22 ปี ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์

ปาฐกถาป๋วย

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (Puey Lecture Series) มาแล้ว 11 ครั้ง เป็นประจำทุก 2 ปี เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) เผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(2) สดุดีและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

(3) ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาและการค้นคว้าที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ

โดยปกติแล้ว ปาฐกถาป๋วยจัดขึ้นในวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ป๋วย นั่นคือ วันที่ 9 มีนาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีคณะทำงานสัมมนาของคณะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าฟัง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ 11 ครั้งที่ผ่านมา มีรายนามปาฐกและหัวข้อปาฐกถา ดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.นิคม จันทรวิทุร หัวข้อ “แรงงานกับรัฐ: สามทศวรรษแห่งการพัฒนา”

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา หัวข้อ “เกษตรกรกับรัฐ”

ครั้งที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2532 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.เสน่ห์ จามริก หัวข้อ “เศรษฐกิจการเมืองเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2533 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์

ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา หัวข้อ “วัฒนธรรมตะวันตกกับพัฒนาการสังคมไทย”

ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2536 ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ หัวข้อ “วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย”

ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2538 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หัวข้อ “รากฐานชีวิต”

ครั้งที่ 6 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2541 ณ ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.นพ.ประเวศ วะสี หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และศีลธรรม (สังคมสันติประชาธรรม)”

ครั้งที่ 7 วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544 ณ ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หัวข้อ “สร้างสรรค์สันติประชาธรรมให้เป็นจริงในสังคม”

ครั้งที่ 8 วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2546 ณ ห้องประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวข้อ “การบริหารสังคม: ศาสตร์แห่งศตวรรษเพื่อสังคมไทยและสังคมโลก”

ครั้งที่ 9 วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ หัวข้อ “ระบบอุปถัมภ์กับการพัฒนาสังคม: ด้านหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย”

ครั้งที่ 10 วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2550 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ หัวข้อ “จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม”

ครั้งที่ 11 วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552 ณ ห้องบรรยาย ศ.101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หัวข้อ “ลัทธิชาตินิยมไทยสยามกับกัมพูชา: ข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร(กลับมาเยือน)”

ในช่วงต้น กำหนดการจัดงานปาฐกถาป๋วยแต่ละครั้งมีความไม่แน่นอน เนื่องจากให้ปาฐกเป็นผู้กำหนดหัวข้อและวันของการแสดงปาฐกถา แต่ตั้งแต่การแสดงปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 4 เป็นต้นมา ปาฐกถาป๋วยจัดขึ้นในวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ป๋วยเกือบทุกครั้ง

ปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 7 เป็นปาฐกถาครั้งแรกที่จัดขึ้นหลังจากอาจารย์ป๋วยเสียชีวิต มีผู้เสนอให้จัดงานในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 2 ปี นับจากอาจารย์ป๋วยเสียชีวิต แต่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปาฐกในปีนั้นยืนยันให้จัดงานในวันคล้ายวันเกิดดังเดิม

โดยให้เหตุผลว่า “อาจารย์ป๋วยยังไม่ตาย”

 

เปิดแฟ้มหนังสือที่ระลึก

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายผู้เข้าร่วมงานปาฐกถาป๋วยทุกครั้ง เนื้อหาของหนังสือมี 2 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) ประวัติชีวิตและงานของปาฐก ซึ่งเขียนขึ้นโดยกัลยาณมิตรหรือลูกศิษย์ลูกหาผู้ใกล้ชิด และ (2) เนื้อหาของปาฐกถา ซึ่งโดยมากเป็นบทความวิชาการที่ปาฐกเขียนขึ้นเพื่องานนี้เป็นการเฉพาะ บ้างก็เป็นบทปาฐกถา

หนังสือที่ระลึกของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ครั้งแรก ซึ่งมี นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นบรรณาธิการ ได้บอกเล่าจุดกำเนิดของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไว้ในคำนำ ดังนี้

“ในปี 2525 อาจารย์กลุ่มหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์มีความเห็นร่วมกันว่าสมควรที่คณะเศรษฐศาสตร์จะได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ความเห็นดังกล่าวไม่มีการสนองตอบ จนกระทั่งในปี 2528 คณะกรรมการสัมมนาและเผยแพร่ชุดปีการศึกษา 2528-2529 จึงริเริ่มโครงการปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นอย่างจริงจัง  ในปี 2529 คณะเศรษฐศาสตร์ได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อคัดเลือกนักวิชาการที่มีผลงานดีเด่นมาเป็นองค์ปาฐก

