TU101 debate

10455363_10153308957924001_1747164345669262415_n

ในชั้นเรียน TU101 ครั้งที่แล้ว เราลองจัดดีเบต 4 เรื่อง ให้นักศึกษามาถกเถียงกัน เจ้าของไอเดียคือ อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้สอนหัวข้อ cosmopolitanism  อ.วรพจน์คิดว่ากระบวนการดีเบตสะท้อนปรัชญาการศึกษาเรื่อง cosmopolitanism ซึ่งเรียกร้องการถกเถียงสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีความเชื่อ แนวคิด และวัฒนธรรมแตกต่างกัน คำถามสำคัญก็คือ อะไรคือความเหมือนในความแตกต่าง อะไรคือความแตกต่างในความเหมือนกัน และเราจะแสวงหาจุดลงตัวในการอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

เราพยายามทำให้กระบวนการเรียนรู้และเนื้อหาการเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกัน

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งทีมผู้สอนและผู้ช่วยสอนจึงมาช่วยกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เช่น การเลือกประเด็นถกเถียงและการกำหนดกติกาการดีเบต การบริหารจัดการห้องเรียนในวันดีเบต และการสื่อสารกับนักเรียนร่วมพันในชั้นเรียนผ่านเฟซบุ๊กกรุ๊ปของวิชา เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ออกมาช่วยยืนยันความเชื่อหลายอย่าง และให้โจทย์ท้าทายต่ออีกหลายเรื่องเลยครับ

1. การจัดกิจกรรมดีเบตในห้องเรียนขนาดใหญ่ (ระดับเกือบพันคน) เป็นไปได้จริง ถ้าออกแบบกระบวนการให้ดี

ตอน อ.วรพจน์ บอกผมครั้งแรกว่าจะเลือกเส้นทางนี้ พูดตามตรงว่าผมเองไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่คิดว่าเอาก็เอา ลองดูสักตั้งก็ท้าทายดี ท้ายที่สุด เราประเมินเหมือนกันว่าประสบความสำเร็จมากครับ

เราเลือกหัวข้อให้ถกเถียงกัน 4 หัวข้อ ได้แก่

(1) การเปิดรับผู้อพยพชาวโรฮิงญา

(2) สิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

(3) การออกกฎหมายห้ามการขลิบอวัยวะเพศสตรี (Female Genital Mutilation หรือ MGF) ในแอฟริกา

(4) ความชอบธรรมในการสอดแนม ละเมิดความเป็นส่วนตัว และเซ็นเซอร์เนื้อหา ในนามความมั่นคงของรัฐ

ในแต่ละหัวข้อ ให้มีนักศึกษา 2 กลุ่ม กลุ่มละ 3 คน มาเป็นฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

เบื้องต้นเรากำหนดกติกาให้แต่ละกลุ่มมีเวลาในการนำเสนอครั้งแรกกลุ่มละไม่เกิน 8 นาที เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอเสร็จแล้ว แต่ละฝ่ายจะมีเวลา 2 นาทีในการตอบโต้ข้อโต้แย้งของอีกฝ่าย จากนั้น ทางทีมผู้ช่วยสอนและอาจารย์ รวมถึงนักศึกษาผู้ฟังในห้องจะร่วมแสดงความเห็นและถามคำถามประมาณ 10 นาที รวมทั้งหมดหัวข้อละ 30 นาที

เราจะเริ่มต้นวิชาด้วยการดีเบตก่อน ยังไม่สอนเนื้อหา 4 หัวข้อ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง แล้ว อ.วรพจน์จึงสรุปรวมการดีเบต ขมวดปม และบรรยายเรื่อง cosmopolitanism ปิดท้ายอีก 1 ชั่วโมง (วิชานี้มีเวลารวมกัน 3 ชั่วโมง) โดยดึงตัวอย่างการใช้เหตุผลของนักศึกษาจากการดีเบตมาสอนเรื่อง cosmopolitanism  แต่เอาเข้าจริง การดีเบตแต่ละประเด็นใช้เวลาร่วมชั่วโมง เพราะนักศึกษาเตรียมตัวกันมาอย่างดี และผู้ฟังในห้องก็มีส่วนร่วมมากเกินคาดหมาย จนไม่เหลือเวลาเราเลิกเรียนกันสายไปร่วมชั่วโมง และ อ.วรพจน์อดบรรยายปิดท้ายในวันนั้น เลยต้องกลับมาเยี่ยมวิชานี้อีกรอบในสัปดาห์ต่อไป

