ไล่หลังคำประกาศขจัดความยากจนให้หมดสิ้นภายในหกปีของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นอีกวันละ 1 บาท จากวันละ 169 บาท เป็น 170 บาท แต่ยังคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานไว้ที่ 133 บาทต่อวันตามเดิม ทั้งนี้ยังมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วยในบางจังหวัดระหว่าง 1-3 บาท ขณะที่บางจังหวัดไม่มีการปรับขึ้นเลย
เศษเหรียญไม่กี่บาทที่เพิ่มขึ้นต่อวันเป็นเพียงฝุ่นธุลีเมื่อเทียบกับข้อเสนอของกระทรวงการคลังว่าด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและปรับเพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงการประชุมของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ตกเป็นข่าวในวันเดียวกัน ยิ่งเมื่อผู้เขียนพบว่า ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐานเพียงสองครั้งคือเมื่อปี 2541 จาก 128 บาทต่อวัน เป็น 130 บาทต่อวัน และปี 2544 เป็น 133 บาทต่อวันด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงอำนาจต่อรองของแรงงานต่อกลุ่มทุนที่ห่างไกลจากคำว่า “เท่าเทียม”
กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างรวดเร็วด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน สหภาพแรงงานซึ่งเป็น “สถาบัน” ที่เพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานถูกบั่นทอนกำลังและไม่ได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะจากภาครัฐ ที่ใส่ใจผลประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่าผู้ใช้แรงงานตลอดเส้นทางการพัฒนา เศรษฐกิจที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานแทบไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังไม่ว่าจาก รัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย สภาวะ “โรงงานนรก” และการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างผิดกฏหมายดำรงอยู่เสมือนเป็นเรื่องสามัญธรรมดา
ในระดับนโยบาย ผู้กำหนดนโยบายมักมีความเชื่อว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจักนำมาซึ่งความตกต่ำของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ซึ่งกระทบเศรษฐกิจส่วนรวม การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งจึงเป็นไปในลักษณะ “เสียไม่ได้” ที่ดีดลูกคิดแล้วเห็นว่า “จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นเหตุให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น” (มติคณะรัฐมนตรี 16 ธันวาคม 2546) หากต้องการให้เศรษฐกิจส่วนรวมเติบโต ข้าวของราคาไม่แพง ส่งออกแข่งกับประเทศอื่นได้ แรงงานต้องเป็นผู้เสียสละ ทั้งที่มูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการผลิตตกอยู่กับฝ่ายนายทุน เจ้าของกิจการหาใช่แรงงานไม่ และทั้งที่นายทุนมีทรัพย์สินร่ำรวยกว่าแรงงานอย่างมหาศาล
คำถามที่สำคัญก็คือ การตรึงค่าแรงต่ำและกดระดับสวัสดิการเพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาคเอกชน และเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในระยะยาวเพียงใด เมื่อเทียบกับการเลือกเส้นทางพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น นอกจากต้นทุนทางสังคมจากยุทธศาสตร์กดค่าแรงต่ำ และช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว หากประเทศเลือกแข่งกับประเทศอื่นด้วยการ “ขายของถูก” แทนที่จะ “ขายของดีและเด่น” ก็ย่อมมีประเทศที่ยากจนกว่าหรือมีแรงงานมากกว่าสามารถขายของที่ถูกกว่าได้ เช่น จีน เวียดนาม ที่ค่าแรงต่ำกว่าไทย เมื่อนั้นไทยย่อมสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน
การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นวิถีทางที่มีเป้าหมายบั้นปลายเพื่อให้คนในสังคมอยู่ดีมีสุขมากขึ้น แต่หาก “กระบวนการ” ที่นำมาซึ่งการเติบโตต้องแลกด้วยการลงโทษกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่าโดยเปรียบเทียบอย่างแรงงานที่อยู่ได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ คำถามที่ตามมาก็คือ จะถือว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังประโยชน์อยู่อีกได้อย่างไรและเป็นไปเพื่อใคร ในเมื่อบนเส้นทางแห่งการเติบโตต้องบั่นทอนเป้าหมายบั้นปลายแห่งการเติบโตนั้น ซึ่งก็คือ สังคมที่คนอยู่ดีมีสุข ไม่ใช่สังคมที่นายทุนหรือชนชั้นกลางอยู่ดีมีสุข แต่คนจนต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญ
ปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างแรงงานกับกลุ่มทุน มิได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาในระดับ “สถาบัน” อันเกิดจากธรรมชาติของระบบทุนนิยม
ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ยืนอยู่บนความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจระหว่างนายทุนและผู้ใช้แรงงานเช่นที่คาร์ล มาร์กซ์ได้วิเคราะห์ไว้ นายทุนเป็นผู้ถือเอามูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่แรงงานเป็นผู้เสียหยาดเหงื่อผลิตขึ้นมา เหตุที่นายทุนเอาเปรียบแรงงานได้ก็เพราะอำนาจต่อรองที่สูงกว่า อันมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออำนาจต่อรองของแรงงานก็คือ อัตราการว่างงานในเศรษฐกิจ
หากอัตราการว่างงานสูง ย่อมมีแรงงานสำรองต่อแถวรอคิวเข้าทำงานจำนวนมาก “คำขู่” ของคนทำงานในทางที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้ตัวเองย่อมไร้ความหมาย ในเมื่อเจ้าของทุนไม่จำเป็นต้องใส่ใจเพราะมีแรงงานสำรองที่อยากทำงานรอทำงานแทนจำนวนมาก นายจ้างไม่รู้สึกลำบากในการหาคนใหม่มาทำงานแทน ยิ่งหากเป็นแรงงานประเภทที่ไม่ต้องมีทักษะพิเศษด้วยแล้ว อำนาจต่อรองยิ่งต่ำ เพราะจะเลือกเอาใครมาทำงานแทนพวกกระด้างกระเดื่องก็ย่อมได้ ไม่รู้สึกแตกต่างกัน เช่นนี้แล้ว แรงงานระดับล่างสุดที่จนที่สุด ที่ห่างไกลจากการเข้าถึงทรัพยากรที่สุด และไม่มีทักษะเฉพาะทางใดเลย ย่อมไร้อำนาจต่อรองมากที่สุด และตกเป็นเบี้ยล่างของระบบรุนแรงที่สุด
แย่ไปกว่านั้น อำนาจต่อรองของแรงงานยิ่งถูกบั่นทอนภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ที่เศรษฐกิจโลก เชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบแน่น ตลาดเสรีมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรแทนรัฐ นโยบายเศรษฐกิจมุ่งเน้นการเปิดเสรี ลดการกำกับควบคุมเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเป็นเอกชนแทนที่รัฐ และมีนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
การผูกตัวเองเข้ากับเศรษฐกิจโลก ยิ่งทำให้เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่ละประเทศต่างมุ่งเปิดประตูดึงดูดเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าออกได้อย่างเสรี โดยวิถีทางหนึ่งคือพยายามกดค่าจ้างให้ต่ำ แย่งกันลดค่าจ้าง และลดคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเสนอขายของถูกให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกอยากเข้ามาลงทุน ประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศยิ่งมีความสำคัญ และโดยมาก บริษัทมักเลือกวิธีการมักง่ายอย่างการกดค่าจ้างมากกว่าการแข่งขันด้าน เทคโนโลยี หรือคุณภาพสินค้า ที่ต้องลงทุนสูงและเห็นผลระยะยาว
ในทางกลับกัน การเปิดเสรีทุนเคลื่อนย้ายกลับเพิ่มทางเลือกในการถอนตัว (Exit Option) แก่ทุนข้ามชาติ เพราะหากประเทศหนึ่งไม่มีนโยบายเอาใจ ก็ย้ายไปลงทุนที่อื่นได้โดยง่าย “คำขู่” ของบรรษัทข้ามชาติจึงมีความน่าเชื่อถือ ต่างจาก “คำขู่” ของแรงงานอย่างเทียบกันไม่ได้ ทุนไหลออกน่ากลัวกว่าการขู่หยุดงานหลายเท่าตัวนัก ในเมื่ออย่างแรกต้องกราบกราน ขณะที่อย่างหลังรู้สึกช่างหัวมัน ยุ่งมากก็ปลดทิ้ง จ้างคนอื่นที่รองานเข้าเสียบแทน
นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ยึดกุมนโยบายเปิดเสรีทางการเงินและลดข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุนข้ามชาติ นอกจากจะส่งผลให้อำนาจต่อรองของกลุ่มทุนข้ามชาติเพิ่มขึ้นและลดอำนาจต่อรองของแรงงานแล้ว ยังมีคุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ มุ่งเน้นนโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีอคติในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในทางเข้มงวด (Deflationary-biased economic policy)
ภายใต้โลกยุคเสรีนิยมใหม่ โลกทัศน์ขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติ และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนมาก ต่างชื่มชมเศรษฐกิจที่สามารถรักษาเสถียรภาพได้เป็นอย่างดี โดยเสถียรภาพในที่นี้หมายถึง มีอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากธนาคารกลางในหลายประเทศหันมาใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting)
เป้าหมายการจ้างงานเต็มที่หาได้มีความสลักสำคัญเท่าการรักษาอัตราเงินเฟ้อ แม้คนว่างงานจะเป็นคนจริง ๆ ที่มีชีวิตมีเลือดเนื้อ แต่กลับต้องดิ้นรนลำบากขาดรายได้และไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการ ใช้ชีวิต ซึ่งทำลายคุณภาพชีวิตรุนแรงกว่าการที่ของแพงขึ้น ซื้อของได้น้อยลง ก็ตาม
ในโลกที่ทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีและรวดเร็ว ประเทศที่มีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย หรือมุ่งเน้นการจ้างงานเต็มที่ ย่อมไม่ดึงดูดให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่จะมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้จากการลงทุน ต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งยังอาจสร้างปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และเจ้าหนี้เสียประโยชน์เนื่องจากหนี้ที่แท้จริงลดลง ดังนั้น หากประเทศต้องการดึงดูดเงินลงทุนย่อมต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในทางเข้มงวด เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งตามวาทกรรมแบบเสรีนิยมใหม่ เช่น กดเงินเฟ้อให้ต่ำ ฯลฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวยิ่งบั่นทอนอำนาจต่อรองของแรงงานลงไปอีก เพราะมีแนวโน้มทำให้อัตราการจ้างงานลดต่ำลง ตามกลไกของภาวะ “ได้อย่างเสียอย่าง” (Trade-offs) ระหว่างอัตราเงินเฟ้อต่ำกับอัตราการว่างงานสูง โดยเฉพาะในระยะสั้น เป็นต้น
