9 ways of Way

 

way11

ขอแสดงความยินดีกับ Way ในวาระก้าวสู่ปีที่ 10 ด้วยครับ

9 ปีที่ผ่านมาของ Way เป็นดังที่ ตุ่น-รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ บรรณาธิการคนปัจจุบัน เขียนไว้ในบทบรรณาธิการ WAY#90 ว่า “เหยียบยืนได้เต็มเท้า มีเส้นทางให้เดิน และสามารถสบตากับตัวเองได้อย่างไม่ขัดเขิน” และเป็น 9 ปีที่เต็มไปด้วยผู้อ่านและผองเพื่อนยืนเคียงข้างตามรายทางมากมาย

อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหาร เขียนเรื่อง “เพื่อน” ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า “เวลาพูดถึงเพื่อน เราไม่ควรใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย”  ในฐานะที่ผมนับชนชาว way เป็นเพื่อน ผมขอบอกสั้นๆ ว่า “อิ่มใจและอุ่นใจ” มากครับ

อยากจบตรงนี้ จะได้ขลังและคมแบบอธิคม แต่ฉลอง 9 ปีทั้งที ผมว่าฟุ่มเฟือยกันบ้างก็ได้ (ฮา) เลยขออนุญาตฟุ่มเฟือยถ้อยคำต่อให้สมกับโอกาสอันเป็นมงคล เอาเป็นว่าผมขอบอกเล่าความคิดและความรู้สึกส่วนตัว 9 ประการต่อ way ไว้ตรงนี้สักนิด ในฐานะคนอ่านตั้งแต่เล่ม 1 จนถึง 90

1. Way to read! 

ทีม Way ชวนให้ผมขึ้นเวที WAY, WALK ON คุยเรื่อง 9 ปี นิตยสาร Way ในฐานะนักวิชาการเน้นๆ เลยขอทำทีชี้ประเด็นแบบมีระเบียบวิธีวิจัยสักหน่อย ถ้าจะให้ดีที่สุด ผมคงต้องกลับไปนั่งอ่าน Way ให้ครบทั้ง 90 เล่ม แล้ววิเคราะห์วิจารณ์อย่างเป็นระบบ แต่เราไม่ได้มีโอกาสไปคัดเลือกเรื่องเด่นรอบ 9 ปีกับเขา เลยไม่มีจังหวะให้ย้อนกลับไปอ่านทั้งหมด มิหนำซ้ำสัปดาห์ก่อนก็นอนป่วยปวดไซนัสทั้งสัปดาห์ เจอฝุ่นหนังสือไม่ได้ ทำการบ้านให้ไม่ไหว เลยขอใช้ “ระเบียบวิธีแบบสุ่ม” (หรือเรียกง่ายๆ ว่าแบบมั่ว) แทนแล้วกัน คือหยิบ Way จากชั้นหนังสือที่บ้านมามั่วๆ 5 เล่ม (ไอ้จำนวน 5 เล่มนี่ก็มั่วเอาเหมือนกัน) แล้วมาเปิดอ่านเตือนความทรงจำว่า เราคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับ Way บ้าง ชอบอะไรที่สุดในแต่ละเล่มที่สุ่มอ่าน ซึ่งขออนุมานแบบมั่วๆ ดีๆ ว่า 5 เล่มตัวแทนนั้นพอเป็นกลุ่มตัวอย่างที่สะท้อนความเป็น Way ทั้งหมดได้

ผลออกมาว่า ผมสุ่มได้เล่ม 1, 17, 36, 64 และ 74 มา “อ่านใหม่” … เมื่ออ่านแล้ว ผมค้นพบอะไรบ้าง?

way1

เล่ม 1: ผมชอบสารคดีหลักประจำเล่ม หรือ main way  ก่อนที่เราจะปั่นจักรยานกันทั้งประเทศ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2558  way นำกระแสเรื่องจักรยานมานานแล้วครับ ยกให้เป็นเรื่องหลักของฉบับปฐมฤกษ์ราวกับทำนายกระแสได้ล่วงหน้า  main way โดย รัชดา ธราภาค ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์เป็นชื่อเรื่องว่า ท้องถนนไม่ใช่ที่ของ ‘คนตัวเล็ก’ !?  (เหม่ บางวันก็ไม่เสมอไปนะครับ)

สารคดีหลักของ way มักจะนำหน้าสังคมไปช่วงตัวหนึ่งเสมอ มีส่วนช่วยสร้างและ shape ดีเบตสาธารณะใหม่ๆ ที่น่าสนใจ นำเสนอข้อมูลพื้นฐานรอบด้านให้ไปถกเถียงกันต่อ จุดเด่นที่สำคัญคือ ผลงานส่วนใหญ่สามารถ ask the right question ต่อประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่ง the right question มันสำคัญพอๆ กับหรือสำคัญมากกว่าการแสวงหา the right answer เสียอีก

way2

เล่ม 17: ผมชอบภาพถ่ายของ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในคอลัมน์ interview  ผมว่ามันดูเป็น อ.ธเนศที่พวกเราคุ้นเคยมากๆ นี่คือความเก่งของ อนุชิต นิ่มตลุง หรืออนุช ยนตมุต บรรณาธิการภาพ ที่มักจะดึงเอาตัวตนของผู้ถูกสัมภาษณ์ออกมาได้อย่างหมดจด มีพลัง มีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึก และจับโมเมนต์สำคัญเสี้ยววินาทีได้อยู่หมัด ผมนึกถึงหลายๆ ภาพใน way ที่อยู่ในใจผม เช่น ภาพ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ภาพคุณบรรยง พงษ์พานิช ภาพ อ.อัมมาร สยามวาลา ที่จำได้แม่นเพราะผมรู้จักท่านเหล่านี้ และยังไม่เคยเห็นรูปถ่ายอื่นที่ดูดีเท่าฝีมืออนุชิต

way3

เล่ม 36: ผมชอบคอลัมน์ interview  นั่งอ่านบทสัมภาษณ์ ฟิลิป คอร์นเวล สมิธ ผู้เขียนหนังสือ Very Thai โดย อภิรดา มีเดช กับรุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ด้วยความสนุกสนาน ผมชอบที่ way มักจะจับตัวละครใหม่ๆ สารพัดวงการ ที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสอ่านความคิดของเขามาคุยเชิงลึกอย่างถึงกึ๋นถึงแก่น เห็นบริบทแวดล้อม และไปไกลกว่าประเด็นฉาบฉวยเฉพาะหน้า หรือไม่ก็เอาคนที่คุ้นหน้าอยู่แล้วมาคุยใหม่ในมุมที่เราไม่เคยได้อ่านกันมาก่อน หรือในแบบที่ลงลึกกว่าที่เคยอ่านกัน  บทสัมภาษณ์หลักของแต่ละเล่มจึงเป็นคอลัมน์แรกๆ ที่ผมอ่านก่อนเสมอ

