ในยุคที่เศรษฐกิจโลกผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกัน เศรษฐกิจไทยคงไม่อาจรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงลุกลามในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คำถามสำคัญก็คือ เราพร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในวันนี้และวันหน้ามากน้อยแค่ไหน ปกป้อง จันวิทย์ จะพาท่านผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจบทเรียนจากอดีต เพื่อตอบคำถามเรื่องปัจจุบันและอนาคต 15 ปีผ่านไป สังคมเศรษฐกิจไทยเรียนรู้บทเรียนอะไรจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540” วิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สังคมเศรษฐกิจไทยปรับตัวและเรียนรู้ไปมากเพียงไร อะไรคือโอกาส และความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยก้าวต่อไป
thai pbs
สยามวาระ: วิกฤตเศรษฐกิจโลก
ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ย่อโลกและหลอมรวมระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวกัน โลกกลับต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาและวิกฤตยูโรโซนกำลังเขย่าให้โลกทั้งใบจนปั่นป่วน
อะไรคือรากเหง้าและต้นตอของวิกฤต วิกฤตครั้งนี้เหมือนหรือต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและชีวิตคนไทยอย่างไร สังคมเศรษฐกิจไทยพร้อมรับมือกับโลกที่ผันผวนปรวนแปรมากแค่ไหน
สยามวาระ: ก้าวข้ามเศรษฐกิจปลาใหญ่กินปลาเล็ก
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นกลไกสำคัญที่จะอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และป้องกันไม่ให้บริษัทขนาดใหญ่เอาเปรียบบริษัทขนาดเล็ก ผู้บริโภค และซัพพลายเออร์ แต่ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีนับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายนี้ในชื่อ “พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542” กลับยังไม่มีธุรกิจแม้แต่รายเดียวที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าคืออะไร เหตุใดจึงจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจไทย จุดอ่อนของกลไกการป้องกันการผูกขาดของประเทศไทยอยู่ที่ไหน และเราจะสามารถปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร
ปกป้อง จันวิทย์ จะพาท่านผู้ชมไปหาคำตอบร่วมกันในรายการ สยามวาระ ตอน ก้าวข้ามเศรษฐกิจปลาใหญ่กินปลาเล็ก
สยามวาระ: ปตท. พลังไทย เพื่อใคร?
ใครๆ ก็รู้ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยอดขายกว่า 2.4 ล้านล้านบาท และกำไรกว่าแสนบาท ในปี 2554 ย่อมบ่งบอกความยิ่งใหญ่ของ ปตท. ได้เป็นอย่างดี
แต่หลายคนอาจตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลของ ปตท. จริงๆแล้ว ความยิ่งใหญ่ของ ปตท. มีที่มาอย่างไรกันแน่ ปตท. เก่งจริงๆหรือได้ประโยชน์จากการเป็นครึ่งรัฐ ครึ่งเอกชน และที่สำคัญ บทบาทของ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจขัดแย้งกับบทบาทของ ปตท. ในฐานะบริษัทเอกชนหรือไม่ อย่างไร สยามวาระวันนี้จะพาท่านผู้ชมไปสำรวจข้อถกเถียงว่าด้วยธรรมาภิบาลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ สว.รสนา โตสิตระกูล
สยามวาระ: วิบากกรรม NGV
ก๊าซ NGV ที่ใช้ในประเทศมีคุณภาพหรือไม่ การขึ้นราคาก๊าซเป็นธรรมและสมเหตุสมผลเพียงใด และการบริการที่เป็นอยู่ดีพอแล้วหรือยัง ปกป้อง จันวิทย์ จะพาท่านผู้ชมไปสำรวจปัญหาว่าด้วยก๊าซ NGV ในเมืองไทย ปัญหาที่ไม่มีใคร ใคร่ที่จะสำรวจ
ค้นหาคำตอบไปกับ รศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณรสนาโตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
สยามวาระ: ไปให้ไกลกว่า 300 บาท
อะไรคือปัญหาของแรงงานไทย และค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเป็นยารักษาทุกโรคของแรงงานไทยจริงหรือไม่
ปกป้อง จันวิทย์ จะพาท่านผู้ชมไปสำรวจชีวิตจริงของแรงงานและระบบค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ผ่านมุมมองแรงงาน นักวิชาการ และผู้ประกอบการ
ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยดีขึ้น เลวลง หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อะไรคือคอขวดของปัญหา และเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบค่าจ้าง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคแรงงานจะต้องมีบทบาทอย่างไร
โครงการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี 2552 (การประเมินภายนอก) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
ผู้วิจัย: วิโรจน์ ณ ระนอง อัญชนา ณ ระนอง ปกป้อง จันวิทย์ สฤณี อาชวานันทกุล นันทิยา ตั้งวิสุทธิจิต วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง
แหล่งทุน: องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.)
ตีพิมพ์: พฤษภาคม 2553
เปิดใจทีมงาน ‘วัฒนธรรมชุบแป้งทอด’
พวกเรามารวมกลุ่มกันทำรายการ ‘วัฒนธรรมชุบแป้งทอด’ ร่วมกับ Thai PBS ในนาม ‘บริษัท ดิวันโอวันเปอร์เซนต์’ (The 101 percent Co.Ltd.) เพราะอยากสำรวจและค้นหาคำตอบเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยและวิธีคิดของสังคมสมัยใหม่ เราอยากเรียนรู้ว่าเบื้องหลังของวัฒนธรรมหนึ่งคืออะไร มันมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอะไรหนุนหลังค้ำยันให้วัฒนธรรมนั้นเกิดขึ้น คงอยู่ พัฒนา จนกระทั่งเสื่อมถอยและดับไป และวัฒนธรรมที่ว่าส่งผลอย่างไรต่อพวกเราทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคมบ้าง
สำหรับพวกเราแล้ว นิยามคำว่า ‘วัฒนธรรม’ คือวิถีชีวิตรอบตัวพวกเราทุกคน เป็นวิถีชีวิตที่มีชีวา เปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งแช่แข็งอยู่กับที่ และเป็นวิถีชีวิตที่มีความหลากหลาย มิได้มี ‘ความดี ความงาม ความจริง’ เพียงชุดเดียว เราเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นของพวกเราทุกคน มิใช่ถูกผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยรัฐ
หากเราเชื่อมั่นในความหลากหลายทางวัฒนธรรมในฐานะวิถีชีวิตรอบตัวเช่นนี้แล้ว วัฒนธรรมก็กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องสนุกชวนตั้งคำถามได้ไม่ยาก
ยิ่งตั้งคำถามให้ถูก ก็ยิ่งสนุก