จอน เฟฟโร: เบื้องหลัง ‘เสียง’ ของโอบามา

ความยิ่งใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา  

 

“… ไม่มีอเมริกาเสรีนิยม ไม่มีอเมริกาอนุรักษ์นิยม มีแต่สหรัฐอเมริกา  ไม่มีอเมริกาผิวดำ ไม่มีอเมริกาผิวขาว ไม่มีอเมริกาละติน ไม่มีอเมริกาเอเชีย มีแต่สหรัฐอเมริกา

“นักวิเคราะห์การเมืองชอบแบ่งแยกประเทศของเราออกเป็นมลรัฐสีแดงและมลรัฐสีน้ำเงิน  มลรัฐสีแดงสำหรับพรรครีพับลิกัน มลรัฐสีน้ำเงินสำหรับพรรคเดโมแครต  ผมมีข่าวจะบอกพวกเขาเหมือนกัน พวกเราบูชาพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในมลรัฐสีน้ำเงิน และพวกเราไม่ชอบให้เจ้าหน้าที่รัฐมาวุ่นวายกับห้องสมุดของเราในมลรัฐสีแดง  พวกเราเป็นโค้ชลีกสำหรับเด็กในมลรัฐสีน้ำเงิน และ…ใช่… พวกเรามีเพื่อนเกย์ในมลรัฐสีแดง

“คนรักชาติจำนวนมากคัดค้านสงครามในอิรัก และคนรักชาติจำนวนมากสนับสนุนสงครามในอิรัก  พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเราทุกคนสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อหน้าธงชาติ พวกเราทุกคนต้องการปกป้องสหรัฐอเมริกา…”

 

สุนทรพจน์ “ความยิ่งใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา” (Greatness of America) ในที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครตเพื่อเสนอชื่อจอห์น แคร์รี (John Kerry) เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2004 นับเป็นสุนทรพจน์แห่งชีวิตของบารัค โอบามา (Barack Obama) โดยแท้ เพราะชีวิตการเมืองระดับชาติของโอบามา ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกมลรัฐอิลลินอยส์สมัยแรก เริ่มฉายแววสว่างไสวไปทั่วสหรัฐอเมริกาจากสุนทรพจน์อันจับใจ เฉียบคม เร้าอารมณ์ และให้ “ความหมายใหม่” แก่ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ข้ามพ้นการเมืองสองพรรคแบบแตกแยกแบ่งขั้ว จนทำให้เขากลายเป็น “ความหวัง” ของผู้คนที่กระหาย “การเปลี่ยนแปลง” ในสังคมการเมืองอเมริกัน

จากเวทีแจ้งเกิดที่บอสตันในปี 2004 โอบามาใช้เวลาไม่ถึง 5 ปีเต็มสำหรับการเดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ทำเนียบขาว โดยมี “วาทศิลป์” เป็นอาวุธคู่กายที่ยากจะหาใครเทียมทัน

 

ปากเป็นเอก

โอบามาเป็นนักปราศรัยที่ยอดเยี่ยม เขามีน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยพลัง และมีความสามารถในการเลือกใช้คำที่สร้างแรงบันดาลใจ งดงาม กระตุ้นต่อมคิด และให้ปัญญา รวมถึงความสามารถในการจูงใจผู้คน สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมแก่ผู้ฟัง คำปราศรัยหาเสียงทางการเมืองของโอบามามีความลึกซึ้งเหนือกว่าคำปราศรัยหาเสียงทั่วไป ด้วยโอบามามีความเป็นปัญญาชนอยู่ในตัว อีกเป็นทั้งนักเขียนมีฝีมือและนักอ่านตัวยง

โอบามาเป็นนักการเมืองที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุนทรพจน์และคำกล่าวปราศรัย เพราะเป็น “สื่อกลาง” ในการถ่ายทอดความคิดในสมองและความรู้สึกในหัวใจของเขาสู่สาธารณะ คำกล่าวที่ดีนั้น นอกจากจะทำให้ประชาชนเข้าใจตัวตน ความคิด และความรู้สึกของเจ้าตัวอย่างชัดแจ้งแล้ว ต้องสามารถสร้างอารมณ์ร่วมและแรงบันดาลใจแก่ผู้ฟังได้ด้วย โดยมาก เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ฟังมักจะหลงลืมเนื้อหาของคำปราศรัย แต่สิ่งหนึ่งที่ติดตรึงอยู่กับตัวคือ ความรู้สึกอิ่มเอมเมื่อครั้งได้รับฟัง ซึ่งประการหลังคือองค์ประกอบสำคัญยิ่งของความเป็นคำปราศรัยในตำนาน และโอบามามักทำได้สำเร็จเสมอ

