ค่าจ้างขั้นต่ำ (minimum wage) หมายถึง ระดับราคาค่าจ้างต่ำที่สุดตามกฎหมายสำหรับการจ้างแรงงาน นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเป็นเงินให้แก่ลูกจ้างในระดับต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ มิเช่นนั้นจักถือว่าผิดกฎหมาย เจตนารมณ์ของระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็เพื่อสร้างหลักประกันขั้นต่ำให้แรงงาน (และครอบครัว) ได้รับอัตราค่าจ้างในระดับที่สามารถบรรลุคุณภาพชีวิตที่ดีและดำรงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อันเป็นผลพวงมาจากนโยบาย ‘300 บาท’ ของพรรคเพื่อไทย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งได้สัญญาไว้ว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศในทันที
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับขึ้นสู่ระดับ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เฉพาะในท้องที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร พร้อมกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศให้สูงขึ้นด้วย แม้แต่จังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำที่สุดในประเทศอย่างพะเยาก็ยังได้รับอัตรา 222 บาท ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เคยสูงที่สุดก่อนการปรับขึ้นในครั้งนี้
การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ทำให้อัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.75 (เพิ่มขึ้นจาก 221 บาทต่อวัน เป็น 300 บาทต่อวัน ในจังหวัดภูเก็ต) และอัตราต่ำสุดของค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.62 (เพิ่มขึ้นจาก 159 บาทต่อวัน เป็น 222 บาทต่อวัน ในจังหวัดพะเยา) ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.54 (จาก 215 บาทต่อวัน เป็น 300 บาทต่อวัน)
และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง โดยปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ให้เป็นวันละ 300 บาท เป็นผลให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดค่าจ้างต่ำที่สุดเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 35.13
งานวิจัยของ ปกป้อง จันวิทย์ และพรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม (2556) ได้พยายามแสวงหาคำตอบส่วนหนึ่งต่อคำถามสำคัญที่แวดล้อมนโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เช่น ในอุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนแรงงานทั้งหมดและต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด และการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานอย่างไร
จากการคำนวณของผู้วิจัยโดยใช้ฐานข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำ (Labor Force Survey) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ระหว่างปี 2544 – 2554 ซึ่งผู้วิจัยมุ่งเน้นเฉพาะข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นลูกจ้างภาคเอกชน ลูกจ้างรัฐบาล และลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ที่มีงานทำและมีจำนวนชั่วโมงการทำงานมากกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวนทั้งสิ้น 492,799 ตัวอย่าง พบว่า
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ทำให้สัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนแรงงานทั้งหมด (ในต้นทุนแรงงานรวม 100 บาท มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำกี่บาท) เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก ภาคการเกษตรเพิ่มจากระดับร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 68 อุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มจากประมาณร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 40 การก่อสร้างจากประมาณร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 46 การค้าส่งและการค้าปลีกจากประมาณร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 35 และการโรงแรมและภัตตาคารจากประมาณร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 50
ตารางที่ 1:สัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานทั้งหมด ก่อนและหลังยุค 300 บาท (ร้อยละ)
แรงงานรวม | เฉพาะแรงงานในระบบ | |||
ก่อนยุค 300 | หลังยุค 300 | ก่อนยุค 300 | หลังยุค 300 | |
เกษตร | 22.12 | 67.77 | 0.36 | 2.58 |
การผลิต | 7.74 | 39.39 | 5.03 | 29.21 |
ก่อสร้าง | 3.90 | 45.89 | 1.14 | 2.90 |
ค้าส่งและค้าปลีก | 0.85 | 33.37 | 0.57 | 16.73 |
โรงแรมและภัตตาคาร | 6.28 | 49.89 | 1.96 | 18.00 |
