อ่าน คอร์รัปชั่น ประชาธิปไตย และสังคมไทยในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

คอร์รัปชั่นเป็นโรคร้ายเรื้อรังที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ทุกคนทราบดีว่าคอร์รัปชั่นสร้างปัญหามากมายในหลายมิติ เช่น การบั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจ การบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร การสร้างความเหลื่อมล้ำ และการทำลายกระบวนการสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกในสังคม อีกทั้ง ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันได้ไม่ยากว่าสังคมในฝันคือสังคมที่ปราศจากคอร์รัปชั่น

ฟังดูเหมือนไม่ต้องถกเถียงอะไรกันอีก แต่ความจริงแล้ว มีเรื่องให้ต้องถกต่ออีกมาก เพราะเมื่อวิเคราะห์ลงลึกถึงสาเหตุ สภาพปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ละคนจะเริ่มมี ‘ท่าที’ ต่อคอร์รัปชั่นและการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นแตกต่างกัน

บางคนมองว่า คอร์รัปชั่นเป็นเพียงปัญหาเชิงจริยธรรมในระดับบุคคล ถ้าทำให้ทุกคนเป็นคนดี หรือส่งเสริมให้คนดีปกครองประเทศได้ ปัญหาก็จบ

บางคนมองว่า การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ มีความบริสุทธ์ผุดผ่อง มีความเป็นกลางในตัวเอง เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิค ในเชิงการออกแบบระบบเพื่อป้องกันการโกง ให้รางวัลคนทำดี และลงโทษคนฉ้อฉล ถ้านักวิชาการหรือเทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสถาบันสามารถสร้างระบบที่ดีได้ ปัญหาก็จบ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทางการเมือง เช่น แหล่งที่มาของความชอบธรรมเชิงอำนาจในการจัดการคอร์รัปชั่น เราจึงเห็นเทคโนแครตจำนวนหนึ่งผลักดันกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นด้วยความตั้งใจดีผ่านรัฐบาลรัฐประหารที่ทำลายหลักนิติธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ

และหลายคนตกอยู่ภายใต้วาทกรรมที่ว่า “ประชาธิปไตยเท่ากับคอร์รัปชั่น” ผู้คนจำนวนไม่น้อยถึงกับหมดหวังในระบอบประชาธิปไตย จนเลือกที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยม หรือฝากความหวังไว้กับระบอบเผด็จการโดยผู้ทรงธรรมหรือผู้ทรงปัญญา ปรากฏการณ์เป่านกหวีดเรียกทหารโดยชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ คงเป็นสิ่งยืนยันในพลังอำนาจของวาทกรรมหลงผิดนี้

งานเขียนเรื่อง การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในสังคมเปลี่ยนผ่าน (Fighting Corruption in Transformation Societies) ของมาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานประเทศไทย พยายามตั้งคำถามท้าทายมายาคติที่กล่าวถึงข้างต้น โดยชี้ว่า ความเชื่อเหล่านั้นไม่สามารถทำให้เราเข้าใจคอร์รัปชั่นได้ครบถ้วนถึงแก่นในทุกมิติ เขาชี้ว่า คอร์รัปชั่นมิใช่ “โรคร้าย” โดยตัวของมันเอง แต่เป็น “อาการ” ของโรคร้ายที่ใหญ่โตกว่า คือโรคติดพันเรื้อรังมาจาก “ระบอบศักดินาราชูปถัมภ์” (patrimonialism) ซึ่งทำงานภายใต้หลักเครือญาติและสายสัมพันธ์ส่วนตัว และหลักการให้แบบต่างตอบแทน โดยมิได้อยู่บนฐานของกฎหมายและเหตุผล และมิได้มีระบบการให้ผลตอบแทนตามผลงานและความสามารถ