วาทศิลป์ของโอบามาไม่ใช่แค่เรื่องพรสวรรค์ หรือได้มาเพราะโชคช่วย แต่ด้วยการตระเตรียม ค้นคว้าอย่างหนัก วางแผน สรรหาถ้อยคำ ความคิด และเรื่องเล่าอย่างบรรจง รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดเรียงความคิด เนื้อหา และจังหวะจะโคน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถส่งสารถึงผู้ฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดึงดูดให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกร่วม เหมือนเข้าไปนั่งเคียงข้างอยู่กลางใจผู้ฟัง ถ้อยความของโอบามาจะเปี่ยมด้วยวุฒิภาวะควบคู่ไปกับสุนทรียะ มีความเป็นปรัชญาควบคู่ไปกับตัวอย่างเรื่องเล่ารูปธรรม มีสำนึกทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับการสะท้อนภาพปัจจุบัน และมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นทั้งเนื้อหา ท่วงทำนอง และสไตล์

ด้วยโอบามาเป็นนักเขียนระดับขายดี เขาจึงลงมือเขียนสุนทรพจน์และคำกล่าวด้วยตัวเอง สุนทรพจน์แห่งชีวิตข้างต้นก็มาจากคมความคิดและฝีไม้ลายมือของเขา โอบามามีความมั่นใจในความสามารถส่วนตัวด้านการเขียนและการพูด รวมถึงความรู้ในตัวตน เป็นอย่างยิ่ง จนแอบกล่าวชมผลงานของตนด้วยความภูมิใจแบบทีเล่นทีจริงในหมู่คนสนิทอยู่เนืองๆ

เช่นนี้แล้ว จึงยากยิ่งที่ผู้มีความเป็นนักคิดนักเขียนอยู่ในตัวอย่างโอบามา จะกล้าไว้ใจให้ใครคนอื่นมาลงมือเขียนในนามของตน ถ้าไม่ใช่เขาคนนั้นต้องเก่งกล้าสามารถด้านการเขียนในระดับเยี่ยมยอดแล้ว คนนั้นต้องมีความสามารถเข้าไปนั่งอยู่กลางหัวใจและกลางมันสมองของโอบามา จนรู้ ‘ทางคิด’ ‘ทางเขียน’ และ ‘ทางพูด’ ของเขาอย่างทะลุปรุโปร่ง

 

เรื่องราวหลังเวที

ผู้ชมทางโทรทัศน์หลายล้านคนได้ร่วมเป็นพยานในการแจ้งเกิดทางการเมืองอย่างงดงามของโอบามาบนเวทีสุนทรพจน์แห่งชีวิตในปี 2004

แต่หากย้อนเข็มนาฬิกากลับไปยังห้วงก่อนโอบามาก้าวขึ้นเวที ขณะที่โอบามากำลังซ้อมทวนบทอยู่ด้านหลังเวที เด็กหนุ่มวัย 23 ปีคนหนึ่งเดินมาบอกโอบามาว่าเขาน่าจะแก้ไขเนื้อหาและปรับจังหวะของสุนทรพจน์บางตอนของเขา โดยเฉพาะส่วนที่มีเนื้อหาซ้อนทับกับสุนทรพจน์ตอบรับเป็นตัวแทนพรรคของแคร์รี

โอบามามีสีหน้างุนงงระคนทึ่งว่าไอ้เด็กคนนี้มันเป็นใคร ถึงกล้าดีมาบอกให้เขาแก้ไขสุนทรพจน์ซึ่งถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา

นั่นเป็นครั้งแรกที่โอบามาพบกับจอน เฟฟโร (Jon Favreau) หรือ “เฟฟส์” (Favs) เด็กหนุ่มประจำทีมเขียนสุนทรพจน์ของแคร์รีในศึกชิงทำเนียบขาวกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในปีนั้น

