อ่าน ปัญหาของระบบอาชีวศึกษาไทย

การปฏิรูปการศึกษาควรมีเป้าหมายหลักเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักเรียนให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่นักเรียนแต่ละคนได้เลือกเอง ทั้งนี้ ระบบการศึกษาจะสามารถพัฒนาพลังความสามารถของนักเรียนให้เติบโตได้จน ‘สุดความสามารถ’ ของแต่ละคนตามความถนัดและความต้องการของตนได้นั้น ระบบต้องสามารถเสนอทางเลือกที่มีคุณภาพให้นักเรียนได้เลือกอย่างหลากหลาย จนนักเรียนสามารถเลือกเรียนตามความถนัดและความต้องการของตนได้อย่างแท้จริง เช่น หากนักเรียนต้องการเรียนสายอาชีพเพื่อทำงานสายอาชีพในอนาคตก็มีระบบอาชีวศึกษาที่ดีมีคุณภาพรองรับ เป็นต้น

หันมาดูระบบการศึกษาไทย เรายังมีปัญหาด้านคุณภาพอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายอาชีวศึกษาที่ยังไม่สามารถเป็นทางเลือกที่แท้จริงให้กับนักเรียนที่สนใจเรียนต่อในสายอาชีพ เช่นนี้แล้ว การพัฒนาคุณภาพของระบบอาชีวศึกษา จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่จำเป็นและเร่งด่วนบนเส้นทางของการสร้างระบบการศึกษาเพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน

โครงสร้างระบบการศึกษาไทย

ปัจจุบันภาครัฐประเมินว่า สังคมเศรษฐกิจไทยมีความต้องการกำลังแรงงานสายอาชีวะปีละประมาณ 4 แสนคน แต่มีนักเรียนในระบบประมาณ 2.8 แสนคนเท่านั้น ทั้งนี้จำนวนนักเรียนที่เลือกเรียนสายอาชีวะยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนจำนวนนักเรียนอาชีวะระดับ ปวช. ต่อนักเรียนมัธยมปลายสายสามัญ ลดลงจาก 40:60 ในปี 2551 เหลือ 35:65 ในปี 2555 พูดง่ายๆ ว่าในหมู่นักเรียน 100 คน มีเด็กเลือกเรียนมัธยมปลายสายสามัญ 65 คน เรียนอาชีวะ 35 คน และถ้าดูรายละเอียดลึกลงไปอีก ในจำนวนนักเรียนอาชีวะ 35 คน เป็นนักเรียนสายช่างอุตสาหกรรมเพียง 16 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นสายพาณิชยกรรม 16 คน และสายอื่น เช่น เกษตรกรรม อีก 3 คน

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอาชีวะจำนวนมากในตลาดแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนนักเรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญจาก 35:65 เป็น 45:55 ในปีการศึกษา 2557 และเป็น 51:49 ในปีการศึกษา 2558

ผมมีความเห็นว่า เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการควรดำเนินนโยบายยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้เรียนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในระบบอาชีวะ ทั้งงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการเรียนการสอน และครู

แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรดำเนินนโยบายลักษณะบังคับและปิดกั้นทางเลือกของผู้เรียน ดังที่มีสื่อมวลชนรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอนโยบายปรับหลักเกณฑ์การเรียนต่อ ม.ปลายให้สูงขึ้น เช่น เพิ่มเกรดจาก 2.0 เป็น 2.30-2.50 และจำกัดจำนวนนักเรียนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง เพื่อหวังจะผลักดันนักเรียนออกจากสายสามัญ (เพื่อไปเรียนสายอาชีวะ) ได้มากกว่า 1 แสนคน (มติชนรายวัน, 1 พฤศจิกายน 2556)

งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ ที่ผมและศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาร่วมกัน ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบอาชีวศึกษาไทยหลายประการ เช่น

(1) การขาดแคลนงบประมาณในระบบอาชีวศึกษา

ระบบอาชีวศึกษาได้รับงบประมาณต่อหัวต่ำกว่าสายสามัญ (เปรียบเทียบระหว่าง ปวช. กับมัธยมศึกษาตอนปลาย) งบประมาณต่อหัวนักเรียน ปวช.อยู่ที่ 25,042 บาท ต่ำกว่างบประมาณต่อหัวนักเรียนมัธยมปลายที่ 28,261 บาท ทั้งที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาน่าจะมีต้นทุนการจัดการศึกษาสูงกว่า เพราะอาชีวศึกษาต้องลงทุนเครื่องจักรและวัสดุสำหรับการฝึก

นอกจากนั้น การลงทุนด้านครุภัณฑ์ของระบบอาชีวศึกษายังถือว่าค่อนข่างต่ำ จนเป็นเหตุให้การเรียนการสอนไม่ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบครุภัณฑ์ทางการศึกษาอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด และไม่ได้เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของงบประมาณทั้งหมดของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยกเว้นในปี 2553 ที่มีการสนับสนุนโดยงบไทยเข้มแข็ง (ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็มีข่าวการทุจริตฉาวโฉ่เกิดขึ้น) โดยงบครุภัณฑ์การศึกษาเฉลี่ยรวม 10 ปีแล้วคิดเป็นเพียงร้อยละ 7.3 ของงบประมาณทั้งหมด แต่หากไม่นับรวมปี 2553 ซึ่งมีความพิเศษ จะคิดเป็นร้อยละ 5 เท่านั้น

