ถึงวันนี้คงไม่เป็นที่สงสัยกันแล้วว่า ความฝันสูงสุดทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีคืออะไร ตลอดระยะเวลาสิบสามเดือนกว่าของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีพร่ำเอ่ยคำว่า “การเมืองนิ่ง” ด้วยน้ำเสียงเทิดทูน แววตาเป็นประกาย อยู่บ่อยครั้ง
ผมเองก็ไม่ทราบว่าทฤษฎีรัฐศาสตร์ให้คำนิยาม “การเมืองนิ่ง” ไว้อย่างไร แต่สำหรับนิยามของผม การเมืองนิ่งคงมิได้หมายถึง หนึ่ง สภาพที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาด โดยมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากเสียจนฝ่ายเสียงข้างน้อยดำเนินการทางการเมืองได้จำกัด สอง สภาพที่นายกรัฐมนตรีสามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ นึกอยากทำอะไรก็ทำ อยากได้อะไรก็ได้
โดยไม่ฟังเสียงใคร แม้สิ่งที่รัฐบาลอยากทำหรืออยากได้จักเป็นสิ่งที่รัฐบาลคิด(โดยบริสุทธิ์ใจ)ว่าดีที่สุดสำหรับสังคมก็ตาม สาม สภาพที่ปราศจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความเคลื่อนไหว และความขัดแย้งของหลากหลายฝ่ายในสังคม ดังความหมายที่นายกรัฐมนตรีพยายามจะบอกกล่าวกับสังคม
หากนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเด็ดขาด ยากที่จะตรวจสอบและคัดคาน ก็ง่ายที่จะใช้อำนาจไปในทางฉ้อฉลเพราะยากจะฝืนสิ่งจูงใจที่แสนเย้ายวน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ดูจะยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการผูกขาดไม่ว่าทางการเมืองหรือธุรกิจล้วนสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีอำนาจผูกขาด หาใช่ประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมไม่
นอกจากนั้น รัฐบาลในสังคมประชาธิปไตยมีที่มาจากมติของสังคมส่วนรวม รัฐบาลได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาเป็น “ตัวแทน” ช่วยดูแลสังคมผ่านระบบการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีหาใช่ “เจ้าของ” ประเทศ และประเทศไทยก็มิใช่ “บริษัท” ที่นายกรัฐมนตรีนึกจะทำอะไรได้เบ็ดเสร็จตามใจฉัน แม้จะเห็นว่าทิศทางของตนเป็นประโยชน์กับสังคมโดยปราศจากผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนพวกพ้อง (ซึ่งเถียงกันได้ว่าเป็นไปได้จริงหรือไม่) ก็ตาม
หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับมติของสังคมในช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงกับสังคมอย่างเปิดเผย โปร่งใส หาใช่ทึกทักและมุบมิบทำตามความต้องการส่วนตนและส่วนพรรค โดยอ้างเพียงว่าประชาชนได้มอบอำนาจมาให้แล้ว
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีนิยามว่าดี งาม ถูก จริง เหมาะ ย่อมแตกต่างจากสิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าดี งาม ถูก จริง เหมาะ เนื่องจากความดี งาม ถูก จริง เหมาะ เป็นอำนาจในการนิยามและตีความของแต่ละบุคคล โดยมิอาจสถาปนานิยามทางการที่เป็นสากล มิอาจบังคับให้ผู้อื่นนิยามและตีความตามตนได้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเข้าใจง่ายขึ้น – ความดีแท้ งามแท้ ถูกแท้ จริงแท้ เหมาะแท้ ไม่มีจริง (ประเด็นนี้ก็เถียงกันต่อด้วยปัญญาได้ว่าสิ่งที่เที่ยงแท้มีจริงหรือไม่)
คำนิยามและการตีความของคำศัพท์อย่าง “เสถียรภาพทางการเมือง” “ความรักชาติ” “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ” “ความมั่นคงของชาติ” หรือกระทั่งคำว่า “การเมืองนิ่ง” จึงแตกต่างหลากหลายตาม “โลก” – ภูมิหลัง ประสบการณ์ การเรียนรู้ สถานการณ์ บทบาท ผลประโยชน์- ของแต่ละคน มิใช่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญญัติ
สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่มีแก่นแกนอยู่ที่เสรีภาพของคนแต่ละคน ไม่ว่าตัวเล็กหรือตัวใหญ่ จนหรือรวย มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ ทุกคนมีเสรีภาพพื้นฐานที่เท่าเทียมกันบนพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ เสรีภาพกินความกว้างตั้งแต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการไม่เห็นด้วย เสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัว เสรีภาพในการอยู่อย่างสงบ และอื่น ๆ อีกมาก
ทั้งนี้ยังรวมความถึงเสรีภาพในการนิยามและตีความความจริงด้วย
