เหตุการณ์น้ำท่วมบ้านคุณอาที่อยุธยา ทั้งที่อยู่ในบริเวณรอดพ้นน้ำท่วมมาตลอด เป็นสัญญาณเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับครอบครัวของผม
ไม่นาน คุณลุงก็ตามช่างคู่ใจมาก่ออิฐกั้นรอบประตูเข้าบ้านทุกบาน บ้านผมก็เอากับเขาด้วย ผมอาศัยอยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต 17 บริเวณตลาด กม.11 ละแวกสวนรถไฟ-สวนจตุจักร ในรั้วมีกันอยู่ 4 หลัง ครอบครัวผมหนึ่ง อีกสามเป็นของคุณอา 2 ครอบครัวและคุณลุงอีกหนึ่ง
ตัวผมเองไม่ค่อยได้ดูทีวีมากนัก แต่เปิดมาเห็นภาพข่าวน้ำท่วมทีไร ใจก็สั่นได้ไม่ยาก คิดในใจว่า น้ำมากผิดปกติขนาดนี้ และโดยธรรมชาติ มันต้องไหลลงมาทางนี้ กรุงเทพฯ จะรอดพ้นภัยน้ำได้อย่างไร ไอ้เราเองก็ไม่มีความรู้เรื่องน้ำเลย ไม่มีปัญญาคาดเดาว่าสถานการณ์จะเลวร้ายถึงขีดสุดที่ตรงไหน
ที่ผ่านมาได้แต่เห็นภาพเหตุการณ์น้ำท่วมที่นครสวรรค์บ้าง อยุธยาบ้าง แยกส่วนเป็นชิ้นๆ จนกระทั่งคืนหนึ่ง (ช่วงประมาณวันที่ 10 กว่า ตุลาคม) ได้ดูยูทูปบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร จึงเริ่มเข้าใจสภาพปัญหาในภาพรวมมากขึ้นว่ามันหนักหนาสาหัสกว่าที่คิดมาก จากนั้นได้อ่านเอกสารเตือนภัยน้ำท่วมจาก TEAM GROUP ที่เว็บไซต์สำนักข่าว Thaipublica นำมาเผยแพร่ และได้เริ่มติดตามอาจารย์เสรี ศุภราทิตย์ ทาง Thaipbs ใกล้ชิดขึ้น ท่านเหล่านั้นมีคุณูปการที่ช่วยบอกกล่าวสถานการณ์แบบเลวร้ายที่สุดบนฐานความรู้ ให้พวกเราได้มีโอกาสตั้งสติเตรียมความพร้อม ซึ่งเราอยากฟังมากกว่าคำหวานและคำลวง ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นช่วยให้ประชาชนเริ่มขยับที่จะจัดการตนเอง และดูแลกันและกันเอง ในภาวะที่พึ่งพิงและคาดหวังอะไรจากรัฐไม่ได้เลย ทั้งหมดที่ว่ามาเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับน้องน้ำเริ่มมาเยี่ยมชาวปทุมธานีระลอกแล้วระลอกเล่า
ด้วยนิสัยไม่ชอบความเสี่ยง การปกป้องรักษาบ้านก็เลยยกระดับขึ้นอีกขั้น พวกเราเริ่มวางแผนกันจริงจังขึ้น รวมถึงเริ่มคิดหาทางหนีทีไล่เมื่อน้ำมาจริงๆ
ช่างคู่ใจคุณลุงถูกตามตัวมาอีกครั้ง อิฐกั้นประตูบ้านถูกเสริมอีกชั้นหนึ่ง กระสอบทรายถูกลำเลียงมาพองาม น้ำถูกกรอกและกรองใส่ขวดเพิ่มมากขึ้น เริ่มศึกษาหาข้อมูลการเตรียมป้องกันบ้านยามน้ำท่วมทางอินเทอร์เน็ต ตัวผมเองก็เริ่มทยอยขนหนังสือบางส่วนขึ้นชั้นสอง โชคดีที่หนังสือเป็นสมบัติสำคัญอย่างเดียวที่ผมมี ผมจึงจัดการข้าวของส่วนตัวของตัวเองได้ไม่ลำบากนัก