(2) เงินอุดหนุนรายบุคคลไม่เพียงพอ

เงินอุดหนุนรายบุคคลของระบบอาชีวศึกษาไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้ เพราะมูลค่าเงินอุดหนุนไม่ได้ถูกปรับขึ้นนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนการจัดการศึกษาที่น่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะหากคาดหวังว่าวิทยาลัยจะใช้วัสดุฝึกที่ทันสมัย นอกจากนั้น เงินอุดหนุนรายบุคคลยังถูกคำนวณตามต้นทุนเฉลี่ยของประเภทวิชาเพียงอย่างเดียว เช่น วิทยาลัยได้รับเงินอุดหนุน 6,500 บาทต่อหัวนักเรียนในประเภทวิชาอุตสาหกรรม แต่ต้นทุนค่าวัสดุฝึกสำหรับต่างสาขาวิชามีความแตกต่างกัน เช่น ต้นทุนวัสดุฝึกสาขาช่างเชื่อมโลหะสูงกว่าสาขาวิชาอื่นในประเภทอุตสาหกรรรม หากวิทยาลัยมีจำนวนนักเรียนเรียนช่างเชื่อมโลหะมาก ก็อาจขาดแคลนงบประมาณได้ หรืออาจจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ

เหตุผลสำคัญอีกประการคือ วิทยาลัยต้องใช้เงินอุดหนุนไปจ้างบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อเติมเต็มปัญหาการขาดแคลนบุคลากร จึงทำให้เหลือเงินสำหรับการจัดการศึกษาน้อยลง โดยในปี 2555 วิทยาลัยอาชีวะต้องใช้เงินอุดหนุนไปจ้างบุคลากรเพิ่ม 14,527 คน แบ่งเป็นครูอัตราจ้าง 6,562 คน และลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่ทั่วไป 7,965 คน หากสมมติว่าบุคลากรเหล่านี้ได้ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 8,000-9,000 บาท วิทยาลัยก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,394- 1568 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 51-57 ของเงินอุดหนุนรายบุคคลทั้งหมดที่สถานศึกษาได้รับเลยทีเดียว

(3) การขาดแคลนครูในระบบอาชีวศึกษา

วิทยาลัยอาชีวศึกษาประสบปัญหาการขาดแคลนครูเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้ว่า งบบุคลากรต่อหัวของอาชีวศึกษาระดับ ปวช. อยู่ที่ 6,753 บาท ต่ำกว่างบต่อหัวสายสามัญ ซึ่งอยู่ที่ 20,460 บาท ทั้งที่ครูอาชีวะและครูสายสามัญมีรายได้เท่าๆ กัน

ที่ผ่านมา การจัดสรรข้าราชการครูระหว่าง สอศ. และ สพฐ. มีทิศทางตรงกันข้ามกับนโยบายการเพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะ โดยในช่วงปี 2548-2555 จำนวนข้าราชการครูสังกัด สอศ. ลดลงถึงร้อยละ 9.7 และปัจจุบัน สัดส่วนนักเรียนต่อข้าราชการครูอาชีวศึกษาอยู่ที่ 44:1 ในขณะที่ สพฐ. มีจำนวนข้าราชการครูเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และปัจจุบันมีสัดส่วนนักเรียนต่อข้าราชการครูอยู่ที่ 22:1

ในปี 2555 สอศ. มีครูทั้งหมด 26,541 คน แต่มีข้าราชการครูเพียง 15,109 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของครูทั้งหมดเท่านั้น สอศ. ต้องจ้างเพิ่มครูที่ไม่ใช่ข้าราชการเพิ่มอีก 3,284 คน และวิทยาลัยต้องใช้งบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวจ้างครูอัตราจ้างเพิ่มอีก 7,902 คน อย่างไรก็ตาม ครูอัตราจ้างเหล่านี้ได้เงินเดือนค่อนข้างต่ำและไม่มีความมั่นคงทางอาชีพเหมือนข้าราชการครู ซึ่งย่อมบั่นทอนกำลังใจในการทำงานสอน

ปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาของระบบอาชีวศึกษาด้วยการตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักเรียนอาชีวะเพียงลำพังยังไม่ใช่ทางออกในตัวเอง หากเราต้องการยกระดับคุณภาพของระบบอาชีวะให้เป็นทางเลือกที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนได้จริงก็จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณ ต้องเพิ่มการลงทุนครุภัณฑ์ทางการศึกษา ต้องเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว และต้องเพิ่มจำนวนครูด้วย นอกจากนั้น การร่วมมือกับสถานประกอบการทางธุรกิจเพื่อจัดการศึกษาร่วมกันก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนักเรียนอาชีวะจะได้มีโอกาสเรียนรู้ในสถานประกอบการจริง ซึ่งมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในโลกการผลิตจริง

Print Friendly