11220886_10153308958009001_7619107522866406067_n

2. นักศึกษาที่รักการเรียนรู้มีอยู่เสมอ  

เมื่อเราเลือกทางดีเบต ไม่ใช่บรรยายล้วน คำถามต่อมาก็คือ เราจะใช้วิธีเลือกนักศึกษาออกมาทำกิจกรรมกันอย่างไร ทางหนึ่งคือ บังคับให้ทุกคนไปทำการบ้านในแต่ละประเด็นและบังคับเข้าห้องเรียนเหมือนวันสอบ แล้วสุ่มเรียกออกมา ใครทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีก็หักคะแนนกันไป ซึ่งแนวทางนี้ผมคิดว่าใช้การไม่ได้ เพราะนักศึกษาที่ถูกเรียกออกมาจะไม่ได้อินกับเรื่อง รู้สึกเครียดและกดดัน เราไม่น่าจะได้ดีเบตที่มีคุณภาพ กิจกรรมดีเบตนี้น่าจะใช้แรงจูงใจเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ พวกเราเลยเลือกอีกทางหนึ่งคือการเปิดรับสมัครนักศึกษาตามความสมัครใจ

คำถามคือว่า เราจะหานักศึกษา 24 คน จากที่ลงทะเบียนเกือบพันคนได้ไหม นักศึกษาจะยอมสมัครกันไหม เพราะการให้นักศึกษาปีหนึ่งเทอมหนึ่งต้องออกมาพูดบนเวทีต่อหน้าเพื่อนหลายร้อยคน ในห้องเรียนจุหนึ่งพันคน มันก็สยองขวัญอยู่ ขนาดผมมาสอนห้องนี้ครั้งแรกยังตื่นเต้นแทบตาย

เราเลยคิดวิธีให้แรงจูงใจทางบวก เช่น ให้นักศึกษาที่สมัครดีเบต เลือกว่าจะส่งเปเปอร์ชิ้นสุดท้ายเหมือนเพื่อน แล้วได้เกรดเพิ่มอีกหนึ่งประจุ (เช่น จาก C เป็น C+) หรือจะเลือกให้อาจารย์ตัดเกรดจากการดีเบตแทนการเขียนเปเปอร์ชิ้นสุดท้ายไปเลย (วิชานี้เราให้นักศึกษาเขียนเปเปอร์ 3 ชิ้น ใช่ครับ! เด็กพันคนก็เถอะ เรากลัวเสียที่ไหน เพราะเรามีทีมผู้ช่วยสอนที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี!) บางคนก็ไม่แน่ใจว่าแรงจูงใจจะสูงพอให้เด็กสมัครไหม แต่ก็ลองดู

นอกจากนั้น ในวันที่คุณบรรยง พงษ์พานิชมาสอน คุณบรรยงได้ประกาศไว้ในห้องเรียนว่า จะขอเลี้ยงข้าวมื้อใหญ่หรูๆ ให้กับนักศึกษา 10 คน ที่เรียนวิชานี้ได้ดี โดยให้ผู้สอนคัดเลือกมา ผมก็เลยเอาโควต้าส่วนหนึ่งมาแบ่งให้ทีมดีเบตที่ได้รับเลือกเป็นขวัญใจห้อง 1 ทีม (3 คน) ส่วนโควต้ากินฟรีที่เหลือก็แบ่งให้คนที่เขียนเปเปอร์ 3 ชิ้นได้ดีที่สุดรวม 3 คน และอีก 4 คนที่ได้คะแนนรวมทั้งวิชาสูงสุด การได้ร่วมโต๊ะอาหารฟรีกับคุณบรรยงเลยเป็นอีกรางวัลที่เพิ่มขึ้นมายั่วเด็กๆ