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คณะกรรมการสัมมนาฯ ไม่อาจจัดการแสดงปาฐกถาขึ้นได้ในปี 2529 เพราะคณบดีในขณะนั้นต้องการให้สถาบันแห่งหนึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งขัดกับมติของกรรมการคัดเลือกองค์ปาฐก แต่หลังจากนายพรายพล คุ้มทรัพย์ เข้ามาดำรงตำแหน่งคณบดี การดำเนินการเพื่อให้มีงานแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะเศรษฐศาสตร์ จึงสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น”

หนังสือที่ระลึกงานปาฐกถาป๋วยเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากเป็นการตีพิมพ์เนื้อความปาฐกถาและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ของปาฐก ซึ่งมีคุณภาพสูงแล้ว เนื้อหาในส่วนประวัติชีวิตและผลงานของปาฐกยังเป็นบทบันทึกว่าด้วยชีวิตและงานที่มีความสมบูรณ์ น่าอ่าน และมีเสน่ห์ เนื่องจาก เหล่ากัลยาณมิตรและลูกศิษย์ลูกหาของปาฐกแต่ละท่านต่างลงมือเขียนอย่างตั้งใจจริง ทำการบ้านอย่างหนักในการวิเคราะห์ความคิดและผลงานของปาฐก ทั้งยังสอดแทรกเกร็ดชีวิตและเรื่องเล่าของปาฐกแต่ละท่านอย่างมีลีลา อ่านสนุก บ้างจากประสบการณ์ตรง บ้างจากการสัมภาษณ์คนใกล้ชิด ทำให้เนื้อความหลายตอนเป็นการเปิดเผยเรื่องราวของปาฐกซึ่งไม่เป็นที่รู้กันทั่วไป

สำหรับรายชื่อผู้เขียนประวัติชีวิตและผลงานของปาฐกแต่ละท่าน มีดังนี้

ครั้งที่ 1 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.นิคม จันทรวิทุร เขียนโดย นิพนธ์ พัวพงศกร

ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เขียนโดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ครั้งที่ 2 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.เสน่ห์ จามริก เขียนโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ครั้งที่ 3 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เขียนโดย ชูศรี มณีพฤกษ์

ครั้งที่ 4 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนโดย อัญชลี สุสายัณห์

ครั้งที่ 5 ประวัติชีวิตและผลงานของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เขียนโดย เสรี พงศ์พิศ

ครั้งที่ 6 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เขียนโดย ชูชัย ศุภวงศ์

ครั้งที่ 7 ประวัติชีวิตและผลงานของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนโดย สันติสุข โสภณศิริ

ครั้งที่ 8 ประวัติชีวิตและผลงานของนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เขียนโดย ศิริวรรณ เจนการ

ครั้งที่ 9 ประวัติชีวิตและผลงานของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เขียนโดย ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล

ครั้งที่ 10 ประวัติชีวิตและผลงานของ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เขียนโดย ชูศรี มณีพฤกษ์

ครั้งที่ 11 ประวัติชีวิตและผลงานของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนโดย กาญจนี ละอองศรี

 

พลวัตของปาฐกถาป๋วย

ในคำนำของหนังสือที่ระลึกสำหรับปาฐกถาป๋วยครั้งแรกระบุวัตถุประสงค์ของการจัดปาฐกถาป๋วยไว้ส่วนหนึ่งว่า

“… 2. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ

3. เพื่อสดุดีและประกาศเกียรติภูมินักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ ที่มีผลงานทางวิชาการอันดีเด่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม”  

เห็นได้ว่า เมื่อแรก ปาฐกถาป๋วยมุ่งนำเสนอผลงานและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นสำคัญ แต่ต่อมา “โลก” ของปาฐกถาป๋วยก็มีขอบเขตกว้างขวางขึ้นจาก “เศรษฐศาสตร์” เป็น “สังคมศาสตร์” ดังเจตนารมณ์ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือที่ระลึกของงานปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 2 ความตอนหนึ่งว่า

