เสวนาว่าด้วยวงการสถาปนิกไทย ระบบทุนนิยม และระบบการศึกษาแบบไทยๆ

เสวนา “พื้นที่รอยต่อของกระบวนการผลิตและการขาย

สภาวะการสร้างสถาปนิกไทยมืออาชีพจากความพร่องของระบบการศึกษาอย่างไทย”

โดย ปกป้อง จันวิทย์

โครงการ ASA สุดสัปดาห์วิชาการ ครั้งที่ 6

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2550 ณ สมาคมสถาปนิกสยาม

————————————————————————————————

– 1 –

 

สวัสดีครับท่านผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน

ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบพระคุณสมาคมสถาปนิกสยาม โดยเฉพาะอาจารย์รชพร ชูช่วย และอาจารย์ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ ที่กรุณาให้เกียรติเชิญผม ซึ่งใช้ชีวิตการเรียนและการทำงาน อยู่นอกวงการสถาปนิกอย่างสิ้นเชิง มาร่วมเสวนาชื่อยาวและยากที่สุดในชีวิต ครั้งนี้

ผมเองไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับแวดวงวิชาการสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงศาสตร์แห่งศิลปะ และสุนทรียศาสตร์ด้านอื่นๆ  ไม่ใช่แค่ ‘ไม่รู้’ หากยัง ‘ห่างเหิน’ อีกด้วย  อีกทั้ง ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ผมมาพูดนอกวงโคจรของ ‘โลก’ นักสังคมศาสตร์ ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นและตื่นกลัวเอาเรื่อง  ต้องขออภัยในความขี้เท่อและความเขลาล่วงหน้านะครับ

ผมขอเริ่มต้นการเสวนาด้วยการเล่าเรื่องราว 2 เรื่องให้ท่านฟัง

เป็นเรื่องของคนๆ หนึ่ง และสถานที่แห่งหนึ่ง

 

– 2 –

 

เรื่องแรกเป็นเรื่องของสถาปนิกคนหนึ่ง ซึ่งผมเพิ่งรู้จักเขาเป็นครั้งแรกผ่านงานเขียนของคุณสฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ เจ้าของคอลัมน์ ‘คนชายขอบ’ ในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) [1]

ย้อนกลับไปเมื่อแปดปีก่อน (ปี 2542) สถาปนิกหนุ่มอายุ 24 ปี ชาวอังกฤษ มีได้โอกาสดูสารคดีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับรัฐโคโซโว ซึ่งกำลังกรุ่นด้วยไฟสงคราม ทรัพย์สมบัติบ้านเรือนของชาวบ้านถูกเผาราบเรียบเป็นหน้ากลอง ผู้คนต้องไร้บ้านกลายเป็นผู้อพยพ

สิ่งที่เขารู้สึกสะเทือนใจจากสารคดีเรื่องนั้นคือ เหยื่อสงครามเหล่านั้น จะกลับ ‘บ้าน’ ของพวกเขาอย่างไร และ ‘สถาปนิก’ นักออกแบบ นักรังสรรค์ตึกรามบ้านช่อง อย่างเขา จะทำอะไรได้บ้าง เพื่อ bring them home

คิดต่อมากเข้า เขาเห็นว่า ปัญหาใหญ่อันหนึ่งในโลกก็คือ ผู้คนจำนวนมากในโลก  ยังไม่มี ‘บ้าน’ ที่ดี ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  แย่ไปกว่านั้น ประชากรจำนวนมหาศาลยังไม่มี ‘บ้าน’ แม้สักหลัง

ข้อมูลของ UN ระบุว่า 1 ใน 7 ของประชากรโลกใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์อพยพหรือในสลัม  คนจำนวน 3,000 ล้านคน (เกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลก) ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี  คนจำนวนมาก ต้องสูญเสีย ‘บ้าน’ ของตัวเอง จากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ อย่างสึนามิ พายุแคทรินา

โจทย์ของเขาคือ ในฐานะสถาปนิก เขาจะมีส่วนช่วยทำอะไรได้บ้าง เพื่อ ‘ออกแบบ’ และ ‘สร้าง’ โลกนี้ให้ดีขึ้น

เขาร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง (Kate Stohr) เริ่มต้นใช้เงิน 700 เหรียญ ทำเว็บไซต์ ‘สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ’- Architecture for Humanity (AFH)(www.architectureforhumanity.org) เพื่อเป็นเวทีกลางในการระดมความคิดสร้างสรรค์จากสถาปนิกทั่วโลก ผู้แชร์ ‘หัวใจสาธารณะ’ ดวงเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหา ‘ความขาดแคลน’ ด้านต่างๆ ของผู้คนในโลก โดยเฉพาะปัจจัยสี่ อย่างที่อยู่อาศัยและบริการสุขภาพ

เว็บไซต์นี้ทำอะไร?

เขาเริ่มต้นโครงการด้วยการจัดประกวดแบบบ้านชั่วคราวของผู้ลี้ภัยในโคโซโว ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว โดยร่างหลักเกณฑ์การออกแบบ (design criteria) เพื่อประกวดการออกแบบชิ้นงานที่สามารถสร้างได้จริง สร้างได้เร็ว (สร้างประกอบพร้อมอยู่ได้ใน 24 ชั่วโมง) ต้นทุนต่ำ ใช้วัสดุราคาถูก และมีอยู่แล้วในท้องถิ่น เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศ และยืนระยะอยู่ได้ยั่งยืนพอสมควร (อยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี)

การประกวดครั้งนี้ไม่มีรางวัล แถมยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประกวดด้วย แต่กลับมีสถาปนิกจาก 30 ประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 200 ชิ้น ด้วยรูปแบบและเทคโนโลยีการก่อสร้างต่างๆ แม้ผู้ประกวดจะมีเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น

ท้ายที่สุด โครงการนี้จบลงด้วยการมีแบบบ้าน 5 แบบ ถูกนำไปใช้สร้างจริง จากการหาเงินสนับสนุนของเขาและ AFH  ซึ่งหาทุนสนับสนุนจาก NGOs และผู้บริจาค จากรายได้ในการจัดแสดงนิทรรศการผลงานประกวดในหลายประเทศ และจากค่าธรรมเนียมการประกวด !

เว็บไซต์ ‘สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ’ ของเขา เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มีสมาชิก ‘สถาปนิกอาสา’ เกือบหนึ่งหมื่นคนทั่วโลก  จากการสร้าง ‘บ้าน’ ให้ผู้สูญเสียจากภัยสงคราม สู่การประกวดออกแบบ ‘คลินิก’ เคลื่อนที่ ในแอฟริกา เพื่อนำบริการสุขภาพไปถึงประตูบ้านของชาวบ้านยากจน   สู่การออกแบบเทคนิคการก่อสร้างที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว ในอัฟกานิสถาน และการออกแบบ ‘บ้าน’ ให้ผู้ประสบภัยธรรมชาติ ในสเปน อินเดีย ศรีลังกา และสหรัฐอเมริกา

เขาเคยอธิบายเป้าหมายขององค์กร ‘สถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ’ ของเขา ว่ามีอยู่เพื่อ

“ส่งเสริมให้มืออาชีพด้านการออกแบบ ตอบสนองต่อความต้องการของประชากรจำนวน 98% ของโลกที่ไม่มีปัญญาใช้ประโยชน์จากบริการของพวกเราเหล่าสถาปนิก เพราะไม่มีเงินจ้าง”

เขาคนนี้ชื่อ Cameron Sinclair

 

– 3 –

 

เรื่องที่สอง ผมขอพาทุกท่านไปที่ University of Massachusetts Amherst มหาวิทยาลัยที่ผมเคยไปร่ำเรียนฝึกวิชาอยู่หลายปี

ผมเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ BLOG BLOG ซึ่ง openbooks จัดพิมพ์เมื่อปลายปี 2548

สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองของคณะ ซึ่งผมนั่งทำงานอยู่ สร้างตึกใหม่ชื่อว่า Gordon Hall

ผมประทับใจ Gordon Hall มาก ไม่ใช่ที่ความสวย หรือความเท่ ของตึกใหม่ แต่เป็น ‘แผ่นทองแดง’ ขนาดใหญ่แผ่นหนึ่งที่ติดอยู่บนกำแพงห้องโถงชั้นสอง

ทำไมผมถึงประทับใจแผ่นทองแดงแผ่นนั้น?