เราให้เวลาสมัคร 2 วัน เมื่อถึงกำหนดมีนักศึกษาสมัครมาประมาณครึ่งหนึ่ง เลยขยายเวลาเพิ่มอีกหนึ่งวัน ตอนแรกก็เผื่อใจไว้ว่าบางหัวข้อที่มีนักศึกษาสมัครไม่ครบ ก็จะให้ทีมผู้ช่วยสอนเข้าไปโต้แทน แต่ผลสุดท้ายเราก็ได้ครบทั้ง 8 ทีม! ทีมสุดท้ายสมัครมานาทีสุดท้ายก่อนเดดไลน์พอดิบพอดี  ช่วงที่เปิดรับสมัคร พวกเราก็ไปเขียนบิลด์อารมณ์ในเฟซบุ๊กกรุ๊ปกันใหญ่เพื่อดึงดูดให้นักศึกษาสมัคร โดยเฉพาะช่วงที่ยังขาดบางทีม … แล้วผู้กล้าก็แสดงตัว

นักศึกษาบางคนเขียนในเฟซบุ๊กของเขาว่า ไม่ได้อยากได้คะแนนพิเศษ แต่อยากบอกเล่าความเชื่อความคิดของตัวเองให้เพื่อนฟัง บางคนบอกว่าอยากใช้เป็นโอกาสฝึกฝนการนำเสนอหน้าห้องเรียนหรือการพูดในที่สาธารณะ

12243294_10153309012549001_6220105011442448164_n

3. นักศึกษาทุกคณะมีส่วนร่วม

เซคชั่น TU101 ที่ผมรับผิดชอบ มีนักศึกษาจาก 4 คณะ คือคณะนิติศาสตร์ประมาณ 500 คน เศรษฐศาสตร์ 200 คน พาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี 200 คน และสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 100 คน ตอนแรกเราก็กังวลว่าจะมีนักศึกษาสมัครมาไม่ครบทุกคณะ ทำให้ความน่าสนใจลดลง และไม่หลากหลายทางความคิด

แรกเริ่มคิดกันว่าจะจำกัดสิทธิ์ของแต่ละคณะไม่ให้เกิน 2 ทีมดีไหม เพื่อให้เกิดความหลากหลาย แต่สุดท้ายก็ไม่อยากบังคับ เลือกปล่อยไปตามธรรมชาติดีกว่า และคิดว่าถ้ากำหนดแบบนั้นก็ไม่ค่อยเป็นธรรมกับคณะที่มีคนเรียนมากกว่า แต่ถูกจำกัดสิทธิ์เข้าร่วม อีกทั้งคณะเดียวกันก็ใช่ว่าจะคิดเหมือนกันทั้งหมดที่ไหน

ปรากฏว่าในการรับสมัคร นักศึกษานิติศาสตร์ตื่นตัวมากที่สุด ส่งกันมาหลายทีม ส่วนอีกหลายทีมก็เป็นทีมลูกผสมจากหลายคณะ สุดท้าย เรามีนักศึกษาเศรษฐศาสตร์กระจายอยู่ในทีมต่างๆ รวม 4 คน มีทีมบัญชี 1 ทีม (3 คน) มีนักศึกษาสังคมวิทยาฯ 1 คน ที่เหลือเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ 16 คน ทั้งจากทีมผสมและทีมนิติล้วน

เรียกว่านักศึกษาครบทุกคณะสมัครลงสนามมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน คลายความกังวลของทีมผู้สอนไปได้

12241794_10153309012694001_6928388549382415522_n

4. นักศึกษาเตรียมทำการบ้านมาอย่างดี 

เราไม่ได้โยนหัวข้อให้นักศึกษาไปเฉยๆ แล้วขึ้นมาดีเบตในวันจริงเลย ทีมงาน (ทีมอาจารย์และทีมผู้ช่วยสอน) พยายามช่วยกันเลือกประเด็นที่คิดว่านักศึกษาจะสนใจและดีเบตได้ไม่ยากเกินไป ตัวอย่างหลายประเด็นที่ตกไป เช่น ยิว-ปาเลสไตน์ การซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอน การให้การขายบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ฯลฯ