ตัวเลขดังกล่าวคือสัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานทั้งหมดเท่านั้น หากเราต้องการทราบถึงสัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตทั้งหมด (ในมูลค่าผลผลิต 100 บาท มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำอยู่กี่บาท) เราย่อมต้องหาข้อมูลก่อนว่าสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อผลผลิต(หรือ Raw labor’s share) เป็นเท่าใด
สัดส่วนของต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อผลผลิตในปี 2553 ชี้ว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำสูง หากไล่เรียงอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนแรงงานต่อผลผลิตจากต่ำไปสูง จะเป็นดังนี้ การเกษตร (ประมาณร้อยละ 10) การขายส่งและการขายปลีก (ประมาณร้อยละ 20) โรงแรมและภัตตาคาร (ประมาณร้อยละ 25) อุตสาหกรรมการผลิต (ประมาณร้อยละ 40) และการก่อสร้าง (ประมาณร้อยละ 65)
ดังนั้น ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตนั้น หากพิจารณาสัดส่วนของต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใหม่ในปี 2555 ต่อผลผลิตแยกเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า ต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตมีสัดส่วนที่สูงมากน้อยแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น สัดส่วนของภาคการค้าปลีกค้าส่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ภาคการเกษตรร้อยละ 5 ในขณะที่ในการโรงแรมและภัตตาคารอยู่ที่ประมาณเกือบร้อยละ 12 อุตสาหกรรมการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 12 และการก่อสร้างมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28
ตารางที่ 2:สัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อมูลค่าผลผลิตทั้งหมด ก่อนและหลังยุค 300 บาท (ร้อยละ)
แรงงานรวม | เฉพาะแรงงานในระบบ | |||
ก่อนยุค 300 | หลังยุค 300 | ก่อนยุค 300 | หลังยุค 300 | |
เกษตร | 2.01 | 4.84 | 0.06 | 0.18 |
การผลิต | 3.97 | 12.19 | 2.42 | 9.04 |
ก่อสร้าง | 3.35 | 27.81 | 0.10 | 1.76 |
ค้าส่งและค้าปลีก | 1.41 | 6.75 | 0.39 | 3.38 |
โรงแรมและภัตตาคาร | 3.89 | 11.66 | 0.42 | 4.21 |
กล่าวโดยสรุป แม้การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประมาณร้อยละ 35-40 ในปี 2555 จะทำให้สัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อครั้งอยู่ภายใต้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม แต่สัดส่วนดังกล่าวก็ไม่ได้สูงขึ้นมากดังที่หลายฝ่ายหวาดเกรงกัน การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 35-40 ไม่ได้ทำให้สัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 35-40 ตามไปด้วย แต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-28 แล้วแต่อุตสาหกรรม (ร้อยละ 12 ในอุตสาหกรรมการผลิต)
กระนั้น นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเพิ่งใช้บังคับมายังไม่ถึงหนึ่งปี จึงยังไม่สามารถประเมินผลกระทบของนโยบายดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบและครบถ้วนรอบด้าน เนื้อหาที่เล่าสู่กันอ่านนี้เป็นการประเมินการเปลี่ยนแปลงต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำจากระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมเป็นระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ภายใต้โครงสร้างของตลาดแรงงาน (สัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อผลผลิตในแต่ละอุตสาหกรรม) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ซึ่งเป็นข้อมูลโครงสร้างของตลาดแรงงานล่าสุดเท่าที่มี
ถึงแม้ว่าวิธีการนี้จะไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานของ ‘นโยบาย 300 บาท’ ได้อย่างสมบูรณ์แม่นยำ ด้วยเหตุผลหลักสองประการคือ หนึ่ง วิธีการนี้สมมติให้โครงสร้างของตลาดแรงงานภายหลังจากมีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ยังคงเหมือนเดิม และ สอง ไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของการกระจายตัว (distribution) ของอัตราค่าจ้างและการเปลี่ยนแปลงขนาดการจ้างงาน ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่นี้ เช่น การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยยกให้อัตราค่าจ้างทั้งระบบเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าจ้างที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
แต่การคำนวณเบื้องต้นของผู้วิจัยก็มีประโยชน์ตรงที่ช่วยแสดงให้เห็นถึงขนาดของผลกระทบขั้นต้นจากนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ก่อนการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่
ตีพิมพ์: คอลัมน์ way to read! นิตยสาร way ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2556