ช่วงปลายปีก่อน ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตลูกหม้อสภาพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ Macrotrends: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย (2552, สำนักพิมพ์ openbooks และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แม้คุณโฆสิตได้ลาออกจากระบบราชการ ซึ่งเคยใช้ชีวิตกว่า 30 ปีทำงานในฐานะเทคโนแครต มาตั้งแต่ปี 2535 แต่ระหว่างการสนทนา ผมกลับรู้สึกเหมือนกำลังนั่งคุยอยู่กับเทคโนแครต – นักวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ มากกว่านายธนาคาร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของท่านในปัจจุบัน
คุณโฆสิตบอกว่า ท่านเป็นเทคโนแครตโดยสามัญสำนึก ไม่ว่าจะทำงานในภาคธุรกิจหรือทำงานการเมือง วิธีคิดของท่านไม่เคยเปลี่ยน กล่าวคือ ยังคงสนใจเรื่องการพัฒนาและประเด็นปัญหาระยะยาวของเศรษฐกิจไทย คุณโฆสิตกล่าวด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า ความคิดเชิงพัฒนาซึ่ง ‘มองยาว’ ได้ตายไปแล้วจากสังคมเศรษฐกิจไทย ตายไปพร้อมกับเหล่าเทคโนแครต สิ่งที่มาแทนคือ ความร้อนรน กระแส และการมองสั้น
ผมไม่แปลกใจในความรู้สึกเสียดายของเทคโนแครตรุ่น ‘แรกพัฒนา’ อย่างคุณโฆสิต โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนกลับไปยังเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก (พ.ศ.2504-2509) เหล่าเทคโนแครตในหน่วยราชการด้านเศรษฐกิจเป็นตัวละครหลักในการออกแบบ วางแผนพัฒนา วางกติกา ชี้เป็นชี้ตาย และก่อร่างสร้างเศรษฐกิจไทยยุคใหม่
ไม่นานหลังการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ผมได้อ่านหนังสือ อัตชีวประวัติและงานของเสนาะ อูนากูล (2552, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) หนังสือเล่มนี้มิได้บอกเล่าถึงชีวิตของ ดร.เสนาะ อูนากูล เพียงเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าถึงชีวิตของเทคโนแครตไทย เศรษฐกิจไทย และเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในช่วงปี พ.ศ.2504-2535 จากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ผ่านสายตาของตัวละครคนสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่าง ดร.เสนาะ อูนากูล เทคโนแครตคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งใน ‘ยุคทอง’ ของเทคโนแครต ผู้เปี่ยมด้วยเกียรติภูมิและคุณธรรมในฐานะข้าราชการ
ดร.เสนาะเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็ก ชีวิตการศึกษา ชีวิตรัก ชีวิตครอบครัว และชีวิตช่วงปัจฉิมวัย ไว้ในหนังสือเล่มนี้ แต่เนื้อหาส่วนที่น่าสนใจยิ่งสำหรับนักศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยคือ บทที่ 5-8 ซึ่งว่าด้วยชีวิตรับราชการของท่านหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จากเศรษฐกรสังกัดสภาพัฒน์ (พ.ศ.2503-2515) สู่รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พ.ศ.2515-2516) เลขาธิการสภาพัฒน์ครั้งแรก (พ.ศ.2517-2518) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2518-2522) จนถึงเลขาธิการสภาพัฒน์ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2523-2532) และรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ.2534-2535) เรื่องเล่าของท่านเต็มไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญ และตัวละครสำคัญบนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ตอนหนึ่ง ดร.เสนาะ เล่าย้อนไปถึงครั้งยังเป็นเศรษฐกรโทของสภาพัฒน์ สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ว่า ท่านเคยเขียนบทความเรื่อง “การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และจุดหมายส่วนรวม” เพื่อให้กรมประชาสัมพันธ์อ่านออกอากาศหลังรายการข่าวภาคเช้า เมื่อผู้ประกาศอ่านจบ เสียงโทรศัพท์ที่บ้านก็ดังขึ้นทันที ปลายสายบอกว่า “ผมโทรมาจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ ท่านนายกฯอยู่ในห้องน้ำ ได้ฟังบทความของคุณทางวิทยุแห่งประเทศไทยแล้วเมื่อกี้นี้ ท่านชอบ จึงสั่งให้คุณเสนาะจัดส่งบทความมาที่บ้านสี่เสาฯ จำนวน 24 ชุด ภายในวันนี้ ขอบคุณ” (หน้า 79)
