ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับชวนให้ร่วมพูดในงานป๋วย ทอล์ค ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อใหญ่เรื่อง “โจทย์ใหม่? ทัศนะว่าด้วยการศึกษา” หลังจากย้อนอ่านงานเขียนว่าด้วยการศึกษาของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์หลายชิ้น สุดท้ายผมเลือกหัวข้อ “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย” ไปพูดในวันนั้น
แรงดลใจของผมคือบทปาฐกถาชื่อเดียวกันที่อาจารย์ป๋วยแสดงไว้ ณ พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2511 ผสมกับบทความเรื่อง “การบริหารมหาวิทยาลัย” (2513) และ “มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย” (2516) แม้งานทั้งสามชิ้นจะมีอายุร่วมกึ่งศตวรรษแล้ว แต่หากกลับมาอ่านใหม่กันใน พ.ศ. นี้ จะยิ่งรู้สึกทันสมัย สวมเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยไทยได้พอดิบพอดี แต่เป็นในทางตรงกันข้ามกับอุดมคติของอาจารย์ป๋วยไปเสียเกือบทั้งหมด ชวนให้อัศจรรย์ใจและขมขื่นใจไปพร้อมกัน
ขอยกตัวอย่างเนื้อความบางตอนให้อ่านกันดังๆ
ครูบาอาจารย์:
“… ดูๆ ก็น่าประหลาดอัศจรรย์ที่พวกเราครูบาอาจารย์ พยายามอบรมสั่งสอนศิษย์ให้นิยมเสรีประชาธิปไตย และให้รังเกียจลัทธิเผด็จการของคอมมิวนิสต์ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่พอศิษย์เราจะปฏิบัติตามหลักเสรีประชาธิปไตย เราก็ห้ามไว้ ช้าก่อน ครูบาอาจารย์สั่งสอนศิษย์ให้รู้จักคิดอ่านใช้เหตุผลด้วยตนเอง ครั้นศิษย์ใช้ความคิดเป็นอิสระขึ้น เรากลับไปเกรงว่าศิษย์จะคิดล้างเรา ครูบาอาจารย์สั่งสอนให้ศิษย์วิจัย พิจารณาภาวะสังคม เพื่อใช้วิชาและสติปัญญาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ครั้นศิษย์เล็งเห็นชัดว่าสังคมมีความบกพร่อง และประสงค์จะประท้วงความบกพร่องของผู้ใหญ่ในสังคม เรากลับเกิดความเกรงกลัว เรียกตำรวจปราบจลาจลมาควบคุมเหตุการณ์ มีอาวุธเครื่องมือพร้อมสรรพ เพื่อระงับการประท้วง ดูประหนึ่งว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะสร้างศิลปวัตถุอันวิจิตรตระการตา แต่พอก่อๆ ขึ้นจะเป็นรูปเป็นร่าง เรากลับทำลายให้พังพินาศไป …”
เสรีภาพทางวิชาการ:
“… บรรยากาศวิชาการภายในมหาวิทยาลัยนั้นขึ้นอยู่กับเสรีภาพ วิชาในโลกนี้ไม่มีขอบเขตจำกัด ทฤษฎีที่เราเห็นเมื่อวานนี้ว่าผิด พรุ่งนี้อาจจะกลายเป็นทฤษฎีที่ใครๆ ยึดถือทั่วไปก็เป็นได้ อาจารย์และศิษย์แต่ละคนควรจะได้โอกาสคิด พูด เขียน และอ่าน เรื่องต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นเรื่องแผลงๆ ที่ใครๆ ดูหมิ่นและไม่ต้องคำนึงว่าจะทำให้ใครขัดใจหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นภายในมหาวิทยาลัยหรือภายนอกในชุมชน ยกเว้นแต่เมื่อเห็นประจักษ์ว่าการกระทำนั้นๆ เป็นการประทุษร้ายผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม (ผมใช้คำว่า “เห็นประจักษ์” เพราะไม่ได้หมายความว่าพอมีใครคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน จะเป็นอธิการบดีก็ดี คณบดีก็ดี อาจารย์ด้วยกันก็ดี หรือบุคคลในรัฐบาลก็ดี อ้างว่าเกิดการประทุษร้ายแล้ว ก็เป็นอันต้องห้าม) … เสรีภาพทางวิชาการเป็นหลักการสำคัญของมหาวิทยาลัย …”
การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติ:
“…หากเผอิญมีข้อขัดแย้งกันภายในมหาวิทยาลัยก็ดี หรือมีเรื่องที่นักศึกษาพร้อมใจกันประท้วงในกิจการนอกมหาวิทยาลัยก็ดี คณาจารย์และฝ่ายบริหารบ้านเมืองมีหน้าที่ที่จะดูแลสอดส่องให้การประท้วงนั้นเป็นไปโดยมีระเบียบ ไม่เกิดเหตุร้ายรุนแรง แทนที่จะใช้วิธีห้ามเสียตะพึดตะพือไป
