อ่าน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พิศผู้หญิงในชีวิตของ ‘สันติวิธี’

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแสดงปาฐกถาพิเศษ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” มาตั้งแต่ปี 2530 เป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์ป๋วย และนักวิชาการสาขาต่างๆ ผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ในปีนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับคัดเลือกเป็นปาฐกในหัวข้อ “พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี”

อาจารย์สายพิณ ศุพุทธมงคล ลูกศิษย์และผู้เขียนประวัติชีวิตและความคิดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในหนังสือที่ระลึกปาฐกถาป๋วย เล่าถึงความประทับใจในบทบาทครูของอาจารย์ชัยวัฒน์ว่า

“ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่เขาทำ อาจไม่ใช่การอธิบายทุกเรื่อง แต่คือการเปลี่ยนมุมคำถามของนักศึกษา ที่ทำให้คำถามพื้นๆ กลายเป็นคำถามน่าอัศจรรย์ ทำให้นักศึกษากล้าถามเพราะมั่นใจขึ้นว่าคำถามของตนไม่ไร้สาระ ไม่ตื้นเขิน ไม่ประกาศความด้อยปัญญาของผู้ถาม สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนจากวิชาผู้นำทางการเมืองคือ ทำอย่างไรเมื่ออ่าน text เมื่อมองปรากฏการณ์ทางสังคม แล้วจะสามารถตั้งคำถาม ‘สนุกๆ’ ชวนคิดต่อ ชวนให้พยายามหาคำอธิบาย”

ในฐานะปาฐก อาจารย์สายพิณมองเห็นอาจารย์ชัยวัฒน์ไม่ต่างอะไรกับนักมายากล

“…ในยามที่เขาไปกล่าวปาฐกถา ข้าพเจ้าอดรู้สึกไม่ได้ว่าชัยวัฒน์เหมือนนักมายากลที่ผู้ชมรอดูว่าสิ่งของที่เขาจะหยิบจากหมวกนักมายากลคืออะไร จะน่าอัศจรรย์เพียงไหน หากเขาทำให้ผู้ชมทึ่ง งวยงงได้ ก็เกิดคำถามต่อไปว่าชัยวัฒน์/นักมายากลทำสิ่งนั้น/คิดอย่างที่เขาคิดได้อย่างไร …

ผู้ที่คุ้นเคยกับชัยวัฒน์ย่อมรู้ว่านักรัฐศาสตร์ผู้นี้ชอบอ่านการ์ตูน/ดูภาพยนตร์ที่ตัวเอกเป็น/ทำได้ยิ่งกว่าวีรบุรุษ/สตรีที่เป็นมนุษย์ (superhero/ine) เขาชอบอ่านนิยายกำลังภายในที่ตัวละครมีฤทธิ์มีเดช มีชอบมีชัง ชอบดูหนังผี (น่าจะ) เกือบทุกชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ชอบอ่านต่วยตูน พล-นิกร-กิมหงวน อ่านนิยายสมัยใหม่ อ่านวรรณกรรมยุคเก่า ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดีไทย หรือชาติอื่น ชัยวัฒน์มีวิธีดู/อ่านสารจากสิ่งบันเทิงที่เขาเสพอย่างน่าสนใจ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าความน่าสนใจนี้น่าจะมีฐานมาจากความรู้และความรักปรัชญาทางการเมืองของเขา ข้าพเจ้าสงสัยว่าสิ่งเพื่อความบันเทิงเหล่านี้ ซึ่งเป็นภาพปรากฏของจินตนาการของคนอื่น เป็น ‘พื้นที่เล่น’ ทางความคิดของชัยวัฒน์

ในขณะที่คนทั่วไปมักคิดว่างานวิชาการเป็นเรื่องเคร่งเครียด แต่สำหรับชัยวัฒน์และบรรดามิตรสหายของเขา งานวิชาการเป็นเรื่องสนุก การทำงานคล้ายการเล่น …”

กล่าวสำหรับปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปีนี้ หัวใจสำคัญคือคำถามหลักที่ว่า บทบาทที่โดดเด่นของผู้หญิงส่งผลอย่างไรต่อการเข้าใจชีวิตของสันติวิธี? อาจารย์ชัยวัฒน์เลือกที่จะ ‘เล่นมายากล’ แสวงหาคำตอบมาสนทนากับเราด้วยการสำรวจชีวิตของ ‘สันติวิธี’ ผ่านเรื่องราวชีวิตจริงของผู้หญิงสี่คนที่ทำให้ “สันติวิธีมีชีวิตที่มีความหมายลึกล้ำได้อย่างน่าอัศจรรย์”

