‘จิตวิญญาณ’ แห่ง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ประชาธิปไตย’ เชิง ‘จิตวิญญาณ’: ทัศนะว่าด้วยการเมืองร่วมสมัย ประชาธิปไตย และการปฏิรูปประเทศไทย ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

สัมภาษณ์: ปกป้อง จันวิทย์

คล้อยหลังเหตุรุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ อดีตผู้นำนักศึกษาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย อดีตนักปฏิวัติต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามในคอลัมน์ ‘สัมผัสใน’ ของเขา ในนิตยสาร ‘ฅ.คน’ ว่า

“ทำไมเมืองหลวงกรุงเทพฯ จึงต้องพบกับโศกนาฏกรรมร้ายแรงขนาดนี้”

คำตอบในบรรทัดถัดไปของเขา คือ

“หลายคนอาจคิดว่าเขาเสียจริตไปแล้ว หากเขาจะบอกว่าเหตุการณ์ระดับนรกแตกที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่กรุงเทพฯ สะสมพลังด้านมืด (Dark Forces) ไว้มากเกินไป …

“พลังด้านมืดหรือพลังด้านลบคืออะไร พูดง่ายๆ แบบภาษาพระก็คือแรงขับจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือบรรดาความต้องการฝ่ายต่ำทั้งปวงนั่นเอง ในระดับของปัจเจกบุคคล ใครสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มาก ชีวิตย่อมเต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง ไม่กระทำต่อผู้อื่นก็เป็นฝ่ายถูกกระทำ เพราะพลังด้านมืดมักดึงดูดสิ่งเดียวกัน

“แล้วในระดับมหานครเล่า เราจะปฏิเสธได้หรือไม่ว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่ศูนย์รวมแห่งกิเลสตัณหาของประเทศไทย … นครหลวงแห่งนี้กำลังเผชิญกับวิบากกรรมของตน”

มีนักวิชาการจำนวนน้อยที่ให้ความสำคัญกับการผสมผสานมิติเชิงจิตวิญญาณเข้ากับทฤษฎีและหลักวิชาในการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในจำนวนนั้น น้อยยิ่งกว่าน้อยที่ทำได้อย่างลุ่มลึก ตกผลึก หมดจด และมีพลัง … ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ ย่อมเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยนั้น

คำอธิบาย ‘โลก’ ของเสกสรรค์จึงช่วยให้ผู้ฟังมองเห็นภาพของปรากฏการณ์เบื้องหน้าอย่างชัดแจ้ง แทงทะลุพื้นผิวของปรากฏการณ์อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแกน และตระหนักถึงสายสัมพันธ์โยงใยในหลายมิติของเหตุปัจจัยที่แวดล้อมรอบปรากฏการณ์นั้น

คำอธิบาย ‘โลก’ ของเสกสรรค์จึงเป็นคำอธิบายที่ผู้คนในสังคมเฝ้ารอฟังอยู่เสมอ

ท่ามกลางความร้อนรุ่มและเครียดคลั่งของสถานการณ์การเมืองไทย October ชวน ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ ในวันที่ถอดหมวกวาง และรักที่จะใช้ชีวิตกับ ‘ความว่าง’ อย่างไม่ถูกคุมขังอยู่ในคำนิยามใดๆ มาสนทนาเรื่องการเมืองร่วมสมัย ประชาธิปไตย และการปฏิรูปประเทศไทย

กล่าวอย่างรวบรัด สำหรับเสกสรรค์แล้ว “ประชาธิปไตยคล้ายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดพื้นที่ให้คนบรรลุศักยภาพของตน ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เป็นระบบกระจายอำนาจ กระจายโอกาส และกระจายทางเลือกในการใช้ชีวิตให้กับคน ซึ่งรวมทั้งทางเลือกทางจิตวิญญาณด้วย”

กล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน ขอเชิญท่านผู้อ่านละเลียดบทสนทนาความยาวกว่า 3 ชั่วโมงว่าด้วย ‘จิตวิญญาณ’ แห่ง ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ประชาธิปไตย’ เชิง ‘จิตวิญญาณ’ ได้นับจากบรรทัดนี้

…………………………………………………..

 

 อาจารย์อธิบายวิกฤตการณ์การเมืองไทยในช่วง 5 ปีมานี้อย่างไร ตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ ต่อด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองทั้งจากกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จนถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

อันดับแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่าคุณทักษิณก้าวขึ้นมามีอำนาจในช่วงไหนของประวัติศาสตร์ไทย ช่วงที่คุณทักษิณขึ้นมากุมอำนาจ ประเทศไทยมีความเดือดร้อนอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งทำให้หลายภาคส่วนเสียขวัญเสียกำลังใจกันมาก ส่วนเรื่องที่สองก็โยงใยกับวิกฤตครั้งนั้น คือสังคมไทยพบว่านักการเมืองรุ่นเก่าๆล้วนล้มเหลวในการดูแลประเทศ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าอาจจะไม่ซื่อตรงในระหว่างการกุมอำนาจ

แล้วคุณทักษิณเป็นใคร มาจากไหน ถ้าเรามองด้วยหลักวิชาก็จะพบว่า เขาเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำใหม่ ซึ่งโตขึ้นมาจากความสามารถในการเข้าถึงกลไกของระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และมีความปรารถนาที่จะขึ้นสู่อำนาจโดยตรง ซึ่งแตกต่างจากนายทุนรุ่นเก่า ที่ส่วนใหญ่มักเล่นบทเบื้องหลัง ไม่ค่อยเล่นการเมืองโดยตรง แต่มักจะผลักดันนโยบายผ่านทางนายหน้าของตนซึ่งอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ

ทีนี้เรื่องที่มันประจวบเหมาะก็คือ ก่อนหน้าปี2540ไม่นาน มันมีเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ (พ.ศ.2535) ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของชนชั้นนำภาครัฐในการกลับมากุมอำนาจ โดยอาศัยความร่วมมือของนักการเมืองในระบบรัฐสภา ทำให้เกิดการต่อต้าน เกิดการนองเลือด จากนั้นก็เกิดกระแสปฏิรูปการเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จังหวะที่คุณทักษิณจะเข้ามาเล่นการเมือง มันจึงไปตรงกับช่วงที่เรามีรัฐธรรมนูญใหม่คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 พอดี รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกออกแบบให้มาแก้ไขปัญหาความอ่อนแอของระบบการเมืองแบบรัฐสภา  ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในจุดหมายของการปฏิรูปการเมืองครั้งนั้นคือ อยากให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องให้อำนาจในการทำงานมากกว่าที่ผ่านมา  แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคงจะเห็นว่าการบัญญัติไว้เช่นนั้นอาจเป็นดาบสองคม จึงสร้างระบบตรวจสอบเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายอย่าง เช่นกำหนดให้มีองค์กรอิสระและสถาบันทางการปกครองเพิ่มขึ้น เพื่อเอาไว้ถ่วงดุลกัน สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขแวดล้อมการขึ้นสู่อำนาจของคุณทักษิณ

เมื่อคุณทักษิณขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จจึงกลายเป็นผู้บริหารจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจสูงสุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ไทยเคยมีมา ซึ่งตรงนี้มันเกิดขึ้นก่อนที่องค์กรอิสระและสถาบันตรวจสอบทั้งหลายจะเติบโตได้ทัน ดังนั้นพลังในระบบที่จะคอยทัดทานคุณทักษิณเลยยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งคุณทักษิณเองก็มีความต้องการที่จะดัดแปลงประเทศไทยให้เป็นไปตามโลกทัศน์ของตนอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณจึงไปกระทบกระทั่งกับคนที่เขาเคยกุมอำนาจมาก่อนในหลายภาคส่วน อาจจะใช้คำว่าไป “เบียดทับ” พื้นที่ของชนชั้นนำเก่า โดยคุณทักษิณมีอาวุธที่ทรงอานุภาพอยู่อย่างหนึ่งคือ การได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนนิยมท่วมท้น ตรงนี้คงต้องยอมรับว่าคุณทักษิณฉลาด เพราะสามารถเลือกจับประเด็นความทุกข์ยากหรือความเสียเปรียบของคนในชนบท หรือคนชั้นล่างในเมืองมาแปรเป็นนโยบายพรรคได้

นโยบายประชานิยมของคุณทักษิณ จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่โดนใจผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับอะไร จากรัฐบาลที่เขาเลือกเข้ามาบ้าง ต่างจากช่วงก่อนๆที่ชีวิตของคนเหล่านั้นเกือบจะไม่ได้รับการดูแลเลย เพราะฉะนั้น มันจึงเกิดความผูกพันขึ้นระหว่างฐานเสียง กับพรรคการเมืองที่คุณทักษิณเป็นหัวหน้า

ตรงนี้กลายเป็นอำนาจต่อรองของคุณทักษิณในการเบียดยึดพื้นที่จากกลุ่มอำนาจอื่นๆ และเมื่อคุณทักษิณถูกโค่นลงในปี 2549 มันก็เลยทำให้มวลชนส่วนที่นิยมชมชอบและผูกพันกับคุณทักษิณโกรธแค้น รู้สึกว่าที่พึ่งของตนถูกทำลาย

อาจารย์พูดถึงความต้องการของคุณทักษิณในการดัดแปลงประเทศไทยให้เป็นไปตามโลกทัศน์ของตัวเอง จนกระทบกระทั่งกับชนชั้นนำเก่า โลกทัศน์ที่ว่าคืออะไร

ถ้ามองไม่ผิด ผมคิดว่าคุณทักษิณอยากทำประเทศไทยให้มีลักษณะเป็นทุนนิยมเต็มตัว แล้วก็เข้าไปสู่การแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์โดยไม่เสียเปรียบมากนัก  แต่คำว่า “ประเทศไทย” ของคุณทักษิณมันพูดยาก เพราะคนไทย 60 กว่าล้านคนไม่มีฐานะที่จะไปแข่งขันในเวทีสากลได้ทุกคน มันก็อาจจะหมายถึงแค่คนทำธุรกิจเป็นหลัก ส่วนคนที่เสียเปรียบหรืออยู่ข้างล่างนั้น ผมคิดว่าคุณทักษิณอาจจะมีความตั้งใจ หรืออยากสนับสนุนให้พวกเขารู้จักทำธุรกิจเหมือนกัน อยากให้คนชนบทรู้จักการลงทุนหรือการค้า แต่ในความเป็นจริง มันคงเป็นไปได้ยาก

การดัดแปลงประเทศในลักษณะเช่นนี้เริ่มต้นด้วยการให้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ ซึ่งอาจจะไปลดทอนมิติอื่นๆ ของชีวิตคนในสังคมไทย ทั้งในด้านวัฒนธรรม ค่านิยม หรือประเพณีต่างๆ  คือคุณต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจมันไม่ได้เป็นเรื่องเดียวของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดนั้น บางทีก็ไปทำลายคุณค่าที่สำคัญกว่าของชีวิต

ประการต่อมา คุณทักษิณต้องการดัดแปลงกลไกอำนาจรัฐให้ตอบสนองนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ห้ามทำอะไรที่แตกต่างกัน ซึ่งก็คือนโยบายดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นนโยบายที่จะพาประเทศไทยเข้าไปแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัตน์  เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีแนวคิดอย่างเช่นผู้ว่าราชการจังหวัดแบบซีอีโอ ซึ่งผมคิดว่าคุณทักษิณอาจจะมีนโยบายระยะยาวถึงขั้นแต่งตั้งใครก็ได้ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ค้าขายเป็น ตรงนี้ชัดเจนว่าย่อมกระเทือนคนในโครงสร้างระบบราชการแบบเก่า ยิ่งไปกว่านั้นในการบริหารระบบราชการ เช่นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ไม่ว่าทหารหรือพลเรือน ผมคิดว่ารัฐบาลก็เข้าไปข้องเกี่ยวหมด เพื่อให้ทุกส่วนรวมศูนย์สนองนโยบาย และตัวนายกรัฐมนตรีเองก็พูดอยู่เสมอว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีแบบซีอีโอ  พูดง่ายๆ ก็คือคุณทักษิณอยากเปลี่ยนระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เหมือนการบริหารบริษัทเอกชน ซึ่งทุกฝ่ายต้องฟังกรรมการผู้จัดการคนเดียว

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในทางปฏิบัติแล้วเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยมันสลับซับซ้อน ถ้าถูกลดทอนให้เหลือแค่การฟังคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดคนที่จะมีอำนาจในระดับรองๆ ลงไปทั้งหมด มันจะทำให้อำนาจกระจุกตัวมาก การที่อำนาจอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีขนาดนี้ ย่อมไปลดทอนอำนาจอันเคยมีมาแต่เดิมของหลายๆ ส่วน ซึ่งแน่นอนว่าคงสร้างความไม่พอใจให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย

นอกจากนี้ โลกที่คุณทักษิณอยากเห็น มันก็มีด้านที่สร้างความไม่พอใจให้กับคนที่อยู่นอกวงการอำนาจด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คนที่อยากเห็นวิถีชีวิตของคนไทยค่อนไปในด้านจิตวิญญาณ มีด้านวัฒนธรรม หรือให้ช้าลงสักนิด ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีอะไรกันมาก  คนเหล่านี้ก็จะรู้สึกไม่พอใจนโยบายที่เน้นแต่เรื่องเงินๆทองๆหรือการเติบโตทางวัตถุ

แล้วโลกทัศน์เรื่อง “ประชาธิปไตย” ของคุณทักษิณเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าคงไม่ต่างจากนักการเมืองในระบบเลือกตั้งมากนัก คือมองประชาธิปไตยเป็นแค่กระบวนการสรรหาผู้กุมอำนาจ แล้วก็ถือว่าเรื่องจบลงแค่ตรงนั้น ก็คือถ้ามีการเลือกตั้ง แล้วมีการแพ้ชนะในการเลือกตั้ง ก็ถือว่ามีประชาธิปไตย  ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะจริงๆ แล้วในระหว่าง 4 ปีที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ผู้คนในสังคมที่ซับซ้อนอย่างสังคมไทย ย่อมมีเรื่องที่อยากจะแสดงความคิดความเห็น มีเรื่องที่จะต้องโต้แย้งกับรัฐบาล หรือแม้แต่คนที่เลือกรัฐบาลเข้ามาก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลในระหว่าง 4 ปีนี้ก็ได้

แต่ดังที่เรารู้ๆกัน คุณทักษิณไม่ค่อยชอบให้ใครมาโต้เถียง แล้วก็ถือว่าตัวเองได้รับความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง จึงเที่ยวไปทะเลาะกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือวิจารณ์นายกรัฐมนตรี ดังเราจะเห็นว่าในระยะนั้นคุณทักษิณได้ออกมาโต้กับนักวิชาการแทบจะทุกคน ไม่มีใครเหลือรอด กระทั่งถูกนายกฯว่ากล่าวเสียๆ หายๆ ตรงจุดนี้ผมคิดว่าคุณทักษิณพลาด และมันเท่ากับไปลดพื้นที่ทางการเมืองของคนอื่นให้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น แม้เราอาจจะยอมรับว่าคุณทักษิณเป็นนักการเมืองที่เก่ง เป็นนักบริหารธุรกิจที่มีความสามารถ แต่ก็พบว่าคุณทักษิณไม่เข้าใจศาสตร์ของการปกครอง  ศาสตร์ของการปกครองนั้นมันลึกซึ้ง และต้องการความเข้าใจมนุษย์มากกว่าการใช้อำนาจตรงๆ