way4

เล่ม 64: ผมชอบปก  เนื้อหาในเล่มเป็นเรื่องพระ ตั้งคำถามกับศาสนา วิเคราะห์วิจารณ์พุทธศาสนา เข้ม-ณขวัญ ศรีอรุโณทัย บรรณาธิการศิลปกรรม กลับเอารูปแมวน่ารักมาล่อ จับห่มผ้าเช็ดตัวสีจีวร สักยันต์คิตตี้บนตัวแมวอีกต่างหาก นี่มันมีมแมวกู้โลกในอินเทอร์เน็ตชัดๆ  สำหรับผมแล้ว ปกของ way แต่ละเล่มเป็นเสน่ห์และไฮไลท์ที่คนอ่านจับตาว่าเดือนนี้จะมาไม้(มุข)ไหน และนับวันขีดขั้นและกรอบทั้งหลายทั้งปวงจะยิ่งถูกแทงทะลุไปจนหมดสิ้น ความกวนตีนผสมความน่ารักแบบพอดีๆ ทำให้ผมนึกถึงคำนิยามที่ อ.เสกสรรค์ มอบให้ way ว่า “กวนตีนอย่างมีรสนิยม”

way5

เล่ม 74: ผมชอบคอลัมน์สองคอลัมน์เป็นพิเศษ มันแสบจริงๆ คอลัมน์แรกคือ Cramp ของโตมร ศุขปรีชา ถมดำทั้งหน้าคู่ (อยากรู้มากว่าจ่ายค่าต้นฉบับกันอย่างไร)

way6

และคอลัมน์หน้าสุดท้าย By the Way ของอธิคม คุณาวุฒิ ถ่ายรูปตีนคีบดอกไม้จันทน์ แล้วเขียนถามประโยคเดียว “ยังมอบดอกไม้ทันมั้ย”

way7

รุ่นใหม่ทั้งหลายศึกษาจากรุ่นกลางไว้นะครับ เล่มนี้หน้าปกเป็นเรื่องความงาม คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่อย่างชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ไชยันต์ ไชยพร ยังเกรงใจบรรณาธิการมิกล้าไม่ออกนอกธีม แต่รุ่นกลางเขาโชว์ตีนกับถมดำกัน

ผมเอะใจสงสัยว่าเล่มนี้มันวางแผงเดือนไหน เปิดไปหน้าสารบัญถึงได้รู้ว่า มิถุนายน 2557 … มิน่าถึงต้องถมดำ-มอบดอกไม้(จันทน์)ด้วยตีน

อ่านมาจนครบ 5 เล่ม ก็มาพบว่าส่วนที่เราประทับใจในแต่ละเล่ม มันมีครบหมดเลยนี่หว่า ตั้งแต่สารคดีหลัก หน้าปก บทสัมภาษณ์ คอลัมน์ ภาพถ่าย ซึ่งทั้งหมดนั้นรวมประกอบกันเป็น Way

ขนาดเล่มสุ่มไม่กี่เล่มยังสะท้อน ‘ทาง’ หรือ ‘วิถี’ ของ Way ในภาพรวมได้ชัดเจน แสดงว่าบุคลิกของ Way ต้องชัดเจนแม่นยำมาก ส่วนคุณภาพก็ต้องคงเส้นคงวาสม่ำเสมอ เรียกว่าหยิบเล่มไหนเป็นต้องเจอ ‘ทาง’ ของ Way เล่นงาน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

แล้ว ‘ทาง’ ของ Way ที่ว่า มันคืออะไร?

2. My Way!

Way เล่มแรก พาดหัวว่า My Way! ตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม 2549 ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรียกว่า Way คลอดมาก็อยู่ภายใต้สถานการณ์ยากลำบากแล้ว เพราะสังคมไทยเดินเข้าสู่ยุคมืดบอดทางสติปัญญาและจมปลักอยู่ในวิกฤตเปลี่ยนผ่านตลอดช่วงชีวิตของ Way

การอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ก็ว่ายากแล้ว เช่น ทำไมชนชั้นกลางที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยถึงหันไปสนับสนุนเผด็จการ ทำไมคนที่เคยได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทยกลับกลายเป็นฝ่ายล้าหลังได้อย่างเหลือเชื่อ ทำไมคนอย่างทักษิณกลายเป็นผู้นำขบวนการประชาธิปไตยในช่วงหนึ่งไปได้ ทำไมผู้มีปัญญาจำนวนมากจึงยังเข้าไปรับใช้คณะรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ราวกับไม่เคยเรียนรู้เลยว่าหน้าต่างแห่งโอกาสในการปฏิรูปที่หลงเชื่อกันมันไม่มีอยู่จริงภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ราวกับไม่เคยเรียนรู้ว่าประชาธิปไตยสร้างจากเผด็จการไม่ได้

การแสวงหาคำอธิบายความวิปริตย้อนแย้งข้างต้นว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่า คือเราจะอยู่อย่างไรในวิกฤตเปลี่ยนผ่านที่สังคมแบ่งขั้วแยกข้างกันรุนแรงและพร่องสติปัญญา  Way จะยืนตรงไหนอย่างไรท่ามกลางความมืดบอดของสังคมไทย สถานการณ์ภายนอกก็ไม่เป็นใจ ส่วนสถานการณ์ภายใน ทุนรอนก็แทบไม่มี มีแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจในจรรยาวิชาชีพ คำถามที่แฟนานุแฟนหวั่นใจก็คือ Way จะสร้างเนื้อสร้างตัว – ในที่นี้คือการยอมรับนับถือเชื่อถือจากสาธารณะเป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง – และรักษา ‘ทาง’ ของตัวเองในบรรยากาศเช่นนี้อย่างไร

ทีม Way ไม่ได้ตอบด้วยคำพูด เท่าที่ผมรู้จัก พวกเขา “ทำเก่งกว่าพูด” ไม่พูดมากเจื้อยแจ้ว แต่ลงมือทำให้ดูอย่างหนักแน่นมั่นคง

90 เล่มของ Way คือคำตอบว่า ‘ทาง’ ของ Way คืออะไร? พวกเขายืนตรงไหน ยืนอย่างไร?

