– 1 –
เมื่อจอมพล ถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ภายหลังจากเพิ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างนับสิบปีในปี 2511 และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 ซึ่งพรรคสหประชาไทยของท่านชนะเลือกตั้ง จอมพลถนอมก็เปลี่ยนสภาพจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งช่วงสั้นๆ กลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบเผด็จการทหารตามความคุ้นชิน
อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ลาไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ได้เขียนจดหมายประวัติศาสตร์ขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียนนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เศรษฐศาสตร์สาร ฉบับชาวบ้าน (ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 เดือนมีนาคม 2515) ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้จอมพลถนอมเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว
ในจดหมายฉบับนั้น อาจารย์ป๋วยหรือ ‘นายเข้ม เย็นยิ่ง’ ได้กล่าวถึงระบบการเมืองในอุดมคติของท่านคือ ระบบการเมืองที่ยึดถือหลักประชาธรรม นั่นคือ “สามารถยึดกติกาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ซึ่งดีกว่า และทำให้เจริญกว่าที่จะปกครองกันตามอำเภอใจของคนไม่กี่คน กับเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหมู่บ้านได้โดยสันติวิธี นั่นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่ง … ให้ชาวบ้านเลือกกันขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงแทนกัน ผู้ได้รับเลือกก็รวมตัวกันเป็นสมัชชาหมู่บ้าน โดยถือหลักประชาธรรม คือธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช่อำนาจเป็นธรรม และธรรมเกิดจากประชาชน รวมความว่าอำนาจสูงสุดมาจากธรรมของประชาชนในหมู่บ้านไทยเจริญทั้งหมู่”
(ผมขอตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า เรามักได้ยินคนนิยามหลักสันติประชาธรรมของอาจารย์ป๋วยในทำนองว่า ‘ธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือธรรม’ แต่ผู้ชอบอ้างหลักสันติประชาธรรมหลายคนมักลืมอ้างวรรคต่อไปด้วยว่า ธรรมที่ว่านั้น มันเกิดจากประชาชน และอำนาจสูงสุดมาจากธรรมของประชาชนในสังคมทั่วทุกคน มิใช่เฉพาะจากผู้ทรงธรรมแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น)
‘นายเข้ม เย็นยิ่ง’ ยังเตือนสติ ‘ผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง’ หรือจอมพลถนอม ให้เห็นถึงคุณค่าของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงออกของประชาชน และอย่าได้หลงประเมินสถานการณ์ผิด จากเปลือกนอกแห่งความสงบเรียบร้อยราบคาบที่ฉาบเคลือบสังคมอยู่
“… ข้อสำคัญที่สุดก็คือ การจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชนและในฐานส่วนรวมด้วย
“พี่ทำนุอาจจะแย้งผมได้ว่า เท่าที่มีการเปลี่ยนแปลงมา ก็เห็นแต่เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและประชาชนชาวบ้านอนุโมทนาสาธุกันโดยทั่วไป จะมีเสียงคัดค้านบ้างก็เพียงคนโง่ๆ ไม่กี่คน ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนั้น เขาได้ประโยชน์จากการเลิกสมัชชา ไม่ต้องยุ่งหัวใจกับสมาชิกสมัชชา พูดกันง่ายๆ ก็คือ ไม่มีใครขัดคอ ส่วนชาวบ้านนั้น พี่ทำนุทราบดีว่า ชาวบ้านไทยเจริญส่วนใหญ่ถือคาถารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี … ส่วนที่ว่ามีเสียงคัดค้านแต่เพียงน้อยนั้นก็จริง แต่จริงเพราะเหตุว่ายามพกอาวุธของพี่ทำนุและคณะคอยปรามอยู่ตั้งแต่ต้นมือแล้ว โดยใช้ความเกรงกลัวเป็นเครื่องบันดาลให้มีเสียงคัดค้านอ่อนลง ถ้าอยากทราบชัดว่าชาวบ้านมีความจริงใจอย่างไร ก็ลองเลิกวิธีขู่เข็ญทำให้หวาดกลัวเสียเป็นไร”
– 2 –
รายงานวิจัย โครงการปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นว่า สภานิติบัญญัติในยุครัฐบาลรัฐประหารผ่านกฎหมายจำนวนมากและเร็วกว่ารัฐสภาในยุครัฐบาลประชาธิปไตยหลายเท่า