เวลานั้นคงไม่มีใครจินตนาการได้ว่า อีกไม่กี่ปีถัดไป เขาคือผู้แบกรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการคิดแทน เขียนแทน และพูดแทน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

โมสาร์ตแห่งสวนอักษร  

เฟฟโร เกิดเมื่อปี 1981 ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ เดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ เขาจะมีอายุครบ 28 ปีเต็ม เฟฟส์เรียนจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยโฮลีครอสส์ (College of the Holy Cross) ในปี 2003 ด้วยผลการเรียนระดับเหรียญทอง สมัยเรียนหนังสือ เขาเคยเป็นประธานทีมโต้วาทีและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของวิทยาลัย ทั้งยังเคยฝึกงานเป็นทีมงานการเมืองของจอห์น แคร์รี วุฒิสมาชิกมลรัฐแมสซาชูเซตส์

เมื่อเรียนจบ เขาทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมอยู่พักหนึ่ง ก่อนเข้าร่วมเป็นทีมงานหาเสียงของแคร์รีในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2004 โดยเริ่มต้นด้วยหน้าที่ประมวลข่าวและคลิปสัมภาษณ์ทางวิทยุ ต่อมาได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีมงานเขียนคำกล่าวและสุนทรพจน์ประจำตัวแคร์รี

เมื่อแคร์รีพ่ายแพ่แก่บุช ขณะที่โอบามาได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกมลรัฐอิลลินอยส์ในคราวเดียวกัน  โรเบิร์ต กิ๊บส์ (Robert Gibbs) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารสาธารณะของโอบามาในขณะนั้น (โฆษกทำเนียบขาวในปัจจุบัน) ซึ่งเคยทำงานเป็นโฆษกทีมหาเสียงของแคร์รีอยู่พักหนึ่ง แนะนำให้โอบามารับเฟฟส์เข้าทำงาน เพราะมีแววเป็นนักเขียนสุนทรพจน์ชั้นเยี่ยม

โอบามาเรียกเฟฟส์มาสัมภาษณ์งานตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งวุฒิสมาชิก โดยสอบถามถึงแรงจูงใจ หลักการทำงาน และทฤษฎีการเขียนของเขา

เฟฟส์ตอบโอบามาว่า “ผมไม่มีทฤษฎีการเขียน”

“ตอนคุณกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ คุณก็แค่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณตั้งแต่ต้นจนจบ แต่มันเป็นเรื่องเล่าที่สอดคล้องกับวาทกรรมแบบอเมริกัน ผู้คนไม่ได้ยกย่องคุณเพราะวรรคทอง แต่เพราะคุณได้นำพรรคและผู้คนในประเทศนี้ไปสัมผัสกับสิ่งที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อน พรรคเดโมแครตไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นมานานแล้ว

“สุนทรพจน์จะช่วยขยายฐานมวลชนที่ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ  เราต้องพยายามสื่อสารกับประชาชนที่เผชิญปัญหา ให้พวกเขารับรู้ว่า ‘พวกเราได้ยินคุณ พวกเราอยู่เคียงข้างคุณ แม้ว่าคุณจะผิดหวังกับการเมืองในอดีต พวกเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้ เพียงให้โอกาสพวกเราเท่านั้น’”

แล้วโอบามาก็รับเฟฟส์เข้าร่วมทำงานทันที เขาทำหน้าที่เป็นมือเขียนสุนทรพจน์และคำกล่าวของโอบามาแต่ต้นปี 2005  เมื่อโอบามาประกาศตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2007 เฟฟส์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมเขียนคำกล่าวและสุนทรพจน์ของทีมงานหาเสียง โดยมีสมาชิกหลักเป็นคนหนุ่มอีก 2 คน ได้แก่ อดัม แฟรงเคิล (Adam Frankel) วัย 27 ปี และเบน โรดส์ (Ben Rhodes) วัย 31 ปี เขาเป็นตัวหลักในการร่างและพัฒนาสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญแทบทุกชิ้นตลอดเส้นทางสู่ทำเนียบขาวของโอบามา