ตอนให้นักศึกษาสมัครเลือกดีเบตในแต่ละประเด็น เราเขียนที่มาที่ไป กรอบประเด็น และคำถามหลักเป็นไกด์ให้ รวมถึงความคาดหวัง และเกณฑ์การประเมิน นอกจากนั้น ในแต่ละประเด็นเราส่งผู้ช่วยสอนไปช่วยเป็นที่ปรึกษาประเด็นละ 2 คน ซึ่งนักศึกษาสามารถเขียนไปถามและปรึกษาหารือได้ตลอดเวลา

ทั้งหมดนั้น เราใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร ทั้งกับทีมดีเบตและผู้ฟัง และระหว่างผู้ช่วยสอนกับผู้สมัครดีเบต ผลสุดท้าย แต่ละทีมตระเตรียมกันมาเป็นอย่างดี ทั้งที่มีเวลาทำงานจริงๆ ประมาณ 4-5 วันเท่านั้น ทีมพี่ๆ ทีเอก็ช่วยเหลือน้องๆ กันอย่างดี และเตรียมมาคอมเมนต์กันอย่างตั้งใจ หลายทีมอ้างงานวิจัยต่างประเทศ อ้างข้อมูลตัวเลข อ้างกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ มาสนับสนุนความคิดของตัวเอง

12249677_10153309131274001_1984278819379043527_n

5. ผู้ฟังมีส่วนร่วมมาก

อีกความกังวลหนึ่งก็คือ จากนักศึกษาหลายร้อยคนจะมีคนที่ได้ร่วมกิจกรรมจริงๆ ประมาณ 24 คนเท่านั้น ทำอย่างไรจึงจะตรึงความสนใจของผู้ฟังได้ การที่นักศึกษาสมัครเข้าร่วมครบทุกคณะก็ทำให้เราสบายใจขึ้นพอสมควร เพราะอย่างน้อยคงมีคนหลายกลุ่มเข้ามาลุ้นเชียร์เพื่อนๆ

กระนั้น อ.วรพจน์ในฐานะบอสใหญ่ openworlds ก็อุตส่าห์ขนหนังสือมาเป็นของรางวัล แจกฟรีแก่นักศึกษาที่ร่วมแสดงความเห็นและถามคำถามจำนวนหนึ่ง เมื่อมีเจ้าของสำนักพิมพ์มาสอน หนังสือก็หลั่งมาเองเหมือนน้ำฝนอันชื่นใจ

ผลที่ออกมาคือ นักศึกษาให้ความสนใจถามคำถามและแสดงความเห็นกันอย่างคึกคักมาก ยกมือกันแหลก วิจารณ์กันสนุก พูดออกไมค์กันไม่ได้ครบทุกคน เพราะเวลาน้อย หลายคนทำท่าตบเข่าหรือส่ายหัวผิดหวังที่ไม่มีโอกาสได้พูด

ผมเชื่อว่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่แสดงความเห็นและร่วมถามคำถามไม่น่าจะยกมือพูดแค่อยากได้หนังสือฟรี (หลายคนที่แสดงความเห็นแต่กลับบ้านไปก่อนก็ไม่ได้มาเอาหนังสือฟรีแต่อย่างใด) แต่อยากพูดสิ่งที่ตนคิดและคับข้องใจเสียมากกว่า

บรรยากาศการแสดงความเห็นและถามคำถามในห้องเมื่อวานดีมากจริงๆ ครับ เกินความคาดหมายไปหลายขุม

6. ก้าวแรกที่น่าตื่นเต้น

การดีเบตเมื่อวานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการฝึกฝนการถกเถียงทางปัญญาของนักศึกษาต่อไป การฝึกใช้เหตุผล การจับประเด็น การสังเคราะห์ประเด็น และการวิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนประกอบสำคัญมากของการทำงานและการเรียนรู้ทางวิชาการ เราได้ฝึกฝนการโต้เถียงอย่างมีเหตุผลมากกว่าอารมณ์ และได้ซึมซับวัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา

เมื่อวานนี้แต่ละกลุ่มมีจุดแข็งแตกต่างกัน หลายกลุ่มนำเสนอดีมาก พูดเก่งมากระดับมืออาชีพ (มีทั้งแนวอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ) หลายกลุ่มก็มีตรรกะและความสามารถในการใช้เหตุผลที่ดีมาก บางกลุ่มสร้างอารมณ์ร่วมในห้องได้ดี แต่ในเชิงการใช้เหตุผลและยกประเด็นโต้เถียงยังพัฒนาได้อีก บางทีมต้องมารับบทตรงข้ามความเชื่อของตัวเอง เช่น กลุ่มคัดค้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน แต่ก็พยายามทำหน้าที่อย่างดี

เรียกว่าทุกทีมมีจุดเด่นของตัวเองที่น่าชื่นชมครับ ถ้ามองมันในฐานะผลงานของนักศึกษาปี 1 และมีเวลาทำการบ้านไม่ถึงสัปดาห์แล้ว เรียกว่าน่าทึ่งและน่าปรบมือให้ทุกทีมเลยครับ

ทั้งหมดนี้เป็นเบื้องหลังบางส่วนที่มาเล่าสู่กันฟังครับ เผื่อจะมีประโยชน์กับการออกแบบการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ บ้าง พวกผมเองก็อยู่ในกระบวนการเรียนรู้การจัดการห้องเรียนยักษ์ขนาดนี้เหมือนกันครับ ลองผิดลองถูกกันทั้งเทอม เทอมหน้าเราจะลองพัฒนาต่อให้สนุกขึ้นกว่านี้

เจออะไรสนุกๆ แบบนี้ หวังว่า อ.วรพจน์จะอยากกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออีกสักที

……………………

ประเด็นดีเบตเรื่อง cosmopolitanism โดย อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง

(1) การเปิดรับผู้อพยพชาวโรฮิงญา

ข่าวการปฏิเสธไม่รับผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้าดินแดนของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นำไปสู่การถกเถียงร้อนแรงถึงคำถามด้านมนุษยธรรมและผลประโยชน์ของชาติทั้งในและต่างประเทศ สื่อต่างชาติเรียกการที่สมาชิกอาเซียนต่างผลักเรือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ลอยเคว้งอยู่กลางทะเลกลับสู่น่านน้ำสากลว่า ‘ปิงปองมนุษย์’

นโยบายเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่ปะทุขึ้นระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาผลักดันให้ชาวโรฮิงญากว่า 120,000 ชีวิตอพยพหนีตายมาทางเรือโดยไม่รู้ชะตากรรมใดๆ และมีรายงานว่าชาวโรฮิงญากว่า 6,000-8,000 ชีวิตลอยเคว้งอยู่กลางทะเลอันดามันโดยไม่รู้ชะตาชีวิต ภายหลังสมาชิกอาเซียนหลายแห่งประกาศไม่รับชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งด้วยเหตุผลต่างๆ นานา อาทิ การรับเข้ามาจะกลายเป็นภาระของชาติ โรฮิงญาอพยพมาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ (จึงไม่ต้องทำตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการรับผู้ลี้ภัย) ในประเทศไทยเอง ความเห็นที่ปรากฏตามหน้าข่าวและสื่อสังคมส่วนหนึ่งก็สนับสนุนจุดยืนของรัฐบาลไทย เพราะหวั่นเกรงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจตามมาภายหลัง บ้างก็โจมตีไปถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของโรฮิงญา

อีกด้านหนึ่ง ชุมชนนานาชาติออกมาประณามเกมปิงปองมนุษย์ของสมาชิกอาเซียนที่เห็นผลประโยชน์ของชาติเหนือกว่าหลักมนุษยธรรม พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนเคารพกฎเกณฑ์นานาชาติในการเปิดให้ผู้ที่ถูกทิ้งกลางทะเลขึ้นฝั่ง และองค์กรภาคประชาชาสังคม เช่น AVAAZ เรียกร้องให้ชาวไทยกดดันรัฐบาลให้ยื่นมือช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน

คำถามหลัก: ท่านคิดว่าสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย ควรเปิดรับผู้อพยพโรฮิงญาด้วยเหตุผลเชิงมนุษยธรรมหรือไม่ หรือท่านคิดว่ารัฐชาติอย่างประเทศไทยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ และไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดชอบทางมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้อพยพจากประเทศอื่น?