สำหรับสถานการณ์นอกบ้าน ในช่วงนั้น งานการและนัดหมายต่างๆ ถูกยกเลิกทีละงานจนหมด น้ำเข้าท่วมธรรมศาสตร์รังสิต ที่ทำงานของผม เต็มพื้นที่ รัฐบาลกับกรุงเทพมหานครกำลังชิงดีชิงเด่นทางการเมืองอย่างเข้มข้น ศปภ.ถูกวิจารณ์ความสามารถในการบริหารจัดการและการสื่อสารในยามวิกฤตอย่างหนักหน่วง
เนื่องจากครอบครัวผมมีคุณยายอายุ 97 ปี และเดินเองไม่ได้แล้ว เราเลยไม่สามารถรอให้น้องน้ำมาเยือนก่อนแล้วค่อยเคลื่อนไหว ราวๆ วันที่ 20 ตุลาคม เราลงความเห็นว่าคงต้องอพยพจากบ้านจตุจักรแน่ๆ ในไม่ช้า แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปไหนแน่และเมือ่ไหร่ดี สุดท้าย ก็ตัดสินใจส่งคุณยายและผู้ดูแลไปอยู่บ้านเก่าของเพื่อนสนิทของผมแถวพระรามสาม ซึ่งตอนนี้ไม่มีใครอาศัยอยู่ ให้เรียบร้อยหมดห่วงก่อน และคาดว่าคนที่เหลือจะตามไปสมทบในไม่ช้า เมื่อน้ำใกล้เข้ามา
ไม่ต้องรอนาน กลางดึกคืนที่แมนยูโดนแมนซิตี้ถล่ม 6-1 ผู้ว่า กทม. ก็ประกาศเตือนภัยให้ประชาชนใน 6 เขต รวมจตุจักร ยกของขึ้นที่สูง ผมก็รู้แล้วว่า วันนี้คงอับโชคแน่แล้ว บอลก็แพ้ แถมยังต้องขนหนังสือขึ้นชั้นสองทั้งคืน วันรุ่งขึ้น เรายกเฟอร์นิเจอร์ขึ้นสูง เสริมอิฐเป็นฐานวางตู้เย็นเครื่องใหญ่และตู้ไม้ ขนตู้เย็นอีกเครื่อง ทีวี ดีวีดี และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งหลายขึ้นชั้นบน บ้านชั้นหนึ่งก็โล่งว่าง พร้อมรับมือน้ำเข้าบ้านได้ระดับหนึ่ง ส่วนพื้นบ้านต้องทำใจเพราะเป็นไม้ปาร์เก้
แล้วพวกเราก็เตรียมพร้อมย้ายออกทุกเมื่อ
วันต่อมา ดร.เสรี (ชั่วโมงนี้ พูดถึง ดร.เสรี ใครก็ต้องนึกถึงศุภราทิตย์ก่อน ไม่ใช่วงษ์มณฑาอีกแล้ว) ทางรายการตอบโจทย์ ว่าน้ำจะมาถึงห้าแยกลาดพร้าวในอีกไม่กี่วัน วิภาวดีไม่มีทางเอาอยู่ และสิ้นเดือนตุลาคม น้ำเจ้าพระยาจะหนุนขึ้นสูงสุด บ้านพระรามสามที่เราจะย้ายไปอยู่ก็มีความเสี่ยงที่จะท่วมกับเขาด้วย
จัดรายการเสร็จ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แห่งตอบโจทย์ ก็โทร.มาบอกว่า เอาไม่อยู่แน่อาจารย์ เผ่นจากเมืองกรุงกันดีกว่า พรุ่งนี้ผมจัดรายการเสร็จก็จะเผ่นกลับบ้านเมืองจันท์เหมือนกัน ครอบครัวเราจึงตัดสินใจอพยพกันอีกรอบ เผ่นจากกรุงเทพฯ โดยขอยืมรถใหญ่จากบ้านแฟนน้องสาว ไปรับคุณยายที่บ้านพระรามสาม มุ่งหน้าไปหัวหินกัน 6 ชีวิต และขนข้าวของไปแบบอยู่ได้ 1 เดือน ระหว่างทางก็ได้เห็นภาพรถจอดกันเต็มทางด่วน
โชคดีที่ลูกหลานฝั่งคุณยายเป็นคนหัวหิน และเป็นเจ้าของคอนโดที่เขาตะเกียบ เราเลยได้รับอนุเคราะห์ห้องชุดขนาด 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พร้อมห้องรับแขก สำหรับเป็นที่พักอาศัยช่วงน้ำท่วม น้องสาวผมอยู่ได้ไม่กี่วันต้องกลับมาทำงานต่อ เพราะที่ทำงานไม่หยุดทำการ
