ซื้อสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล: ประเทศไทยจะได้อะไร

บทอภิปรายเรื่อง “ซื้อสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล: ประเทศไทยจะได้อะไร”

โดย ปกป้อง จันวิทย์

ผู้ร่วมอภิปราย: พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์  วิมุต วานิชเจริญธรรม  ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ผู้ดำเนินรายการ: ภราดร ปรีดาศักดิ์

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2547

ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

——————————————————————————————————–

บทอภิปรายของผมในวันนี้มี 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่

  1. ภูมิหลัง
  2. ทำไมจึงควรคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล?
  3. ปรากฏการณ์แปลงสัญชาติลิเวอร์พูลภายใต้ Thaksinomics และความป่วยไข้ของสังคมไทย

 

  1. ภูมิหลัง
  • เส้นทางการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล

(1) ข่าวการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล โดยการนำของนายกรัฐมนตรีไทย เริ่มเป็นข่าวดัง กลบข่าวความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ  หลังจากที่นายกเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับนาย Rick Perry หัวหน้าคณะผู้บริหารสโมสรลิเวอร์พูล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 จนดูเหมือนว่าลิเวอร์พูลกำลังจะกลายเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ

(2) ปัจจุบัน นาย David Moores เป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของสโมสรลิเวอร์พูล โดยถือหุ้น 51% ของหุ้นทั้งหมด และในทางปฏิบัติมีอำนาจในการบริหารค่อนข้างเด็ดขาด ไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนผู้ถือหุ้นสายอื่นเข้าเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการบริหาร

ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับสองและสาม คือ บริษัทสื่อสาร  Granada และนาย Steve Morgan นักธุรกิจก่อสร้างและโรงแรม เศรษฐีพื้นถิ่นแห่งเมืองลิเวอร์พูล โดยมีส่วนแบ่ง 9.9% และ 5% ตามลำดับ  ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายเล็กรายน้อย

(3) สื่อมวลชนรายงานว่า นายกรัฐมนตรีไทยยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลสัดส่วน 30% รวมมูลค่าประมาณ 60-65 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4,600 ล้านบาท ซึ่งหุ้นส่วนนี้เป็นหุ้นออกใหม่เพื่อระดมทุนเพิ่มเติมจำนวน 15,000 หุ้น

ปัจจุบันสโมสรลิเวอร์พูลมีจำนวนหุ้นเดิม 35,000 หุ้น  ราคาหุ้นละประมาณ 4,000 ปอนด์ เมื่อรวมหุ้นออกใหม่ดังกล่าว นาย Moores ย่อมลดฐานะจากผู้ถือหุ้นข้างมากมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จาก 51% เหลือหุ้นเพียงประมาณ 35% ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น โดยฝ่ายไทยจะเข้าถือหุ้นในระดับใกล้เคียงกัน คือ 30%

(4) ก่อนหน้าข้อเสนอของฝ่ายไทย  ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2547 นาย Steve Morgan ผู้ถือหุ้นอันดับสาม ที่เป็น The Kop ทั้งตัวและหัวใจ ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นสโมสรมูลค่า 50 ล้านปอนด์ และขอเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหาร

แต่ข้อเสนอของนาย Morgan ได้ถูกคณะกรรมการบริหารปฏิเสธ เนื่องจาก นาย Morgan มีความสัมพันธ์ไม่ลงรอยกับนาย Moores เพราะได้วิพากษ์วิจารณ์การบริหารสโมสรในยุค Moores อย่างต่อเนื่อง

(5) หลังจากที่ข้อเสนอของนาย Morgan ถูกปฏิเสธ  ข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไทยในเดือนพฤษภาคม 2547 ดูจะมีแต้มต่อ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากฝ่ายไทยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นลำดับสอง  คณะผู้บริหารชุดเดิมจะยังคงรักษาอำนาจในการบริหารควบคุมสโมสรไว้ได้เช่นเดิม แม้จะมีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าไปเป็นกรรมการบริหาร แต่การเปลี่ยนแปลงคงไม่เป็นไปในทางขุดรากถอนโคน ดังเช่นกรณีนาย Morgan เข้าถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้เพราะ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสโมสรลิเวอร์พูลของฝ่ายไทยมีไม่มากนัก อีกทั้งคุณทักษิณให้คุณค่าต่อการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลเสมือนเป็นการลงทุนทางธุรกิจ มิได้มีความผูกผันใดๆ กับสโมสร ซึ่งแตกต่างจากนาย Morgan ที่รู้ตื้นลึกหนาบางแทบทุกซอกทุกมุมของแอนฟิลด์ ซึ่งหากนาย Morgan ขึ้นกุมอำนาจในสโมสร ผู้บริหารกลุ่มเก่าย่อมทำงานด้วยความยากลำบาก

(6) ไม่กี่วันหลังจากฝ่ายไทยยื่นข้อเสนอ นาย Morgan ยื่นข้อเสนอใหม่เข้าต่อสู้ โดยยื่นข้อเสนอสูงถึง 73 ล้านปอนด์  โดยมีรายละเอียดคือ ขอเสนอซื้อหุ้นเพิ่มทุน 61 ล้านปอนด์ และเสนอซื้อหุ้นอีกส่วนหนึ่งเพื่อกระจายให้แฟนบอลรายย่อยซื้อในภายหลังอีก 12 ล้านปอนด์

เหล่าแฟนหงส์แดงพันธุ์แท้ในถิ่นเมอร์ซี่ไซด์ต่างประสานเสียงสนับสนุนข้อเสนอของนาย Morgan เหนือนายกรัฐมนตรีไทย ผู้เคยชูเสื้อปีศาจแดงหมายเลข 52 เคียงข้าง Sir Alex Ferguson มาแล้ว