แผ่นเหล็กแผ่นนั้นจารึกชื่อบุคคล ‘ทุกคน’ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Gordon Hall  หากนึกถึงตึกใหม่ในเมืองไทย เราคงเห็นชื่อคนบริจาคสร้างตึก ชื่อผู้อำนวยการสถาบัน หรือชื่อสถาปนิก วิศวกร  จารึกหรา คากำแพง

แต่นี่ไม่ใช่

แผ่นทองแดงแผ่นนั้น มีรายชื่อของ ‘คนงาน’ ทุกคนรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าคนงานก่อสร้าง ช่างทาสี ช่างไฟ ช่างไม้ ช่างเหล็ก รวมกับชื่อผู้บริหาร และนักเทคนิคผู้รู้อย่างสถาปนิก วิศวกร อย่างเท่าเทียมกัน เรียงตามตัวอักษรของส่วนงาน  เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นชื่อคนงานเหล่านั้นได้รับการจารึกชื่ออยู่คู่ตึก

ในพิธีเปิดตึก ผมไปร่วมงานด้วย คนงานทุกคนก็ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดตึกด้วย ในฐานะแขกผู้มีเกียรติ

ผมยังจำคำกล่าวของอาจารย์ของผม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยได้

“ประตูของ Gordon Hall เปิดต้อนรับพวกท่านเสมอ ชื่อของพวกท่านได้ถูกจารึกไว้เป็นเกียรติคู่กับตึกแห่งนี้แล้ว ผมขอเชื้อเชิญให้พวกท่านพาครอบครัวมาชื่นชม ‘ฝีมือ’ ของท่านได้ทุกเมื่อ จงร่วมภูมิใจในผลผลิตอันสวยงาม ซึ่งพวกท่านมีส่วนร่วมสร้างมันด้วยมือของท่านเอง

หากไร้ซึ่งพวกท่าน ย่อมไร้ซึ่งตีกแห่งนี้ และเราจะใช้มันเป็นฐานบัญชาการเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อพวกเราทุกคน”

เคยได้ยินคำกล่าวเปิดตึกที่จับใจอย่างนี้ไหมครับ

ใครว่าใน ‘สถานที่’ จะไร้ซึ่ง ‘จิตวิญญาณ’

 

– 4 –

 

ทำไมผม – และเดาเอาว่า คงมีผู้คนจำนวนมากรู้สึกเหมือนผม –  ถึงรู้สึกประทับใจและตื้นตันมาก เมื่อได้ยิน ได้อ่าน ได้มีส่วนร่วม ในเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องข้างต้น

คงเพราะมัน ‘เติมเต็ม’ สิ่งที่ ‘ขาดหาย’ ไป ยามผู้คนข้างนอกมองเข้าไปในแวดวงสถาปนิก หรือนักออกแบบ

สามัญชนคนเดินถนนรู้สึก ‘ห่างเหิน’ กับสถาปนิก เหมือนที่รู้สึก ‘ห่างเหิน’ กับนักเศรษฐศาสตร์ เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันอะไรโดยตรงกับชีวิตของเขา

คนจำนวนมาก กระทั่ง ‘บ้าน’ ยังไม่มีจะอยู่  คนจำนวนมาก ด้วยระดับรายได้ของเขาคงไม่กล้าจินตนาการถึงบริการจากสถาปนิกคนเก่ง เพื่อบ้านที่สวยงาม ล้ำยุค ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า แค่ให้บ้านที่อยู่ใช้พำนักพักพิงใช้สอยได้จริง และปลอดภัย ก็ดีใจแล้ว

คนยังไม่มีจะกิน ยังมีกินไม่เพียงพอ อยู่อย่างพอเพียงก็ยังลำบาก แล้วจะแสวงหาสุนทรียะอันใดเล่า

มองจากมุมนอก อาจถูกหรือผิด ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อย มอง ‘สถาปนิก’ เป็นอาชีพรับใช้คนรวย รับใช้เจ้าของกิจการใหญ่  ห่างไกลชุมชน คนเล็กคนน้อย และคนด้อยโอกาส

บริการจากสถาปนิกเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’

ความสำเร็จของสถาปนิกวัดกันที่การออกแบบอย่างสวยงาม สร้างสรรค์ เท่ กิ๊บเก๋ โฉบเฉี่ยว โอ่อ่า อลังการ ความท้าทายอยู่ที่ขนาดใหญ่และสูงยาว อยู่ที่มูลค่าการก่อสร้างใหญ่โต อยู่ที่การมีโอกาสขายบริการรับใช้เศรษฐีชื่อดัง บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดัง

ยิ่งในสังคมที่ตัดสินคน และตัดสินคุณค่าความดีความงาม ด้วย ‘เปลือก’ อย่างสังคมไทยด้วยแล้ว ภาพลักษณ์ของสถาปนิกข้างต้นคงอยู่ในใจผู้คนจำนวนมาก  ในสังคมนี้ รูปลักษณ์สวยงามอยู่เหนือประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่า การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และความปลอดภัย

ในธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง สถาปนิก ถือเป็น ‘อภิชน’ (Elite) ดังเช่น วิศวกร มิใช่ชน ‘รากหญ้า’ อย่างแรงงานก่อสร้างหรือเหล่าช่างอาชีพ ซึ่งมีฐานะทางสังคมและการศึกษาต่ำกว่า

ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยมลดทอนคุณค่าของผู้ลงแรงใช้พลังแรงงานในกระบวนการผลิต อย่างแรงงานก่อสร้าง ให้เหลือเพียงปัจจัยแรงงานราคาถูก ทั้งยัง ‘กัน’ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ‘ผลงาน’ อย่างอาคาร ตึก บ้าน ออกจากตัวพวกเขา

Gordon Hall เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ตึกมันก็มีชีวิต มีจิตวิญญาณของมัน ชีวิตชีวาไม่ได้อยู่ที่ความสวยงาม แต่อยู่ที่ ‘อะไร’ บางอย่างที่มากกว่าความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมปกติ

ผู้คนทั่วไปจินตนาการไม่ออกว่า สถาปนิกจะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการ ‘ออกแบบ’ และ ‘สร้าง’ สังคมนี้ให้ดีขึ้นอย่างไร สถาปนิกจะช่วยคนจน ช่วยสังคม ได้อย่างไร

