กรณีแบนการ์ตูนเป็นเรื่องเดียวกับกรณีแบนหนังของคุณอภิชาตพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) กรณีจับนิยายโรมานซ์ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ กรณีภาพวาดภิกษุสันดานกา มีคนทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี แต่จริงๆแล้วไม่รู้ แถมงี่เง่าคับแคบไร้รสนิยมอีกต่างหาก มันทำลายวงการศิลปะ ทำลายความคิดสร้างสรรค์ สารที่ผ่านสื่อได้ต้องมี “ความเป็นไทย(ๆ)” (เน้นเสียง) วงการศิลปะบ้านเราเลยไปไหนไม่ได้ งานก็วนเวียนอยู่ในอ่าง เชิดชูผู้คนบางแบบและคุณธรรมบางอย่าง นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตรรกะแบบนี้มันเชื่อมโยงกันไปหมด ทั้งศิลปะ การเมือง และเศรษฐกิจ
บทสัมภาษณ์
a day: The 50 most inspirational guys 2007
ครูต้องเป็นโค้ช โค้ชบอลที่ดีต้องรู้ว่านักเตะคนไหนเหมาะจะเล่นตำแหน่งอะไร มีจุดอ่อนอะไร ควรจะฝึกฝนอะไรมากขึ้น ถ้าอาจารย์มีเวลาให้นักศึกษา อาจารย์ก็จะเป็นโค้ชที่ดีได้ โค้ชที่ดีไม่ได้ให้นักเตะหรือนักศึกษาเป็นอย่างที่โค้ชอยากให้เป็น แต่โค้ชที่ดีคือโค้ชที่สามารถสร้างโลกแบบที่นักเตะหรือนักเรียนคนนั้นอยากเป็น กระตุ้นให้เขารู้จักตัวเองก่อน ให้รู้ว่าอยากเป็นอะไร แล้วเราช่วยกระตุ้นให้เขาสร้างโลกอย่างที่เขาอยากเป็น
หันหลังกลับสู่จุดสมดุล
“เราเป็นคนหนุ่ม ยังมีความเป็น angry young man เห็นระบบในที่ทำงานที่เราคิดว่าไม่ค่อยมีเหตุมีผล ผมก็สู้แหลก เถียงแหลก ก็โดนก้อนอิฐมาบ้าง ก็เจ็บเนื้อเจ็บตัว ก็ปรับตัวกันไป พอได้เจอวิกฤตแต่ละครั้ง โดนก้อนอิฐปาหนักๆ หน่อยเราก็เจ็บตัว ก็อาจจะมีบาดแผลบ้าง แต่พอได้ฟื้นตัวมันก็แข็งแกร่งขึ้น หลังๆ มาก็เริ่มรู้จักจังหวะจะโคนมากขึ้น เริ่มรู้ว่าเราจะไปคาดหวังอะไรขนาดนั้นไม่ได้ คาดหวังมากไปก็เป็นทุกข์ คณะนี้ก็ไม่ใช่ของผมคนเดียว ประเทศนี้ก็ไม่ใช่ของผมคนเดียว เราก็พยายามทำเต็มที่ตามอัตภาพ”
บทสัมภาษณ์ โพสต์ทูเดย์
เขาเปรียบการเป็นอาจารย์เหมือนกับผู้จัดการทีมฟุตบอล ซึ่งโค้ชที่ดีต้องทำให้ลูกทีมมีความหวังเดียวกัน คือ ได้แชมป์ ต้องทำงานหนัก ต้องดึงความสามารถของลูกทีมแต่ละคนออกมาให้ได้ คนที่เป็นอาจารย์ก็เช่นกัน จะต้องมองเห็นจุดเด่นในตัวนักศึกษาให้ได้ว่า คนไหนมีจุดแข็งอะไร ต้องให้กำลังใจ มีจุดอ่อนอะไร ให้ต้องปรับปรุงตัว โดยยึดจุดหมายปลายทางคือ สร้างจิตสำนึกสาธารณะให้นักศึกษาอยากช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น
คลื่นลูกใหม่แห่งเศรษฐศาสตร์กระแสรอง
ในอนาคต เขาคิดจะเขียนหนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์สักเล่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้และความคิด ช่วงชิงคำนิยามใหม่ของคำว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์”
“ผมอยากนิยามเศรษฐศาสตร์ในแบบของผม โดยเฉพาะเพื่อสังคมไทย ถ้าคุณได้ไปลองอ่านหนังสือเรียนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น คุณจะเห็นเขานิยามคำว่าเศรษฐศาสตร์ ว่าคือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากร ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดภายใต้ความจำกัด ซึ่งผมว่านี่ยังคับแคบ ไม่รอบด้านเพียงพอ โลกเศรษฐศาสตร์กว้างใหญ่กว่านี้มาก
ยุคหลังทักษิณ เราจะสร้างภูมิปัญญากันอย่างไร ?