“… (เพื่อ)เป็นการคัดเลือกนักวิชาการสังคมศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นในการพยายามทำความเข้าใจและแก้ปัญหาสังคมไทยให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาพิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์หวังว่าวิธีการดังกล่าวจักเป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจทางสังคมแก่นักวิชาการรุ่นหลังเพื่อให้เจริญรอยตามอาจารย์ป๋วย และพยายามศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย”

และ

“ … คณะเศรษฐศาสตร์หวังว่าในอนาคต การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมของคณะเศรษฐศาสตร์เพียงผู้เดียว แต่ปรารถนาจะให้เป็นกิจกรรมร่วมของนักวิชาการสังคมศาสตร์ทุกสาขา”

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในคำนิยมของหนังสือ 20 ปี ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์” (2550) ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ดังนี้

“อาจารย์ ดร.ป๋วย เป็นครูสอนหนังสือ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นวีรชน เป็นนักพัฒนา เป็นข้าราชการ และที่สำคัญคือเป็นนักมนุษยธรรม ดังนั้น ความสนใจและผลงานของท่านจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่วิชา ‘เศรษฐศาสตร์’ หรือพรมแดนทางภูมิศาสตร์เพียงแค่แผนที่ ‘ประเทศไทย/ขวานทอง’

วิชาการของท่านไม่เพียงขยายครอบคลุม ‘สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์’ แต่ยังก้าวข้ามไปสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก้าวข้ามไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะให้วิชาการสร้าง ‘สันติประชาธรรม’ ขึ้นมาให้จงได้ …

… เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นหัวหอกผลักดัน ‘การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ทุกๆ 2 ปี มาเป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 และแม้ว่าในครั้งแรกนั้นจะ ‘เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ’ แต่ผู้รับผิดชอบของคณะก็ตระหนักในเวลาอันรวดเร็วว่านั่น ‘หาใช่อาจารย์ป๋วย’ ไม่ และได้ขยายขอบเขตให้กว้างขวาง ‘เพื่อสดุดีและประกาศเกียรติคุณนักวิชาการที่มีผลงานทางวิชาการอันดีเด่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม’ ดังจะเห็นได้จาก ‘ปาฐกถาพิเศษ’ ทั้ง 10 ครั้ง (พ.ศ.2530-2550) ที่นำมารวมไว้ในหนังสือเล่มนี้

อาจารย์ป๋วยเป็นสามัญชนที่ไม่ธรรมดา งานชุด ‘ปาฐกถาพิเศษ’ นี้ก็มิใช่งานวิชาการธรรมดา ซึ่งมีและทำกันอยู่ดาษดื่น การจัดงานครบรอบหรือเฉลิมฉลองที่บ้านเมืองของเราทำกันเกลื่อนกลาดแทบจะทุกปีนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่มีแต่เรื่องราวของการสรรเสริญเยินยอ ใช้จ่ายงบประมาณ(ของชาติและราษฎร)มากมายมหาศาล เมื่อจบไปแล้วก็แทบจะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เป็นแก่นเป็นสาร แต่น่าเชื่อว่าผลงานรวมเล่มนี้ จะช่วยให้เห็นความรอบรู้ ความสนใจ และความกว้างขวางทางวิชาการ ทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็น ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของอาจารย์ป๋วย …”

หากไล่เรียงรายชื่อปาฐกทั้ง 12 ท่าน ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักเศรษฐศาสตร์อาชีพเพียง 3 ท่านเท่านั้น ได้แก่ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ส่วนท่านอื่นๆ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่อุทิศตนให้กับการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบ นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักพัฒนา นายแพทย์ผู้อุทิศตนให้กับการเสริมสร้าง “สุขภาวะ” แก่สังคม นักมานุษยวิทยา ปัญญาชนสยาม กระทั่งเกษตรกร

 

ที่มาของปาฐก

การคัดเลือกปาฐกสำหรับการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์แต่ละครั้งเป็นไปอย่างจริงจังและมีมาตรฐาน คณะกรรมการคัดเลือกปาฐกประกอบด้วยกรรมการจากภายในและภายนอกคณะ ซึ่งมีที่มาจากการเสนอชื่อและการเลือกตั้งโดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ โดยมีคณบดีและผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

คณะกรรมการคัดเลือกปาฐกชุดแรก (พ.ศ.2529) ประกอบด้วย คณะกรรมการ 8 ท่าน มีคณบดีเป็นประธาน ผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเป็นเลขานุการ กรรมการที่เหลือมาจากการเสนอชื่อและการเลือกตั้งโดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ทั้งคณะ กรรมการจำนวน 4 ท่าน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ส่วนอีก 2 ท่าน เป็นอาจารย์ของคณะ

คณะกรรมการฯ ชุดแรกได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกปาฐก ดังนี้ (1) เป็นนักวิชาการที่มีผลงานทางเศรษฐศาสตร์และสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ความสนใจ และ (2) เป็นผู้มีคุณธรรมและจิตสำนึกในการแก้ปัญหาของสังคมไทย

นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังได้ให้คณะเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อนักวิชาการที่มีผลงานดีเด่นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย

สำหรับการคัดเลือกปาฐกสำหรับปาฐกถาป๋วยครั้งที่ 2 ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกปาฐก โดยใช้หลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) เป็นนักเศรษฐศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ การพัฒนาชนบท การศึกษา พุทธศาสนา และสาขาส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย  (2) มีผลงานโดดเด่น เป็นงานที่พยายามทำความเข้าใจและอธิบายปัญหาสังคมไทย และ (3) ต้องมีเกียรติประวัติอันแสดงถึงคุณธรรมและจิตสำนึกในการแก้ปัญหาสังคมไทย

เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ขยายขอบเขตจาก “นักเศรษฐศาสตร์” เป็น “นักสังคมศาสตร์” จึงได้เพิ่มเติมให้คณะต่างๆ ทางด้านสังคมศาสตร์ของสถาบันการศึกษาต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อปาฐก นอกเหนือจากคณะเศรษฐศาสตร์ดังชุดแรก รวมทั้งสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

นอกจากนั้น ในส่วนของกรรมการภายนอก ยังได้เลือกสรรอดีตปาฐกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกปาฐกอีกด้วย

คณะผู้จัดงานได้เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกของปาฐกถาป๋วย ครั้งที่ 2 ด้วยว่า “ค่าใช้จ่ายในการจัดงานปาฐกถาพิเศษได้มาจากงบพิเศษของคณะเ ศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์จะหลีกเลี่ยงการหาเงินอุดหนุนจากวงการธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเจริญรอยตามการกระทำของอาจารย์ป๋วย  สมัยที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมภายในคณะ โดยเฉพาะการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ อาจารย์ป๋วยจะไม่ยอมให้มีการขอเงินอุดหนุนจากบริษัท ห้างร้าน แต่อาจารย์ป๋วยจะเจียดเงินส่วนตัวสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว การใช้จ่ายต่างๆ จึงเป็นไปอย่างประหยัดแต่ได้ผลสมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย”

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกปาฐกยังคงยึดถือปฏิบัติกระทั่งปัจจุบัน แต่การเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาต่างๆ และสมาคมต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อปาฐก ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ครั้งที่ 5 เป็นต้นมา

ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกปาฐก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลักการใหญ่ยังคงอยู่ นั่นคือ คณะกรรมการฯ มีที่มาจากการเสนอชื่อและการเลือกตั้งของคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวน 2-3 ท่านร่วมเป็นกรรมการพร้อมกับอาจารย์ของคณะ 2-3 ท่าน  ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกส่วนหนึ่งเป็นอดีตปาฐก บางปีมีตัวแทนสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือก โดยมีคณบดีเป็นประธาน และผู้อำนวยการคณะทำงานสัมมนาเป็นเลขานุการ

นับตั้งแต่ปาฐกถาครั้งที่ 10 คณะเศรษฐศาสตร์จะเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกปาฐกสำหรับปาฐกถาครั้งถัดไปภายหลังจากเสร็จสิ้นปาฐกถาครั้งล่าสุดเสร็จสิ้นลง เพื่อให้ปาฐกได้มีโอกาสเตรียมการในการแสดงปาฐกถาล่วงหน้าเป็นเวลาเกือบสองปีเต็ม เพื่อให้การแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์  มีคุณค่าและมีคุณภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ดังที่ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวนำการปาฐกถาของท่านว่า

“(การได้รับเลือกเป็นปาฐก) นับเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่เหนือกว่าเกียรติยศใดๆ ที่เคยได้รับตลอดช่วงแห่งชีวิต”

บรรณานุกรม

  1. หนังสือที่ระลึกเนื่องในการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 1-11
  2. หนังสือ 20 ปี ปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2550). คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ openbooks. ปกป้อง จันวิทย์ (บรรณาธิการ).

 

ภาคผนวก

รายชื่อคณะกรรมการคัดเลือกปาฐกของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 1-11

…………………………………………………………………….

ครั้งที่ 1: ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข (ประธาน) อรัญ ธรรมโน บุญมา วงศ์สวรรค์  ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประเวศ วะสี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ โฆษะ อารียา (กรรมการ) และนิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 2: สุพจน์ จุนอนันตธรรม (ประธาน) นิคม จันทรวิทุร อัมมาร สยามวาลา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อรัญ ธรรมโน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน (กรรมการ) นิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการและเลขานุการ) และฐานิสร์ จาตุรงคกุล (ผู้ช่วยเลขานุการ)

ครั้งที่ 3: สุพจน์ จุนอนันตธรรม (ประธาน) เสนาะ อูนากูล อัมมาร สยามวาลา ชัยอนันต์ สมุทวณิช รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการ) สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย (กรรมการและเลขานุการ) และสกนธ์ วรัญญูวัฒนา (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)

ครั้งที่ 4: วรากรณ์ สามโกเศศ (ประธาน) เสนาะ อูนากูล อัมมาร สยามวาลา สุพจน์ จุนอนันตธรรม รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นิพนธ์ พัวพงศกร (กรรมการ) สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย (กรรมการและเลขานุการ) และสกนธ์ วรัญญูวัฒนา (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)

ครั้งที่ 5: นริศ ชัยสูตร (ประธาน) ชัยอนันต์ สมุทวณิช นิธิ เอียวศรีวงศ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (กรรมการ) และวันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 6: สิริลักษณา คอมันตร์ (ประธาน) นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ประยงค์ เนตยารักษ์ ชูศรี มณีพฤกษ์ (กรรมการ) และสมชาย สุขสิริเสรีกุล (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 7: สุกัญญา นิธังกร (ประธาน) ประเวศ วะสี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ประยงค์ เนตยารักษ์ (กรรมการ) และสมบูรณ์ ศิริประชัย (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 8: สุกัญญา นิธังกร (ประธาน) นายอัมมาร สยามวาลา ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ โฆษะ อารียา รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ (กรรมการ) และปราณี ทินกร (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 9: ปราณี ทินกร (ประธาน) ประเวศ วะสี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อัมมาร สยามวาลา ชูศรี มณีพฤกษ์ พรายพล คุ้มทรัพย์ (กรรมการ) และสมบูรณ์ ศิริประชัย (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 10: นิพนธ์ พัวพงศกร (ประธาน) อัมมาร สยามวาลา ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมบูรณ์ ศิริประชัย ชนินทร์ มีโภคี ปัทมาวดี ซูซูกิ (กรรมการ) และอภิชาต สถิตนิรามัย (กรรมการและเลขานุการ)

ครั้งที่ 11: นิพนธ์ พัวพงศกร (ประธาน) นริศ ชัยสูตร ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วัชรียา โตสงวน กิริยา กุลกลการ และปกป้อง จันวิทย์ (กรรมการและเลขานุการ)

 

ล้อมกรอบ

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักพิมพ์ openbooks จัดทำหนังสือ “20 ปี ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์” เพื่อรวบรวมเนื้อหาทั้งหมดของการแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 1-10 (พ.ศ.2530-2550) และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์หลากหลายสาขาสู่สาธารณะ

ผู้สนใจติดต่อได้ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัทเคล็ดไทย จำกัด

รายละเอียดของหนังสือ

ชื่อ: 20 ปี ปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์

ผู้เขียน: นิคม จันทรวิทุร อัมมาร สยามวาลา เสน่ห์ จามริก ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิบูลย์ เข็มเฉลิม ประเวศ วะสี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อคิน รพีพัฒน์ และรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

คำนิยม: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

บรรณาธิการ: ปกป้อง จันวิทย์

ปีที่พิมพ์: กันยายน 2550

รูปเล่ม: ปกแข็ง เย็บกี่ ขนาด 16 หน้ายก จำนวน 624 หน้า

สำนักพิมพ์: openbooks

ราคา: 450 บาท

 

ตีพิมพ์: จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ (ฉบับธรรมศาสตร์ 75 ปี) ฉบับที่ 13 มิถุนายน 2552 – พฤษภาคม 2553

Print Friendly