ที่พูดมาทั้งหมด ผมไม่ได้กล่าวโทษสถาปนิก หรือว่ากล่าวให้คนเป็นสถาปนิกกลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ เหนือผู้คนในสาขาวิชาชีพอื่น  สถาปนิกก็เป็นผลผลิตหนึ่งของระบบทุนนิยมที่ส่งอิทธิพลกระทบกระบวนการ ผู้คน และสถาบันต่างๆ ในสังคม

วงการสถาปนิกก็เหมือนวงการอื่นๆ ที่ ‘ชีวิต’ ของมัน ไม่ได้แยกขาด ลอยสูง อยู่นอกโลก เหนือสังคม หากวงการสถาปนิกก็เหมือนวงการอื่นๆ ที่ ‘ชีวิต’ ของมัน ถูกกำหนด ได้รับอิทธิพล ปะทะสังสรรค์ และมีปฏิกิริยา กับระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบสังคม รวมถึง วัฒนธรรมในสังคม

ถ้าเราจะเข้าใจปรากฏการณ์ในวงการสถาปนิกในลึกและกว้างขึ้น คงต้องทำความเข้าใจบริบทแวดล้อม และโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ที่วงการสถาปนิกอยู่ภายใต้มัน พูดให้ง่าย ต้องเข้าใจ ‘โลก’ ที่วงการสถาปนิก ใช้ชีวิตอยู่ข้างในนั้น

และในเวลานี้ ‘โลก’ ที่ว่า ก็คือ ‘โลกทุนนิยม’ ซึ่งส่งอิทธิพล ผลักดัน กำหนด ก่อร่าง ค้ำยัน ให้วงการสถาปนิกทั่วโลกเป็นมาและเป็นไป โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษหลัง

ที่ผมพูดมาตอนต้นว่า ตัวอย่างทั้งสองเรื่อง ‘เติมเต็ม’ สิ่งที่ ‘ขาดหาย’ ไป ยามผู้คนข้างนอกมองเข้าไปในแวดวงสถาปนิก ก็อาจถูกระดับหนึ่ง ถ้าจะพูดให้ลึกลงไปอีกชั้น คงต้องพูดว่า เรื่องทั้งสอง มัน ‘เติมเต็ม’ สิ่งที่ ‘ขาดหาย’ ไป จาก ‘ระบบทุนนิยม’ คงจะถูกกว่า

 

– 5 –

 

วงการสถาปนิกใช้ชีวิตอยู่ข้างในและมีปฏิสัมพันธ์กับ ‘โลกทุนนิยม’

กระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไทยได้รับอิทธิพลและถูกกำหนดจากระบบทุนนิยมไทย

ผมขออนุญาตอธิบายแผนภาพที่ผมวาดสักเล็กน้อย

กระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไทย หมายถึงกระบวนการผลิตสร้างสถาปนิก (จากนักเรียนผ่านระบบการศึกษามาเป็นสถาปนิก) กระบวนการผลิตสร้างผลงานออกแบบของสถาปนิก และกระบวนการแลกเปลี่ยนผลงานของสถาปนิก (สถาปนิกสร้างผลงานสถาปัตยกรรม ซึ่งการผลิตและแลกเปลี่ยนถูกกำกับด้วยกลไกกำกับเศรษฐกิจ – Economic Governance) เหตุที่ผมไม่ใช้คำว่า ‘ขาย’ ตามหัวข้อเสวนา เพราะการแลกเปลี่ยนอาจไม่ได้ทำผ่านกลไกตลาด และอาจผ่านกลไกรัฐหรือกลไกชุมชน

หากใช้กรอบการวิเคราะห์ของ Karl Marx  พัฒนาการของระบบสังคมเศรษฐกิจการเมืองขึ้นอยู่กับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ  Marx เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับบน (Superstructure) ของสังคม นั่นคือ เพราะเศรษฐกิจเปลี่ยน การเมือง สังคม กฎหมาย ความเชื่อ อุดมการณ์ วัฒนธรรม จึงเปลี่ยนแปลงตาม ในทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  ความคิดที่เชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงสังคม เรียกว่า Economic Determinism

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยน ? คำตอบของ Marx ก็คือ การเปลี่ยนแปลงพลังการผลิต (Force of Production) เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี วิธีการผลิต เครื่องไม้เครื่องมือ ทักษะความสามารถของแรงงาน  องค์ความรู้

พลังการผลิตที่เปลี่ยนไปทำให้ความสัมพันธ์ทางการผลิต (Social Relationship of Production) ระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคมเศรษฐกิจหนึ่งๆ เปลี่ยนแปลงไป   เกิดความขัดแย้งภายในระบบความสัมพันธ์แบบเก่า พลังเก่าปะทะกับพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ จนสังเคราะห์สู่ระบบความสัมพันธ์แบบใหม่

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังการผลิตที่เปลี่ยนแปลงกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ ‘วิถีการผลิต’ (Mode of Production) ของระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจหนึ่งสู่อีกระบบเศรษฐกิจหนึ่ง

เศรษฐกิจทุนนิยม เปลี่ยนคน เปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง เปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนความเชื่อของคน ไปในทางที่สอดรับและอุ้มชู ให้เศรษฐกิจทุนนิยมคงอยู่และแข็งแกร่งขึ้น

ระบบเศรษฐกิจ(กระแสหลัก)ใดๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้คงอยู่ลอยๆ ตามยถากรรม แต่มีกลไกอำนาจและโครงสร้างส่วนบนคอยพยุง ปกป้อง และค้ำยัน มันอยู่  มีกลไกสร้างความชอบธรรมให้มัน  มีกระบวนการเข้าครอบงำความคิดจิตใจ (Hegemonization) ของผู้คนและสถาบันในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านระบบการศึกษา ที่มุ่งผลิตคนรับใช้ระบบเศรษฐกิจกระแสหลักหนึ่งๆ

ด้วยกรอบการวิเคราะห์ของ Marx   กระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนของสถาปัตยกรรมไทย ก็เป็นผลพวงของ และได้รับอิทธิพลจาก ระบบทุนนิยมไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจทุนนิยมไทยเป็นพลังผลักดันเบื้องหลัง

วงการสถาปนิก ทั้งกระบวนการผลิตสร้างสถาปนิก กระบวนการผลิตสร้างผลงานออกแบบของสถาปนิก และกระบวนการแลกเปลี่ยนผลงานของสถาปนิก ย่อมมิอาจปฏิเสธอิทธิพลจากระบบทุนนิยมไทยได้

แต่อิทธิพลที่ว่ามิได้เกิดขึ้นด้านเดียว เป็น one-way  ไม่ใช่ระบบทุนนิยมเป็นเหตุ วงการสถาปนิกเป็นผล  แต่มันมีลักษณะเป็น Dialectic Determinism คือ เมื่อ A กำหนด B แล้ว B ก็ย้อนกลับมากำหนด A ด้วย แต่แรงที่ A กำหนด B จะเป็นพลังหลัก และแรงกว่า แรงที่ B ย้อนกลับมากำหนด A เช่น ระบบทุนนิยมสร้างคนให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่เมื่อสังคมมีคนที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจจำนวนมาก ระบบทุนนิยมก็เข้มแข็งขึ้นไปอีก  ดังนั้นด้วยวิธีคิดแบบ Dialectic ทุกสิ่งจึงเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เป็นปฏิกิริยากำหนดกันไปมา และเปลี่ยนแปลงมีพลวัตอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง มีความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของระบบและเกิดขึ้นภายในตัวระบบ

หากเราตั้งต้นบทวิเคราะห์ว่า วงการสถาปนิกไทยใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยมไทย คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ ‘ระบบทุนนิยม’ มีลักษณะสำคัญอะไรบ้าง

ระบบทุนนิยม คือระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งการสะสมทุน ปัจเจกบุคคลมีความสำคัญ คนมีเสรีภาพในการเลือกและการตัดสินใจ  ความสัมพันธ์ทางการผลิตหลักในระบบทุนนิยมคือความสัมพันธ์แบบขายแรงงานแลกเงิน (wage-labor relationship) นายทุนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ขณะที่แรงงานขายพลังแรงงานของตัวเอง ในอัตราค่าจ้างคงที่  ในกระบวนการผลิตสินค้า มีมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้น และตกเป็นของนายทุน นายทุนใช้มูลค่าส่วนเกินในการสะสมทุนต่อเพื่อการผลิตรอบต่อไป

ลักษณะพื้นฐานของระบบทุนนิยมคือ

หนึ่ง ปัจเจกบุคคลมีความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ นั่นคือ คนถือประโยชน์ส่วนตนเป็นสรณะ มีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ และตัดสินใจเพื่อให้ตนได้สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความจำกัดที่เผชิญ หากสัตว์เศรษฐกิจแต่ละคนต่างพยายามทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์สูงสุดแล้ว สังคมส่วนรวม ซึ่งประกอบด้วยปัจเจกบุคคลบวกรวมกัน ก็ย่อมมีสวัสดิการสูงสุด ด้วย ‘มือที่มองไม่เห็น’(Invisible Hand)

สอง ระบบทุนนิยมใช้กลไกตลาด หรือกลไกราคา เป็นกลไกแห่งการประสาน (Coordinating Mechanism) ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจ  และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากร นั่นคือเป็นกลไกในการตอบคำถามว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ผลิตแล้ว ใครจะได้ไป

เป้าหมายการผลิตของผู้ผลิตคือทำอย่างไรจึงจะได้กำไรสูงสุด ทำอย่างไรจึงสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด เป้าหมายของผู้บริโภคในระบบทุนนิยมคือบริโภคอะไร เท่าไหร่ จึงจะได้ความพอใจสูงสุด ซึ่งความพอใจที่ว่าไม่เกี่ยวกับคุณค่าหรือประโยชน์ใช้สอยของสิ่งที่ตนบริโภค

ระบบทุนนิยมจะเติบใหญ่ตามขนาดของตลาด ถ้าตลาดมีขนาดใหญ่ ย่อมสามารถดูดซับผลผลิตของผู้ผลิตได้ ผู้ผลิตก็ยิ่งมีส่วนเกินไปสะสมทุนต่อ   ถ้าตลาดมีขนาดใหญ่ ผู้ผลิตก็สามารถผลิตสินค้าเหมือนๆ กันได้เป็นจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็ยิ่งถูก นายทุนยิ่งแสวงหาส่วนเกินได้เพิ่มมากขึ้น

Mass Production หรือการผลิตสินค้าลักษณะเหมือนกันจำนวนมาก เพื่อสนองตลาดขนาดใหญ่ จึงเป็นลักษณะเฉพาะของระบบทุนนิยม  สินค้าในระบบทุนนิยมจึงมีลักษณะเหมือนกัน เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขาดเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งปัจจัยกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการผลิตแบบ Mass production อยู่ที่ขนาดของตลาด และอำนาจซื้อทั้งแท้และเทียมของผู้คนในสังคม

ขนาดของตลาดที่ใหญ่โตต้องมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการอยู่เบื้องหลัง เราจึงเห็นกระบวนการสร้างดีมานด์ในระบบทุนนิยม ผ่านการโฆษณา และการสร้างรสนิยมวิไล  ระบบทุนนิยมจึงเป็นระบบที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการ  เล่นกับความต้องการที่ไม่จำกัดของผู้คน และสร้างสิ่งที่ไม่เคยเป็นที่ต้องการมาก่อนให้กลายเป็นที่ต้องการ เพื่อสร้างตลาดใหม่ๆ เป็นพื้นที่ในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจและสะสมทุน

สาม ประเด็นที่ตามมาคือ ระบบทุนนิยมมีกระบวนการทำทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า (Commodification)  ตัวอย่างเช่น ‘วัฒนธรรม’ กลายเป็นของซื้อของขาย  เราเห็นการขายวัฒนธรรมไทยอยู่เนืองๆ ผ่านงานศิลปะและสถาปัตยกรรม เราจึงเห็นการแปลงวิถีชีวิตเป็นของขายผ่านเทศกาลท่องเที่ยวของทางการ  เราจึงเห็นความขาวกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ ผ่านผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่ง  เป็นต้น

สี่  ภายใต้ระบบทุนนิยม กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (หมายถึง สิทธิในการควบคุม หารายได้ และเปลี่ยนมือ) เป็นของเอกชน  ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเป็นพื้นฐานในการสะสมความมั่งคั่ง เช่น ใครคิด คนนั้นเป็นเจ้าของ ผู้ผลิตหรือผู้คิดค้นมีอำนาจผูกขาดและอำนาจในการกีดกันในบางระดับ ไม่ให้ใครลอกเลียนแบบหรือเข้าถึง เพื่อให้สามารถสะสมส่วนเกินได้จนคุ้มกับเรี่ยวแรงที่ลงมือสร้างหรือคิดค้นนวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ๆ

ห้า ระบบทุนนิยมเชื่อมั่นในพลังของการแข่งขัน การแข่งขันทำให้คนต้องพัฒนาตัวเอง การแข่งขันทำให้คนต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้อยู่รอดในสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ ผู้คิดค้นอะไรใหม่ๆ ผลิตสร้างสินค้าใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ เป็นผู้ได้อภิมหากำไร (Superprofit)

ในระบบทุนนิยม ผู้คนโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการแข่งขันเป็นมรรควิธีสู่สวัสดิการสูงสุดของสังคม มิใช่การร่วมมือกัน  การเปิดเสรีดีที่สุด

หก ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่อยู่บนฐานความไม่แน่นอน (Uncertainty) กระบวนการลงทุนเป็นการตัดสินใจ ณ วันนี้ เผชิญต้นทุนวันนี้ แต่ไม่รู้ผลได้ เช่น กระแสรายได้ ที่แน่นอน  ต้องทำนายอนาคตถึง Expected Benefit (ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้) ในวันหน้า การลงทุนล้นเกินจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา  พฤติกรรมการตัดสินใจลงทุนอยู่บนพื้นฐานการคาดเดา อย่างที่ John Maynard  Keynes บอกว่า We simply do not know. เราต้องตัดสินใจทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความไม่รู้ (unknown) ภายใต้ข้อมูลหลายสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (unknowable)  เราทำได้ดีที่สุดก็คือหา best guest เท่านั้น

ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไม่มีความแน่นอน กฎแห่งกรรมอาจไม่ทำงานในระบบทุนนิยม เพราะคนขยันทำงานก็อาจตกงานได้ หากเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งอาจเป็นผลจากเหตุที่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อ ความไม่มั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน เป็นเรื่องปกติในระบบทุนนิยม

เจ็ด ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เป็นปุ๋ยชั้นดีของพฤติกรรมเก็งกำไร เพื่อแสวงหาโอกาสทำเงินโดยไม่ต้องลงแรงผลิต ไม่ productive ราคาสินค้าและทรัพย์สินในระบบทุนนิยมไม่จำเป็นต้องสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน  การเก็งกำไรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและทรัพย์สินได้

พฤติกรรมการเก็งกำไรเป็นเรื่องของจิตวิทยา เป็นเรื่องการความเชื่อมั่น เป็นเรื่องของการคาดเดาอนาคต  เล่นกับอารมณ์ของนักลงทุนคนอื่นๆ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ราคาสูงขึ้นเป็นสิบเปอร์เซ็นในหนึ่งวันไม่อาจอธิบายได้ด้วยปัจจัยพื้นฐาน (กำไรดี ปันผลเด่น) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ข้ามคืน แต่ราคาอาจขึ้นสูงด้วยแรงซื้อเพื่อเก็งกำไร มีคนยอมซื้อแพงเพราะคิดว่าจะขายต่อได้แพงกว่า

เศรษฐกิจฟองสบู่ หรือเศรษฐกิจที่เติบโตเกินกว่าระดับพื้นฐานที่ควรจะเป็น และราคาสินทรัพย์สูงเกินจริง จากแรงเก็งกำไร จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วโลก  และสัญญาณแรกของเศรษฐกิจฟองสบู่มักเกิดขึ้นในตลาดสินทรัพย์อย่าง ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์

ทั้ง 7 ประการข้างต้น เป็นลักษณะของระบบทุนนิยมที่ผมเลือกมานำเสนอในวันนี้ ในฐานะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนของสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเราคงจะได้แลกเปลี่ยนกันต่อไป โดยโยงเข้ากับตัวอย่างจริงในวงการสถาปนิกไทย

หากดูตามแผนภาพ นอกจากวงการสถาปนิกไทยจะได้รับอิทธิพลจากระบบทุนนิยมไทย แล้ว ยังได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสภาพเศรษฐกิจไทย และกระแสโลกาภิวัตน์ อีกด้วย

ปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจไทย มีตัวอย่างเช่น สภาวะเศรษฐกิจมหภาคของไทย เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง นโยบายของรัฐต่ออุตสาหกรรมที่โยงกับวงการสถาปัตยกรรมไทย เช่น ต่ออุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์  ตัวโครงสร้างอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น ระดับการแข่งขัน ระดับการผูกขาด กลยุทธ์การแข่งขัน ระดับการกีดกันผู้เข้าแข่งขันรายใหม่  การเปลี่ยนแปลงกฎหมายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมไทย เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ล้วนกระทบต่อกระบวนการผลิตและแลกเปลี่ยนของวงการสถาปัตยกรรมไทย

ปัจจัยด้านโลกาภิวัตน์ หมายถึง วงการสถาปัตยกรรมไทยได้รับอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมจากโลกอย่างไร ประเด็นที่น่าสนใจ มีตัวอย่างเช่น การรับวัฒนธรรมตะวันตกหรือตะวันออกในการออกแบบตึกออกแบบบ้านของวงการสถาปนิกไทย  นโยบายของรัฐในการเปิดเสรีภาคบริการในกระบวนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)  ความสามารถในการแข่งขันระหว่างสถาปนิกไทยกับสถาปนิกต่างชาติ

ประเด็นที่สำคัญในขณะนี้คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งกิจการบริการทางสถาปัตยกรรมอยู่ในบัญชีสาม แนบท้ายกฎหมายต่างด้าว นั่นคือ เป็นธุรกิจที่รัฐยังสงวนไว้สำหรับคนไทย เพราะยังไม่พร้อมแข่งขันกับต่างชาติ เช่น บริการกฎหมาย บัญชี วิศวกรรม ค้าปลีกค่าส่ง

สถาปนิกไทยย่อมได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เกี่ยวพันกับการจัดวางระยะระหว่างไทยกับโลกเหล่านี้

อนึ่ง ทั้งสภาพเศรษฐกิจไทย และโลกาภิวัตน์ ก็ได้รับอิทธิพลและมีปฏิสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมไทยด้วย แต่ผมจะไม่อภิปรายในที่นี้

แต่ประเด็นที่ผมอยากอภิปรายทิ้งทายสักเล็กน้อยคือ ประเด็นเรื่องระบบการศึกษาไทย ภายใต้ระบบทุนนิยมไทย

 

– 6 –

 

ปัจจุบัน การศึกษากลายเป็น ‘สินค้า’ ที่ซื้อขายกันในตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับครูถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อบริการกับผู้ขายบริการ(การศึกษา)  กลไกตลาดเข้าแทนที่กลไกรัฐในการผลิตบริการการศึกษา

ความต้องการของผู้มีอำนาจซื้อที่ต้องการซื้อหาปริญญาในฐานะ ‘บันไดดารา’ สู่การไต่ระดับเงินเดือน และชนชั้นทางสังคม ส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบการศึกษาไทย

ผมคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อความอยู่รอดและคุณภาพของทุกวงการของประเทศนี้ แต่เป็นปัญหาที่เราทำได้แค่เพียงอธิบายและชี้ให้เห็น แต่ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร เพราะหยิบจับตรงไหนก็เน่าไปหมด ไม่รู้จะเริ่มต้นที่ใด

ผมขออนุญาตเปิดประเด็นเพียงบางประเด็น และเน้นไปที่การศึกษาในมหาวิทยาลัย ส่วนประเด็นอื่นจะร่วมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ต่อไปเมื่อมีโอกาส

ผมคิดว่า เราควรจะเริ่มต้นการถกเถียงด้วยคำถามระดับปรัชญาการศึกษาว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร มหาวิทยาลัยบริหารจัดการศึกษาเพื่ออะไร  เพื่อเป็น ‘โรงฝึกอาชีพ’ หรือเพื่อสร้าง ‘บัณฑิต’ ในความหมาย ‘ผู้รู้’ ‘ผู้มีปัญญา’ ‘ผู้ตื่นอยู่เสมอ’ ให้กับสังคม  มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งเรียนรู้ทาง ‘วิชาการ’ หรือ ‘วิชาชีพ’   มหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่เพียงแค่หน่วยผลิตกำลังคน สำหรับป้อนภาคเอกชนและภาคราชการเพียงเท่านั้นหรือ

สำหรับผม มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการศึกษาระดับปริญญาตรี ควรเป็นแหล่งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการ เป็นสถานที่ผลิตบัณฑิต ไม่ใช่โรงฝึกอาชีพป้อนรัฐและเอกชน แต่เป็นสถานที่ผลิต ‘คน’ ที่สมบูรณ์และมีปัญญาให้แก่สังคมส่วนรวม

เช่นนี้ เราจึงจะได้สังคมอุดมปัญญาและความรู้ ไม่ใช่สังคมอุดมความเห็น อุดมลีลา และอุดมความรู้สึก ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งบริการทางความรู้และปัญญาแก่สังคม ไม่ใช่แค่ตอบสนองผู้โชคดีไม่กี่คนที่มีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้เท่านั้น

ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เป็นผลพวงผลผลิตของสังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่  ในสังคมทุนนิยม การศึกษาถูกลดฐานะเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง ในสังคมฉาบฉวยกลวงโบ๋ ผู้คนให้คุณค่าตัดสินคนที่เปลือกนอกโดยดูวุฒิการศึกษาสูงๆ จากมหาวิทยาลัยดีๆ คนจึงมองการศึกษาเป็นเพียงบันไดไต่สู่งานดี เงินเดือนสูง โดยไม่ได้มองคุณค่าการศึกษาในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจโลก พัฒนาองค์ความรู้และวิธีคิด ซึ่งเป็นทั้งกระบวนการ (means) และจุดหมายปลายทาง (ends) ในตัวของมันเอง

บรรยากาศและวัฒนธรรมการเรียนรู้ในหมู่นักศึกษาก็ไม่เกิด เรียนกันแบบไร้ชีวิตจิตใจ ด้านอาจารย์ก็ไม่ต่างจากนักศึกษาเท่าไหร่นัก อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่มีคุณภาพ จำนวนมากไม่รับผิดชอบ จำนวนมากไม่มีฉันทะทางวิชาการ  มหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถดึงดูดคนเก่งได้ อาจารย์เก่งและดีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยไทย หากไม่คาบพานทองแท้มาเกิด หรือมีสามีหรือภรรยารวย ก็เป็นพวก ‘บ้า’ หรือ ‘หลงใหล’ โลกวิชาการ หรือความเป็นอิสระในฐานะนักวิชาการ จึงยอมแบกรับต้นทุนส่วนตัวด้วยตัวเอง

ผลตอบแทนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยพิกลพิการ อาจารย์จบปริญญาเอกได้เงินเดือนน้อยกว่าคนจบปริญญาตรีหากเลือกไปทำงานภาคเอกชน อาจารย์ก็ต้องดิ้นรนกันไปตามยถากรรม วิ่งรอกหางานนอกเลี้ยงตัวและครอบครัว ไม่สามารถดำรงชีพเป็น ‘สำราญชน’ อันเป็นปัจจัยสำคัญสู่ ‘ปัญญาชน’ ได้  ไม่สามารถก้าวเดินบนวิถีทางแห่งอุดมคติของตนได้อย่างเต็มที่

หนทางแสวงหารายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยปัจจุบันคือ การเกิดขึ้นของโครงการพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะในระดับปริญญาโท ที่เกิดราวกับดอกเห็ดสอดรับกับความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดบริการการศึกษา  เมื่อคนมองการศึกษาเป็นบันไดไต่สถานะทางสังคม ก็ต้องแย่งกันให้ได้มาซึ่งปริญญาบัตร เดิมต้องจบปริญญาตรี ต่อมาเมื่อคนส่วนใหญ่จบปริญญาตรี เพื่อสร้างความแตกต่างให้ตัวเองในตลาดแรงงาน ก็ต้องการปริญญาโท

โอกาสที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์จะแสวงหารายได้จากตลาดดังกล่าวก็เปิดขึ้น ความต้องการซื้อกับความต้องการขายตัดกันพอดี  ปริญญาโทในฐานะการศึกษาระดับสูงที่มุ่งเรียนสอนองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น หรือเพื่อเพิ่มทักษะด้านวิชาชีพ ก็กลายเป็นการศึกษาของมวลชน ผู้มีอำนาจซื้อ ที่ไต่ระดับมาหาบันไดขั้นที่สูงขึ้น

ปัจจุบัน สถานการณ์ที่ว่า เกิดขึ้นกับการศึกษาปริญญาเอกของไทยด้วย ทั้งสถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างแข่งกันเปิดโครงการปริญญาเอกกันอย่างสนุกสนาน จำนวนมากเป็นหลักสูตรที่ “เรียนแค่เสาร์อาทิตย์ จบได้ภายในสองปีเท่านั้น ไม่ต้องสอบภาษาอังกฤษ” (ไชโย!) (จากโฆษณาโครงการหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์)

ทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอน แม้จะใช้เกณฑ์การตัดสินคุณค่าตามระบบทุนนิยม ระบบการศึกษาไทยก็ไม่มีปัญญาผลิตนักศึกษาให้ไปแข่งขันกับโลกได้

จะด้วยหลักสูตรล้าสมัย หลักสูตรไม่มุ่งตอบปัญหาของสังคมหรือชุมชน จะด้วยไม่สามารถประยุกต์องค์ความรู้สากลเข้ากับบริบทเฉพาะของประเทศเราได้  จะด้วยกระบวนการเรียนการสอนที่ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิด ใช้จินตนาการ ค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดและงานวิจัยใหม่ๆ ไม่ใช่เอาแต่ท่องจำ จะด้วยปรัชญาการเรียนที่มุ่งตอบคำถาม what when where มากกว่า why และ how  จะด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากแน่นในมหาวิทยาลัยไทย จะด้วยการปราศจากวัฒนธรรมการเรียนรู้ในสังคม เพราะคนไทยไม่อ่าน แต่ชอบพูดชอบฟัง

ผมไม่มีคำตอบ แต่หากถูกบังคับให้ต้องตอบ คงตอบได้ว่า ถูกทุกข้อ

ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ให้แข่งขันกับโลกได้ ไม่สามารถผลิตสร้างมืออาชีพ ที่ไม่มั่ว ไม่ชุ่ย ไม่โกง ในสายวิชาชีพหรือสายวิชาการของตัวเองได้   คนเก่งของประเทศนี้แทบทั้งหมดจึงไม่ใช่ผลผลิตของระบบการศึกษา แต่เก่งจากการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน ในห้องสมุด ในชีวิตจริง เก่งเพราะ ‘ความรักดี’ เฉพาะตัวเสียมากกว่า

ไม่ต้องพูดถึงว่า เราจะสามารถผลิตนักศึกษาที่มี ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกรากอย่างไร  โครงสร้างทุนนิยมการศึกษา และ McUniversity (ตามศัพท์ของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์) หรือมหาวิทยาลัยที่มุ่งผลิตบริการการศึกษาแบบ ‘แดกด่วน ยัดเร็ว’ จะสร้างนักศึกษาที่มี ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ ที่คิดพ้นไปจากตัวเอง และเป็น ‘ขบถ’ ต่อความคิดกระแสหลักได้อย่างไร

พันธกิจขั้นต้นของมหาวิทยาลัยไทย คือการผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาการของตน และมีพื้นฐานที่จะเรียนรู้ต่อได้ด้วยตัวเองในอนาคต พรักพร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตจากการศึกษานอกระบบ มีศักยภาพต่อยอดการฝึกฝนด้านวิชาชีพของตัวเองต่อไปได้  มีความเป็นมืออาชีพในสาขาของตน ไม่มั่ว ไม่ชุ่ย ไม่โกง

แต่นั่นอาจจะยังไม่เพียงพอ เราควรวาดหวังต่อถึง (im)possible dream นั่นคือ การสร้างนักศึกษาให้มี ‘จิตสำนึกสาธารณะ’  มีที่ว่างให้กับสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสในสังคม

จิตวิญญาณที่คิดพ้นไปจากตัวเอง จักเกิดขึ้นได้ก็เมื่อนำตัวเองเข้าเผชิญกับโลกที่กว้างใหญ่ ทั้งโลกภายในและโลกภายนอกตัวเอง

