได้มาก ถ้าเราไม่เคยอ่านอะไรเลย แล้วอยู่ดีๆ เราจะมาเขียน มันก็เหมือนกับเราไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่รู้เลยว่าระบบสุริยจักรวาลมีดาวเสาร์ซึ่งมีวงแหวนสวยมาก ก็อาจจะไม่มีเหตุผลพอที่จะทำให้เราอยากขึ้นจรวดไปสำรวจอวกาศ เหมือนกัน ถ้าเราได้อ่านงานเขียนดีๆ เราจะสัมผัสได้ว่ามันมีพลังมากแค่ไหน

นิ้วกลม – ถ้าเราไม่อ่านจากหนังสือ เราอ่านจากอย่างอื่นได้หรือเปล่า แล้วเราอ่านมันอย่างไร

สฤณี – ถ้าเรานิยามการอ่านในความหมายของการพยายามทำความเข้าใจอะไรสักอย่าง มันก็ทำได้เกือบทุกทาง อ่านคน อ่านธรรมชาติ อ่านสิ่งแวดล้อม ถ้าดูตัวอย่างจากคุณ ’รงค์ แกก็เป็นนักเขียนที่เรียกว่าวัตถุดิบในการเขียนมาจากประสบการณ์ มาจากการอ่านสิ่งต่างๆรอบตัว แต่อย่างตัวเอง วัตถุดิบในการเขียนจะไม่ค่อยได้มาจากสิ่งเหล่านั้น เพราะเรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จะมาจากการเข้าไปทำความรู้จักกับความคิด มาจากการอ่านหนังสือมากกว่า ซึ่งทักษะในการอ่านสิ่งต่างๆ คงคงแตกต่างกันไป

ฉะนั้น ถ้าเราอ่านอย่างลึกซึ้งและเข้าใจมันจริงๆ ก็น่าจะเอามาใช้ในการเขียนได้ แต่บางทีสิ่งที่เราเข้าใจอาจจะถ่ายทอดออกมาได้ยากมาก อย่างเช่น การอ่านกระแสน้ำ การอ่านภูเขา แม้จะอ่านได้ขาด แต่เราจะถ่ายทอดมันออกมาอย่างไร เพราะในการเขียน เราต้องสามารถแปลงความเข้าใจของเราเพื่อถ่ายทอดให้คนอ่านเข้าใจอีกทีหนึ่ง ซึ่งถ้าเขียนจากฐานที่ไม่ได้อ่านมาเลยก็อาจจะลำบาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชอบอ่านงานของท่านเขมานันทะ เพราะสามารถเขียนเรื่องธรรมะด้วยการใช้ภาษาง่ายๆ แต่ทำให้เราเข้าใจและจดจำสิ่งที่ท่านเขียนได้ ซึ่งมันไม่ง่าย เพราะไม่ได้มาจากการปฏิบัติเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากความเชี่ยวชาญทางภาษาด้วย ซึ่งความเชี่ยวชาญทางภาษาของท่านคงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ คงมาจากฐานของการอ่าน คงต้องใช้ทั้งประสบการณ์และการอ่านประกอบกัน

 

ตีพิมพ์: หนังสือ BRIDGE สะพานข้ามยุคสมัยของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และเพื่อนหนุ่ม (2552) สำนักพิมพ์ openbooks

Print Friendly