เห็นได้ว่า “สถาบัน” แบบเสรีนิยมใหม่ มีโครงสร้างสิ่งจูงใจในการบั่นทอนอำนาจต่อรองของแรงงานอย่างสำคัญ หากต้องการเพิ่มอำนาจต่อรองแก่แรงงาน นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องเป็นในทางขยายตัว กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อเพิ่มความต้องการมวลรวมในเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพิงเงินต่างชาติ มุ่งเน้นการจ้างงานเต็มที่ ยิ่งเศรษฐกิจมีอัตราการจ้างงานสูงเพียงใด อำนาจต่อรองของแรงงานก็ยิ่งสูงขึ้น กระนั้น การใช้นโยบายแบบขยายตัวดังกล่าวต้องเผชิญข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายมากมาย ต้องมีการผสมผสานใช้นโยบายอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อีกทั้งการปฏิรูป “สถาบัน” อื่น ๆ ให้เข้มแข็ง เพื่อลดต้นทุนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นสิ่งจำเป็น กระนั้น บทความนี้จะยังไม่ถกประเด็นดังกล่าวนี้ในรายละเอียด
แรงงานดูจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นในระบบทุนนิยม เนื่องจาก ไม่มีทรัพยากรให้สามารถผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ เนื่องจากขาดปัจจัยการผลิตและถูกเอาเปรียบโดยระบบ อีกทั้ง แรงงานยังมีทางเลือกไม่มาก ต้องถูกผลักดันให้ออกจากภาคเกษตร อันเป็นผลพวงของนโยบายภาครัฐ (ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่มีผลข้างเคียงลงโทษภาคเกษตร ฯลฯ) และผลพวงของเศรษฐกิจโลก (จากราคาสินค้าเกษตรโลก ซึ่งมีผลมาจากนโยบายช่วยเหลือภาคเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วอีกต่อหนึ่ง ฯลฯ) ทางเลือกที่มีจำกัดทำให้ “ทางเลือกในการถอนตัว” ของแรงงานต่ำอย่างยิ่ง เพราะรายได้หรือมูลค่าจากการเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทนงานปัจจุบัน (fallback position) มีมูลค่าต่ำ ทำให้ต้องทนอยู่กับสภาพการณ์ที่ยากลำบากอย่างไม่มีทางเลือก และไม่อาจคาดหวังอนาคตที่ดีได้
คนยากจนจะหมดไปจากประเทศนี้ได้อย่างไร ในเมื่อนิยามที่แท้จริงของคนจน มิได้เพียงแค่หมายความถึงครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 922 บาทต่อเดือน ในปี 2545 เท่านั้น แรงงานที่ไร้อำนาจต่อรองที่ต้องยังชีพด้วยค่าจ้างขั้นต่ำและแรงงานนอกระบบ ที่มีอยู่เกลื่อนสังคมย่อมยากที่จะกล่าวว่าเขาเหล่านั้นมิใช่คนจน
การแก้ปัญหาความยากจนจึงต้องมุ่งไปที่การเพิ่มอำนาจต่อรองให้คนจนเป็นหลัก หัวใจสำคัญก็คือการให้คนจนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร มีรายได้ที่ยังชีพได้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่า “โรงงานนรก” (หมายถึงทั้งนรกทางกายและทางใจ) ทั้งยังสามารถพึ่งตัวเองได้ระดับหนึ่งไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือด้วยชุมชนของเขา มีทักษะเฉพาะที่เหนือไปกว่าแรงงานธรรมดาในตลาดแรงงาน (เช่น มีการฝึกฝีมือแรงงาน มีการศึกษา) นอกจากนั้น รัฐต้องส่งเสริมการรวมกลุ่ม ส่งเสริมสถาบันที่ต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของกลุ่มคนที่เสียเปรียบ เช่น สร้างความเข้มแข็งแก่สหภาพแรงงาน
ในระดับเศรษฐกิจส่วนรวมต้องส่งเสริมให้มีการจ้างงานเต็มที่ โดยมีค่าแรงที่เพียงพอแก่การใช้ชีวิต (Living Wages) และยกระดับการกำหนดเป้าหมายอัตราการจ้างงานให้มีความสำคัญไม่ด้อยกว่าการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