จีนเน็ต แรนกิน (Jeannette Rankin) เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาที่ลงมติคัดค้านไม่ให้รัฐบาลเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2  ครั้งแรก เธอลงมติคัดค้านร่วมกับเพื่อน ส.ส. 50 คน ซึ่งส่งผลให้เธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ มา ส่วนครั้งหลัง เธอเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวที่กล้าสวนกระแสคนทั้งชาติ ลงมติคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลก แม้ว่าฐานทัพเรือสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์เพิ่งจะถูกญี่ปุ่นถล่ม จนสร้างความโกรธแค้นไปทั่วประเทศก็ตาม

ในวันนั้น เธอลุกขึ้นยืนในสภาอย่างเด็ดเดี่ยว กล่าวคำว่า “ไม่” และประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า “ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ฉันไม่อาจเข้าร่วมสงครามได้ และฉันปฏิเสธที่จะส่งใครอื่นไปสงครามทั้งนั้น” หลังจากวันนั้น อนาคตทางการเมืองของเธอก็จบสิ้นลง หากเธอยังมุ่งมั่นทำงานต่อในขบวนการด้านสันติวิธีและต่อต้านสงคราม

อิเรนา เซนด์เลอร์ (Irena Sendler) เป็นอดีตเจ้าหน้าที่แผนกสวัสดิการสังคมของกรุงวอร์ซอชาวโปแลนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซี เธอมีบทบาทช่วยเด็กชาวยิวให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถึง 2,500 คน ด้วยสารพัดวิธี เช่น นำเด็กออกมาพร้อมโลงศพ ซ่อนในรถพยาบาล พาหนีทางท่อระบายน้ำเสีย

เธอเคยถูกตำรวจเกสตาโปจับ และถูกทรมาน ทุบขาและเท้าจนแตกเพื่อให้บอกที่ซ่อนเด็กชาวยิว แต่ก็ไม่ยอมปริปาก ท้ายที่สุด เธอถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เพื่อนในองค์กรใต้ดินติดสินบนทหารนาซีจนพาเธอหนีออกมาได้ โดยที่ชื่อของเธออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถูกประหารไปแล้ว เมื่อหลุดพ้นจากความตาย เธอต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ต่อมา เธอได้ขุดหาไหที่เธอเคยเขียนชื่อจริงของเด็กที่ได้รับการช่วยชีวิตใส่ไว้และตามหาครอบครัวของเด็กๆ เหล่านั้น

อมินาตู ไฮดาร์ (Aminatou Haidar) เป็นประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนซาห์ราวี ผู้ต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของซาฮาราตะวันตกจากการถูกยึดครองโดยรัฐบาลโมร็อคโค ในการชุมนุมประท้วงต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เธอถูกจับกุมหลายครั้ง ถูกคุมขังในคุกลับนานที่สุดถึง 4 ปี โดยปราศจากการดำเนินคดีตามกฎหมาย และถูกทรมานต่างๆ นานา เช่น ถูกช็อตไฟฟ้า ถูกยัดปากด้วยผ้าชุบน้ำยาเคมี

ในปี 2009 เธอเดินทางไปรับรางวัล Civil Courage Prize ที่สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางกลับเข้าประเทศ เธอถูกกักตัวไว้ที่สนามบิน เพราะกรอกแบบฟอร์มเข้าเมืองโดยระบุว่า ‘บ้าน’ ของเธอคือ ซาฮาราตะวันตก ไม่ใช่ ซาฮาราโมร็อคโค รัฐบาลเสนอว่าจะยอมปล่อยตัวหากเธอประกาศยอมรับอำนาจอธิปไตยของโมร็อคโคเหนือซาฮาราตะวันตกต่อสาธารณะ แต่เธอปฏิเสธ จึงถูกเนรเทศไปที่สเปน จากนั้น เธอจึงประกาศอดอาหารจนกว่าจะได้กลับบ้าน ร่างกายของเธอทรุดหนักหลังจากอดอาหารนานกว่าหนึ่งเดือน เธอปฏิเสธฐานะพลเมืองหรือผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลสเปนมอบให้ ต่อมา ผู้นำหลายชาติร่วมกันกดดันรัฐบาลโมร็อคโคด้วยเกรงว่าเธอจะเสียชีวิต ในที่สุดรัฐบาลโมร็อคโคต้องยอมจำนนให้เธอกลับบ้านเกิดได้โดยไม่มีเงื่อนไข

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เป็นที่ปรึกษาเครือข่ายสมัชชาคนจน นักต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านในการคัดค้านเขื่อนปากมูลด้วยสันติวิธี วนิดาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า “ความยากจนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความเป็นธรรมชาติของมันเอง แต่ความยากจนเกิดจากความไม่เป็นธรรม การจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม ขาดการแบ่งปันให้กันและกัน”

วนิดามีบทบาทสำคัญในการชุมนุมอย่างสันติของสมัชชาคนจนในการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี 2540 เธอสรุปบทเรียนว่า ขบวนการประชาชนที่มุ่งต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมควรยึดมั่นในแนวทางสามประการ ได้แก่ สัจจะ ยึดถือความจริงและยืนหยัดเสนอข้อเท็จจริง อหิงสา ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายผู้อื่น ใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหว และ ตบะ มีความอดทนอดกลั้น ซึ่งถือเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดในการสร้างอำนาจต่อรองของขบวนการประชาชน