คำตอบด้วยผลงาน 9 ปีของ Way ยืนยันให้เราเห็นว่า ที่ยืนเต็มเท้าแบบเสรีชน บน ‘ทาง’ หรือ ‘วิถี’ ของตน หรือ My Way! มันเป็นไปได้และมีอยู่จริง ไม่ต้องเป็นแดง เหลือง เขียว ฟ้า โบกธงชาติ หรือใส่เสื้อหลากสี ไม่ต้องแขวนนกหวีด ไม่ต้องถือตีนตบมือตบ ไม่ต้องยึดเกาะกับผู้นำมวลชนคนไหน ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมองว่าเราสังกัดพวกไหน สีไหนกันแน่

ในยุครัฐบาลประชาธิปไตย Way ก็จะคอยสะกิดบอกว่าลำพังแค่ผ่านการเลือกตั้งไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ได้โดยไม่เห็นหัวประชาชน ประชาธิปไตยต้องไปไกลกว่าการเลือกตั้งโดยรูปแบบเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ เช่น การให้หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการชีวิตตัวเอง การเคารพเสียงข้างน้อย การสร้างธรรมาภิบาล การต่อสู้กับคอร์รัปชั่น การออกแบบระบบเลือกตั้งที่ยุติธรรมและแข่งขันกันอย่างเสรี นอกจากนั้น ประชาธิปไตยยังต้องกินได้ (อย่าลืมว่าสาย Way เขากินคลีนด้วย) และเห็นหัวคนจน

ส่วนในยุคเผด็จการ Way ก็จะคอยกระทุ้งถามเรื่องความชอบธรรมเชิงอำนาจ ชี้ให้เห็นคุณค่าของประชาธิปไตยและนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

สำหรับเหล่านักปฏิรูป Way ก็คงจะถามว่าเราจะปฏิรูปกันอย่างไรภายใต้กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เห็นหัวและไม่ได้ยินเสียงของคนคิดต่างและประชาชนทั่วไปนอกอุตสาหกรรมปฏิรูปหรือนอกหอคอยงาช้างของนักปฏิรูป มิพักต้องพูดถึงบรรยากาศการข่มขู่คุกคามผู้คนนอกกองเชลียร์ เช่น คนคิดต่างอุดมการณ์จำนวนมากถูกจับไปปรับทัศนคติโดยกองทัพ บ้างถูกดำเนินคดี บ้างถูกคุมขังในฐานะนักโทษการเมือง

9 ปีผ่านไป Way มาถึงจุดนี้กันได้ด้วย ‘ทาง’ แบบนี้แหละ … ใครอยากจะปักป้ายอย่างไร กูก็ยืนของกูแบบนี้ “ยืนตรงนี้” แหละ ถ้าใช้ศัพท์แบบชนชาว Way ก็คงบอกว่า “นี่คือภูมิประเทศของกู”

นี่คือ The way of Way

ส่วน “ยืนตรงนี้” คือยืนตรงไหน

เพื่อน way คงรู้อยู่แก่ใจ

3. Challenging Way! 

ในงาน 10 ปี ประชาไท เมื่อต้นปี 2558 บนเวทีสนทนา พวกเราคุยกันว่า 10 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยไม่สนุก เพราะดีเบตในแวดวงการเมืองไทยช่วงทศวรรษหลังมันล้าหลังลงมาก เราต้องกลับมาสอนหนังสือกันใหม่ตั้งแต่ต้นทางเลยว่า ประชาธิปไตยมีคุณค่าความหมายอย่างไร ทำไมการเลือกตั้งจึงสำคัญจนขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย ทำไมคนจนคนรวยควรมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน ทำไมประชาธิปไตยไม่เท่ากับคอร์รัปชั่น สันติวิธีเป็นทางออกอย่างไร ทำไมคนดีเป็นเทวดาขนาดไหนก็ต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุล และความยากจนไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจก (คนโง่หรือขี้เกียจ) แต่เป็นผลพวงจากการทำให้จนโดยรัฐ (นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ) และโดยโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจการเมืองต่างหาก

ประจักษ์ ก้องกีรติ กับผมเคยคุยกันว่า เดี๋ยวนี้สอนหนังสือยากขึ้น สมัยก่อน นักศึกษาใหม่ที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยอาจจะหัวว่างเปล่า แต่สมัยนี้เขาถูกสอนเรื่องการเมืองไทยหรือหลักประชาธิปไตยมาก่อนจากคนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล จตุพร พรหมพันธุ์ สุเทพ เทือกสุบรรณ ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้แล้ว อาจารย์อย่างพวกเราก็ทำงานยากและหนักขึ้น

เราสูญเสียนักวิชาการเก่งๆ คุณภาพระดับอินเตอร์ มาตอบคำถามพื้นฐานมากๆ พวกนี้ ทั้งที่ถ้าเลือกได้ เราคงอยากให้พวกเขาไปศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามที่มันท้าทายและสดใหม่กว่านี้ ในยุคสมัยหนึ่งเราเคยข้ามผ่านคำถามเก่าๆ พวกนี้ไปแล้ว หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ต่อให้เราเห็นนักการเมืองโกงหรือทำงานล้มเหลว เราก็ไม่เคยฝากความหวังไว้กับทหาร เพราะเรารู้ว่ามันแย่ยิ่งกว่า โจทย์ของเราคือภาคประชาชนจะรวมพลังตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่านักการเมืองหรือข้าราชการประจำอย่างไร หรือจะกระจายอำนาจรวมศูนย์ส่วนกลางออกไปสู่ท้องถิ่นอย่างไร เป็นต้น

ผมรู้สึกมาตลอดว่า สงครามระหว่างสี ที่ดำเนินมาร่วมหนึ่งทศวรรษ ทำให้คนคุณภาพที่มีฝีมือและพลังในการเปลี่ยนประเทศนี้ส่วนหนึ่ง “มือตกลง” เหตุเพราะเราอยู่ภายใต้ความอับจนทางปัญญาอย่างหนัก ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง รวมถึงนักวิชาการ ก็แข่งกันทำลายตัวเองแบบน่าสมเพชเวทนา ไม่ยึดกุมหลักวิชาของตนให้มั่น กลับมองสั้นทรยศหลักการเพื่อยุทธศาสตร์การเมืองหรือความสำเร็จซึ่งหน้า กลัวผีนั่นผีนี่หน้ามืดตามัว เด็กนักศึกษาที่เข้ามาเรียนนิติศาสตร์แค่ 1-2 ปี ก็อาจรู้สึกตัวพองว่าตัวเองเก่งเต็มประดา กลายเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะเถียงเรื่องวิชาการเอาชนะศาสตราจารย์นักกฎหมายใหญ่ของประเทศนี้ได้ไม่ยาก คือหลายครั้ง เรารู้สึกว่าคู่แข่งหรือประเด็นถกเถียงมัน “กระจอก” เกินไป นั่นทำให้เราโง่ลงด้วย ขัดกับที่หนังจีนกำลังภายในชอบสอนเราว่า ถ้าอยากพัฒนาฝีมือ ต้องเลือกทางยาก ต้องเจอคู่ฝีมือเก่งๆ