เมื่อโอบามาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เฟฟส์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเขียนสุนทรพจน์และคำกล่าว (Director of Speechwriting) แห่งทำเนียบขาว ด้วยวัยเพียง 27 ปี นับว่าอายุน้อยที่สุดเป็นลำดับสองของผู้เคยดำรงตำแหน่งนี้ รองจากเจมส์ ฟาลโลวส์ (James Fallows) มือเขียนสุนทรพจน์และคำกล่าวของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)

เดวิด เอกเซลรอด (David Axelrod) ที่ปรึกษาอันดับหนึ่งของโอบามา ชื่นชมภาษาของเฟฟส์ว่าเหมือนดัง “ดนตรี” อันไพเราะ และเรียกเขาว่า “โมสาร์ต” เพราะเป็นนักสร้างสรรค์ระดับอัจฉริยะทั้งที่มีอายุน้อย

 

คนรู้ใจ

การเขียนสุนทรพจน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นคนเขียนสุนทรพจน์ให้บรรดานักคิดนักเขียนด้วยแล้ว ยิ่งยากยิ่งเป็นทวีคูณ

อาชีพของเฟฟส์ไม่ใช่การเขียนเพื่อตัวเอง แต่เป็นการเขียนเพื่อเจ้านาย ความเป็นนักเขียนสุนทรพจน์อาชีพที่ดีจึงไม่ได้วัดกันที่การแต่งประโยคสวยหรูหรือถ้อยความชวนคิดแล้วยัดเยียดใส่ปากให้เจ้านายเป็นผู้ออกหน้าอ่านออกเสียง แต่นักเขียนสุนทรพจน์ที่ดีต้องรู้จัก ตัวตน บุคลิก ชีวิต ความคิด จิตใจ และอุดมการณ์ของเจ้านายอย่างทะลุปรุโปร่ง เพื่อเขียนงานให้เสมือนออกมาจากความคิดและฝีมือของเจ้านาย ผลิตคำกล่าวที่เหมาะกับบุคลิกและฝีปากของผู้พูด อย่างไม่ขาดพร่องและไม่ล้นเกิน

ในช่วงเทศกาลหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เฟฟส์ต้องอยู่เคียงข้างโอบามา เพื่อซึมซับความเป็นโอบามาให้มากที่สุด ให้เข้าใจว่าโอบามาคิดอะไร มีกระบวนคิดอย่างไร ต้องการสื่อสารอะไร มีท่าทีและปฏิกิริยาต่อประเด็นต่างๆ อย่างไร จังหวะการคิดและการพูดเป็นอย่างไร เรียกว่า เฟฟส์ต้องแปลงสภาพเป็น “โอบามาน้อย” โดยฝึกคิดแบบโอบามา พูดแบบโอบามา

เฟฟส์ยังพกหนังสือที่โอบามาเขียนติดตัว และอ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเข้าใจโครงสร้างการคิดการเขียน รวมถึงแนวคิดและประสบการณ์ของโอบามาอย่างลึกซึ้ง

โอบามากล่าวยกย่องเฟฟส์ว่าเป็นผู้รู้ใจ ซึ่งสามารถอ่านใจของเขาได้ ผลงานการเขียนสุนทรพจน์ให้โอบามาของเขาจึงมีคุณภาพสูง เพราะเฟฟส์ไม่ได้แค่ทำตามหน้าที่ หรือตามใจตน แต่เฟฟส์ปรับวิถีการคิดและเขียน ลดอัตตาตน จนกลายเป็น “มือซ้าย” เพื่อเจ้านายอย่างแท้จริง (โอบามาเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย)

 

ศาสตร์และศิลปแห่งการเขียนสุนทรพจน์    

ในกระบวนการเขียนสุนทรพจน์ โอบามาไม่ได้ปล่อยให้เฟฟส์และทีมงานทำงานเพียงลำพัง โดยตนมีหน้าที่กล่าวตามข้อเขียนของเฟฟส์เท่านั้น แต่โอบามาจะมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการตามประสาคนให้คุณค่ากับถ้อยคำ