ถ้าคุณทักษิณมองประชาธิปไตยไม่ต่างจากนักการเมืองทั่วไป แต่ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยา คุณทักษิณกลายเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยในสายตาของหลายคน กระทั่งมีขบวนการต่อสู้เพื่อคุณทักษิณ และ/หรือ ประชาธิปไตย เกิดขึ้นตามมา อาจารย์จะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เราคงต้องยอมรับว่าไม่เพียงนักการเมืองเท่านั้นที่มองประชาธิปไตยเป็นแค่การเลือกตั้ง ประชาชนจำนวนมากก็เข้าใจเช่นนี้ หรือบางท่านอาจมองว่าจะชั่วจะดีการเลือกตั้งก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบอบประชาธิปไตย ในกรอบคิดดังกล่าว ไม่ว่าโดยส่วนตัวจะชอบหรือไม่ชอบคุณทักษิณ ก็ต้องถือว่าการโค่นรัฐบาลทักษิณซึ่งมาจากการเลือกตั้ง นับเป็นการล้มระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ถ้าเรายกกรอบคิดเรื่องถูกผิดออกไปก่อน ก็จะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดมันมาจากการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ ถ้ามองจากมุมนี้ ก็จะพบว่ารัฐประหารในปี 2549 นั้นมีส่วนที่ถูกกระตุ้นหรือถูกสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นโดยตัวคุณทักษิณเองด้วย คือฝ่ายชนชั้นนำเก่าเขารู้สึกว่าถูกเบียดขับออกจากพื้นที่อำนาจจนรับไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จึงใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญมายึดอำนาจคืน อันนี้กลายเป็นเรื่องโชคร้ายสำหรับประเทศไทย เพราะการยึดอำนาจคืนนั้นมันไม่ได้กระทบแค่คุณทักษิณคนเดียว แต่มันกระทบโครงสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยรวมด้วย

แน่ล่ะ กล่าวสำหรับประเด็นการเลือกตั้งซึ่งเป็นทางขึ้นสู่อำนาจของชนชั้นนำจากภาคธุรกิจ หลังจากยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไปแล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีการคิดกันอย่างละเอียดประณีตมาก เพื่อจะกันไม่ให้กลุ่มทุนใหม่ทั้งหลายใช้เวทีเลือกตั้งขึ้นมากุมอำนาจได้โดยง่าย หรือต่อให้ชนะเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถมีอำนาจเท่ากับสมัยคุณทักษิณ ดังเราจะเห็นได้จากบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

แต่การจัดแผนผังอำนาจไปในทิศทางนี้ ก็ทำให้อำนาจไปกระจุกตัวอยู่ในส่วนของชนชั้นนำที่มาจากระบบราชการมิใช่น้อย เช่น ใช้วิธีการแต่งตั้งเข้ามาผสมในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน หรือการดึงฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมือง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น หลายคนที่ไม่เกี่ยวกับคุณทักษิณก็อาจจะไม่พอใจสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งนโยบายพื้นฐานของชนชั้นนำเก่าที่ยึดอำนาจคืนได้ โดยแก่นแท้แล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากคุณทักษิณมากนัก คือในความหมายที่ว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ประเทศไทยยังคงเปิดกว้างต้อนรับทุนข้ามชาติ เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการกระจายรายได้ เน้นการขยายอุตสาหกรรมมากกว่าการดูแลภาคเกษตรกรรม เน้นการส่งออกและการทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เหมือนกับรัฐบาลคุณทักษิณ  เพราะฉะนั้น จุดต่างจึงอยู่แค่จะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในประเทศอย่างไร และใครคือผู้กุมอำนาจเท่านั้นเอง

แต่เนื้อหาไม่เปลี่ยน?

เนื้อหาที่เป็นแก่นแกนของนโยบายหรือโครงสร้างผลประโยชน์ในสังคมไม่เปลี่ยน มันก็เลยไม่สามารถขยับหรือยกระดับความชอบธรรมให้เหนือกว่าคุณทักษิณได้มากนัก  ยกเว้นในช่วงก่อนที่คุณทักษิณจะล้มลง มันมีประเด็นที่สังคมค่อนข้างจะต่อต้านเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือการถูกนินทาในเรื่องธุรกิจครอบครัว ซึ่งอาจจะทำให้คุณทักษิณเสียความชอบธรรมไปในบางระดับ  แต่คนที่เข้ามาแทนที่ ถ้าพูดถึงทั้งระบบ ก็ไม่ได้เพิ่มความชอบธรรมให้กับตัวเองด้วยนโยบายที่เหนือกว่าหรือการปฏิรูปโครงสร้างผลประโยชน์ที่จะทำให้สังคมไทยเป็นธรรมมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสายตาของปัญญาชนบางกลุ่ม เขาก็รู้สึกว่าสิ่งที่เสียไปมันไม่คุ้ม โดยเฉพาะเขามีความรู้สึกค่อนไปในทางรังเกียจการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ ค่อนข้างรังเกียจระบบที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำจากภาครัฐ

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีมิติไหนที่แตกต่างไปจากรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้บ้าง

ในแง่ของจุดมุ่งหมายคงไม่ค่อยใหม่เท่าไร เพราะมันแค่ต้องการสถาปนาอำนาจนำของชนชั้นนำจากภาคราชการ  แต่ในแง่รูปแบบ ต้องยอมรับว่าเป็นการทำรัฐประหารที่ค่อนข้างนุ่มนวล คือไม่ค่อยควบคุมสังคม ไม่ค่อยออกมาทะเลาะกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับขั้วอำนาจที่ถูกโค่น ไม่ค่อยจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลายๆ เรื่อง  ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทหารไม่ได้เข้ามาปกครองโดยตรงอย่างชัดเจนเหมือนในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่ดึงชนชั้นนำในภาคพลเรือนเข้ามาเป็นหน้าเป็นตาของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ

ด้วยเหตุนี้เมื่อดูโดยผิวเผินแล้ว รัฐประหารครั้งล่าสุดก็อาจจะไม่คล้ายกับรัฐประหารครั้งก่อนๆ บางคนเขาจึงใช้คำว่าเป็นรัฐประหารหน่อมแน้ม

เหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้คณะรัฐประหาร ไม่กล้าทำลายพลังประชาธิปไตยและครอบงำสังคมมากเกินไป จนท้ายที่สุด คณะรัฐประหารเองก็ไม่สามารถกุมอำนาจโดยตรงได้นาน เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคพลังประชาชนก็กลับมาชนะเลือกตั้ง กลุ่มการเมืองของคุณทักษิณครองอำนาจรัฐได้อีกสองรัฐบาล เราจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างไร … เป็นเพราะพลังโลกาภิวัตน์?

มันไม่ใช่แค่พลังโลกาภิวัตน์ แม้ตรงนั้นจะมีส่วน แต่เราอย่ามองข้ามพลังในสังคมไทยซึ่งมีประวัติการต่อสู้กับการปกครองโดยทหารมายาวนาน ถึงขั้นที่เคยรบราฆ่าฟันกันมาแล้ว เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันมาจากสองแรงกดดันที่ทำให้ผู้นำกองทัพที่มายึดอำนาจครั้งล่าสุดไม่สามารถสถาปนาระบอบเผด็จการเต็มรูปขึ้นมาเหมือนในสมัยก่อน มันมีแรงต้านทั้งจากภายในและภายนอก

ขณะเดียวกัน เราก็อาจจะมองเห็นว่าพวกเขาไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว  สิ่งที่เขาต้องการก็คือ ไม่ถูกกลุ่มของคุณทักษิณมายึดพื้นที่ทางอำนาจที่เคยมีมาแต่เดิม ซึ่งหมายถึงว่าชนชั้นนำเก่าๆ เขาอยู่กับระบบรัฐสภาแบบในช่วงก่อนคุณทักษิณได้  ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พาเรากลับไปยุคก่อนปี 2540 เพื่อที่จะได้พบกันครึ่งทาง ระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับชนชั้นนำจากภาครัฐ

พูดก็พูดเถอะ ผมคิดว่าอุดมคติของเขาอาจจะถอยไปถึงยุคของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยซ้ำไป แต่บังเอิญมันมีตัวแปรอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่อาจหวนกลับได้ นั่นคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถูกยกระดับขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะของการเมืองภาคประชาชนและองค์กรตรวจสอบที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มันเอาสิ่งเหล่านี้ออกไปไม่ได้ เพราะถ้าเอาออกก็เท่ากับถอยหลังเข้าคลอง เงื่อนไขตรงนี้จึงกลายเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายประชาชน และทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ดูไม่ล้าหลังจนเกินไปนัก ซึ่งโดยอ้อมแล้วก็เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อชนชั้นนำที่เข้ามาแทนคุณทักษิณด้วย

บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังคงเนื้อหาสาระใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และบางส่วนอาจล้ำหน้ากว่า แม้ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร แต่ในแง่สถาบันการเมือง เช่น ระบบการเลือกตั้ง หรือการแบ่งอำนาจระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ ดูเหมือนจะถอยหลังลงคลอง  อาจารย์เห็นว่า การจัดแบ่งดุลอำนาจต่างๆ ในสังคมไทยมีปัญหาไม่ลงตัวอย่างไร จึงทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากตามมาในอีก 2-3 ปีให้หลัง

ก็ดังที่ผมกล่าวมาแล้ว กลุ่มที่ทำรัฐประหาร2549 เขาต้องการจัดพื้นที่อำนาจในส่วนยอดเป็นหลัก อย่างน้อยก็ดึงกลับไปสู่ยุคก่อนรัฐบาลทักษิณ และถ้าทำได้มากขึ้นก็คงอยากฟื้นอำนาจนำของภาคราชการ นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การจัดดุลอำนาจระหว่างชนชั้นนำใหม่กับชนชั้นนำเก่าไม่ลงตัว และเป็นที่มาสำคัญของสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงในระยะหลังๆ พูดง่ายๆคือเรื่องมันยังไม่จบ ประเทศไทยยังคงเผชิญกับแรงกระแทกของความขัดแย้งในปี 2549 และการยื้อแย่งพื้นที่อำนาจในส่วนยอดก็ยังคงดำเนินอยู่ โดยรวมศูนย์อยู่ในประเด็นยุบสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กล่าวสำหรับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าในระดับบทบัญญัติทางกฎหมายถือว่าไม่ถูกกระทบมากนัก แต่ในความเป็นจริง การเมืองภาคประชาชนยังคงมีพื้นที่ค่อนข้างน้อยในระบอบการเมืองไทย เรื่องนี้เป็นกรรมรวมหมู่ของทุกฝ่าย เพราะในสมัยที่คุณทักษิณปกครอง การเมืองภาคประชาชนก็ถูกทำให้อ่อนแอลง ทั้งๆ ที่กฎหมายเริ่มรับรองความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มรูป

การเมืองภาคประชาชนถูกทำให้อ่อนแอลงด้วยสองสาเหตุ สาเหตุหนึ่งคือ นโยบายประชานิยมของคุณทักษิณซึ่งเป็นนโยบายอุปถัมภ์ประชาชนโดยรัฐ อันนี้ทำให้คนที่เสียเปรียบหรือยากไร้จำนวนไม่น้อยคิดว่าเป็นทางออกที่ดีกว่าไปสู้เอง สู้เองแล้วมักจะแพ้ ดังนั้นชาวบ้านจำนวนไม่น้อยจึงหันไปพึ่งพิงนักการเมือง โดยละทิ้งความเป็นอิสระของตนในฐานะพลังทางการเมือง  สาเหตุที่สองคือประชาชนส่วนที่ไม่ไปขึ้นต่อนักการเมืองและพยายามจะเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างป็นอิสระ ก็มักจะถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่และผู้มีอิทธิพล อีกทั้งไม่เป็นที่ชอบใจของผู้นำรัฐบาลในยุคนั้นเท่าไร  ด้วยเหตุนี้รวมๆ แล้วในสมัยของคุณทักษิณ การเมืองภาคประชาชนจึงอ่อนแอลงไปมาก

จากสภาพดังกล่าวต่อเนื่องมาถึงยุครัฐธรรมนูญ 2550 แม้จะมีบทบัญญัติเพิ่มอำนาจให้การเมืองภาคประชาชน แต่เรื่องกลายเป็นว่า ถึงตอนนี้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยหันไปถือหางความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ จึงทำให้พลังอิสระของภาคประชาชนมีไม่พอที่จะกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553 ก็มีส่วนกระตุ้นในทางอ้อมให้ภาคประชาชนเริ่มฟื้นขึ้นมา หลายคนเริ่มรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย หรือปล่อยให้ถ้ากำลังยังน้อยอยู่อย่างนี้ มันจะถูกครอบงำโดยความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองสองขั้ว และกลุ่มการเมืองสองขั้วนี้ จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีวาระเกี่ยวกับปัญหาโครงสร้างที่กดทับประชาชนเท่าไร นอกจากสโลแกนกว้างๆ ที่บอกว่ารักชาติรักประชาชน หรือรักประชาธิปไตย แต่วาระที่ผมพูดถึง เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน หรือการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค อะไรทำนองนี้ พวกเขาไม่มีทั้งสิ้น ไม่ว่าสีเหลืองหรือสีแดง

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมจึงทำให้ภาคประชาชนบางส่วนเริ่มตระหนักว่า ถ้าขืนปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ พวกเขาจะถูกพัดพาให้กลายเป็นแค่ผู้ถูกกระทำโดยสถานการณ์ หรือถูกพาไปหมุนวนล้อมรอบประเด็นช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มผลักดันประเด็นที่คิดว่าสำคัญขึ้นมา อย่างเช่นประเด็นการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง

เรื่องนี้ จริงๆ แล้วผมคิดว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์แต่เดิมก็อาจจะไม่ได้คิดถึง แต่มันมาจากแรงกดดันของเครือข่ายภาคประชาชนในช่วงที่มีเหตุการณ์ ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ไม่เกี่ยวกับเสื้อเหลืองเสื้อแดงด้วย

ฟังดูเหมือนอาจารย์จะแยกภาคประชาชนออกมาจากมวลชนเสื้อเหลืองและมวลชนเสื้อแดง จริงๆ แล้ว เราเรียกการเมืองของกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดงว่าการเมืองภาคประชาชนได้หรือไม่

ในฐานะคนสอนวิชาการเมืองภาคประชาชน ผมคงต้องยืนยันตามทฤษฎีว่าขบวนการเมืองเหล่านี้ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน เพียงแต่มีองค์ประกอบปะปนอยู่บ้าง อันนี้ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี เพียงแต่ต้องการจำแนกประเภทความเคลื่อนไหวตามหลักวิชาเท่านั้น

ส่วนที่ไม่ใช่คือตรงไหน

เราต้องดูที่การนำและวัตถุประสงค์ในการต่อสู้ ส่วนที่ไม่ใช่ก็คือ มันเป็นการระดมมวลชนมาสนับสนุนการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม ถ้าเรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนน่ะถูก แต่ถ้าเรียกว่าการเมืองภาคประชาชนยังไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นการเมืองภาคประชาชน ข้อที่หนึ่ง การนำต้องคงอยู่กับภาคประชาชน ไม่อยู่กับชนชั้นนำ  ข้อต่อมาก็คือ ภาคประชาชนต่อสู้เพื่อที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตน ซึ่งรวมทั้งการเพิ่มฐานะต่อรองในโครงสร้างอำนาจด้วย แต่ไม่ใช่เพื่อยึดกุมอำนาจรัฐเพื่อควบคุมสังคม พูดอีกแบบหนึ่งคือไม่มีประเด็นการยึดอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะมีประเด็นการลดทอนอำนาจรัฐเป็นสำคัญ เพื่อให้อำนาจรัฐไม่ไปข่มเหงทำร้ายเขา หรือไปบริหารจัดการเขาโดยที่เขาไม่เห็นชอบ อย่างเช่นการต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนในการบริหารทรัพยากร ต่อสู้ให้เอาโครงการทำลายสิ่งแวดล้อมออกไปจากท้องถิ่นของเขา หรือการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงาน การเมืองภาคประชาชนส่วนใหญ่จะออกมาในทำนองนั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผมพูดมานี้เป็นเพียงการชี้ให้เห็นความแตกต่าง ไม่ได้ไปลดทอนนัยสำคัญของขบวนเสื้อสีทั้งหลาย อันที่จริงถ้าพวกเขามีความชัดเจนในข้อเสนอทางสังคมมากกว่านี้ หรือมีชุดนโยบายปรับปรุงบ้านเมืองอย่างเป็นระบบ ก็อาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานได้

การต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงทำให้พื้นที่สาธารณะเปิดขึ้นหรือปิดลง

โดยความพยายามของทั้งสองฝ่ายก็อยากจะให้คนอื่นคิดเหมือนตน ซึ่งแค่นี้ไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่พอมีพฤติกรรมที่ไม่รับฟังคนที่คิดต่าง กระทั่งถึงขั้นมองในแง่ร้าย และตอบโต้ราวกับว่าเป็นศัตรูก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อเสรีภาพโดยรวม อันนี้เท่ากับไปปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับกลุ่มชนที่มีความคิดเป็นอิสระหรือแม้แต่ภาคประชาชนทั่วไป  คือคุณคิดอะไรต่างจากเหลืองก็ไม่ได้ ต่างจากแดงก็ไม่ได้ จะต้องมีคนมาหาเรื่องตัดสินประนามอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตย

แต่ถ้าพูดในแง่ของผลที่เกิดขึ้นจริงๆ ผมว่าการกดดันเช่นนั้นมันยิ่งไปทำให้คนที่คิดเป็นอิสระรู้สึกว่ายอมไม่ได้เหมือนกัน จึงต้องยืนยันตัวตนขึ้นมาบ้าง  รวมทั้งภาคประชาชนที่เขามีปัญหาเดือดร้อนมานานแล้ว โดยไม่ข้องเกี่ยวกับการชิงอำนาจในระดับศูนย์กลาง เขาก็รู้สึกร้อนใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงพยายามเกาะเกี่ยวกันมากขึ้น เพื่อที่จะกดดันให้มีการยอมรับจากทุกฝ่ายว่ามันมีประเด็นของพวกเขาอยู่ อย่าคิดกันแค่เรื่องชิงอำนาจในระดับสูง

พูดในเชิงบวก ความขัดแย้งของขบวนเหลืองแดงมันมีส่วนทำให้คนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ออกความเห็นเรื่องบ้านเมืองกันมากขึ้น เกิดเป็นบรรยากาศแลกเปลี่ยนหรือโต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง สุดท้ายก็เลยไม่มีใครผูกขาดความคิดเห็นได้ฝ่ายเดียว…ตรงนี้เป็นเรื่องดี

ดูเหมือนอาจารย์จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดต่างๆ ที่พยายามอธิบายการเมืองไทยว่าการต่อสู้รอบนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ระหว่างชนชั้นบนกับชนชั้นล่าง ระหว่างพลังจารีตกับพลังประชาธิปไตย หรือระหว่างพลังรักทักษิณกับพลังรักสถาบัน  

ตามความเข้าใจของผมซึ่งเคยเป็นนักปฏิวัติในแนวของมาร์กซิสต์มาก่อน ผมคิดว่ามันมีประเด็นชนชั้นเข้ามาเกี่ยวอยู่บ้าง แต่มีในลักษณะเจือปน ไม่ได้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นตามความหมายทางทฤษฎีที่เราเคยเข้าใจกัน การต่อสู้ทางชนชั้นนั้นจะต้องมีทั้งจิตสำนึกทางชนชั้นและการจัดตั้งของชนชั้นเข้ามาประกอบส่วนด้วย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงมิติทางด้านอุดมการณ์และการมีองค์กรนำของชนชั้นตนเอง

โดยทฤษฎีแล้ว การต่อสู้ทางชนชั้นหมายความว่า ชนชั้นหนึ่งสู้กับอีกชนชั้นหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อช่วงชิงฐานะในการสถาปนาอำนาจรัฐ และจัดตั้งระบบสังคมที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นตน  แต่ที่เราเห็นกันอยู่ในระยะ 2-3 ปีมานี้ ในแต่ละสี ในแต่ละขั้ว ล้วนมีทุกชนชั้นเข้ามาสมทบกำลังกัน คือแต่ละฝ่ายมีตั้งแต่ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ไปจนถึงชนชั้นล่าง นอกจากนี้การนำยังอยู่กับชนชั้นที่ได้เปรียบอีกต่างหาก

เพราะฉะนั้น ถามว่าแบบนี้เราจะบอกว่ามันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นได้หรือไม่ ผมคิดว่าบอกไม่ได้ เต็มปากนัก แต่เผอิญมันมีผลประโยชน์ที่มาบรรจบกัน แต่ละฝ่ายเลยมีชนชั้นที่ถูกกดขี่เข้ามาสมทบด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงของรัฐบาลคุณทักษิณก็ได้สร้างความแปลกแยกให้กับกลุ่มเอ็นจีโอและกลุ่มชุมชนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง เขาจึงหันไปสนับสนุนฝ่ายเสื้อเหลือง ซึ่งนำโดยคนที่เป็นชนชั้นนำฝ่ายตรงข้ามกับคุณทักษิณ

ในขณะเดียวกัน คนเสื้อแดงก็มีคนชั้นล่างเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  เพราะเขารู้สึกดีต่อนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณและผูกพันกับตัวคุณทักษิณด้วย จากนั้นก็อาจขยายความไปถึงว่าเขาต้องการให้เคารพสิทธิเลือกตั้งของพวกเขา  ไม่ใช่จู่ๆก็มาล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกขึ้นมา ซึ่งตรงนี้แน่นอน มันมีองค์ประกอบทางชนชั้นเข้ามาเกี่ยว แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่นำพาเขาก็ยังเป็นชนชั้นนำอยู่ดี เป็นนักการเมืองจากอดีตพรรคไทยรักไทย หรือเป็นปัญญาชนนักเคลื่อนไหวสังกัดกลุ่มชนชั้นนำมากกว่าจะเป็นคนยากคนจน

ถ้าทั้งสองสี ต่างฝ่ายต่างมีคนทุกกลุ่มทุกชนชั้นเข้าร่วม อะไรคือความแตกต่างระหว่างความเป็นเหลืองกับความเป็นแดง  แต่ละฝ่ายต่อสู้เพื่ออะไร

ความแตกต่างอยู่ที่สองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่หนึ่งคือความพอใจในกลุ่มชนที่เขาประสงค์จะให้กุมอำนาจ ซึ่งมีที่มาและคุณสมบัติแตกต่างกัน มิหนำซ้ำยังตกลงกันไม่ได้ พูดอีกแบบคือพวกเขาต้องการผู้ปกครองคนละชุดกัน  ข้อที่สองคือแนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมและดัดแปลงสังคมไทยซึ่งเห็นไม่ตรงกัน ในการแข่งกันคุมประเทศไทย ฝ่ายหนึ่งอาจจะค่อนไปในทางชาตินิยม อนุรักษนิยม จารีตประเพณี แล้วก็ชูธงในด้านคุณธรรมของการปกครอง  ส่วนอีกฝ่ายก็อาจจะเน้นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่โลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว เป็นประเทศไทยแบบไร้พรมแดน เป็นทุนนิยมเต็มร้อยซึ่งถือผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นตัวนำคุณค่าของชีวิต นอกจากนี้ยังเน้นการใช้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเป็นแบบแผนหลักในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่ามันมีเรื่องขัดแย้งกันอยู่จริง คนที่อยู่ข้างบนของทั้งสองฝ่ายนั้นเขาขัดแย้งกันแน่ แต่สำหรับคนที่อยู่ข้างล่างของทั้งสองฝ่าย ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเขาควรจะมาขัดแย้งกันเองหรือไม่

ในหนังสือหลายเล่มของอาจารย์ได้พูดถึงปัญหาของประชาธิปไตยไทย คือประชาธิปไตยไทยยังไปไม่พ้นจากการเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ซึ่งประชาชนไม่มีอำนาจจริง กล่าวได้หรือไม่ว่า วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในรอบนี้ก็ยังไปไม่พ้นหนังเรื่องเดิม นั่นคือ การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน

ในเวลานี้ถ้าพูดกว้างๆ ก็คงเป็นแบบนั้น คือยังเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม คือชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ แต่บางคนเขาอาจจะตีความว่าชนชั้นนำใหม่มีสิ่งที่ก้าวหน้ากว่ามาเสนอ และสามารถนำพาสังคมไทยเขยิบไปอีกขั้นหนึ่ง

จุดนี้ผมคิดว่าไม่เป็นที่เห็นพ้องต้องกัน ยังทะเลาะกันอยู่ ปัญญาชนหลายๆ กลุ่มก็เห็นไม่เหมือนกัน พวกซ้ายเก่าก็มองไม่เหมือนกัน  เราคงเคยได้ยินว่าคนเก่าคนแก่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็แบ่งเป็นสองส่วนเหมือนกัน เถียงกันว่าว่าฝ่ายไหนก้าวหน้ากว่าฝ่ายไหน ซึ่งสำหรับผม ผมไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแบบนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าชนชั้นนำก็คือชนชั้นนำ เมื่อยึดอำนาจได้ ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็จะจัดโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ให้สอดคล้องกับพวกเขา  ถ้าประชาชนไม่สร้างพลังต่อรองของตนขึ้นมา โอกาสที่จะเป็นแค่หางเครื่องมันก็มีสูง

เพราะฉะนั้น จุดยืนและทัศนะของผมก็คือ ต้องมีพลังประชาชนที่เป็นอิสระคอยปกป้องและต่อรองเอาผลประโยชน์กลับมายังคนที่เสียเปรียบ คนที่ตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด

อาจารย์พูดถึงชนชั้นนำใหม่กับชนชั้นนำเก่าหลายครั้ง เส้นแบ่งมันอยู่ตรงไหนกันแน่ ผมนึกถึงคนอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน จะเรียกว่าเป็นชนชั้นนำเก่าหรือชนชั้นนำใหม่ เพราะท่านก็อยู่กับทั้งพลังจารีตเก่าและอยู่กับทุน กระทั่งทุนโลกาภิวัตน์

ถ้าพูดกันโดยคำนิยามจริงๆ อาจจะพูดได้ว่า ชนชั้นนำเก่าประกอบด้วยชนชั้นนำจากภาครัฐและจากภาคธุรกิจที่เคยชินกับการอาศัยการดูแลของรัฐชาติมาตั้งแต่สมัยอำนาจนิยม และในช่วงหลัง ก็มาบวกกับนักการเมืองที่โตขึ้นมาในระบบรัฐสภา แต่ไม่ใช่โตในลักษณะของชนชั้นอิสระที่จะมาโค่นล้มใคร เพียงแต่โตมาจากนักธุรกิจแบบอุปถัมภ์ ซึ่งพอเขามีเวทีการเมืองให้เล่นก็เล่นเพื่อขยายธุรกิจของตน พวกนี้รวมกันเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่อยู่ในฐานะผู้กุมอำนาจมาเป็นเวลานาน

ส่วนชนชั้นนำใหม่ในบริบทปัจจุบัน จริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ทิ้งคนจากภาครัฐ เพียงแต่เขาอยากจะกลับขั้วให้ฝ่ายทุนเป็นผู้มีฐานะนำ แล้วก็ให้คนจากภาครัฐมีฐานะเป็นหุ้นส่วนรายย่อย  เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการจัดฐานะใหม่ในพันธมิตรทางอำนาจ ซึ่งแค่ตรงนี้ก็ทะเลาะกันแล้ว

อันที่จริงในอดีตของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย การก่อเกิดของชนชั้นนำใหม่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อเสมอ เป็นจุดที่อันตราย เพราะถ้าตกลงกันไม่ได้ก็อาจจะต้องโค่นกันด้วยความรุนแรง บางที่บางแห่งก็ถึงขั้นรบราฆ่าฟันกันยืดเยื้อ  อย่างไรก็ดี ของไทยเรามันมีแบบแผนที่อาจจะต่างจากประเทศอื่นๆสักหน่อยตรงที่ว่า แม้บางครั้งจะเริ่มต้นด้วยความรุนแรง แต่สักพักก็จะลงเอยด้วยการประนีประนอม

เช่นในปี 2475 ซึ่งชนชั้นนำใหม่ท้าทายชนชั้นนำเก่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เขาก็หาสูตรที่ลงตัวพอจะอยู่ร่วมกันได้ จากนั้นในกรณี 14 ตุลาคม 2516 ก็เหมือนกัน หลังจากปะทะกัน แล้วลามไปถึง 6 ตุลาคม 2519 ลามไปถึงการรบในป่า ในที่สุดทหารก็ต้องยอมเปิดประตูให้คนชั้นกลาง หรือนักธุรกิจ ที่ต้องการเล่นการเมืองในระบบรัฐสภา เข้ามามีส่วนแบ่งในอำนาจ เพียงแต่ต้องยอมรับว่าทหารยังคงอยู่ในฐานะหุ้นส่วนใหญ่ เหมือนอย่างในกรณีของรัฐบาลพลเอก เปรม ซึ่งปกครองประเทศอยู่ประมาณ 10 ปี

จากนั้นสมการนี้ก็เอียงไปทางนักการเมืองและภาคธุรกิจ คือยุคของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ พอทหารโต้กลับมาในฐานะชนชั้นนำเก่า มันก็เกิดเหตุการณ์ต้านกลับในกรณีพฤษภาคม2535 หลังจากนั้นก็ต้องมาปรับสมดุลกันอีก ในลักษณะพบกันครึ่งทาง จัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัว ต่างคนต่างมีบทบาท มีพื้นที่ทางอำนาจที่พอรับกันได้ ก็ลงตัวอยู่ในระดับหนึ่ง

แต่แล้วพอถึงช่วงปี 2540 คุณทักษิณก็โผล่เข้ามาพอดี คุณทักษิณมาแรงมาก อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มทุนใหญ่และทุนใหม่ที่ไม่ยำเกรงใครทั้งนั้น มีทรัพยากรในมือมากมาย แล้วก็มีหัวคิดที่ฉับไวในการสร้างตลาดการเมือง ซึ่งดึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างกรณีของนโยบายประชานิยม อันนี้มันทำให้การจัดพันธมิตรแบบเก่าในหมู่ชนชั้นปกครองมันล้มระเนระนาดไปหมด

แต่ทั้งหมดที่ผมพูดก็ยังไม่ครบถ้วนทุกมิติของความเป็นจริง ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกมองข้ามมาตลอด คือโครงสร้างอำนาจการปกครองของรัฐไทยเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมาร้อยกว่าปี มันเป็นระบบแบบผู้ชนะได้ไปหมด (winner takes all)  เพราะฉะนั้น พอมายึดตรงนี้ได้ อำนาจในการจัดการระบบราชการก็ดี แผนพัฒนาประเทศก็ดี การทำข้อตกลงกับนานาชาติก็ดี และอีกหลายๆ อย่าง กลายเป็นว่าอยู่ในมือของคุณทักษิณและคณะไปโดยอัตโนมัติ

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่าโครงสร้างอำนาจการปกครองที่มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บวกกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่ทำให้คุณทักษิณมีอำนาจสั่งการอย่างเหลือเชื่อ เรื่องจึงลุกลามไปใหญ่โต

โครงสร้างแบบผู้ชนะได้ไปหมดเช่นนี้  ไม่ว่าใครขึ้นมากุมอำนาจก็คงไม่อยากเปลี่ยน ไม่อยากแก้

ปัญหามันอยู่ตรงนั้นแหละ ผมคิดว่าภาคประชาชนควรจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ให้มาก ว่าโครงสร้างนี้ก่อปัญหามาก ต้องหาทางปรับเปลี่ยนกันได้แล้ว เพราะมันไม่เหมาะกับสภาพปัจจุบัน และเป็นอันตราย

อาจารย์บอกว่าเวลามีปัญหา มีวิกฤต สังคมการเมืองไทยก็จะหาจุดลงตัวได้ในภายหลัง  วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ อาจารย์พอมองเห็นจุดลงตัวนั้นหรือยัง

ผมไม่ได้พูดแบบนั้น แค่ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาชนชั้นนำที่ขัดแย้งกันในประเทศไทยมักลงเอยด้วยการประนีประนอม แต่ก็แน่ละ ครั้งนี้อาจจะต่างจากครั้งก่อนๆก็ได้ และการหาจุดลงตัวอาจจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว จุดลงตัวเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะถึงอย่างไรสังคมโดยรวมก็ต้องดิ้นรนหาความอยู่รอด แต่ในกรณีรูปธรรมของความขัดแย้งหรือวิกฤตการเมืองที่เราเผชิญอยู่ มันอาจจะต้องมีการขยับจากหลายฝ่ายมากขึ้น เพื่อให้พบความสมดุล  ซึ่งในกรณีนี้ การตกลงกันหรือการแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะส่วนที่เป็นมวลชนชั้นล่างๆ เขาก็ตื่นขึ้นมามาก เราคงหาจุดสมดุลโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างหรือการปฏิรูปบ้านเมืองเลยไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถึงจะพูดกว้างๆ ว่าความสมดุลเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย  ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำมันไปถึงขั้นปะทะกันรุนแรงมาแล้วรอบหนึ่ง สภาพดังกล่าวย่อมทำให้ความบาดหมางเยียวยาได้ยากขึ้น

วิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้มีมิติใหม่ทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นบ้าง  

มิติใหม่ในเวลานี้ก็อาจจะพูดได้ว่า ทุกฝ่ายมีการนำมวลชนเข้ามาประกอบส่วนในความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งโดยกระบวนการแล้วมันมีทั้งด้านที่เสริมความชอบธรรม และด้านที่ต้องพิจารณาความต้องการของมวลชนมากขึ้นด้วย

เราจะเห็นได้ว่าเวลานี้ชนชั้นนำเก่าภายใต้การนำของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ก็เริ่มขยับมาในทางดูแลประชาชนมากขึ้น เพราะรู้ดีว่าถ้ายังคงปกครองแบบเดิมๆ มันจะไปไม่รอด  ขณะเดียวกัน ฝ่ายเสื้อแดงก็มีคุณูปการทางอ้อม คือถึงแม้ว่าจะมุ่งไปที่การทวงอำนาจคืน แต่ก็มีการเสนอประเด็นต่างๆ ที่ปกติแล้วสังคมอาจจะไม่นำมาพิจารณา

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผมคิดว่าอย่างไรเสียก็จะควรต้องมีตัวละครบนเวทีอำนาจเพิ่มขึ้น มันจึงจะทำให้ความสุดขั้วของทั้งสองฝ่ายลดลง  ตัวละครที่ผมหมายถึงคือภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเป็นอิสระ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องการเพียงแค่ที่ดินทำไร่ทำนา ต้านเขื่อน หรือเลิกสร้างโรงไฟฟ้า เรื่องเหล่านั้นถึงอย่างไรก็เคลื่อนไหวอยู่แล้ว แต่เราจำเป็นต้องมีภาคประชาชนที่ออกมาบอกว่าการเมืองที่เขาอยากเห็นเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เขาอยากเห็นเป็นอย่างไร  ในส่วนนี้ผมรวมถึงปัญญาชนสาธารณะและเครือข่ายภาคประชาสังคมด้วย

อาจารย์บอกว่าวิกฤตการเมืองรอบนี้ปลุกให้มวลชนตื่นขึ้น และมวลชนก็มีความรู้สึกร่วมกับมันมาก ทีนี้เมื่อถูกปราบปรามโดยรัฐ มวลชนจำนวนมากรู้สึกพ่ายแพ้ พวกเขากลับบ้านไปด้วยความเศร้าใจและคับข้องใจ มันจะเป็นเชื้อที่นำไปสู่ความรุนแรงในอนาคตเหมือนช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 หรือไม่

ที่พูดมาผมไม่ได้หมายถึงการตื่นตัวของมวลชนทั้งประเทศนะ แค่มวลชนบางส่วนแม้จะมีจำนวนมากก็ตาม สภาพความเป็นจริงเช่นนี้มันหมายความว่าความไม่พอใจของคนเสื้อแดงนั้น อาจจะถูกกดทับด้วยความเงียบเฉยของคนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

กล่าวสำหรับการคลี่คลายของสถานการณ์ ในเวลานี้ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับท่าทีของฝ่ายกุมอำนาจ ตอนนี้ลูกบอลอยู่ในมือของเขา ถ้าการกดดันมีมากเกินไป แรงต้านมันก็ต้องเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่พ่ายแพ้ในวิกฤตเดือนพฤษภาคม 2553 มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่พวกเขาจะต้องเจ็บช้ำน้ำใจ ถ้ารัฐบาลฉลาด รัฐบาลก็ไม่ควรไปกดดันเขามาก การปรองดองคงไม่ได้เกิดจากการไปตั้งข้อหาหรือจับคนเป็นจำนวนมาก แต่มันต้องเกิดจากการพยายามสะสางปัญคาใจ และทำความเข้าใจกับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเรื่องของการเมืองเฉพาะหน้าเท่านั้น ในอีกระดับหนึ่งถ้าความไม่พอใจหรือความเจ็บช้ำน้ำใจมันมีรากมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง การเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ การถูกทอดทิ้งไม่เหลียวแลโดยรัฐ หรือการใช้อิทธิพลที่ไม่เป็นธรรมไปเบียดเบียนเขา การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ควรจะต้องได้รับการพิจารณาด้วย  ซึ่งตรงนี้ผมไม่รู้ว่ามันจะเกินกำลังของรัฐบาลหรือเปล่า แต่มันเป็นวาระที่ผู้คนที่แย่งชิงอำนาจกันทุกฝ่ายควรนำมาพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตาม ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็จะผลิตความขัดแย้งขึ้นมาอีก ผลิตความไม่พอใจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ  ซึ่งถึงจุดหนึ่งมันอาจจะระเบิดเป็นความขัดแย้งใหญ่โตกว่าที่เราเคยเห็นก็ได้

หลังจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้ เราต้องมานิยามอะไรกันใหม่บ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เปลี่ยนแปลงในสังคมไทย  

ผมไม่อยากเริ่มที่คำนิยาม เพราะพอเริ่มแบบนั้นแล้วจะเถียงกันไม่จบ  ผมอยากจะเริ่มด้วยสิ่งที่เห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างๆก่อน คือผมคิดว่าในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็เป็นที่ยอมรับกันจากทุกสีทุกฝ่าย รวมทั้งภาคประชาชนที่เป็นอิสระไม่ข้องเกี่ยวกับสีไหน ว่าเราต้องหันหน้าไปในทิศทางของประชาธิปไตย ไม่มีใครต้องการให้ประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมหรือกลับไปสู่ระบอบเผด็จการแบบเก่าๆ เพราะฉะนั้นจะปรับเปลี่ยนปรับปรุงอะไร ก็ควรอยู่ในกรอบของประชาธิปไตยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ถึงตอนนี้เรามีบทเรียนแล้วว่าแม้แต่ในระบอบประชาธิปไตย การกุมอำนาจก็อาจจะรวมศูนย์ได้ อาจจะเอียงได้ อาจจะกระจุกตัวได้ เราก็ควรแก้ไขไปตามนั้น คือทำให้พื้นที่ของอำนาจได้รับการกระจายอย่างทั่วถึง ให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองมีพื้นที่อันเหมาะควร แล้วก็ไม่มีใครถูกคัดออกจากพื้นที่การมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย หรือการบังคับทิศทางของบ้านเมือง ถ้าเราทำได้อย่างนั้นได้ก็ต้องถือว่าความสัมพันธ์ทางอำนาจลงตัว และเมื่อลงตัว ก็ต้องถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ใช้การได้ เราควรปรับปรุงส่วนนี้ไปเรื่อยๆแต่อย่าไปติดอยู่กับคำนิยามสำเร็จรูปจากที่ไหน เพราะมันจะทำให้เราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดก็คือ ต้องถามว่าความไม่พอใจทางการเมืองเกิดขึ้นเพราะเหตุใด แล้วเหตุนั้นชอบธรรมแค่ไหน ถ้าเป็นความไม่พอใจที่ชอบธรรม มันก็ต้องไปดับความไม่พอใจนั้นด้วยการสนองตอบ ซึ่งจริงๆ แล้วรูปธรรมก็มีให้เห็นอยู่มากมายว่ามีจุดใดบ้างที่ควรจะแก้ไข

ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สุดท้ายมันมาลงเอยอยู่ที่เรื่องเดียว คือเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ  ที่ผ่านมาโครงสร้างอำนาจมันกระจายไม่ทั่วถึง มันปิดโอกาสคนจำนวนมาก ในหมู่ชนชั้นนำก็เอียงไปเอียงมา แย่งกันยึดพื้นที่ของกันและกัน  ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่าง ชนชั้นล่างก็ถูกกดทับมาตลอด ไม่มีอำนาจต่อรองในการที่จะแก้ปัญหาในชุมชนของตน ในการที่จะป้องกันตัวจากการลุกล้ำของทุนใหญ่หรือโครงการใหญ่ของรัฐ  ระหว่างกรรมกรกับนายทุน กรรมกรก็ถูกลิดรอนไม่ให้ตั้งสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่กฎหมายอนุญาตแล้ว ก็ยังถูกกลั่นแกล้งไม่รู้จบ  แบบนี้มันอยู่ร่วมกันอย่างสันติลำบาก เพราะมันไม่มีความเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์  ความเท่าเทียมกันตรงนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีรายได้เท่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด ทุกคนควรจะอยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรอง และเข้าถึงกระบวนการจัดการชีวิตของตนได้  เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ช่วยกันสะสางก็จะต้องเจอกับวิกฤตที่ต่อเนื่องไม่รู้จบ หรืออาจจะจบแบบโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ที่ผมบอกว่าอย่าไปยึดติดกับคำนิยาม เพราะผมเกรงว่าเราจะไปเถียงกันในเรื่องที่เป็นกาก ไม่ใช่แก่น แต่ถึงที่สุดแล้ว เราก็ยังอยู่กับระบอบประชาธิปไตยนี่แหละ เพียงแต่จะต้องขยายความและทำความเข้าใจว่าเราพูดถึงมันลอยๆ ไม่ได้ เราจะต้องพูดถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริง ไม่ใช่มีคนเล่นการเมืองกันอยู่ทั้งประเทศไม่กี่พันคน ผลัดเวียนกันอยู่ในสนามเลือกตั้งเพียงเท่านี้ แล้วเราก็เรียกว่าประชาธิปไตย หรือแต่งตั้งส่วนหนึ่ง เลือกตั้งส่วนหนึ่ง แล้วเราก็เรียกมันว่าประชาธิปไตย มันไม่ใช่แบบนั้น ที่สำคัญก็คือ เรามีคนที่ถูกกดทับไว้ด้วยโครงสร้างต่างๆ ไม่ให้มีอำนาจต่อรองใดๆเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย นี่คือข้อเท็จจริง

การไม่มีอำนาจจริงทำให้ประชาชนต้องไปพึ่งระบบอุปถัมภ์โดยรัฐ ต้องไปพึ่งนโยบายของพรรคการเมือง หรือถูกลากจูงไปเป็นเบี้ยเป็นหอยทางการเมืองมากเกินไป  แต่ถ้าเขามีอำนาจจริง เขาก็จะมีอิสรภาพ เขาก็จะมีศักดิ์ศรี ไม่ตกเป็นเหยื่อของใครโดยง่าย และถ้าเขาจะเรียกร้องอะไรจากรัฐหรือจากพรรคการเมืองบ้างก็เรียกร้องในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศ ไม่ใช่ในฐานะบ่าวไพร่บริวาร ตรงนี้เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่จะต้องแก้ไข

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราควรเข้าใจไว้ตั้งแต่ต้นว่าลำพังอำนาจอย่างเดียวคงแก้ปัญหาทั้งหมดให้กับโลกไม่ได้ สังคมที่ดีจะต้องเป็นสังคมที่มีมิติทางวัฒนธรรม มีมิติทางจิตวิญญาณด้วย มีการชำระจิตใจของสมาชิกในสังคม ซึ่งจะเกื้อหนุนให้การเมืองดีขึ้น  ถึงเราเอาการเมืองเป็นตัวตั้งในการพูดคุยวันนี้ เราก็ต้องเข้าใจว่าการเมืองมันไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ แต่ถูกห้อมล้อมโดยสังคมทั้งสังคม มันถูกห้อมล้อมด้วยสภาวะจิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนั้น

ทีนี้ ถ้าหันมาดูสภาพสังคมไทยปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามันเต็มไปด้วยปัจจัยที่ไม่เอื้อให้การเมืองสงบ สันติ และมีเสถียรภาพ  ถามว่าปัจจัยเหล่านั้นคืออะไร มันคือกระบวนการที่ปลุกเร้าให้เกิดกิเลสตัณหา อยากได้อยากดี อยากแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์กันอยู่ตลอดเวลา  สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่สร้างความสงบได้ยาก ต่อให้คุณจัดสรรอำนาจลงตัว เดี๋ยวมันก็จะเสียสมดุลใหม่ เพราะความต้องการของผู้คนไม่เคยพอ  ทุกคนถูกปลุกระดมด้วยโฆษณาสินค้าหรือเทคนิคการตลาดอะไรต่างๆ จนรู้สึกว่าไอ้ที่มีอยู่มันไม่พอ  ครั้นเมื่อไปต่อรองได้มากขึ้น ถึงอีกจุดหนึ่งก็จะบอกว่าไม่พออยู่ดี

เมื่อเป็นแบบนี้ สังคมก็จะต้องใช้อำนาจมากเกินไป เมื่อคนเรามีผลประโยชน์ต่างๆ นานา แล้วมันมักนำไปสู่การแก่งแย่งชิงดี ท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินด้วยอำนาจ  แต่ถ้าเรามีวิถีชีวิตที่ทำให้เกิดความพอใจง่ายขึ้น โดยความพอใจนั้นต้องเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ไปบอกว่าคุณควรจะพอใจกับการที่คุณถูกกดขี่ หรือพอใจกับการที่คุณยากจน  คือเกิดความพอใจในระดับที่สมควรกับอัตภาพ ความขัดแย้งก็จะลดลง

ความขัดแย้งที่ลดลงจะเป็นผลดีต่อระบบการเมือง เพราะระบบการเมืองไม่ต้องแบกปัญหามาก  ระบบการเมืองเป็นระบบแก้ไขความขัดแย้ง และเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าความต้องการเหล่านี้ไม่ถูกกระตุ้นกระพือให้บ้าคลั่งจนเกินไปนัก ระบบการเมืองก็ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่ต้องไปแบกปัญหาต่างๆ ที่ทะลักเข้ามาอยู่ตลอดเวลา  แต่นี่กลายเป็นว่าทุกเรื่องต้องเข้าไปให้ระบบการเมืองช่วยตัดสิน แล้วบังเอิญก็เป็นการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เลยกลายเป็นว่าเรื่องในหมู่บ้านก็ต้องมาที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องของที่ไหนทุกหนทุกแห่งตั้งแต่เชียงรายถึงยะลาก็ต้องมาที่กรุงเทพฯ เพราะมันไม่มีกระบวนการคัดกรองปัญหาและแก้ปัญหาบริเวณรอบนอก มันจึงมีปัญหาท่วมท้นจนระบบการเมืองแบกไว้ไม่ไหว และแก้ไขได้ไม่หมด

ถ้าเราอยากมีระบบการเมืองที่สมดุลและมีความมั่นคง ก็ต้องดูที่ระบบสังคมและสภาวะจิตของคนในสังคมด้วย  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเกี่ยวโยงกันหมด ถ้าพูดภาษาพระก็คือ อิทัปปัจจยตา มันมีนานาปัจจัยที่มากำหนดการเมือง ซึ่งรวมทั้งระดับความเจริญทางจิตวิญญาณหรือวุฒิภาวะของคนในสังคม  ถ้าเราไม่สร้างตรงนั้น มันก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้สำเร็จ

บทความของอาจารย์ในนิตยสาร ฅ.ฅน ฉบับเดือนมิถุนายน 2553 อาจารย์เขียนว่าเหตุการณ์เผาเมืองในวันที่ 19 พฤษภาคมเป็นผลมาจากการที่กรุงเทพฯ สะสมพลังด้านมืด (Dark Forces) ไว้มากเกินไป คำอธิบายทำนองนี้แตกต่างจากกรอบการวิเคราะห์ของปัญญาชนสาธารณะ นักวิชาการ หรือนักต่อสู้เคลื่อนไหว ซึ่งมักจะไม่ค่อยแทรกมิติทางจิตวิญญาณเข้าไปในการอธิบายเรื่องประชาธิปไตยและการเมือง 

ก็เป็นธรรมดา คือนักวิชาการส่วนใหญ่จะเรียนรู้มาแบบเฉพาะส่วน ใครเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็พูดเรื่องเศรษฐกิจ ใครเป็นนักรัฐศาสตร์ก็พูดเรื่องอำนาจ แต่บังเอิญผมไม่ค่อยเป็นนักอะไร ผมเป็นเพียงคนที่ศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวทั้งหลายที่เกี่ยวกับมนุษย์ โดยไม่ค่อยแยกแยะว่าเป็นสาขาอะไร

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ยกตนข่มท่าน แต่มันก็ทำให้ผมมีความรู้สึกนึกคิดที่อาจจะต่างจากนักวิชาการจำนวนมากตรงที่ว่า ผมมีความรู้สึกในเรื่องลี้ลับของชีวิต หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ หลายคนก็อาจจะบอกว่าผมติ๊งต๊องก็ได้ ไม่เป็นไร  ผมคิดว่าด้วยความที่กรุงเทพฯ อยู่ในฐานะเป็นศูนย์อำนาจมานาน และการเป็นศูนย์อำนาจนั้นทำให้สามารถดึงผลประโยชน์มาไว้ที่กรุงเทพฯ ได้มากกว่าทุกจังหวัดในประเทศไทย คนกรุงเทพฯ จึงมีชีวิตที่แตกต่าง มีชีวิตที่สำเริงสำราญมากกว่า รวมทั้งมีกิเลสตัณหาที่ถูกปลุกเร้ามากกว่าคนในส่วนที่เหลือของประเทศไทย

สภาพเช่นนี้หากพูดในภาษาของผมก็คือกรุงเทพฯสะสมพลังด้านมืดไว้มาก และถ้ามองจากมุมนั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่าการที่กรุงเทพฯพังพินาศลงไปบางส่วนอาจจะเป็นวิบากกรรมของการที่ดึงอำนาจและผลประโยชน์มาไว้กับตัวเองมากเกินไป

ถ้าเราจะพูดไม่ให้มันลึกลับก็คือ กรุงเทพฯเป็นเมืองของคนที่ลุ่มหลงอยู่กับสิ่งต่างๆ คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้จะถูกรบกวนง่าย เสียศูนย์ง่าย รวมทั้งอยู่ไม่เป็นสุขเพราะคอยแต่จะเรียกร้องเอาสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังใจตน  ในทางตรงข้ามคนชนบทเขาอาจจะมองวิถีของกรุงเทพฯ ด้วยสายตาของคนนอกและไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมในชีวิตแบบกรุงเทพฯ เท่าไร

อย่างคนที่มาชุมนุมที่ราชประสงค์ จำนวนมากก็อาจจะไม่มีทางเข้าไปกินข้าวในศูนย์การค้าหรือซื้อของในศูนย์การค้าที่อยู่รอบๆ พื้นที่ชุมนุมได้  เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุการณ์ลุกลามไปถึงขั้นเผาบ้านเผาเมืองกัน พวกเขาย่อมรู้สึกเดือดร้อนน้อยกว่าคนกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตล้อมรอบศูนย์การค้าเหล่านั้น

ตรงนี้ถ้าเราใช้อารมณ์คนกรุงเทพฯเป็นกรอบในการแก้ปัญหา มันก็ยิ่งทำให้กรุงเทพฯ แยกตัวออกจากส่วนที่เหลือของประเทศไทยมากขึ้น และทำให้ปัญหาทางการเมืองไม่ถูกเจาะให้ทะลุถึงรากฐาน เช่น พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น วิธีเยียวยาคือปิดถนนขายของกัน หรือมีการแสดงความรู้สึกสูญเสียอาลัยศูนย์การค้าหรือโรงหนัง อะไรเหล่านี้ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่ามันผิดหรือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะควรอะไร แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นกรอบคิดของคนส่วนน้อยในประเทศไทยเท่านั้น มันไม่ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และไม่ได้พาไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่

ประเทศไทยใหญ่กว่ากรุงเทพฯ มาก และยังมีคนจำนวนมากมายที่ต้องการให้รัฐไปทำอะไรเพื่อพวกเขามากกว่าที่จะปิดถนนขายของกัน

ประชาธิปไตยช่วยจัดการพลังด้านมืดได้ดีขึ้น หรือสุ่มเสี่ยงที่จะถูกพลังด้านมืดเข้าครอบงำ หากสังคมมีพลังด้านมืดอยู่มาก

ผมเคยคุยกับชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ เคยคุยกับคนที่เสียเปรียบและคนทุกข์คนยากมาค่อนข้างมาก ผมมักจะบอกพวกเขาว่า ถ้าวันไหนคุณสามารถมีอำนาจในการจัดการชีวิตตนเอง และป้องกันตัวไม่ให้กลุ่มอิทธิพลภายนอกมารุกรานชุมชนของคุณ คุณก็ต้องรู้ด้วยว่าคุณไม่มีทางที่จะสร้างชีวิตให้เหมือนกับคนกรุงเทพฯ ได้ กรอบคิดในการมองโลก มองชีวิต หรือการให้น้ำหนักกับคุณค่าต่างๆ ของชีวิต คุณจะต้องสร้างมันขึ้นมาอีกชุดหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับกระแสบริโภคนิยมของคนชั้นกลาง  ต่อให้คุณคิดเหมือนคนชั้นกลาง อยากจะมีรถเก๋ง 2 คัน มีบ้านติดแอร์ทุกห้อง หรือลูกได้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย มันก็ทำไม่ได้ เพราะโลกไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าชีวิตเหล่านั้นก็ไม่ใช่หลักประกันเรื่องความสุขและความสงบให้กับคุณ คนชั้นกลางก็มีทุกข์แบบคนชั้นกลาง

ผมบอกพวกเขาว่า คุณไม่เพียงจะต้องสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจในการดูแลตนเองและการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นเท่านั้น แต่คุณจะต้องสู้เพื่อยืนยันวิถีชีวิตที่เป็นทางเลือกของคุณด้วย มันจึงจะสอดคล้องกัน  คุณต้องพร้อมที่จะแต่งตัวแบบพื้นเมืองโดยไม่อายใคร แต่มันก็ช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตไปไม่ใช่น้อย คุณต้องพร้อมจะกินอยู่เหมือนเดิม และไม่สนใจเสื้อผ้าแบรนด์เนม ไม่สนใจที่จะต้องไปซื้อของตามกระแสการโฆษณา เพราะมันมีแต่จะทำให้คุณร้อนรุ่ม  ถ้าได้อำนาจมาปกครองตนเองแล้วคุณฝันถึงชีวิตแบบนั้น ท้ายที่สุด คุณก็จะตกเป็นเหยื่อของตลาดสินค้าและบริการ มันก็เท่ากับว่าคุณสูญเสียอำนาจในการเป็นตัวของตัวเองไป

ผมคิดว่าเมื่อเราโยงสิ่งนี้เข้าหาระบอบประชาธิปไตย เราต้องยอมรับว่าการกระจายอำนาจไม่เพียงเป็นเรื่องของอำนาจโดยตัวมันเอง แต่มันจะต้องกระจายนิยามเกี่ยวกับชีวิต กระจายคุณค่าของชีวิต ให้มันเกิดความหลากหลาย  ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าในหลายที่หลายแห่งเขามีศักยภาพที่จะสร้างชีวิตที่มันเป็นทางเลือก แล้วก็อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่ร้อนรุ่ม เพราะเขายังมีต้นทุนทางจิตวิญญาณและต้นทุนทางวัฒนธรรมเหลืออยู่มากกว่าคนกรุงเทพฯ

ส่วนคนกรุงเทพฯ มาถึงคนรุ่นปัจจุบันแล้ว มันอาจจะฟื้นยากสักหน่อย เพราะมีลักษณะติดลบทางจิตวิญญาณสูงมาก เคยเที่ยวกันตี 2 ตี 3 อยู่ๆ จะให้มาสวดมนต์ไหว้พระ เข้านอน 3 ทุ่ม คงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเคยใช้ชีวิตแบบไม่สนใจใครทั้งสิ้น อยู่ๆ จะมาให้แบ่งปันกัน เหลียวแลคนที่ยากลำบาก มันไม่ง่ายเหมือนในชุมชนเล็กๆ อย่างไรก็ดี ผมยังเชื่อในด้านสว่างของมนุษย์ ผมคิดว่าถ้ามีความพยายามต่อเนื่องก็อาจจะฟื้นได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นคงต้องคิดหาวิธีการที่เหมาะสมกับยุคสมัย เช่นเปิดทางเลือกใหม่ๆที่มีสาระให้กับเยาวชน และจำกัดพื้นที่ของลัทธิบริโภคนิยมลงบ้าง ไม่ใช่แค่ด่าประนาม อบรมแบบยัดเยียด หรือแค่ต้อนคนเข้าวัด แต่ในระดับโครงสร้างไม่แตะต้องระบบทุนเลย

สรุปสั้นๆก็คือ ในทิศทางของการสร้างระบอบประชาธิปไตย เมื่อเราข้ามพ้นเรื่องกระจายอำนาจไปหนึ่งชั้นแล้ว มันยังมีเรื่องลดการครอบงำของวิถีชีวิตแบบทุนนิยม ให้เป็นที่ยอมรับว่าเราสามารถมีวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายกันได้ และไม่จำเป็นต้องเลียนแบบสังคมบริโภคนิยมในเมืองหลวง ไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาโท กินเงินเดือนห้าหมื่นขึ้น ขับรถเก๋งไปทำงาน ก็มีชีวิตที่ดีได้ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ประชาธิปไตยกับเรื่องจิตวิญญาณก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน

อันที่จริง วิญญูชนนั้นสามารถค้นหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมากระจายอำนาจทางการเมือง โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสร้างเงื่อนไขทางวัตถุ แต่สำหรับคนจำนวนมาก การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอาจเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะสร้างบริบท สร้างเงื่อนไข ให้เขาสามารถมีวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณได้โดยไม่ถูกฉุดรั้งด้วยความยากลำบากที่มากเกินไป  ทุกวันนี้มันเหมือนกับว่าถ้าคุณใช้ชีวิตที่ค่อนไปในทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ คุณจะถูกรังเกียจจากระบบการผลิต  หรือระบบการจ้างงานที่เห็นคุณเป็นแค่เครื่องมือทำกำไร  ถ้าคุณอยู่ในระบบแบบนั้น มันก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีทั้งเวลาและพื้นที่มาพิจารณาด้านในของตัวเอง

เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยในความหมายที่ผมพูดถึง ก็จะคล้ายๆ กับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดพื้นที่ให้คนบรรลุศักยภาพของตน มันไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เป็นระบบกระจายอำนาจ กระจายโอกาส  และกระจายทางเลือกในการใช้ชีวิตให้กับคน ซึ่งรวมทั้งทางเลือกทางจิตวิญญาณด้วย

นักปฏิวัติหรือปัญญาชนสาธารณะจำเป็นต้องใส่ใจมิติเชิงจิตวิญญาณหรือไม่ หากไม่ อะไรคือสิ่งที่หายไปในชีวิตหรือความคิดของพวกเขา

สำหรับผม คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจิตใจที่ปราศจากการชำระ จิตใจที่มืดดำไปด้วยโลภะโทสะ โมหะ มันประกาศสัจจะไม่ได้หรอก พูดอะไรออกมาก็มักแฝงไปด้วยอัตตาหรือผลประโยชน์ส่วนตัว บางทีก็อยากครอบงำผู้อื่น บางครั้งก็มีจุดหมายซ่อนเร้น การเป็นนักปฏิวัติหรือปัญญาชนสาธารณะนั้นแม้จะยังต่างกันมาก แต่มันหนีไม่พ้นการพยายามสร้างอำนาจนำของตนต่อคนอื่น ซึ่งถ้าจิตใจไม่สะอาดแล้ว ก็มักพาคนไปมองโลกไม่ตรงความจริง กระทั่งพาคนไปเจ็บเนื้อเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น โลกพังพินาศมามากแล้วด้วยโมหะที่ซ่อนตัวอยู่ในรูปความหวังดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงคนรุ่นผมซึ่งในอดีตเคยเป็นนักปฏิวัติกันหลายคน คงต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เป็นพลังก้อนเดียวโดดๆ หากประกอบด้วยปัจเจกบุคคลด้วย เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ความแตกต่างระหว่างบุคคลก็มีมากอยู่  นอกจากนี้จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในช่วงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องจิตวิญญาณโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้คัดค้านระบอบเผด็จการ รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องในทางวัตถุอยู่ไม่น้อย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเมื่อเข้าไปสมาทานอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว โดยปรัชญาของเขาก็เป็นเรื่องวัตถุนิยม เขาไม่ได้เห็นด้วยกับประเด็นจิตวิญญาณตามความหมายที่เราคุยกัน เพราะฉะนั้น คนรุ่นผมหลายคนก็อาจจะติดอยู่กับกรอบคิดแบบนี้มาจนกระทั่งแก่เฒ่า แม้จะยังรักความเป็นธรรม หรือยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในทางโลก แต่ก็อาจจะไม่สนใจเรื่องจิตวิญญาณ กระทั่งปฏิเสธมัน