ถ้าย้อนกลับไปอ่าน Way ฉบับปฐมฤกษ์ จะเห็นว่า 9 ปีผ่านไป ประเทศไทยแทบไม่เปลี่ยนเลย อาการกลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง เขียนคอลัมน์ ประชาชนเกี่ยวอะไร ใน Way เล่มแรกว่า “ผลสะเทือนของระบอบรัฐประหาร ยังทำให้พื้นที่การเมืองของคนจนที่เคยปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ผ่านการผลักดันต่อสู้กันมายาวนานหายไป … พื้นที่การเมืองที่หายไปของคนจนจะเอาคืนมาได้อย่างไร ในสถานการณ์ซึ่งธรรมนูญการปกครองจะถูกร่างโดยนิติบริกรไม่กี่คน (โดยมีท่านคณบดีจำนวนหนึ่ง เข้าไปร่วมเป็นเจว็ด) และถูกเขียนในเวลาอันสั้นมากๆ โดยผู้คนไม่สามารถตรวจสอบและมีส่วนร่วม … สถานการณ์ที่พูดถึงการปฏิรูปการเมืองดังกล่าวนี้กลับจำกัดพื้นที่ ช่องทางของคนจน คนรากหญ้า ที่สำคัญคือ สถานการณ์ของการเว้นวรรคอำนาจของคนจน คนรากหญ้า ไม่รู้จะยาวนานไปอีกแค่ไหน” 

เนื้อหาของบทความชิ้นนี้ยังคงทันสมัย เพียงแค่เปลี่ยนชื่อบางที่จาก “คปค.” หรือ “คมช.” เป็น “คสช.” และเติมคำคุณศัพท์ขยายความว่า “หนักขึ้น” “แย่ลง” ก็เป็นอันใช้ได้  การอ่านบทความของประภาสราวกับเป็นการเดินทางย้อนกลับสู่โลกอนาคต (back to the future) ก็ไม่ปาน

เจษฎ์ โทณะวณิก ก็เป็นคอลัมนิสต์ยุคแรกของ Way ด้วย เขาเขียนคอลัมน์ ปมกฎหมาย  วางอยู่เคียงข้างคอลัมน์ประภาส ปิ่นตบแต่ง  เนื้อหาชิ้นแรกพยายามตอบคำถามเรื่องสิทธิและเสรีภาพใต้เงื้อมมือ คปค. ที่มีผู้ถามว่า ประชาชนอย่างเราๆ ยังมีสิทธิและเสรีภาพอันจำเดิมมีอยู่หรือไม่ ดังนี้ “จริงๆ แล้ว ก่อนที่เราจะมี คปค. นั้นเรามีสิทธิและเสรีภาพในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนหนึ่งหรือกลุ่มประชาชนมากน้อยแค่ไหน … เรามีโอกาสได้ใช้มันจริงๆ หรือได้มีโอกาสสัมผัสถึง ‘ความมีอยู่’ ของมันหรือไม่ … หลายคนอาจจะกำลังรู้สึกสิ้นหวังมาก หากว่า คปค. คิดจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสิทธิและเสรีภาพของเราก็ทำได้เลยหรือ โดยเฉพาะพี่น้องสื่อมวลชน … แต่ถ้าเราจำกันได้ มีประกาศ คปค.ฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นฉบับแรกๆ เลยที่ให้การรับรองว่าประเทศไทย และ คปค. จะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ และบรรดาข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่ … ดังนั้นเราจึงยังมีอิสรภาพทางความคิด ที่จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดๆ ในบ้านเมืองของเรา … อย่ากังวลมาก เพราะพวกเราประชาชนเป็นพื้นฐาน และเจ้าของอำนาจทุกรูปแบบ อย่างไรเสีย คำตอบสุดท้ายก็อยู่ที่เราอยู่ดี” 

ตัวละครที่โลดแล่นในปัจจุบัน เราเห็นร่องรอยของเขาในอดีต  เวลาเปลี่ยน ประเทศไทยไม่เปลี่ยน บางคนก็ไม่เปลี่ยน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ เพื่อจะโยงมาบอกว่า ท่ามกลางสภาพสังคมจมปลักกับความอับจนปัญญานั้น  Way เป็นหนึ่งในสื่อที่พยายามจะ “ลับฝีมือ” ตัวเอง ด้วยการ “เลือกท่ายาก” เลือกประเด็นยากๆ สารพัดปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมมาสำรวจตรวจสอบ Way พยายามพาตัวเองไปไกลกว่าการเมืองสงครามเสื้อสีตั้งแต่แรก

สำหรับประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ นั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะทางการเมือง ไม่ว่าในยุคสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยหรือเผด็จการ (แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยมีศักยภาพในการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าระบอบเผด็จการ) มันไม่มีวันหายไปง่ายๆ ต่อให้เอาตัวละครหลักที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองออกไปจากสังคม ปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงดำรงอยู่ การแก้ปัญหาเหล่านั้นเรียกร้องต้องการ “ภูมิปัญญา” มากกว่าคำตอบมักง่ายทางการเมือง มากกว่าการเอาชนะคะคานทางการเมือง

ตัวอย่างของประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ Way ให้ความสนใจมาตลอด เช่น การปรับโครงสร้างอำนาจ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น การยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาที่ไปไกลกว่าแค่การจำนำข้าวแบบยิ่งลักษณ์ การออกแบบกฎกติกาเพื่อต่อต้านการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำและความไร้ธรรมาภิบาลของระบบยา ความมั่นคงทางอาหาร การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ทำให้ในช่วงที่ประเทศมืดบอด การอ่าน Way คือความหฤหรรษ์ประการหนึ่ง นี่คือเหตุผลที่ผมกล่าวตอนต้นว่า “อิ่มใจ”  ยิ่งอ่าน WAY#90 ยิ่งอิ่มมาก และอยากบอกทีมพ่อครัวว่า “อร่อยจริงๆ”

4. Another Way is possible! 

ลูกศิษย์รุ่นหลังๆ ชอบคุยกับผมว่า พวกเขาเกิดมาในยุคที่ไม่เคยเห็นเลยว่า การเมืองดีๆ มีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะต่างเติบโตทางความคิดมาในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ด้วยซ้ำ

สังคมไทยจะออกจากความมืดบอดได้สำเร็จ เราต้องการจินตนาการใหม่ ทางเลือกใหม่ และทางออกใหม่  สังคมต้องการเห็นตัวอย่างของทางเลือกและทางออกที่เป็นรูปธรรม เราต้องได้เห็นได้ลิ้มลองของดีๆ บ้าง ถึงจะรู้ว่าของดีมันเป็นอย่างไร จะได้รู้ว่าของที่เราอยู่กับมัน มันห่วยขนาดไหน เราจะได้จินตนาการถึงทางเลือกที่ดีกว่านี้กันได้ ผมเชื่อว่าหลายคนที่ยังจมปลักกับระบอบปัจจุบันก็เพราะมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้าว่าเราจะไปอย่างไรต่อ ถ้านักเปลี่ยนแปลงสังคมทำงาน “การเมืองความหวัง” กันมากขึ้น เอามาสู้กับ “การเมืองความกลัว” และ “การเมืองความเกลียด” น่าจะมีส่วนดึงผู้คนให้กลับสู่เส้นทางสายประชาธิปไตยที่พึงเป็นได้มากขึ้น

คุณูปการของ Way ในช่วงวิกฤตเปลี่ยนผ่านตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คือการนำเสนอให้เห็นทางเลือกใหม่ๆ จินตนาการใหม่ๆ ในหลายวงการ ทั้งในไทยและระดับโลก เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตซับไพรม์ การปฏิรูประบบการศึกษาและระบบสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กับการคุ้มครองผู้บริโภคและการเมืองภาคประชาชน การยกระดับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ การสร้างเมืองที่ทันสมัย น่าอยู่ และนับรวมทุกคน การต่อต้านคอร์รัปชั่นบนวิถีประชาธิปไตย การต่อต้านการผูกขาดและแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ  เราได้เห็นตัวละครใหม่ๆ เรื่องเล่าใหม่ๆ ที่น่าสนใจในหลากหลายสังคมรอบโลก ซึ่งช่วยพาเราออกจากความจริงที่โหดร้ายตรงหน้า ตัวอย่างรูปธรรมของวิถีแห่งความสำเร็จเหล่านี้คงช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของนักเปลี่ยนแปลงสังคมในช่วงเวลายากลำบากนี้ได้บ้าง

เอาแค่การดำรงอยู่ของ Way ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นแล้วว่า Another Way is possible! หนังสือแบบนี้ หนทางแบบนี้ มันยืนระยะอยู่ได้จริง มันแสดงตนเป็นตัวอย่างให้เห็น ให้เราอ้างอิง ให้เรากล้าที่จะสร้าง ‘ทาง’ ของเราเองบ้าง  มันทำให้คนที่เป็นนักสู้ร่วมทางกับ Way แม้จะคิดเหมือนบ้างหรือคิดต่างบ้าง สนใจประเด็นหลักต่างกัน หรืออาจจะต่างบุคลิก ต่างภูมิประเทศกับ Way ยังคงมีแรงใจก้าวเดินหน้าต่อไป

นี่คือที่มาของคำกล่าวว่า “อุ่นใจ” ของผมในตอนต้น  มันทำให้เราเห็นว่าบนเส้นทางสายนี้ เราไม่ได้เดินเดียวดาย

ตั้งแต่ต้นปี 2558 พวกเรา 7 องค์กรเล็กๆ ที่มีเจตนารมณ์เปลี่ยนสังคมนี้ให้ดีขึ้นด้วยความรู้และข้อมูลข่าวสาร รวมตัวกันตั้งกลุ่มหลวมๆ ชื่อ “แม่น้ำเจ็ดสาย” ขึ้น เป้าหมายหลักประการหนึ่งก็เพื่อให้คนทำงานในองค์กรทางเลือกเหล่านี้ได้รู้จักเพื่อนร่วมทาง ได้เรียนรู้ร่วมกัน รับพลังจากกัน จะได้ไม่รู้สึกเปลี่ยวเหงาจนเกินไปนัก

5. Way of Content! 

ในช่วงหลัง Way ทำหน้าที่ไปไกลกว่าคนทำนิตยสาร ทีมงาน Way จัดวางตัวเองใหม่ให้เป็นนักผลิตเนื้อหาและนักสื่อสารความรู้ ตัวผมเองชอบงานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ เพราะจะรู้สึกอดรนทนไม่ได้ถ้าเจอความรู้ดีๆ ในรูปแบบงานวิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือ ถูกหมกซ่อนอยู่แต่ในห้องสมุดหรือหิ้งหนังสือ เราอยากดึงงานเหล่านั้นมาจัดการเสียใหม่ ปรับรูปเปลี่ยนโฉม แปลงเนื้อหาให้เข้าถึงง่ายขึ้น ไฮไลท์มัน เพิ่มเสน่ห์ และเผยแพร่ออกไปสู่สังคมวงกว้างแบบมีสไตล์

บนเส้นทางนี้ Way เป็นเพื่อนร่วมทางชั้นครูของผม  สำหรับผม Way เป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งในวงการ จุดเด่นของ Way ในการทำงานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะอยู่ที่ “หลักแน่น” เข้าใจประเด็นชัด อ่านแตก เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ส่วนต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่เป็นองค์ความรู้ที่ต้องสะสมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องการการอ่านและการคิดที่แม่นยำ

นอกจากฐานหลักอันหนักแน่นเข้มแข็งแล้ว การขึ้นโครง-จัดเรียง-เชื่อมร้อยประเด็นในการสื่อสารต่อสาธารณะ ก็ “เฉียบคม” ชัดเจน รู้ว่าอะไรสำคัญ-ไม่สำคัญ อะไรควรดึงชูให้เด่น อะไรเป็นลูกเล่นสร้างรอยยิ้ม  งานของ Way จึงไม่ใช่การโยนข้อมูลแข็งๆ ใส่ผู้อ่านให้สำลัก แต่ถูกปรุงรสให้ “อร่อย” (รสหวานบ้าง เปรี้ยวบ้าง เผ็ดบ้าง) และ “มีเสน่ห์” ด้วย

