ThaiPublica Forum ครั้งที่1 – “พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟู แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา?”

เมื่อวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2555 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนา "พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟู แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา?"

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนาในหัวข้อ “พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟู แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา” โดยมีวิทยากรได้แก่ นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการคลัง (สวค.) นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และอดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) บมจ. ท่าอากาศยานไทย ดำเนินการเสวนาโดย นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยเนื้อหาของการเสวนามีรายละเอียดและหลายประเด็นน่าสนใจ เพื่อประโยชน์กับผู้ที่สนใจต้องการได้ข้อมูลอย่างครบทุกด้าน สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงขอนำเสนอรายละเอียดทั้งหมดในรูปแบบ “ถาม-ตอบ” ในวงเสวนาดังนี้

ปกป้อง : ขอเชิญอาจารย์คณิศคุยก่อน ในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง และเข้าใจว่ามีบทบาทในช่วงต้นด้วยว่าการออก พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จริงๆ แล้ว พ.ร.ก. นี้แก้ปัญหาใหญ่ๆ ของหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ไหม หรือจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ๆ ตามมา

คณิศ : เรื่องนี้เป็นเรื่องมหากาพย์จริงๆ และหลายท่านที่อยู่ที่นี้ อย่างคุณสุชาดา ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เป็นคนที่รู้เรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ดีที่สุดแล้ว คุณนิตินัยกับผมก็เคยทำสมัยอาจารย์ชัยวัฒน์ (วิบูลย์สวัสดิ์) กับอาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) อยู่ตอนนั้น ที่บอกว่าแบงก์ชาติรับผิดชอบเงินต้น กระทรวงการคลังเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยนั้น เราเป็นคนทำเองเมื่อหลายปีแล้ว แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา อยากบอกข้อมูลให้ตรงกันก่อน จะได้ไม่งง คือจริงๆ แล้ว ตอนที่เสนอ พ.ร.ก. 4 ฉบับ ได้แก่

1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (ส่งตีความ) เป็นการให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุนแก้ไขและวางระบบน้ำ

2. พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555 ที่ให้จัดตั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท เพื่อขยายทุนประกันของประเทศ

3. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555 เป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูก 300,000 ล้านบาท โดย ธปท. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูกมาผสมกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์

4. พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 (ส่งตีความ)

พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ เรียงกันตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งลำดับในการเรียงนี้ถือว่ามีความหมาย โดยเรียงเรื่องกู้เงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุนแก้ไขและวางระบบน้ำไว้เป็นลำดับที่ 1 ส่วนลำดับที่ 2 เป็น พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัย ลำดับที่ 3 เป็นเรื่องซอฟต์โลน 300,000 ล้านบาท ซึ่งในความเห็นของผม พ.ร.ก. ที่มีบทบาทช่วยหลังน้ำท่วมมากที่สุดคือ พ.ร.ก. ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติ เป็นเรื่องที่ดีแต่มีคนพูดถึงน้อยมาก และจึงมาเป็น พ.ร.ก. ฉบับที่ 4 เรื่องโอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่เราพูดถึงกัน

ประเด็นคือ ที่ร้อยเรียงทั้ง 4 ฉบับ ไว้ด้วยกัน เพราะเขาบอกว่ามีความจำเป็นและเร่งด่วน ถ้าไม่ทำฉบับที่ 4 ก็จะทำฉบับที่ 1-3 ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีความเกี่ยวข้องตามที่รัฐบาลบอกไว้ แต่ว่าเรื่องนี้ ตอนที่ผ่านออกมาเป็น พ.ร.ก. ฝ่ายค้านกับฝ่ายวุฒิสภาไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่เร่งด่วน เนื่องจากไม่มีโครงการชัดเจน ส่วน พ.ร.ก. กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เร่งด่วน เพราะปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเรื่องเก่า

ทีนี้ไปดู พ.ร.ก. ฉบับที่ 4 ในเชิงของการเขียนกฎหมาย เขาเขียน พ.ร.ก. ฉบับที่ 4 ไว้แล้วให้เหตุผลในการประกาศใช้ คือ การเกิดวิกฤติอุทกภัย รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องบูรณะประเทศ โดยการจัดให้มีการลงทุน ซึ่งต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลายแนวทาง แนวทางหนึ่งคือ การต้องลดงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ ประมาณ 65,000 ล้านบาทต่อปี ต้องขอลดตรงนั้นก่อน เพื่อที่จะได้มีเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่น

นี่คือการร้อยเรียงโดย 3 ฉบับแรก จะมีการใช้จ่าย ยกเว้นฉบับที่ 3 จะนำเงินแบงก์ชาติมาใช้ และอันที่ 4 คือ บอกว่าถ้าจะกู้เงิน 350,0000 ล้านบาท กับจัดตั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท จำเป็นที่จะต้องลดภาระ 65,000 ล้านบาท ที่เป็นดอกเบี้ยลง การแก้ปัญหานี้จะทำอย่างไร ก็ให้แบงก์ชาติมีอำนาจเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นอัตราร้อยละต่อปีของยอดเงินฝาก แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 1% นี่คือข้อเท็จจริง (ระบุไว้ในมาตรา 8 ของ พ.ร.ก. ฉบับที่ 4)

แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นว่า แม้วิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นผ่านมาเป็นเวลา 15 ปี แต่การแก้ปัญหาความเสียหายยังไม่สัมฤทธิ์ผล หนี้เงินกู้ยังเป็นหนี้สาธารณะอยู่ เพราะฉะนั้น พ.ร.ก. นี้ได้กำหนดวิธีบริหารจัดการหนี้เงินต้นเอาไว้ให้เสร็จสิ้นภายใน 25 –27 ปี สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ ศาลถือว่ามีนัยสำคัญต่อการลงทุนของประเทศ หมายความว่าดอกเบี้ย 65,000 ล้านบาท มีนัยสำคัญต่อการลงทุนของประเทศ จึงเห็นว่าตรงนี้เป็นการเข้าไปแก้ไข และเป็นประโยชน์อันก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

และศาลรัฐธรรมนูญยังบอกว่า รัฐบาลต้องบังคับใช้ พ.ร.ก. นี้ เพื่อให้มีเวลาเตรียมการในการเรียกเก็บเงินนำส่ง 0.47% จากแบงก์ให้ทันใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ และบอกว่าหลายโครงการเป็นงบประมาณปี 2556 ซึ่งไปเพิ่มไม่ทัน จึงถือว่ามีความเร่งด่วน

ดังนั้น ข้อเท็จจริงคือ ศาลในฐานะผู้แทนของเรา ถือว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์อันรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นกรณีฉุกเฉิน (เอกสารประกอบการเสวนาของ ดร. คณิศ แสงสุพรรณ)

ปกป้อง : การออกแบบแบบนี้ จะทำให้ พ.ร.ก. มีความสามารถไปจัดการปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ ได้อย่างไร

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการคลัง (สวค.)

คณิศ : ตอนนี้ เท่าที่ลองคำนวณการเก็บเงินนำส่ง 0.46% จากธนาคารพาณิชย์ มีเงื่อนไขหลายอย่าง ตอนแรกจะเก็บมากกว่านั้น แต่ไปดูแล้วเมื่อมีรายได้ของแบงก์ชาติที่ต้องได้ และสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหลาย ก็บอกว่า 25 ปี พอได้ แต่อาจจะมีการขาดแคลนบางช่วง เช่น รายได้แบงก์ชาติไม่เข้าเป้า แต่ในระยะทั้งหมด ตัวผลรวมออกมาพอได้ ตามการคำนวนแล้ว ถ้าเหตุการณ์ออกมาเป็นแบบนี้ก็น่าจะพอเป็นไปได้ ไม่ต้องเก็บเงินนำส่งมากกว่านี้

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ตอนแรกที่ท่านรัฐมนตรีธีระชัย (ภูวนาถนรานุบาล) เข้ามาก็บอกว่า เนื่องจากแบงก์เป็นผู้ที่ได้ผลประโยชน์โดยตรงจากการแก้ไขปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ ท่านบอกว่ามีทางเลือกอีกทาง ตอนที่รัฐบาลจะลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% แบงก์จะได้กำไรส่วนเกินประมาณ 0.1 หรือ 0.12% ของฐานเงินฝาก

เพราะฉะนั้น เวลาลดภาษีลง แบงก์จะได้กำไรส่วนเพิ่มอยู่แล้ว จึงแบ่งส่วนนั้นมา 0.07% ให้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ได้เต็มจำนวนที่ธนาคารพาณิชย์จะได้ ดังนั้นไม่น่ามีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์

ถ้าจะไปลึกกว่านี้ ย้อนกลับไปตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามาครั้งแรก ก็มีข้อเสนอให้โอนหนี้ไปที่กองทุนฟื้นฟูฯ ให้แบงก์ชาติ เมื่อก่อนเคยใช้เงินต้นอยู่ ตอนนี้ใช้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และมีวิธีไปเอาเงินจากธนาคารพาณิชย์มาใช้ด้วย ตอนแรกที่มาเขาไปไกลกว่านั้น บอกว่าจะโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ให้บัญชีแบงก์ชาติโดยตรง นั่นคือเงื่อนไขแรกที่รัฐบาลมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่ายังไงก็ตามเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติทำ แบงก์ชาติก็ต้องใช้หนี้ไป