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปี บรรดาซ้ายเก่าทั้งหลายได้แยกเส้นทางออกไปหลายประเภทตามวาสนาดั้งเดิมของแต่ละคน ส่วนที่เปลี่ยนไปเป็นนักธุรกิจก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งบางคนก็ทำได้ดีมาก ถึงขั้นกลายเป็นมหาเศรษฐี ส่วนที่ยังอยากเคลื่อนไหวก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ยังคอยสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมือง ที่เขาเห็นว่ามันถูกต้อง แต่ในระยะหลังๆ ผมพบว่าส่วนที่หันเข้าหาธรรมะก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน บางคนไปบวช บางคนก็ไปปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ คนที่คิดอย่างผมอาจจะไม่ใช่อดีตนักปฏิวัติส่วนใหญ่

แต่ผมก็ไม่ได้โดดเดี่ยวจนเกินไป

อยากให้อาจารย์ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ตรงของอาจารย์ในการแสวงหาทางจิตวิญญาณท่ามกลางขบวนการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมและประชาธิปไตย

การแสวงหาทางจิตวิญญาณของผมคงแยกไม่ออกจากเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมของผม ผมเกิดและโตมาในชุมชนท้องถิ่นสมัย 60 กว่าปีก่อน แม้จะไม่ไกลเมืองหลวงมากนักแต่ชีวิตในสมัยนั้นก็มีมิติทางจิตวิญญาณประกอบส่วนอยู่ด้วยเสมอ ผมเกิดมาเห็นย่าบวชเป็นชีอยู่แล้ว ยายเคยบวชเป็นชีอยู่ช่วงหนึ่ง ตาก็บวชเป็นพระตอนแก่ พูดง่ายๆคือผมคุ้นเคยกับชีวิตทางศาสนามาตั้งแต่เล็ก นอกจากนี้ยังเคยใช้ชีวิตเป็นเด็กวัดอยู่ประมาณ 5 ปี เรียกว่าโตในวัดก็ว่าได้ ดังนั้น คุณจะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมในวัยเด็กได้ช่วยขึ้นรูปทางจิตวิญญาณให้ผมไว้แล้วตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม อันนี้คงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะไปบอกว่าใครที่เกิดมาแบบนั้นจะต้องมุ่งไปในทางจิตวิญญาณเสมอ เพราะคนที่เคยเป็นเด็กวัด แต่โตขึ้นกลายเป็นโจรหรือเป็นนักการเมืองที่คดโกงบ้านเมืองก็มี ผมเพียงแต่พูดถึงความเป็นมาของตัวเอง

ส่วนสิ่งใดที่มันติดตัวมาโดยกำเนิด มันเป็นเรื่องลี้ลับ เกินกว่าที่ผมจะเข้าใจ ผมรู้แต่ว่าตั้งแต่เล็กแต่น้อย ผมเป็นคนรักสัตว์ เป็นคนชอบชีวิตสันโดษ และชอบไปในทางศิลปะ เช่น ผมมีความสุขในการอยู่คนเดียว เล่นคนเดียวอยู่ไม่น้อย  จนกระทั่งโตขึ้นมา เมื่อพบเห็นความไม่เป็นธรรมของสังคม เห็นการกดขี่โดยระบอบเผด็จการ เส้นทางชีวิตจึงเปลี่ยนไป มันบังเกิดความโกรธ ความไม่พอใจ จนพาไปสู่ความขัดแย้งที่เข้มข้นรุนแรง จากนั้นในบางช่วง สภาวะจิตของผมอาจจะเตลิดออกไปจากศาสนาพอสมควร

แต่ในระหว่างที่เป็นนักปฏิวัติ จริงๆ แล้วมันก็มีมิติที่เป็นด้านจิตวิญญาณแฝงเร้นอยู่ โดยเราอาจไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น การที่จะต้องไปตายเพื่อผู้อื่น ไปเสี่ยงชีวิตเพื่อผู้อื่น ลำพังคำตอบที่เป็นทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์อย่างเดียวมันไม่พอ มันไม่ใช่เรื่องอัตโนมัติว่าคุณเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ แล้วคุณจะพร้อมสู้พร้อมตายเสมอไป คุณจะต้องฝึกตัวเองให้เห็นว่าผลประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อน กระทั่งเห็นมันสำคัญกว่าชีวิตของตัวคุณด้วย

จะว่าไปแล้ว ในช่วงที่เข้าป่าจับปืน ผมและเพื่อนๆ ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในฐานะคนชั้นกลาง เป็นปัญญาชนด้วยกันทั้งนั้น โดยส่วนตัวเราเป็นผู้ที่ได้เปรียบทางสังคม เพราะฉะนั้น มันเท่ากับว่าเราไปทำเพื่อคนที่ด้อยโอกาสกว่า คนที่เสียเปรียบกว่า ตรงนี้ต้องการคำอธิบายในทางจิตวิญญาณเหมือนกัน  แต่เผอิญในที่ที่ผมอยู่ ในขบวนปฏิวัติ เขาไม่มีคำอธิบายแบบนั้น เราก็ได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ในใจว่าเรารู้สึกดีกับการที่ได้ลดละตัวตนไปทำเพื่อผลประโยชน์ของมวลชนผู้ทุกข์ยาก  เรื่องนี้ก็จะว่าไปแล้วก็เป็นเบ้าหลอมที่สำคัญสำหรับผม เพียงแต่ในช่วงหนึ่งอาจจะไม่ทันได้คิดถึงมัน

พอออกมาจากป่า อดีตนักปฏิวัติทุกคนก็ต้องเผชิญกับทางหลายแพร่ง หลายคนเลือกที่จะกลับสู่กระแสหลักทางสังคม กลับไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เช่นเดียวกับคนอื่นๆ  บางคนก็อยู่อย่างสมถะ สันโดษ ไม่คิดจะไปสู้รบกับใครอีกแล้ว แต่ก็ไม่อยากเอารัดเอาเปรียบใคร จึงหาอาชีพที่พอจะอยู่ได้ ทำมาหากินไปวันๆ สำหรับผม ผมเลือกที่จะอยู่กับสังคมเท่าที่จำเป็น อยู่กับมันโดยไม่เป็นส่วนหนึ่งของมัน คุณจะเห็นได้ว่าผมเริ่มด้วยการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ  กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่พ้นจากภารกิจการสอนและการเขียนหนังสือแล้ว ผมก็ใช้ชีวิตอยู่ตามป่าเขาหรือท้องทะเล

ผมเริ่มด้วยความไม่อยากอยู่ร่วมกับสังคมที่ผมรังเกียจ และไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของระบบและโครงสร้างที่ผมเคยประณาม จึงชอบใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ คบคนจำนวนน้อย ซึ่งหมายถึงการอยู่อย่างวิเวกสันโดษให้มากที่สุด สร้างโลกใบเล็กๆของผมขึ้นมา ในตอนแรกมันอาจจะไม่ใช่เรื่องจิตวิญญาณเสียทั้งหมด แต่ในขณะที่ใช้ชีวิตแบบนั้น ผมก็ไม่ได้หยุดยั้งการครุ่นคิดถามหาคุณค่าความหมายของชีวิต  สุดท้ายมันก็พาผมกลับมายังประเด็นจิตวิญญาณจนได้

ผมยอมรับว่าในช่วงหนึ่ง ผมก็หมุนวนอยู่กับการทวงถามคุณค่าที่หายไปหลังจากเลิกเป็นนักปฏิวัติ เพราะในสมัยที่เป็นนักปฏิวัติ ผมรู้สึกว่าได้ทำสิ่งสูงส่ง และชีวิตเราก็สูงส่ง ถึงแม้ว่าจะยากลำบาก แต่ครั้นสิ่งนั้นหายไป เราก็ต้องถามต่อว่า แล้วมันมีอะไรเหลือให้ทำที่เรียกว่าสูงส่ง ถูกต้อง ดีงาม  จนกระทั่งวันหนึ่งถึงพบว่า ไอ้ที่เราคิดว่าสูงส่ง ถูกต้อง ดีงาม จริงๆ แล้วมันก็เป็นมายาภาพอีกชนิดหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นเอง และยังผูกติดอยู่กับอัตตา ตัวตน ซึ่งเป็นต้นทางของความทุกข์

พอคิดได้เช่นนี้ ผมก็หมดความต้องการไปหลายเรื่อง ดังจะเห็นได้ว่าราว 10 ปีที่ผ่านมา ผมใช้ชีวิตอย่างไม่ค่อยสนใจเรื่องฐานะภายนอก  ส่วนภายในก็พยายามไม่ยึดติดในเรื่องคุณค่าความหมายอะไรของตัวเอง จากนั้นมาผมก็รู้สึกมีความสุขมากขึ้น สบายใจมากขึ้น ไม่ต้องคอยถามว่าตัวเองคือใคร หรือต้องคอยป้องกันตัวมิให้แปดเปื้อนไปกับสังคม ไม่ต้องทุรนทุรายเหมือนในช่วงประมาณสัก 10 กว่าปีแรกที่ออกมาจากป่า พูดสั้นๆคือ พอข้ามพ้นตรงนั้นได้แล้ว ผมก็รู้สึกว่าชีวิตผมไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าหรือไร้คุณค่า  คำถามเหล่านั้นมันผิดประเด็นไปหมดแล้ว เพราะชีวิตคือปรากฏการณ์ที่ก่อรูปขึ้นมาจากเงื่อนไขต่างๆแล้ววันหนึ่งก็จะดับสูญไปเป็นอย่างอื่น มันเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งเราควรต้องยอมรับโดยดีว่ามันเป็นเช่นนั้น

ทุกวันนี้ สิ่งต่างๆ ที่เคยปรุงแต่ง ที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ผมก็วางหมด  พอเราเริ่มวางมันได้ เราถึงเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเรื่องมันง่ายมาก เราเองที่ไปทำให้มันวุ่นวายยุ่งยาก ด้วยการนิยามตัวเองไว้ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้มากเกินไป

ชีวิตที่ปล่อยวางเช่นนี้ กับพลังที่อยากจะเปลี่ยนโลก อยากจะสร้างความเป็นธรรมให้สังคม มันไปด้วยกันหรือขัดแย้งกันอย่างไร

เรื่องนี้อธิบายยากสักหน่อย แต่โดยพื้นฐานแล้วอาจจะพูดได้ว่าเมื่อเราพยายามสลายตัวตน และไม่ยึดติดกับตารางคุณค่าที่ปรุงแต่งขึ้น เรากลับเหลือพื้นที่ในใจที่จะมอบให้ผู้อื่นมากขึ้น เราอาจช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก อาจทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่หวังลาภยศสรรเสริญ ได้มากขึ้น  แต่เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับกระแสธรรม การทำเพื่อผู้อื่นจะต้องมีเงื่อนไขอยู่ 2-3 ข้อ คือหนึ่ง จะต้องไม่เป็นการยัดเยียด เพราะนั่นจะเป็นการหลงใหล ความดี เป็นโมหะเรื่องความดี สอง จะต้องไม่เอามันมาเป็นเครื่องประดับ ปรุงแต่งว่าบัดนี้ฉันได้ทำความดี แล้วเสริมอัตตาตนเองด้วยสิ่งนี้ สาม การทำเพื่อผู้อื่นนั้นจะต้องระมัดระวังด้วย ไม่ให้เกิดการเบียดเบียนขึ้น ต้องรอบคอบอยู่ เหมือนกัน ไม่ใช่ใครชวนให้ทำอะไรก็ทำหมด

พูดกันตามหลักเช่นนี้ ผมคิดว่าการปล่อยวางกับการทำเพื่อผู้อื่นย่อมไม่ใช่สิ่งขัดแย้งกัน และการปล่อยวางไม่ใช่เรื่องของการหมดสิ้นพลัง  เพียงแต่คนที่อยู่ในกระแสธรรม คงไม่จำเป็นต้องรอให้เป็นงานระดับยิ่งใหญ่ในความหมายทางสังคม หรือจะต้องเป็นผู้นำที่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามโดดเด่น ตรงนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ  กล่าวสำหรับตัวผมเอง ผมแค่แผ่เมตตาไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องตึงเครียดหรือตั้งอกตั้งใจ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ผมชอบเอาสิ่งของที่ล้นเกินให้กับพวกซาเล้งอยู่เป็นประจำ และมีความสุขกับการทำสิ่งเหล่านั้น หรือผมอาจจะช่วยชีวิตไส้เดือน ช่วยกิ้งกือข้ามถนน แล้วมีความสุขกับตรงนั้น ผมบริจาคเงินช่วยเด็กกำพร้า หรือเวลาเกิดทุพภิกขภัยอะไรต่างๆ ผมก็ให้ทีละมากๆ รวมทั้งให้เพื่อนฝูงที่ตกทุกข์ได้ยากด้วย ผมอยู่อย่างนี้มาหลายปีโดยที่โลกไม่จำเป็นต้องรู้  แม้แต่กรณีที่คนจนถูกอำนาจรัฐรังแก แล้วมีการประท้วง ผมก็ไปลงนามประท้วงกับเขาด้วย แต่ผมไม่ผลีผลามออกมาสู้รบเหมือนในสมัยก่อน ผมทำเท่าที่ทำได้ โดยไม่ต้องไปตั้งเป้าว่าเราควรเป็นอย่างนั้น เราควรทำอย่างนี้

แน่ละ ที่ผมทำมาทั้งหมด ไม่ได้ถือว่ามันเป็นแบบแผนที่คนอื่นต้องเห็นด้วยหรือทำตาม ผมแค่ทำไปตามสภาพจิตของผม ซึ่งหมายถึงว่าไม่ได้ตั้งค่าว่าอะไรเล็กหรืออะไรใหญ่ หากทำจากความรู้สึกจริงที่อยู่ภายใน อย่างเรื่องช่วยกิ้งกือข้ามถนนนั้นผมทำบ่อย ใครจะมองอย่างไรก็ช่าง

ถามว่าที่ผ่านมาทำไมผมไม่ไปสู้รบทำเรื่องใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผมหน่ายสงคราม แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามันอาจจะยังไม่มีประเด็นที่ผมเห็นด้วยจริงๆ จังๆ  เหมือนอย่างที่วิเคราะห์ไปแล้วในตอนต้น ผมเลือกข้างไหนไม่ได้ทั้งสิ้น แต่ผมมีเพื่อนอยู่ในทุกๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดง มีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขาเมื่อไร ผมก็จะพูดสิ่งที่ผมพูดกับคุณนี่แหละ เพื่อให้พวกเขาเอาไปพิจารณา และถ้าเขาสามารถทำในสิ่งที่ผมคิดว่ามันถูกต้องดีงามได้ ผมก็อนุโมทนา

ที่พูดมาทั้งหมดนี่ คุณคงเห็นแล้วว่าการพยายามปล่อยวางอัตตาไม่ได้หมายความต่อไปนี้ต้องนั่งเฉยๆ จริงๆแล้วมันแค่เป็นการยกเลิกวิถีชีวิตที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหมายถึงว่าเป็นการเปิดพื้นที่มากขึ้นให้ผู้อื่นและสรรพชีวิตในตารางกิจกรรมของเรา

กล่าวในแง่นี้ ถ้าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งที่เพื่อนมนุษย์เรียกร้องการสมทบส่วนจากเรา  ก็คงพอช่วยกันได้ตามเรี่ยวแรงที่มีอยู่ แต่จะต้องไม่ไปผลักดันอะไรจากกิเลสหรืออัตตาของเราเอง

อาจารย์เล่าได้ไหมว่าได้พูดคุยอะไรกับมิตรสหายทั้งจากฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงบ้าง

ผมจะพูดคล้ายๆ กัน ซึ่งมีสองเรื่องเท่านั้น  เรื่องที่หนึ่ง ผมคิดว่าพวกเขาไม่มีนโยบายเกี่ยวกับคนทุกข์คนยากอย่างชัดเจน ผมเคยคุยกับแกนนำบางท่านของเสื้อเหลืองว่าทำไมคุณไม่เห็นพูดถึงปัญหาของชาวนาเลย และผมก็เคยคุยกับมวลชนของเสื้อแดง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานระดับกลางๆ ของพวกเขา ว่าคุณควรจะต้องมีนโยบายที่มันชัดเจนว่าคุณอยากจะเห็นสังคมไทยเป็นแบบไหน ไม่ใช่พูดเพียงแค่ว่าทวงอำนาจคืนให้กับใครสักคนก็พอแล้ว ส่วนเรื่องที่สอง ถ้ามีโอกาสพูดผมก็มักจะขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าใช้ความรุนแรง

คือพอมาถึงจุดที่เราชี้นำตัวเองด้วยมิติทางจิตวิญญาณ เราไม่ค่อยไปสนใจเรื่องที่ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ หรือเรากำลังพูดกับคนที่เล็กเกินไปหรือเปล่า หรือถ้าเราทำแล้วจะเกิดผลใหญ่หลวง มีคุณูปการเป็นที่ปรากฏหรือไม่ ผมไม่สนใจเรื่องพวกนั้น ผมเพียงแต่มองทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์และอยากสื่อสารด้วย  ในบางด้านมันก็ไม่ต่างจากเรื่องช่วยกิ้งกือข้ามถนน ผมเห็นว่าสรรพชีวิตเป็นเพื่อนผม จึงไม่อยากให้เขาถูกรถทับตาย

การใช้ชีวิตโดยมีมิติทางจิตวิญญาณกำกับอยู่ในระดับปัจเจกอย่างที่อาจารย์ได้เล่ามา กับคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม  มันสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้อย่างไร

มันมีพื้นที่ทาบซ้อนกันอยู่ในระดับหนึ่ง ระหว่างการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมกับการปฏิบัติธรรม  ส่วนที่ทาบซ้อนก็คือ หนึ่ง มันเป็นการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น หรือเป็นการแผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ที่ยังตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว สอง คุณได้ฝึกที่จะทำจิตให้สงบท่ามกลางความเคลื่อนไหว เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทุกข์ร้อนทางโลกได้โดยที่คุณไม่ทุกข์ร้อนด้วย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีหัวใจ คุณเพียงต้องฝึกจิตให้พินิจปัญหาตามความเป็นจริง แล้วสงบนิ่ง  เป็นหนึ่งเดียวกับสภาพความเป็นจริงที่แปรเปลี่ยนอยู่ทุกขณะ เหมือนกับซามูไรที่อาศัยหลักธรรมของนิกายเซน และสาม ซึ่งก็โยงมาจากสองข้อแรก คือคุณไม่สนใจไยดีกับลาภยศสรรเสริญที่จะตามมา ไม่ว่าแพ้หรือชนะ มันไม่ใช่ประเด็นที่คุณเอามาพิจารณาตั้งแต่ต้น  เพราะฉะนั้น คนที่เป็นผู้นำ ถ้ามีความรับผิดชอบมากจริงๆ และเดินทางธรรมจริงๆ ก็จะต้องอาศัยธรรมะเป็นฐานในการสร้างพลังให้ตัวเองไปทำงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเคยทำมาแล้ว ผมเพียงพูดตามความเข้าใจที่มีอยู่

สมมติว่า วันพรุ่งนี้มีคนโทร.มาชวนให้ช่วยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศไทย อาจารย์จะจัดการอย่างไร

ไม่ว่าใครจะชวนผมไปทำอะไร สิ่งแรกที่ผมจะพิจารณาก็คือมันขัดแย้งหรือสอดคล้องกับวิถีธรรม  ทำไปแล้วจะเกิดประโยชน์อันใด จากนั้นก็จะถามตัวเองว่าสามารถทำได้หรือเปล่า ซึ่งรวมถึงว่ามีแรงหรือไม่ด้วย ถ้าทำให้ได้ก็จะทำให้

สอง ผมจะไม่ไปคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก ก็เป็นแค่อีกเรื่องหนึ่งที่คนมาขอให้ช่วยเท่านั้นเอง เรื่องเล็กช่วยได้ก็ช่วย เรื่องใหญ่ช่วยได้ก็ช่วย เพราะในใจเราไม่มีเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก

สาม ไม่ยึดติดว่าตัวเรากำลังทวีความสำคัญขึ้นเพราะได้ไปช่วยคนอื่น เพราะมันเป็นแค่โลกของสิ่งสมมติ ในโลกียโลก ทุกอย่างเป็นสมมติทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นแค่ความจริงสัมพัทธ์ เราต้องไม่ไปลุ่มหลงในสิ่งเหล่านี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่เดินทางธรรมก็คืออย่าไปทำชั่ว ระหว่างการผลีผลามอยากทำดีกับการไม่ทำชั่ว การป้องกันไม่ให้ตัวเองประพฤติชั่วนี่สำคัญกว่า คือถ้าไม่เบียดเบียนเสียแล้ว ที่เหลือก็แทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม  แต่บางทีความดีมันเป็นตัณหา คนจำนวนไม่น้อยอยากทำดีจนกระทั่งรั้งใจไม่อยู่ ผลีผลามกระโดดเข้าไปทุกจุดทุกแห่ง แล้วไล่ต้อนคนอื่นมาทำดีตามคำนิยามของตน ซึ่งอันนี้บางทีก็นำไปสู่ผลเสียหายร้ายแรง

สำหรับอาจารย์ อะไรคือประเด็นสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย          

เท่าที่ผมเข้าใจ การปฏิรูปมีความหมายอยู่สามลักษณะ ลักษณะแรกคือ มันสะท้อนให้เห็นว่าระบบโครงสร้างที่เป็นอยู่มันใช้การไม่ได้ หรือไม่สมบูรณ์พอ จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไข ลักษณะที่สอง การที่เราใช้วิธีปฏิรูป แทนที่จะเป็นปฏิวัติ มันหมายถึงว่ายังต้องอาศัยความร่วมมือจากระบบที่เป็นอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นจึงมาถึงลักษณะที่สาม ก็คือการปฏิรูปจะต้องเป็นกระบวนการต่อรองกันโดยสันติ กระทั่งอาจจะต้องประนีประนอมกันบ้างระหว่างขบวนปฏิรูปกับขบวนต่อต้านปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องฉับพลัน หรือถึงขั้นถอนรากถอนโคนมากนัก

เพราะฉะนั้น อย่าได้หวังว่ามันจะเป็นไปตามอุดมคติ 100 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะได้การเปลี่ยนแปลงที่ดีมาบางส่วน ซึ่งพาสังคมเขยิบไปข้างหน้าได้ แต่คงจะไม่ทันอกทันใจคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอาจจะต้องอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งที่เราคิดว่าล้าหลังหรือไม่ถูกต้องกับสิ่งที่ดีกว่า จนกระทั่งเมื่อหมดระยะผ่านแล้ว สิ่งที่ดีกว่าจึงเข้าแทนที่ได้เต็มที่ นั่นก็เป็นเรื่องของกาลเวลา

จากทั้งสามลักษณะดังกล่าว ถามว่าประเทศไทยควรจะมีการปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง ความจริงประเด็นหลักๆ ก็อยู่ในสิ่งที่ผมพูดมาแล้ว คือถ้าเราพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เรามักจะหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจหรือทางด้านรายได้ ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ และการสูญเสียคุณค่าอื่นๆ ของชีวิต  แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในทางเศรษฐกิจเป็นผลพวงมาจากการมีอำนาจไม่เท่ากัน กระทั่งเป็นผลพวงมาจากสิ่งที่ผมอยากจะพูดตรงๆ ว่าการกดขี่ข่มเหงและการเอารัดเอาเปรียบ

ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของชาวนาซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองในตลาดเลย มันทำให้พวกเขากำหนดราคาข้าวของตนไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องซื้อปุ๋ยแพง ซื้อยาฆ่าแมลงแพง อีกทั้งที่ดินทำกินก็มีไม่พอ ต้องไปเช่าเขา เมื่อปลูกข้าวแล้วก็มีจำนวนมหาศาลที่ขายข้าวไม่พอใช้หนี้ ครั้นจะไม่ทำต่อก็จะไม่มีเงินมาหมุน ก็ต้องทำต่อ ซึ่งก็ทำให้เกิดเป็นวงจรของหนี้สินท่วมท้นตัวอยู่ตลอดเวลา

หรือกรณีของชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินอยู่บริเวณชายฝั่ง พวกประมงพาณิชย์ที่มีเรือใหญ่กว่า มีอวนยาวกว่า ไม่เคารพน่านน้ำที่กันไว้ให้คนที่ทำประมงชายฝั่ง ก็ใช้อำนาจ ใช้คอนเนกชันกับนักการเมืองบ้าง กับเจ้าหน้าที่บ้าง รุกล้ำเข้ามาแย่งยึดทรัพยากรของเขา

หรือในกรณีของกรรมกรโรงงาน พอจะต่อรองขอขึ้นค่าแรงหรือเพิ่มสวัสดิการ เจ้าของโรงงานก็มักหาเรื่องปลดคนงานที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ทำลายแกนนำของพวกเขา  ครั้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐบาล ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามอีก

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ถูกรุกล้ำทำลายสิ่งแวดล้อมหรือแย่งชิงทรัพยากรโดยทุนใหญ่บ้าง โดยโครงการของรัฐบ้าง พอคนเหล่านี้เรียกร้องความเป็นธรรม ก็มักถูกข่มขู่คุกคาม

เพราะฉะนั้น ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ก็จะพบว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางรายได้เท่านั้น  แต่เป็นปัญหาเรื่องการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาเรื่องการมีอำนาจไม่เท่าเทียมกันด้วย ด้วยเหตุนี้ หากคิดจะปฏิรูปประเทศไทย คงทิ้งประเด็นเหล่านั้นไม่ได้  เราจะต้องทำให้คนที่เสียเปรียบมีอำนาจเพิ่มขึ้น และอำนาจที่ว่านี้จะต้องเป็นอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย คือกฎหมายจะต้องเปิดพื้นที่ให้เขามีฐานะ มีตัวมีตน ในการต่อรอง เพื่อเขาจะได้ไปแก้ปัญหาความยากจนของเขา

ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ ที่เหลือมันก็จะตามมาเอง เมื่อเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็จะสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างสันติและมีศักดิ์ศรี รวมทั้งมีโอกาสทางการศึกษาสำหรับลูกหลานของเขามากขึ้น มีสวัสดิการในยามแก่เฒ่าหรือเจ็บไข้ได้ป่วย  แต่ประเด็นเรื่องอำนาจต่อรองต้องมาก่อนเรื่องอื่นๆ เพราะที่ผ่านมามันไม่ได้เป็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงโดยธรรมชาติทั้งหมด อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่มาจากขบวนการเอารัดเอาเปรียบ และการเอารัดเอาเปรียบนั้นเกิดจากการมีอำนาจไม่เท่ากัน

แนวทางการเพิ่มอำนาจต่อรองของคนเล็กคนน้อยจะทำอย่างไร ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งคนเล็กคนน้อยหรือชุมชนยิ่งมีโอกาสถูกกระทำ อีกทั้งรัฐไทยเองก็มักมีส่วนในการข่มเหงรังแกซ้ำเติมอีก

พูดสั้นๆ ก็คือ เขาต้องสู้ ผมทำแทนเขาไม่ได้ ไม่มีใครทำแทนพวกเขาได้ และถ้าเป็นคนที่เอาเปรียบเขาอยู่แล้วก็ยิ่งไม่มีแรงบันดาลใจจะไปแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างถึงขั้นนี้ เพราะฉะนั้น เขาต้องสู้

การสู้ ผมหมายความว่าจะต้องมีการรวมพลังกันกดดันให้ผู้ที่ได้เปรียบ ผู้ที่กุมอำนาจ ยอมรับว่าสภาพเช่นนี้มันอยู่กันต่อไปไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าโลกนี้จะต้องกลายเป็นโลกที่เท่าเทียมกันไปหมด เพียงแต่คุณต้องลดความทุกข์ร้อนส่วนนี้ลง ไม่เช่นนั้นแล้วมันอยู่ร่วมกันไม่ได้  คนเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ใครมันจะทนได้

ถ้าคุณอยากได้สังคมที่สงบสุข คุณก็ต้องมีโครงสร้างที่ค้ำประกันไม่ให้มีการเอาเปรียบกัน ซึ่งเรื่องนี้มันก็คืออำนาจการเมืองนั่นเอง แต่ไม่ใช่อำนาจการเมืองในความหมายของการเลือกตั้ง หากเป็นอำนาจการเมืองที่จะต้องตราไว้ว่าประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ นั้นมีสิทธิอันใดบ้างที่คนอื่นจะละเมิดไม่ได้ และถ้ามีการละเมิดประชาชนมีสิทธิอะไรบ้างในการตอบโต้ อันที่จริงแค่บัญญัติไว้ในกฎหมายยังไม่พอ จะต้องมีการออกแบบสถาบันการเมืองการปกครองของภาคประชาชนด้วย

ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับการปฏิรูปประเทศไทย ถ้ามาไม่ถึงจุดนี้ มันก็จะเป็นแค่เรื่องสังคมสงเคราะห์เท่านั้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในเชิงปรากฏการณ์ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง

แนวคิดที่ภาคประชาชนหรือสถาบันวิชาการพยายามเสนอในช่วงหลัง เช่น รัฐสวัสดิการหรือสวัสดิการพื้นฐาน ตอบโจทย์ตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่ามันมาจากหลักการที่ดี แต่ผมมีความรู้ไม่พอจะตอบแบบฟันธงว่าควรทำแค่ไหนอย่างไร  ตอบได้เพียงกว้างๆว่าเราควรมีหลักประกันให้ประชาชนผู้เสียเปรียบในด้านต่างๆ  ให้พวกเขามีโอกาสทางการศึกษา มีโอกาสในการประกอบอาชีพ  เข้าถึงระบบประกันสุขภาพ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อะไรทำนองนี้