ชีวิตของผู้หญิงธรรมดาทั้งสี่คนเป็นชีวิตเพื่อภารกิจสันติวิธี แรนกินต่อต้านสงคราม โดยต่อสู้กับนักการเมืองแทบทั้งสภาและเสียงของมวลมหาประชาชน แซนด์เลอร์ต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยต่อสู้กับระบบค่ายกักกันเชลยชาวยิวและทหารนาซี ไฮดาร์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยต่อสู้กับรัฐบาลโมร็อคโค และวนิดาต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้คนจน โดยต่อสู้กับรัฐบาล นโยบายรัฐ และระบบราชการ

อาจารย์ชัยวัฒน์ขมวดปมว่า ทุกสิ่งที่พวกเธอต่อต้านคือวาระของสันติภาพ (peace agenda) ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นทางชีวิตข้างหน้าของสันติวิธีได้ชัดขึ้น และเมื่อ ‘พิศ’ ชีวิตของผู้หญิงธรรมดาทั้งสี่คนแล้ว เขามองเห็นชีวิตของสันติวิธีที่เข้มแข็ง แต่อ่อนโยนในเวลาเดียวกัน ฉลาดเฉลียวรู้จักเลี้ยวลด แต่ก็ยืดหยัดมั่นคง และแวดล้อมอยู่ด้วยวิธีที่มองเห็นชีวิตและคนอื่นแบบให้คุณค่าความหมายอย่างสำคัญ

คุณลักษณ์โดดเด่นสี่ประการของสันติวิธีจากชีวิตของผู้หญิงสี่คนในสายตาของอาจารย์ชัยวัฒน์  ได้แก่ (1) ความกล้าหาญ การไม่ใช้ความรุนแรงคือการกล้าต่อสู้กับอำนาจ ถอนความเชื่อฟังอำนาจคืนกลับไป เพราะความกลัวนำมาซึ่งความเชื่อฟังอำนาจ และสร้างความรุนแรงตามมา (2) ความเอื้ออาทร ความพยายามเข้าใจว่าตนกำลังต่อสู้กับอะไรและรักษาตัวตนของผู้ได้รับการช่วยเหลือไว้อย่างเต็มที่ โดยใส่ใจอนาคตอันยาวไกลของคนเหล่านั้น (3) ความเสียสละ การยอมเสียสละให้แผ่นดินและผู้คนที่รักด้วยชีวิตสร้างพลังอันน่าเหลือเชื่อ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และสร้างแรงกดดันให้คู่ต่อสู้ต้องยอมทำตาม และ (4) การให้ความสำคัญกับทุกชีวิต มองเห็นว่าทุกชีวิตที่แวดล้อมล้วนมีความหมายและคุณค่าในตัวเอง เมื่อทุกชีวิตมีเป้าหมายอันศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง จึงไม่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุอะไรทั้งสิ้น

ในช่วงท้ายของปาฐกถา อาจารย์ชัยวัฒน์ยังทิ้งคำถามที่น่าสนใจไว้อีกอย่างน้อย 3 ข้อ กล่าวคือ

ข้อแรก คุณลักษณ์ทั้งสี่ประการที่กล่าวถึงไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในตัวผู้หญิงเท่านั้น ถ้าเช่นนั้น ความเป็นผู้หญิงมีความสำคัญใดเป็นพิเศษหรือช่วยให้เรามองเห็นอะไรได้อีกในชีวิตของสันติวิธี?

ข้อสอง ความแตกต่างระหว่าง ‘กำลัง’ (force) กับ ‘อำนาจ’ (power) และความสัมพันธ์ระหว่าง ‘อำนาจ’ กับ ‘ความรุนแรง’  ทำไมการปฏิเสธความรุนแรง หันมาใช้สันติวิธี จึงนับว่าเป็นการใช้อำนาจในการต่อสู้ทางการเมือง?

และข้อสาม “สิ่งที่อาจารย์ป๋วยคิด สอน และพยายามนำเสนอต่อสังคมไทยตลอดมาเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว ความคิด ‘สันติประชาธรรม’ ความฝันที่หลายคนปรารถนา ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ มีอะไรสำเร็จบ้างหรือไม่? …”

อยากแสวงหาคำตอบ คงต้องไปอ่านปาฐกถา “พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี” ของอาจารย์ชัยวัฒน์ต่อกันเองนะครับ

 

หมายเหตุ: ดาวน์โหลดหนังสือตีพิมพ์บทปาฐกถาฉบับเต็มได้ ที่นี่ 

 

ตีพิมพ์: นิตยสาร way ฉบับเดือนมีนาคม 2558

Print Friendly