นักศึกษามีเครื่องมือที่เหนือกว่าอาจารย์อยู่สองอย่างคือ (ก) พลังทางกายของคนรุ่นหนุ่มฉกรรจ์ และ (ข) จำนวนอันมากของนักศึกษา การปลูกฝังระบบประชาธิปไตยให้จับใจนักศึกษา จะช่วยให้นักศึกษามีโอกาสประชุมพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ประท้วง และได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นตลอดจนการลงมติว่าจะประท้วงหรือไม่ และถ้าจะประท้วงควรประท้วงด้วยวิธีการใด อาจารย์อาจจะช่วยแนะให้ประท้วง (ถ้าจำเป็นจะประท้วง) ด้วยสันติวิธีแทนใช้วิธีรุนแรง ด้วยวิธีอันหนักแน่นแต่ไม่ใช่วิธีขู่กรรโชก และในการนี้อาจารย์จำเป็นจะต้องมีจิตใจมั่นคงและสงบ ปราศจากอคติทั้งในด้านโทสะและในด้านความขลาดกลัว สามารถชักนำศิษย์ให้กระทำการใดๆ ด้วยวิธีอันเหมาะและวิธีที่ถูกต้อง …”
ผู้มีอำนาจในรัฐบาล:
“… วิชาการจะเจริญได้ เป็นประโยชน์แก่ประเทศและรัฐบาลเอง ก็โดยมีเสรีภาพพอสมควร รัฐบาลย่อมพึงเคารพในความรอบรู้และความรู้จักรับผิดชอบของคณาจารย์ซึ่งเป็นปัญญาชน ว่าสามารถปกครองตนเองได้ตามหลักประชาธิปไตย (ถ้าแม้จะถือว่ามหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ที่มีความรู้ระดับสูงไม่สามารถปกครองตนเองได้แล้ว รัฐบาลก็ควรจะเลิกล้มความคิดและนโยบายที่จะร่างรัฐธรรมนูญ และเทิดทูนหลักประชาธิปไตยสำหรับประชาชนทั่วประเทศได้) ฉะนั้น รัฐบาลจึงสมควรสนับสนุนหลักประชาธิปไตยในการบริหารมหาวิทยาลัยและควรสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีอิสระเสรีภาพในการบริหารงานมหาวิทยาลัย ภายในขอบเขตอันกว้างขวางพอสมควร …”
ความชอบธรรมกับประชาธิปไตย:
“… สังคมใดสังคมหนึ่งจะมีความเจริญก้าวหน้าได้ ก็โดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงให้สมกับกาละและเทศะ และความเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะพอเหมาะพอดี ไม่รวดเร็วจนน่าเวียนศีรษะ ก่อให้เกิดความหย่อนเสถียรภาพขึ้น หรือไม่แน่นิ่งอยู่จนเป็นวิสัญญีภาพ อันจะเป็นช่องทางให้เกิดเชื้อระเบิดขึ้นได้ หรือมิฉะนั้นก็ตกอยู่ในสภาพเน่าเปื่อยอยู่ตลอดไป
ตามความเห็นของผม ระบบที่จะอำนวยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างพอเหมาะพอดีในสังคมนั้น ได้แก่ระบบประชาธิปไตย … ขอให้สมาชิกในสังคมนั้นมีเสรีภาพในการคิด ในการแสดงความคิด ในการรวบรวมกันเป็นกลุ่มเป็นสมาคม และให้ได้ใช้เสรีภาพนั้นโดยวิธีสันติและชอบธรรม …
… ขออวยพรให้ท่านทั้งหลายยึดมั่นอยู่ในหลักประชาธิปไตย เพื่อนำมหาวิทยาลัยของท่านไปสู่ทางเจริญอยู่เสมอ …”
อ่านความคิดของอาจารย์ป๋วยแล้ว จะเห็นว่า มหาวิทยาลัยในอุดมคติของท่าน คือมหาวิทยาลัยที่มีความชอบธรรม อันเป็นเรื่องเดียวกับ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และ(สันติ)ประชาธรรม ซึ่งท่านนิยามว่า “ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม และธรรมเกิดจากประชาชน … อำนาจสูงสุดมาจากธรรมของประชาชน … ทั้งหมู่” (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ, 2515) มิใช่จากเผด็จการผู้ทรงธรรมแต่อย่างใด
มองสังคมไทยและมหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้แล้ว ชวนให้คิดถึงอาจารย์ป๋วยเหลือเกินครับ แต่อาจารย์ป๋วยท่านจากโลกนี้ไปนานแล้ว พวกเราต่างหากที่ยังมีชีวิตอยู่ เราอาจแสวงหาแรงบันดาลใจจากท่านได้ แต่ท้ายที่สุด พวกเราต้องเป็นคนลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยแรงของเราเอง
ดังนั้น พันธกิจสำคัญประการหนึ่งในวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงควรเป็นการดึงมหาวิทยาลัยออกจากมือของผู้มีอำนาจ จากระบอบเผด็จการทหารในระดับชาติ จากระบอบเผด็จการคณาธิปไตยในระดับมหาวิทยาลัย ให้กลับคืนสู่มือของนิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์ และสังคมไทยอีกคำรบหนึ่ง
จะฟื้นคืน “ความชอบธรรมในมหาวิทยาลัย” ได้ ต้องใช้ประชาธิปไตย เสรีภาพ และประชาธรรมเท่านั้น ไม่มีทางอื่น
ตีพิมพ์: นิตยสาร way ฉบับเดือนมิถุนายน 2558