โดยทั่วไปแล้ว ผมคิดว่า เราคงต้องทำมากกว่าสร้างนโยบายประชานิยมแบบหาเสียง แต่จะต้องเอาโครงสร้างทั้งหมดมาพิจารณา เช่น โครงสร้างทางรายได้ ในเวลานี้เราก็รู้อยู่ว่ารายได้ระหว่างคนที่จนที่สุดกับคนที่รวยสุดมันห่างไกลกันมหาศาล  เราต้องหาทางกระจายรายได้ที่กระจุกตัวเหล่านี้ออกไปด้วยมาตรการต่างๆ ซึ่งถ้าทำได้โดยการปรับตารางค่าจ้าง หรือผ่านการประกันราคาผลผลิตทางเกษตร มันก็จะช่วยคนเล็กคนน้อยได้จำนวนมหาศาล โดยยังไม่ต้องพูดถึงระบบสวัสดิการ

เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้หมายถึงเอาทรัพย์สินส่วนใหญ่ของผู้ที่มั่งคั่งมาแจกคนจน หรือทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องรายได้  แค่ปรับโครงสร้างให้รายได้มันกระจายมากขึ้นเท่านั้นเอง  ถึงที่สุดแล้วคนรวยก็ยังมีเหลือเยอะแยะอยู่ดี เพียงแต่ที่ผ่านมาในสังคมไทยปล่อยปละละเลยมาก และทำให้ความแตกต่างทางด้านรายได้มากเสียจนกลายเป็นพิษเป็นภัย

เรื่องนี้มันมีนัยยะทั้งในแง่ของความไม่เป็นธรรมทางสังคมและมีนัยยะที่อันตรายในทางการเมือง เพราะการเมืองของเราเป็นแบบแข่งขันเสรี หรืออย่างน้อยก็อยากจะให้เป็นแบบแข่งขันเสรี แต่โอกาสที่จะเข้าสู่การแข่งขันเป็นของคนหยิบมือเดียว  เหมือนกับที่คุณบอกว่าร้านอาหารร้านนี้ต้อนรับทุกคน แต่ราคามื้อละหมื่นนะ พอพูดแค่นี้ 99 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยก็หมดปัญญาซื้อกินแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่เมืองไทยมีปัญหา มันไม่ใช่เกิดจากความยากจนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเท่านั้น แต่มีปัญหาความร่ำรวยของผู้เล่นการเมืองด้วย คือมันมีความร่ำรวยที่มากเกินไป ทำให้การประมูลอำนาจเกิดขึ้นในหมู่คนส่วนน้อย  จากนั้นก็ทะเลาะกันเป็นบ้าเป็นหลัง

เรื่องอื่นๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปคราวนี้คืออะไร

คุณถามราวกับว่าผมกำลังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเปลี่ยนประเทศนี้ อันที่จริงผมยังไม่รู้เลยว่าขบวนปฏิรูปที่กำลังก่อรูปขึ้นเขาต้องการทำอะไรบ้าง ที่พูดมาทั้งหมดก็เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวเท่านั้น บางทีพวกเขาอาจจะไม่ได้คิดเหมือนผมก็ได้

ดังที่พูดมาแล้ว ในเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นผมขอเน้นว่าต้องแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจก่อน  ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือปัญหาวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าในเวลานี้ วัฒนธรรมของเราเสื่อมทรุดมาก อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าลำพังคณะกรรมการปฏิรูปคงจะแก้ปัญหาวัฒนธรรมไม่ได้ มันคงต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกฝ่าย

คือผมไม่ได้คิดถึงประเด็นวัฒนธรรมในลักษณะที่ว่าเราจะต้องกลับไปนุ่งโจงกระเบน นุ่งผ้าซิ่น หรือกินอยู่แบบไทยโบราณ  สิ่งที่ผมคิดก็คือ วัฒนธรรมในความหมายของการอยู่ร่วมกัน ทุกวันนี้เราไม่มีประเพณีใหม่ในการอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ประเพณีเก่าถูกทำลายไปมากแล้ว  สภาพดังกล่าวทำให้เราเบียดเบียนกันอย่างบ้าคลั่ง เราเอียงไปในทางความต้องการทางวัตถุจนลืมคุณค่าอื่นๆของชีวิต สุดท้ายเรากลายเป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวอย่างสุดโต่ง อ่อนแอ และเต็มไปด้วยปัญหาทางจิตใจ อันนี้ทำให้สังคมของเราไม่แข็งแรง และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พูดง่ายๆคือเรามีวิกฤตทางวัฒนธรรมด้วย นอกเหนือไปจากวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือการเมือง

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหาทางสร้างกระบวนการทางวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ อาศัยเครื่องมือทางวัฒนธรรมพาคนกลับมาสู่ความสมดุลทางด้านจิตใจให้ได้ ความสมดุลทางด้านจิตใจประกอบด้วยความสมดุลในตัวของเราเอง ในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่น และในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ ซึ่งถ้าปรับความสัมพันธ์ใหญ่ทั้งสามประการนี้ให้ลงตัวได้ ชีวิตก็จะพบกับความสงบสุข

พูดให้ชัดขึ้นก็คือ เราต้องฝึกดูแลจิตใจของตัวเองให้สามารถเผชิญทุกข์ได้โดยไม่หวั่นไหว สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ และมีความพอดีในเรื่องความต้องการในชีวิต กับผู้อื่นก็ต้องแก้ไขความขัดแย้งเป็น สามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่ละเมิดกัน กับธรรมชาติก็ต้องมีความสมถะสำรวมมากขึ้นในการที่จะดึงธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

ถึงเวลานี้วิทยาศาสตร์บอกเราหมดทุกอย่างแล้วว่าการทำลายธรรมชาตินั้นส่งผลเสียกลับมาสู่มนุษย์ขนาดไหน เพราะฉะนั้น การจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติมันจึงไม่ใช่แค่การไปนอนป่าอย่างผม แต่หมายถึงการมีสำนึกรู้ตัวว่าคุณกำลังเบียดเบียนธรรมชาติหรือไม่ คุณต้องรู้ว่าถ้าคุณบริโภคแบบไม่ยั้งหรือกินทิ้งกินขว้าง มันจะไปทำลายรากฐานความสัมพันธ์ตรงนี้ ยิ่งคุณบริโภคทิ้งขว้างเท่าไร คุณก็ยิ่งทำลายธรรมชาติมากเท่านั้น

ถ้าปรับความสัมพันธ์สามอย่างนี้ได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นการปฏิรูปวัฒนธรรมที่สำคัญมาก เพราะมันจะเป็นฐานของทั้งเศรษฐกิจและการเมืองที่ยั่งยืน  แต่ในสภาพที่เป็นอยู่ ผมก็ไม่กล้าที่จะไปหวังไกลถึงขนาดนั้น แม้สังคมไทยยังมีพลังทางความคิดอยู่ แต่ที่ผ่านมามันถูกกลไกตลาดปิดล้อมไว้หมด ไม่เปิดโอกาสให้ความคิดดีๆ เผยแพร่ออกมา

รัฐไทยต้องปรับตัวอย่างไรท่ามกลางกระแสทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์

เรื่องทุนนิยมโลกาภิวัตน์นี่เป็นตัวแปรสำคัญมาก เพราะมันเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทยไปไกลลิบแล้ว ทั้งในส่วนของรัฐและในส่วนของสังคม ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากเราคิดจะปรับปรุงประเทศไทย ถึงอย่างไรก็คงมองข้ามเงื่อนไขดังกล่าวไปไม่ได้

เวลาพูดถึงระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เราต้องเข้าใจว่าอุดมคติพื้นฐานของเขานั้น ยึดถือตามหลักลัทธิเสรีนิยมใหม่ คือเขาไม่ต้องการให้รัฐชาติทำหน้าที่คุ้มครองชาติอีกต่อไป แต่ทำหน้าที่เป็นแค่นักเลงคุมตลาดซึ่งไร้พรมแดน อันนี้หมายความว่า กลุ่มทุนจากที่ไหนจะเข้ามาค้าขายหากำไรในประเทศไทยได้ทั้งนั้น รัฐไทยมีหน้าที่คุ้มครองทุกเจ้า อาจจะมีการจ่ายค่าคุ้มครองตามอัตภาพ แต่รัฐต้องไม่จำกัดตัวเองไว้แค่การพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนในชาติ ซึ่งกรณีอย่างนี้เราจะเห็นว่ามันมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดวิกฤตในปี 2540 แล้วเราไปตกลงทำตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ

แน่นอน ถ้าพูดถึงเนื้อในจริงๆ คงต้องยอมรับว่าข้อตกลงดังกล่าวทำให้บทบาทของรัฐไทยในฐานะรัฐชาติแบบดั้งเดิมมันแหว่งเว้าไปมาก ประชาชนที่เดือดร้อนเพราะทุนข้ามชาติ หรือที่ไม่สามารถเป็นผู้ชนะในตลาดแข่งขันเสรีได้ ก็ตกทุกข์ได้ยากกันเป็นแถว นั่นเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแล แต่รัฐก็ดูแลได้เฉพาะในพื้นที่ที่เหลือทิ้งไว้โดยไอเอ็มเอฟเท่านั้น คืออาจจะมีการลดแลกแจกแถมให้เงินกับผู้คน มีการสงเคราะห์เกษตรกรในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าเสรีได้เพราะมันจะไปขัดกับข้อตกลง  ตรงนี้ตัวผมเองก็ยังนึกไม่ออกว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร

ถามว่าในสภาพเช่นนี้ รัฐควรทำอะไร ผมคิดว่าจากกรอบข้อตกลงกับทุนโลกาภิวัตน์ รัฐไทยทำได้น้อยมาก ตราบใดที่ยังเป็นรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงกระบวนการใช้อำนาจ เพราะฉะนั้น ผมจึงโยงเรื่องนี้เข้าสู่การสร้างการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เพื่อจะต่อรองทั้งกับรัฐและทุนข้ามชาติ  ซึ่งได้กลายเป็นพวกเดียวกันไปแล้ว อย่างน้อยก็ในระดับนโยบาย

ขณะเดียวกัน อำนาจอันมีมาแต่เดิมของรัฐชาติ ถ้าไม่โอนบางส่วนกลับสู่ชุมชนท้องถิ่นหรือกลับสู่ภาคประชาชน ก็มีแต่จะถูกดึงไปสู่ในระดับสากลมากขึ้น ไม่เพียงต้องไปทำข้อตกลงกับพวกทุนนิยมสากล หากอีกด้านหนึ่งก็จะกลายเป็นรัฐภูมิภาค (Regional State) แบบอาเซียน ซึ่งไม่ช้าไม่นานก็คงเข้ามาข้องแวะกับกิจการภายในของประเทศสมาชิก ตรงนี้มันเหมือนกับกลายเป็นสมาคมชนชั้นนำสากล ที่ช่วยกันบริหารจัดการภูมิภาค ส่วนคนในท้องถิ่นของแต่ละประเทศ หรือคนในประเทศไทยก็จะมีอำนาจน้อยลงเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ในหลายที่หลายแห่ง ผมจึงพูดถึงการต่อรองดึงอำนาจที่รวมศูนย์กลับมาสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น กลับมาสู่ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมมากขึ้น เพื่อเป็นการถ่วงดุลการแบ่งอำนาจให้ระบบทุนนิยมโลก หรือองค์กรระหว่างประเทศ

พูดสั้นๆ ก็คือว่าทุกวันนี้ รัฐไทยกำลังถูกแปรรูปอยู่แล้วโดยระบบทุนโลกาภิวัตน์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนัก  ประเด็นมีอยู่เพียงว่าเราจะคัดท้ายการเปลี่ยนแปลงนี้ได้บ้างหรือไม่ พูดก็พูดเถอะ ผมคิดว่าเราคงไปขวางกระแสการค้าเสรีตรงๆไม่ได้  อีกทั้งข้อดีมันก็มีอยู่ในบางด้าน แต่สิ่งที่เราควรทำและพอทำได้คือ  ต้องถ่วงดุลการเปลี่ยนแปลงในระดับรัฐ ไม่ให้มันไปในทิศทางเดียว หมายความว่าอย่าปล่อยให้รัฐไปรับใช้ทุนข้ามชาติหรือไปผูกมัดตัวเองไว้กับองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น หากจะต้องต่อรองให้อำนาจรัฐคงไว้ในประเทศไทยด้วย  คือต้องเอามากระจาย เอามามอบให้ท้องถิ่นมากขึ้น และมอบให้ประชาชนโดยตรงมากขึ้น จึงจะพออยู่กันได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะโดยการผลักดันของกระแสโลกาภิวัตน์ก็ดี หรือโดยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในประเทศก็ดี ลักษณะของรัฐไทยคงจะต้องแปรเปลี่ยนไปพอสมควร  แต่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก จริงๆ แล้วรัฐชาติเองก็เป็นของใหม่ในประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยมีอายุแค่ 100 กว่าปีเท่านั้นเอง ในโลกตะวันตกก็สักประมาณไม่เกิน 200 ปี โดยธรรมชาติของมันแล้ว ลักษณะของรัฐจะแปรรูปไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เพราะฉะนั้นเราอย่าไปยึดติดว่ามันจะเหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา

ปัญหามันมีอยู่ว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ในระยะผ่าน และระยะผ่านก็มักก่อให้เกิดความหวั่นไหววิตก อย่างกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็มีเงื่อนไขมาจากความเสื่อมคลายของรัฐชาติด้วย ดังจะเห็นได้ว่าการยอมรับอำนาจรัฐมันลดลง และปีกหนึ่งของคู่ขัดแย้งก็เป็นกลุ่มทุนที่โยงใยอยู่กับกระแสโลกาภิวัตน์ ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าคำขวัญต่างๆ ของรัฐชาติ  หรืออุดมการณ์แบบรัฐชาติ มันใช้ไม่ได้เลยกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หรืออย่างน้อยทำให้คนปรองดองกันไม่ได้

สิ่งเหล่านี้หมายความว่า ตัวจินตนาการร่วมในเรื่องความเป็นชาติและความเป็นรัฐมันสั่นคลอนมาก เราต้องประคองให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเกิดสภาพมิคสัญญี มันจะเกิดสภาพอนาธิปไตย ที่ไม่มีใครฟังใคร ในช่วงนี้ ผมหวังว่าคนที่รับผิดชอบบ้านเมืองก็ดี หรือนักวิชาการก็ดี จะต้องช่วยกันจับประเด็นให้ถูก ว่าทำอย่างไรการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันจะผ่านไปอย่างราบรื่น ทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุลใหม่เกิดขึ้น มีบูรณาการใหม่เกิดขึ้น อาจจะภายใต้สโลแกนใหม่ๆ หรือภายใต้การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจกันใหม่  แต่ถ้าไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรเลย คงไปไม่รอด หรือ ถ้ายังใช้ชุดความคิดเก่าๆ มาแก้ปัญหา ก็คงไม่ช่วยอะไรเช่นกัน

คุณชวนผมคุยมามากแล้ว คงต้องพอแค่นี้

……………

สัมภาษณ์โดย ปกป้อง จันวิทย์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553

ตีพิมพ์: October 09 ฉบับประชาธิปไตย (ตุลาคม 2553) สำนักพิมพ์ openbooks

 

Print Friendly