เรียกได้ว่า “ฐานแน่น-โครงดี-ตกแต่งสวย”

ผมกับ Way เคยร่วมกันทำหนังสือชุดปฏิรูปประเทศไทย 3 เล่ม  Way ทำหน้าที่ช่วยถอดผลงานวิชาการเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยด้านต่างๆ ออกมาเป็นสื่อหนังสือที่เข้าถึงคนวงกว้างขึ้น  ทีมงาน Way ก็ไปตีโจทย์ออกมาเป็นหนังสือ 3 เล่ม ใช้ชื่อชุดว่า ไม้ยมก คือ พูดดีๆ (รวมบทสัมภาษณ์เชิงลึกว่าด้วยประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทย) ชาตินี้ตอนบ่ายๆ (รวมสารคดีว่าด้วยการปฏิรูปประเด็นปัญหาที่ควรจะแก้เสร็จตั้งแต่ชาติปางก่อน แต่ยังหมักหมมมาถึงตอนนี้) และภูเขาตายช้าๆ (รวมเรื่องสั้นสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย) ที่ตั้งชื่อว่า “ไม้ยมก” คงเพราะเป็นเรื่องที่พูดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ไม่ไปไหนเสียที

way8

อีกเล่มหนึ่งที่เราทำงานด้วยกันคือ การแปลงงานวิจัยเรื่องรู้ทันคอร์รัปชั่นผ่าน 35 กรณีศึกษาว่าด้วยคอร์รัปชั่นในสังคมไทยในทุกวงการตั้งแต่นักการเมืองทุกพรรค ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา บริษัทเอกชนที่สมคบผู้มีอำนาจการเมือง ฯลฯ ให้ออกมาเป็นหนังสือเล่มและกระจายถึงผู้คนวงกว้าง

Way ตีโจทย์กลับมาเป็นแนวคิด “เมนูคอร์รัปชั่น” โดยจับแต่ละกรณีศึกษาคอร์รัปชั่นมาใส่ไว้ในเมนูการโกง แล้วแยกส่วนออกเป็น ออร์เดิร์ฟ: เรียกน้ำย่อย, จานหลัก: อิ่มเต็มคำ, เปิบพิสดาร: สากกะเบือยันเรือขุด, ของหวาน: ทานง่าย อร่อยทุกมื้อ แล้วจบลงด้วยการเช็คบิล ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

ทีมงาน Way ช่วยทำให้การนำเสนอในรูปแบบหนังสือไหลลื่นน่าอ่านและมีเสน่ห์มากขึ้นอีกหลายชั้น เมื่อผสมผสานกับฝีมืออินโฟกราฟิกของ เทวฤทธิ์ นาวารัตน์ โดยมี ประชา สุวีรานนท์ และธนาพล อิ๋วสกุล เป็นที่ปรึกษา หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

way9

ฝีมือหลายมือของ Way ทำให้หนังสือชุด ไม้ยมก และ เมนูคอร์รัปชั่น กลายเป็นหนังสือที่มีแก่นแนวคิดชัดเจน แต่อ่านสนุก รื่นรมย์ และทลายกำแพงที่กั้นขวางโลกความรู้ระหว่างนักวิชาการกับนักอ่านทั่วไปได้มาก มากในแบบที่นักวิชาการอย่างพวกผมทำกันไม่เป็น คิดกันไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยคนในวงการตัวจริงแบบ Way ที่ถนัดในการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเนื้อหาสาระอย่างลงตัว แถมยังมีชั้นเชิงทางภาษา เล่นกับคำและความอย่างสนุกและมีความหมาย นี่ยังไม่ต้องพูดถึง “เสน่ห์” จากงานออกแบบปกและรูปเล่มจนคนทั่วไปอยากเปิดพลิกอ่านและเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นงานถนัดของ Way อยู่แล้ว

6. Team Way!

เมื่อแรกเกิด Way ตอนเรามองเข้าไปใน Way เรามองเห็น อธิคม คุณาวุฒิ

9 ปีผ่านไป ลองมองเข้ามาใหม่ เราจะเห็น อธิคม คุณาวุฒิ รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ณขวัญ ศรีอรุโณทัย อนุชิต นิ่มตลุง (อนุช ยนตมุติ) อภิรดา มีเดช วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ อารยา คงแป้น อาทิตย์ เคนมี คีรีบูน วงศ์ชื่น ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ และล่าสุด ชิน เอกก้านตรง

ผมเป็นแฟนคลับของพวกเขาทุกคน!

ตอนทำหนังสือชุด ไม้ยมก และ เมนูคอร์รัปชั่น ผมได้เห็นฝีไม้ลายมือในการจับประเด็นจนมั่น แล้วคั้นอย่างอยู่หมัด ของ อาทิตย์ เคนมี บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ เรียกว่าไม่เคยผิดหวังกับผลงานและความรับผิดชอบ

สำหรับสารคดีของ Way นั้น นอกจากทีมงานจะทำงานหนักเรื่องข้อมูลแล้ว ความโดดเด่นแตกต่างคือ ลีลาเชิงวรรณศิลป์ ผสมผสานเนื้อหาและอารมณ์ได้อย่างลงตัวกำลังดี  วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ กองบรรณาธิการ เป็นพ่อครัวที่ปรุงรสอักษรได้เอร็ดอร่อยเหลือหลาย วีรพงษ์เป็นหนึ่งในนักเขียนที่เติบโตในช่วงวิกฤตเปลี่ยนผ่าน และมีศักยภาพที่จะยกระดับวรรณกรรมหรือสารคดีออกจากกับดักเนื้อหาประเภทวนย่ำซ้ำรอย แบบตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทัน  ผมยังเป็นแฟนคลับงานเขียนของ อภิรดา มีเดช และอารยา คงแป้น ผู้มักตั้งโจทย์คำถามได้น่าสนใจ ด้วยสไตล์การเขียนแบบนิ่งๆ เรียบๆ ลึกๆ คมๆ ของพวกเขา อ่านแล้วรู้สึกเย็นดี แม้จะแอบมีร้อนบ้างเป็นระยะๆ ให้สะดุ้งเล่นในทีเผลอ