งานเขียนสุนทรพจน์แต่ละชิ้นจะเริ่มต้นด้วยการประชุมร่วมกันระหว่างโอบามา ทีมที่ปรึกษา และทีมเขียนสุนทรพจน์ โอบามาจะแสดงความคิดนำถึงโครงร่าง เนื้อหา วรรคทอง และจังหวะจะโคนของสุนทรพจน์ ในช่วงให้การบ้านและแลกเปลี่ยนความเห็น เฟฟส์จะพิมพ์ความคิดทั้งหมดใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คคู่ใจ แล้วกลับไปทำการบ้านโดยแปรความต้องการของโอบามาให้เป็นรูปธรรม ค้นคว้าเพิ่มเติม สืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เลือกโคว้ทจากงานเขียนคลาสสิกหรือคำกล่าวในอดีตเพื่อใช้ประกอบสุนทรพจน์ รวมถึงประสานกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบาย โดยมีทีมงานคอยช่วยเหลือ ระหว่างกระบวนการยกร่าง เฟฟส์จะปรึกษากับทีมที่ปรึกษาของโอบามา โดยเฉพาะเอกเซลรอด

การเขียนสุนทรพจน์ของโอบามา เฟฟส์ และทีมงาน มีจุดเด่นที่การใช้เรื่องเล่าประกอบความคิด เพื่อสร้างความประทับใจ ความสะเทือนใจ และแรงบันดาลใจ บางครั้งเป็นประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของโอบามา  บางครั้งเป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ บางครั้งเป็นประสบการณ์ที่ได้พบเจอตอนหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านั้นมักจะสอดคล้องกับวาทกรรมแบบอเมริกัน อันว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม การต่อสู้ การแสวงหาโอกาส และการเดินตามความฝัน

โอบามาจะให้ความสำคัญกับประโยคเปิดเรื่อง เพื่อดึงความสนใจจากผู้ฟังให้อยู่หมัดตั้งแต่ต้น โดยเปรียบเปรยว่า ถึงพ่อครัวจะทำอาหารอร่อยขนาดไหน แต่ถ้าคนไม่เข้าร้านเสียแต่ต้น ก็ไม่มีโอกาสลิ้มรส และร้านก็เจ๊งในที่สุด นอกจากนั้น เขามักจะผลิตถ้อยความที่มีลักษณะย้อนแย้งอย่างสร้างสรรค์ เช่น การธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล พร้อมกับการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และใช้คำว่า “พวกเรา” เพื่อสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม ให้ประชาชนมองการเลือกตั้งและการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของตัวผู้นำอย่างโอบามา แต่เป็นเรื่องของทุกคน

สุนทรพจน์และคำกล่าวของโอบามายังมีลักษณะเด่นคือ การพูดความจริง แม้เป็นความจริงที่คนไม่อยากฟัง เช่น ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งหนักหน่วงรุนแรงยากที่จะแก้ไข แต่กระนั้น เนื้อหาไม่ได้เป็นการยอมรับความจริงอย่างเชื่องๆ แต่เขามักจะเรียกร้องให้ประชาชนต้องร่วมมือกันต่อสู้ฟันฝ่าความจริงอันโหดร้าย ต้องมีความหวังและลงมือทำร่วมกัน

เมื่อเฟฟส์เขียนร่างแรกเสร็จตามแนวทางข้างต้น ก็จะส่งให้โอบามาแก้ไข จากนั้น เมื่อโอบามาแก้ไขร่างและให้ข้อชี้แนะ เฟฟส์ก็จะแก้ไขอีกรอบ และมีการเสนอข้อวิจารณ์และข้อชี้แนะกลับไปให้โอบามาบ้าง สำหรับสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญ เช่น สุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี กระบวนการแก้ไขกันไปมาระหว่างโอบามาและทีมเขียนจะใช้กินเวลาถึง 4-5 ครั้ง

เมื่อถึงร่างสุดท้าย โอบามาและเฟฟส์จะทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ เฟฟส์เปรียบเทียบการทำงานกับโอบามาว่า เหมือนเป็นโค้ชให้เท็ด วิลเลียม นักเบสบอลในตำนาน

นักกีฬาที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์อาจลงเล่นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโค้ช แต่การมีโค้ชเคียงข้างก็ช่วยให้เขาเล่นได้เนียนและมั่นใจมากขึ้น

 