ข้อมูลนี้ไม่ได้หมายจะชี้ช่องให้มองเห็น ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ในการร่วมมือกับรัฐบาลรัฐประหารเร่งรีบผ่านร่างกฎหมายอย่างไม่เห็นหัวประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศเช่นกัน แต่เข้าไม่ถึงวงในแห่งอำนาจ (สำหรับผม ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ในการปฏิรูปประเทศไทยถูกปิดไปตั้งแต่วันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วครับ) ในทางตรงกันข้าม กลับสะกิดให้สังคมไทยตั้งคำถามอีกด้านหนึ่งว่า แล้วใครจะเป็นผู้ตรวจสอบสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุครัฐบาลรัฐประหารว่าการออกกฎหมายแบบ ‘ผ่านเยอะ ผ่านไว’ เป็นไปโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทั่วถึงจากสังคมวงกว้างและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มแล้วหรือไม่ มิพักต้องพูดถึงว่าการตรวจสอบสภานิติบัญญัติและรัฐบาลรัฐประหารภายใต้บรรยากาศแห่งการแทรกแซงสื่อ เซ็นเซอร์สังคม และข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่าง กระทำได้อย่างยากลำบากยิ่งเพียงใด
ในยุคที่รัฐบาลรัฐประหารไม่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ และสังคมอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อและผู้วิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารและรัฐบาลเยี่ยงนี้ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถาบันวิชาการอื่นๆ ควร ‘ยืนเคียงข้างประชาชนและสังคม’ โดยแสดงบทบาทร่วมจับตาและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลด้วยหลักวิชาอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ สื่อสารโดยตรงต่อสาธารณชน และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในสังคม มิใช่เลือก ‘ยืนเคียงข้างรัฐบาลและเครือข่ายรัฐประหาร’ โดยผนวกรวมตัวเองเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบอบพร่องความชอบธรรม และขาดธรรมาภิบาล อันได้แก่ กฎกติกาที่ชัดเจนและคงเส้นคงวา การตรวจสอบถ่วงดุล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในสภาพบ้านเมืองที่ไม่ปกตินี้ มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทสำคัญในฐานะป้อมปราการทางปัญญาของสังคม คอยติดตามสถานการณ์และนโยบายที่สำคัญ เสนอคำอธิบาย ทางเลือก และทางออกให้สังคมบนพื้นฐานของความรู้และหลักวิชา ซึ่งมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่ ย่อมต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ ในเวลานี้สังคมไทยกำลังให้ความสนใจการปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่างๆ พื้นฐานสำคัญของการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยคือเสรีภาพทางวิชาการ – เสรีภาพในการแสวงหาความรู้ แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกในรูปแบบต่างๆ
ควรกล่าวด้วยว่า เสรีภาพทางวิชาการมิได้เป็นสมบัติเฉพาะของนักวิชาการในสังคมวิชาการเท่านั้น แต่มันคือสมบัติของทุกคนในสังคมที่ ‘เราทุกคนเป็นเจ้าของ’ และ ‘เราทุกคนเท่ากัน’
– 3-
ในจดหมายจาก ‘นายเข้ม เย็นยิ่ง’ ถึง ‘ผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง’ นายเข้มยังได้ย้ำเตือนผู้ใหญ่ทำนุถึงจุดจบจาก ‘ปัญญาเป็นพิษ’ จากการใช้อำนาจแบบไม่ชอบธรรม แม้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของเจตนาที่ดีก็ตาม ความว่า
“สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัวซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้ บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนักๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่นๆ หลายแห่ง”
ในตอนท้าย ทางออกที่ ‘นายเข้ม’ เสนอต่อ ‘ผู้ใหญ่ทำนุ’ คือ “… ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็วอย่างที่พี่ทำนุได้ทำมาแล้ว ก็จะเป็นบุญคุณแก่ชาวบ้านไทยเจริญอย่างเหลือคณานับทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาล ”
ปี 2515 ไม่มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ตามความหวังของ ‘นายเข้ม’ จนนำไปสู่จุดจบทางอำนาจของ ‘ผู้ใหญ่ทำนุ’ ในปี 2516
ปี 2558 หมู่บ้านไทยเจริญจะเป็นอย่างไร คำตอบมิได้ลอยอยู่ในสายลม แต่อยู่ในกงล้อประวัติศาสตร์.