ตัวตนของ Way ส่วนหนึ่งในปัจจุบัน แยกไม่ออกจากตัวตนของ ณขวัญ ศรีอรุโณทัย บรรณาธิการศิลปกรรม เขาบอกว่าเขาเป็นคนปกติในหมู่คนบ้า สำหรับผม คนปกติที่สุดในหมู่คนบ้านี่แหละแสบสันต์ที่สุดแล้ว ใครอ่าน คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม คงรู้จักคามิยามะ เด็กนักเรียนที่เลวที่สุดท่ามกลางหุ่นยนต์ กอริลล่า เฟรดดี้ จตุรเทพที่มีห้าคน … ทั้งที่มันคือคนปกติ!  ผมชอบทุกอย่างในความเป็นเข้ม ทั้งผลงานและนิสัยใจคอ ที่ประทับใจที่สุดคือเขาเป็นนักออกแบบที่อ่านหนังสือจริงจัง เขียนหนังสือก็ดี ไม่แปลกใจที่เขาสามารถผสมผสานสมองส่วนซ้ายและสมองส่วนขวาทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

บรรณาธิการผู้กุมทิศทางหนังสือ อย่างรุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ รวมถึงบรรณาธิการคนก่อนหน้า สันติสุข กาญจนประกร ล้วนเป็นคนน่าสนใจ ผมเห็นความตั้งใจจริงของทั้งคู่แผ่กระสานซ่านเซ็นรอบตัวเสมอ ทั้งความตั้งใจที่จะทำหนังสือออกมาให้ดีที่สุด และความตั้งใจอยากเปลี่ยนให้สังคมนี้ดีขึ้นผ่านผลงานที่เขาทำ มันมีพลังทางอารมณ์อัดแน่นอยู่ในบทบรรณาธิการเสมอ

ผมคุ้นเคยกับรุ่งฤทธิ์มากกว่าสันติสุข เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจและมาตรฐานในการทำงานของเขา ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เห็นหน้าตาและอารมณ์ความรู้สึกตอนที่เขารับรู้ข้อผิดพลาดในหนังสือที่ทุ่มเททำ แล้วอยากจะเข้าไปกอดปลอบใจ เสียแต่ว่าเราตัวอ้วนทั้งคู่ เลยคิดว่าคงทำเช่นนั้นไม่ได้ ได้แต่ตบบ่ากันไป ตอนที่พวกผมทำรายการวัฒนธรรมชุบแป้งทอด เรื่อง วินมอเตอร์ไซค์ เราอยากหาคนธรรมดาที่เคยใช้บริการวิน ไม่ใช่นักวิชาการ แต่มีมุมมองที่น่าสนใจ สามารถเชื่อมโยงเรื่องของคนกับสังคมเมืองเข้าด้วยกันได้ สุดท้ายพวกเราเลือกเชิญรุ่งฤทธิ์ นี่คงเป็นคำตอบของอะไรหลายๆ อย่าง

ในฐานะนักอ่าน ยังต้องขอบคุณ คีรีบูน วงษ์ชื่น ที่ทำงานพิสูจน์อักษรอย่างมีคุณภาพ และทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ลมใต้ปีกของ Way คนทำงานด้วยกันย่อมรู้ว่าคนเบื้องหลังเหล่านี้สำคัญมากมายเพียงใด

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากอ่านงานเขียนของทิพย์พิมลมากขึ้นในอนาคต หากภารกิจ “กองหลัง” ผ่อนคลายลงมากขึ้น เพื่อนที่ผมนับถือคนหนึ่งบอกกับผมเสมอว่า คิดถึงผลงานของทิพย์พิมลในสไตล์จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจในยุคที่เธอเป็นกำลังสำคัญ เพื่อนของผมอยากกลับมาอ่านงานเขียนใหม่ๆ ของทิพย์พิมลมาก ผมเองก็เห็นด้วยกับเธอที่สุด

ปิดท้ายด้วยภาพถ่ายฝีมือ อนุชิต นิ่มตลุง ขวัญใจผม ถ่ายนักวิชาการก็ขรึมขลัง ถ่ายนางแบบสาวๆ สวยๆ ก็โคตรน่ารัก ผมชอบมุมมองและสไตล์ภาพของชิตมากๆ ไม่ว่าจะถ่ายภาพบุคคลหรือภาพเหตุการณ์ อย่างที่ได้เขียนไว้ตอนต้น ผมว่าอนุชิตต้องมีมนต์หยุดเวลา เพราะสามารถจับโมเมนต์สำคัญเสี้ยววินาทีนั้นได้อยู่หมัดเสมอ  ผมชอบชวนอนุชิตทำงานร่วมกัน มันสนุกดี งานหนังสือ 30 ปี ทีดีอาร์ไอ 30 ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภาพถ่ายของอนุชิตช่วยเพิ่มคุณค่าให้หนังสืออย่างยิ่ง จริงๆ แล้ว ผมอยากชวนอนุชิตมาทำงานช่างภาพรายการโทรทัศน์ด้วยกัน อยากลองทำงานภาพเคลื่อนไหวกับเขาบ้าง คิดว่ามุมมองด้านภาพที่น่าสนใจของเขา น่าจะสร้างอะไรใหม่ๆ สนุกๆ น่าตื่นเต้นได้

7. Friend of Way! 

Way ให้คุณค่ากับเพื่อนมิตรมาก มิตรของเขาคือเพื่อนร่วมโลกทั้งปวง ไม่ใช่แค่ดอน แค่สิงห์ แต่รวมถึงนักศึกษาฝึกงานทุกคน กระทั่งหมาแมว สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากใน WAY#90 คือ การบันทึกชื่อนักศึกษาฝึกงานครบทุกคนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในแผนผังบุคลากรและหน้าเครดิต ผมเคยทำงานกับอดีตนักเรียนผู้ผ่านโรงเรียน Way คนหนึ่ง ณัฐกานต์ อมาตยกุล รู้สึกประทับใจในความเก่งกาจของเธอมาก เมื่อครูดีเจอนักเรียนเก่ง เราก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจเช่นนี้เอง

แม้แต่ชื่อของ บุญชัย แซ่เงี้ยว นักสังเกตการณ์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ Way ก็ยังได้รับการบันทึกไว้ในเล่ม รวมถึงลุงเหม็น อีจี้ พี่เสือ ด้วย กล่าวสำหรับเพื่อนมิตรแล้ว Way ไม่เคยลืม และเห็นคุณค่าที่มิตรเหล่านั้นร่วมสร้าง ‘ทาง’ นี้ ไม่ว่าในสถานะและบทบาทใดก็ตาม

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดนี้ กลับสะท้อนชัดว่า way ของ Way ให้ความสำคัญกับอะไรเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต

นอกจากนั้น Way ยังมีเพื่อนหลากหลายวงการ และหลากหลายความคิด นับเป็นหนึ่งในสื่อที่มีคอลัมนิสต์ต่างความคิดและต่างบุคลิกอยู่รวมกันอย่างหลากหลาย นี่คือความงดงามท่ามกลางสังคมแบ่งขั้วแยกข้าง  Way ไม่ได้ทำสื่อเพื่อผลักดันอุดมการณ์หรือวาระของตัวเองเท่านั้น แต่พยายามทำความเข้าใจมุมมองและวิธีคิดของฝ่ายต่างๆ รวมถึงการสำรวจโลกที่ไม่เคยรู้จักหรือคนที่ไม่เห็นด้วย เพื่อนำเสนอประเด็นรอบด้านต่อผู้อ่าน อย่างให้เกียรติผู้อ่าน

8. Beyond the Way!  

ผมอยากเห็นอะไรจากก้าวต่อๆ ไปของ Way?