ค่าของคน ผลของงาน

เฟฟส์เป็นคนทำงานหนัก ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขาทำงานดึกดื่นถึงตีสาม แต่ตื่นเช้าตรู่ตั้งแต่ตีห้า เขาต้องซัดกาแฟ และกระทิงแดง เป็นเครื่องมือเสริมสร้างพลัง มีช่วงพักผ่อนด้วยการเล่นวีดีโอเกมส์ โดยมีร็อคแบนด์ (Rock band) เป็นเกมส์โปรด บางครั้งก็เล่นเปียโน

สไตล์การทำงานของเฟฟส์เป็นแบบง่ายๆ สบายๆ มักประชุมทีมงานแบบไม่เป็นทางการ ไม่มีพิธีรีตอง เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า บางครั้งอยากจ้างทีมงานมาเพิ่ม แต่กลัวบริหารจัดการลำบาก เพราะตัวเขาไม่มีทักษะด้านการบริหารจัดการเท่าที่ควร

สุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามาเป็นผลงานครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา นับเป็นคนเขียนร่างสุนทรพจน์ในโอกาสดังกล่าวที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยวัยเพียง 27 ปี เขาต้องศึกษาวิจัยสุนทรพจน์ของเหล่าอดีตประธานาธิบดี สัมภาษณ์นักวิชาการโดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ และศึกษาประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤต

เฟฟส์ใช้เวลาในการเขียนร่างสุนทรพจน์ความยาวประมาณ 20 นาทีถึง 2 เดือน ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง โดยมีมุมเงียบๆ ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในกรุงวอชิงตันดีซี เป็นสถานที่เขียนยกร่างแรก

ผลงานชิ้นโดดเด่นของเฟฟส์ส่วนใหญ่เป็นสุนทรพจน์ในช่วงเทศกาลหาเสียงเลือกตั้ง ชิ้นที่มีคุณภาพระดับห้าดาว ได้แก่ สุนทรพจน์ประกาศชัยชนะของโอบามาในสนามเลือกตั้งสนามแรกที่มลรัฐไอโอวา ซึ่งพลิกสถานะของเขาจากม้านอกสายตาเป็นผู้สมัครตัวเก็ง เขาเป็นเจ้าของประโยคเริ่มต้นที่กระแทกยังกลางใจของคนฟังทุกคนที่ว่า “พวกเขาบอกว่าวันนี้ไม่มีทางมาถึง” (“They said this day would never come.”) ซึ่งนอกจากจะกระทบกระเทียบไปยังการที่โอบามาถูกปรามาสว่าเป็นเพียงผู้สมัครรองบ่อนที่ไม่มีทางชนะเลือกตั้ง ยังมีนัยประหวัดถึงความคิดที่ว่าคนผิวดำคงไม่มีวันชนะเลือกตั้งขั้นต้นจนก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้

ในสนามเลือกตั้งขั้นต้นสนามถัดมาที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) หักผลโพลล์กลับมาชนะได้ โอบามาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้แต่ไม่ยอมแพ้ และท้าทายความไม่เชื่อมั่นในตัวเขา ด้วยการกระตุ้นปลุกใจผู้สนับสนุนว่า “เราทำได้!” (Yes! We Can) ซึ่งประโยคนี้กลายเป็นคำขวัญหลักตลอดการหาเสียง ซึ่งสุนทรพจน์ดังกล่าวและการชูประโยค “เราทำได้!” เพื่อสร้างความมั่นใจในกลุ่มผู้สมัครจนติดปากติดหูไปทั่วประเทศก็เป็นไอเดียของเฟฟส์อีกเช่นกัน

นอกจากนั้น สุนทรพจน์ตอบรับการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในที่ประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรค และสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในวันเลือกตั้ง ก็เป็นที่ชื่นชมยกย่องอย่างยิ่ง จนเฟฟส์กลายเป็นนักเขียนสุนทรพจน์อาชีพที่ร้อนแรงและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด จนถูกขนานนามว่าเป็นนักเขียนสุนทรพจน์อันดับหนึ่งของวงการการเมืองอเมริกันในปัจจุบัน ด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี

ใช่ว่าเฟฟส์จะได้รับแต่คำสรรเสริญเยินยอ เขาเคยพลาดท่าครั้งใหญ่ด้วยความคึกคะนองของวัยหนุ่ม