(7) สถานการณ์ดูเหมือนจะพลิกผันไปทางนาย Morgan เนื่องจาก นายทักษิณประกาศไม่ยอมสู้ในสงครามราคา  แต่แล้ว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2547 คณะกรรมการบริหารสโมสรลิเวอร์พูลมีมติไม่รับข้อเสนอของนาย Morgan

มตินี้ตีความเป็นอื่นใดมิได้นอกจากนาย Morgan โดนพิษการเมืองในสโมสรเล่นงาน ผู้บริหารกลุ่มเดิมพยายามกีดกันนาย Morgan เพื่อรักษาอำนาจตัวเองไว้

(8) หลังจากข้อเสนอของนาย Morgan ถูกปฏิเสธ ข้อเสนอของฝ่ายไทยดูจะเป็นรายเดียวที่เหลืออยู่  ดูเหมือนว่าสโมสรลิเวอร์พูลจะรับหลักการข้อเสนอฝ่ายไทย มีเพียงรายละเอียดบางประเด็นที่จะต้องตกลงร่วมกันเท่านั้น เช่น จำนวนกรรมการในคณะกรรมการบริหาร ลิขสิทธิ์ของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสโมสรในภูมิภาคเอเชีย เป็นต้น

(9) กระแสข่าวการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลของนายทักษิณในช่วงต้น เป็นไปในทางว่า นายทักษิณ จะใช้เงินส่วนตัวและพรรคพวก เข้าซื้อหุ้น แต่อีกไม่กี่วันต่อมา ท่วงทำนองของนายทักษิณ และพรรคพวก แตกต่างไปจากเดิม มีการโยนก้อนหินถามทางที่จะใช้เงินของรัฐเข้าซื้อหุ้น ด้วยการชวนเชื่อว่า อยากให้สโมสรลิเวอร์พูลเป็นของคนไทยทุกคน

นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของสโมสร … การเจรจาซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลทำในฐานะรัฐบาลไทย ไม่ใช่ในฐานะทักษิณ (BBC, 12 พฤษภาคม 2547)

ด้านกระทรวงการคลังก็ออกมารับลูก ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการและปลัดกระทรวงต่างออกมาสนับสนุนความคิดของนายกรัฐมนตรี โดยบอกด้วยว่า หากนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังระดมเงินทุนในส่วนภาครัฐเพื่อซื้อหุ้นก็พร้อมที่จะดำเนินการ และพร้อมดำเนินการหากนายกสั่งการให้นำเงินจากสำนักงานสลากไปซื้อหุ้น

(10) อาทิตย์ต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นผู้ประสานงานในการซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งคาดว่าจะเป็นสโมสรลิเวอร์พูล โดยใช้วิธีการออกสลากพิเศษเพื่อการกีฬา หรือใช้หวยระดมเงินประชาชน มูลค่า 10,000 ล้านบาท แล้วนำเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่ได้ ไปซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล  หวย 1 ใบ มูลค่า 1,000 บาท ดังกล่าวสามารถแปลงเป็นหุ้นมูลค่า 200 บาท ได้

มติคณะรัฐมนตรี ระบุว่า

  1. เรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการให้ กกท. เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นเจ้าภาพในการระดมทุนเพื่อนำไปซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

“ครม. พิจารณาตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ขอความเห็นชอบในหลักการให้ กกท. เป็นเจ้าของเรื่อง หรือเป็นเจ้าภาพในการระดมทุน เพื่อนำไปซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยมีมติ ดังนี้

  1. เห็นชอบในหลักการให้ กกท. เป็นผู้ประสานงานในการซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเพื่อนำมาพัฒนากีฬาของชาติ โดยมอบให้ผู้ว่า กกท. เป็นผู้ประสานงานในการซื้อหุ้น หรือดำเนินการอื่นใด ตามมติ ครม.
  2. เห็นชอบให้ระดมทุนครั้งนี้ โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน หรืองบประมาณของ กกท. แต่จะใช้วิธีระดมทุนจากผู้สมัครใจ หรือผู้ให้ความสนใจ หรือวิธีการออกสลากพิเศษเพื่อการกีฬา หรือโดยวิธีการอื่นใดที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ
  3. หลักเกณฑ์วิธีการบริหาร การจัดการให้เป็นไปตามมติ ครม.

(11) หลังจากครม. มีมติดังกล่าว  วันรุ่งขึ้น นายสมใจนึก เฮงตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เรียกประชุมคณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กกท. ธนาคารออมสิน กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานอัยการสูงสุด ถึงแนวทางการออกสลากพิเศษเพื่อการกีฬา

  • รายละเอียดเกี่ยวกับสลากพิเศษ และการตั้งบริษัทบริหารจัดการหุ้นลิเวอร์พูล

(1) ปัจจุบัน ข้อเสนอเกี่ยวกับการออกสลากพิเศษยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากต้องนำเข้าพิจารณาใน ครม. และยังไม่แน่ชัดว่าสโมสรลิเวอร์พูลจะยอมขายหุ้นให้หรือไม่  ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีแผนการที่ชัดเจนแต่แรก ทั้งในเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุน การจัดตั้งบริษัทที่จะเข้าถือหุ้นสโมสร ประเภทธุรกิจของบริษัทว่าจะทำอะไรบ้าง แหล่งรายได้ของบริษัท  รูปแบบการบริหาร การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ การแปลงหวยเป็นหุ้น และการจัดสรรผลตอบแทนจากการลงทุน

