ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ส.ว.  

ในตอนนี้ ผมขอนำเสนอ ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูประบบเลือกตั้งสมาชิก วุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลการวิจัยในโครงการ “การสร้างองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปการเมือง” สนับสนุน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เช่นเดียวกัน

ทีมผู้วิจัยมีความเห็นร่วมกันว่า หากรัฐสภาไทยยังคงเป็นระบบสองสภา โดยให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่คล้ายคลึงกับวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 คือมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย การสรรหา แต่งตั้ง หรือรับรองบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารนั้น สมาชิกวุฒิสภาต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเท่านั้น ทีมผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับการให้วุฒิสภามีที่มาจากการแต่งตั้ง หรือการเลือกตั้งทางอ้อม ในรูปแบบใดทั้งสิ้น

ข้อเสนอของทีมผู้วิจัยคือ ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกรวมทั้งสิ้น 100 คน มาจากการเลือกตั้งแบบระบบเขตเดียวคนเดียว 100 เขต โดยแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ว.จำนวน 1 คน ทั้งนี้ให้จังหวัดหนึ่งต้องมี ส.ว.อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน ส่วนจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ เช่น มีจำนวนประชากรเกินกว่า 600,000 คน มากถึงสัดส่วนระดับหนึ่ง อาจแบ่งเขตเลือกตั้งให้มีมากกว่า 1 เขตได้

เนื่องจาก ส.ว.ต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร และมีอำนาจในการถอดถอน ส.ส. ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนออกจากตำแหน่งได้ ส.ว.จึงควร มีที่มาแห่งอำนาจให้สะท้อนศักดิ์ (ในบางมิติ) ที่ใหญ่กว่า ส.ส. ดังเช่น การออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ ส.ว.มาจาก เขตเลือกตั้งที่ใหญ่กว่า ส.ส. โดยใช้ทั้งจังหวัด เป็นเขตเลือกตั้ง

ในประเด็นว่าด้วยที่มาแห่งอำนาจของ ส.ว. ทีมผู้วิจัยมิได้ตอบคำถามด้วยมิติเชิงพื้นที่เพียงอย่างเดียว หากมีข้อเสนอให้ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ว. ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง (absolute majority) ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งผู้ได้คะแนนเสียงสูงสุด เมื่อเทียบกับคะแนนเสียงของผู้สมัครรายอื่นถือเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าตนได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ เลือกตั้งหรือไม่ (simple majority)

ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยมีข้อเสนอให้ใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ว. แบบจัดเรียงลำดับความชอบ (preferential voting) โดยกำหนดให้ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น

ภายใต้ระบบเลือกตั้งรูปแบบนี้ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถจัดเรียงลำดับความชอบของผู้สมัคร ในเขตของตนได้มากกว่าจำนวน ส.ว. ที่มีได้จริงในเขตนั้น ซึ่งข้อเสนอของทีมวิจัยกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องจัดลำดับความชอบต่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเรียงกัน 5 ลำดับ จากชอบที่สุดลงไปถึงชอบเป็นลำดับที่ 5

สมมติว่าในเขตเลือกตั้ง X มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 10 คน แย่งชิงเก้าอี้ ส.ว. 1 ที่ เมื่อผู้ใช้สิทธิลงคะแนนก็จะจัดเรียงลำดับความชอบของตน ที่มีต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดลงในบัตรเลือกตั้ง หากชอบใครมากที่สุดให้ใส่หมายเลข 1 ชอบใครรองลงมาให้ใส่หมายเลข 2 เรียงลำดับความชอบเช่นนี้เรื่อยไป จนถึงลำดับที่ 5

ในการนับคะแนนเพื่อหาผู้ชนะเลือกตั้ง ในรอบแรกจะนับคะแนนเฉพาะกับผู้สมัครที่ถูกเลือกเป็นลำดับที่ 1 ในบัตรเลือกตั้งก่อนเท่านั้น หากมีผู้สมัครที่ถูกเลือกเป็นลำดับที่ 1 รายใดที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด นั่นคือได้คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดในเขตนั้น ผู้สมัครรายนั้นก็จะได้รับเลือกเป็น ส.ว. โดยไม่ต้องมีการนับคะแนนรอบต่อไป การนับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันสิ้นสุด