เราอยู่หัวหินตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม กายและใจก็ปลอดโปร่งขึ้นกว่าการลุ้นน้ำเครียดอยู่ที่กรุงเทพฯ มาก แถวหัวหินหนาแน่นไปด้วยคนกรุงเทพฯ ที่หลายคนกำลังหน้ามืดตามัวตุนของแบบขาดสติ จนน้ำขวดหาซื้อแทบไม่ได้ และราคาไข่ก็แพงตามกรุงเทพฯ ฟองละ 7 บาท ผมได้มีโอกาสเจอเพื่อนฝูงหลายคนแถวหัวหิน ทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักเขียน ใครที่ไม่ได้ว่างเจอกันที่กรุงเทพฯ ก็มีโอกาสได้พบปะสังสรรค์กันที่นั่น
ไปอยู่หัวหินไม่กี่วัน ศปภ. ที่ดอนเมืองก็ถูกตีแตก จนต้องย้ายมาที่ตึก energy complex หน้าปากซอยบ้านผม พร้อมกับคำยืนยันว่า “เอาอยู่” คราวนี้ผมเลยมั่นใจว่า บ้านผมคงหมดทางรอดแล้วแน่นอน (ฮา)
นั่งลุ้นน้ำหน้าจอทีวีอยู่เป็นอาทิตย์ จนแม่ ซึ่งเริ่มเบื่อและอยากกลับบ้าน เริ่มบ่นหนักขึ้นว่าไม่เห็นจะท่วมสักที กลับบ้านกันดีกว่า ไม่ทันไร วันรุ่งขึ้น 3 พฤศจิกายน น้ำก็มาเยือนห้าแยกลาดพร้าว วันถัดไป น้องน้ำเข้ามาเยี่ยมในซอยบ้าน จนถึงบริเวณหน้าบ้าน ส่วนคลองระบายน้ำที่อยู่หน้าบ้าน น้ำก็อยู่ในระดับสูงมาก
ถึงตอนนี้ ชะตากรรมทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความเมตตากรุณาของน้องน้ำสถานเดียว
6 พฤศจิกายน เขตจตุจักรก็ได้รับเกียรติเป็นพื้นที่อพยพอย่างเป็นทางการ ไม่กี่วันต่อมา ซอยบ้านผมก็ได้ออก Thaipbs กับเขาเสียที มีภาพรถใหญ่ลุยน้ำผ่านหน้าบ้านผมด้วย
ผมอยู่หัวหิน 2 อาทิตย์ ตรวจข้อสอบเสร็จไป 2 วิชา อ่านหนังสือจบไปหลายเล่ม ดูซีรีย์หลายตอนที่ค้างไว้ตั้งแต่ปีก่อนจนครบ จนวันที่ 9 พฤศจิกายนก็มีเหตุให้ต้องตัดสินใจรีบกลับกรุงเทพฯ เพื่อทำธุระสำคัญเพราะกลัวว่าหากถนนพระรามสองใช้การไม่ได้จะติดอยู่ที่หัวหินนานจนจัดการธุระไม่ทันการณ์ รอบนี้นั่งรถตู้กลับไปคนเดียว เลยไปลี้ภัยอยู่ที่คอนโดของญาติของชิงชิงแถวพระรามสาม อาศัยอยู่กับนิ้วกลม ผู้ลี้ภัยอีกคน ซึ่งครอบครัวยังอยู่ที่มหาชัยแต่กลับมาทำกิจการงานที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน ผมตั้งใจว่าจะอยู่หนึ่งสัปดาห์จนธุระเสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยกลับหัวหิน
ผ่านไป 4-5 วัน เหมือนว่าสถานการณ์น้ำทางฝั่งจตุจักรเริ่มดีขึ้น วันที่ 14 พฤศจิกายน ผมเลยกลับไปดูบ้าน เผื่อว่าจะกลับไปอยู่ได้แล้ว วันเดียวกันนี้ ผมก็เริ่มได้รับโทรศัพท์เรื่องงานมาเป็นชุดๆ ติดกัน ดูเหมือนว่า โหมดการทำงานปกติเริ่มจะกลับมาแล้ว
นั่งแท็กซี่ขึ้นทางด่วนจากพระรามสามมาลงหมอชิต 2 ฟรีๆ กลับมาดูบ้านเป็นครั้งแรก หลังจากย้ายออกไป 3 อาทิตย์ พบว่า ถนนละแวกบ้าน น้ำแห้งแล้ว ผมสามารถเดินเข้าบ้านได้โดยไม่ต้องใช้รองเท้าบูธที่เตรียมมา ช่วง 10 วันที่น้ำท่วม ในจำนวนบ้าน 4 หลังในรั้วเดียวกัน น้ำเข้าบ้านคุณอาและคุณลุง 2 หลัง ส่วนบ้านคุณอาอีกคนและบ้านผมอยู่รอดปลอดภัย น้ำไม่เข้าบ้าน คุณลุงเล่าว่า น้ำไม่ได้มาทางหน้าบ้านผ่านที่กั้นไว้ แต่มันผุดขึ้นมากลางบ้านเลย ต้องคอยสูบออกตลอด