จากนั้น ท่านได้รับการทาบทามให้ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แทน ดร.อำนวย วีรวรรณ ทั้งที่เป็นเพียงเศรษฐกรโท ดร.เสนาะนำความไปปรึกษาอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่วังบางขุนพรหม อาจารย์ป๋วยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่งเริ่มงานที่สภาพัฒน์ ซึ่งมีงานวางแผนพัฒนาประเทศที่สำคัญ ถ้าไปแล้วจะเสียงาน อีกทั้ง การกระโดดข้ามขั้นอย่างรวดเร็ว และไปอยู่ในตำแหน่งการเมือง จะทำให้เสียศูนย์ และพัวพันการเมืองมากเกินไป ดร.เสนาะเชื่ออาจารย์ป๋วยจึงรับราชการในสภาพัฒน์ต่อไป เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่ง ดร.เสนาะ เลือกทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ต่อ แทนที่จะตอบรับคำเชิญไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ตามคำเชิญของอาจารย์สัญญา
ดร.เสนาะมีบทบาทโดดเด่นในฐานะเลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเล่าว่า เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บทบาทของท่าน “เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ” กล่าวคือ “บทบาทของผมในการทำหน้าที่เสนาธิการเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารเศรษฐกิจของประเทศได้ถูกปลดลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากการที่ผมทำงานโดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีก็ให้มาขึ้นกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาก็มีคำสั่งให้ข้าราชการประจำสามคนที่นั่งอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีออกความเห็นได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี … เมื่อต้องมานั่งดูคณะรัฐมนตรีประชุมกัน และเห็นวิธีการที่แตกต่างจากสมัยท่านนายกฯ เปรมโดยสิ้นเชิง ถึงจุดนี้ผมก็แน่ใจว่าผมได้ดูมานานจนเกินพอแล้ว … บัดนี้ถึงเวลาที่ผมสมควรลาออกจากราชการ” (หน้า 199-200)
การลาออกจากราชการของ ดร.เสนาะ เป็นสัญญาณสะท้อนถึงความเสื่อมอำนาจลงของเทคโนแครตในกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย ‘ยุคทอง’ ของเทคโนแครตปิดฉากลงพร้อมกับการสิ้นสุดของรัฐบาลพลเอกเปรม ในปี 2531 เมื่อเข้าสู่ยุค ‘ประชาธิปไตยเต็มใบจากการเลือกตั้ง’ นักการเมืองมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ พร้อมกับพลังของภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งขึ้นและเรียกร้องสิทธิ์ เสียง และส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ มิพักต้องพูดถึงว่า ในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 เทคโนแครตด้านเศรษฐกิจต้องเผชิญภาวะวิกฤตศรัทธาอย่างหนักหน่วง จวบจนยุคสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บทบาทของเทคโนแครตก็สิ้นไร้ความหมายแทบจะโดยสิ้นเชิง
อ่านหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนได้ย้อนอ่านบทบันทึกชีวิตและจิตวิญญาณของเทคโนแครต ซึ่งถูกบอกเล่าในฐานะ ‘พระเอก’ บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในวันวานอันหวานชื่นแต่หนหลัง ในอดีตอันมิอาจหวังเรียกกลับคืน ไม่ว่าอดีตเทคโนแครตอย่าง ดร.เสนาะ และคุณโฆสิต จะรู้สึกเสียดายมากเพียงใดก็ตาม
ตีพิมพ์: คอลัมน์ way to read! นิตยสาร way ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553