(2) หลังการประชุมหน่วยงานฝ่ายรัฐที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปว่า กกท. มีหน้าที่ตั้งบริษัทมหาชน โดยรัฐถือหุ้นใหญ่ เพื่อบริหารหุ้นสโมสรที่จะไปซื้อมา  สำนักงานสลากฯ ดูแลเรื่องการจัดพิมพ์สลากและการออกรางวัล  ธนาคารออมสินมีหน้าที่จำหน่ายสลากและแปลงสลากเป็นหุ้น

(3) รัฐบาลให้ กกท. เป็นเจ้าภาพประสานฝ่ายต่างๆ โดยอ้างอำนาจตาม พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 มาตรา 8 ที่ระบุวัตถุประสงค์ของ กกท. ว่า

“(1) ส่งเสริมการกีฬา

(2) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการกีฬา

… และ (8) ประกอบกิจการอื่นๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬา”

นอกจากนั้น รัฐบาลมอบหมายให้ กกท. ดูแลเรื่องการจัดตั้งบริษัทมหาชนเพื่อบริหารหุ้นสโมสร โดยให้เป็นแกนกลางในการบริหารจัดการเรื่องหุ้น โดยอ้างอำนาจตาม พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 มาตรา 9 (1) ที่ว่า

                “ ให้ กกท. มีอำนาจ … ถือกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง ทำการแลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ทั้งในและนอกราชอาณาจักร”  

(4) ขั้นตอนการดำเนินงานจากนี้ไปคือ

  1. กกท. คิดชื่อบริษัท เสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอจดทะเบียนเป็นบริษัท โดยสำนักงานสลากฯ รับผิดชอบทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท (แต่ช่วงแรกมีข่าวว่า จะให้สำนักรัฐวิสาหกิจบริจาคเงิน 1 ล้านบาท เพื่อจดทะเบียน)
  2. กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ออกสลากพิเศษได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่า จะมีการออกสลากพิเศษได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ ซึ่งสำนักงบประมาณได้แสดงความเห็นว่าไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการนี้
  3. สำนักงานสลากกินแบ่งออกสลากพิเศษเพื่อการกีฬา โดยตั้งชื่อว่า “สลากบำรุงการกีฬา” มูลค่า 10,000 ล้านบาท โดยจะออกขายปลายเดือนมิถุนายน และออกสลากเดือนสิงหาคม
  4. นำเงินรายได้จากการขายสลากพิเศษ เป็นรายได้ “เพิ่มเติม” ของบริษัทที่ กกท. จัดตั้ง บริษัทนี้จะได้เงินรายได้เพิ่มเติม 5,000 ล้านบาท ถือว่า รัฐถือหุ้น 60% มูลค่า 3,000 ล้านบาท และเอกชนและผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือหุ้น 40% มูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดจากการแปลงหวยเป็นหุ้น ของผู้ถือสลากพิเศษ (1 ใบ ได้หุ้นบริษัทมูลค่า 200 บาท)
  5. นำเงินรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายสลากไปซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล ในนามบริษัทดังกล่าว
  6. หลังซื้อหุ้นแล้ว จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

(5) รายละเอียดเกี่ยวกับสลากพิเศษ

  1. ผลิตออกขาย 10 ล้านใบ ใบละ 1,000 บาท มูลค่า 10,000 ล้านบาท จำหน่าย มิถุนายน ออกสลาก สิงหาคม และมีข่าวว่า จะทำการออกรางวัลย่อยๆ เป็นงวดๆ ระหว่างทาง อาจจะ 10 วันต่องวด  งวดละ 50 ล้านบาท โดยงวดสุดท้ายออกรางวัลใหญ่
  1. เงินรางวัล สลาก 7 หลัก

รางวัลที่ 1              1,000 ล้านบาท

รางวัลที่ 2              200 ล้านบาท  5 รางวัล

รางวัลที่ 3              50 ล้านบาท  10 รางวัล

รางวัลที่ 4              3 ล้านบาท  100 รางวัล

รางวัลที่ 5              1 ล้านบาท  200 รางวัล

รางวัลเลขท้าย 4 ตัว  500,000 บาท  1,000 รางวัล

รางวัลเลขท้าย 3 ตัว  50,000 บาท   10,000 รางวัล

  1. เงิน 10,000 ล้านบาทที่ได้ แบ่งเป็น 3 ส่วน

3.1 เงินรางวัล 4,000 ล้านบาท

3.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 1,000 ล้านบาท

3.3 เงินสำหรับโอนเข้าบริษัทไปซื้อหุ้น 5,000 ล้านบาท

  1. การจัดจำหน่าย

4.1 ธนาคารออมสิน 80% (โดย 20% จำหน่ายผ่านเวป  20% ผ่านสำนักงานสลากฯ 60% ขายตามสาขาย่อย)

4.2 สาขาของธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 20%

ทั้งนี้ จะใช้หลักการกระจายหุ้นของรัฐวิสาหกิจเป็นพื้นฐานในการกระจายหวย

  1. ในสลากมูลค่า 1,000 บาท มีส่วนแยกมูลค่า 200 บาท ที่ผู้ถือสามารถนำมาแลกเป็นหุ้นของบริษัทได้ (แต่ภาครัฐชอบใช้คำว่า แลกเป็นหุ้นของลิเวอร์พูลได้ 1 หุ้น ซึ่งไม่จริง แลกได้เพียงหุ้นของบริษัทที่ถือหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลอีกทีหนึ่งเท่านั้น หุ้นสโมสรลิเวอร์พูลหุ้นหนึ่ง 4,000 ปอนด์ 200 บาทนี่ไม่รู้มีความเป็นเจ้าของลิเวอร์พูลเศษหนึ่งส่วนเท่าไหร่)  ใบสลากพิมพ์ข้อความแสดงสิทธิการแลกหุ้นในอนาคตด้านหลังสลาก

 

  1. ทำไมจึงควรคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล?