แต่พวกเราที่เป็นข้าราชการประจำพยายามโต้ว่าโอนไม่ได้ด้วยหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งก็คือ ผู้ลงทุนถือบอนด์รัฐบาลอยู่ แล้วรัฐบาลจะเอาบอนด์แบงก์ชาติมาถือ ต้องถามผู้ลงทุนด้วยว่ายอมหรือเปล่า และดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไหร่ เพราะบอนด์ของแบงก์ชาติหรือบอนด์กองทุนฟื้นฟูฯ นั้นเรทติ้งไม่เท่ากับของกระทรวงการคลัง และบอนด์ที่อยู่กับผู้ลงทุนก็ไม่ได้เก็บไว้เฉยๆ ผู้ลงทุนสามารถนำไปกู้หรือเอาไปทำอย่างอื่น ดังนั้น ด้วยกระบวนการก็ทำไม่ได้แล้ว แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ออกมาด้วยทางเลือกนี้

ปกป้อง : ร่าง พ.ร.ก. ร่างแรก มีมาตรา 7 (3) ที่บอกไว้ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจโอนทรัพย์สินของแบงก์ชาติและกองทุนฟื้นฟูฯ ทุกอย่างเข้าไปชำระหนี้ได้ ที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไรครับ

คณิศ : อันนั้นอันตรายมาก ที่มาที่ไปเขาเขียนไว้ว่าถ้าเป็นแบบนั้น เขาคิดว่าถ้าจะทำ เขาจะกึ่งๆ ว่าจะโอนไปให้ แล้วไปหักกลบกับสินทรัพย์ของแบงก์ชาติ ตอนแรกที่คิดเป็นอย่างนั้น แต่ในเชิงการเขียนกฎหมาย พวกเราที่เป็นข้าราชการประจำบอกว่าทำไม่ได้ เพราะสินทรัพย์ของแบงก์ชาติไม่มีใครเข้าไปจัดการได้ จะขัดกับ พ.ร.บ. หลายฉบับ

ในที่สุดเลยออกมาตรงกลางแบบนี้ และศาลก็บอกว่าเร่งด่วน และจำเป็นให้ทำได้ เราคำนวณแล้วก็คิดว่าพอเป็นไปได้ และมันจะมีผลถึงธนาคารไม่เยอะมาก เมื่อหักลบกับภาษีที่ปรับลด คิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์มาก แต่ผลกระทบจะตกอยู่กับธนาคารของรัฐมากกว่า

โดยที่ตกลงกันคือ จะเก็บเงินนำส่ง 0.47% ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐด้วย หลักการตรงนั้นทุกคนเห็นด้วย ว่าตอนหลังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาแย่งเงินฝากของธนาคารเอกชนอยู่ จึงเก็บให้เท่ากัน แต่เงินที่เก็บกับสถาบันการเงินของรัฐจะไม่นำมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ โดยตรง เพราะใช้หลักการเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ เนื่องจากธนาคารของรัฐมีรัฐบาลค้ำประกัน 100% รัฐบาลจะไปขอเก็บมาเพื่อค้ำประกันอีกจะเป็นการคิดซ้ำ 2 ครั้ง ซึ่งเขาก็ไม่ทำกัน

แต่เงินที่เก็บจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไปทำอะไรสักอย่าง ซึ่งยังไม่รู้ ดังนั้น ในส่วนนี้มี 2-3 ประเด็น ที่เราจะต้องตามดูว่า เงินนำส่งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อาจนำเข้ากองทุนพัฒนาประเทศนั้น จะนำไปทำอะไร

ทั้งนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาบอกว่า ต้องใช้เงินประมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปี สำหรับเก็บเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ ก็เป็นอัฐยายซื้อขนมยาย เพราะ ธอส. จะต้องเก็บมาให้รัฐบาล ก็คือการไปหักกับที่นำส่งรัฐบาลนั่นเอง จึงไม่ได้กระทบอะไรเท่าไหร่ในโครงสร้าง เพียงแต่ว่าที่ต่างกันคือ เงินจำนวนนี้จะไปอยู่ในกองทุนพัฒนาประเทศ ไม่ได้อยู่ในระบบงบประมาณปกติ ถ้าเขาคืนให้รัฐบาล ก็เป็นกำไรเข้าอยู่ในงบประมาณปกติ แต่ถ้าเขาไปตั้งเป็นกองทุน เงินจะออกไปข้างนอก เราก็ต้องตามดูว่ากองทุนพัฒนาประเทศทำอะไร

เราเคยมีกรณีที่สีเทาๆ ในทางการคลัง ผมเชื่อว่าเราไม่ค่อยชอบให้ตั้งกองทุนที่เป็นแบบนี้ อย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่ตัดนำเงินภาษีไปตั้ง ก็จะมีปัญหาเสมอเรื่องธรรมาภิบาล เพราะไม่มีการกำกับดูแล อะไรที่ออกไปนอกระบบระเบียบงบประมาณก็มีปัญหาเรื่องนี้เสมอ เป็นเรื่องที่เราต้องตามดู

ทั้งหมดนี้พยายามเล่าให้ฟังว่า ตามลำดับเหตุการณ์ของมัน ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาหลายครั้ง แล้วก็หนักขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนแรกก็คือเงินต้นแบงก์ชาติใช้ ดอกเบี้ยกระทรวงการคลังใช้ ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ใช้ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย แล้วก็หนักไปทางแบงก์ชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เปิดทางไว้ให้ไปหาร่ายได้จากที่อื่น

ปกป้อง : เมื่อฟังจากมุมมองของอาจารย์คณิศที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังแล้ว ท่านรองผู้ว่าแบงก์ชาติคิดว่าเป็นอย่างไร ตอนแรกที่ทางแบงก์ชาติเห็นความต้องการของฝั่งรัฐบาล ก็มีการถกเถียงเชิงนโยบายกันอยู่พอสมควร จนมาถึงหน้าตาล่าสุด ท่านรองฯ คิดว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ พอเอาอยู่ไหมครับ ในแง่ของการจัดการปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟู

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สุชาดา : สำหรับครั้งแรกที่คุยเรื่อง พ.ร.ก. นี้คือวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ว่าจะโอนเรื่องภาระหนี้ไปเลยทั้งต้นทั้งดอก ทั้งที่ตอนนั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นหนี้หรือภาระหนี้ของใคร จริงๆ แล้วดอกเบี้ยก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลใช้ทั้งหมด เพราะที่สุดแล้ว ตาม พ.ร.ก.ปี 2541 ถ้ารัฐบาลชำระดอกเบี้ยหนี้ FIDF 1 ไปแล้ว แบงก์ชาติต้องมาชำระคืนด้วยในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา แต่ในภาพสุดท้ายที่ออกมาในช่วง 2 เดือนนี้ถือว่าดีพอสมควร พ.ร.ก. ฉบับนี้ตอบโจทย์หลายเรื่อง หนึ่ง แบงก์ชาติไม่พิมพ์เงิน สอง ไม่เป็นการเอาเงินสำรองฯ ออกจากทุนสำรองเงินตรา และสาม ไม่ได้เป็นภาระหนี้กับรัฐบาลอีกต่อไป และยังมีข้อจำกัดไม่ให้กระทบผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน และผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าดี

พ.ร.ก. ฉบับนี้มีการแก้ไปแก้มา จนในที่สุดมันก็ออกมาได้แบบนั้นจริงๆ เพราะ พ.ร.ก. นี้ ข้อแรกคือ รัฐบาลไม่ต้องให้แบงก์ชาติพิมพ์เงิน และจะมีแหล่งที่มาของการชำระหนี้ที่ชัดเจนตามมาตรา 8 ที่เงินนำส่งหรือเงินที่มาจากกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ตาม หรือเงินที่มาตาม พ.ร.ก. ปี 2541 และ ปี 2545 ยังอยู่ ที่ว่าเงินกำไรจากแบงก์ชาติ หลังหักเงินทุนสะสม หรือเงินจากบัญชีผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น มีแหล่งที่มาเพิ่มขึ้นอีก 1 แหล่ง ก็คือจากสถาบันการเงิน และตรงนี้ที่เป็นข้อดีก็คือ คิดบนฐานเงินที่รับจากประชาชน ซึ่งจะโตขึ้นเรื่อยๆ

ปกป้อง : เงินจากสถาบันการเงินจะใหญ่พอหรือมีพลังพอที่จะจัดการกับเงินต้นได้ไหมครับ

สุชาดา : ตอนที่เราคิดถึงการกำหนดอัตราไม่ให้เป็นภาระของผู้ฝาก ผู้กู้ และผู้ถือหุ้น ก็อยู่ตรงนี้ที่ว่าอัตราอะไร ที่จะไม่ทำให้กระทบแบบนั้น ถ้าเก็บอัตราเงินนำส่ง 0.4% แน่นอนว่าจะไม่กระทบอะไรเลย แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะ 0.4% ไม่พอ ถึงแม้ว่าเราจะไปลดภาระที่ให้กับสถาบันคุ้มครองผู้ฝากเงินก็ตาม และคิดบนฐานที่ใหญ่ขึ้นแล้ว คือฐานของเงินฝากบวกกับเงินที่รับจากประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นทั้งหลาย หรือเงินฝากประเภทอื่นที่ในอดีตไม่เคยได้รับการคุ้มครองเงินฝาก ก็มีการรวมเข้ามาอยู่ในฐานการคำนวณทำให้กว้างขึ้น (เอกสารประกอบเสวนานางสุชาดา กิระกุล)

ปกป้อง : ทีนี้ 0.07% ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต้องรับภาระ และสถาบันการเงินจะผลักภาระไปให้ประชาชนผู้ฝากเงินได้ไหมครับ

