รายงานวิจัยเรื่อง “การจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดความรับผิดชอบ” ของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ (2556) ชี้ว่า ใจกลางปัญหาของระบบการศึกษาไทยคือการขาด “ความรับผิดชอบ” (accountability) ของระบบการศึกษาตลอดทุกขั้นตอน ทั้งนี้ “ความรับผิดชอบ” หมายถึง พันธะผูกพันในหน้าที่ของคนหรือองค์กรต่อเป้าหมายที่ได้รับมอบหมาย โดยมีระบบที่ผู้มอบหมายสามารถประเมินและตรวจสอบผลงาน เพื่อให้รางวัลหรือลงโทษผู้ที่ได้รับมอบหมายงานได้
ในกรณีของระบบการศึกษา หัวใจสำคัญของการปฏิรูปเพื่อสร้างความรับผิดชอบคือ การทำให้โรงเรียนมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ปกครองและนักเรียนมากขึ้น โดยโรงเรียนควรมีอิสระในการบริหารจัดการ และผู้ปกครองควรมีสิทธิเลือกโรงเรียนให้ลูกตามข้อมูลคุณภาพของโรงเรียนที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ กล่าวคือ มีการส่งเสริมให้เกิดระบบ “ความรับผิดชอบสายสั้น” (short-route of accountability) หรือสายความรับผิดชอบระหว่าง “ผู้ปกครอง-โรงเรียน-ครู” โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาล เพิ่มมากขึ้น