ผมมีเหตุผล 7 ประการ เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมเราจึงควรคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล

(1) การตัดสินใจซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลของนายกรัฐมนตรี เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีการประเมินต้นทุน-ผลประโยชน์ที่ตกแก่สังคมอย่างรอบด้าน  หากเป็นการสนองความต้องการ “อยากดัง” ส่วนตน และกลบกระแสข่าวที่ทำให้ความนิยมของตนเองและรัฐบาลลดลง

นอกจากนั้น การตัดสินใจดังกล่าว เป็นการตัดสินใจในทำนอง ลงมือไปก่อน แล้วคิดทีหลัง  ไม่มีแผนการที่ชัดเจนตั้งแต่แรกทั้งในเรื่องแหล่งที่มาของเงินทุน รูปแบบการบริหารบริษัทที่จะเข้าถือหุ้นสโมสร และการจัดสรรผลตอบแทนจากการลงทุนไปสู่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของไทย ทั้งที่วงเงินที่ต้องใช้ซื้อหุ้นมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 4,600 ล้านบาท

ในช่วงต้นของการเป็นข่าว แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะทำอย่างไร  โดยให้สัมภาษณ์ว่า รอให้ตกลงซื้อขายกันก่อน แล้วจึงค่อยคิดว่าจะใช้เงินส่วนใด

ที่ผ่านมา เราเห็นไอเดียบรรเจิดของนายกรัฐมนตรีถูกนำไปปฏิบัติโดยไม่ครุ่นคิดอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ทั้งเรื่องนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นโยบายเจรจาการค้าเสรีสองฝ่าย (FTA) ฯลฯ  การเสนอนโยบายอย่างมักง่ายของนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง สร้างปัญหาให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ควรจะเป็น

การเสนอนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่ภาระตกอยู่กับประชาชน ย่อมต้องถามความคิดเห็นจากประชาสังคม  ที่ผ่านมา กระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลชุดนี้เริ่มต้นจากมันสมองของนายกรัฐมนตรี และเหล่าที่ปรึกษาข้างกายบางคนเป็นสำคัญ โดยไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างทางอย่างเพียงพอ

คนรอบข้าง รัฐสภา และกลไกราชการพร้อมจะสนองตอบมากกว่าให้สตินายกรัฐมนตรี  เมื่อมันสมองนายกรัฐมนตรีมีความสำคัญเช่นนี้ หากโชคร้ายได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช้สมองอย่างเต็มที่ในการคิดไตร่ตรองให้ครบถ้วนรอบด้านย่อมเกิดผลเสียต่อประชาสังคมไทย ยิ่งหากนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยแล้ว ยิ่งบิดเบือนกระบวนการคิดและตัดสินใจ

ถ้าติดตามข่าวเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจะพบว่า ข้อมูลเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงรายวัน แผนการของรัฐบาลเลื่อนลอย และการให้ข้อมูลของแต่ละฝ่าย แต่ละคน ขัดแย้งกันเอง

– ตั้งแต่ตอนแรกที่ไม่รู้จะใช้เงินใครซื้อ เงินนายกฯ เพื่อนนายกฯ เมียนายกฯ ลูกนายกฯ คนใช้คนขับรถนายกฯ  ภาคเอกชนลงขัน หรือใคร

– ไม่รู้ว่า บริษัทที่จัดตั้งจะทำธุรกิจอะไรบ้าง มีแหล่งรายได้ทางใด  จากเงินปันผล จากส่วนแบ่งจากการขายสินค้า จากโรงเรียนฟุตบอล จากลิขสิทธิ์ จาการขายโอท็อปตราหงส์แดง จากจัดแข่งขันฟุตบอลในเอเชีย หรือจากไหน? และมีเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างไร

– อีกทั้ง การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่มีวิธีการที่โปร่งใส  รัฐบาลจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ตามชอบใจได้อย่างไร  คุณโสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนต้องดำเนินการด้านธุรกิจไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีกำไรติดต่อกัน  ข้อมูลดังกล่าว ต่างจากที่ปลัดฯ สมใจนึกให้สัมภาษณ์ว่า หลังจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนแล้ว จะดำเนินธุรกิจภายใน 6 เดือน และจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 6 เดือน

(2) การตัดสินใจซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลของนายกรัฐมนตรี มีปัญหาความคลุมเครือของบทบาทและผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แรกเริ่ม นายกรัฐมนตรีไม่สามารถแยกบทบาทของนายทักษิณในฐานะผู้นำประเทศ ออกจากนายทักษิณในฐานะนักธุรกิจเถ้าแก่ได้  เช่นเดียวกับ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ที่ไม่สามารถแยกบทบาทของตนในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของรัฐบาลไทย ออกจากบทบาทนายหน้าเจรจาธุรกิจของนายทักษิณได้

หากทีมเจรจาฝ่ายไทยเจรจาในนามรัฐบาล เหตุใดจึงมีนายบุญคลี ปลั่งศิริ บินไปสมทบคณะเจรจาของนายพงษ์ศักดิ์ที่ประเทศอังกฤษ กระบวนการเจรจาซื้อลิเวอร์พูลใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือทรัพยากรของรัฐบ้างหรือไม่

(3) เงินจำนวนมหาศาลถึง 4,600 ล้านบาท ย่อมมีคุณค่าอย่างสูงต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ให้ต้องทุ่มทรัพยากรแก้ไข  ประเทศที่เต็มไปด้วยคนจน ที่ไม่มีแม้แต่สินค้าจำเป็นในการยังชีพอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่มีสิทธิแม้แต่คิดที่จะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าอภิมหาฟุ่มเฟือย