คณิศ : อย่างที่บอกว่ามันมีกำไรส่วนหนึ่งที่ได้มาจากการปรับลดภาษีนิติบุคคล ดังนั้นสุทธิแล้ว ธนาคารพาณิชย์ก็ยังได้กำไรเยอะ

สุชาดา : อย่างไรก็ตาม ตัวฐานที่ใหญ่ขึ้นก็ช่วยแล้ว และที่ไม่ควรกระทบผู้กู้เพราะว่า มีการตกลงกันตอนที่มีการหารือกัน ระหว่างสถาบันการเงิน รัฐมนตรีคลัง แบงก์ชาติ และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ว่าอัตราที่คิดออกมาแล้ว 0.47% โดยนำส่งให้แบงก์ชาติ 0.46% นั้น เราลองทำแบบจำลองว่า

ถ้าเงินฝากโตปีละ 4% ก็ถือว่าค่อนข้างระมัดระวัง และจะมีเงินจากแหล่งอื่น จากบัญชีผลประโยชน์ประจำปีของแบงก์ชาติ ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท หรือเงินจากกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งปัจจุบันมีเงินอยู่ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท และมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 150,000 – 160,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท รวมๆ แล้วก็น่าจะเพียงพอ และอย่างน้อยในปีนี้รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้แล้วจนถึงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเดือนกันยายนจะมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยค่อนข้างมากประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาท

ทำให้อย่างน้อยเงินที่เก็บได้งวดแรก 20,000 – 30,000 ล้านบาท แบงก์ชาติต้องกันไว้ เพื่อความระมัดระวังสำหรับสำรองในบางเดือน ที่อาจเก็บเงินได้ไม่พอชำระดอกเบี้ย ซึ่งเราจะขาดการชำระดอกเบี้ยไม่ได้เลย เนื่องจากรัฐบาลจะมีความผิดหากขาดส่งดอกเบี้ย ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ ต้องกำกับตรงนี้อย่างใกล้ชิด ว่าเงินที่เก็บเข้ามาจะบริหารจัดการอย่างไร ให้เพียงพอกับกระแสเงินสดที่จะต้องจ่ายทุกเดือน

ตอนนี้ หนี้ของกระทรวงการคลังบางส่วนเป็นหนี้แบบลอยตัว ก็พยายามจะเปลี่ยนให้เป็นพันธบัตรดอกเบี้ยคงที่ เราก็จะทราบแน่นอนในแต่ละเดือนว่ามีภาระเท่าไร แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายนี้ “ไม่ได้เปิดช่อง” ให้แบงก์ชาติหรือกองทุนฟื้นฟูฯ ไปกู้เพื่อที่จะมาชำระในกรณีที่เงินขาดมือ ดังนั้น ข้อห่วงใยก็คือ หากตรงนี้เกิดบังเอิญไม่เป็นไปตามข้อสมมติฐานที่เราทำว่าดอกเบี้ยในอนาคตจะไม่เกิน 5% ต่อปี ฐานเงินฝากโต 4% จะทำอย่างไร

แต่ถ้าทั้งหมดนี้เป็นไปตามสมมติฐาน ก็จะอยู่ในความสามารถที่จะไม่ขาดเลยสักเดือนเดียว ภายใต้เงินนำส่งในอัตรา 0.46% และถ้าฐานเงินฝากโตไปเรื่อยๆ นอกจากจะชำระดอกเบี้ยได้แล้ว ยังมีเหลือชำระต้นด้วย ในสมมติฐานนี้ก็ยังไม่รวมกำไรจากแบงก์ชาติ เพราะตอนนี้ยังขาดทุนสะสมอยู่ คงใช้เวลาอีกหลายปี ข้อสมมตินี้จึงค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้ว น่าจะไม่เกิน 25 ปี ก็จะทำได้

ปกป้อง : การเก็บเงิน 0.47% แบบนี้ มันกระทบระหว่างแบงก์เอกชนกับแบงก์รัฐ หรือแบงก์ใหญ่กับแบงก์เล็ก บ้างไหมครับ

สุชาดา : ก็มีส่วนบ้าง เพราะแบงก์เล็กในอดีตเขาต้องพึ่งตั๋วแลกเงิน เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่ต้องเสียอัตราคุ้มครองผู้ฝากเงิน แต่ว่าภายใต้ พ.ร.ก. นี้ เก็บเงินรับจากประชาชนหมดเลย

ดังนั้น ในภาพรวมทั้งระบบก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่อาจจะกระทบแบงก์เล็กบ้าง ก็ต้องมีการปรับตัว และโครงสร้างนี้ก็ไม่เป็นผลดีต่อระบบสถาบันการเงิน ซึ่งทางแบงก์ชาติก็พยายามหารือกับ ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เพื่อจะลดบทบาทความบิดเบือนตรงนั้น เนื่องจากการเก็บอัตราเงินนำส่งบนฐานเงินฝากแต่ไม่ได้เก็บจากฐานตั๋วบีอี ส่งผลให้มีการย้ายเงินฝากเปลี่ยนมาเป็นตราสารหนี้ หรือเป็นตั๋วบีอี

แต่พอมาเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ก็เป็นอีกประเด็น เพราะอีกหน่อยจะกลายเป็นว่า ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นว่ากลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินจะเริ่มมีประเด็น เพราะถ้าบทบาทธนาคารพาณิชย์ยังมาก เมื่อก่อนพอดอกเบี้ยนโยบายการเงินเปลี่ยน ธนาคารพาณิชย์จะปรับตาม แต่สถาบันการเงินเฉพาะกิจไม่ได้มีบทบาทที่เขาต้องตาม เพราะมีหน้าที่เฉพาะ ตอนนี้จะเห็นเมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% ธนาคารเฉพาะกิจหรือธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่ลด จนกระทั่ง กนง. ลดดอกเบี้ยครั้งที่สองลงไป 0.25% สถาบันการเงินถึงถึงได้ปรับลดดอกเบี้ยตาม ตรงนี้ก็จะเป็นข้อห่วงใยของแบงก์ชาติ

ถ้าสามารถมีการเก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารพาณิชย์ของรัฐได้จริง ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง โดยพระราชกำหนดที่จะออกเพื่อลดเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจาก 0.4% เหลือ 0.01% ทีแรกคาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 ก.พ.) ก็ไม่ได้เข้า

ดังนั้น ประกาศ ธปท. ก็ยังไม่ได้ออก เพราะต้องการให้มีผลพร้อมๆ กับพระราชกำหนด ไม่เช่นนั้นจะมีภาระกับสถาบันการเงิน เพราะถ้าแบงก์ชาติเก็บเงินนำส่ง 0.46% แล้วทางด้านสถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ได้ลด ก็เท่ากับเก็บทั้งสองด้าน และทางด้านสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็ยังไม่ชัดว่าจะออกเป็นอะไร มีหลักการแล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดในการปฏิบัติ

นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปกป้อง : ถ้าเก็บจริงจะส่งผลกระทบต่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากอย่างไร เมื่อก่อนเขาได้เงิน 0.4% ตอนนี้เหลือ 0.01% หลายคนฝากความหวังกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เวลาประเทศมีวิกฤต สถาบันการเงินจะได้มีเงินพอไปจัดการโดยไม่เป็นภาระกับรัฐบาลมาก แต่ตอนนี้สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะอ่อนแอลงไปหรือไม่ และอนาคตจะวนกลับไปเป็นปัญหาเหมือนเดิมอีกหรือไม่ คือเมื่อประเทศไทยมีวิกฤตใหม่ รัฐบาลก็ต้องเข้ามาจัดการ กลายเป็นว่ามีหนี้แบบนี้เกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นอีก

สุชาดา : ถ้า พ.ร.ก. ฉบับนี้เกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็จะไม่มีความหวังไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไร เพราะเราไม่สามารถจะไปเกลี่ยมาจากไหนได้ แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ออก พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมาแล้ว มาถึงตอนนี้มีเงินสะสมประมาณ 90,000 กว่าล้านบาท ก็มีความแข็งแรงในระดับหนึ่ง ประกอบกับมีการออก พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ที่ให้ทางการสามารถเข้าไปกำกับตรวจสอบดูแลกระบวนการต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนในอดีต

ณ วันนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ถือเป็นการเก็บในอัตราที่เร่งมาก่อน ต่างจากหลายประเทศเขาจะเก็บในอัตราต่ำไปจนถึง 10 ปี 20 ปี แล้วอาจจะเร่งขึ้น แต่ของประเทศไทยเริ่มเก็บแบบเร่งมาก่อน และเก็บมาเยอะแล้ว ตรงนี้ถือว่าประชาชนไม่ต้องห่วงใยมากนัก การตัดสินใจร่วมกันระหว่างกระทรวงคลังและแบงก์ชาติ มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และกระทรวงการคลังก็คงให้ความมั่นใจกับผู้ฝากเงิน

คณิศ : ตอนที่เราตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีการตั้งเป้าหมายว่า เมื่อมีสถาบันนี้แล้ว หากมีปัญหา รัฐบาลจะไม่ยุ่ง และไม่ต้องมีกองทุนฟื้นฟูฯ ทีนี้ต้องถามตัวเองดีๆ เวลาเกิดมีแบงก์ล้ม 1 แห่ง สถาบันประกันเงินฝากก็ทำงานได้ แต่ถ้าเป็นแบงก์ล้มทั้งระบบ เหมือนในอเมริกา ในยุโรป จะทำอย่างไรได้ ก็หนีไม่พ้นที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วย