ยิ่งมุ่งหน้าเผชิญโลกที่กว้างใหญ่เท่าใด ย่อมรู้สึกว่าขนาดของตัวเราเล็กลง เช่นนี้แล้ว ลำพังเพียงใส่ใจแต่ตนเองย่อมไม่เพียงพอ  เพราะท่ามกลางขอบฟ้าที่กว้างใหญ่ของโลก ตัวตนเล็กๆ จะมีความหมายใด หากไร้ซึ่งสิ่งรอบตัวที่งดงาม มีคุณภาพ และชีวิตที่ดีสำหรับคนรอบข้างเราด้วย

แต่เราจะคาดหวังบทบาทของครูที่จะนำพาศิษย์ให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร ในเมื่อครูจำนวนมากวางตัวเป็นเพียง ‘คนขายบริการ(การศึกษา)’ ในทุนนิยมการศึกษา ใน McUniversity

 

–  7 –

 

แม้ระบบทุนนิยมจะมีข้อดีอยู่มาก ก็ข้อเสียก็ไม่น้อย เราจะจัดการผลด้านลบจากระบบทุนนิยมอย่างไร และวางท่าทีของตัวเองในการรับมือกับระบบทุนนิยมอย่างไร

จะข้ามพ้น ‘ระบบทุนนิยม’ อย่างไร หรือ ‘หลอมรวม’ ตัวเองกับระบบทุนนิยม ในทางที่ยังรักษาอุดมคติของตัวเองได้อย่างไร

ถึงเวลานี้ คงยังไม่มีคำตอบในเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ไม่สุกงอมพอที่จะก้าวข้ามไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เราไม่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โต คำตอบคงไม่ใช่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมอะไรเทือกนั้น  คำตอบคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงข้างล่าง คำตอบคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจาก ‘คุณพ่อรู้ดี’ หยิบมือหนึ่ง ไม่ว่า ‘คุณพ่อรู้ดี’ เหล่านั้นจะมีคุณธรรมมากเพียงใด

ทางออกคงอยู่ที่แนวคิด ‘ทางเลือก’ และการต่อสู้ของปัจเจกชน ผู้ท้าทายกระแสหลัก ซึ่งเสนอทางออกที่หลากหลาย

คนอย่าง Cameron Sinclair ผู้พยายามจะโต้คลื่นระบบทุนนิยม ก็พยายามข้ามพ้นแนวคิดสถาปัตยกรรมศาสตร์กระแสหลักด้วยคำตอบรูปแบบหนึ่ง

คำให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งของเขาในเว็บไซต์ Designboom.com เขากล่าวว่า

“คนจะมองว่าคุณเป็นคนหัวรั้น จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจเจตนารมณ์ของคุณจริงๆ แล้วถึงเรียกคุณว่ามีวิสัยทัศน์กว้างไกล คุณควรจะมองความผิดหวังและความโดดเดี่ยวไร้คนสนับสนุนว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง  เหล่านี้จะทำให้ความสำเร็จของคุณคุ้มค่ากว่าเดิม”

เมื่อปัจเจกชนสู้และยังคง ‘ยืนเด่นโดยท้าทาย’ กันจำนวนมาก คงหวังต่อได้ว่า นั่นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งใหญ่ขึ้น แต่จะเป็นรูปแบบไหน นำไปสู่อะไร คงไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน ไม่สามารถ ‘ออกแบบ’ ได้ดังใจ แต่มีปัจจัยที่ควบคุมคาดการณ์ไม่ได้ระหว่างทางอีกมาก มีโชค มีจังหวะ มีอุบัติเหตุ มีจุดพลิกผัน มี chance เป็นองค์ประกอบสำคัญ

แต่ประวัติศาสตร์ยังช่วยให้เราอุ่นใจได้ว่า บ่อยครั้ง โลกเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ด้วยน้ำมือคนเล็กๆ ในวงแคบๆ ก่อนที่แรงสั่นสะเทือนจะเคลื่อนตัวขยายวงกว้างออกไป จนเกิดเป็นกระแส(หลัก)ใหม่ในที่สุด

สำหรับ คนอย่าง Cameron Sinclair คำตอบของวงการสถาปนิกในอนาคต ไม่ได้อยู่ที่ตึกระฟ้าสูงเด่นสวยงามในเมืองใหญ่ แต่อยู่ที่ ‘ชุมชน’ อยู่ที่ ‘ท้องถิ่น’

Sinclair ไม่เชื่อว่ามี ‘ยูโทเปีย’ ไม่มีโลกพระศรีอาริย์  ปัญหาต่างๆ ที่สถาปนิกเผชิญ หรือปัญหาที่สถาปนิกสามารถเข้าไปมีส่วนสร้างให้ดีขึ้น ล้วนเป็นปัญหาในท้องถิ่น ต้องตอบโจทย์ด้วยท้องถิ่นหรือชุมชนเท่านั้น

ทีมออกแบบ AFH ของเขา จึงเริ่มต้นจากปัญหาของท้องถิ่น ทีมสถาปนิกลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร เขาไปที่แอฟริกาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบ้านช่วยคนจน แต่จบลงที่คลินิกเคลื่อนที่ เพราะพบว่าความต้องการสูงสุดของชาวบ้านคือการเข้าถึงบริการสุขภาพ

สถาปนิกควรออกแบบเพื่อสร้างงานที่มี ‘ความหมาย’ ต่อผู้ใช้ ต่อชุมชน ต่อชาวบ้าน ต่อความต้องการที่แท้จริง  เราต้องการ grass-root movement ของวงการสถาปนิก ออกแบบและสร้างสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่สถาปนิกต้องการ

การออกแบบควรเป็น socially-responsible design เป็นการออกแบบที่รับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงปัญหาในสังคม (socially conscious design) คำนึงถึงคนยากคนจน มีจิตใจสาธารณะเพื่อให้โลกดีขึ้น

การออกแบบควรเป็น sustainable design มีความยั่งยืน ใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

เวทีของการออกแบบควรเป็นเวทีเปิด ที่อาศัยแรงสมองของสถาปนิกจำนวนมากรวมหัวช่วยกันคิด แลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ มากกว่าจะเป็นไอเดียผูกขาดของใครคนใดคนหนึ่ง และต้องให้ชาวบ้านในชุมชน หรือผู้ใช้ประโยชน์จากงานออกแบบ มีส่วนร่วมในกระบวนการคิดแลกเปลี่ยนด้วย

วิธีของ Sinclair คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างเวทีเปิดผ่านทางเว็บไซต์  ใช้โลกที่แคบลงเป็น ‘โอกาส’ ในการเปลี่ยนแปลงโลก  นวัตกรรมล่าสุดของเขาคือสร้าง open architecture network (www.openarchitecturenetwork.org)  ที่ใช้แนวคิด open source มาประยุกต์ใช้กับวงการสถาปนิก เพราะการออกแบบที่ช่วยคนได้จริงต้องระดมสมองจากทุกฝ่าย ทั้งสถาปนิก ผู้เดือดร้อน และองค์กรพัฒนาเอกชน