การระดมทุนครั้งนี้ รัฐบาลหาเงินไปซื้อหุ้นแบบจับเสือมือเปล่า  แม้ไม่ใช่เงินภาษีประชาชนโดยตรง แต่เป็นเงินที่ล้วนมีที่มาจากประชาชนทั้งก้อน  เงิน 5,000 พันล้านบาทที่จะใช้ซื้อหุ้นมีที่มาจากการขายหวยทั้งนั้น แม้เงินรางวัลหวยก็เป็นเงินในกลุ่มประชาชนที่ซื้อหวยเอง โดย กกท. หรือฝ่ายรัฐไม่ต้องลงทุนอะไร แม้ในส่วนที่รัฐอ้างว่าถือหุ้นใหญ่ 3,000 ล้านบาทในบริษัท ก็ยังมาจากเงินประชาชนที่ซื้อหวยทั้งนั้น

ไม่ว่านายกรัฐมนตรีใช้เงินในงบประมาณ เงินนอกประมาณ หรือระดมเงินจากประชาชนเข้าซื้อหุ้น ย่อมสูญเสียโอกาสในการใช้เงินก้อนนั้นในการทำกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์และจำเป็นมากกว่า  ต้นทุนของการซื้อทีมฟุตบอลจึงมิใช่แค่รายจ่ายที่ใช้ซื้อหุ้น หากต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสเหล่านี้ด้วย

รัฐบาลเอ่ยอ้างว่า จะไม่ใช่เงินภาษีของประชาชน คำถามก็คือ การไม่ใช่ส่วนของเงินภาษีประชาชน แต่ใช้เงินประชาชน จะส่งผลแตกต่างกันอย่างไร นอกจากอ้างความเต็มใจจ่ายของผู้ซื้อหวย

หากผลสรุปมีการใช้เงินรัฐเข้าลงทุนส่วนหนึ่ง และมีเอกชนลงทุนส่วนหนึ่ง  นับว่าเป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาคเอกชน ลดโอกาสด้านความเสี่ยงของการลงทุน ผลิตสัญญาณด้านบวก และสร้างโอกาสให้โครงการลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ควรจะเป็น  แม้ถ้าบริหารดี รัฐอาจได้ประโยชน์ แต่ภาคเอกชนผู้โชคดีรายนั้นก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน  การใช้เงินรัฐเข้าลงทุนบางส่วนถือว่ามีผลรินไหล (spill over effects) ด้านบวก ส่งประโยชน์สู่ภาคเอกชน โดยฝ่ายเอกชนรับภาระน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยรัฐต้องรับภาระส่วนหนึ่ง

(4) ข้อกล่าวอ้างของนายกรัฐมนตรีที่ว่าการเข้าถือหุ้นสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลจะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ไม่มีความสมเหตุสมผลแต่อย่างใด  ความเชื่อมโยงระหว่างการมีสโมสรฟุตบอลสัญชาติไทยอยู่ที่ต่างประเทศกับการพัฒนาคุณภาพของวงการฟุตบอลไทยเลือนรางแทบมองไม่เห็น

หากนายกรัฐมนตรีต้องการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยอย่างแท้จริง ควรนำเงิน 4,600 ล้านบาท มาสร้างสรรค์กิจกรรมภายในประเทศที่ส่งผลเชื่อมโยงต่อการพัฒนาคุณภาพวงการฟุตบอลไทยอย่างชัดเจนจะดีกว่า เช่น ลงทุนก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพ พัฒนาวงการวิทยาศาสตร์การกีฬา พัฒนาคุณภาพของวิทยาลัยพลศึกษาและหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว ออกแบบโครงสร้างสิ่งจูงใจให้นักกีฬาอาชีพมีที่ยืนในสังคม และสร้างสนามฟุตบอลให้ทั่วถึงเพื่อให้เด็กมีที่ทางสำหรับพัฒนาตัวเอง เป็นต้น

นอกจากนั้น หากนายกรัฐมนตรีต้องการปฏิรูปวงการฟุตบอลไทย ต้องปฏิรูปสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นลำดับแรก การปฏิรูปดังกล่าวไม่ต้องใช้เงิน ใช้เพียงความกล้าหาญ

(5) การซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลถือเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ลงทุนต้องการเงินปันผล ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์เพื่อให้ผู้ต้องการลงทุนสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลสมบูรณ์  เช่น ไม่มีการให้ข้อมูลว่าด้วยฐานะทางการเงินของสโมสร ความเสี่ยงในการลงทุน ประวัติการให้เงินปันผล เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลไม่ส่งผ่านข้อมูลข่าวสารเชิงลบสู่ประชาชน เช่น ไม่เคยบอกกล่าวกับผู้ต้องการลงทุนว่า สโมสรลิเวอร์พูลมิใช่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน อันจะนำมาซึ่งปัญหาสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือหลักทรัพย์เมื่อผู้ลงทุนต้องการขาย เพราะไม่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ ต้องรอให้มีผู้ต้องการซื้อ ในราคาที่ตกลงขายได้ร่วมกัน จึงจะขายได้

ที่สำคัญ รัฐบาลไม่เคยบอกกล่าวกับผู้ลงทุนว่า ปี 2546 ที่ผ่านมา สโมสรลิเวอร์พูลมีกำไรหลังหักภาษีลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 61.86% จนคณะผู้บริหารมีมติไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ข้ออ้างที่ว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการนำเงินปันผลที่ได้จากการถือหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลมาพัฒนาวงการกีฬาไทย เป็นเรื่องโกหก

หากดูข้อมูลราคาหุ้นของสโมสรฟุตบอลในตลาด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก และการบริหารสโมสรฟุตบอลก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ให้ผลกำไรมากมายนัก