เพราะฉะนั้น ต้องมองว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็น “ด่านแรก” เวลามีธนาคารมีปัญหาก็ใช้สถาบันคุ้มครองเงินฝากเข้าไปช่วย ส่วนรัฐบาลเป็น “ด่านสอง” เมื่อมีปัญหาแบงก์ล้มใหญ่อย่างอเมริกา ยุโรป หรืออย่างปี 2540 รัฐบาลก็ต้องเข้าไปช่วย ไม่มีใครใส่เงินเข้าไปในสถาบันคุ้มครองเงินฝากมากพอที่จ่ายเงิน 50% ของเงินฝากที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ กรณีแบบนี้ที่เก็บเงินไว้แล้วพอสมควร และรัฐบาลก็คอยช่วยอยู่ข้างหลัง เป็นวิธีคิดที่คิดว่าควรคิดอย่างนั้นมากขึ้น

ปกป้อง : ก่อนหน้าที่จะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ฝั่งรัฐบาลคิดทางเลือกหลายทางในการจัดการปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ คิดอย่างไรกับข้อเสนอที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น ใช้ทุนสำรองแบงก์ชาติที่มีอยู่มาก เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แม้แบงก์ชาติจะปล่อยลอยตัวแต่มีการจัดการ ทำไมแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย

สุชาดา : ข้อเท็จจริงคือทำไม่ได้ ถึงจะออก พ.ร.ก. ตัดเอาเงินสำรองระหว่างประเทศไปเลยก็ได้ แต่เงินสำรองฯ เป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อเอาไปแล้ว ในที่สุดก็ต้องเอาไปแลกกับตลาดและกลับมาอยู่ที่แบงก์ชาติใหม่ นอกจากนี้ ถ้าแลกในตลาดค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบภาคเศรษฐกิจจริง กระทบผู้ประกอบการ จนในที่สุดแบงก์ชาติก็ต้องเข้าไปดูแลใหม่ เข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศกลับมาสะสมใหม่ ทำแบบนั้นไม่มีประโยชน์

ปกป้อง : อีกวิธีที่ได้ยินว่า แบงก์ชาติควรหยุดแทรกแซงค่าเงินบาท แบงก์ชาติจะได้มีกำไรเอาไปจัดการกับเงินต้นได้ วิธีนี้แบงก์ชาติคิดอย่างไร

คณิศ : ถ้าแบงก์ชาติปล่อยเงินบาทแข็งขึ้น แบงก์ชาติก็จะขาดทุนมากขึ้น

สุชาดา : จริงๆ แล้วในแง่ของการที่จะปล่อยให้ค่าเงินยืดหยุ่น มีแบรนกว้างขึ้น ทั้งแข็งค่าขึ้นและอ่อนค่าลง อยู่ในแนวคิดของแบงก์ชาติมานาน และแบงก์ชาติก็ทำอยู่ ซึ่งเอกชนก็ปรับตัวได้ดี และปัจจุบันก็มีการป้องกันความเสี่ยงได้มากพอสมควร

โดยตอนนี้เห็นได้ชัดเลยว่า เมื่อบาทอ่อนค่า เดี๋ยวก็แข็งค่า หรือเมื่อบาทแข็งเดี๋ยวก็อ่อนลงมากได้ คนที่ผ่านรอบนี้ไปได้ก็ถือว่าแข็งแรง ช่วงนี้พอบาทแข็ง ผู้นำเข้าก็ต้องการนำเข้าสินค้ามาฟื้นฟู ก็มีคนคอยจ้องจะซื้อ พอเงินบาทอ่อนก็มีคนจ้องจะขาย ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทขึ้นๆ ลงๆ มีความยืดหยุ่นพอสมควร ตอนนี้ที่แบงก์ชาติต้องดูแลคือภาระเก่ายังมีอยู่ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าหยุดแทรกแซงค่าเงินวันนี้แล้วแบงก์ชาติจะมีกำไรส่งได้เลย เพราะดอกเบี้ยในประเทศยังสูงกว่าดอกเบี้ยข้างนอก

คณิศ : สัมมนาวันนี้จะเป็นโยชน์เพราะมี 2 ข้อเท็จจิรง ที่คนไทยควรจะเลิกพูดกันเสียทีคือ

1. โอนหนี้ทั้งหมดให้แบงก์ชาติ ซึ่งทำไม่ได้ อย่าพยายามพูดเรื่องนี้อีก เพราะยังงัยก็ทำไม่ได้ เลิกเถอะ

2. อย่าไปบอกว่าเอาเงินสำรองฯ แบงก์ชาติมาล้าง เพราะทำไม่ได้เช่นกัน

ทั้งสองทางเลือกนี้ เป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากสำรองเงินตราที่มีอยู่เป็นเงินตราต่างประเทศ เหมาะสมหรับไปลงทุนต่างประเทศ แต่ทันทีที่แปลงเป็นเงินบาท ตลาดเงินจะยุ่งมาก เขาไม่ทำกัน เพราะสุดท้ายแบงก์ชาติก็ต้องออกพันธบัตรแบงก์ชาติเข้าไปดูดกลับ ซึ่งจะปวดหัวมาก เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นประโยชน์ ทั้งสองเรื่องนี้ควรเลิกพูดกันอีก ขอให้จบกันตรงนี้

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

พิพัฒน์ : ขอเสริมตัวเลขตรงนี้ ที่หลายๆ คนอาจพูดว่า ทำไมแบงก์ชาติไม่รับหนี้ก้อนนี้ไปเลย ในเมื่อมีเงินสำรองฯ ถึง 1.78 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทก็ประมาณ 5-6 ล้านล้านบาท เอามาชดใช้หนี้ก้อนนี้ไม่ได้หรือ ก็ต้องมองคล้ายๆ บริษัทว่า ฝั่งเงินสำรองฯ คือฝั่งสินทรัพย์ ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติก็มีหนี้เกิดขึ้นจากการแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะฉะนั้น ทุนแบงก์ชาติไม่ใช่ 6 ล้านล้านบาท ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 6 แสนกว่าล้าน ดังนั้น มองทางด้านบัญชีก็โอนไม่ได้เหมือนกัน แม้จะมีผลทางด้านนโยบายอื่นๆ อีก ก็เลยเป็นข้อจำกัดหนึ่ง

ปกป้อง : ผลของ พ.ร.ก. จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาพใหญ่ภาพเล็กของเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ : ที่ท่านรองผู้ว่าการแบงก์ชาติพูดว่า ข้อตกลงรอบนี้ ธปท. ไม่ต้องจ่ายเพราะเหมือนกับข้อตกลงปี 2541 และ 2545 ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องจ่าย ผู้ฝากเงินไม่ต้องจ่าย ผู้กู้เงินไม่ต้องจ่าย คำถามคือใครจ่าย อยู่ดีๆ เอาเงินมาจากไหน ผมมองว่าคนเดียวที่เสียประโยชน์ในรอบนี้คือ “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” นั่นหมายความว่า ถ้ามีโอกาสเกิดวิกฤตภาคธนาคารในอนาคต รัฐบาลจะมีเงินแก้ปัญหาน้อยลง แม้จะมีด่านแรก แต่ด่านแรกเงินก็จะเพิ่มขึ้นน้อยลง เหมือนกับว่า เรากำลังขอยืมเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน

เพราะการที่เรามีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ข้อสำคัญคือเราสะสมไว้จ่ายเงินลดต้นทุนทางการคลังในอนาคต ถ้าไม่มีวิกฤตก็แล้วไป แต่ถ้ามี เงินตรงนี้ก็จะมีส่วนช่วยได้ทันที เปรียบเหมือนขับรถเราไปซื้อประกัน พอเราขับรถไปชนเราก็จะมีเงินจากประกันมาช่วยเราจ่าย ขณะที่ทุกวันที่เราขับรถเราก็ต้องจ่ายเบี้ยประกัน เหมือนกับว่า เราขอยืมเบี้ยประกันมาใช้ก่อน ถ้ารถชนในอนาคตไม่เป็นไร เรามีจากที่อื่นมาใช้อีก แต่เงินที่จะได้จากบริษัทประกันจะหายไป นัยหนึ่งคือ เป็นการโยกเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน

ดังนั้น ผลกระทบคือ หนึ่ง แทนที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะสามารถลดเบี้ยประกันลงได้ จากปัจจุบัน เราเก็บสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะฐานสำรองเงินฝากยังไม่เพียงพอ โดยหวังว่า ถ้ามีเงินฐานสำรองเงินฝากเพียงพอ ในอนาคตเราจะสามารถพัฒนาระบบคุ้มครองเงินฝากได้มากขึ้น เช่น สามารถเก็บค่าเบี้ยประกันตามความเสี่ยงของธนาคาร หรือสามารถลดอัตราเงินนำส่งเพื่อให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง แต่เมื่อโอนหนี้มา ทางเลือกนั้นก็ทำได้ช้าลง ในขณะเดียวกัน โอกาสที่จะลดต้นทุนทางการเงินจะน้อยลง ผลกระทบคือ ต้นทุนทางการเงินของธนาคารแม้ไม่สูงมากในปัจจุบัน แต่จะสูงมากขึ้นในอนาคตเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ต้องโอน

โดยภาพรวมคงไม่มีผลกระทบมาก ปัจจุบันผลกระทบต่อธนาคารแค่ 0.07% ในขณะเดียวกัน ฐานในการเก็บเงินนำส่งจะขยายใหญ่ขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างธนาคารขนาดใหญ่กับขนาดเล็กจะมีความแตกต่างในแง่ผลกระทบพอสมควร โดยธนาคารขนาดใหญ่ส่วนมากมีฐานเงินฝากเกือบทั้งหมด ธนาคารขนาดเล็กบางแห่งมีฐานที่ไม่ใช่เงินฝาก เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน (บีอี) ซึ่งบางธนาคารฐานการระดมเงินเข้ามา 3 ใน 4 ไม่ใช่เงินฝาก เพราะฉะนั้น ผลกระทบต่อธนาคารนั้นก็จะโดนมากกว่า