เราต้องให้ความสำคัญกับการเมืองหลังการเลือกตั้งมากกว่าเสียอีก ยิ่งรัฐบาลมีเสียงมหาศาลในสภา ภาคประชาสังคมยิ่งต้องช่วยกันตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น เล่นการเมืองนอกสภามากขึ้น ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหว ตรวจสอบ วิจารณ์ หรือแสดงออกทางการเมืองนอกสภา เป็นเรื่องปกติภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย
ระบบการเมืองไทยต้อง “เปิด” มากกว่านี้ ให้เสียงข้างน้อยมีที่ยืนในสังคม รัฐธรรมนูญต้องไม่ปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมือง พรรคเล็กต้องไม่ถูกลงโทษจากรัฐธรรมนูญ ต้องพยายามให้ตลาดการเมืองเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ มีอุปสรรคในการเข้าร่วมน้อยที่สุด เป็นการเมืองที่เปิดกว้างต่อความหลากหลาย และสำหรับชนทุกชั้น
ความคิดเห็นต่อประเด็นข่าวเรื่องข้อเสนอในการนำเงินสำรองฯ มาใช้ลงทุน
สถานการณ์เช่นนี้ สังคมยิ่งต้องการความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของธนาคารกลางอย่างสูงยิ่ง เพื่อคานอำนาจกับรัฐบาล ที่อาจมุ่งหวังสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้ตัวเอง โดยละเลยผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
การลิดรอนอำนาจทั้งทางกฎหมาย และทางปฏิบัติ ของธนาคารกลาง อาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในยุคที่ภาคการเมืองขาดการกำกับและตรวจสอบอย่างเป็นอิสระทั้งจากรัฐสภา องค์กรอิสระ และภายในตัวกระบวนการกำหนดนโยบายเอง
ข้อถกเถียงเรื่องการนำทุนสำรองฯ ที่มากเกินไปมาใช้ลงทุน หรือข้อถกเถียงเรื่องการแยกอำนาจกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ออกจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารกลางให้เป็นคนที่ตนสามารถควบคุมได้ สั่งการได้โดยง่าย
Thaksinomics: The overated regime
ผมไม่เชื่อว่าคนทุกคนเป็นสัตว์เศรษฐกิจล้วนๆ ก็จริง แต่สำหรับคนเป็นนักการเมือง ยิ่งเคยโตมาจากการเป็นนักธุรกิจผูกขาดด้วยแล้ว คนแบบนี้มีแนวโน้มเป็นสัตว์เศรษฐกิจสูง เพราะเส้นทางชีวิตต้องอยู่กับสถาบันหรือกติกาที่หล่อหลอมให้คุณกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และสำหรับสัตว์เศรษฐกิจแล้ว ถ้ามีโอกาสหาประโยชน์แล้วมันไม่มีวันพอ เพราะสัตว์เศรษฐกิจมีเป้าหมายเพื่อทำอย่างไรให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดหนึ่งๆ กรณีว่าด้วยพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ค่าโง่ไอทีวี และกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของคุณทักษิณและกลุ่มชินอื่นๆ ที่งานวิจัยหลายชิ้นตีแผ่ สะท้อนให้เห็นพื้นฐานความเป็นสัตว์เศรษฐกิจของนายกทักษิณได้เป็นอย่างดี
ปกป้อง จันวิทย์ เศรษฐศาสตร์นอกรั้วกระแสหลัก
จากพิธีกรรายการทีวี ‘จิ๋วแจ๋วเจาะโลก’ ผู้โด่งดังตั้งแต่วัยเยาว์ อะไรทำให้เด็กชายคนหนึ่งซึ่งใฝ่ฝันจะเป็นนักการเมืองหันเหชีวิตตัวเองสู่การเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เต็มตัว
และไม่ใช่แต่เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกซึ่งครอบงำความคิดคนส่วนใหญ่อยู่เท่านั้น
แต่ ปกป้อง จันวิทย์ เลือกที่จะเรียนเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลัก ด้วยเชื่อว่ามันคือเศรษฐศาสตร์ที่แท้ ซึ่งอธิบายความเป็นไปของสังคมได้ดีกว่าเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก อันติดอยู่กับกรอบคิดว่าคนเป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจเท่านั้น
นอกกระแส
“อาชีพการเมืองเป็นอาชีพที่มีการประนีประนอมสูง จนตัวตนของคุณเหลือน้อยลงไปเรื่อย อยู่ในระบบที่คนต้องคิดเหมือนกับพรรค อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมของคุณตกต่ำลง
… การเป็นนักวิชาการสามารถเปลี่ยนโลกได้เหมือนกัน เป็นการเปลี่ยนในระดับฐานล่างผ่านการสอนของเรา ผมเชื่อว่าการศึกษาเปลี่ยนชีวิตคนได้ เป็นการเล่นการเมืองภาคประชาชน ถ่ายทอดความคิด ความรู้ให้กับประชาชน”