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม หลังจากโอบามาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี มีคนโพสต์รูปของเฟฟส์กับเพื่อนทางเฟซบุ๊ค เป็นภาพในงานปาร์ตี้วันขอบคุณพระเจ้า

ในภาพเฟฟส์กับเพื่อนยืนถ่ายภาพคู่กับคัตเอาต์รูปนางคลินตันขนาดเท่าตัวจริง  เพื่อนของเขายืนถือขวดเบียร์กรอกหน้าคลินตันอยู่ข้างหนึ่ง ส่วนเฟฟส์ยืนอยู่อีกข้างหนึ่ง เอามือจับนมของคลินตันตัวปลอม

เมื่อภาพถูกเผยแพร่ ก็กระจายว่อนทั่วอินเทอร์เน็ตตามประสาของโลกยุคข่าวสารข้อมูล เฟฟส์ต้องรีบโทรศัพท์ไปขอโทษทั้งคลินตันและโอบามาที่ทำเรื่องน่าละอาย แม้ทั้งคู่จะให้อภัย แต่เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมที่มีพฤติกรรมดูหมิ่นทางเพศอย่างไร้รสนิยม อีกทั้งไม่ระวังเนื้อระวังตัว และไร้วุฒิภาวะ

 

ผีทำเนียบขาว

Robert Schlesinger เคยเขียนหนังสือเล่มดังเรื่อง “ผีทำเนียบขาว: เหล่าประธานาธิบดีและนักเขียนสุนทรพจน์ของเขา” (White House Ghosts: Presidents and their Speechwriters) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ว่าด้วยบทบาทของเหล่านักเขียนสุนทรพจน์และความสำคัญของผลงานของพวกเขา

นักเขียนสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “ผี” ในทำเนียบขาว เพราะเป็นผู้ทำงานปิดทองหลังพระ ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คน เหมือนไร้ตัวตน แต่ผลงานที่ทำนั้นกลับยิ่งใหญ่ เพราะมีส่วนสำคัญในการถางพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้แก่เหล่าประธานาธิบดี และมีบทบาทในการนิยามและก่อร่างยุคสมัยของประธานาธิบดีแต่ละคน

วันนี้ เฟฟส์เป็นผีตัวใหม่แห่งทำเนียบขาว ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ห้องทำงานชั้นใต้สุดของทำเนียบขาว ห่างจากห้องทำงานของประธานาธิบดีหนึ่งชั้น แทบทุกเช้า เฟฟส์จะปรากฏกายในห้องทำงานของโอบามาเพื่อรับการบ้านในการกลั่นความคิดของเจ้านายให้เป็นถ้อยคำงดงามเสมือนออกมาจากจิตวิญญาณของตัวโอบามาเอง

ทั้งที่หลังจากแคร์รีพ่ายแพ้เลือกตั้ง เฟฟส์เกือบจะออกจากวงการการเมือง เพื่อเรียนต่อด้านกฎหมาย หรือเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์เสียแล้ว จนเมื่อเขาได้เจอกับโอบามา เขาโทรศัพท์บอกเพื่อนสนิทด้วยความตื่นเต้นว่า เขาจะยังใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงการเมืองต่อไป เพราะโอบามาคือของจริง

วันนี้เขากลายเป็นมือซ้ายผู้ผลิตถ้อยความอันสดใหม่ของประธานาธิบดีไปเสียแล้ว เฟฟส์บอกว่า แม้จะได้รับตำแหน่งใหญ่ในทำเนียบขาว แต่เขาก็ยังคงทำงานด้วยความสนุกและบ้าพลังดังเดิม และภารกิจนี้จะเป็นงานการเมืองชิ้นสุดท้ายของเขา เพราะถือว่าขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว

เสียอย่างเดียวก็ตรงที่ ตั้งแต่ทำอาชีพนักเขียนสุนทรพจน์ เขาเอาแต่เขียน เขียน และเขียน จนไม่มีเวลาอ่านหนังสือมากเหมือนครั้งเรียนวิทยาลัย

 

ตีพิมพ์: openbooks REVIEW No.1 (สำนักพิมพ์ openbooks, 2552)

Print Friendly