ปี 2559 เป็นปีแห่งการรำลึก ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในวาระ 100 ปี ชาตกาล ตลอดทั้งปีมีการจัดกิจกรรมว่าด้วยชีวิต ความคิด และผลงานของอาจารย์ป๋วยหลายงาน ทั้งในรูปแบบเสวนาวิชาการ ปาฐกถา หนังสือ และสารคดี
ผมขอรวบรวมลิงก์กิจกรรมบางส่วนไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ผู้สนใจได้ชม-อ่าน-ค้นคว้ากันต่อไปครับ
1. “ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์” โดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ถึงเดือนมกราคม 2559 เนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คัดเลือกบุคคลผู้สืบสานปณิธานอาจารย์ป๋วยในแวดวงต่างๆ เพื่อแสดงปาฐกถาต่อสาธารณะในหัวข้อที่สะท้อนถึงความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณของอาจารย์ป๋วย
ครั้งที่ 1 “การพัฒนาที่ยั่งยืน: จากแนวคิดอาจารย์ป๋วยสู่ประสบการณ์ภาคธุรกิจ”
โดย คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
ครั้งที่ 2 “กำเนิดและอวสานของเศรษฐศาสตร์การเมือง: จากสหรัฐฯ ถึงสยามไทย” โดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ.
ครั้งที่ 3 “สิ่งแวดล้อมไทยกับการกระจายอำนาจ” โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ
ครั้งที่ 4 “การเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตย และทางเลือกของการพัฒนา: บทเรียนจากวิกฤตการเมืองไทยในห้วงหนึ่งทศวรรษ” โดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 5 “จะต่อสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี?” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครั้งที่ 6 “การศึกษากับยาพิษแอบแฝง” โดย รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ครั้งที่ 7 “ปฏิทินแห่งความรื่นรมย์: ชีวิตทางวัฒนธรรมของป๋วย อึ๊งภากรณ์”
โดย คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์
ครั้งที่ 8 “รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ครั้งที่ 9 “ความเปลี่ยนแปลงในชนบท: การเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตย” โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 10 “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” โดย อ.จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
2. “ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน” โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทความ 6 ชิ้น จากนักวิชาการรุ่นใหม่หลากสาขาวิชา 7 ท่านที่ถูกเชื้อเชิญให้มาศึกษาแง่มุมความคิดและผลงานของป๋วยใน 6 มิติที่ป๋วยได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาชนบท การศึกษา สิทธิมนุษยชน สันติวิธี และประชาธิปไตย จุดมุ่งหมายที่ต้องการมิใช่รวมบทความงานเขียนที่สรรเสริญเยินยอบุรุษที่ชื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งย่อมมิใช่สิ่งที่ท่านปรารถนาเป็นแน่แท้ แต่หากคือการรวมบทความที่ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเจาะลึกจริงจังถึงเนื้อหาความคิด มรดกตกทอด และความเชื่อมโยงถึงสิ่งที่ป๋วยได้ทำไว้ในอดีตกับสังคมไทยในปัจจุบัน
บทความทั้ง 6 เรื่อง ได้แก่
(1) “กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ชื่อ ‘ป๋วย’”
โดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ อ.นิฐิณี ทองแท้ โปรแกรมวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
(2) “สันติวิธีของป๋วย อึ๊งภากรณ์: ยุทธวิธี เป้าหมาย และความหวัง”
โดย ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(3) “มองสิทธิมนุษยชนไทยผ่านการ(ไม่)หาความจริงและการ(ไม่)รับผิด: กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อขบวนการประชาธิปไตย”
โดย ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
(4) “เทคโนแครตกับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจไทย:
แนวทางปฏิบัตินิยมแบบ ‘แมวไม่ว่าสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็พอ’”
โดย รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(5) “เหลียวหลังแลหน้าการพัฒนาชนบทไทย: จากแนวทางบูรณะชนบทสู่มุมมองจาก ‘ตัวกลางในการพัฒนา’”
โดย ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(6) “การศึกษากับการสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย: พัฒนาการและความท้าทายของสังคมไทย”
โดย ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
3. สารคดี “ป๋วย อึ๊งภากรณ์: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดย Thai PBS และ “วันโอวัน”
สารคดีว่าด้วยชีวิต ความคิด และตัวตน ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ 4 ตอนจบ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ทุกวันเสาร์ เวลา 21.10 น. ตลอดเดือนมีนาคม 2559 ผลิตโดย บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด