คำถามที่สำคัญก็คือ การตรึงค่าแรงต่ำและกดระดับสวัสดิการเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาคเอกชน และเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในระยะยาวเพียงใด เมื่อเทียบกับการเลือกเส้นทางพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น นอกจากต้นทุนทางสังคมจากยุทธศาสตร์กดค่าแรงต่ำ และช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว หากประเทศเลือกแข่งกับประเทศอื่นด้วยการ “ขายของถูก” แทนที่จะ “ขายของดีและเด่น” ก็ย่อมมีประเทศที่ยากจนกว่าหรือมีแรงงานมากกว่าสามารถขายของที่ถูกกว่าได้ เช่น จีน เวียดนาม ที่ค่าแรงต่ำกว่าไทย เมื่อนั้นไทยย่อมสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นวิถีทางที่มีเป้าหมายบั้นปลายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ดีมีสุขมากขึ้น แต่หาก “กระบวนการ” ที่นำมาซึ่งการเติบโตต้องแลกด้วยการลงโทษกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่าโดยเปรียบเทียบอย่างแรงงานที่อยู่ได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ คำถามที่ตามมาก็คือ จะถือว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังประโยชน์อยู่อีกได้อย่างไรและเป็นไปเพื่อใคร ในเมื่อบนเส้นทางแห่งการเติบโตต้องบั่นทอนเป้าหมายบั้นปลายแห่งการเติบโตนั้น ซึ่งก็คือ สังคมที่คนอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่สังคมที่นายทุนหรือชนชั้นกลางอยู่ดีมีสุข แต่คนจนต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญ