ผมมีโอกาสสัมภาษณ์คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แบบเจาะลึกสองครั้ง ทั้งคู่เป็นการจับเข่าคุยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เส้นทางการพัฒนาในอดีต สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และความท้าทายในอนาคต
ครั้งแรก เป็นการสัมภาษณ์เรื่อง “เศรษฐกิจไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ร่วมกับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ตีพิมพ์ในหนังสือ Macrotrends ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย จัดพิมพ์โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ openbooks เมื่อปี 2552 (หน้า 158-189)
ครั้งที่สอง เป็นการสัมภาษณ์เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ 30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในปี 2557 (หน้า 110-129)
ทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกับคุณโฆสิต ไม่ว่าครั้งสัมภาษณ์ยาว ในเวทีสัมมนา หรือในห้องประชุม ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าคุณโฆสิตเป็นนายแบงก์หรือนักธุรกิจเอกชน แต่สัมผัสได้ถึงความเป็น “เทคโนแครต” ตัวจริงเสียงจริง ผู้สนใจเรื่องการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และการรับมือกับโจทย์ระยะยาวของประเทศ
คุณโฆสิตเคยบอกผมว่า ไม่ว่าจะสวมหมวกอะไร ท่านก็คงเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึก หากให้ไปทำธุรกิจเอง ก็คงเจ๊ง เพราะท่านสนุกกับการคิดมากกว่าการทำ แต่ตัวท่านก็ไม่ใช่เทคโนแครตแบบเด็กๆ อีกแล้ว ไม่ได้ไปอ่านไปหาเครื่องมือจากตำรามาใช้ทำมาหากิน ท่านศึกษาเรียนรู้จากความจริงในโลกจริง แล้วใช้สามัญสำนึก ใช้วิธีคิดเรื่องการพัฒนาเป็นกรอบในการเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหา สำหรับคุณโฆสิต การพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และท่านพูดเสมอว่า งานพัฒนาคืองานชั่วชีวิตของท่าน
ผมเคยถามคุณโฆสิตว่า สวมหมวกทำงานมาหลายหมวก เคยดำรงตำแหน่งทั้งในระบบราชการ บริษัทเอกชน และคณะรัฐมนตรี งานอะไรที่มีความสุขที่สุด ท่านตอบแบบไม่ลังเลว่าสมัยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการพัฒนาชนบทแห่งชาติ ครั้งเป็นข้าราชการสังกัดสภาพัฒน์ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ช่วงนั้นคุณโฆสิตเป็นกำลังหลักของภาครัฐในด้านการพัฒนาชนบทและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ท่านสนุกกับการลงพื้นที่ เรียนรู้ปัญหาจริง และทำงานกับชาวบ้าน
เท่าที่ผมได้รู้จัก คุณโฆสิตเป็นคนง่ายๆ สบายๆ มองโลกในแง่ดี ไม่มีพิธีรีตอง และเมตตาให้เกียรติคนรุ่นหลังเสมอ แม้ท่านจะจริงจังเรื่องงาน แต่ก็สัมผัสได้ถึงการปล่อยวางตามธรรมชาติ ดังที่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องหลักคิดในการทำงานไว้ว่า คนเราทำทุกอย่างไม่ได้ และไม่สามารถทำทุกอย่างได้ดีหมด งานบางอย่าง ถ้าเราเริ่มแล้วอาจทำไม่สำเร็จ แม้ทำเต็มที่แล้วก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือดับความโลภตรงนี้ แล้วหาทางส่งต่อความคิดนี้ให้คนอื่นสืบสานต่อไป โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้คนอื่นหันมาสนใจในงานที่เราให้คุณค่า
เช่นนี้แล้ว ทุกครั้งที่ได้สนทนากัน คำพูดของคุณโฆสิตที่ผมได้ยินบ่อยจนติดหูจึงเป็นคำว่า “การพัฒนา” “ระยะยาว” “มองไกล” สมกับความเป็นนักพัฒนาชั่วชีวิต และความเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึกของท่าน
ขอไว้อาลัยคุณโฆสิตด้วยความเคารพครับ