(2) สิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2015 ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐฯ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและสิทธิดังกล่าวต้องได้รับการคุ้มครองในทุกมลรัฐ ในทั่วโลก มีทั้งหมด 21 ประเทศที่การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายทั่วทั้งประเทศ

ผู้สนับสนุนสิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเชื่อว่า การห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และผิดรัฐธรรมนูญ รวมถึงคู่สมรสเพศเดียวกันควรได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายไม่ต่างจากคู่สมรสต่างเพศ

ด้านผู้เห็นต่างโต้แย้งว่าการแต่งงานนั้นเป็นสถาบันครอบครัวรากฐานของสังคมที่ถูกนิยามไว้สำหรับผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงหนึ่งคนเท่านั้น (ในกฎหมายของหลายประเทศบัญญัติไว้เช่นนี้) นอกจากนั้นยังมีการอ้างความเชื่อทางศาสนา เช่น อิสลามนั้นปฏิเสธการรักร่วมเพศ หรือคริสเตียนบางกลุ่มเชื่อว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นผิดเจตจำนงของพระเจ้าที่ต้องการให้เกิดการสืบพันธุ์ และการเลี้ยงดูเด็กนั้นควรทำโดยพ่อและแม่เท่านั้น

แม้คำตัดสินดังกล่าวจะเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของผู้เรียกร้องสิทธิของคนเพศเดียวกัน แต่ภายหลังคำพิพากษา มีเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสมรสบางคนลาออกหรือปฏิเสธไม่ออกทะเบียนสมรสให้คู่รักเกย์ รวมถึงมีภาคธุรกิจที่ไม่ยอมขายเค้กแต่งงานให้กับคู่รักเกย์ โดยอ้างเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อส่วนตัว

คำถามหลัก: ท่านคิดว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลของมนุษยโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ และคู่สมรสเพศเดียวกันไม่ควรถูกกีดกันจากการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและการบริการทางสังคมใดๆ? หรือท่านคิดว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นควรเป็นสิ่งที่รัฐหรือชุมชนตัดสินเองว่าควรเป็นสิทธิที่ได้รับรองตามกฎหมายหรือไม่ โดยพิจารณาจากวัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ ของคนในท้องถิ่น?

(3) การออกกฎหมายห้ามการขลิบอวัยวะเพศสตรี (Female Genital Mutilation หรือ MGF) ในแอฟริกา

การขลิบอวัยวะเพศสตรีนั้นถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณและครั้งหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐฯ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบัน การขลิบอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงหรือ MGF ยังมีปฏิบัติกันอยู่ในหลายประเทศในแอฟริกา และบางส่วนของตะวันออกกลาง อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

เหตุผลในการขลิบก็เพื่อจำกัดความสุขทางเพศของผู้หญิง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้หญิงรักษาพรหมจรรย์ไว้ก่อนแต่งงานและป้องกันการนอกใจหลังแต่งงาน รวมถึงผู้หญิงที่ไร้ความสุขทางเพศมีแนวโน้มที่จะตั้งใจทำหน้าที่ในฐานะภรรยา แม่บ้าน และแม่ได้ดีกว่า นอกจากนั้น ในบางชุมชนยังนิยมชมชอบอวัยวะเพศที่มีลักษณะ “smooth” ซึ่งการขลิบอวัยวะเพศจะช่วยตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้

ในปัจจุบัน FGM ถูกห้ามในประเทศตะวันตกทั้งหมด (ยกเว้นเพื่อเหตุผลทางการแพทย์) และอีกหลายประเทศในแอฟริกา ในปี 2001 สภายุโรปเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกลงโทษประชากรที่ทำ FGM กระทั่งทำนอกสหภาพยุโรป รวมถึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงสิทธิของผู้อพยพที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำ FGM ด้วย อย่างไรก็ดีมีการประเมินว่า ในแต่ละปี มีผู้หญิงและเด็กสาวกว่า 2 ล้านคนผ่านกระบวนการทำ FGM