ดังนั้น ในภาพรวมในทั้งระบบจะมีผลกระทบไม่เยอะ แต่เมื่อมองเปรียบเทียบระหว่างธนาคารผลกระทบก็เยอะอยู่ดี

โดยสรุปแล้ว ผลกระทบอยู่กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากและธนาคารพาณิชย์ ที่แทนที่จะลดต้นทุนลงได้ก็ลดไม่ได้ ส่วนภาระถูกส่งผ่านให้ผู้ฝากเงิน-ผู้กู้เงินได้ไหม ในทางเศรษฐศาสตร์ อันนี้พูดง่ายๆ คือ วิธีนี้เป็นการเก็บภาษีในฐานเงินฝาก เพราะฉะนั้นอาจถูกส่งผ่านได้ โดยคนที่ถูกส่งผ่านอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม สมมติถ้าธนาคารแห่งหนึ่งปรับเงินฝากประจำลงไป 0.05% เชื่อได้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ ดังนั้น การส่งผ่านเผลอๆ คนเต็มใจที่จะจ่าย เพราะยังไม่รู้ตัวว่าต้นทุนในการจ่ายเป็นเท่าไร

ปกป้อง : ยิ่งโครงการธุรกิจสถาบันการเงินมีลักษณะแข่งขันน้อยราย ยิ่งมีโอกาสในการผลักภาระให้ประชาชนได้ง่ายขึ้น

พิพัฒน์ : ใช่ พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราฝากอยู่กับธนาคารใหญ่ๆ เมื่อเขาลดดอกเบี้ยเงินฝากเราก็อาจไม่เอาเงินออก เพราะยังรู้สึกสะดวกสบาย ธนาคารใหญ่มีสาขาจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ธนาคารใหญ่มีความสามารถที่จะผลักภาระ แต่ต้นทุนการเก็บเพิ่มน้อยมากแค่ 0.07% เพราะฉะนั้น ต้นทุนการส่งผ่านไปถึงคนอื่นก็ไม่มากอยู่ดี ก็แบ่งๆ กันไป คนที่โดนหนักคือรัฐบาลเอง คือเงินในอนาคตหายไป

ปกป้อง : ถ้าคุณพิพัฒน์สวมหมวกเป็นกระทรวงคลังหรือแบงก์ชาติ จะออกแบบเครื่องมือการจัดการปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

พิพัฒน์ : คำถามนี้ยาก คือถ้าเป็นผมอาจจะใช้ว่า รัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ถ้าเราจะจ่ายคืนหนี้อย่างไร ความคิดในการจ่ายคืนหนี้ต้องคิดว่า เราสามารถเอาเงินปัจจุบันไปใช้ดีกว่าต้นทุนในการเก็บหนี้เอาไว้หรือเปล่า เพราะการเก็บหนี้เอาไว้มีต้นทุนคือดอกเบี้ย คำถามคือ รัฐบาลมีความสามารถเอาเงินไปใช้ได้ ผลตอบแทนดีกว่าผลตอบแทนที่ได้หรือเปล่า

ถ้าไล่ดีๆ แหล่งเงินที่ได้ตาม พ.ร.ก. 2555 เป็นรายได้นำส่งคลังอยู่แล้ว ยกเว้นผลตอบแทนในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ที่จะไม่ใช่รายไดน้ำส่งคลัง แต่รายได้ส่วนอื่นเป็นส่วนหนึ่งที่บริหารจัดการหนี้ได้อยู่แล้ว แต่พอเรามีเรื่องน้ำท่วมเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาระในการใช้เงินก็เลยสูงขึ้น จึงถูกบีบให้หาทางเพื่อชำระเงินหนี้ในวิธีต่างๆ อีกประเด็นคือเรื่องความโปรงใสในการคลัง เราจะดูแลไว้ได้ไหม หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็เป็นภาระหนึ่งของหนี้รัฐ การที่โอนออกมาอาจมีการหาแหล่งที่มาเงินทุนและบริหารจัดการได้ดีขึ้น แต่สุดท้ายจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วภาระในการเข้าไปอุ้มแบงก์เป็นภาระของใครกันแน่ ใครจะจ่าย

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และอดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) บมจ. ท่าอากาศยานไทย

นิตินัย : พ.ร.ก. นี้ช่วยแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ อย่างไร การแก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ ผมเปรียบเปรยว่า พอเราซื้อบ้านมาก็ติดหนี้ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย เมื่อซื้อบ้านเสร็จ คนหนึ่งผ่อนบ้าน คนหนึ่งจ่ายค่าดูแลบ้าน จ่ายค่าคนสวน ตอนนี้เราพูดกันเรื่องดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นไม่ค่อยพูดกันเท่าไร ตอนนี้บอกว่าจะเอาเงินของสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาจ่ายดอกเบี้ย เพื่อลดภาระดอกเบี้ยในงบประมาณ

ส่วนเงินต้นหรือตัวบ้านไม่ได้มีการพูดถึง ซึ่งคนผ่อนชำระเงินต้นคือแบงก์ชาติ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. 2541 และ พ.ร.ก. 2545 แต่แบงก์ชาติไม่สามารถชำระเงินต้นได้ เนื่องจากโครงสร้างบัญชีของแบงก์ชาติแบ่งเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีฝ่ายกิจการการธนาคาร ที่ใช้สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น มีการซื้อขายพันธบัตรดูดซับสภาพคล่อง และการแทรกแซงค่าเงินบาท เป็นต้น ส่วนบัญชีที่สองคือ บัญชีฝ่ายออกบัตรธนาคาร บัญชีนี้จะแยกเป็น 3 บัญชี คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ (คลังหลวง)

ในอดีต พ.ร.ก. 2541 ที่ออกมาแก้หนี้ FIDF1 วงเงิน 500,000 ล้านบาท กำหนดให้ใช้กำไรของแบงก์ชาติ 90% บวกรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไปชำระเงินต้น แต่ปรากฏว่า ในปี 2545 แบงก์ชาติขาดทุนสะสมอยู่ 137,000 ล้านบาท สมัยรัฐบาลชวน (นายชวน หลีกภัย) บอกว่า บัญชีที่ฝ่ายออกบัตรธนาคารมีเงินสะสมอยู่จำนวนมาก จึงมีแนวคิดจะรวมบัญชี แต่มีแรงกระเพื่อมทำให้ไม่สามารถทำได้ ต่อมาในปี 2545 มีหนี้ครบกำหนดชำระ 700,000 กว่าล้านบาท จากหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท ตอนนั้นมีการชดเชยแล้ว 500,000 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินไปชำระเพราะแบงก์ชาติขาดทุนสะสม

ตอนนั้นจึงออก พ.ร.ก. ปี 2545 มา 3 ฉบับ ฉบับที่ 1 ให้นำเงินคลังหลวงในขณะนี้นมีเงินสด 165,000 ล้านบาท ไปล้างขาดทุนสะสมในบัญชีฝ่ายการธนาคาร พอล้างขาดทุนสะสมออกก็ทำให้แบงก์ชาติมีกำไรไปชำระเงินต้น FIDF1 ฉบับที่ 2 ให้นำผลตอบแทนในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ขณะนั้นมีประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 44.08 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะมีผลตอบแทนประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท) ให้นำไปใช้ชำระหนี้เงินต้น FIDF2 กับ FIDF3 ส่วนฉบับที่ 3 กำหนดว่า ถ้าบัญชีสำรองเงินตรามีเงินหนุนหลังไม่เพียงพอ ให้เอาสินทรัพย์ในบัญชีคลังหลวงมาหนุนหลังได้

หลังจากออก พ.ร.ก. 2545 ทำให้มีเงินไปชำระหนี้เงินต้น FIDF1 และ FIDF2 กับ FIDF3 ก็ได้เงินจากผลตอบแทนในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งประมาณการว่าจะได้ปีละ 30,000 ล้านบาท และคาดว่าจะชดใช้ชำระหนี้หมดภายใน 19-29 ปี นับจากปี 2545 นี่คือที่มาการผ่อนบ้าน (หนี้ FIDF2 ชำระหมดแล้ว)

เพราะฉะนั้น การผ่อนบ้านหรือเงินต้นมีแหล่งที่มาของเงิน แต่เนื่องจากแบงก์ชาติขาดทุนสะสมในบัญชีฝ่ายการธนาคาร ขณะที่บัญชีฝ่ายออกบัตรธนาคาร นอกจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว แบงก์ชาติยังใช้ระบบการบันทึกบัญชีแบบ “mark to market” หรือการบันทึกบัญชีตามราคาตลาด ระบบนี้ต่อให้มีผลตอบแทนมาอยู่ที่บัญชีผลประโยชน์ประจำปี แต่ไม่สามารถนำเงินไปชำระคืนหนี้เงินต้น FIDF3 ได้ เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ต่อให้มีผลตอบแทน ก็อาจขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ไม่มีเงินไปชำระเงินต้น

ปัจจุบัน การชำระคืนเงินต้นดังกล่าว “ความหวัง” ของผมก็คือว่า ให้เงินบาทอ่อน กับเปลี่ยนระบบบัญชีแบงก์ชาติ คือเวลาเงินบาทอ่อนบาทแข็งไม่ต้องคิดคำนวณในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี โดยถ้ามีผลตอบแทนก็ให้นำมาชำระหนี้เงินต้นได้เลย เพราะมีเงินอยู่แล้ว ไม่ต้องตีมูลค่าตามราคาตลาด ส่วนบัญชีฝ่ายการธนาคารที่มีปัญหาขาดทุนสะสม ในปี 2545 ทำอย่างไร ก็มีแนวทางการทำอยู่แล้ว

เรื่องการจ่ายดอกเบี้ย สิ่งที่เป็นห่วงคือ การไปนำเงินมาจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มีรายงานความเสี่ยงทางการคลังของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังปี 2554 ล่าสุด ในรายงานเขียนว่า ในส่วนของสถาบันคุ้มครองเงินฝากคาดว่า เดือนกรกฎาคมนี้จะมีเงินอยู่ 113,000 ล้านบาท โดยคาดว่า ถ้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากลดการคุ้มครองในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เหลือวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท จะต้องคุ้มครองฐานเงินฝาก 3.58 ล้านล้านบาท

หมายความว่า เงินแสนล้านไปค้ำ 3 ล้านล้านไม่ได้ และไม่ต้องมีเยอะถึงขนาดนั้นด้วย แต่ในรายานบอกว่า เงินนำส่งที่เหมาะสมควรจะเป็น 2.2% ของฐานเงินฝาก หรือต่ำสุดต้องมีเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝากคือ 1.67 แสนล้านบาท แต่ไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ไม่เป็นไร เพราะแบงก์ไม่ได้ล้มภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ และไม่เป็นอะไรหากเป็นอย่างที่หลายๆ ท่านกังวลว่าแบงก์จะล้ม ก็อาจจะเกิดได้เป็นรายๆ ไป แต่ถ้าเกิดปัญหาทั้งระบบเงินก็อาจไม่เพียงพอ แต่นั้นก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของ พ.ร.ก. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก อย่างที่ ดร.คณิศ และ คุณสุชาดา คำนวณไว้แล้วว่า จำนวนเงินที่เอามาจากสถาบันเงินฝาก น่าจะเพียงพอ แม้ พ.ร.ก. ฉบับใหม่เขียนไว้ว่ารัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้ให้กองทุนก็ตาม ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเงินไม่พอ จะจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่น่าไปตัด พ.ร.ก. ตรงนี้ออก โดยดอกเบี้ยจะเกิน 5% หรือไม่เกินก็ตาม ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่เพียงพอ ก็ต้องปรับมาขึ้นที่ 0.47%

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเร่งด่วนเรื่องแรกคือ การชดเชยในเรื่องน้ำท่วมต้องมีแน่นอน และเรื่องที่สองคือ ความชัดเจนในการผ่อนบ้านหรืองินต้น ซึ่งตรงนี้ยังไม่เห็นชัดเจน นอกจากค่าเงินจะอ่อนลง และเรื่องที่สาม เรื่องดอกเบี้ย ไม่ว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะมีภูมิคุ้มกันเพียงพอหรือไม่ก็ตาม แต่ตัวดอกเบี้ยถ้าไม่พอ ส่วนของงบประมาณก็ต้องเข้าไปดูแล และเรื่องสุดท้าย ตั้งแต่ ปี 2551-2554 ตัวสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีสัดส่วนตลาดของฐานเงินฝาก 18 % แต่ปี 2554 มี 23% แบงก์เอกชนลดลงจาก 80% เหลือ 77% ชัดเจน

ปกป้อง : น่าสนใจครับ ดร.นิตินัยได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายข้อ ท่านรองผู้ว่าฯ จะตอบคำถามก่อนไหมครับ

นางสุชาดา กิระกุล

สุชาดา : เวลาคิดเราคิดถึงความสามารถในการชำระเงินต้นด้วย เพราะหากไม่คิดเราคงไม่บอกว่าจะจบภายใน 25 ปี แต่ต้องเรียนว่า ในข้อตกลงก่อนที่จะกำหนดว่าเป็น 0.46% นั้น เงินที่เราจะคงมีไว้ในเบื้องต้นก่อนที่จะจัดเก็บเงินในรอบแรกได้ เพราะรอบแรกกว่าจะได้หา พ.ร.ก. มีผลบังคับใช้คงประมาณเดือนสิงหาคม 2555 หากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปก็ต้องใช้เงินจำนวนหนึ่ง เดือนละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เดือนที่จะมากคือกันยายน แต่เนื่องจากที่รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้แล้วและช่วยจ่ายให้ในปีนี้ ที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน คือเงินงวดแรกประมาณ 20,000 –30,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินสำรองเพื่อความระมัดระวังกรณีเงินขาดบางเดือนไม่พอจ่ายดอกเบี้ย หรือเป็นเงินกันไว้ใน “ถังที่สอง”

เพราะฉะนั้น หลังจากที่เราคำนวณการทยอยจ่ายเดือนกันยายนไปแล้ว ภาระจะจ่ายดอกเบี้ยใช้เงินไม่เยอะกว่าจำนวนเงินที่เราเก็บได้ โดยยอดเงินแต่ละงวดครึ่งปีที่เก็บได้มีประมาณ 23,000-24,000 ล้านบาท แต่อย่าลืมว่าฐานเงินฝากจะโตทุกเดือน และการคิดเป็นค่าเฉลี่ยรายวันของเงินที่รับจากประชาชน เพราะฉะนั้นงวดที่ 2 ที่จะได้เดือนมกราคมจะได้จากฐานเงินฝากที่โตขึ้นไปอีก ยิ่งเศรษฐกิจดี รัฐบาลใช้จ่ายเงิน ก็จะไปถึงมือประชาชนมาก เงินยังไงก็เข้าแบงก์ เพราะฉะนั้น ฐานที่จัดเก็บก็จะโตขึ้น

ดังนั้น เราคิดว่าปีแรกที่จะจัดเก็บได้ 46,000 ล้านบาท บวกกับเงินที่สะสมไว้ตั้งแรก 20,000-30,000 ล้านบาท กับเงินของกองทุนฟื้นฟูที่เป็นเงินสดประมาณ 7000-8000 ล้านบาท และปีนี้จะได้เงินปันผลจาก อาทิ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท รวมปีแรกจะได้ประมาณเงิน 10,000 กว่าล้านบาท ปีถัดๆ ไปก็คาดว่าจะได้ประมาณปีละ 10,000 กว่าล้านบาท เช่นกัน

แต่รายได้เหล่านี้ ตรงนี้เราจะไม่ไปลดต้นทันที เราต้องเผื่อไว้สำหรับชำระดอกเบี้ยก่อน หากปีถัดไปดอกเบี้ยไม่ได้นิ่งอย่างนี้ หรือหากดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้นกว่าที่เราคาด จะได้เอาเงินก้อนนี้ที่เราเรียกว่า “ถังที่สอง” ที่เผื่อไว้จำนวนหนึ่งสำหรับรองรับกรณีฉุกเฉิน ส่วนถังแรกเอาไว้จ่ายดอกเบี้ยทีละเดือนๆ หากมีเงินเกินภาระทั้งหมดแล้ว คือมีส่วนเกินเหลือจาก “ถังที่สอง” ที่กันไว้แล้ว เราก็จะไปลดต้นทันที ปีนี้เงินที่จะได้เพิ่มมาจากบัญชีผลประโยชน์ประมาณ 9,000 กว่าล้านบาท ก็จะนำไปลดต้นพันธบัตร FIDF3 ได้เลยทันที

ดังนั้น ต้องมีความหวังว่าจะต้องไปลดต้นด้วย ไม่ใช่ชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว ไม่งั้นไม่รู้จะทำแบบนี้ทำไม และไม่รู้เมื่อไหร่จะหมด นั่นคือภาระดอกเบี้ย

ส่วนประเด็นลดความเหลื่อมล้ำกับสถาบันการเงินของรัฐ ใครที่ใช้บริการธนาคารพาณิชย์อยู่ เชื่อว่าจะไม่ต้องกระโดดข้ามไปใช้สถาบันการเงินของรัฐ เพราะตอนนี้สถาบันการเงินของรัฐอาจจะใช้แรงจูงใจอย่างอื่น ทั้งสลาก ทั้งของแถม หากลดความเหลื่อมล้ำลงแล้ว เงินจากธนาคารพาณิชย์จะไหลไปไม่เยอะ ตอนนี้แบงก์ชาติประมาณการขยายตัวฐานเงินฝาก บีอี ตราสารหนี้ ปีละ 4% หากย้อนหลังไป 3 ปี ฐานเงินฝากโตประมาณปีละ 6-7% ซึ่งเราก็คิดอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว

ถ้าไปได้อย่างนี้ ก็ทำให้ไม่พลาดชำระดอกเบี้ยและสามารถชำระเงินต้นได้ด้วย แต่ต้องบอกว่า “กังวล” ในจุดนี้เหมือนกัน อย่างที่อาจารย์ปกป้องถาม พอรัฐบาลเปลี่ยนไป ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้แล้ว จะสัญญาหรือเปล่า ว่าจะหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้ เพราะอย่างไรเสียพันธบัตรนี้ก็เป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว รัฐบาลต้องรับผิดชอบอยู่ดี

ถึงแม้ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ให้ตัดมาตรา 12 ให้ตัดมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. 2541 ตัดมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. 2545 ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณมาชำระดอกเบี้ยให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูแล้วก็ตาม แต่ในฐานะที่พันธบัตรนี้เป็นพันธบัตรของรัฐบาล ถ้าถึงเวลาไม่มีจริงๆ ไม่มีเงินชำระดอกเบี้ย รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ชำระดอกเบี้ยได้อยู่แล้ว ซึ่งตอนที่คุยกันกฤษฎีกาตีความว่าทำได้ แต่เพื่อความสบายใจของทุกๆ คนที่ต้องทำต่อไปในอนาคต ว่าต้องมีข้อตกลงสัญญาให้ แต่เมื่อมอบหมายให้กองทุนฟื้นฟูฯ และแบงก์ชาติ เราต้องบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น เว้นแต่ว่ามีอะไรไม่คาดคิด นอกเหนือจากที่วางแผน