ด้วยเสรีภาพส่วนบุคคลของทุกคนได้รับการปกป้องโดยไม่สนว่าคุณเป็นใคร สังคมจึงมีความคิดเห็นหลากหลาย มีความขัดแย้งเป็นธรรมชาติ มีความแตกต่าง ในนิยามและการตีความความจริง และเพื่อให้เสรีภาพดำรงอยู่และแต่ละคนสามารถใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงความเป็นนิติรัฐจึงมีความจำเป็นในการประกันเสรีภาพของบุคคลและสังคม มิให้เสรีภาพของคนหนึ่งไปรุกล้ำล่วงเกินอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้รัฐบาลมีบทบาทในการประกันเสรีภาพ หาใช่บั่นทอนเสรีภาพ
ความหลากหลาย เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่งในสังคมประชาธิปไตยเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้สังคมมีชีวิตชีวา การเมืองนิ่งตามนิยามของนายกรัฐมนตรีดูจะไม่มีความจำเป็น ถึงมีก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะความนิ่งของสังคมไม่ว่าทางการเมือง เศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม เป็นการบั่นทอนชีวิตของสังคมประชาธิปไตย ความพยายามสร้างการเมืองนิ่งไม่ต่างอะไรกับความพยายามทำลายชีวิตของสังคม
“วุฒิภาวะของสังคมประชาธิปไตย” จึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดการกับความหลากหลาย ขัดแย้งในกระบวนการทางสังคมต่าง ๆ ให้ลงตัว สมดุล มีทางออกให้กับปัญหาด้วยระบบที่ดีและเป็นธรรม สังคมสามารถหาจุดร่วมได้ด้วยสันติวิธี ทำให้ความแตกต่างไม่เป็นความแตกแยกจนถึงขั้นเลือดตกยางออก เสียงข้างน้อยมีที่ทางและได้รับการยอมรับ เสรีภาพส่วนบุคคลได้รับการประกันแต่ก็ต้องไม่เลยเถิดคุกคามเสรีภาพของบุคคลอื่นและสังคม
และไม่มีความฉ้อฉลทางอำนาจที่พยายามคุกคามเสรีภาพส่วนบุคคลทั้งทางลับและแจ้ง
การเมืองนิ่ง – หากต้องการ – จึงควรพิจารณาในนิยามที่แตกต่างจากของนายกรัฐมนตรี เป็นการเมืองที่ไม่นิ่งแบบทำลายชีวิตสังคมประชาธิปไตย ห้ามพูด ห้ามค้าน ห้ามแสดงความเห็น ห้ามแตกต่าง ห้ามหลากหลาย การบังคับตามนิยามเช่นว่าอาจทำให้การเมืองนิ่งตามความคิดเจ้าของนิยามได้ แต่กระนั้นก็เป็นเพียงระยะสั้น หรือดูเหมือนนิ่งชั่วคราวเพียงเปลือกนอก แต่ลึกลงไปภายใน การพยายามบังคับให้นิ่งกลับยิ่งทำให้ไม่นิ่ง พึงระลึกว่าการเมืองนิ่งมิอาจเกิดได้ด้วยการบังคับหรือด้วยความ “อยาก” ของนายกรัฐมนตรี
หากการเมืองควรนิ่ง ก็ควรนิ่งโดยธรรมชาติอย่างสอดคล้องกับ “วุฒิภาวะของสังคมประชาธิปไตย” และแน่นอนว่า “วุฒิภาวะของสังคมประชาธิปไตย” เรียกร้อง “วุฒิภาวะของนายกรัฐมนตรี” ในระดับสูง
เป็นที่น่าเสียดายว่าพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีในช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาดูจะแสดงออกถึงความไร้ซึ่งวุฒิภาวะอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนั้น ยังเต็มไปด้วยอวิชชา (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์หรือไม่ก็ตาม)
หลักฐานที่สำคัญคือความพยายามคุกคามเสรีภาพในการนิยามและตีความในความหมายที่แตกต่างจากตน นายกรัฐมนตรีดูจะเห็นว่านิยามของท่าน – ถูก คนอื่นทั้งหมด – ผิด มีเพียงนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นผู้รู้จริง รู้แจ้ง ทั้งที่นายกรัฐมนตรีมิได้มีสิทธิอำนาจในการผูกขาดการนิยามและการตีความความจริง ให้นิยามของตนคือนิยามของสังคม
ในฐานะประชาชนในสังคมประชาธิปไตย หน้าที่หลักอย่างหนึ่งคือการเตือนสตินายกรัฐมนตรียามที่เห็นว่าอวิชชาในใจของนายกรัฐมนตรีดูจะเหิมเกริมและลำพองจนอาจบั่นทอนชีวิตของสังคมส่วนรวมได้ การเตือนสตินายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่สังคมไทยพึงกระทำในห้วงเวลานี้ และควรกระทำด้วยเมตตาธรรม โดยใช้เสรีภาพส่วนบุคคลในการแสดงความเห็นและเตือนสติผ่านสื่อสารมวลชน
และไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะเห็นด้วยหรือไม่ ชอบใจหรือไม่ “ขันติธรรม” เป็นสิ่งสำคัญที่จักสะท้อนวุฒิภาวะของนายกรัฐมนตรีในสังคมประชาธิปไตย
โปรดละวาง ตั้งสติ ใคร่ครวญ และนำตัวเองกลับลงสู่ดิน
หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นในช่วงที่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่่่างรุนแรงเรื่องการคุกคามสื่อมวลชน
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2545