คำถามหลัก: ท่านคิดว่าประเพณีปฏิบัติในการขลิบอวัยวะเพศหญิงควรถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศหรือไม่ และควรมีการบัญญัติกฎหมายห้ามมิให้มีการทำ MGF ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือวัฒนธรรมในสังคมใดก็ตาม? หรือท่านคิดว่าการทำ MGF ถือเป็นสิทธิของชุมชนหรือปัจเจกบุคคลในการเลือกที่จะทำตามวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยไม่ควรมีการใช้มาตรฐานสากลหรือความเชื่อจากภายนอกมากำกับ?

(4) ความชอบธรรมในการสอดแนม ละเมิดความเป็นส่วนตัว และเซ็นเซอร์เนื้อหา ในนามความมั่นคงของรัฐ

ในปี 2556 หนังสือพิมพ์ Guardian และ Washington Post ได้รายงานถึงโครงการสอดแนมลับของสำนักงานความมั่นแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) ชื่อว่า PRISM ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวพลเมืองเน็ตทั่วโลกอย่างมาก โครงการ PRISM เป็นความร่วมมือระหว่าง NSA, FBI และบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ โดยบริษัทเหล่านี้อนุญาตให้ NSA เข้าถึงเซิร์ฟเวอร์เพื่อตรวจตราและเก็บรวบรวมข้อมูลกิจกรรมของผู้ใช้งานบนบริการของตน ทั้งอีเมล บันทึกการสนทนา ไฟล์ภาพ เสียง และวิดีโอ ข้อมูลในเครือข่ายสังคม รวมถึงข้อมูลการเข้าสู่ระบบ

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ชายหนุ่มวัย 29 ปี อดีตผู้ดูแลระบบให้หน่วยข่าวกรองของรัฐ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตนเป็นผู้ “ปล่อย” หลักฐานการมีอยู่ของ PRISM ด้วยเหตุผลว่า เขาไม่ต้องการอยู่ในสังคมที่รัฐคอยเฝ้าตรวจตรากิจกรรมส่วนตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต และเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันไม่มีสิทธิตัดสินใจว่านโยบายสอดแนมดังกล่าวดีหรือไม่กับประเทศชาติบนข้ออ้างเรื่องความมั่นคงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมตัดสินใจบนฐานของข้อมูลที่รอบด้านและโปร่งใส โดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตยอย่างความเป็นส่วนตัวด้วย ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ นั้นให้เหตุผลว่าเป็นการทำเพื่อความมั่นคง ซึ่งมาตรการสอดแนมข้อมูลความเป็นส่วนตัวนั้นมีความเข้มข้นมากขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 9/11

กรณีของไทยนั้น นโยบาย “ซิลเกิล เกทเวย์” ซึ่งต้องการทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งประเทศที่ออกสู่ต่างประเทศทำผ่านประตูทางผ่านเดียว ก็อาจนำไปสู่การเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารและการละเมิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะรัฐสามารถเข้ามาควบคุมการไหลของข้อมูลและดักเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น ด้านรัฐบาลนั้นก็อ้างถึงความจำเป็นในการจัดการกับ “ภัยคุกคามความมั่นคง”

คำถามหลัก: ท่านคิดว่านโยบายสอดแนมที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและการเซ็นเซอร์เนื้อหานั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และรัฐบาลของทุกประเทศควรถูกห้ามมิให้สอดแนมข้อมูลในโลกออนไลน์หรือไม่? หรือท่านมองว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการสอดแนมข้อมูลและเซ็นเซอร์เนื้อหาในนามของความมั่นคง และแต่ละสังคมควรเป็นผู้ตัดสินเองว่าการสอดแนมของรัฐนั้นมีประโยชน์ต่อประเทศชาติมากเพียงพอที่จะแลกกับสิทธิบางอย่าง?

…..

Print Friendly