บทเสวนาว่าด้วยวงการสถาปนิกไทย ภายใต้ระบบทุนนิยมและระบบการศึกษาแบบไทยๆ ของ ปกป้อง จันวิทย์ ในงาน ASA สุดสัปดาห์วิชาการ เดือนมีนาคม 2550 ณ สมาคมสถาปนิกสยาม
ระบบทุนนิยม
Sweatshops : ปีศาจร้ายจำเป็น?
ปรากฏการณ์สามัญประการหนึ่งภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ คือ การที่ผู้คนในประเทศยากจนต้องยอมขายแรงงานราคาถูกให้บรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations-MNCs) เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการหาเลี้ยงชีพที่ดีกว่า
ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่ยากไร้ ไร้ทั้งทรัพยากร ไร้ทั้งทางเลือก ก็คือ ยอมถูกขูดรีดกดขี่เอาเปรียบ ดีกว่าตกงานไม่มีอะไรกิน แม้ระบบทุนนิยมจะถูกสรรเสริญว่าเป็นระบบที่ให้คนมีสิทธิ “เลือก” ตามเจตจำนงเสรี แต่การเลือกระหว่างความทุกข์ทนข้นแค้น 2 ทาง จะพูดได้เต็มปากหรือว่านั่นคือการเลือก ?
ในหลายกรณี คนเล็กคนน้อยเหล่านั้นได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเสียอีก มิพักต้องพูดถึงระดับค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wages) ซึ่งเป็นระดับค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิในตัวเอง
ตลาด รัฐ และชุมชน ในมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน
ทั้ง “ตลาด” “รัฐ” และ “ชุมชน” ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน หากมองในแง่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ กระนั้น “ชุมชน” เป็นทางเลือกในการจัดสรรทรัพยากรที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งสัญญาไม่สมบูรณ์ ที่ “ตลาด” และ “มือที่มองไม่เห็น” ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
คำถามที่น่าคิดก็คือ จริงละหรือที่ “ตลาด” คือกลไกจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพเพียงหนึ่งเดียว? มากไปกว่านั้น เกณฑ์การวัด “ประสิทธิภาพ” ที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักใช้พิสูจน์ว่า “ตลาด” เท่านั้นที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็น “สากล” และ “เป็นกลาง” ที่จะใช้ประเมินผลแห่งความสำเร็จของสถาบันอื่น เช่น “รัฐ” หรือ “ชุมชน” ได้ด้วยหรือไม่ ?
คนมิใช่สัตว์เศรษฐกิจ?: บทเรียนจากเกมยื่นคำขาด
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาตรฐานถูกสร้างขึ้นภายใต้ข้อสมมติสำคัญที่ว่า คนเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” (Homo Economicus) ในความหมายที่คนตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ ตัดสินใจด้วยความมีเหตุมีผลในระดับที่สมบูรณ์ และพยายามทำให้ตัวเองได้สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่เผชิญ
แต่พัฒนาการของวิชาการเศรษฐศาสตร์ในช่วงหลัง โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองและเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพฤติกรรม ซึ่งทวีความนิยมและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงวิชาการ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หันกลับมาสำรวจ ทบทวน และพัฒนาองค์ความรู้ของตน รวมทั้งหลอมรวมความรู้เศรษฐศาสตร์เข้ากับองค์ความรู้สาขาอื่น ๆ
ผลพวงที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งก็คือ งานวิชาการเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมายในปัจจุบัน พุ่งเป้าไปตั้งคำถามยังข้อสมมติที่เป็นหัวใจของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก นั่นคือ “ความเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (Homo Economicus) เพียงพอสำหรับการอธิบายโลกและพฤติกรรมมนุษย์หรือ?”