เรื่องน่าเศร้าก็คือ เราจะคาดหวังการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานได้อย่างไร จากรัฐบาลที่เต็มไปด้วยกลุ่มทุน ในเมื่ออำนาจแรงงานที่สูงขึ้นย่อมกระทบผลประโยชน์และอำนาจต่อรองของกลุ่มทุน (หากค่าจ้างแพงขึ้น มีสหภาพเข้มแข็ง ย่อมทำให้รีดส่วนเกินจากแรงงานได้ลำบากขึ้น)
นอกจากนั้น ความยากจนมิได้มีเพียงมิติที่วัดโดยสัมบูรณ์ เช่น ใช้เส้นความยากจน เท่านั้น หากยังมีมิติเชิงสัมพัทธ์ ซึ่งก็คือ ความแตกต่างด้านรายได้และทรัพย์สินระหว่างคนจนกับคนรวย แม้นประเทศไทยไม่มีคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเลยก็ตาม จะบอกได้เต็มปากหรือไม่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมในอุคมคติ หากช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยยังคงถ่างออกไม่สิ้นสุด โครงสร้างสถาบันแบบทุนนิยมโดยเฉพาะภายใต้ยุคนโยบายเสรีนิยมใหม่ครองโลกมีส่วนสำคัญในการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนในสังคม ระบบสร้างโอกาสให้คนรวยรวยขึ้นบนพื้นฐานของการเหยียบบ่าคนจนให้จนลง
เรื่องน่าเศร้าก็คือ เราจะคาดหวังการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยอย่างไร จากรัฐบาลที่เต็มไปด้วยอภิมหาเศรษฐี ในเมื่อการลดช่องว่างย่อมหมายถึง คนรวยต้องสละส่วนแบ่งให้คนจนเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เช่น ต้องเสียภาษีมรดก ต้องบังคับใช้ภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า เป็นต้น
การแก้ปัญหาความยากจนจึงซับซ้อนกว่าการยัดเงินหรือทุ่มเงินลงไปให้คนจน อย่างการพักหนี้ ให้กู้ หรือแจกเงินโดยรัฐ นโยบายเอื้ออาทรแบบรัฐอุปถัมภ์เช่นว่านั้นทำง่าย ไม่สร้างปัญหาให้เห็นในทันที แถมยังได้คะแนนนิยมทางการเมือง
แม้คนจน(บางคน)อาจจะรวยขึ้น(บ้าง) แม้อาจมีคนหลงเคลิ้มไปชั่วขณะ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นสาเหตุแห่งความยากจนยังคงอยู่ ไม่ได้มีการปฏิรูปเชิงสถาบันแต่อย่างใด คนจนก็ยังคงพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องรอเป็นผู้รับเรื่อยไป ขณะที่เหล่าสมาชิกในรัฐบาลและกลุ่มทุนก็ยังคงยิ้มแย้ม ที่ยังคงเกี่ยวเกี่ยวส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากแรงงานคนยากจนได้อย่างสบายจาก ระบบที่คงอยู่ และยังคงธำรงโครงสร้างที่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยไว้ได้อย่าง เหนียวแน่น มิหนำซ้ำยังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีพระคุณ ผู้เอื้ออาทร ที่ต้องได้รับคำขอบคุณเสียอีกด้วย
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เคยเขียนบทความวิจารณ์ประธานาธิบดีบุชไว้ทำนองว่า บุชไม่ต่างอะไรกับคนที่บอกเราว่า เขาซื้อทีวีให้เราเป็นของขวัญวันคริสต์มาส แต่ไม่ได้บอกความจริงว่า เขาเอาบัตรเครดิตของเรานั่นแหล่ะไปซื้อ เท่านั้นยังไม่พอ ตอนซื้อ ยังใช้บัตรของเราแอบซื้อของอย่างอื่นอีกด้วย แน่นอนว่า เมื่อใบเสร็จเรียกเก็บเงินมาถึง ปัญหาย่อมตกอยู่กับเจ้าของบัตร ไม่ใช่บุชแต่อย่างใด
หลายคนคงคิดเหมือนกันว่า ทำไมเมื่อเปลี่ยนชื่อบุชเป็นทักษิณ(หรือนายกรัฐมนตรีคนไหนๆ)แล้ว ความรู้สึกกลับไม่แตกต่างกันเลย
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 2546