รัฐบาลและผู้ต้องการลงทุนต้องตระหนักว่า การทำธุรกิจบริหารสโมสรฟุตบอลมิใช่ธุรกิจที่ปราศจากความเสี่ยง เนื่องจากรายได้จากการแข่งขันฟุตบอลผูกติดกับผลการแข่งขันที่ไม่มีความแน่นอน ควบคุมไม่ได้ โอกาสที่จะขาดทุนจากความผิดพลาดจากการบริหารและการจัดการทีมจึงมีสูงยิ่ง

ปรากฏการณ์ล้มละลายของสโมสรฟุตบอลจำนวนมากในช่วงครึ่งทศวรรษหลังมานี้ เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดี  หากรัฐร่วมลงทุนแล้วขาดทุน ใครจะรับผิดชอบ  กฎหมายไทยไม่มีศักยภาพ ทั้งตามตัวบทกฎหมายและทางปฏิบัติ ในการลงโทษผู้กำหนดนโยบายที่ตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดความเสียหายแก่สังคมส่วนรวม

(6) วิธีการระดมทุนซื้อหุ้นโดยออกสลากพิเศษเพื่อการกีฬา เป็นการใช้วิถีแห่งอบายมุข ที่มีเงินรางวัลสูงถึง 1 พันล้านบาท มาหลอกล่อประชาชน เพื่อให้ระดมเงินได้ตามเป้าหมาย โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน  นอกจากนั้น การให้สลากพิเศษมีฐานะเป็นใบแสดงสิทธิแลกหุ้นของบริษัทในอนาคต อาจมีข้อกังขาในทางกฎหมาย ที่ผ่านมาไม่เคยมีการแปลงหวยเป็นหุ้นมาก่อน  อีกทั้ง รัฐบาลยังไม่มีวิธีการที่โปร่งใสในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

ผมเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรเลือกใช้วิถีแห่งอบายมุขเป็นเครื่องมือในการหาเงิน เนื่องจาก การพนันทำลายค่านิยมที่ดีของสังคม ทำลายค่านิยมให้คนทำงานหนัก เชื่อมั่นในชะตากรรมที่ตนเองเป็นผู้กำหนด มิใช่โชคลาง

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการใช้วิถีทางเสื่อม เช่น ออกหวย เพื่อระดมทุนทำความดี เช่น สร้างโรงพยาบาล แต่การออกหวยเพื่อซื้อสโมสรฟุตบอลหาเหตุผลสนับสนุนไม่ได้ และอาจผิดกฎหมาย เพราะมิใช่กิจกรรมสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหากำไร หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 43 – 2543 และ กฎกระทรวงฉบับที่ 42 – 2542 ที่ออกตาม พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478)

วิธีหาเงินของรัฐบาลเป็นแบบมักง่าย  ดึงดูดให้ประชาชนมัวเมากับความเสื่อม บั่นทอนค่านิยมที่ดีของสังคม

หากการระดมทุนด้วยหวยครั้งนี้สำเร็จ รัฐบาลอาจใช้วิถีทางนี้ในการสร้างโครงการลงทุนใหญ่ๆ 20 กว่าโครงการ ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ในช่วง 6 ปีจากนี้

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 นักข่าวถามนายกฯ ว่า จะนำความคิดซื้อสโมสรลิเวอร์พูลไปจดลิขสิทธิ์หรือไม่

นายกฯ ตอบว่า กำลังดูอยู่ว่าเป็นการสมควรหรือไม่ เพราะเป็นการออกล็อตเตอรี่ที่เป็นเหมือนการออกหุ้นกู้ เป็นเครื่องมือใหม่ในการระดมทุน

การหาเงินและใช้จ่ายของรัฐวิธีนี้เป็นการหาเงินนอกกระบวนการงบประมาณแผ่นดิน ที่พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา แต่ภาระในการลงทุนถือว่าตกอยู่กับประชาชนเช่นกัน

เครื่องมือกึ่งการคลังที่รัฐบาลชอบออกมาโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ มิใช่สิ่งที่ควรสนับสนุน เพราะเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้มีความรับผิดต่อประชาชน

ผมเห็นว่า ในอนาคตควรมีการปฏิรูปสำนักงานสลากฯ ให้มี “กฎ” ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ การออกสลาก การแบ่งรายได้ กติกาการนำเงินเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน รวมถึงอำนาจของรัฐมนตรีที่สามารถให้สำนักงานสลากฯ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลได้  ทั้งนี้เพื่อมิให้สำนักงานสลากฯ ตกเป็นเครื่องมือในการสร้างนโยบายประชานิยมของผู้ครองอำนาจ

ดังตัวอย่างที่ เมื่อวานนี้ มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการจัด Thaksin Cup เพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยให้สำนักงานสลากฯ บริจาคเงินมูลค่า 33 ล้านบาทจัดงาน โดยหวังดับไฟใต้ด้วยฟุตบอล

นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์การคลังบางคนเปรียบเทียบล็อตเตอรี่ว่าคือภาษีคนจน เพราะการซื้อหวย คล้ายกับการจ่ายภาษีให้รัฐ  รัฐได้เงินส่วนหนึ่ง ส่วนเอกชนหวังเงินรางวัลเป็นการตอบแทน แทนที่จะเป็นบริการจากรัฐ  ซึ่งหวยมีลักษณะถดถอย เพราะราคาเท่ากันทุกใบ แต่รายได้คนซื้อหวยไม่เท่ากัน  คนรายได้น้อยต้องเผชิญอัตราภาษีสูง (ภาษี/รายได้) กว่า  และคนจนเป็นกลุ่มหลักที่ซื้อหวย ซึ่งเงินรางวัลที่ให้ก็มีที่มาจากรายได้จากการขายหวยให้ผู้ซื้อนั่นเอง

(7) การบริหารสโมสรฟุตบอลต่างประเทศมิใช่หน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม  การจัดตั้งบริษัทมหาชนเพื่อบริหารสโมสรฟุตบอลอังกฤษ โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และใช้เงินประชาชน เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลสนับสนุนอย่างสิ้นเชิง และยอมรับไม่ได้  เป็นเรื่องน่าขันที่ ด้านหนึ่งรัฐบาลพยายามลดบทบาทในกิจการไฟฟ้า แต่อีกด้านหนึ่ง กลับต้องการเพิ่มบทบาทในธุรกิจสโมสรฟุตบอล

 

  1. ปรากฏการณ์แปลงสัญชาติลิเวอร์พูลภายใต้ Thaksinomics และความป่วยไข้ของสังคมไทย

(1) ในหนังสือพิษทักษิณ (Toxinomics) ของ OPENBOOKS  ผมตั้งคำถามว่า Thaksinomics มีจริงหรือไม่ คำตอบเบื้องต้นของผมคือ ไม่มี  แต่เราสามารถเสนอลักษณะบางอย่างของวิธีการบริหารแบบทักษิณได้ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ

พยายามผูกขาดความจริงแท้ เป็นเศรษฐกิจที่อยู่ด้วยความหวัง(ลมๆแล้งๆ) ปกครองด้วยความกลัว สนใจเป้าหมายมากกว่าวิธีการ เก่งกาจด้านการจัดหีบห่อเนื้อหาเดิมในรูปโฉมใหม่ เป็นระบอบฉาบฉวย ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนและความสับสนในบทบาทของผู้มีอำนาจ  เป็นระบบอุปถัมภ์โดยรัฐ

ผมคิดว่าปรากฏการณ์แปลงสัญชาติลิเวอร์พูล สะท้อนลักษณะสำคัญของวิธีบริหารแบบทักษิณหลายส่วน ตั้งแต่ผลประโยชน์ทับซ้อน ความคิดฉาบฉวย ทำอย่างไรก็ได้ให้ถึงเป้าหมาย  หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ถนัดการตลาดและสร้างคะแนนนิยม ที่ไส้ในกลวงโบ๋  ใช้วิถีทางซิกแซกแบบนักธุรกิจมาบริหารประเทศ

(2) ผมเคยเขียนบทความว่า หากเราต้องการเข้าใจวิธีคิดและพฤติกรรมของคุณทักษิณ เราไม่สามารถเข้าใจคุณทักษิณในฐานะอัศวินม้าขาว หรืออัศวินควายดำ หากต้องมองคุณทักษิณในฐานะสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus)

ผมเสนอว่า สถาบันในตลาดการเมืองไทยมีแนวโน้มเพิ่มระดับความเป็นสัตว์เศรษฐกิจของคน นักการเมืองมีแนวโน้มเป็นสัตว์เศรษฐกิจสูงกว่าคนเฉลี่ยๆ ในสังคม  ผมเสนอว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองที่เติบโตจากธุรกิจผูกขาด มีแนวโน้มเป็นสัตว์เศรษฐกิจสูง เพราะบนเส้นทางสู่ความร่ำรวยหล่อหลอมให้คุณต้องเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

หากการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูลให้ผลตอบแทนสูง น่าลงทุน ผมคิดว่า คุณทักษิณ และพวกพ้อง ย่อมไม่พยายามถอยฉากไปเรื่อยๆ  หากเราดูการคลี่คลายของข่าวจะพบว่า คุณทักษิณลดบทบาทตัวเองในการซื้อหุ้นลง จากที่เคยคิดจะใช้เงินส่วนตัว กลายมาเป็น ผลักภาระให้เป็นเงินประชาชนทั้งหมด

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เป็นคำถามที่น่าสนใจ  หากนายกฯ ไม่ต้องการลงทุนในฐานะนักธุรกิจ  ทำไมจึงพยายามผลักดันให้ประชาชนต้องรับภาระ ทำไมต้องใช้เงินรัฐ หรือให้รัฐเป็นแกนกลางในการเจรจา  หรือเพราะนายกฯ เห็นว่า นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่หวังผลกำไรได้ แต่นายกฯ หวังผลทางการเมืองและชื่อเสียงส่วนตัวมากกว่า ซึ่งอาจได้มาโดยไม่จำเป็นต้องลงเงินแม้แต่บาทเดียว เช่นที่ตอนนี้ได้ไปเรียบร้อยแล้ว

(3) ผมเคยเสนอความคิดว่า คุณทักษิณเป็นตัวแทนของสังคมไทย เหตุที่นายกฯ เข้มแข็งไม่ใช่แค่เพราะเสียงในสภามากเท่านั้น แต่เพราะเล่นกับอารมณ์ของสังคมไทยเป็น

สังคมไทยยอมรับผู้นำเข้มแข็งได้ แม้ไม่เป็น ประชาธิปไตย  ยอมรับคนรวยได้ โดยไม่สนว่ารวยมาอย่างไร สะอาดหรือไม่  สนใจผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ  อยู่ด้วยความหวังและแก้ปัญหาแบบฉาบฉวยมากกว่าแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง  ยอมให้คนทำงานเป็น โกงได้บ้าง

สังคมไทยโดยเฉลี่ยมีมาตรฐานทางจริยธรรมแค่นี้ คุณทักษิณถึงมีอำนาจเข้มแข็งได้ทุกวันนี้  คุณทักษิณก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทย  หากคะแนนนิยมของนายกดี ไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของคนไทยโดยเฉลี่ยก็ประมาณคุณทักษิณ