ปกป้อง : ท่านใดมีอะไรทิ้งท้ายอีกหรือไม่

คณิศ : มีหลายคำถามที่น่าสนใจ เรื่องแรก อัตราที่เก็บระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินของรัฐ ความจริงโครงสร้างมันค่อนข้างเยอะ วันที่ 1 สิงหาคมนี้ การค้ำประกันเงินฝาก เหลือ 1 ล้านบาท แสดงว่าธนาคารออมสิน ฝาก 100 ล้านบาท รัฐบาลยังค้ำประกันเต็มที่อยู่

เรื่องที่ 2 ที่จัดเก็บ 0.47% เท่ากัน เป็นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำบางประการเท่านั้น หากคุณต้องการความปลอดภัยเรื่องเงินฝาก คุณก็ฝากธนาคารออมสิน อาจจะไม่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.นี้เท่าไหร่ แต่ส่วนที่รัฐบาลต้องทำคือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีสินเชื่อโตพรวดเดียวจาก 25% เป็น 70% มีเหตุผลเพราะในช่วงวิกฤต 2540 ธนาคารพาณิชย์ไม่ทำธุรกรรม รัฐบาลบอกให้ธนาคารเฉพาะกิจทำหน้าที่แทน ขยายสินเชื่อไปชดเชยตรงนั้น ตรงนี้คือส่วนแบ่งตลาดที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้มาในช่วงนี้

แต่จุดที่สำคัญที่สุด คือ การทำธุรกรรมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะต้องทำที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาจริงๆ ไม่ใช่การทำธุรกรรมแข่งกับแบงก์พาณิชย์ ตรงนี้สำคัญที่สุด เพราะไม่มีทางที่จะไปบอกออมสินว่ารัฐบาลจะการันตีเงินฝากของแบงก์ออมสินแค่ 1 ล้านบาทเท่ากับแบงก์พาณิชย์ เพราะไม่มีทางเป็นไปได้

ดังนั้น แม้ พ.ร.ก. ฉบับนี้จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่ ต้องหาวิธีแก้อย่างอื่น อันนี้ไม่ได้แก้

อันที่สาม ผมเห็นด้วยว่าตอนนี้จุดที่เป็น “จุดเสี่ยง” ที่สุดคือ ถ้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่สามารถมีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยได้ รัฐบาลไม่สามารถเอาเงินงบประมาณมาจ่ายล่วงหน้าได้ เพราะงบประมาณกำหนดปีต่อปี และต้องกำหนดล่วงหน้าว่าปีนี้จะใช้ภาระดอกเบี้ยที่เป็นหนี้เท่าไหร่ หากยังไม่ได้กำหนดไว้ ก็ไม่มีเงินใช้ กรณีอันนี้ยังไม่มีทางออก อาจจะต้องมี พ.ร.ก. อีกฉบับหรือไม่

แต่สาเหตุที่จะเป็นแบบนั้น เพราะตอนออก พ.ร.ก. ผมคิดว่า พ.ร.ก. 3 ฉบับ ไม่เกี่ยวเท่าไหร่ มันเป็นการผลักไปผลักมา ตกลงกันไม่ได้ เกิดสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขข้อบกพร่อง คือ 2-3 จุดที่กล่าวมาแล้ว เป็นประเด็นค่อนข้างชัด หากเป็นแบบนั้นแล้วและเกิดปัญหาที่จะตามมาคือ ไม่มีเงินไปจ่ายเงินต้น และไม่พอใช้จ่ายดอกเบี้ย

หากฟื้นฝอยหาตะเข็บกลับไปในอดีตในปี 2545 คำนวณว่าแบงก์ชาติจะมีเงินมาจ่ายเงินต้นเท่าไหร่ กระทรวงการคลังต้องใช้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ แต่สถานการณ์มันเปลี่ยนไป ทำให้แบงก์ชาติไม่มีเงินต้นมาใช้ หากเป็นแบบนั้น แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน ตกลงกัน เมื่อมีปัญหาแล้ววิธีแก้ไขคือแบบนี้ หากเป็นเช่นนั้น วันนี้พ.ร.ก. นี้ ก็ไม่ต้องออก พอเป็นแบบนี้ ความเสี่ยงตัวนี้ก็โยกมาเป็นความเสี่ยงอีกตัวหนึ่ง ที่จะเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันต่อไปในอนาคต แต่ผมเชื่อว่ากระบวนการแบบนี้ สามารถหาจุดสมดุลได้ระดับ แต่ว่าไม่ใช่จุดสมดุลที่ไม่มีข้อบกพร่อง มันมีข้อบกพร่องอยู่

คำถามสุดท้าย หากคิดจะทำนโยบายแบบนี้ใหม่ในอนาคตจะทำอย่างไร ผมว่าไปดูอเมริกา ยุโรป เกิดปัญหาอย่างเดียวกัน อย่างแบงก์ชาติอเมริกา ออกเงินมาซื้อตราสาร นั่นคือสิ่งเดียวที่รัฐบาลเขาทำ ถ้ามีความเสียหายจะทำให้จนกระทั่งวิกฤตจบ เศรษฐกิจฟื้น แล้วค่อยมาหักลบกลบหนี้กันทีหลัง

กรณีของเราไม่ถูกแนะนำให้ทำแบบนี้ตั้งแต่แรก เราบอกว่าเมื่อมีความเสียหาย เอารัฐบาลเข้าไป ใช้วิธีออกพันธบัตรให้ อันนี้ก็เป็นกรณีศึกษา ผมคิดว่าถ้าไม่ใช่อเมริกาคงทำแบบนั้นไม่ได้ ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ต้องเข้ามาจัดการ ว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้

พิพัฒน์ : ขอเสริมว่า ที่อเมริกา บารัก โอบามา เสนอว่ามีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปช่วยสถาบันการเงิน ดังนั้น สถาบันการเงินที่รอดชีวิต ต้องรับภาระ การที่รัฐบาลเข้าไปช่วยทำให้สถาบันการเงินอยู่ต่อไป ดังนั้นต้องมาช่วยรับภาระ เพราะเป็นผู้ได้รับประโยชน์

กลับมาที่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ มีข้อดีคือว่า ทำให้แรงจูงใจของคนจ่ายดอกเบี้ยกับคนจ่ายคืนเงินต้นให้ตรงกัน เดิมทีในอดีตกระทรวงการคลังจ่ายดอกเบี้ยไปก่อน ส่วนแบงก์ชาติมีเงินก็ค่อยมาจ่าย แบงก์ชาติอาจจะมีแรงจูงใจในการลดเงินต้นน้อยหน่อย พ.ร.ก. นี้ก็ทำให้แบงก์ชาติมาช่วยกันคิด

แต่ประเด็นที่พูดว่า หากจะให้แบงก์ชาติมีเงินจ่ายคืนเงินต้นได้ คือ หากมีการบังคับใช้ว่าภาระหนี้เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ และแบงก์ชาติต้องทำให้ได้ ดังนั้น ประเด็นคำถามคือ จะทำให้การทำนโยบายการเงินจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อันนี้ไม่ได้บอกว่าแบงก์ชาติจะทำนะครับ แต่เข้าใจว่าแบงก์ชาติไม่ได้มีอะไรเอนเอียงตรงนี้ แต่อาจจะทำให้เกิดได้

ส่วนประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หากเกิดขึ้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากเงินฝากของประเทศเข้าอยู่ที่สถาบันการเงินของรัฐมากขึ้น และหากลดการค้ำประกันเงินฝากลง จะทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความเสี่ยงของระบบการเงินจะเปลี่ยนไปอยู่ที่สถาบันการเงินรัฐไหม และแบงก์ชาติไม่ได้กำกับดูแล ทำให้มีความเหลื่อมล้ำในการควบคุมดูแลสถาบันการเงินเหล่านี้กับธนาคารพาณิชย์ ในแง่ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล การกันสำรองฯ และสถาบันการเงินของรัฐถูกให้ทำโน่นทำนี่ กระทรวงการคลังตรวจแล้วไม่เจอ และแบงก์ชาติไม่มีอำนาจโดยตรง พอมันความเหลื่อมล้ำอย่างนี้ แล้วความเสี่ยงมันจะเปลี่ยนที่ไหม จะต้องไปดูแลตรงจุดนั้นด้วยหรือไม่

ปกป้อง : จะจัดการอย่างไร

พิพัฒน์ : อย่างน้อยทุกคน (แบงก์) ควรถูกกำกับดูแลในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าทั้งเรื่องกฎกติกา การเปิดเผยข้อมูลให้ตรงกัน จะได้เปรียบเทียบกันได้ว่าแบงก์ 2 แบงก์ อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

สุชาดา : ขอเรียนว่าจริงๆ แบงก์ชาติเข้าไปตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และรายงานให้กระทรวงการคลังทราบ อย่างที่เรียนว่าจุดที่กังวลก็คือ พอไปเอาเงินไปฝาก ฝากแล้วผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร กระทรวงการคลังทราบดี มีคำแนะนำหรือคำขอร้อง จริงๆ แล้วทางธนาคารโลกเองเคยมาดูงาน เขาก็กังวล ในหลายประเทศเขาเลยใช้วิธีการแปรรูปไปเลย