มาร์คอธิบายว่า คอร์รัปชั่นคือดีเอ็นเอของระบอบศักดินาราชูปถัมภ์ ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองของไทย นับวันระบอบดังกล่าวนี้ล้าหลังเกินไปที่จะตอบโจทย์ใหม่ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน เป็นพหุนิยม และผู้คนเรียกร้องความเท่าเทียมเชิงสิทธิและโอกาส ความยุติธรรมทางสังคม และการมีส่วนร่วมในชีวิตการเมืองและเศรษฐกิจ  ยิ่งในสังคมที่อยู่ในวังวนแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างประเทศไทย ซึ่งอยู่ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างสถาบันของระบอบเก่า (ศักดินาราชูปถัมภ์) กับสถาบันของระบอบใหม่ (ประชาธิปไตยเสรีที่มีหลักนิติธรรมกำกับ) ปัญหาการคอร์รัปชั่นก็ยิ่งรุนแรงขึ้นและกลายเป็นประเด็นใจกลางของความขัดแย้งทางการเมือง

เช่นนี้แล้ว คอร์รัปชั่นจึงเป็นปัญหาทางการเมืองเรื่องความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจ และความอยุติธรรมทางสังคม สาเหตุเชิงโครงสร้างของคอร์รัปชั่นมาจากโครงสร้างและระบอบการเมืองที่ผูกขาดอำนาจ ดังนั้น ในด้านหนึ่ง การร้องหาคนดีเพียงเท่านั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องมองเชิงโครงสร้างและระบบโดยไปไกลกว่าเรื่องจริยธรรมส่วนบุคคล ในอีกด้านหนึ่ง คอร์รัปชั่นก็มิได้เป็นแค่ปัญหาเชิงเทคนิค มิได้มีแค่มิติทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น เราหวังพึ่งเทคโนแครตมาออกแบบระบบที่ดีแล้วหวังว่าปัญหาจะหมดสิ้นก็ไม่ได้เหมือนกัน แต่ต้องคำนึงถึงมิติทางการเมือง เช่น การต่อสู้เชิงวาทกรรม และความชอบธรรมเชิงอำนาจของการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นด้วย

งานของมาร์คย้ำว่า การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นมีความเป็นการเมือง มีการต่อสู้เชิงวาทกรรมแฝงอยู่  มิได้มีความเป็นกลางและบริสุทธิ์ผุดผ่อง ในบางกรณี การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำในระเบียบดั้งเดิมเพื่อรักษาอำนาจ และส่งผลทำลายประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ดังตัวอย่างของการอ้างปัญหาคอร์รัปชั่นในการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้งในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ โดยใช้วาทกรรม “ประชาธิปไตยเท่ากับคอร์รัปชั่น” เป็นเครื่องมือ

ทางออกในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในสังคมเปลี่ยนผ่านที่งานเขียนชิ้นนี้นำเสนอคือ การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่หันหลังให้ประชาธิปไตย หากประชาธิปไตยตามแบบเดิมมีปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ไขให้มีคุณภาพขึ้น ผ่านการสร้างประชาธิปไตยให้มากขึ้น มิใช่น้อยลง เพราะมีแต่วิถีประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเอาชนะความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมของระบอบศักดินาราชูปถัมภ์ได้

ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมยิ่งทำให้สถาบันภายใต้ระบอบเก่าที่ล้าสมัยและเป็นต้นตอของการคอร์รัปชั่นกลับฟื้นคืนเข้มแข็งขึ้น เช่น ระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง เพราะในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมยิ่งมีลักษณะผูกขาดอำนาจ ขาดความโปร่งใส  ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในวงกว้าง ไร้ระบบตรวจสอบถ่วงดุล และไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เนื้อดินเผด็จการยิ่งเพาะพันธุ์โรคร้ายอย่างคอร์รัปชั่นให้รุนแรงขึ้น มิใช่เป็นยารักษาโรคดังฝันอันเลื่อนลอยของชนชั้นกลางในเมืองหลวงจำนวนมาก

หัวใจสำคัญของการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นคือการปฏิรูปการเมืองไปสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่อยู่บนฐานของกฎหมายและเหตุผล ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ลดอำนาจผูกขาดและลดการใช้ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจ สร้างธรรมาภิบาล (ความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ การมีส่วนร่วมของประชาชน การออกแบบระบบให้ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อประชาชน) ให้ผลตอบแทนตามผลงานและความสามารถ มิใช่สายสัมพันธ์ส่วนบุคคล และสร้างความเป็นสถาบัน มิใช่ผูกติดกับตัวบุคคล