แปลว่าไม่ค่อยสูงมาก

(4) เสียงสนับสนุนของสังคมไทยต่อการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยด้วยการซื้อสโมสรลิเวอร์พูล เป็นอีกประจักษ์พยานที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยคือสังคมฉาบฉวย ไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง  สนใจเปลือกนอกที่ดูเท่ โฉบเฉี่ยว แต่ข้างในหาสาระมิได้   ภูมิใจและให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสาร  นับถือความสำเร็จแบบแดกด่วน

เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ตอกย้ำว่าคำตอบต่อคำถามข้างต้นที่ว่า เหตุใดคุณทักษิณจึงมีอำนาจมากอย่างที่เป็นอยู่ นั่นก็เพราะคุณทักษิณก็คือภาพสะท้อนของมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมไทย

(5) ลักษณะการใช้และให้เหตุผลสนับสนุนการซื้อสโมสรลิเวอร์พูล เป็นลักษณะการใช้และให้เหตุผลแบบไทยๆ  ที่มีเพียงคนไทยแบบไทยๆ บางผู้บางคนเห็นดีเห็นงามเท่านั้น ยากที่ฝรั่งมังค่าจะเข้าใจได้

ตัวอย่างเช่นของการใช้เหตุผลแบบไทยๆ เช่น

– นายกรัฐมนตรีให้เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ต้องซื้อหุ้นลิเวอร์พูลว่า การซื้อสโมสรลิเวอร์พูลทำให้ประเทศไทยมียี่ห้อสินค้าระดับโลกอยู่ในมือ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาประเทศไทย รวมทั้งขายสินค้าไทยได้

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การนำทีมลิเวอร์พูลมาเชื่อมต่อกับสินค้าโอท็อปจะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยมากขึ้น เช่น กล้วยตาก ปกติติดตราสินค้าโอท็อปเดิมราคา 30 บาท ถ้าเปลี่ยนมาติดตราลิเวอร์พูลก็จะเพิ่มเป็น 100 บาททันที (มติชนรายวัน, 13 พฤษภาคม 2457)

ผู้เขียนเกรงว่า การตั้งใจประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านสโมสรลิเวอร์พูลที่กำลังจะเป็นลูกครึ่งไทยด้วยวิธีคิดเยี่ยงนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์ความเขลาเบาปัญญาให้เป็นที่น่าละอายในสังคมโลกเสียมากกว่า  คงไม่มีประเทศใดในโลกที่ต้องการโฆษณาประเทศด้วยการซื้อสโมสรฟุตบอลดังของประเทศอื่น เพียงเพราะจะให้เป็นข่าว หรือนำสโมสรฟุตบอลมาขายสินค้าอะไรก็ได้อย่างกล้วยตาก

สังคมโลกที่มีวุฒิภาวะเติบโตกว่าสังคมไทยโดยเฉลี่ย คงรู้สึกชวนหัวร่อและสมเพช มากกว่ายกย่องยินดี

ในอดีต เหตุที่ไม่มีใครคิดวิธีประชาสัมพันธ์อ้อมโลกเช่นนี้ได้ มิใช่เพราะนายกรัฐมนตรีไทยเก่งกว่าคนอื่น แต่เพราะไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนเพ้อเจ้อไร้สาระพอที่จะคิดเรื่องพรรค์นี้ได้ต่างหาก

ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่พยายามประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในสิ่งที่มีคุณค่ากว่าการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล ดังตัวอย่างเช่น การพยายามทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพหลักนิติธรรม ฯลฯ

หรือสังคมเช่นว่าเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้อาณาจักรทักษิณ ?

นายกฯ พยายามบอกว่า ข่าวการซื้อสโมสรลิเวอร์พูลสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย โดยไม่ต้องเสียค่าประชาสัมพันธ์  ผมเห็นว่า การได้หรือมีชื่อเสียง ไม่สำคัญเท่ากับ มีชื่อเสียงอย่างไร ในทางไหน  เพราะคนโง่ คนเลว คนโกง ก็สามารถมีชื่อเสียงได้ โด่งดังได้ แต่เราคงต้องการมีชื่อเสียงในทางที่ดีและมีปัญญา  การสักแต่ว่ามีชื่อเสียงไม่เพียงพอ ยิ่งทำในนามรัฐบาลยิ่งน่าขายหน้า

หรือความคิดที่ว่า หากซื้อหุ้นลิเวอร์พูลได้ จะนำเด็กไทยไปฝึกที่สโมสร หรือเป็นบันไดก้าวกระโดดให้คนไทยไปเล่นในสโมสรต่างชาติ หรือจะใช้นักบอลชื่อดังมาเป็น presentor สินค้าไทยได้ตามชอบใจ  นี่ก็นับเป็นวิธีคิดแบบไทย ๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ ที่เชื่อว่าจะใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวสร้างโอกาสเพื่อตนเองและพวกพ้อง แทนที่จะวัดกันที่ความสามารถ และคุณภาพ

(6) ในอนาคต หากสโมสรลิเวอร์พูลแปลงสัญชาติเป็นลูกครึ่งไทยได้สำเร็จ  ประโยคคลาสสิกที่ผมมั่นใจว่าจะได้ยินบ่อยครั้ง ในสังคมเอียงขวาแบบไทยๆ ก็คือ ใครไม่เชียร์ลิเวอร์พูล คนนั้นไม่รักชาติ

แฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่างผม คงเป็นคนไม่รักชาติ เช่นเดียวกับหลายๆ คน

ปรากฏการณ์แปลงสัญชาติลิเวอร์พูล ทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจว่า แม้สโมสรลิเวอร์พูลอาจไม่ต้องเดินเดียวดายอีกแล้ว แต่ทำไมสังคมไทยจึงดูวังเวงและเดียวดายเหลือเกิน

ขอบคุณครับ

Print Friendly