คณิศ : ตรงนี้ การพัฒนาที่เกิดขึ้นมาเพราะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องให้บริการลงไปถึงรากหญ้า แต่ธนาคารพาณิชย์ลงไปไม่ถึง ทำไม่ได้ การลงลึกระดับรากหญ้ามีความเสี่ยงอยู่จึงต้องมีการกำกับดูแลอีกแบบหนึ่ง ที่สำคัญไม่ใช่ 0.47% ที่เก็บ แต่เป็นนโยบายกระทรวงการคลังที่จะจำกัดธุรกิจสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างไร ไม่ให้ไปแข่งกับแบงก์ และจะกำกับดูแลการบริหารงานอย่างไรมากกว่า เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดู ไม่ใช่เก็บ 0.47% แล้วทุกอย่างจะดีเป็นปกติ

และต้องยอมรับว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจเขามีหน้าที่ของเขาอยู่ อย่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) หรือการทำสินเชื่อภาคประชาชน เงินนอกระบบ มีความเสี่ยงของมันอยู่ แต่รัฐบาลจะกำกับดูแลอย่างไร

นิตินัย : ย้อนกลับมาที่รากของ พ.ร.ก. อีกทีนะครับ เหตุผลที่ออก พ.ร.ก. คือช่วยวิกฤติน้ำท่วม ผลพวงจากการช่วยวิกฤติน้ำท่วมคือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะเป็นอย่างไร ชื่อมันเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่เหตุผลของการ มี พ.ร.ก. คือช่วยวิกฤติน้ำท่วม และศาลพิจารณาว่าน้ำท่วมเป็นวิกฤติต้องรีบช่วย และศาลพิจารณาว่าเงินลงทุน 60,000 กว่าล้านบาท ที่ไปจ่ายดอกเบี้ยมีนัยในการลงทุน แต่ท่านไม่ได้พิจารณาเรื่องกองทุนฟื้นฟูฯ และพูดเรื่อง พ.ร.ก. โดยพูดถึงความเร่งด่วนในการช่วยวิกฤติน้ำท่วม ซึ่งคนละเรื่องกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กำลังคุยกันในวันนี้ทั้งหมด นั่นประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง เงินที่เอามาให้กองทุนคุ้มครองเงินฝาก เหรียญมีสองด้านเสมอ ถ้าเก็บเงินเข้าสถาบันประกันเงินฝากเพิ่มขึ้นเพื่อไปจ่าย ความรับผิดชอบที่ต้องดูแลผู้ฝากเงินมากขึ้นก็มากขึ้น เหมือน “สไปเดอร์แมน” มีพลังอันยิ่งใหญ่ ก็มาพร้อมกับภาระกิจที่ยิ่งใหญ่

ผู้เข้าร่วมเสวนา “พ.ร.ก.โอนภาระหนี้กองทุนฟื้นฟู แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา”

ปกป้อง : ผู้เข้าฟังท่านใดมีความเห็นหรือมีคำถาม เชิญได้

ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า : จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารายรับที่กองทุนฟื้นฟูฯ รับมาแล้วไม่พอจ่าย แม้ผู้ฝากเงินจะไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ แล้ว พ.ร.ก. เร่งด่วนจริงหรือไม่ และดอกเบี้ยจ่ายนี้ไม่ได้เกินภาระหนี้ที่รัฐบาลต้องจ่าย ตอนนี้ประชาชนเป็นผู้รับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว

ดร. ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : งานวันนี้ได้ประโยชน์มาก ฟังดูแล้วก็เป็นการเก็บภาษีจากคนฝากเงินไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ส่วนตัวยังมีความกังวลว่าไม่ผ่านวิธีงบประมาณ พ.ร.ก. ที่คิดกันขึ้นมาเป็นการผลักภาระจากในงบประมาณไปอยู่นอกงบประมาณ ทำให้กระทรวงการคลังได้รับประโยชน์ 2 ทาง ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยและมีคนมาชำระเงินต้นให้ ส่วนนี้ไม่ถูกตรวจสอบเพราะไม่อยู่ในงบประมาณแล้ว นี่เป็นความกังวล

ผมว่าในระยะหลัง รัฐบาลใช้วิธีลักษณะแบบเดียวกันนี้เยอะขึ้น โดยที่เราเห็นว่ารัฐบาลมีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่ม

นิตินัย : เรื่องภาระจ่ายหนี้คือจ่ายต้นจ่ายดอกเบี้ย 15% ไม่ได้เป็นกฎหมาย ที่เถียงกันตามเฟซบุ๊กว่ายังไม่ถึง 15% ตามข้อจำกัด พ.ร.ก. นี้ที่บอกว่าทำให้ไม่ต้องตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ย ถูกต้องเลย พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 21 และมาตรา 9 ทวิ ของ พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ทั้ง 2 เขียนไว้เหมือนกันว่า การตั้งงบประมาณ ห้ามขาดดุลเกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวก 80% ของงบชำระดอกเบี้ย เงื่อนไขนี้ปีไหนหากรัฐเก็บรายได้น้อย รายจ่ายก็ถูกจำกัดด้วยรายได้และถูกจำกัดด้วยภาระขาดดุล ทำให้ความยืดหยุ่นของนโยบายการคลังเงินเหลือน้อยในงบรายจ่าย นี่คือประเด็นที่ต้องคุยเรื่องนี้มากกว่า ไม่ใช่ 15%

ปกป้อง : เชิญถามคำถามต่อไป

ผู้สื่อข่าว : มีกรณีไหนบ้างที่จะทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้

สุชาดา : เราทำ “stress test” หรือการทดสอบกรณีสมมติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ โดยลองดูว่าถ้าดอกเบี้ยปรับจาก 5% เป็น 6% หรือเงินฝากแทนที่จะขยายตัวกลับลดลง จาก 4% เหลือ 3% รายได้เก็บได้น้อยลง จะทำอย่างไร ก็จะมีบางเดือนที่ขาดไป

แม้จะขาดบางเดือนเป็นกรณีขึ้นมาแล้ว จะให้ใช้ตีความโดยสำนักงานกฤษฎีกา หรือจะต้องออก พ.ร.ก. เพื่อให้รัฐบาลจัดงบประมาณออกไปให้ก่อนได้ หรือตามข้อตกลงมติที่ประชุมของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักบริหารหนี้ สมาคมธนาคารไทย และแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือ เงินที่ตั้งกองทุนพัฒนาประเทศ จะให้ยืมเอามาใช้ได้ก่อน แต่ยังไม่ได้ตั้งกองทุนฯ นี้ ก็เป็นประเด็นที่ค้างคาใจอยู่ว่าจะทำอย่างไร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : การนำส่งเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะต้องแก้กฎหมายรายได้นำส่งคลังหรือไม่

คณิศ : ผมคิดว่าเรื่องนี้ คงต้องใช้วิธีการดูแลของสำนักงานคณะกรรมนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อย่าง ธอส. ที่บอกว่าถ้าต้องนำส่งเงินจัดเก็บ 2,700 ล้านบาท ก็ทำให้รายได้ที่ส่งคลังก็ลดลงไปด้วย หากจะไม่ให้เอียงก็ต้องไปกำกับดูแลเขาให้ดีๆ

ต้องเข้าใจตรงกันว่า พ.ร.ก. นี้ออกมาไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะลดลง มันลดลงไม่ได้เพราะเป็นหนี้ของรัฐบาล หากไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย ผิดชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาล เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นพันธบัตรรัฐบาล

ผมอยากทิ้งประเด็นไว้คือ พ.ร.ก. อันแรกมีเรื่อง 350,000 ประเด็นคือ ต้องมีจัดการลงโครงการให้ดี ประเด็นที่สองกองทุนประกัน 50000 ล้านบาท ที่ไม่มีใครรับทำประกัน จะทำกันอย่างไร และประเด็นการให้กู้ 300,000 ล้านบาทแก่ผู้ประกอบ เรื่องเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งออกมาเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ประเด็นที่ 4 ที่ยังขาดเงินที่เก็บจากสถาบันเฉพาะกิจจะเอาไปทำอะไร

ปกป้อง : ท่านวิทยากรจะสรุปอะไรไหมครับ

สุชาดา : สรุปว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา ในแง่การแก้ปัญหาก็มี 1. อย่างน้อยมีแหล่งเงินที่มาชัดเจนจากสถาบันการเงิน 2. ฐานรายได้จะโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะต่างจากอดีตที่เป็นภาระของรัฐบาล 3. ลดการบิดเบือนต่างๆ ฐานที่บอกว่ามาจากเงินฝาก ก็เลี่ยงไปออกอย่างอื่น หากเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด และ 4. รัฐบาลได้งบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 60,000 ล้านบาท เอาไปช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเรื่องอื่น ต้อง “ขีดเส้นใต้” ว่ารัฐบาลจะเอาไปทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริงๆ

ส่วนการที่เราคุ้มครองเงินฝากลดลงเหลือ 1 ล้านบาท ทางสถาบันการเงินเรียกร้องให้ลดการนำส่ง และหลายประเทศก็ลดลง หากลดลงเพื่อช่วยให้สถาบันการเงินแข่งขันได้ อาจจะทำให้เกิดขึ้นช้าลง แต่ที่แบงก์ชาติหารือกับสมาคมธนาคารไทยไว้คือเก็บในอัตรา 0.47% ไป 3 ปี แล้วจะทบทวนหากฐานเงินฝากขยายตัวขึ้น

 

ตีพิมพ์: เว็บไซต์ ThaiPublica วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555

Print Friendly