นับว่าน้องน้ำยังมีความเมตตาการุณต่อผมและครอบครัวอยู่มาก
วันรุ่งขึ้น ผมก็ย้ายกลับมานอนที่บ้าน จากนั้น วันถัดมา เมื่อรู้ว่าบ้านกลับมาอยู่ได้แล้ว แม่ผมก็ไม่ยอมรอให้น้องสาวขับรถไปรับแล้ว แต่เช่ารถตู้กลับมาจากหัวหินกันครบทีม เพราะอยากกลับบ้านกันเต็มแก่
วันที่ 16 พฤศจิกายน สมาชิกในครอบครัวทุกคนก็ได้กลับมาอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครั้งแรกในรอบเดือน และเริ่มดำเนินชีวิตปกติ
สรุปแล้ว ตัวผมจากบ้านในเขตจตุจักรไปประมาณ 20 วัน อยู่หัวหินสองอาทิตย์ อยู่พระรามสามอีกหนึ่งอาทิตย์ น้ำท่วมละแวกใกล้บ้านจริงๆ ประมาณ 10 วัน และน้ำหนักขึ้น 2 กิโลกรัมในช่วงอพยพ!
กลับมานั่งนิ่งๆ ที่บ้าน ติดตามข่าวสารแล้วก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีเหลือเกินในหลายเรื่อง หากเป็นคนที่ไม่มีญาติอยู่ต่างจังหวัด หรือไม่มีเงินเก็บมากพอ เขาจะเตรียมตัวรับมือวิกฤตอย่างไร มีทางเลือกอะไรบ้าง แทนที่จะได้ใช้ชีวิตริมทะเลเมืองท่องเที่ยว ก็คงต้องทนอยู่อย่างลำบากบนชั้นสองของบ้านหรืออาศัยศูนย์อพยพ แทนที่จะอยู่ดีกินดีน้ำหนักขึ้นสองกิโล ก็คงต้องอาศัยถุงยังชีพเลี้ยงตัวเองอาทิตย์ต่ออาทิตย์
ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้โชคดีมีบ้านอยู่จตุจักรเหมือนเรา แต่อยู่รังสิต ดอนเมือง เมืองนนท์ หรือฝั่งธนในหลายพื้นที่ น้ำคงไม่ได้ท่วมแค่ 10 วันแล้วแห้งเหมือนบ้านเรา แต่ต้องเจอน้ำท่วมสูงเป็นเมตรสองเมตร น้ำขังเป็นเดือนๆ ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำเน่า ชีวิตเขายากลำบากกว่าเรามหาศาล
บ้านเรือนจำนวนมาก น้ำไม่ได้ท่วมมากตามธรรมชาติ แต่ท่วมหนักตามภูมิศาสตร์การเมืองเพราะน้ำถูกขังไว้ไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ที่ทางการเห็นว่า “สำคัญกว่า” หรือ “มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า” ในกรณีเช่นนี้ ลำพังการเรียกร้องให้ชาวบ้านต้อง “เสียสละ” เพื่ออะไรที่รัฐเห็นว่ายิ่งใหญ่กว่า การบังคับให้คนต้องเสียสละอย่างไร้ทางเลือกไม่สามารถพาเราไปไหนได้ไกลกว่าก้นเหว
การละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคลในนามของส่วนรวมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด คำถามหลักที่จะดังระงมตามมาคือ ใครคือผู้ตัดสินว่าใครหรือกลุ่มใดควรจะเป็นผู้เสียสละ ด้วยเหตุผลอะไร กระบวนการตัดสินเป็นอย่างไร มีธรรมาภิบาลเพียงใด เปิดโอกาสให้ถกเถียงวิเคราะห์เรื่องต้นทุน-ผลประโยชน์อย่างรอบด้านเพียงใด เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงใด และควรออกแบบระบบการชดเชยแก่ผู้สูญเสียอย่างเป็นธรรมอย่างไร