Sinclair ใช้เว็บเป็นเวทีกลางในการออกแบบ งานออกแบบไม่มีลิขสิทธิ์ นำแบบไปใช้ได้ฟรี เปิดโอกาสให้สถาปนิกเข้ามาวิจารณ์ แลกเปลี่ยน ต่อเติม ดัดแปลง และนำไปผลงานของคนอื่นไปทดลองใช้ต่อได้  แต่มีระบบให้เครดิตแก่เจ้าของไอเดียเบื้องต้น (แต่ไม่ใช่ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน) ไม่ใช่เจ้าของแบบหวงและนอนกอดแบบของตัวเองไว้ข้างอก

ปรัชญาของ open source คือความเชื่อที่ว่า ‘หลายหัวดีกว่าหัวเดียว’ การพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นจากการผูกขาดด้วยลิขสิทธิ์ของผู้ออกแบบตั้งต้น แต่การไม่มีลิขสิทธิ์ เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาต่อยอดความคิดและนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้สวัสดิการของสังคมและโลกดีขึ้นในบั้นปลาย

แนวคิด ‘ลิขสิทธิ์เปิด’ ขัดกับหลักทุนนิยม หรือหลักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อว่า ถ้าไม่ให้อำนาจผูกขาด (ผ่านระบบลิขสิทธิ์) แก่ผู้คิดค้น ก็จะไม่มีแรงจูงใจ ให้ใครอยากคิดสร้างสรรค์ ไม่มีใครอยากผลิต เพราะผลิตออกมาก็ถูกเลียนแบบ ความก้าวหน้าก็จะไม่เกิด

แต่ประจักษ์พยานข้อเท็จจริงในช่วงครึ่งทศวรรษหลัง  กรอบความคิดที่มีข้อสมมติว่า ‘คนเป็นสัตว์เศรษฐกิจ’ ไม่สามารถอธิบายการพัฒนาซอฟแวร์เทคโนโลยีผ่าน open source ในระบบโค้ดเปิดได้ ไม่สามารถอธิบายการเติบโตของวิกิพีเดีย สารานุกรมที่คนทั้งโลกช่วยกันเขียนโดยไม่ได้รับผลตอบแทน ไม่สามารถอธิบายการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org) หรือเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) ได้

คนอย่าง Sinclair เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เอาเข้าจริง สถาปนิกมีบทบาทสำคัญในการออกแบบเพื่อมนุษยชาติ

คติพจน์ประจำใจของเขา ซึ่งเป็นชื่อหนังสือที่โด่งดังของเขาและทีมงาน AFH เมื่อปีที่แล้ว ก็คือ

“Design Like You Give A Damn”[2]

ออกแบบ แบบที่คุณแคร์ คุณใส่ใจ ออกแบบแบบให้มีความหมาย ให้ใช้ประโยชน์ได้จริง ให้คุ้มค่า ให้มีประสิทธิภาพ ออกแบบแบบเนื้อๆ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่วางโครงสร้างแพงเกินจริง (overpriced structure)   ไม่ใช่การออกแบบที่ยึด ‘ตัวตน’ ของสถาปนิกเป็นตัวตั้ง แล้วให้โลกโคจรหมุนรอบอีโก้ของเขา

ออกแบบ like you give a damn

น่าคิดว่า สถาปนิกไทยคิดอย่างไรกับแนวคิดสถาปัตยกรรมศาสตร์ทางเลือกของ Sinclair ผู้คิดและลงมือทำจริงให้เราเห็น

Sinclair เคยให้สัมภาษณ์ว่า

“บทบาทของสถาปนิกในสังคมมีเพียงสองแบบ ทำให้ชุมชนดีขึ้น ไม่ก็ทำให้แย่ลง  ผมคิดว่าวงการสถาปนิกโดยรวมต้องการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ แต่โชคร้ายที่สื่อวงการออกแบบมักพุ่งความสนใจไปที่ สถาปนิกดารา (stararchitect) เพียงไม่กี่คน ซึ่งยิ่งตอกย้ำทัศนคติของคนทั่วไปว่า วงการนี้มีหน้าที่รับใช้คนรวยเท่านั้น

ผมไม่ได้ขอให้นักออกแบบเลิกทำงานออกแบบให้บริษัทเอกชน รัฐบาล หรือลูกค้ารวยๆ แต่เพียงขอให้พวกเขาเจียดเวลาทำงานสัก 1% มาช่วยคนจน ที่ต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญของพวกเขาจริงๆ”

คนอย่าง Sinclair บอกเราว่า ความสำคัญของสถาปนิก นักออกแบบ ไม่ได้อยู่แค่การสร้างบ้านสร้างตึก แต่อยู่ที่การเป็นกำลังสำคัญในการ ‘ออกแบบ’ และลงมือสร้างโลกใบใหม่ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม สร้างอนาคต เพื่อคนเล็กคนน้อยที่ขาดแคลน เพื่อชุมชนที่ยากไร้

ท่านคงเคยได้ยิน คำขวัญการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านทุนนิยมทั่วโลกคือ “Another world is possible.” ระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่เป็นไปได้ในโลกนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากระบบทุนนิยม

แต่ผมชอบคำขวัญของกลุ่ม World changing เว็บไซต์ซึ่งรวบรวมนวัตกรรมที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นจากคนเล็กคนน้อย (www.worldchanging.com)[3] ที่ยั่วล้อคำขวัญข้างต้น

“Another world is here.” โลกใบใหม่อยู่ที่นี่แล้ว

มันเกิดขึ้นแล้ว มีคนลงมือทำแล้ว มีคนถางทางแล้ว

โลกใบใหม่หลายใบเกิดขึ้นด้วยน้ำมือสถาปนิกนักออกแบบ ผู้สร้าง อย่างพวกท่าน ผู้มีส่วนสร้างบ้านสร้างตึกมากมาย และมีส่วนสร้างสถาปนิกหน้าใหม่ประดับวงการมากมาย

ผมขอทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำในบทความของอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า

“มนุษย์ถูกสอนให้เชื่อว่า คุณธรรมอันสูงสุดคือการบริจาค แต่มนุษย์จะให้ไม่ได้ ถ้าไม่สร้างเสียก่อน” [4] 

นี่อาจถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่า สถาปนิกไทยจะ ‘ออกแบบ’ และ ‘สร้าง’ อนาคตของวงการสถาปัตยกรรมไทยต่อไปอย่างไร เพื่อรับใช้สังคมไทย และทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น

ขอบพระคุณครับ

……………………….

อ้างอิง

[1] บทความเรื่อง “Cameron Sinclair สถาปนิกผู้รณรงค์ ‘การออกแบบเพื่อมนุษยชาติ’ ” โดย สฤณี อาชวานันทกุล ตีพิมพ์ในเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 (http://www.onopen.com/2007/02/1497) คำให้สัมภาษณ์ของ Sinclair ที่ปรากฏในบทนำการเสวนานี้นำมาจากบทความชิ้นนี้

[2] Architecture for Humanity (ed.). 2006. Design Like You Give a Damn: Architecture Response for Humanitarian Crises. Metropolis Books.

[3] สนใจรายละเอียดอ่าน Alex Steffen. 2006. World Changing: A User Guide for the 21st century. Harry N. Abrams, Inc.

[4] บทความเรื่อง “The fountain head” ในหนังสือ แสงอรุณแห่งสถาปัตยกรรม โดย รศ.แสงอรุณ รัตกสิกร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 28

Print Friendly