ผู้เขียน: Edsel L. Beja, Pokpong Junvith and Jared Ragusett
ตีพิมพ์: บทหนึ่งใน Epstein, Gerald (ed.). 2005. Capital Flight and Capital Controls in Developing Countries. Edward Elgar Publishing.
ผู้เขียน: Edsel L. Beja, Pokpong Junvith and Jared Ragusett
ตีพิมพ์: บทหนึ่งใน Epstein, Gerald (ed.). 2005. Capital Flight and Capital Controls in Developing Countries. Edward Elgar Publishing.
ชวนอ่านปกหน้า:
โลกาภิวัตน์ อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ วิวาทะว่าด้วยการเปิดเสรีการเงินระหว่างประเทศ และ Capital Controls
ชวนอ่านปกหลัง:
หนังสือชุด ‘เศรษฐกิจทางเลือก’ เป็น ‘สิ่งยืนยัน’ ว่า ในซอกมุมเล็กๆ ของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ยังมีนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกที่ทำงานในแนวทางที่แตกต่าง ในซอกมุมเล็กๆ ของเศรษฐกิจโลก ยังมีบางประเทศที่เลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแนวทางที่แตกต่าง
‘ทางเลือกอื่น’ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ ยังพอมีหลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้ นโยบายเศรษฐกิจเหล่านั้นมิได้สร้างผลกระทบด้านลบแก่ระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เศรษฐกิจล้มเหลวหรือพังทลายลง ดังที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่หวาดกลัว
ในทางตรงกันข้าม นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกเหล่านั้นกลับมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่มีความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในประเทศเป็นเป้าหมายสุดท้าย
สำนักพิมพ์: openbooks
พิมพ์ครั้งแรก (ครั้งเดียว): มีนาคม 2553
หนังสือ Capital Flight and Capital Controls in Developing Countries (2005, Edward Elgar) บรรณาธิการโดย เจอราลด์ เอ็บสตีน (Gerald Epstein) มีลักษณะ ‘มาก่อนกาล’ คือถูกเขียนขึ้นในช่วงที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังมองมาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในแง่ร้าย (อย่างดีก็เป็น ‘ปีศาจที่จำเป็น’) ในช่วงหลายปีก่อนเกิดวิกฤตการณ์การเงินโลก ซึ่งในเวลานั้น ผู้คนยังไม่ตั้งคำถามต่อระบบโลกาภิวัตน์ทางการเงินที่มีลักษณะเสรีสุดขั้ว แตกต่างจากปัจจุบัน
ผู้สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศคงได้แง่คิดอีกมุมหนึ่ง และเปิดมุมมองใหม่หลายเรื่องเกี่ยวกับ Capital Controls และ Capital Flight จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ หลายประเด็นเป็นคำทำนายที่ ณ วันนั้นไม่มีใครฟัง แต่เกิดขึ้นจริงในเศรษฐกิจโลก ณ วันนี้
เมื่อก่อนคนมักเข้าใจว่า นโยบายส่งเสริมการส่งออกไปด้วยกันได้ดีกับนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน แต่ปรากฏการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นถึงความขัดกันของสองนโยบายนี้ กล่าวคือเงินทุนที่ไหลเข้ามาก ทำให้ค่าเงินแข็ง และกระทบภาคส่งออก มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริงที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อกัน
โจทย์สำคัญที่ต้องคิดกันก็คือ ถ้าประเทศไทยจะยังยึดกุมยุทธศาสตร์ส่งออกเพื่อการพัฒนาต่อไป เราควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อการไหลเข้าของเงินระหว่างประเทศ ถ้าเราปล่อยให้ทุนเคลื่อนย้ายโดยเสรี เราก็ต้องรับผลกระทบจากความผันผวนไร้เสถียรภาพจากระบบการเงินโลก ซึ่งประสบการณ์ในขณะนี้ชี้ชัดว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน ในค่าเงินนั้นกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงด้วย ผลกระทบไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แต่ในภาคการเงินหรือตัวแปรที่เป็นตัวเงินเท่านั้น
วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการ ‘ดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น’ (The reserve requirement on short-term capital inflows) ด้วยหวังจะใช้แก้ปัญหาเงินทุนระยะสั้นจากต่างชาติไหลที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก จนกระทบภาคการส่งออกของไทย ซึ่งจะมีผลบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกชั้นหนึ่ง
เนื้อหาของมาตรการนี้คือ เมื่อมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ สถาบันการเงินที่เป็นผู้รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทต้องกันสำรองเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศคิดเป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ของเงินนำเข้าทั้งหมด ทำให้ทุนนำเข้าสามารถแลกเป็นเงินบาทเพื่อใช้ลงทุนต่อในตลาดหุ้นหรือตลาดตราสารหนี้ได้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (การกันสำรอง ให้ยกเว้นธุรกรรมที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( Foreign Direct Investment -FDI) ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติที่นำทุนออกก่อนระยะเวลา 1 ปี จะได้รับเงินคืนแค่ 2 ใน 3 ของเงินสำรองที่กันไว้ (ได้คืนแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินนำเข้าทั้งหมด โดยถูกหักไป 10 เปอร์เซ็นต์) ส่วนนักลงทุนที่นำเงินออกหลัง 1 ปี จะได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ก็ยังไม่ได้ดอกเบี้ยจากการถูกกันสำรอง
1 วันให้หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศมาตรการลงโทษทุนระยะสั้นดังกล่าว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงเป็นประวัติการณ์ถึง 108.41 จุด คิดเป็น 14.84 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมูลค่าหุ้นในตลาดเมื่อปิดตลาดวันนั้นลดลงประมาณ 8.2 แสนล้านบาท ในชั่วเวลาเพียง 1 วัน