การชดเชยแตกต่างจากการสงเคราะห์ ไม่ใช่เพราะรัฐใจดีจึงให้ความช่วยเหลือ แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องชดเชยความเสียหายจากการที่ไปละเมิดสิทธิของชาวบ้านหรือการผลักภาระรับผิดชอบให้ชาวบ้านบางกลุ่มเพื่อบางกลุ่ม วาระสำคัญจากนี้ในสังคมไทยคือ การจ่ายเงินชดเชยควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร การจ่ายให้ทุกคนที่ถูกน้ำท่วมเท่ากันหมดมีความเป็นธรรมหรือไม่ หรือรัฐควรจ่ายตามฐานรายได้ หรือควรจ่ายตามความหนักหนาสาหัส เช่น มูลค่าความเสียหายจริง ระยะเวลาที่น้ำท่วม
สำหรับครัวเรือนที่น้ำท่วมผิดธรรมชาติเพื่อพื้นที่อื่นหรือเพื่อสังคมส่วนรวมภายใต้คำนิยามของรัฐควรจะได้รับค่าชดเชย “ส่วนเพิ่ม” มากกว่าพื้นที่น้ำท่วมธรรมชาติและพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมแค่ไหน เพียงไร
สำหรับครัวเรือนที่น้ำไม่ท่วม จะด้วยได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่หรือด้วยเหตุใดก็ตาม ควรมีส่วนในการร่วมรับภาระค่าชดเชยให้แก่ครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม เช่น ผ่านมาตรการทางภาษี อย่างไร
พวกเรา โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ควรตระหนักว่า หากในสังคมมีกลุ่มคนที่ถูกบังคับให้ต้องเป็นผู้สูญเสียหรือผู้เสียสละอย่างซ้ำซาก ต่อเนื่อง ค่อนข้างถาวร และไม่เคยได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม สังคมนั้นมีโอกาสสูงที่จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่มีความรุนแรงขึ้นในอนาคต
ปรากฏการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ เช่น ดอนเมือง ลำลูกกา รังสิต คลองสามวา และหลายพื้นที่ในเมืองนนท์ เป็นประจักษ์พยานในความข้อนี้อย่างชัดเจน ในแง่หนึ่ง การพังคันกั้นน้ำหรือการรื้อกระสอบทรายเป็นความพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดของชาวบ้านที่ถูกกดทับจนถึงขีดสุด เพื่อรื้อถอนซุปเปอร์บิ๊กแบ๊ค – โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่เหลื่อมล้ำและอยุติธรรม – ที่กั้นขวางชีวิตของพวกเขาไว้
สังคมไทยจะดับเหตุแห่งทุกข์เยี่ยงนี้ด้วยสันติวิธีแท้จริงได้อย่างไร – นี่คือโจทย์สำคัญของพวกเรา และคำตอบหลักหนีคำว่า “ความยุติธรรม” ไปไม่พ้น
หมายเหตุ: เขียนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554