หนึ่ง ผมอยากฟัง “น้ำเสียง” จริงๆ ของทีมงาน Way มากขึ้น (ไม่นับอธิคมที่เสียงดังฟังชัดอยู่แล้ว) ที่ผ่านมา Way อาศัยคอลัมนิสต์หรือแขกรับเชิญมาให้เสียงแทน Way เป็นหลัก ผมอยากฟังเสียงความคิดของทีม Way มากขึ้น คิดว่าบรรณาธิการและกองบรรณาธิการทุกคนบ่มเพาะจนถึงพร้อมแล้วครับ ใส่ตัวตนและความคิดของตัวเองในงานเขียนได้มากขึ้น ไม่ต้องเขิน ไม่ต้องถ่อมตัว ไม่ต้องเกร็ง  ในเว็บไซต์น่าจะเปิดคอลัมน์กันคนละคอลัมน์เลย ผมคิดว่าเราจะได้อ่านความคิดที่น่าสนใจและใหม่สดแบบที่พวกนักวิชาการหรือคนรุ่นกลางและเก่าเขียนไม่ได้ เท่าที่ติดตามผลงานมา เชื่อว่ากองบรรณาธิการ Way มีลีลาการเขียนที่หาไม่ได้จากนักวิชาการอาชีพและนักข่าวอาชีพ

สอง ผมอยากอ่านข่าวเจาะแบบ Way  มั่นใจว่าคงมี ‘ทาง’ ที่ต่างจากประชาไท TCIJ ไทยพับลิก้า หรือสำนักข่าวอิศรา แน่นอน  ยิ่งถ้า Way ทำข่าวเจาะ (หรือสารคดี) ที่ออกไปจากประเด็นที่เป็น “ท่าถนัด” ของตัวเอง ยิ่งน่าสนุก และเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ทั้งคนทำและคนอ่าน เช่น ตามดูหลักสูตรและการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อย จปร. ว่าเราสร้างทหารแบบไหนขึ้นมา โดยเฉพาะเนื้อหาว่าด้วยประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ และโลกาภิวัตน์ อีกเรื่องที่อยากอ่านคืออยากอ่านสัมภาษณ์เหล่าเสื้อเหลืองกลับใจ เสื้อแดงกลับใจ กปปส.กลับใจ กองเชียร์รัฐประหารกลับใจ อยากฟังคนเหล่านี้วิพากษ์ขบวนการตัวเอง

สาม เว็บไซต์ของ Way ที่ตอนนี้มีคนติดตามเรือนแสนน่าจะเป็นช่องทางสื่อสารใหม่ที่น่าสนใจ เปิดช่องให้ Way เล่นกับสถานการณ์ปัจจุบันได้สนุกขึ้น อยากเห็นเว็บไซต์ Way มีฟังก์ชั่นในทางสำนักข่าวมากขึ้น ส่วนผสมระหว่างสำนักข่าว-สารคดี-สัมภาษณ์เชิงลึก-คอลัมน์ใน ‘ทาง’ ของ Way ในเว็บไซต์ คงสร้างความน่าตื่นเต้นให้วงการสื่อสารมวลชนได้ไม่น้อย และเหมาะกับยุคสมัยอย่างยิ่ง ทำให้อ่านหน่อยได้ไหมครับ

9. Bye the Way! 

ขนาดผมเป็นแค่ผู้อ่านและมีส่วนร่วมขีดเขียนให้ Way บ้างเล็กๆ น้อยๆ ยังรู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันกับ WAY#90 และวาระครบรอบ 9 ปี นิตยสาร Way ขนาดนี้  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนทำจะยิ่งรู้สึกกับมันขนาดไหน

ขอพลังจงอยู่คู่ชนชาว Way และมิตรสหายร่วม ‘ทาง’ ทุกคนไปนานๆ นะครับ  ทางข้างหน้า เราคงต้องออกแรงกันอีกมาก

ผมชอบบรรยากาศงานหนังสือ นอกจากจะได้เจอคนอ่าน ยังได้เจอคนทำ เห็นสิ่งที่เหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ลงแรงทำกัน ไม่ว่าจะเป็น Way ฟ้าเดียวกัน อ่าน สมมติ หรือตอนอ่านผลงานประชาไท มันได้พลังกลับไปทุกที ผลงานของมิตรสหายบอกเราว่า มึงอย่าบ่น อย่าลีลา อย่าเรียกร้องสร้างเงื่อนไขอะไรมาก ดูเขาทำงาน แล้วตั้งหน้าตั้งตาตั้งใจทำงานของพวกมึงต่อไป ให้มีคุณภาพระดับเขา ลุ่มลึกอย่างเขา ได้มาตรฐานเท่าเขา เขาเล่นท่ายากกว่า ทำงานหนักกว่า เหนื่อยหนาสาหัสกว่าเราหลายเท่า

อธิคม คุณาวุฒิ เขียนบทบรรณาธิการ Way ฉบับแรกช่วงท้ายว่า “ถึงที่สุด เราก็รู้ว่าอีกไม่นาน ฟ้าจะเปิด ถ้าไม่ใช่วันนี้ ก็ต้องเป็นวันต่อๆ ไป”

ฟ้าไม่เปิดเสียทีและคงไม่เปิดง่ายๆ ดูท่าพวกเราคงต้องร่วมออกแรง “เปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” กันเองกระมังครับ

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากบทเสวนางาน WAY, WALK ON คุยเรื่อง 9 ปี นิตยสาร way  ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2558 (ร่วมกับ ภัทระ คำพิทักษ์ กล้า สมุทวณิช และกรรณิการ์ กิจติเวชกุล)

Print Friendly