อ่าน ความเป็นไทย 12 ประการ

ในปีการศึกษา 2558 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการยกเครื่องหลักสูตรวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษาปีหนึ่งของทุกคณะกันใหม่ อ.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ชวน อ.กิตติ ประเสริฐสุข อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อ.ธร ปีติดล และผม ไปช่วยกันออกแบบวิชาสังคมศาสตร์ใหม่

แล้ววิชา TU101 “โลก อาเซียน และไทย” (Thailand, ASEAN, and the World) ก็เกิดขึ้น

ความตั้งใจหลักของพวกเราคือ อยากสร้างวิชาที่ชวนให้นักศึกษาเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมไทยในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ผ่าน ‘แว่นตา’ ของนักสังคมศาสตร์ และมองเห็นว่าสังคมศาสตร์สาขาต่างๆ เชื่อมโยงระหว่างกันอย่างไร เรายังหวังให้วิชานี้มีส่วนในการฝึกฝนหรือเป็นตัวอย่างในการใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์มาทำความเข้าใจความซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมเบื้องหน้า ปัญหาในโลกจริง และโครงสร้างที่กำกับอยู่เบื้องหลัง รวมถึงท้าทายให้นักศึกษาร่วมคิดหาทางออกจากปัญหาเหล่านั้น

ส่วนความท้าทายของพวกเราคือ จะทำให้นักศึกษาที่เพิ่งก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยรู้สึก ‘สนุก’ และ ‘ตื่นเต้น’ กับการเรียนรู้ได้อย่างไร เราอยากจะให้วิชานี้สร้างความประทับใจแรกบนเส้นทางแห่งปัญญาของพวกเขา ผมเชื่อว่าการเขย่าโลกความคิดของนักศึกษาให้สั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ปีแรกๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง

วันแรก เราชวนนักศึกษาคุยตั้งแต่คำถามจากความรุนแรงที่ราชประสงค์, ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, ประวัติศาสตร์บาดแผลของคนผิวดำในอเมริกา, กลับมาที่เพลง ‘หนักแผ่นดิน’ และ 6 ตุลาคม 2519, ข้ามไปคุยเรื่องตึกรานาพลาซา ศูนย์รวมโรงงานนรกรับจ้างผลิตเสื้อผ้าขนาดใหญ่ที่บังคลาเทศถล่มเมื่อสองปีก่อน, สำรวจเรื่องเล่าเบื้องหลังของสิ่งของรอบตัว, ปรัชญาว่าด้วย ‘ความจริง’, การเมืองว่าด้วยแผนที่โลก, คำพิพากษาของศาลไทยที่ค้ำยันสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหารมาโดยตลอด, ตั้งคำถามเรื่อง ‘ความเป็นไทย’ และเปิดหนังสือเล่มงาม แผนที่ประวัติศาสตร์และแผนที่วัฒนธรรม ของ (สยาม)ประเทศไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ มาไล่แผนที่สยามประเทศไทยกันตั้งแต่ 5,000 ปีก่อน จนถึงหลังปี พ.ศ. 2400 ให้เห็นกันไปเลยว่า ‘ประเทศไทย’ แบบที่ฝังอยู่ในหัวคนไทยหลายคน มันลวงตาและเลื่อนไหลขนาดไหน

หัวใจสำคัญของวิชา TU101 คือการชวนนักศึกษามาเรียนรู้เรื่องโลก อาเซียน และไทย ผ่านคำเจ้าปัญหาที่สำคัญอย่าง ประชาธิปไตย ทุนนิยม โลกาภิวัตน์ ตลาด ศีลธรรม การพัฒนา นิติรัฐ ความยุติธรรม ความมั่นคง ชาติ และความเป็นไทย นั่นเอง

ช่วงที่เราตั้งคำถามว่า “ความเป็นไทยคืออะไร?” ผมชวนให้นักศึกษาอ่าน ประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ (พ.ศ. 2482-2485) ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของคนไทยในการ ‘สร้างชาติ’ ให้มีอารยธรรมเสมอประเทศเจริญแล้ว ดังนี้

ฉบับที่ 1 ว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’, ฉบับที่ 2 เป็นเรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ โดยกำหนดให้ “ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ” หรือ “ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ” เป็นต้น, ฉบับที่ 3 เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย โดยให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทุกเชื้อชาติ, ฉบับที่ 4 เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี, ฉบับที่ 5 เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย, ฉบับที่ 6 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

ส่วน ฉบับที่ 7 เป็นเรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ ซึ่งมีเนื้อความสำคัญว่า “ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติโดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงานประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐานนับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติและไม่ควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป”, ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการปรับแก้เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี, ฉบับที่ 9 เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี เช่น “ชนชาติไทย จะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย” และ “ชนชาติไทย จะต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีแห่งชาติ ช่วยแนะนำชักชวนกันสั่งสอนผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ให้ได้รู้ได้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดีแห่งชาติไทย”, ฉบับที่ 10 เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย เพื่อให้สุภาพเรียบร้อยสมกับวัฒนธรรมของชาติไทย เช่น ไม่นุ่งแต่กางเกงชั้นใน ไม่สวมเสื้อหรือนุ่งผ้าลอยชาย ใส่เครื่องแบบเมื่อมีสิทธิและโอกาส เป็นต้น