สำหรับการต่อสู้เชิงวาทกรรม มาร์คเสนอให้ชูวาทกรรมที่ผนวกรวมการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นให้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า นั่นคือการต่อสู้เพื่อการสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรมทางสังคม

ใครอ่านงานเขียนของมาร์คแล้ว ยังลังเลไม่ไว้ใจประชาธิปไตยอยู่อีก ผมขอชวนให้อ่านบทความเรื่อง “ถึงคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วยความนับถือ” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตีพิมพ์ในมติชนรายวัน วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ต่อ อาจารย์นิธิชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของระบอบประชาธิปไตยในการจัดการปัญหาสำคัญของสังคมเหนือกว่าระบอบอื่น แม้ว่าประชาธิปไตยจะมีจุดอ่อนในตัวเองอยู่ไม่น้อย ถ้อยความส่วนหนึ่งมีดังนี้

 

“ไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยนั้นมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ประชาธิปไตยนั้นปกป้องตนเองได้ไม่ดีนัก มีแต่หลักความชอบธรรมซึ่งแสดงออกด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การเลือกตั้งเสรี, เสรีภาพของสื่อ, สิทธิเสมอภาคของพลเมือง … กระบวนการเหล่านี้อาจถูกฉ้อฉลได้ หรือยังไม่ถูกทำให้เป็นสถาบันเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาธิปไตยจึงเพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูอยู่บ่อยๆ ศัตรูสำคัญคือกองทัพ … คณะบุคคลซึ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองในรูปของพรรคการเมือง หรือผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบจากฝ่ายอื่น

… พลังของระบอบประชาธิปไตยที่เหนือกว่าระบอบปกครองอื่นจึงอยู่ตรงนี้นั่นคือระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่แก้ไขความผิดพลาดของตนเองได้ แม้ต้องใช้เวลาและอาจถึงกับต้องหลั่งเลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยไปเป็นอันมาก แต่เลือดและน้ำตาของคนเล็กคนน้อยจะหลั่งอย่างไม่หยุดตลอดไป ภายใต้ระบอบอภิชนาธิปไตยและราชาธิปไตยหรือเผด็จการทุกรูปแบบ

คิดอย่างมีบริบทก็คือ ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ปรับตัวได้ง่ายกว่าระบอบปกครองอื่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ไม่มีระบอบปกครองอะไรที่ไม่ต้องปรับตัว แต่ศักยภาพในการปรับตัวของระบอบอื่นเกือบเป็นศูนย์ จึงต้องผ่านการนองเลือดที่ไม่จำเป็นเสมอ

 

อ่านมาร์คและอ่านนิธิแล้ว ชวนให้คิดใหม่และอ่านใหม่ว่า “ประชาธิปไตย” กับ “การต่อสู้กับคอร์รัปชั่น” ต้องไปด้วยกัน เราไม่ต้องแลก-ไม่ต้องเลือก อย่าฝันหวานกับเผด็จการ อย่าหมดหวังกับประชาธิปไตย แต่ต้อง “ใช้ประชาธิปไตยสู้กับคอร์รัปชั่น” และต้องสร้าง “ประชาธิปไตยที่ไร้คอร์รัปชั่น” โดยมีระบบที่สามารถจัดการคอร์รัปชั่นในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้วิถีประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม  ยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้คือการสร้างแนวร่วมหลากสี ที่มีความเชื่อมั่นร่วมกันว่า สังคมในฝันคือสังคมที่ทั้งเป็นประชาธิปไตย ทั้งยุติธรรม ทั้งไร้คอร์รัปชั่น ขาดอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้

และนี่คือโจทย์ของปฏิบัติการทางการเมืองที่ควรจะเป็นของแนวร่วมหลากสีผู้รักประชาธิปไตยและผู้รังเกียจคอร์รัปชั่นในวิกฤตการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

 

หมายเหตุ: อ่านงานเขียนเรื่อง การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในสังคมเปลี่ยนผ่าน ของ มาร์ค ศักซาร์ ฉบับเต็ม ได้ที่ http://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/11019.pdf

 

ตีพิมพ์: คอลัมน์ way to read! นิตยสาร way ฉบับเดือนธันวาคม 2557

Print Friendly