แต่หากยังไม่มีผู้ใดที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ก็จะจัดให้มีการนับคะแนนรอบต่อไป โดยผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงต่ำที่สุดในรอบแรกจะถูกตัดทิ้งไปก่อน แต่จะมีการถ่ายโอนคะแนนเสียงของผู้สมัครรายนั้นให้แก่ผู้สมัครรายอื่น โดยจะนำบัตรเลือกตั้งที่เลือกผู้สมัครที่ถูกตัดทิ้งมานับใหม่ โดยดูว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ชอบคนที่ถูกตัดทิ้งที่สุดนั้น ออกเสียงเลือกผู้สมัครคนใดเป็นลำดับที่ 2 คะแนนเสียงนั้นก็จะถูกถ่ายโอนไปให้ผู้สมัครที่ถูกเลือกเป็นลำดับที่ 2

หากมีการถ่ายโอนคะแนนเสียงแล้ว ยังไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดอีก ก็ให้มีการนับคะแนนรอบต่อไปอีก โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยที่สุด (จากที่ยังเหลืออยู่) ถูกตัดทิ้ง และนำบัตรเลือกตั้งของคนที่ถูกตัดทิ้งมาดูว่า ผู้ใช้สิทธิที่เลือกเขานั้นเลือกผู้สมัครรายใดเป็นลำดับที่ 2 แล้วมีการถ่ายโอนคะแนนให้กับ ผู้สมัครรายนั้นต่อไป

กระบวนการจะดำเนินต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งมีผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด จึงถือว่ามีผู้ชนะที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ว. ระบบการเลือกตั้งแบบจัดเรียงลำดับความชอบที่นำเสนอมานี้ ทำให้ได้ ส.ว.ที่มีความชอบธรรมสูง เพราะผู้ชนะเลือกตั้งได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด เป็นตัวแทนเสียงข้างมากในเขตเลือกตั้งอย่างแท้จริง และได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่กระนั้นต้องแลกมาด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ในกระบวนการนับคะแนน

ทีมผู้วิจัยเชื่อว่า ระบบเลือกตั้งที่นำเสนอนี้ จะช่วยทำให้การซื้อเสียงจะทำได้ยากขึ้น เพราะผู้ชนะเลือกตั้งต้องได้คะแนนสูงมาก และเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่สามารถกำกับควบคุมผลการเลือกตั้งได้ง่ายๆ เพราะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะจัดเรียงลำดับความชอบแตกต่างกัน แม้บางคนจะเลือกลำดับที่ 1 เหมือนกัน แต่อาจจัดเรียงลำดับ ที่ 2 3 4 5 ต่างลำดับกันไป ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่มีความแน่นอน คาดการณ์ได้ยากลำบากขึ้น ในกรณีที่ต้องมีการนับคะแนนหลายรอบจึงจะได้ ผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ผู้ที่มีคะแนนนำในการนับคะแนนรอบท้ายๆ อาจพลิกผันไปจากรอบแรกๆ ได้

ข้อดีอีกประการหนึ่งของระบบเลือกตั้งแบบนี้คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องคำนึงถึงฐานเสียงในเขตเลือกตั้งที่กว้างขวางขึ้น เพราะผู้สมัครยากจะเป็นผู้ชนะหากหวังเพียงแต่จะพึ่งพิงฐานเสียงแคบๆ เฉพาะกลุ่มของตน ทำให้ผู้สมัครต้องหาเสียงในวงกว้าง ทำงานหนักขึ้น มีนโยบายที่ค่อนข้างเป็นกลาง และต้องประสานผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในเขตเลือกตั้งอย่างทั่วถึง

 

ตีพิมพ์: คอลัมน์ ‘มองซ้ายมองขวา’ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

Print Friendly