ต่อมา ฉบับที่ 11 เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงเป็นกำลังของชาติสืบไป ชนชาติไทยควรบริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน 4 มื้อ นอนประมาณระหว่าง 6 ถึง 8 ชั่วโมง หยุดเพื่อรับประทานอาหารและพักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกีฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร เป็นต้น และฉบับที่ 12 เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพ

เมื่อมองเห็นหน้าตาและนิสัยของคนไทยในอุดมคติตามรัฐนิยมแล้ว ทั้งผมและนักศึกษาต่างพบว่าตนยัง ‘พร่องความเป็นไทย’ และ ‘สิ้นไร้อารยธรรม’ อยู่มาก บ้างกินข้าวเกินสี่มื้อ พักกลางวันเกินหนึ่งชั่วโมง บ้างก็ไม่ออกกำลังกลางแจ้ง 1 ชั่วโมง ไม่เลี้ยงสัตว์ ไม่ทำสวนครัว หรือบางคนกินข้าวก่อนอาบน้ำ

75 ปีผ่านไป รัฐนิยมหลายข้อยังคงทำงานได้ดีอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? หนังสือ 10 ปัญญาชนสยาม (2557) ของ สายชล สัตยานุรักษ์ เสนอคำตอบชวนอ่านโดยชี้ให้เห็นถึงความสามารถของปัญญาชนกระแสหลักในการสร้างคำอธิบายใหม่เพื่อให้ความคิดกระแสหลักว่าด้วย ‘ชาติไทย’ และ ‘ความเป็นไทย’ ยังคงถูกต้อง เหมาะสม และ ‘ขายได้’ กับสังคมไทยร่วมสมัย ผู้อ่านจะได้เพลิดเพลินไปกับการชมสงครามการเมืองว่าด้วยการสืบทอด ปรับเปลี่ยน ตอบโต้ ช่วงชิง และครอบงำ ‘ความหมาย’ ของ ‘ชาติไทย’ และ ‘ความเป็นไทย’ ของเหล่าปัญญาชนสยามตั้งแต่สมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านหลวงวิจิตรวาทการ (ผู้ทรงอิทธิพลเบื้องหลังรัฐนิยมข้างต้น) เรื่อยมาจนถึงอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และมองเห็นสารพัดตัวอย่างในประวัติศาสตร์ไทยว่า ‘ความเป็นไทย’ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของแต่ละกลุ่มอย่างไร

จากยุคจอมพล ป. มาสู่ยุคของนายพล ป. จาก ‘รัฐนิยม’ 12 ฉบับ มาสู่ ‘ค่านิยม’ 12 ประการ ดูคล้ายว่าความรับรู้เรื่อง ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลักยังคงแน่นิ่งอย่างเหลือเชื่อ แม้ว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมหาศาล ผลที่ตามมาคือเสียงเรียกร้องคุณค่าใหม่และความหมายใหม่ของ ‘ความเป็นไทย’ ที่แตกต่างจาก ‘ความเป็นไทย’ กระแสหลักดั้งเดิม จะดังกังวานขึ้นเรื่อยๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและกั้นขวางได้

ก่อนจบชั้นเรียนในวันนั้น ผมแกล้งโยน “ค่านิยม 12 ประการ เวอร์ชั่นคนธรรมศาสตร์” ไปแข่งกับ ค่านิยม 12 ประการของนายพล ป. บ้าง และฝากนักศึกษาไปคิดและวิพากษ์ต่อว่า ถ้าเรานิยาม ‘ความเป็นไทย’ แบบนี้บ้างจะเป็นอย่างไร

ค่านิยม 12 ประการ เวอร์ชั่นคนธรรมศาสตร์ ได้แก่ (1) ยึดมั่นประชาธิปไตย (2) เห็นคนเท่ากัน เห็นหัวเพื่อนร่วมสังคม (3) มีความกล้าหาญทางจริยธรรม (4) ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งของตัวเองและคนอื่น รวมถึงคนที่เราไม่เห็นด้วย (5) ไม่คลั่งชาติ มองเห็นโลกกว้าง (6) ร่วมสร้างความยุติธรรมในสังคม (7) เชื่อมั่นในหลักสันติประชาธรรม – ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือธรรม และธรรมมาจากประชาชนทั้งหมู่ (8) เดินบนวิถีเสรีชน เป็นตัวของตัวเอง คิดเองเป็น (9) ไม่เชื่อง ชอบตั้งคำถาม หมั่นวิพากษ์และตรวจสอบ โดยเฉพาะต่อผู้มีอำนาจ (10) เคารพความหลากหลาย มีขันติต่อความแตกต่าง (11) ยึดหลักเหตุผล ซื่อตรงต่อหลักวิชา และ (12) มีจิตสาธารณะ คิดพ้นไปจากตัวเอง

ก่อนจากกัน ผมบอกว่า ไม่ต้องแต่งกลอน แต่งเพลงอะไร ไม่ต้องเชื่อตามนี้ก็ยังได้ ไม่ต้องครบ 12 ข้อก็ได้ หรือใครจะเพิ่มเป็น 50 ข้อ 100 ข้อก็ได้ ทุกคนคิดเองเป็นและเลือกวิถีของตัวเองได้ ขอให้แต่ละคนได้มีพื้นที่ได้นิยามค่านิยมที่ตัวเองอยากยึดถือ เถียงกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ ต่อสู้ทางปัญญาความคิดกันได้

ตั้งต้นกันตรงนั้น แล้วว่ากัน.

Print Friendly